สิ่งที่น่าตกใจอย่างหนึ่ง หลังจากผมได้ย้ายกลับมาทำงานในแคลิฟอร์เนียก็คือ หลังคาโซลาร์ (Carport) ที่เอาไว้จอดรถที่นี่นั้น เจ้าของมักจะได้มันมาฟรีๆ (จากบริษัทพลังงานโซลาร์)

ผมโทรไปถามบริษัทโซลาร์เหล่านี้ เขาบอกว่าถ้าทำในสเกลที่ใหญ่พอ อย่างเช่น 10,000 ตารางเมตร เขาสามารถทำสัญญาตกลงกับเจ้าของที่ดินเพื่อติดตั้งโครงสร้างหลังคาเหล่านี้ได้ ‘ฟรี’ โดยเจ้าของที่ดินจะต้องซื้อไฟฟ้าจากบริษัทโซลาร์ แทนการซื้อจากรัฐในราคาเดียวกัน (หรือถูกกว่ารัฐ)

แน่นอนทางบริษัทโซลาร์ยังถือสิทธิ์ความเป็นเจ้าของโครงสร้างหลังคาโซลาร์อยู่ แต่เจ้าของที่เข้าไปใช้สอยได้ คล้ายๆ กับเวลาเราทำสัญญารายเดือนกับบริษัทโทรศัพท์มือถือ แล้วได้ตัวโทรศัพท์มือถือฟรีเป็นต้น

Zero Cost Solar Housing บ้าน ‘ฟรี’ จากโครงสร้างหลังคาโซลาร์ แนวคิดที่น่าเกิดขึ้นในไทย
ภาพ : Yanyong Boon-Long, www.dskarch.com
Zero Cost Solar Housing บ้าน ‘ฟรี’ จากโครงสร้างหลังคาโซลาร์ แนวคิดที่น่าเกิดขึ้นในไทย

ทำไมเขาถึงทำได้ฟรี

เพราะที่นี่รัฐเขามีนโนบายรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทโซลาร์ในอัตราที่แพงกว่าอัตราค่าไฟปกติ

สมมติว่ารัฐเปิดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 6 บาท/kWh (ในขณะที่อัตราค่าไฟปกติ สมมติว่าอยู่ที่ 4 บาท/kWh) ในกรณีนี้ รัฐจะดึงดูดบริษัทพลังงานเอกชนจำนวนมาก มาช่วยสร้างโครงสร้างหลังคาโซลาร์ทั่วไปในเมือง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วทั่วแคลิฟอร์เนีย เพียงแต่วิธีคำนวณการรับซื้อค่าไฟฟ้านั้นต่างจากอัตราที่สมมติแบบง่ายๆ ข้างต้น

ทางบริษัทพลังงานจะจัดการออกแบบโครงสร้างหลังคาโซลาร์ และฐานรากทั้งหมดให้เจ้าของที่ รวมทั้งนำไปขอใบอนุญาตก่อสร้างทางรัฐให้ด้วย เสร็จแล้วก็จะเริ่มจัดการก่อสร้างให้เจ้าของที่ โดยเจ้าของที่จะได้ทั้งไฟฟ้าและโครงสร้างหลังคาจอดรถมาใช้

หากเจ้าของที่ดินคือโรงเรียนสาธารณะ ทางโรงเรียนอาจจะใช้โครงสร้างนี้เป็นหลังคาห้องเรียนกลางแจ้งได้ด้วย โดยไม่ต้องออกเงินสร้างโครงสร้างเพิ่มแต่อย่างใด

แนวคิด Zero Cost Housing

Zero Cost Solar Housing บ้าน ‘ฟรี’ จากโครงสร้างหลังคาโซลาร์ แนวคิดที่น่าเกิดขึ้นในไทย

แนวคิดโรงจอดรถนี้หากนำมาปรับให้เป็น ‘บ้าน’ ในภูมิภาคที่อากาศไม่หนาว (สไตล์รีสอร์ตแบบเปิด) อย่างเช่นในภูเก็ตหรือเขาใหญ่ เราจะพบว่าเจ้าของบ้านอาจไม่ต้องลงเงินค่าโครงสร้างหลังคาเลย โครงสร้างหลังคาโซลาร์นั้นพ่วงมากับประตูม้วน (แบบใส) ได้ ซึ่งทำให้ห้องโถงสามารถเปิดออกไปสู่ธรรมชาติ คล้ายรีสอร์ตที่มีห้องโถงเปิด หลังคาสูงระบายอากาศได้ดี แน่นอนว่าการกั้นฝาภายในและวัสดุภายในนั้น เจ้าของบ้านจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

ห้องครัว-ห้องน้ำฟรี 

Zero Cost Solar Housing บ้าน ‘ฟรี’ จากโครงสร้างหลังคาโซลาร์ แนวคิดที่น่าเกิดขึ้นในไทย
ห้องครัว/ห้องน้ำ Prefab โดย Kraaijvanger 
ภาพ : DEZEEN 

ส่วนที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือ ห้องครัวและห้องน้ำแบบ Prefab สำเร็จรูป ซึ่งถ้าใช้แนวคิดทางธุรกิจแบบโซลาร์ก็ทำได้ฟรีเช่นกัน โดยเจ้าของอาจทำสัญญารับซื้อข้าวของและอาหาร Food Purchasing Agreement (FPA) คล้ายๆ Power Purchasing Agreement (PPA) กับซูเปอร์มาเก็ต อย่างเช่น Costco ในแคลิฟอร์เนียซึ่งขายห้องครัวและอาหารอยู่แล้ว

สมมติว่าเจ้าของทำสัญญารับซื้ออาหารและเครื่องใช้ (FPA) กับ Costco เป็นอัตรา $600 /เดือน เราจะพบว่าในเวลา 72 เดือนนั้น มูลค่าทั้งหมดจะมีราคามากกว่าห้องครัว/ห้องน้ำ สำเร็จรูป และมากพอที่บริษัทอย่าง Costco จะให้ ‘ยืม’ ห้องครัวหรูได้ โดยทางบริษัทยังคงเป็นเจ้าของห้องครัวเหล่านี้อยู่ (เช่นเดียวกับโครงสร้างหลังคาโซลาร์)

แนวคิด Zero Cost Housing นี้ ควรต้องมีบริษัทเจ้าภาพที่เป็นตัวกลางในการจัดการเรื่องพลังงานโซลาร์และห้องครัว/ห้องน้ำ เพราะลูกค้าคงไม่อยากที่จะต้องทำสัญญากับหลายบริษัทเกินไป เรื่องนี้ผมเองยังไม่รู้ว่าควรจะจัดการธุรกิจ Business Model ในรูปแบบไหน แต่อยากจะลองถามผู้อ่านดู

ยิ่งในอนาคตที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้า EV ออกมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจากบ้านจึงยิ่งเป็นหลักประกันรายได้ให้บริษัทโซลาร์มากขึ้นอีกด้วย

Zero Cost Solar Housing บ้าน ‘ฟรี’ จากโครงสร้างหลังคาโซลาร์ แนวคิดที่น่าเกิดขึ้นในไทย
Wind Farm ในแคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา เราป้อนพลังงานไฟฟ้าจากรถไฟฟ้ากลับเข้าไปให้ Grid ไฟฟ้า (V2G) ในลักษณะแบตเตอรี่เสริมได้แล้ว หากไฟฟ้าดับ โครงข่ายรถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่เชื่อมเข้า Grid ได้แทน

รูปแบบ Zero Cost Housing นี้สามารถทำได้ทันทีที่รัฐออกแบบนโยบายที่จูงใจบริษัทพลังงานเอกชน โดยอาจตั้งกติกาหลวมๆ ว่า

  1. สัญญารับซื้อพลังงานโซลาร์จากเอกชน ต้องสูงกว่าอัตราค่าไฟ ( ยกตัวอย่าง 6 บาท/kWh)
  2. หลังคาโซลาร์ต้องเป็นแบบกันน้ำได้
  3. ต้องอนุญาตให้คนเข้าไปอาศัยอยู่ใต้หลังคาได้ และกั้นฝาภายในเองได้ 
  4. ห้องครัว/ห้องน้ำ Prefab จะต้องได้ระบบการดูแลและซ่อมแซมโดยบริษัทซูเปอร์มาเก็ตที่เป็นเจ้าของ

ผมมองว่ารูปแบบนี้น่าจะสามารถใช้ได้ในรูปแบบหมู่บ้านรีสอร์ต ในพื้นที่ธรรมชาตินอกตัวเมือง หรือในตัวเมืองอย่างเช่นหมู่บ้านการเคหะ เพียงแต่จะต้องเป็นโครงการที่ใหญ่พอที่บริษัทโซลาร์จะทำกำไรจากหลังคาได้

เราคงต้องรอดูต่อไปว่า รัฐบาลในอนาคตจะเริ่มทดลองนโนบายเกื้อหนุนให้เอกชนริเริ่มสิ่งเหล่านี้หรือไม่

Writer

Avatar

ยรรยง บุญ-หลง

จบการศึกษาจาก University of California, Berkeley เป็นสมาชิกสมาคมสถาปนิกอเมริกัน ปัจจุบันทำงานเป็นสถาปนิกออกแบบโรงเรียนสาธารณะในย่าน Silicon Valley