The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัฒนธรรมอาบป่า อาบธรรมชาติ หรือแคมปิ้ง (Camping) เป็นที่เลื่องลือและยอดฮิตมาสักระยะสำหรับคนเมือง เพราะการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ต้องดำเนินไปอย่างเร่งรีบบนพื้นคอนกรีต ท้องถนน และตึกระฟ้า คงดีไม่ใช่น้อยหากวันหยุดได้เอนกายลงบนผืนดิน หายใจลึกๆ เต็มปอดใต้ต้นไม้ มองสายน้ำไหลผ่านอย่างเชื่องช้า 

ซึ่งการแคมปิ้งก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เราเข้าหาธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติเยียวยาและบำบัดกายใจ ขณะเดียวกัน ผู้มาเยือนก็ต้องปฏิบัติต่อธรรมชาติอย่างนอบน้อมที่สุด

คอลัมน์ Staycation คราวนี้ เราอยากชวนคุณเข้าป่าด้วยวิถี Green Camper ไปแคมปิ้งปราศจากขยะและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร, ถ้าสงสัยแล้วว่าทำไมต้องปราศจาก ‘ขยะ’ เราขอเล่าที่มาที่ไปพอสังเขป

สถานการณ์ขยะในปัจจุบันถือเป็นเรื่องน่ากังวลถึงขีดสุด ไม่ว่าจะขยะมูลฝอย พลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะล่องลอยกลางทะเล ขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม แม้กระทั่งขยะอาหาร ที่เรานึกไม่ถึงว่าอาหารที่เรากลืนลงท้องจะกลายร่างเป็นขยะได้อย่างไร แถมคนหนึ่งคนยังสร้างขยะมากถึง 1.13 กิโลกรัมต่อวัน และชาวกรุงเทพฯ ก็สร้างขยะต่อวันรวมกัน 10,560 ตัน (ข้อมูลจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย)

พอเห็นตัวเลขก็แอบตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะการดำเนินชีวิตธรรมดาของเรา เผลอสร้างขยะให้กับโลกมากมายนับไม่ถ้วน นั่นเป็นเหตุผลให้เราควรกิน ดื่ม เที่ยว และดำเนินชีวิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

วกกลับมาที่วิถี Green Camper เราขอชวนคุณเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมอุปกรณ์ ณ บัดนี้

วิธีแคมปิ้งแบบปราศจากขยะและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรที่สุด

เตรียมใจ

ทำไมการแคมปิ้งต้องเตรียมใจ 

สำหรับมือใหม่ที่กำลังสนใจหรือก้าวเท้าเข้ามาสู่วงการการแคมปิ้ง ‘เตรียมใจ’ เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าธรรมชาติจะมอบอะไรให้กับเราบ้าง บางทีแดดออกจ้าแต่ฝนดันตก เพราะธรรมชาติก็คือธรรมชาติ เราไม่อาจฝืนหรือบังคับ ฉะนั้น จงเตรียมใจ ธรรมชาติจะมอบอะไรให้ก็จงยอมรับและปรับตัว 

“เรามองธรรมชาติให้เป็นเรื่องสนุก เรียนรู้กับทุกฤดูทั้งร้อน ฝน หนาว เราเชื่อว่าในหน้าร้อนก็มีข้อดี ความเปียกของหน้าฝนก็มีข้อดี หน้าหนาวที่เราคิดว่าดีเหลือเกิน อาจมีข้อเสียก็ได้ แค่ออกไปเรียนรู้ความเป็นธรรมชาติและปรับตัว เพราะโลกอนาคต คนที่ปรับตัวเก่งคือคนที่จะอยู่รอด ส่วนฝนตก-แดดออก เราห้ามไม่ได้ บางทีก็ต้องยอมแพ้ต่อธรรมชาติ” โบร-พัชริดา ธรรมเกษร นักท่องเที่ยวสายกรีนผู้ก่อตั้ง Bangkok Backyard บอกเราเช่นนั้น

เตรียมตัว

ใจพร้อม กายก็ต้องพร้อม 

การเตรียมตัวที่ว่าเหมือนการกลับมาถามตัวเองว่าเราชอบอะไร อยากแคมปิ้งแบบไหน ซึ่งมีให้เลือกทั้งแคมปิ้งในป่าที่เจอสัตว์ป่านานาชนิด กลางวันเดินเทรคกิ้ง กลางคืนค้างอ้างแรมกับธรรมชาติ หรือเริ่มต้นจากพื้นที่กลางเต็นท์ (Campground) มีทั้งอุทยานและพื้นที่ที่เอกชนสร้างขึ้นเอง อย่าง Bangkok Backyard พื้นที่ทางเลือกของคนเมือง

เตรียมเส้นทาง

เลือกสถานที่แล้ว ก็เตรียมวางแผนการเดินทางได้เลย 

ข้อดีของการศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง นอกจากไม่ทำให้หลงแล้ว ยังอาจเจอทางลัดที่ใกล้ที่สุด เพื่ออย่างน้อยการลดระยะเวลาเดินทางสัก 10 – 20 นาที ก็ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งยังไม่รวมถึงก๊าซอื่นๆ อันเป็นมลพิษที่อาจถูกปล่อยจากยานพาหนะระหว่างการเดินทาง

การศึกษาเส้นทางก็เหมือนการรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ไม่ได้หมายความให้สู้รบกับใคร แต่เป็นการวางแผนการเดินทางและรู้จักพื้นที่โดยรอบที่จะไปแคมปิ้งอย่างละเอียด ว่าระหว่างทางมีจุดแวะพัก แวะเที่ยวตรงไหนมีชุมชน ตลาดสด ร้านขายของชำ หรือร้านโชห่วย ให้ฝากท้องหรือจับจ่ายวัตถุดิบอาหารและของใช้จำเป็นหรือเปล่า มีสถานพยาบาล สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้เคียง กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือกรณีฉุกเฉินหรือเปล่า พอรู้ถี่ถ้วนก็อุ่นใจ

วิธีแคมปิ้งแบบปราศจากขยะและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรที่สุด

เตรียมอุปกรณ์

แคมปิ้งเป็นกิจกรรมนอกบ้านที่แทบจะไม่สร้างขยะเลย เพราะมีการเตรียมตัววางแผนตั้งแต่แรก

คำแนะนำจาก Green Camper เรื่องอุปกรณ์ ถ้าคุณเป็นมือใหม่และมีงบจำกัด เลือกเช่าอุปกรณ์จะดีกว่าซื้อ เพราะในการนอนป่าครั้งแรก เราไม่มีทางรู้ว่าจะตกหลุมรักวิถีแคมปิ้งตั้งแต่คืนแรกหรือเปล่า ฉะนั้น การเช่าก็ปลอดภัยกับเงินในกระเป๋าสตางค์ ถ้าเริ่มถูกใจการเอาต์ดอร์แนวนี้ ค่อยเริ่มซื้ออุปกรณ์สะสมไปทีละชิ้นก็ฟังดูเข้าที

ถ้าอย่างง่ายที่สุด ลองนึกถึงการเข้าค่ายลูกเสือ กวาดสายตามองข้าวของรอบบ้านว่าพอจะมีสิ่งใดหยิบยืมไปแคมปิ้งได้บ้าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับหนุ่มสาวที่กำลังเริ่มต้นเข้าสู่วงการ ซึ่งโบรชี้อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือ การสนับสนุนสินค้ามือสองสภาพดี เพราะวงการแคมปิ้งมีการแลกเปลี่ยนและเทรดข้าวของอุปกรณ์กันอยู่แล้ว

ว่ากันตามตรง การแคมปิ้งค่อนข้างเป็นกระแส ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสารพัดอุปกรณ์ บางครั้งผู้ผลิตก็ผลิตมากจนเกินพอดี และมีจุดจบเหมือน Fast Fashion ที่มีสินค้าเหลือมากมายและต้องจำหน่ายในราคาเซลล์

ฉะนั้น การแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันอุปกรณ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดขยะจากการผลิตเกินพอดีได้

เตรียมอาหาร

มาถึงขั้นตอนสนุกและท้าทาย เข้าครัวประกอบอาหารกลางป่าอย่างไรให้เหลือขยะน้อยที่สุด

เกริ่นก่อนว่าเจ้าขยะเศษอาหาร (Food Waste) น่ากลัวไม่น้อยกว่าขยะพลาสติก เพราะบรรดาพลาสติกยังนำกลับมาใช้ซ้ำ รีไซเคิลเป็นสารพัดของเก๋ แต่ขยะเศษอาหารจะลงเอยทับถมกันในหลุมฝังกลบ (Landfill) จนเกิดการเน่าเหม็น กลายเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน ยังไม่รวมถึงการสูญเสียพลังงานในการผลิตอาหารก่อนจะมาถึงมือเราที่ต้องสูญเปล่า เพียงเพราะเราต้องทิ้งอาหารที่กินไม่หมด

สถานการณ์ปัญหาขยะอาหารเกิดจากการผลิตและบริโภคมากเกินกว่าความจำเป็น อีกทั้งกรรมวิธีการผลิตรูปแบบต่างๆ อย่างการปลูกข้าวโพด ระบบเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว (Monoculture) ก็ส่งผลต่อปัญหานี้ด้วย แถมกระทบถึงคุณภาพดินและธาตุอาหารในดิน เพราะใช้ประโยชน์จากดินแบบผิดประเภท รวมถึงการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อคงผลผลิตให้เพียงพอต่ออาหารสัตว์ก็ก่อเกิดปัญหาเช่นกัน หนทางง่ายที่สุดคือ ‘พยายามกินอาหารให้หมด’

นั่นหมายความว่า เราต้องบริหารปริมาณอาหารให้พอดีกับท้องและพฤติกรรมการกิน

ทริค

หนึ่ง วางแผนเมนูอาหารล่วงหน้า เตรียมวัตถุดิบให้พอดิบพอดีกับเมนูที่จะทำและจำนวนคนกิน หากวางแผนทำอาหารด้วยวัตถุดิบน้อยชิ้น แต่แปลงร่างได้หลายเมนูก็ยิ่งคุ้มค่า เช่น แครอทหนึ่งหัว อาจแบ่งทำซุปแครอทตอนเช้า ผัดผักใส่แครอทตอนเย็น ฯลฯ พอทุกส่วนของวัตถุดิบได้ใช้จริงๆ ก็ช่วยลด Food Waste ได้เหมือนกัน 

สอง ทำเช็กลิสต์รายการอาหาร / วัตถุดิบ ที่จำเป็นต้องซื้อ กันหลงลืมและลดการซื้อของไม่จำเป็น 

สาม เลือกซื้อวัตถุดิบจากตลาดสดและชุมชน นอกจากสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ยังได้ผัก / ผลไม้ ที่ผ่านกระบวนการปลูกแบบอินทรีย์ และยังเลี่ยงบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มักพบในการซื้อของจากซูเปอร์มาเก็ตได้ด้วย 

การเลือกซื้อวัตถุดิบเอง ทำให้เราควบคุมปริมาณได้ ไม่ซื้อเยอะ ซื้อเผื่อ จนกินไม่หมด ถ้าจะให้ดีคูณสองก็พกกล่องบรรจุอาหาร ถุงซิลิโคน ปิ่นโต ฯลฯ สำหรับใส่วัตถุดิบ และกระเป๋าผ้าสำหรับจ่ายตลาด (ควรมีติดรถไว้เลย)

สี่ ถ้าไม่ใช่สายเข้าครัว การอุดหนุนพ่อค้าแม่ขายละแวกใกล้เคียงกับพื้นที่ตั้งแคมป์ก็เป็นทางเลือกที่ดี ช่วยกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว ที่สำคัญ เลือกกินแต่พออิ่ม พกภาชนะไปใส่เองจะยอดเยี่ยม

วิธีแคมปิ้งแบบปราศจากขยะและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรที่สุด

เตรียมกลับบ้าน

เหล่า Green Camper ต้องเรียนรู้การแยกขยะ โดยแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะอื่นๆ จะได้ไม่ปนเปื้อนกับขยะรีไซเคิล เพื่อให้นำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้ และควรแยกทิ้งในจุดที่ทางแคมป์กราวน์กำหนดไว้ หรือทิ้งในจุดแยกขยะอื่นๆ ที่เหมาะสม โดยมีข้อควรระวังคือ ซองบรรจุภัณฑ์ พลาสติก ขวดน้ำ และทิชชูเปียก โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อาจมีเพื่อนร่วมโลกตัวเล็กๆ ของเราคิดว่ามันคืออาหาร 

เราเคยเห็นข่าวสะเทือนใจมากช่วง พ.ศ.​ 2562 กวางในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สิ้นใจตาย เพราะพลาสติกเต็มท้องกว่า 3 กิโลกรัม มาเรียม พะยูนน้อยตายเพราะปัญหาเดียวกัน เต่าทะเล ปลาวาฬ แมวน้ำถูกอวนทะเลรัดจนเป็นแผลเหวอะ ไมโครพลาสติกลอยเกลื่อนเต็มท้องทะเล และขยะอีกนับไม่ถ้วนที่ถูกกลืนลงท้องสัตว์น้อยใหญ่

ทริค

หนึ่ง พกของส่วนตัวที่ใช้ซ้ำได้ ลดการสร้างขยะ และควรมีน้ำหนักเบาเพื่อสะดวกต่อการเดินทาง

สอง เลี่ยงการซื้อของที่ใช้บรรจุภัณฑ์ Single Use หากเลี่ยงไม่ได้ ควรแยกขยะและนำไปจัดการอย่างเหมาะสม

สาม ทิ้งขยะในจุดที่อนุญาตให้ทิ้ง ตามสถานที่ตั้งแคมป์ อุทยาน จะมีพื้นที่จัดสรรสำหรับทิ้งขยะเสมอ 

สี่ ใช้ผ้าหรือทิชชูกระดาษแทนทิชชูเปียก เพราะโครงสร้างทางเคมีของมันใช้เวลาเป็นร้อยปีเพื่อย่อยสลาย 

ห้า ขยะบางประเภทเป็นที่ต้องการเพื่อรีไซเคิล ลองกดติดตาม TikTok @Kong GreenGreen ที่ทำคลิปให้ความรู้เรื่องขยะ ว่าแต่ละประเภทมีวิธีจัดการอย่างไร ส่งไปรีไซเคิลในโครงการอะไรได้บ้าง เช่น ซองฟอยล์วิบวับสีเงิน หากทำความสะอาดจนเอี่ยมอ่อง ก็ส่งไปที่โครงการ Green Road เพื่อทำอิฐบล็อกหรือม้านั่งข้างทางได้ ฯลฯ 

หก การแยกขยะไม่ได้ส่งผลดีแค่เราและโลก แต่ยังส่งผลดีกับพี่ๆ พนักงานเก็บขยะ ช่วยลดแรงกายและเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเติมแรงใจด้วยค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ จากการแยกขยะที่ถูกประเภทด้วยนะ 🙂 

ท้ายที่สุดแล้ว การออกไปแคมปิ้งก็เป็นการรู้จักตนเองและพากาย-ใจ กลับคืนสู่สมดุลภายใต้ธรรมชาติ 

เราชอบโควตหนึ่งจากภาพยนตร์ Akira Kurosawa’s dreams กล่าวไว้ว่า “People have forgotten they are apart of nature too.” คล้ายกับว่าตัวเราเองต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้ววัฒนธรรมแคมปิ้งก็พาตัวเราเข้าไปให้ธรรมชาติช่วยเยียวยา ในมุมกลับกัน ก็อาจหมายถึงการพาตัวเองไปขอคืนดีกับธรรมชาติด้วยเหมือนกัน 

ชวนแคมเปอร์แคมปิ้งไร้ขยะ ตั้งแต่เตรียมใจจนถึงเตรียมกลับบ้าน ให้พร้อมเข้าป่าอย่างนอบน้อมต่อธรรมชาติ

ภาพ : Bangkok Backyard

ขอขอบคุณข้อมูล 

คุณโบร-พัชริดา ธรรมเกษร Bangkok backyard และ คุณหลิง-นันทิชา โอเจริญชัย Climate Strike Thailand

Writer

Avatar

ปภาวิน พุทธวรรณะ

เพิ่งเรียบจบอยู่ในช่วง Gap Year พยายามจะทดลองใช้ชีวิตคราวละวันทีละวันดำเนินชีวิตปกติสามัญธรรมดา แฟนคลับคนเหงาลุง Haruki Murakami