“ความฝันของเรา คืออยากให้โลกและจักรวาลสงบสุข อยากมีชีวิตอย่างเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน และไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนมากเกินไป” เจ้าของบ้านพูดกับเราอย่างจริงใจ ติดสำเนียงดอยเต่าจาง ๆ
ที่นี่คือ ‘บ้านสาธุ’ ของ แบงค์-ศักดิ์สรัญ และ ฉัตร-สุฉัตรา ดวงอินทร์ เจ้าของแบรนด์สาธุ และลูก ๆ 3 คน โดย สาธุ (Satu) เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่นำเสนอภูมิปัญญาและฝีมือของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง กะเหรี่ยงโพล่ง และปกาเกอะญอ ในเชียงใหม่


แบงค์เป็นหนุ่มดอยเต่าผู้รักถิ่นเกิดตัวเองยิ่งกว่าอะไรทั้งปวง เขามีฝันที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง นั่นคือการทำให้ตัวเขา ครอบครัว และชาวบ้านดอยเต่า อยู่บ้านของตัวเองให้ได้เป็นอย่างดี จึงสร้างแบรนด์สาธุขึ้นมา รวมถึงสร้างบ้านทรงกะเหรี่ยงดั้งเดิมขึ้นมาหลายหลัง
ภายในบริเวณบ้านกว้างใหญ่นี้ มีทั้งบ้านพักส่วนตัว พื้นที่ทำงานเสื้อผ้าของแม่ ๆ ป้า ๆ พื้นที่ทำงานช่างของหนุ่ม ๆ เพื่อนบ้าน พื้นที่ของสัตว์น้อยใหญ่และพืชพรรณธัญญาหาร
ท่ามกลางบรรยากาศชิลล์ ๆ ของท้องทุ่ง แบงค์และฉัตรต้อนรับเราด้วยกาแฟยามเช้าที่บาร์ประจำบ้าน กว่าจะดริปเสร็จจนได้กาแฟกันครบ เวลาก็ล่วงเลยไปไม่น้อย แต่สำหรับเรา มันเหมือนกับพิธีกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนกรุงเทพฯ แบบเราให้ค่อย ๆ ช้าลง ก่อนทดลองเปิดรับจังหวะชีวิตของคนดอยเต่า
และเปิดใจรับฟังเสียงอุดมการณ์แน่วแน่ของพวกเขาที่ซ่อนอยู่ทุกหนแห่งในบ้านสาธุ


ไอ้หนุ่มดอยเต่า
ไอ้หนุ่มดอยเต่า มันเศร้าหัวจ๋อย แบงค์ร้องเพลงขึ้นมาอย่างนึกสนุก สำหรับเรา เขาเป็นคนขี้เล่นที่ทำให้บรรยากาศมีชีวิตชีวาในทุกหนแห่งที่ไปเยือน
เนื้อร้องในเพลงเหมือนชีวิตจริงของคนดอยเต่าไหม – เราถามด้วยความข้องใจ อยากรู้มานาน
“เหมือนเลยครับ” เขาตอบทันที “มีท่อนที่พูดถึงความลำบากของคนดอยเต่า แล้วก็มีท่อนจบที่พูดว่า ดอยเต่าบ้านเฮาเจริญ เสาะเบี้ยหาเงินม่วนอกม่วนใจ”
แบงค์เกิดและโตที่ดอยเต่า เขาเล่าว่าสมัยก่อนนาน ๆ ทีจะมีรถเข้ามาในหมู่บ้านสักคัน แบงค์ในวัยเด็กก็ชอบวิ่งไปดมกลิ่นน้ำมันรถ เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่ค่อยได้สัมผัส
“ชีวิตตอนเด็กมีความสุขมาก พ่อแม่ไปทำงานในเมือง ทิ้งเราไว้กับตายาย แต่ก็มีความสุข ตายายพาหากบ หาเขียด หาหนู ปลูกข้าว สอนเราใช้ชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเติบโตเป็นมนุษย์”
จากหมู่บ้านดอยเต่า ก็กลายเป็นกิ่งอำเภอดอยเต่า และขึ้นเป็นอำเภอ ย่านนี้ก็ค่อย ๆ เจริญขึ้นอย่างในเนื้อเพลงบอก
แบงค์เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ไตยวน ในขณะที่ดอยเต่าจะมีไตยวนและกะเหรี่ยงโพล่งอยู่ด้วยกัน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทั้งทรัพยากรและวิธีการทำอาหารร่วมกัน ซึ่งแบงค์มองว่า จริง ๆ แล้ว บ้านเกิดของตนอุดมสมบูรณ์มาก จึงอยากต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เราจะทำได้ทุกอย่างในโลกนี้เลย” แบงค์ยืนยัน
ส่วนฉัตรเป็นคนประจวบคีรีขันธ์ เติบโตมาแตกต่างกับแบงค์โดยสิ้นเชิง ขณะที่แบงค์ใช้ชีวิตบนดอย ฉัตรใช้ชีวิตแบบเด็กในเมือง ก่อนจะย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่มัธยมปลายเป็นต้นมา และพบรักกับ ‘ไอ้หนุ่มดอยเต่า’ จนได้อยู่ที่นี่ยาว ๆ
แบงค์กับฉัตรให้กำเนิดทายาท 3 คน โดยตั้งชื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่อยากให้ลูกมีติดตัวไป เด็กชายสาธุ เด็กชายลมหายใจ และ เด็กหญิงสติ ซึ่งแม้ยุคสมัยจะผันเปลี่ยน แต่ธรรมชาติ แผ่นดิน ต้นไม้ของดอยเต่าก็ยังคงสอนเด็ก ๆ ให้ใช้ชีวิตเป็นเหมือนแบงค์ ตกปลาก็ทำได้ จะใช้มีดฟันต้นไม้ก็ทำเป็น
“ถ้าทำไม่เป็นก็อายเพื่อนนะ” พ่อว่าอย่างนั้น

บ้านที่แบงค์อยู่กับตายายตอนเด็ก ๆ อยู่ห่างจากบ้านที่พวกเขาอยู่ตอนนี้ไป 300 เมตร เขาจากบ้านไปเรียนในเมืองไม่กี่ปีก็กลับมาอยู่ดอยเต่าเหมือนเดิม
แรกเริ่มสร้างครอบครัว แบงค์ตัดสินใจสร้างเรือนใหม่ไว้ข้างเรือนของตายาย แต่ทำไปได้ราว ๆ 70% ก็มีเหตุร้ายเกิดขึ้น
“ตาเดินไม่ได้เลยครับ” แบงค์เล่าอย่างจริงจัง “พอตาเดินไม่ได้ เราเลยไปหาหมอผี เขาถึงบอกว่า ก็แบงค์นั่นแหละทำบ้านไม่ให้เกียรติบรรพบุรุษ เราฝ่าฝืนกฎความเชื่อของหมู่บ้าน เขาบอกว่าลูกหลานไม่ควรทำบ้านบังอยู่บนหัวผู้ใหญ่”
ตอนนั้นแบงค์ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาก็บอกหมอผีว่า เขาเชื่อในวิทยาศาสตร์และความดีมากกว่า ทั้งนี้ตัวเองยังทำไปด้วยความหวังดี อยากจะสร้างเรือนให้ตายายมีที่ขายของ มีห้องสมุดให้เด็ก ๆ ใช้ด้วย และพยายาม ‘ต่อรองกับผี’ ให้สร้างบ้านต่อได้
แต่แล้วก็คิดว่า ฝืนไปก็เท่านั้น เมื่อรื้อบ้านเสร็จได้ 2 วัน ตาก็ลุกขึ้นเดินได้ทันที
หลังจากนั้น แบงค์ก็อยู่บ้านเกิดด้วยทัศนคติใหม่ มองว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญของพื้นที่ ซึ่งล้วนตั้งมาโดยมีเหตุผลลึกซึ้งทางธรรมชาติทั้งนั้น
นี่จึงเป็นเหตุผลที่บ้านสาธุย้ายมาตั้งอยู่อีกที่ กลายเป็นอาณาจักรย่อม ๆ ที่ทุกคนในละแวกรู้จักเป็นอย่างดี


บ้านผีบอก
“แบงค์ประทับใจในวิถีของพี่น้องกะเหรี่ยงมาก ที่จริงมันเป็นรากเหง้าของคนทั่วโลกนะ คนอื่นเขาลืมกันไปแล้ว แต่พี่น้องกะเหรี่ยงยังรักษาไว้” หนุ่มชาวไต เพื่อนบ้านของกะเหรี่ยงโพล่งกล่าว ซึ่งวิถีที่แบงค์ว่า ก็คือการหาอยู่หากินโดยเบียดเบียนธรรมชาติให้น้อย เอื้อเฟื้อการใช้ดิน น้ำ ป่า กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
จากวิถีชีวิตก็มาสู่บ้านที่ใช้อยู่อาศัย แบงค์ให้นิยามบ้านโครงสร้างหลังคาไม้ไผ่เหล่านี้ว่าเป็นทรงกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่ขยายสเกลอีกที
เราไม่เคยไปเยือนบ้านกะเหรี่ยงมาก่อน ไม่ค่อยแน่ใจว่าความรู้สึกเวลาเข้าไปจะเป็นยังไง แต่เท่าที่มานั่ง ๆ นอน ๆ ในบ้านสาธุตั้งแต่เช้า บ้านหลังนี้เย็นสบายเหมาะแก่การทอดอารมณ์มาก
แบงค์ทำงานกับช่างในหมู่บ้าน บ้างก็เป็นคนเก่าคนแก่ที่เคยทำงานด้วยกันอยู่แล้ว บ้างก็เป็นคนหนุ่มที่มาเรียนรู้งานใหม่ ซึ่งกว่าจะทำได้แบบที่เห็นก็ไม่ง่ายเลย เพราะเรือนกะเหรี่ยงเป็นศาสตร์ชาวบ้านที่ไม่ค่อยมีคนหนุ่มทำได้แล้วในปัจจุบัน
“ค่อนข้างลำบากเลยครับ สมัยนี้คนนิยมทำบ้านไม้ บ้านปูน ถ้ากลับมาทำเรือนผูก เขาจะรู้สึกว่ามันไม่เท่ ต้องคุยกันใหม่เยอะมากครับ ช้าก็ไม่เป็นไร เราอยากให้คงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้”
หลายอย่างก็ต้องอาศัยการลองผิดลองถูก โดยเฉพาะการทำให้ไม้ไผ่แข็งแรงและการจัดการมอด
เจ้าของบ้านพูดถึงความเชื่อของหมู่บ้านที่เขาต้องคำนึงขณะสร้าง เช่น หันบันไดไปทางทิศตะวันออกดีกว่าตะวันตก บันไดควรมีกี่ขั้น ห้องครัวกับห้องน้ำให้ไว้ทางตะวันตก และอย่าไว้หน้าบ้าน ทั้งหมดนี้เหมือนเป็นกฎผีบอก แต่แท้จริงแล้วมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และการก่อสร้างสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งก็คือเรื่องเดิมที่แบงค์เจอเมื่อสร้างบ้านไว้ข้างตายาย
“เรื่องแบบนี้ พ่ออุ๊ยสม ตาของแบงค์เป็นคนบอกครับ อุ๊ยเคยบวชมาแล้ว ตอนนี้คอยช่วยงาน ช่วยพิธีกรรมในวัด แกมีเรื่องเล่าแบบนี้เยอะมาก จะทำอะไรก็ต้องดูวัน เพราะเชื่อในพลังของดวงดาว
“จะเรียกว่าบ้านนี้เป็น ‘บ้านผีบอก’ ก็ได้” แบงค์ว่า
ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรสาธุ
ในบริเวณบ้านประกอบไปด้วยบ้านหลายหลังด้วยกัน แต่ทั้งหมดไม่ได้มาพร้อมกัน พวกเขาค่อย ๆ สร้างไปทีละหลัง
ว่าแล้วเจ้าของบ้านก็พาพวกเราเดินดูทีละส่วน ทำให้เราค่อย ๆ รู้จักตัวตนของพวกเขาและบ้านสาธุอย่างไม่รีบร้อน
หลังแรกคือ ‘กระต๊อบ’ ที่เราใช้นั่งคุยกัน ตอนแรกที่โดยรอบมีแต่ทุ่งนา ใคร ๆ ก็ลือว่าผีดุ พวกเขาใช้กระต๊อบหลังเดียวนี้เป็นบ้าน ไว้ให้พ่อแม่ลูกนอน จนหลายคนถามว่าอยู่ไปได้ยังไง
ปัจจุบันนี้ด้านล่างเป็นพื้นที่รับลูกค้า แขกไปใครมาก็จะมานั่งกันตรงนี้ ส่วนด้านบนเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนที่มีเตาไฟตรงกลาง เพราะสำหรับแบงค์ ที่นี่คือพื้นที่ที่สวยที่สุด ใครมาแบงค์ก็อยากพาทุกคนไปนั่งตรงนี้เพื่อพูดคุยกันทุกเรื่องในชีวิต ดูวิวไปด้วย เปิดใจไปด้วย


เขาพาเราเดินขึ้นไปดูพื้นที่แลกเปลี่ยนนั้น ก่อนจะหาหันมาดูอีกส่วนในชั้นเดียวกัน ซึ่งมีป้า ๆ แม่ ๆ กำลังทอผ้า เย็บปักถักร้อย ที่นี่คือพื้นที่เบื้องหลังของแบรนด์สาธุทุกคอลเลกชัน
แบงค์เล่าว่าแม่ ๆ เป็นชาวบ้านดอยเต่าและพื้นที่ใกล้เคียงที่อยากทำงาน ใครถนัดอะไรก็ทำสิ่งนั้น บางครั้งทำออกมาไม่ค่อยตรงบรีฟบ้างก็ไม่เป็นไร เจ้าของแบรนด์เข้าใจ มองว่านั่นคือธรรมชาติที่สวยงามของแบรนด์


ถัดจากหลังนี้ก็สร้างโรงย้อมผ้าที่อยู่ไม่ไกลกัน จากนั้นก็พื้นที่ซักผ้าและบ้านที่แม่ของแบงค์อยู่
จากนั้นก็มาถึงไฮไลต์อย่างบ้านพัก 3 หลัง เจ้าของบ้านบอกว่าที่นี่ไม่ใช่โฮมสเตย์ที่ใครจะจองมานอนก็ได้ แต่เป็นของลูกค้าแบรนด์สาธุและญาติมิตรที่อยากมาสัมผัสบรรยากาศดี ๆ ของดอยเต่า


แบงค์พาเราเดินขึ้นไปชมทีละหลัง บันไดแต่ละเรือนล้วนเดินแล้วหยุ่น ๆ เท้า ชวนให้ตื่นเต้นว่ากำลังจะเข้าไปสู่บรรยากาศใหม่ เมื่อเดินไปถึงแล้วจะพบกับพื้นที่ขนาดกะทัดรัดทว่าน่ารักจับใจ มีส่วนห้องนอนที่มีฟูกปูรอผู้มาเยือน และมีส่วนให้นอนเอนหลังดูดาว ซึ่งน่าเอนมาก ๆ เพราะองศาผนังที่เอนออกของเรือนกะเหรี่ยง
เห็นแล้วอยากเก็บกระเป๋ามาค้างสักคืนสองคืน


ไม่ช้าบาร์ที่แบงค์ใช้ดริปกาแฟก็ถือกำเนิดขึ้น ต่อด้วยส่วนที่ช่างทำงานไม้และส่วนเก็บของ
นอกจากเสื้อผ้าที่แบรนด์ทำอยู่แล้ว ตอนนี้พวกเขากำลังทดลองทำเฟอร์นิเจอร์ไม้อยู่ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับแบงค์ เฟอร์นิเจอร์แบบที่เขาชอบไม่ต้องดูเป๊ะไปทุกสัดส่วน แต่เน้นทดลอง ดูเป็นธรรมชาติเหมือนกับเสื้อผ้าและบ้านสาธุ


จริง ๆ แล้ว บ้านของพวกเขาไม่ได้จบอยู่แค่บ้านเรือนเป็นหลัง แต่รวมไปถึงพื้นที่ธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแปลงผักที่ปลูกเอง พื้นที่เลี้ยงไก่หลากหลายชนิด คอกเลี้ยงควายวัยรุ่น 2 ตัวที่ดูจะติดแบงค์จนพยายามวิ่งตาม และทุ่งกว้างที่เลี้ยงวัวหลายตัว ตั้งแต่ตัวแม่จนถึงตัวลูกที่เพิ่งเกิดได้ไม่กี่วัน
ที่สำคัญคือแหล่งน้ำทั้งหลายที่อยู่ในเขตบ้าน ที่ซึ่งพ่อลูกมักใช้ตกปลามาประกอบอาหาร บางครั้งเพื่อนของสาธุ ลูกชายคนโตก็มานั่งตกปลาด้วยกัน เด็ก ๆ แถวนี้เรียนโรงเรียนเดียวกัน ตกเย็นก็ใช้เวลาเรียนรู้ชีวิตจริงด้วยกันต่อ ไม่ได้จบอยู่แค่ในรั้วโรงเรียน


“ทำเสร็จแล้วไม่ได้สบายเลยนะบ้านนี้” ฉัตรเล่าบ้าง
“ปกติเราอยู่แต่บ้านปูน ช่วงแรกที่มาอยู่เราก็ไม่ชิน มันมีขี้มอด แล้วรั้วรอบขอบชิดก็ไม่มี เราเป็นผู้หญิง รู้สึกเหมือนไม่ปลอดภัยบ้าง กลัวผีบ้าง บางคืนก็ไม่กล้าออกมาข้างนอก มองซ้ายมองขวาก็รู้สึกว่าเข้าห้องดีกว่า เราเลยคอยปรับปรุงบ้านเรื่อย ๆ”
ทุกวันนี้บ้านสาธุสวยงามไปทั่วบริเวณ ทั้งยังมีการแบ่งโซนอยู่อาศัยและโซนรับลูกค้าชัดเจน โดยการสร้างบ้านพักส่วนตัวของครอบครัวไว้ส่วนหลัง
“เริ่มโอเคแล้ว” สาวประจวบฯ ยิ้ม
บางทีบ้านอาจจะมีลมหายใจของตัวเอง และต้องรอเวลาให้ทุกอย่างค่อย ๆ ลงตัว พอเหมาะพอดีกับสมาชิกในบ้าน

ความงามในแบบที่เราเป็น
“ได้ปลาแล้วพ่อ!” สาธุที่เพิ่งกลับมาจากโรงเรียนพร้อมน้อง ๆ กึ่งเดินกึ่งวิ่ง ถือปลาตัวใหญ่ที่เพิ่งตกได้มาให้พ่ออย่างดีใจ ก่อนที่พ่อจะชี้ไปทางครัวที่แม่ฉัตรกำลังรับบทเชฟประจำบ้าน
ปลาตัวใหญ่ขนาดนี้ สาธุคงไม่อายเพื่อนแล้ว
บ้านนี้กินอาหารฟิวชันเป็นกิจวัตร ดอยเต่าบ้าง ประจวบคีรีขันธ์บ้าง แต่ที่แน่ ๆ คือใช้วัตถุดิบสดใหม่จากบริเวณบ้านตัวเอง นอกจากปลา ยังมีผักจากแปลงที่ตั้งใจปลูกด้วย สุดท้ายก็ได้อาหารออกมารสชาติเป็นเอกลักษณ์ เพราะผักที่หาได้แต่บนดอย ถ้าได้กินทุกวันคงสุขภาพดีได้ไม่ยาก
หลังกินข้าวฝีมือแม่ฉัตรกันจนอิ่มแปล้ เราก็ชวนกันมานั่งคุยต่อที่ลานหน้าบ้านใหม่ของครอบครัว และถามถึงมุมโปรดปรานของแต่ละคน
ฉัตรชอบมุมหนึ่งของห้องโถงตรงกลาง เป็นมุมโปรดเพราะใช้บ่อยในการออกกำลังกายบอดี้เวทตอนเย็น ส่วนแบงค์ชอบห้องนอนสาธุ เพราะรักในช่วงเวลาที่ได้นอนกับลูก แล้วก็ชอบพื้นที่แลกเปลี่ยนบนบ้านด้วย
“ฉัตรว่าทุกมุมของบ้านนี้อยู่แล้วมีความสุขค่ะ สบายใจ ร่มรื่น ร่มเย็น และมีความอบอุ่นในตัว” แม่กล่าว ก่อนที่พ่อจะพูดต่อ
“สำหรับแบงค์ มันคือชีวิตในฝันที่เป็นจริง เราได้อยู่กับครอบครัว ได้ดูแลธรรมชาติผ่านชีวิตของเรา ได้ทำงานร่วมกับชุมชน ทำให้คนรอบข้างได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราเป็น มันเกินจริงมากเลยครับ”
บ้านสาธุทำหน้าที่สนับสนุนชุมชนอย่างถึงที่สุดตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก และนี่คือสิ่งที่พวกเขาภูมิใจที่สุด


“บ้านหลังนี้แต่ก่อนเหมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนค่ะ” ฉัตรเล่าอย่างมีความสุข “ชุมชนใกล้ ๆ ได้เห็นแล้วว่า สิ่งที่เราทำคือสิ่งที่พวกเขาทำมานานแล้ว แต่ต่อยอดไปได้ในวงกว้าง เขาจึงมีพลัง ภูมิใจในภูมิปัญญา และมีรายได้
“แม่ ๆ บางคนบอกว่าไม่ได้ทำนานแล้ว ได้กลับมาทำเขาก็ชอบเพราะมันสวยดี แต่แปลกใจว่ายังมีคนใส่อยู่อีกเหรอ เราก็บอกไปว่ามีนะ”
สำหรับตัวเรือนต่าง ๆ ของบ้านสาธุ เมื่อแรกสร้างชาวบ้านหลายคนมองว่ามันช่างแปลกประหลาด ไม่เข้าใจว่าพวกเขาจะลงทุนสร้างบ้านแบบนี้ขึ้นมาทำไม แต่แบงค์ก็ยืนยันมาตลอด ทั้งในเรื่องความยั่งยืน ส่วนด้านความแข็งแรง พวกเขาก็พิสูจน์มาแล้วด้วย 8 ปีที่ยังอยู่ดี ไม่หวั่นแม้พายุจะมาแรง เพราะวัสดุและวิธีการสร้างที่เป็นหนึ่งเดียวธรรมชาติ ไม่ต้านลม
ซึ่งการสร้างบ้านก็ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชนเหมือนกัน ตั้งแต่คนตัดไม่ไผ่ คนเก็บใบไม้มาทำหลังคา ช่างก่อสร้าง ทั้งยังเป็นการสืบสานให้ภูมิปัญญาเดิมยังอยู่ต่อได้ ตอนนี้แบงค์ก็กำลังสร้างศาลาหลังใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่ให้แม่ ๆ ป้า ๆ ทำงานได้สะดวกขึ้นอีกด้วย


“เราอยากนำเสนอความงามในแบบที่เราเป็น” เจ้าของบ้านว่า
“แบงค์ภูมิใจในความเป็นดอยเต่า ภูมิใจที่จะหยิบใช้ภูมิปัญญาธรรมชาติเพื่อสร้างชีวิตของเราให้ดี อยากอวดให้คนรู้ว่าดอยเต่าสวยแค่ไหนครับ”
แม้ว่าเป้าหมายสูงสุดของทั้งคู่ คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวดอยเต่าหรือชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียง และกำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เราคิดว่าตอนนี้พวกเขาบรรลุเป้าหมายใกล้ตัวแล้ว นั่นคือสาธุ ลมหายใจ และสติ ลูก ๆ ทั้ง 3 อยู่ดอยเต่าได้แบบมีความสุข

