ย้อนเวลากลับไปในทศวรรษ 1960 เมื่อครั้งภาพยนตร์สียังเป็นของแปลกใหม่ และการจะรับชมสักเรื่องต้องตีตั๋วเข้าโรงหนังหรือรอหนังกลางแปลงมาฉายเท่านั้น หนังจีนที่ผลิตโดยค่ายชอว์บราเดอร์สสตูดิโอ (Shaw Brothers Studio) แห่งฮ่องกง เป็นสกุลภาพยนตร์สำคัญที่เข้ามาตีตลาดเมืองไทยเป็นเจ้าแรก ๆ
หนึ่งในกระบวนภาพยนตร์เพลงของชอว์บราเดอร์สที่โด่งดังติดอันดับในสมัยนั้นคือเรื่อง Songfest (1963) ซึ่งมีบทเพลงแปลกหู ไม่เหมือน ‘หนังชอว์’ เรื่องก่อน ๆ ทำนองเหมือนเพลงชาวเขา มักลงท้ายวรรคด้วยเสียง ‘เอ’ และเวลาพระ-นางร้องโต้ตอบกัน จะต้องขึ้นต้นด้วย “เฮ…” อยู่เสมอ ชื่อไทยของหนังเรื่องนี้คือ เพลงรักชาวเรือ ซึ่งดัดแปลงคำร้องเป็นเพลงไทย โดยใช้ชื่อเพลงเหมือนกับหนัง พานให้เข้าใจกันว่าเพลงลักษณะนี้เป็นเพลงดั้งเดิมของชาวเรือในเมืองจีน
หากแท้จริงแล้ว เพลงพวกนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ซันเกอ’ แปลว่า เพลงภูเขา ขับร้องกันบนยอดเขาและหุบเหวเป็นหลัก หาใช่เหนือท้องทะเลหรือบนเรือ
และต้นตำรับของการร้องซันเกออย่างที่ได้ยินในหนังก็ไม่ใช่ชาวจีน แต่เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนอย่าง ‘ชาวจ้วง’ ซึ่งมีบรรพบุรุษร่วมกับชนชาติไทย
ขอนำทุกท่านไปรู้จักกับ ซันเกอ บทเพลงอันเป็นมรดกล้ำค่าของวัฒนธรรมชนชาติจ้วง ตำนานต้นกำเนิดเพลงชนิดนี้ สาเหตุที่ซันเกอมาอยู่ในภาพยนตร์ดังวัยดึก รวมถึงเทศกาลขับร้องซันเกออันโด่งดังที่ได้ชื่อว่าเป็นงานใหญ่ในรอบปีของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในปัจจุบัน

ชนเผ่าจ้วง
ดังที่ทราบกันดีว่าจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ทว่าประชาชนชาวจีนก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด เพราะรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้จำแนกแยกย่อยประชาชนของตนตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศ รวมทั้งสิ้น 56 ชาติพันธุ์
ชาวฮั่น (Han People) เป็นคนหมู่มากของประเทศ ยืนหนึ่งตลอดกาลในบรรดา 56 เผ่าพันธุ์จีนด้วยตัวเลขประชากรกว่า 1.2 พันล้านคนในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 91 ของคนทั้งประเทศเข้าไปแล้ว
ในบรรดาชนกลุ่มน้อยอีก 55 ชาติพันธุ์ที่เหลือ ชาวจ้วง (Zhuang People) มีจำนวนมากที่สุด คือประมาณ 1.6 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเอง กว่างซีจ้วง (Guangxi Zhuang Autonomous Region) ทางตอนใต้ของจีน มีอาณาเขตติดต่อกับเวียดนาม

ชาวจ้วงอาศัยอยู่ในดินแดนหุบเขาของกว่างซี หรือ กวางสี มาแต่โบราณนานครัน ยืนยันได้จากหลักฐานโครงกระดูกยุคหินเก่าที่ขุดพบในดินแดนนี้ พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาในตระกูลไท ถือได้ว่าเป็นญาติห่าง ๆ สายหนึ่งของคนไทย ภาษาจ้วงหลายคำออกเสียงคล้ายกับภาษาไทยมากจนฟังกันรู้เรื่อง เป็นต้นว่า ‘แม่’ ในภาษาไทย ภาษาจ้วงบางสำเนียงก็ออกว่า ‘แม่’ ดุจเดียวกัน

ภาพ : WikiData
เนื่องจากชาวจ้วงตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอิทธิพลของชาวฮั่น (จีน) มาตลอด พวกเขาจึงได้รับวัฒนธรรมจีนเข้ามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง เช่น ระบบการตั้งชื่อแซ่ การใช้ตัวอักษรจีน และการทำไร่ไถนาแบบฮั่น แต่ในทางกลับกัน วัฒนธรรมจ้วงบางอย่างก็ถูกส่งต่อไปสู่ชาวฮั่นด้วย เป็นต้นว่าเพลงพื้นบ้านประเภทซันเกอ
เพลงภูเขา

ภาพ : WallpaperSafari
จีนตอนใต้เป็นดินแดนที่อุดมด้วยชนกลุ่มน้อยนานาชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวจ้วง ชาวม้ง ชาวเย้า ชาวอี๋ ชาวไป๋ และอื่น ๆ อีกสารพัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาและเนินเขาอันสลับซับซ้อน ต้นไม้ใบหญ้าอุดมสมบูรณ์ อากาศอบอุ่น ไม่ร้อนไม่หนาวจัดอย่างภาคอื่นของจีน ผู้คนแทบทุกเผ่าจึงยังชีพด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ท่ามกลางความเงียบสงบของป่าเขาลำเนาไพรที่โอบล้อมพวกเขาไว้
ทัศนียภาพชนบทที่งดงามซึ่งธรรมชาติรังสรรค์ไว้เร้าให้เกิดการละเล่นอย่างหนึ่งคือ ซันเกอ (Shan Ge) ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เพลงภูเขา เป็นคำประสมระหว่าง ซัน (山) กับ เกอ (歌) วิธีการร้องเพลงประเภทนี้แต่เดิมจะขึ้นไปขับขานกันบนยอดเขา ให้เสียงเพลงก้องไกลได้ยินทั่ว ๆ กัน
เพลงเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับเพลงฉ่อย เพลงลำตัด หรือเพลงเกี่ยวข้าวของไทย เป็นเพลงที่นิยมร้องโต้ตอบกันระหว่างชายและหญิง มักมีเนื้อหาของการเกี้ยวพาราสี เย้าแหย่ซึ่งกันและกัน เป็นกิจกรรมยามว่างที่กลุ่มชนชาวเขาร้องเพื่อความสนุก ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการทำงานในแต่ละวัน

ชนเผ่าในละแวกนี้ต่างมีซันเกอในรูปแบบของตัวเอง ซึ่งจะแตกต่างกันที่ทำนอง วิธีร้อง และฉันทลักษณ์ในบทเพลง เวลาต่อมาเมื่อชาวฮั่นกลุ่มต่าง ๆ เริ่มเดินทางลงใต้มาอาศัยอยู่ร่วมกับชนกลุ่มน้อยในละแวกนี้ ก็ได้รับเอาซันเกอมาร้องด้วยภาษาของตนเองบ้าง เห็นได้จากการที่ชาวจีนแคะมีซันเกอในภาษาแคะ ชาวจีนแต้จิ๋วมีเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า ‘เต่าเซียกัว’ ซึ่งรับมาจากชนเผ่าเซอ เป็นต้น
ซันเกอของเผ่าจ้วงมีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่ง คือคำสร้อยท้ายวรรคที่มักลงท้ายด้วยเสียงสระ ‘เอ’ บางครั้งก็มีการแบ่งฝ่ายร้องโต้ตอบกัน พวกลูกคู่จะคอยประสานเสียงร้องว่า “เฮย เลียว เหลี่ยว ลัว” เมื่อคนร้องหลักร้องจนจบแต่ละท่อน
ตำนานหลิว ซานเจี่ย
ซันเกอของชาวจ้วงถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร มีคำอธิบายและข้อสันนิษฐานหลายข้อที่นำมาใช้ตอบคำถามนี้ แต่หากไปถามชาวจ้วงแล้วไซร้ เกินกว่าครึ่งคงให้คำตอบว่ามาจาก หลิว ซานเจี่ย (刘三姐) นักร้องหญิงในตำนานที่พี่น้องชาวจ้วงยกย่องเป็นวีรสตรี
ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่า แม่นางหลิว ซานเจี่ย มีตัวตนจริงหรือไม่ แม้ว่าเรื่องราวของนางจะได้รับการเล่าต่อกันมาแบบมุขปาฐะตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่งใต้ (ปี 1127 – 1279) แล้วก็ตามที่ลือกันว่านางเป็นบุตรีคนที่ 3 ในบ้านสกุลหลิว ทำให้นางได้รับฉายาประจำตัวว่า ‘พี่สาวสกุลหลิวคนที่ 3’ นางเกิดในตระกูลชาวนายากจน เป็นลูกกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เล็ก จึงโตมาในอุปการะของพี่ชายคนโต

ภาพ : WikiData
หลิว ซานเจี่ย เกิดมาพร้อมด้วยพรสวรรค์ทางเสียงร้อง เพลงของนางไพเราะสะกดหูทุกคนในกว่างซี หนำซ้ำยังมีปฏิภาณไหวพริบดีเลิศ สามารถด้นเพลง ต่อเพลง เอาชนะชายหนุ่มที่พากันมาเกี้ยวนางหรือบัณฑิตอวดดีที่คอยเหยียดหยามได้ทุกครั้งไป ชาวจ้วงต่างชื่นชมนางว่ามีเสียงร้องเป็นเลิศ เป็นเสมือนเทพีแห่งเสียงเพลงที่คอยขับกล่อมและสอนเพลงให้พวกเขาร้องตาม เมื่อใดที่เอ่ยถึงนาง ชาวจ้วงทุกหมู่เหล่าก็มักจะเอ่ยปากว่า “ไม่มีใครร้องเพลงได้ดีอย่างแม่นางหลิว ซานเจี่ย”
แต่โชคไม่ดีที่ความงามพร้อมทั้งหน้าตา น้ำเสียง และจิตใจของนาง กลับไปสะกิดต่อมความปรารถนาในตัวขุนนางเจ้าที่ดินจอมละโมบชื่อ โม่ หฺวายเหริน (莫怀仁) เข้า โม่พยายามทุกวิถีทางที่จะปราบหลิวและจับตัวนางมาเป็นนางบำเรอ เพื่อหลบหนีอิทธิพลอำนาจของโม่ หฺวายเหริน และปกป้องมิให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ หลิว ซานเจี่ย จึงตัดสินใจกระโดดน้ำตายที่ทะเลสาบ แต่พลันที่ร่างของนางกระทบผิวน้ำ ปลาคาร์ปสีทองตัวหนึ่งก็กระโดดขึ้นพ้นน้ำ และนำหลิว ซานเจี่ย ขึ้นสู่สรวงสวรรค์

ตำนานหลิว ซานเจี่ย บางฉบับจบลงอย่างมีความสุขกว่านี้ โดยระบุว่านางหลบหนีการคุกคามของโม่ หฺวายเหรินและลูกน้องไปได้ ได้กลับมาพบชายหนุ่มคนรักชื่อ อาหนิว อีกครั้ง ก่อนที่ทั้งคู่จะสารภาพรักต่อกันใต้ต้นไทรใหญ่ริมน้ำและครองรักกันอย่างมีความสุข
เรื่องราวที่จริงแท้ของหลิว ซานเจี่ย เป็นอย่างไรคงไม่สำคัญ เพราะชาวจ้วงต่างก็ให้ความเคารพนับถือนางในฐานะผู้ให้กำเนิดซันเกอที่พวกเขาร้องกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงทุกวันนี้
จากเรื่องเล่าสู่แผ่นฟิล์ม
ชาวจ้วงร้องเพลงซันเกอ ขับขานเรื่องราวของหลิว ซานเจี่ย มานานนับร้อย ๆ ปี จุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึงในปี 1960 เมื่อมีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Liu Sanjie ขึ้นเป็นครั้งแรก

หนังเพลงเรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย Changchun Film Studio เป็นภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่เรื่องแรกที่ถ่ายทำและบันทึกเสียงในจีนทั้งหมด ทำนองเพลงทุกเพลงที่ปรากฏในเรื่องนี้อ้างอิงจากทำนองเพลงพื้นถิ่นของชาวจ้วงและเผ่าอื่น ๆ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ใช้ทิวทัศน์ที่สวยงามของป่าเขาในกว่างซีเป็นฉาก นำแสดงโดยนักเรียนการละครวัย 17 ปี ชื่อ หวง หว่านชิว
ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งในแง่รายได้และรางวัล เป็นการฉีกภาพลักษณ์เดิม ๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ในยุคนั้นซึ่งถูกประเมินค่าว่าล้าหลัง ด้อยกว่าฮ่องกงและไต้หวัน เหล่านักแสดงกลายเป็นคนดังภายในชั่วข้ามคืน ในมาเลเซียซึ่งขณะนั้นค่อนข้างรังเกียจและกลัวจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ยังมีการมอบรางวัล 1 ใน 10 หนังที่ดีที่สุดในโลกแก่หนังจีนแดงเรื่องนี้

ด้วยความดังกระฉ่อนของเรื่อง Liu Sanjie ชอว์บราเดอร์สสตูดิโอซึ่งเป็นที่ 1 ในค่ายหนังภาษาจีนสมัยนั้นจึงเอาเยี่ยงอย่างบ้าง จากเดิมที่หนังของชอว์สร้างวนเวียนอยู่กับเทพนิยาย ตำนานจีน แต่งกายงดงาม ก็หันมาทำหนังเกี่ยวกับชาวไร่ชาวนาในชนบท แทนที่จะร้องเพลงอย่างงิ้วก็ใส่ทำนองซันเกอหรือเพลงภูเขาแบบชนเผ่าจ้วงเข้าไป กลายเป็นหนังอมตะหลายเรื่องที่เข้ามาฉายในเมืองไทย
เริ่มกันที่เรื่อง Songfest หรือ เพลงรักชาวเรือ ในปี 1963 ที่เล่าเรื่องรักระหว่างสาวชาวไร่ชากับหนุ่มคนหาปลา มีฉากการโต้เพลงเลือกคู่ ซึ่งนางเอกเอาชนะชายคนแล้วคนเล่าเหมือนอย่างหลิว ซานเจี่ย

ภาพ : IMDB
ไล่ ๆ กันยังมีเรื่อง The Shepherd Girl หรือ เพลงรักลมสวาท เกี่ยวกับความรักของสาวเลี้ยงแพะกับหนุ่มเรือจ้าง เพลงเปิดเรื่องที่นางเอกร้องซันเกอก้องภูเขาโต้กับพระเอกที่กำลังล่องเรืออยู่กลางน้ำ ยังตราตรึงผู้ชมหลาย ๆ คนมาจนทุกวันนี้

ภาพ : IMDB
รวมไปถึง Sweet and Wild ชื่อไทยว่า จอมซนคนสวย ในปี 1966 ก็เป็นเรื่องรักของสาวชาวบ้านและหนุ่มชาวเรืออีกเช่นกัน เรื่องนี้โดดเด่นตอนท้ายที่นางเอกร้องซันเกอโต้กับพวกตัวร้ายชาวเมืองที่ร้องเพลงร็อกแอนด์โรล ราวกับจะแสดงการปะทะกันระหว่าง 2 วัฒนธรรมอย่างไรอย่างนั้น

และเมื่อนักร้องนักดนตรีไทยนำทำนองเพลงจากหนังเรื่อง เพลงรักชาวเรือ มาขับร้อง เมื่อสืบรากขึ้นไป ก็จะพบว่าหยิบยืมทำนองการร้องมาจากซันเกอของชนเผ่าจ้วงอันมีบรรพบุรุษร่วมกับคนไทยนี่เอง!
เทศกาลเพลงภูเขาเผ่าจ้วง
เทศกาลร้องเพลงภูเขา หรือ ซันเกอ เป็นวัฒนธรรมร่วมของชนกลุ่มน้อยแถบจีนตอนใต้ หลาย ๆ เผ่าต่างมีประเพณีหรือวันสำคัญที่จะมารวมตัวกันร้องเพลงประจำเผ่าเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง แต่คงไม่มีเทศกาลร้องเพลงของเผ่าใดที่มากด้วยสีสัน เป็นที่รู้จักมากเท่ากับเทศกาลของเผ่าจ้วง

ชาวจ้วงยึดเอาวันที่ 3 เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของจีนเป็นวันจัดเทศกาลนี้ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เทศกาล ‘ซานเยว่ซาน’ หมายถึง ‘3 เดือน 3’ ซึ่งความเชื่อบางกระแสกล่าวว่า เป็นวันที่แม่นางหลิว ซานเจี่ย เดินทางขึ้นสวรรค์ พี่น้องชาวจ้วงจึงชักชวนกันร้องเพลงเหล่านี้เป็นเวลา 3 วัน 3 คืนเพื่อรำลึกถึงนาง
ในสมัยโบราณ ซานเยว่ซานมีความสำคัญต่อหนุ่มสาวชาวจ้วงมาก เพราะเป็นโอกาสดีที่สุดในรอบปีที่พวกเขาจะได้สละโสดโดยมีเสียงเพลงเป็นสื่อกลาง

ชายหญิงที่ยังโสดจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่าจ้วงชุดที่ดีที่สุดที่พวกเขามี เดินทางไปยังจุดนัดหมายซึ่งมักเป็นเชิงเขา ทุ่งหญ้า หรือสวน เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า ‘ตุ้ยเกอ’ (对歌) หรือโต้เพลง
การโต้เพลงแบบจ้วงโบราณจะแบ่งข้างชายกับหญิง แข่งกันร้องซันเกอโต้ตอบกันจนกว่าจะได้คู่ร้องที่ถูกใจ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะกลายเป็นคู่รักของกันและกันในที่สุด ทำนองเพลงซันเกอที่ร้องในการโต้เพลงนี้มีหลายลักษณะด้วยกัน มีทั้งร้องเพลงเล่านิทาน เพลงเกี่ยวกับการเกษตร เพลงหยอกล้อโอ้โลม แต่ที่สนุกสุดเห็นจะเป็นเพลงทายปริศนาที่ทั้งผู้ถามและผู้ตอบจะต้องลับสมอง ฝึกเชาวน์ปัญญากันสุดความสามารถ ฝ่ายที่ตั้งคำถามมักถามทีเดียวหลายคำถาม เป็นคำถามชุดที่แต่ละคำตอบมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เช่น “อะไรเอ่ยจะกินแต่ต้นไม่กินราก อะไรเอ่ยจะกินทั้งต้นกินทั้งราก ฟันอะไรเอ่ยจะขึ้นอยู่ในท้อง ท้องอะไรเอ่ยมีนัยน์ตา” กว่าจะตอบได้ว่า “เคียว จอบ โม่หิน และโคมไฟ” ก็เรียกเสียงหัวเราะได้ยกใหญ่

ภาพ : Chinaexpeditiontour.com
หากว่าได้คู่ที่ถูกใจแล้วต้องทำอย่างไรต่อ เมื่อนั้นสาว ๆ จะเป็นผู้มอบสื่อรักที่พวกเธอตระเตรียมล่วงหน้ามาเป็นวัน นั่นคือ ‘ซิ่วฉิว’ (绣球) เป็นลูกบอลแพรปักเย็บสวยงามประจำชนชาติจ้วง ว่ากันว่าตอนที่หลิว ซานเจี่ย สารภาพรักต่ออาหนิว นางได้มอบลูกบอลแพรปักแบบนี้แก่เขา จึงกลายเป็นธรรมเนียมว่า สาวชาวจ้วงรุ่นหลังจะต้องมอบซิ่วฉิวเป็นสื่อแทนรักที่ตนมีให้กับฝ่ายชาย
พูดถึงลูกบอลไปแล้ว ในวันซานเยว่ซานยังมีกิจกรรมสนุกอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ‘เฉี่ยงฮัวเพ่า’ (抢花炮) เป็นกีฬาโบราณที่ชาวจ้วงเล่นกันมานานกว่า 500 ปี วิธีการเล่นกีฬาชนิดนี้คล้าย ๆ กับรักบี้ของชาวตะวันตก ผู้เล่นชายฉกรรจ์จะแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมละ 8 คน ตะลุมบอนกันแย่ง ‘ฮัวเพ่า’ หรือลูกบอลเหล็กที่ภายในใส่ลูกประทัดเอาไว้ ปัจจุบันกีฬาประเภทนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ

ภาพ : Mingpao.com
อาหารพิเศษที่ชาวจ้วงจะกินกันในวันนี้คือข้าวเหนียว 5 สี ประกอบด้วย สีขาว สีดำ สีแดง สีม่วง และสีเหลือง ย้อมสีด้วยผักผลไม้ชนิดต่าง ๆ พวกเขาเชื่อว่าข้าวเหนียวหลากสีนี้จะช่วยให้กินแล้วมีสุขภาพแข็งแรง คนในครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ลูกหลานสมัครสามัคคีกัน
และยังมีการเล่นลาวกระทบไม้ซึ่งดู ๆ ไปคล้ายกับการละเล่นในภาคอีสานบ้านเราเสียเหลือเกิน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะชาวจ้วงมีบรรพชนเดียวกับชาวลาว ชาวไทย

ยุคนี้เทศกาลเพลงภูเขาเผ่าจ้วง หรือซานเยว่ซาน ไม่ใช่แค่เทศกาลพื้นบ้านของชนเผ่าจ้วงอีกต่อไป แต่เป็นเทศกาลใหญ่ประจำปีของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่คนจีนเผ่าอื่น มณฑลอื่น รู้จักผ่านภาพยนตร์ชีวประวัติหลิว ซานเจี่ย อันโด่งดัง ภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมการจัดงานนี้อย่างจริงจัง และผลักดันให้เป็นฤดูท่องเที่ยวประจำปีของเขตปกครอง มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาร่วมสัมผัสประสบการณ์วันซานเยว่ซานทุกปี เมื่อนั้นตำนานเทพีแห่งเสียงเพลงจะได้รับการขับขานขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับทำนองซันเกอที่นางได้มอบให้เป็นภูมิปัญญาติดตัวลูกหลานชาวจ้วง


ข้อมูลอ้างอิง
- en.gxzf.gov.cn/sanyunsanfestival.html
- www.china.org.cn/english/2001/Nov/22657.htm
- mychinesehomekitchen.com/2021/05/07/march-3rd
- www.chinahighlights.com/festivals
- www.discoverchinatours.com/china-tour-guide