28 กุมภาพันธ์ 2020
13 K

The Cloud x ไทยประกันชีวิต

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

คลาน นั่ง ยืน ก้าวเดิน ออกวิ่ง เต้นรำ ฯลฯ คุณเรียกอากัปกิริยาเหล่านี้ว่าอะไร

คนทั่วไปอาจนิยามกิริยาและท่าทางเหล่านี้ว่า ‘การเคลื่อนไหว’ แต่สำหรับผู้พิการทางร่างกายนั้นหมายถึง ‘โอกาสในการใช้ชีวิต’

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายเกือบหนึ่งล้านคน นับเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิการทั้งหมดที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ 

แม้จะมีสถิติและจำนวนตัวเลขของอวัยวะที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหล่าผู้พิการทางการเคลื่อนไหวปรารถนาเหมือนกับเราทุกคน คือโอกาสในการใช้ชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจาก วอลเตอร์ ลี 
 พ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

วันนี้โอกาสเป็นใจให้เราได้มานั่งพูดคุยกับ วอลเตอร์ ลี หัวเรือใหญ่ของ ‘Zy Movement Foundation’ ถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตในฐานะคุณพ่อที่เชื่อว่า ความพิการไม่ใช่ภาวะที่ ซาย ลี ลูกชายที่เกิดมาพร้อมขาที่พิการทั้งสองข้างและแขนซ้ายที่สมบูรณ์เพียงข้างเดียวต้องยอมจำนน 

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

เขาจึงออกเดินทางไปทั่วโลก เพื่อค้นหาแนวทางการรักษาที่ทำให้ลูกชายตัวน้อยลุกขึ้นมายืนอยู่ในระดับเดียวกับสายตาของผู้คนและใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนกับคนทั่วไป พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวและร่างกาย 

เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้เด็กพิการด้อยโอกาสคนอื่นๆ ได้มีพัฒนาการเช่นเดียวกัน และเป็นเพื่อนคอยฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับครอบครัวของพวกเขา ตลอดจนเป็นสื่อกลางที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างผู้พิการและคนในสังคม

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

01

ก้าวแรกของพ่อ สู่ก้าวแรกของลูก

  ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว วอลเตอร์เดินทางมาที่ประเทศไทยในฐานะเชฟชาวมาเลเซีย เป็นที่รู้จักในวงการจอแก้วไทยมากขึ้นในฐานะพิธีกรรายการอาหาร และซีอีโอของบริษัทเวนเจอร์เทค มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เขาแต่งงานกับภรรยาชาวไทย และมีลูกที่น่ารักด้วยกัน 2 คน 

จนกระทั่งปลายเดือนกันยายน ค.ศ. 2006 วอลเตอร์และครอบครัวเฝ้ารอการมาของสมาชิกใหม่อย่างตื่นเต้น นั่นคือเด็กชายซาย ลี ทันทีที่ได้เห็นหน้าลูกชายตัวน้อย ความรู้สึกของวอลเตอร์ในเวลานั้นกลับไม่ใช่ความรู้สึกเดียวกันในตอนแรก แต่เป็นความรู้สึกช็อกจนแทบทำให้หัวใจของเขาหยุดเต้น

“น้องซายเกิดมาพร้อมแขนซ้ายที่สมบูรณ์เพียงข้างเดียว ส่วนแขนขวามีเพียงครึ่งแขน เขาไม่มีขาขวาแต่มีขาซ้ายซึ่งผิดรูปออกไปพร้อมกับมีนิ้วเพียงสามนิ้ว และมีปัญหาข้อต่อสะโพกหลุดออกจากเบ้า นอกจากนั้นแล้วเขาก็น่ารักเหมือนเด็กทั่วไป” วอลเตอร์เล่าย้อนความหลังให้เราฟัง

หลังจากใช้เวลาตั้งสติกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ประมาณ 3 เดือน วอลเตอร์จึงตัดสินใจเดินหน้าทำหน้าที่พ่อและผู้นำครอบครัวต่อไป

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

“ผมไม่เชื่อว่าความพิการคือภาวะที่ต้องยอมจำนน และจบลงเพียงแค่การใช้รถเข็น” ชายที่อยู่ตรงหน้าเรากล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

วอลเตอร์ออกเดินทางไปครึ่งค่อนโลกเพื่อค้นหาแนวทางการรักษาที่ทำให้ลูกชายของเขาเดินได้ แต่ละที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โอกาสที่ซายจะลุกขึ้นมาเดินได้เองนั้นน้อยมาก ทางเลือกที่พวกเขาแนะนำคล้ายๆ กัน คือการเติบโตผ่านการใช้ชีวิตบนรถเข็น ซึ่งวอลเตอร์คิดว่า นั่นยังไม่ใช่แนวทางที่ดีพอสำหรับความเป็นมนุษย์

การเดินทางนั้นยืดเยื้อออกไปอีก 2 ปี สุดท้ายวอลเตอร์ก็พบแนวทางที่ตอบโจทย์ของซายที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาด้านกระดูกและกล้ามเนื้อเด็ก ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

“ศาสตราจารย์บอกกับผมว่า โอกาสที่เขาจะทำให้น้องซายลุกขึ้นมาเดินได้มีประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์” วอลเตอร์เล่าด้วยแววตาเป็นประกาย

เมื่อได้ดูเคสการรักษาที่ผ่านมาของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก วอลเตอร์จึงตัดสินใจให้ซายเข้ารับการรักษาที่นั่น ในขณะเดียวกันเขาก็เริ่มมองไกลออกไปว่า หากการรักษาในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จกับลูกชายของเขา ก็อาจช่วยเด็กพิการด้านการเคลื่อนไหวกว่าเกือบ 5 แสนคนในประเทศไทย และ 10 ล้านคนในอาเซียนได้เช่นกัน

วอลเตอร์พูดคุยกับทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กถึงการขออนุญาตบันทึกวิดีโอขั้นตอนการรักษาลูกชายของเขา โดยให้เหตุผลว่า ‘บันทึกนี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตครอบครัวเป็นแสนๆ ครอบครัว’

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจาก วอลเตอร์ ลี 
 พ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

02

ก้าวเเรกของลูก สู่ก้าวเริ่มของพ่อ

หลังจากนั้นไม่นาน วอลเตอร์เดินทางกลับมาเมืองไทยพร้อมกับซายที่ลุกขึ้นเดินได้ด้วยขาเทียมแล้ว รวมถึงฟุตเทจขั้นตอนการรักษาลูกชายของเขา ซึ่งมีความยาวนับหลายชั่วโมง

 วอลเตอร์ไม่รีรอที่จะทำตามความตั้งใจของเขาเมื่อครั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมนี นั่นคือการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวและร่างกาย เขาเริ่มต้นด้วยการชักชวนเพื่อนๆ ผู้มีแนวคิดเพื่อสังคมมารวมกลุ่มกัน จากนั้นช่วยก่อร่างสร้างความตั้งใจนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยวางฐานรากของมูลนิธิไว้ 4 เสาเข็ม คือ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กพิการทางการเคลื่อนไหวและร่างกาย ช่วยให้ผู้ปกครองของเด็กเข้าใจสภาวะที่เผชิญอยู่ สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์ในการรักษา และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้พิการในสังคม

ระหว่างที่มูลนิธิอยู่ในขั้นตอนวางรากฐาน วอลเตอร์กระจายเรื่องราวและองค์ข้อมูลที่เขาได้บันทึกเอาไว้ออกไปสู่วงสังคม ภายในเวลาไม่นาน มูลนิธิของเขาก็กลายเป็นที่รู้จัก ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากองค์กรและสถาบันต่างๆ มากมาย

ใน ค.ศ. 2010 ‘มูลนิธิซาย มูฟเม้นท์’ หรือ ‘Zy Movement Foundation’ ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยตั้งชื่อต้นตาม ‘ซาย’ ลูกชายของวอลเตอร์

“ผมใช้ชื่อของซาย เพราะการออกเดินทางเพื่อก้าวแรกของเขาคือแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มสร้างก้าวต่อไปให้กับคนอื่นๆ” วอลเตอร์กล่าวพร้อมรอยยิ้มอบอุ่น

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจาก วอลเตอร์ ลี 
 พ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ
Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจาก วอลเตอร์ ลี 
 พ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

03

ก้าวแรก : เยียวยาใจ

‘ก่อนบำบัดและรักษาบุตรหลาน พ่อแม่ควรได้รับการเยียวยาเป็นอันดับแรก’ คือหลักการง่ายๆ ที่วอลเตอร์ค้นพบหลังจากก้าวผ่านช่วงเวลาที่เหมือนโลกทั้งใบของเขาพังทลายลง 

ใน ค.ศ. 2012 มูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ จึงสร้างเครือข่ายครอบครัวเด็กผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โดยการจัดงานสัมมนาผู้ปกครองในหัวข้อการรักษาและฟื้นฟูสำหรับครอบครัวเด็กพิการด้านการเคลื่อนไหว

“เมสเสจที่เราให้พ่อแม่คือ ‘ยอมรับความจริง แต่ไม่ยอมแพ้’ คนเป็นพ่อแม่ไม่ควรอายสายตาคนรอบข้างที่มีลูกเป็นเด็กพิการ ขยันพาพวกเขาออกไปเที่ยว ไปหาประสบการณ์นอกบ้าน เพราะการพาพวกเขาออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอก จะทำให้เด็กมีความมั่นใจ รักและเคารพตนเองมากขึ้น รวมถึงตัวพ่อแม่เองด้วย” วอลเตอร์เล่าให้เราฟัง

นอกจากแนวทางการรักษาและฟื้นฟูจิตใจ มูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ ยังให้ความรู้และส่งเสริมให้ผู้ปกครองยืนหยัดเพื่อสิทธิของบุตรหลานผู้พิการทางการเคลื่อนไหวอย่างสิทธิด้านการศึกษาและสวัสดิการสาธารณะ

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ
Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

04

ก้าวต่อไป : รักษากาย 

ในระหว่างที่แขนข้างหนึ่งของมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ กำลังฟื้นฟูสภาพจิตใจบรรดาพ่อแม่ของเด็กผู้พิการทางการเคลื่อนไหว แขนอีกข้างก็พัฒนาศักยภาพทางการรักษาควบคู่กันไปด้วย​

นอกจากการจัดประชุมทางการแพทย์เกี่ยวกับเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวในระดับย่อยไปจนถึงระดับภูมิภาค มูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือทางการแพทย์กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กเพื่อส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปศึกษาวิธีการรักษาที่เยอรมนี เช่น หลักการบำบัดแบบวอยต้า (Vojta Therapy) ที่ใช้วิธีกดจุดเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว ใช้ในการดูแลผู้ป่วยระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ระบบประสาท รวมถึงผู้ป่วยเด็ก

วอลเตอร์บอกกับเราว่า ปัจจุบันมีแพทย์กว่า 600 คน ได้รับการฝึกฝนศาสตร์ความรู้เหล่านี้ มีเด็กไทยอีก 50,000 คน ได้รับการรักษาด้วยวิทยาการการรักษาต่างๆ และนำมาต่อยอดที่ประเทศไทย 

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

05

ก้าวท้าทาย : เผยแพร่สู่สังคม

เมื่อกายพร้อม ใจพร้อม โจทย์ต่อไปสำหรับมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ คือการเผยแพร่ข้อมูล​ให้คนทั่วไปเห็นว่าผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวตัวน้อยๆ เหล่านี้ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและเท่าเทียมกับทุกคนในสังคม ซึ่งวอลเตอร์มองว่า วิธีที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อทัศนคติของผู้คนได้ดีที่สุด คือการแสดงให้พวกเขาเห็น

ทุกๆ เดือนที่มูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ มีการจัดคลาสสอนการทำอาหารแบบเรียนรวม (Inclusive Learning) นั่นหมายความว่า ทั้งเด็กพิการและเด็กปกติจะได้สนุกไปกับการเรียนทำอาหารร่วมกันในชั้นเรียนนั้น

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ
Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

“ช่วงแรกๆ พวกเขาอาจรู้สึกแปลกตากับความแตกต่างภายนอกของแต่ละคน แต่นั่นเป็นก็แค่แวบแรก พอเขาได้สนุกร่วมกัน ช่วยกัน กำแพงพวกนั้นมันก็หายไปเอง เหลือแค่เสียงหัวเราะกับมิตรภาพ” เราฟังวอลเตอร์เล่าถึงภาพเหล่านั้น ก็อดหัวเราะตามไม่ได้

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ นั่นคือ ‘Climb to Change a Life’ หรือ ‘ปีนเพื่อเปลี่ยนชีวิต’ ซึ่งเป็นโครงการที่พาเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวพร้อมครอบครัวไปพิชิตยอดเขาสูงด้วยความช่วยเหลือของเหล่าอาสาสมัคร

แต่ทำไมถึงต้องปีนเขาล่ะ เราเอ่ยถามวอลเตอร์

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

“เราเชื่อในตรรกะ ‘การสอนคนให้จับปลา ดีกว่าการหาปลามาให้คนกิน’ นะ นี่ไม่ใช่การให้เสื้อผ้า ของใช้ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกชั่วคราว แต่มันคือให้โอกาสเด็กพิการเหล่านี้ได้ค้นพบความสามารถเพื่อทำสิ่งยากๆ ด้วยตัวเอง พร้อมกับการสนับสนุนจากครอบครัวและคนในสังคม เราจะได้มั่นใจว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกันได้ในอนาคต” 

แม้จะเป็นการทุ่มเทที่ไม่อาจเห็นผลได้ในเร็ววันนี้ แต่เราเชื่อว่า นี่จะเป็นผลดีที่ยั่งยืนในวันข้างหน้าของพวกเขา

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจากพ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

06

ก้าวคนละก้าว

แม้การสนทนาจะจบลงไปแล้ว แต่วอลเตอร์ก็ไม่วายเดินมาส่งเราและเพื่อน

เห็นมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ ขับเคลื่อนเพื่อผู้พิการทางการเคลื่อนไหวเรื่อยมา จนตอนนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 11 แล้ว เราอดถามไม่ได้ว่า พวกเขาเริ่มมองหาทิศทางที่จะก้าวต่อไปแล้วหรือยัง

“โอ้ ผมมีอะไรที่อยากทำเยอะแยะเลย (หัวเราะ) ตอนนี้ที่ผลักดันอยู่ก็เป็นเรื่อง Inclusive Learning นอกจากนี้ก็ดำเนินการเรื่องเปิดสาขามูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ ที่ประเทศจีน

“อีกอย่างที่หวังที่สุด คือเรื่องการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อคนพิการ ทางที่ดีใส่ไว้ในระบบการศึกษาให้เด็กๆ ได้เรียน ฝึกให้มันเป็น Common Sense ไปเลยจะดีมาก แต่ผมทำคนเดียวไม่ไหวหรอกนะ ต้องมีตัวช่วย”

พวกเราสามคนเดินมาหยุดตรงประตูทางออกของมูลนิธิพอดี เหมือนวอลเตอร์จะรู้ว่าความสงสัยว่าตัวช่วยนั้นคืออะไรยังคาใจเราอยู่ 

วอลเตอร์ยิ้มให้ แล้ววางมือลงบนบ่าของพวกเราพร้อมบอกว่า “เราทุกคนไง”

Zy Movement ความเท่าเทียมของผู้พิการทางร่างกายที่เกิดจาก วอลเตอร์ ลี 
 พ่อผู้อยากเห็นลูกเติบโตอย่างภาคภูมิ

Writer & Photographer

Avatar

อมราวดี วงศ์สุวรรณ

นักหัดเขียนสายใต้ที่ไม่รังเกียจรอยหมึกที่เปื้อนมือ พึงใจกับการสดับจังหวะการลงน้ำหนักนิ้วมือบนแป้นพิมพ์ และกลิ่นกระดาษบนหน้าหนังสือ