เป็นภาพคุ้นชินของเราไปแล้ว เมื่อเอ่ยถึงภูเก็ตทีไร คงไม่พ้นลมทะเลฤดูร้อน ต้นสนทะเลพริ้วไหวตามแรงลม ผู้คนเวียนฝากร่างกายและหัวใจให้น้ำทะเลสีฟ้าสดใสเยียวยา ทว่าในจังหวัดภูเก็ต ที่เดียวกันนี้เอง เมื่อผ่านถนนท่าเรือ-เมืองใหม่ มุ่งสู่ท่าเรือลงเกาะยาว ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง กลับมีกระท่อมหลังน้อยนามว่า
‘Booktree Library & Café’ ที่เปิดเคียงกับคลินิกทำฟัน
‘หนังสือ ต้นไม้ ห้องสมุด’ เป็นสถานที่ที่ เม-เมทินี เพชรจู ตัดสินใจกลับบ้านเกิดมารื้อฟื้นความฝันอันเกือบเลือนหายไปในวัยเด็ก ‘ห้องสมุด’ พื้นที่ตรงหน้าอัดแน่นด้วยหนังสือ ต้นไม้ และบรรยากาศแห่งการอ่าน เสมือนดั่งบ้านของทุกคน ชิงช้าไม้ชานบ้าน เปลนอนผ้าสบายตัว เจ้าตูบแสนรัก และคุณเหมียวงีบหลับพริ้มบนชั้นหนังสือ

ห้องสมุดหลังนี้ฝันอยากเป็นพื้นที่ของทุกคน และแบ่งปันประโยชน์จากสิ่งที่เธอรักให้ได้มากที่สุด แค่มาอ่านหนังสือ นอนเหยียดขาสบายๆ ฟังเสียงสายฝนในกระท่อมไม้หลังอบอุ่น, เมมาเห็นภาพนี้คงยิ้มแก้มแทบปริ
“เวลาเราทำอะไรด้วยความรัก คนจะรับรู้ถึงความรู้สึกตรงนั้นได้ บางคนก็อยากรู้ว่าเจ้าของร้านเป็นใคร หนังสือมาจากไหน ซึ่งมีหลายคนเลยนะที่สนใจเบื้องหลังของร้านและอยากคุยกับเรา” ทันตแพทย์เล่าด้วยเสียงใจดี
และนี่คือเบื้องหลังของห้องสมุดเล็กๆ ในอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดภูเก็ต
ทันตแพทย์-บรรณารักษ์
เม พ่อแม่ และบรรพบุรุษ เป็นคนป่าคลอกโดยกำเนิด ช่วงเวลาวัยเด็กที่ป่าคลอกเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้วคงไม่ต่างจากภาพที่เราเห็นภูเก็ตในภาพยนตร์ร่วมสมัยนัก เธอเล่าถึงอดีตด้วยเสียงเปื้อนรอยยิ้มว่า
“เมื่อพูดถึงความเจริญแล้ว นับว่าป่าคลอกมีความเจริญน้อยที่สุด”
ถนนลูกรัง ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ระบบขนส่งสาธารณะเข้าสู่ตัวอำเภอเมืองภูเก็ตก็ต้องลุ้นเอาว่ารถจะมาเมื่อไหร่ เราแอบคิดถึงตัวเองตอนเด็กที่เวลาจะไปโรงเรียนทีไร ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อรอรถสองแถวที่ผ่านชั่วโมงละคัน

เพื่อนเล่นคลายเหงาของเมคือ หนังสือ
“เราอ่านได้ทุกอย่างนะ แต่ไม่ได้เป็นหนอนหนังสือ อีกอย่างบ้านเราอยู่นอกเมือง สมัยนั้นภูเก็ตยังไม่มีร้านหนังสือมากนัก อาศัยซื้อตามสำนักพิมพ์ที่เขามาเปิดขายในโรงเรียน แล้วแม่เราก็เป็นคุณครู เลยมีหนังสือเยอะหน่อย พอเรามีโอกาสมาเรียนกรุงเทพฯ ก็ชอบเดินเล่นร้านหนังสือ ชอบบรรยากาศร้านหนังสือ แล้วก็ชอบจัดหนังสือด้วย”
การได้สัมผัสแผ่นกระดาษ ซึมซับตัวอักษรทีละตัวช้าๆ ไล่จัดเรียงหนังสือทีละเล่ม เป็นความสุขของเธอ และโชคดีมากที่สมัยเด็กบ้านของเมมีหนังสือคอยโอบกอดเธออยู่เสมอ นอกจากหนังสือจะเป็นเพื่อนสนิทวัยเด็กของเมแล้ว

ปิงปองก็เป็นเพื่อนที่เธอรักมาจนถึงทุกวันนี้ (เมเป็นนักกีฬาปิงปองของโรงเรียนด้วยนะ)
“เมื่อก่อนเวลาเล่นทีก็ต้องไปที่โรงเรียน เพราะที่บ้านไม่มีกำลังซื้อโต๊ะปิงปองมาเล่น พอมีโอกาสก็เลยซื้อมาให้เด็กๆ แถวนี้เล่นกัน มีเด็กมาเล่นเยอะเลย แล้วเราชอบมากเวลาได้ยินเสียงเด็กเล่นปิงปอง” เธอส่งยิ้มร่า
จวบจนกาลเวลาผ่านไป เมเติบโตเป็นคุณหมอฟัน ผู้แบ่งเวลาจันทร์ถึงศุกร์ดูแลคลินิกทันตกรรมที่อำเภอตะกั่วป่า ส่วนช่วงเสาร์อาทิตย์ก็แวะกลับบ้านที่ป่าคลอก สวมร่างเป็นคุณบรรณารักษ์พิทักษ์หนังสือ
ร้านหนังสือ-ห้องสมุด
แม้เติบโตเป็นหมอฟัน แต่ความฝันวัยเด็กยังคงขยับจังหวะเบาๆ เสมอไม่เสื่อมคลาย ในที่สุดเมื่อถึงเวลาจังหวะแจ่มแจ้งขึ้นมาอีกครั้ง เมตัดสินใจลาออกจากงานราชการ กลับสู่บ้านที่เคยเป็นสารตั้งต้นความฝันในวัย 50
พอได้พูดคุยสืบสาวราวเรื่องจึงได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว ‘Booktree’ เป็นชื่อร้านหนังสือของน้องชายเพื่อน แต่สะดุดปัญหาหลายอย่างเลยไม่ได้ไปต่อ เมเลยขอหยิบยืมชื่อ Booktree (หนังสือ ต้นไม้) สองสิ่งที่หลงรักมาใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดิน จนเกิดเป็นร้านหนังสืออิสระ นามว่า ‘Booktree’ เมื่อ 10 ปีก่อน เธอว่าตัวตนของเจ้าของร้านคือมนตร์เสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระ ที่ท้ายสุดก็ต่างดึงดูดคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กันเข้ามา คล้ายกับกฎแรงดึงดูดยังไงอย่างงั้น
จนเวลาล่วงผ่านเข้าปีที่ 7 ความฝันของเมก็เดินทางมาเคาะประตูร้านหนังสืออย่างไม่ทันตั้งตัว


“จะทำห้องสมุดนะ…” เธอว่าอย่างนั้น
“พอเราแก่ก็อยากกลับไปอยู่ท่ามกลางหนังสือ เราอยากให้ความชอบของเราทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย บางครั้งเราอ่านหนังสือแค่รอบเดียวก็วางไว้บนชั้น แต่ถ้าได้แบ่งปันสู่คนอื่น อย่างน้อยหนังสือหนึ่งเล่มส่งต่อให้คนอ่านได้สักสิบคน ประโยชน์ของมันก็เพิ่มมากขึ้นตามนั้น อีกอย่างเราอยากให้เด็กๆ แถวบ้านแวะมาอ่านหนังสือได้ด้วย”
ไม่นาน Booktree Library & Café ก็ผลิดอกบานสะพรั่งอีกครั้ง ณ อำเภอป่าคลอกบ้านเกิดของเม
“จะทำห้องสมุดนะ…” เมเปรยความตั้งใจกับคุณแม่และเพื่อนสนิทมิตรสหาย แม้ทุกคนจะพากันแยกย้ายและเติบโตไปคนละทิศละทาง พอรู้ข่าวจากเม หนังสือหลายเล่มถูกทยอยส่งจากเพื่อนที่กรุงเทพฯ บ้าง จากพี่น้องของเมบ้างหนังสือของเมที่เก็บสะสมบ้าง หนังสือหลั่งไหลมาที่ห้องสมุด ราวกับสายพานโรงงานช็อกโกแลตที่บรรจุช็อกโกแลตส่งถึงบ้านของเหล่าเด็กน้อย ใช่! เราเผลอนึกถึงหนังเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory ภาพยนตร์วัยเด็กรสหอมหวาน

เมหาแผ่นไม้มาแกะสลักชื่อห้องสมุดด้วยตัวเอง ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ จัดเรียงหนังสือใส่ชั้นไม้ แบ่งหมวดหมู่วรรณกรรมคลาสสิก วรรณกรรมสำหรับเด็ก How to สร้างกำลังใจ หนังสือตกแต่งบ้าน การเมือง ฯลฯ
เมพยายามให้บรรยากาศดูผ่อนคลาย ไม่เป็นทางการเกินจนน่าอึดอัด ส่วนระบบการยืม-คืน แสนจะง่ายดายราวกับอ่านหนังสือของตัวเองอยู่ที่บ้าน เพียงแค่หยิบหนังสือที่อยากอ่านไปที่เคาน์เตอร์ เขียนชื่อหนังสือ ชื่อคนยืม และเบอร์โทรศัพท์ในสมุดเล่มเล็กๆ ที่เตรียมไว้ จากนั้นก็ยืมกลับบ้านได้เลย วันเวลาไม่ต้องพูดถึง ยาวนานเท่าไหร่ก็ได้ที่ใจต้องการ เพราะเมเข้าใจคนอ่านว่าบางเล่มไม่ควรรีบอ่านจบให้ทันเวลา บางอย่างต้องใช้เวลาละเมียดละไมทีละส่วน

แถมเธอยังแบ่งพื้นที่บางส่วนสำหรับขายหนังสือด้วยนะ ถ้าเล่มไหนวางนานจนไม่มีคนรับไปอ่านต่อ ก็เก็บเข้าห้องสมุดไว้แบ่งปันนักอ่าน ซึ่งสถานการณ์ของร้านหนังสือไม่ได้ราบรื่นนัก ต้องใช้รายได้ส่วนตัวหล่อเลี้ยงเพื่อไปต่อ
“แต่เราจะทำยังไงให้มันอยู่ได้” ทันตแพทย์เจ้าของห้องสมุดและร้านหนังสืออิสระตั้งคำถาม
‘ทำทำไม’ หมัดฮุกจากคำพูดของคุณแม่ที่ถามเธอตั้งแต่เริ่มต้น เมรู้ดีว่าร้านหนังสือเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เธอเลยหาคำตอบเพื่อคลายข้อสงสัย ว่าจะทำอย่างไรให้วงการร้านหนังสืออิสระมีลมหายใจอยู่ได้ ไม่ใช่รวยรินฮวบฮาบจนเจ้าของตกกระไดพลอยเข้าเนื้อตัวเอง เครื่องดื่มและเบเกอรี่เป็นคำตอบที่พอช่วยหล่อเลี้ยงร้านหนังสืออิสระให้ไปต่อ

“ทำร้านหนังสือต้องอดทน แล้วต้องรู้ว่าความสุขจริงๆ ของเราคืออะไร อาชีพนี้ไม่รวยแน่นอน”
ประสบการณ์กว่า 10 ปีของการทำร้านหนังสืออิสระสอนให้เธอรู้จักคำว่า ‘อดทน’
0 – 1000
แม้เมจะไม่ใช่หนอนหนังสือ แต่หนังสือและรสชาติของการอ่าน เป็นวัตถุดิบที่ทำให้เมเป็นเมในทุกวันนี้
“การอ่านสำคัญนะ เราสะสมมันทีละนิดๆ เราไม่รู้หรอกว่าวันไหนจะได้ใช้ จนวันหนึ่งมันจะมาเองและช่วยให้เราทำอะไรบางอย่างได้ ซึ่งเราก็อยากให้เด็กๆ ในชุมชนมีโอกาสได้อ่านหนังสือ สะสมความรู้ตั้งแต่เด็กๆ”

การสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมการอ่านสำคัญมากต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง เราอาจเคยได้ยินมาไม่น้อยว่าคนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือ ไม่ก็อ่านหนังสือไม่เกิน 7 บรรทัด แต่เมบอกว่า นี่อาจจะเป็นบทพิสูจน์เล็กๆ ที่ดำรงไว้ซึ่งสังคมการอ่าน เธอเล่าเรื่องของ น้องไมร่า ที่คุณพ่อคุณแม่ชวนน้องทำภารกิจอ่านหนังสือให้ครบ 1,000 เล่มก่อนเข้า ป.1 แม้ฟังดูเกินความสามารถของเด็กตัวจิ๋ว แต่น้องไมร่าพิชิตภารกิจสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย (ขอปรบมือให้ชุดใหญ่)
โดยร้านหนังสือและห้องสมุดของเมก็เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้น
“เราอยู่ได้เพราะแบบนี้แหละ อยู่ๆ มันก็มีแรงอยากจะทำต่อ” เธอเล่าด้วยความภูมิใจ
อยากรู้-แบ่งปัน
“ยิ่งโตขึ้น เรายิ่งอยากรู้อะไรอีกมากมายเลย บางอย่างเรียนมาก็ไม่ได้ใช้ หรืออันที่อยากจะใช้ก็ไม่ได้เรียน มันคงดีถ้าเปิดพื้นที่ให้คนมาสอนทักษะในชีวิตประจำวัน ทำของใช้ด้วยตัวเอง บางอย่างเราไม่จำต้องซื้อด้วยซ้ำ”
เมเล่าปนตลกสะท้อนความจริง เพราะเราก็รู้สึกไม่ต่างกัน อย่างเรื่องใกล้ตัวมาก ดูแลต้นไม้ยังไงให้ไม่ตาย เราก็ต้องแอบเสิร์ชอากู๋กูเกิลอยู่ตลอด หรือหนังสือพังเราจะซ่อมอย่างไร อยากทำสมุดเราจะเย็บอย่างไร

โชคดีที่ยังมีเพื่อนต่างแขนง พอได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแลกวิชาความรู้กันไป เมตั้งใจว่าในอนาคตอยากให้พื้นที่ของ Booktree Library & Café เป็นพื้นที่แบ่งปันความรู้ ใครชำนาญการเรื่องใดก็เอามาเล่ามาแชร์ เพื่อนบางคนทำอาหารเก่งมาก ในขณะที่อีกคนทำงานคราฟต์ยอดเยี่ยม คงดีถ้าพื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์กลางที่ยึดโยงพวกเขาเข้าหากัน
“เราอยากให้ตรงนี้เป็นที่แลกเปลี่ยนของคนที่มีองค์ความรู้แตกต่างกัน เรายินดีให้ใช้บริการสถานที่ฟรี และตั้งใจไว้ว่าจะจัดเวิร์กช็อปเล็กๆ เดือนละครั้งสองครั้ง ถ้าไม่ติดโควิด-19 จะมีอาจารย์มาสอนซ่อมหนังสือด้วยนะ”
ค่อยเป็น-ค่อยไป

แม้ห้องสมุดจะเปิดมาเกือบ 3 ปี พอพูดถึงผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ว่าอย่างเป็นห้องสมุดเพื่อชุมชน ระหว่างทางก็ไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิดไว้ เมบอกว่าจริงๆ แล้วคนในละแวกนี้ไม่ได้เข้ามาใช้บริการบ่อยเมื่อเทียบกับคนจากที่อื่น เธอเล่าว่า “บางอย่างสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญกับตัวเรา อาจจะไม่สำคัญกับคนอื่นก็ได้” เพื่อนละแวกบ้านในวัยเด็กของเมหลายคน สำหรับเขา การอ่านหนังสือในเวลาว่างระหว่างวันอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่เลือกได้มากนัก เมื่อเทียบกับการทำงาน หาเงิน หล่อเลี้ยงชีวิต เธอจึงปล่อยให้กลายเป็นเรื่องของธรรมชาติมากกว่า ที่รอเวลาให้เด็กๆ และคนในชุมชนละแวกนั้นแวะเวียนเข้ามาเยือน
“ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ของแบบนี้ต้องใช้เวลาและความอดทน” เธอยังเชื่อใน ‘เวลา’ และ ‘ความอดทน’
แต่ยังดีที่เด็กๆ แวะมาตีปิงปอง เล่นกับเจ้าตูบ ลูบหัวเจ้าเหมียว บ้างก็เข้ามาดูต้นไม้
เมเล่าเรื่องตลกให้เราฟังว่า ที่ร้านเธอชอบปลูกต้นไม้มาก จู่ๆ ก็มีคนมาฝากขายต้นไม้ด้วยเลย ห้องสมุดแห่งนี้เมถือว่าเป็นความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิตในวัย 50 การได้ยินเสียงหัวเราะสดใสของเด็กๆ เห็นคนอ่านหนังสือ เห็นคนนั่งจิบกาแฟ เห็นคนจูงน้องหมามาเดินเล่น เห็นเพื่อนเล่นปิงปองด้วยกัน ล้วนมีความหมายและคุณค่ากับเธอมาก

Booktree Library & Café (สาขา ภูเก็ต)
ที่ตั้ง : 16/3 หมู่ 2 ถนนท่าเรือ-เมืองใหม่ ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต (แผนที่)
เปิดบริการทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัสบดี เวลา 9.00 – 18.00 น.
โทรศัพท์ : 08 1539 3900
Facebook : Booktree Library & Café