“คิดถึงเค้กแล้วนะ อยากกินเค้กคิดถึงแล้ว เมื่อไหร่จะเปิดเตา”

คุณแม่สุพัตรา โล่พิทักษ์อุดม เจ้าของร้าน ‘เค้กคิดถึง’ แห่งเมืองโคราช ได้ยินเสียงเรียกร้องเหล่านี้จากลูกค้าประจำผ่านโทรศัพท์มาตลอด 40 กว่าปี และ ฝ้าย-จิดาภา โล่พิทักษ์อุดม ผู้เป็นลูกสาวก็ได้รับข้อความเหล่านี้ผ่านกล่องข้อความในโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกันในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมานี้ 

เค้กก้อนกลม แต่งหน้าด้วยครีมรูปดอกไม้สไตล์วินเทจ บรรจุมาในกล่องสีแดงปรากฏตัวในคลิปวิดีโอของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ทั้งเบอร์เล็กเบอร์ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ใครเห็นก็คงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเค้กที่เคยได้กินในวัยเด็ก และมากกว่าหน้าตาเค้กที่กระตุ้นความทรงจำ คำบอกเล่าถึงกลิ่นที่หอมฟุ้ง และเนื้อเค้กนุ่มเบาที่ส่งผ่านหน้าจอไม่ได้ ชาวเน็ตจึงทุ่มเทเต็มกำลังเพื่อให้มีโอกาสได้ลองชิมเค้กคิดถึงด้วยตัวเอง เพราะไม่ใช่ว่าอยากกินเมื่อไหร่ก็สั่งได้ ในแต่ละปี ร้านนี้เปิดเพียง 45 วัน ช่วงปลายปีเก่าคาบเกี่ยวปีใหม่เท่านั้น

เราชวนคุณแม่และลูกสาวมานั่งเล่าถึงที่มาที่ไปและอะไรใหม่ ๆ ของธุรกิจครอบครัวเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นแบบเฉพาะกิจด้วยความรักและคิดถึง

ธุรกิจ : เค้กคิดถึง โคราช

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2522

ประเภท : ขนมอบ เบเกอรี

ผู้ก่อตั้ง : สุพัตรา โล่พิทักษ์อุดม

ทายาทรุ่นสอง : จิดาภา โล่พิทักษ์อุดม

คิดถึงครอบครัว

“ถ้าอาม่าไม่ชอบกินเค้ก กินแยมโรล เราก็คงไม่คิดจะทำขนมพวกนี้” 

คุณแม่สุพัตราเล่าย้อนถึงที่มาของเค้กคิดถึงซึ่งเริ่มต้นมาจากคุณแม่ของตัวเอง ผู้หลงใหลในรสชาติของขนมอบ เค้ก แยมโรล ซึ่งตามปกติอาม่าจะซื้อขนมจากร้านนั้นร้านนี้ในตัวเมืองโคราชมากินเป็นประจำ จนทำให้วันหนึ่งใน พ.ศ. 2519 คุณแม่สุพัตราตัดสินใจลองไปเรียนทำขนมอบ เพื่อกลับมาทำให้อาม่ากินด้วยตัวเอง 

“ไปเรียนมาจนจบคอร์ส อาม่าก็ติบ้าง ชมบ้าง เรายังไม่แม่นน่ะ บางทีอบแล้วไหม้ก็มี แต่ก็ทำไปเรื่อย ๆ จนอาม่าบอกว่าแยมโรลที่เราทำใช้ได้แล้ว ดีแล้ว เอาไปฝากญาติคนนั้นหน่อย เอาไปฝากเพื่อนคนนี้หน่อย เราก็เริ่มไล่แจก (หัวเราะ) แจกไปเรื่อย ๆ ใครได้ชิมก็บอกว่าอร่อย ขอซื้อไปแจกต่อได้ไหม ลื้อทำได้เท่าไหร่เหมาหมด ต่อมามีคนทักว่า ทำแยมโรลแล้ว ทำไมไม่ทำเค้กปอนด์ปีใหม่ด้วยล่ะ เราก็ลองไปเรียนรู้เอง ลองทำเอง ศึกษาจากรายการทีวี หาสูตรจากหนังสือที่เขามีขายสมัยก่อน เริ่มจากทำเค้กเผือกกับเค้กใบเตย เพราะอาม่าชอบขนมอะไรก็ตามที่ทำจากเผือก เขาชอบหมด และพอดีที่บ้านปลูกใบเตย ก็เลยลองเอาใบเตยทำเค้กให้อาม่าชิมด้วย ตอนแรกที่ลองทำก็ยังไม่ถูกปากเท่าไหร่ เขาก็ช่วยแนะนำ ลองอย่างนั้นอย่างนี้ จนเขาบอกว่าอร่อยแล้ว ดีแล้ว   

“หลายบ้านที่เราเอาไปให้ชิม เขาบอกว่าทำขายได้แล้ว แรก ๆ ก็ใจไม่กล้าค่ะ เน้นแจกมากกว่าขาย เขาก็ใช้วิธีมาขอซื้อเค้กของเรา แล้วเอาไปแจกต่อ เขาบอกว่าเค้กของเรากลิ่นใบเตยหอมมาก ชิ้นเผือกในเนื้อเค้กก็อร่อยไม่เหมือนใคร ตั้งแต่แรกเรารับทำตามออร์เดอร์เท่านั้น ไม่ได้ทำแล้วมานั่งขาย เพราะเค้กของเราใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่ได้แต่งกลิ่นสังเคราะห์ ไม่ใส่สารกันบูด

“พอเราขายไปได้สักพัก ลูกค้าก็ทักอีกว่า ควรจะมีชื่อร้าน จะได้เรียกถูก บางคนช่วยเสนอว่า เค้กกล่องแดงดีไหม เราก็ยังไม่ถูกใจนัก ไปคุยกับน้องชาย เขาช่วยคิดมา 4 – 5 ชื่อ เราสะดุดชื่อ ‘เค้กคิดถึง’ ชื่อนี้ถูกใจ รีบบอกน้องชายเลยว่า เจ้ชอบอันนี้แหละ เพราะว่าลูกค้าเขาเคยมาบอกว่า ‘คิดถึงเค้กแล้วนะ’ คำนี้มันน่าจะเข้ากับเค้กของเรา ‘เค้กคิดถึง คิดถึงเค้กปีละครั้ง’ น้องชายก็เห็นด้วย เขาช่วยออกแบบโลโก้ให้ด้วย เขามีความรู้ทางนี้ ก็ทำให้โลโก้เรามันแปลกตา มีแต่คนชมว่าสวย”

คุณแม่สุพัตราเล่าต่อถึงเหตุผลที่หลายคนถามกันบ่อย ๆ ว่า ลูกค้าเยอะขนาดนี้ ทำไมไม่ขายทั้งปี ทำไมไม่ขายทุกวัน ว่าเป็นเพราะการทำเค้กไม่ใช่ธุรกิจหลักของทางบ้าน หากทำเค้กทั้งปี ร้านขายอะไหล่ก็จะไม่มีคนช่วยงาน 

“เมื่อก่อนจะเปิดเตาตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ธันวาคม แล้วขายวันที่ 1 มกราคมอีกวัน แล้วก็ปิดเตาเลย แต่ลูกค้าบางรายมาอ้อนขอให้ขยายเวลาหน่อย เขาขอมา เราก็ตามใจ ยืดไปยืดมาจาก 30 วัน เป็น 40 วัน ตอนนี้ประมาณ 45 วัน คิดว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วค่ะ” คุณแม่สุพัตราย้ำถึงระยะเวลาที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด เพราะลูกหลาน สมาชิกในครอบครัวซึ่งทุกคนมีงานประจำอยู่แล้ว หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยทำเค้กได้ จนกลายเป็นโอกาสพิเศษที่พิเศษยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับคนในครอบครัวที่ทำภารกิจเค้กคิดถึงร่วมกันมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี

คิดถึงทุกปี

ในความทรงจำของลูกสาวร้านเค้ก ฝ้ายรู้ได้ทันทีว่าเทศกาลปีใหม่กำลังมาถึง เมื่อเห็นพ่อเป็นคนมารับเธอกลับจากโรงเรียน 

“ปกติแม่จะเป็นคนไปรับเราที่โรงเรียนทุกวัน แต่ถ้าเป็นช่วงปีใหม่จะเป็นพ่อหรือคนอื่น ๆ ที่บ้านไปรับเราแทน เพราะแม่ต้องอยู่หน้าเตาทำเค้กตลอด เป็นความทรงจำในวัยเด็กว่า ประมาณเดือนธันวาคม แม่จะไม่ว่างแล้วเพราะต้องทำเค้ก ตอนเด็กเราก็วิ่งเล่นในร้านเค้กนี่แหละ กินครีม กินเศษเค้กที่ติดกับแม่พิมพ์ ลูกเจ้าของร้านเค้กไม่ได้กินเค้กเป็นก้อน ๆ เหมือนคนอื่นนะ (หัวเราะ) สมัยเรียนเรายังไม่ได้ช่วยอะไรมาก จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยไปยกแล้วเค้กมันคว่ำลงมาทั้งอัน เสียหมดเลย เค้กมันบอบบางมาก เราก็เลยไม่ได้เข้าไปช่วยอะไรในตอนนั้น โตขึ้นเราก็ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ได้กลับบ้านช่วงปีใหม่ในระยะเวลาที่สั้นมาก เหมือนกลับมาเพื่อกินเค้ก ฉลองปีใหม่ อยู่บ้านไม่กี่วันแล้วก็กลับไป พอกลับมาอยู่โคราช ช่วงแรกก็ช่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ รับออร์เดอร์ทางโทรศัพท์ ขายลูกค้าประจำตามเดิมแบบที่แม่ขายมาตลอด” 

ภาพถ่ายฟิล์มเมื่อ พ.ศ. 2562

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือช่วงการระบาดของโควิด-19 คนในครอบครัวคุยกันถึงความกังวลว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี คนอาจจะซื้อเค้กแจกให้กันในช่วงปีใหม่ลดลง จากเดิมที่เน้นขายลูกค้าในพื้นที่โคราช ก็จำเป็นที่จะต้องขยับขยายกระจายออกไปยังต่างจังหวัดด้วย ฝ้ายจึงตัดสินใจลองเปิดแอคเคานต์อินสตาแกรมสำหรับเค้กคิดถึงขึ้นมาใน พ.ศ. 2564 

“ตอนนั้นคิดว่าคนคงสั่งไม่เยอะ ก็เลยเปิดแค่อินสตาแกรม บังเอิญในปีนั้นมีเพจดังพูดถึงร้านของเราทางเฟซบุ๊กว่าเป็นร้านเค้กที่เปิดขายปีละครั้ง ทำให้คนตามหาอยากลองชิม พอคนพูดถึง แล้วเขาหาไม่เจอว่าจะต้องไปสั่งที่ไหน คนบอกลึกลับมากเลย สั่งยังไง เราก็เลยไปเปิดเพจในเฟซบุ๊ก เพิ่มหมุดใน Google Maps ทำให้เข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ ได้เยอะมาก เราเห็นว่าใคร ๆ ก็ใช้โซเชียลมีเดียในการโปรโมต แต่เราไม่เคยคิดว่ามันจะอิมแพกต์ขนาดนี้ จนกระทั่งได้เจอกับตัวเอง 

“พลังแห่งโซเชียลนี่ยิ่งใหญ่มากจริง ๆ เราไม่ได้จ้างใครเลย ทุกคนเต็มใจรีวิวเค้กคิดถึง ช่วงหลายปีมานี้คนโคราชมีเทรนด์หนึ่งที่จะต้องมากินเค้กคิดถึง ทุกคนจะมาเซลฟี่กับกล่องเค้กหน้าร้าน เป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน” 

ฝ้ายเล่าถึงปรากฏการณ์ระลอกแรกที่คนมาตามหาเค้กคิดถึง เพราะอยากกินเค้กแบบเดียวกับที่ ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต โพสต์ภาพลงในอินสตาแกรม มีคนมาตามหาร้านอย่างจริงจัง ว่าอยากกินเค้กแบบนี้ หน้าเค้กแบบเดียวกับของคุณชมพู่ 

“บางคนที่เคยกินเมื่อนานมากแล้ว อาจจะเคยได้รับเป็นของขวัญ แต่ไม่รู้จะไปหาซื้อได้ที่ไหน พอเราเปิดเพจ ก็ทำให้เข้าถึงทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ด้วยค่ะ”

คิดถึงทุกคำ

ปรากฏการณ์ระลอกที่ 2 ของเค้กคิดถึงตามมาติด ๆ จากรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์ใน TikTok ทำให้ช่วง พ.ศ. 2566 – 2567 ที่ผ่านมา ฝ้ายใช้คำว่า ‘อินบ็อกซ์แตก’ 

  “ปีที่แล้วพอประกาศเปิดรับออร์เดอร์ปุ๊บ โทรศัพท์ก็เข้าไม่หยุด Facebook เด้งแจ้งเตือนตลอดเวลา ลูกค้าเฝ้ารอจริง ๆ ถ้าเป็นเพจอื่นเขาก็จะมีแอดมินหลายคนใช่ไหมคะ แต่เพจเค้กคิดถึงมีฝ้ายเป็นแอดมินคนเดียว เราจึงต้องใช้เวลา 1 – 2 วันในการไล่ตอบข้อความ พอเราเริ่มตอบ เขาตอบกลับมา ปุ่มแจ้งเตือนก็ +1 เพิ่มขึ้นมาอยู่ดี วนอยู่อย่างนั้น 

“ช่วงแรกเครียดมาก พยายามทำยังไงก็ได้ให้ตอบลูกค้าได้ครบทุกคน เพราะทุกคนร้อนใจ พอเห็นเราไม่ตอบนานเข้า เขาก็จะทักซ้ำ ทำไมไม่ตอบสักที เพราะตอนกลางวันเราช่วยทำเค้ก ตอนกลางคืนก็ไปตอบข้อความ ลูกค้าบางคนได้รับข้อความจากแอดมินตอนประมาณตี 2 กว่า เราใช้เวลาตอบข้อความประมาณ 1 ชั่วโมง พยายามเคลียร์ให้หมดแล้วค่อยไปนอน” 

ช่วงหลังฝ้ายจึงปรับวิธีการใหม่ แก้ปัญหาด้วยการให้ลูกค้าในพื้นที่โคราชสั่งทางโทรศัพท์เหมือนเดิมแทน เพราะการมารับเค้กด้วยตัวเองที่ร้านใช้รายละเอียดไม่เยอะ ส่วนลูกค้าต่างจังหวัดยังคงแนะนำให้สั่งเค้กทางเพจเหมือนเดิม เพื่อสอบถามข้อมูลให้ครบถ้วนว่า สั่งเค้กอะไร กี่ชิ้น ขนาดเท่าไหร่ เขียนหน้าเค้กอะไรบ้าง ส่งไปที่จังหวัดอะไร รถจะถึงเวลากี่โมง ทำให้ฝ้ายจัดการเวลาสำหรับตอบข้อความทางเพจได้ดีขึ้น

“การที่เราเป็นคนตอบข้อความเอง คุยกับลูกค้าเอง ทำให้เวลาส่งต่อออร์เดอร์ให้ทีมทำเค้ก เราจะประเมินได้ว่าต้องทำเค้กให้เสร็จเวลาไหน เพื่อคำนวณเวลาเดินทางไปส่ง มีรายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก เราพยายามจัดสรรตัวเองให้ลูกค้าไม่ต้องรอนาน บางทีเขาสั่งมาแล้วบอกรายละเอียดยังไม่ครบ เราก็จะย้อนไปอ่านแชตข้อมูลเดิม แล้วพยายามตอบกลับให้รวบรัด เพื่อที่เขาตอบกลับมาอีกครั้ง เราจะปิดออร์เดอร์เขาได้เลย คนที่ทักมาก่อนเราก็อยากให้เขาได้กินเค้กในวันที่เขาต้องการ หากตอบช้าเกินไป เขาอาจจะต้องเลื่อนไปอีกวัน แต่ลูกค้าก็น่ารักมาก ออร์เดอร์วันนี้เต็มแล้วไม่เป็นไร เลื่อนได้”

การได้เป็นแอดมินตอบข้อความลูกค้าด้วยตัวเอง นอกจากทำให้ฝ้ายได้เรียนรู้วิธีบริหารจัดการการทำงานร่วมกับคนในครอบครัวแล้ว ฝ้ายยังมีโอกาสรับรู้เรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาก่อนอีกด้วย

“เราชอบไปนั่งไล่อ่านเวลาลูกค้าคอมเมนต์ตามคลิปรีวิว มีคนหนึ่งมาเล่าว่า ตอนเด็ก ๆ คุณพ่อของเขามาทำงานที่โคราชแล้วซื้อเค้กคิดถึงไปฝากช่วงปีใหม่ ปัจจุบันคุณพ่อเสียชีวิตไปแล้ว ตอนนั้นเขายังเด็ก ไม่รู้ว่าพ่อซื้อมาจากไหน ไม่รู้จะไปตามหาที่ไหน พอได้มีโอกาสชิมเค้กของเราก็จำได้ว่า นี่แหละเค้กที่พ่อเคยซื้อมาฝาก เราอ่านแล้วรู้สึกดีใจที่เค้กคิดถึงได้อยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน” ฝ้ายเล่าไปยิ้มไป 

คิดถึงทุกคน

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เค้กคิดถึงไม่เคยเปลี่ยน ก็คือความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบความอร่อยให้แก่ทุกคน ด้วยการรักษาคุณภาพวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง  

“เราเป็นคนเลือกวัตถุดิบเองทั้งหมด ใบเตยที่บ้านเราปลูกเอง แต่เผือกต้องซื้อ ปีไหนน้ำท่วมเผือกจะไม่ค่อยดี เวลาเอามาปอก มาใช้ แม่ต้องเป็นคนเลือกว่าหัวนี้ใช้แค่ไหน ไม่งั้นขนมอบออกมาแล้วจะไม่นุ่ม เผือกจะกระด้าง ราคาวัตถุดิบขึ้นเกือบทุกปี บางปีขึ้นเยอะมากก็ต้องขอลูกค้าปรับราคา เพราะเราตั้งใจว่าของแพงแค่ไหนก็จะไม่ลดคุณภาพ แต่ลูกค้าก็น่ารักนะ บางคนบอกว่าขึ้นราคาน้อยไป พยายามเชียร์ให้ขายแพงกว่านี้อีก แต่แค่นี้เราพอใจแล้ว” คุณแม่สุพัตราเล่าด้วยรอยยิ้ม 

เมื่อจำนวนลูกค้ามากขึ้น การส่งเค้กไปต่างจังหวัดกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับเค้กคิดถึง ซึ่งอยากให้ลูกค้าได้กินเค้กที่สดใหม่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฝ้ายทดลองส่งเค้กให้เพื่อนและญาติพี่น้องตามต่างจังหวัดผ่านวิธีการต่าง ๆ เพื่อค้นหาวิธีการที่ลงตัวที่สุด

“เราชวนแม่ให้ลองทำเค้กใส่ถาดฟอยล์ส่งผ่านพัสดุห้องเย็น ส่งให้เพื่อนที่กรุงเทพฯ กับเพื่อนอีกคนที่จังหวัดตรัง แต่พอถึงปลายทางก็ได้รู้ว่า เค้กที่อยู่ในอุณหภูมิเย็นจัดเป็นเวลานาน ครีมหน้าเค้กจะแตก เนื้อเค้กไม่นุ่มเหมือนเดิม เราเลยลองคิดหาวิธีการใหม่ว่าจะทำยังไงให้ส่งเค้กจากโคราชไปกรุงเทพฯ ได้ภายใน 1 วัน สุดท้ายก็ได้วิธีการส่งเค้กไปกับรถทัวร์ แล้วให้ลูกค้ามารับเค้กด้วยตัวเองที่สถานีขนส่งจังหวัดปลายทาง”

ลูกค้าที่อยู่ในจังหวัดทางภาคใต้และภาคตะวันตกจึงยังต้องรอกันอีกหน่อย เพราะเค้กคิดถึงยังหาขนส่งที่พร้อมรับส่งและดูแลเค้กไปยังจังหวัดโซนนั้นไม่ได้ แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีเพิ่มเติมขึ้นมาได้ ติดตามอัปเดตทางเพจในแต่ละปีไว้ได้เลย 

“บางคนขอให้ส่งพัสดุห้องเย็นให้ได้ไหม เราต้องปฏิเสธไป เพราะถ้าลูกค้าจ่ายเงินมาแล้ว เราอยากให้ได้กินเค้กอร่อยแบบเดียวกับเค้กที่รับจากหน้าร้านค่ะ” 

เมื่อคุยกันถึงการทำงานหลังบ้านที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาด้วยกันกับทีมงานทุกคน ฝ้ายยืดอกอย่างภาคภูมิใจว่า ปีที่ผ่านมานี้ถือว่า ‘ร่างทอง’ สุด ๆ ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพและลงตัวสำหรับทุกคน ภายในร้านเค้กคิดถึงจะมี 4 แผนก 

แผนกอบเค้ก ทำหน้าที่ผสมแป้ง เทเค้กลงพิมพ์ และส่งเค้กเข้าเตาอบ

แผนกล้างพิมพ์ ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับทำเค้กให้พร้อมใช้สำหรับเค้กก้อนต่อไปอยู่เสมอ 

แผนกหน้าร้าน คอยแต่งหน้าเค้ก เขียนข้อความตามความต้องการของลูกค้า บรรจุเค้กใส่กล่องเพื่อจัดออร์เดอร์ตามเวลาที่นัดกับลูกค้า 

และแผนกสุดท้าย ก็คือแผนกตอบข้อความซึ่งฝ้ายเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หนึ่งเดียวนั่นเอง

“ช่วงที่ส่งต่างจังหวัดแล้วออร์เดอร์เยอะ เราปรับจนรู้สึกว่าตอนนี้ลงตัวแล้ว ล่าสุด พ.ศ. 2567 ทั้งกำลังการผลิตและวิธีแพ็กกล่องเค้กส่งต่างจังหวัด เราเรียนรู้มาจากความผิดพลาดของปีที่แล้ว หรือการตีครีมสีแต่งหน้าเค้ก เมื่อก่อนจะตีครีมใส่ถ้วยเล็ก ๆ ใช้หมดก็ตีเพิ่มอยู่อย่างนั้นทั้งวัน มีพี่คนหนึ่งเสนอว่า เรามีเครื่องตีครีมใหญ่ ก็ตีเป็นโถใหญ่ไปเลย ทุกคนพยายามออกไอเดียช่วยกันหาวิธีทุ่นแรงให้งานเร็วขึ้น ใช้แรงน้อยลง สะดวกขึ้น ผิดพลาดน้อยลง พอระบบที่วางไว้ลงตัวก็ไม่ค่อยกังวลอะไรแล้ว คุยกันจบแล้วว่าเราจะทำแบบนี้ รับไหวที่เท่านี้นะ เพราะว่าต้องทำติดต่อกันเดือนครึ่ง ทีมงานที่มาช่วยทำเค้กก็มีล้าบ้าง เราต้องเซฟเขาด้วย ถ้าวันนี้ใส่สุดไปแล้วพรุ่งนี้ใครจะมาทำต่อ พยายามบาลานซ์ให้ทีมทำงานทุกคนไม่เหนื่อยจนเกินไป”

เป้าหมายของเค้กคิดถึงจึงไม่ใช่การเติบโตทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดด แต่คือความเสมอต้นเสมอปลายทั้งในแง่คุณภาพและความจริงใจ เพื่อให้ธุรกิจเฉพาะกิจของครอบครัวยืนระยะต่อไปได้อย่างมั่นคง 

“ขอบคุณลูกค้าที่คิดถึงเราทุกปี ถึงแม้แอดมินจะตอบช้าแต่ก็ยังรอ มุ่งมั่นที่จะสั่งเค้กของเรา ลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ว่าจะไกลแค่ไหน สั่งมาจากเชียงใหม่ แม่สาย มันเกินความคาดหมายว่าร้านเค้กคิดถึงของเราจะไปได้ไกลขนาดนั้น หวังว่าสิ้นปีนี้ก็จะได้เจอกันเหมือนเดิมนะคะ” ฝ้ายขอบคุณทิ้งท้าย แทนความคิดถึง 

Writer

สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล

สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล

นักเขียนอิสระ ที่รักการค้นคว้าข้อมูลแปลกๆ เป็นงานอดิเรก มองหาเรื่องสนุกไม่จำกัดหมวดหมู่ สนใจใคร่รู้ทุกความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้