Zequenz (ซีเควนซ์) คือแบรนด์สมุดสัญชาติไทยที่มีวิธีคิดและทำละเอียดมาก แจ้งเกิดในตลาดโลกด้วยจุดเด่นที่เป็นสมุดเปิดกางพับได้ 360 องศาแล้วเล่มไม่ฉีกขาด ใช้ได้ทั้งคนถนัดเขียนมือซ้ายและมือขวา

Zequenz ก่อตั้งโดย นลิน ดำรงค์กิจการ เจ้าแม่กระดาษและนักทำสมุดที่คนในวงการรู้จัก เพราะการทำสมุดของเธอเป็นความลับจักรวาลที่เหล่านักทำสมุดและออกแบบเครื่องเย็บสมุดทั่วโลกสงสัยและพยายามแกะรอยอย่างหนัก

Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา

รู้แล้วอย่าเพิ่งบอกใคร หนึ่งในความลับจักรวาลนั้น คือวิธีการทำสมุดเล่มนี้มี 16 ขั้นตอน และทำด้วยมือ 100 เปอร์เซ็นต์ มีรายละเอียดบางอย่างที่เล่าทั้งหมดตรงนี้ไม่ได้ (จนกว่าคุณจะอ่านถึงหัวข้อ ‘ผีเสื้อสมุด’) เช่น สันโค้งของสมุดที่ทำให้กระดาษ 200 แผ่นในเล่มขนาดไม่เท่ากันสักแผ่น หรือเส้นบรรทัดที่สายเขียนรู้แล้วต้องกรี๊ด

ไม่แปลกที่หลายคนเข้าใจผิดว่า Zequenz เป็นแบรนด์จากต่างประเทศ เพราะสมุดเขาดังมากในญี่ปุ่น เพียงเพราะเส้นกระดาษหน้าและหลังเรียงเท่ากันทุกแผ่น เท่านั้นไม่พอ แม้ใครจะบอกว่าเป็นขาลงของอุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์ แต่ยอดขายออนไลน์ของ Zequenz นั้นสูงมาก มีรายการสั่งซื้อจากประเทศห่างไกลขนาดที่ค่าส่งแพงกว่าค่าสมุดหลายเท่าเขาก็ยอม

เราขอยืนยันอีกครั้งว่า Zequenz เป็นแบรนด์สมุดสัญชาติไทยแท้ๆ ของผู้หญิงที่มีประสบการณ์ในธุรกิจกระดาษมา 30 ปี จากพนักงานออฟฟิศ สู่เจ้าแม่กระดาษสาผู้พัฒนากระดาษอย่างเข้าใจคนใช้ และขณะที่กระดาษสาในตลาดขณะนั้นราคา 10 บาทต่อแผ่น กระดาษสาของนลินราคาแผ่นละ 25 บาท และขายดีมาก

ก่อนจะตัดสินใจลุกขึ้นมาทำสมุดให้คนรักสมุดใช้

เช่นเคย ขณะที่สมุดทั่วไปในตลาดราคาประมาณ 100 บาท สมุดของนลินราคาสูงกว่านั้น 5 เท่า และขายดีมาก 

เธอบอกเราว่ากำลังทำสมุดที่เป็นมากกว่าสมุดให้คนรักสมุดได้ใช้ นลินทำได้อย่างไร มาฟังพร้อมกัน 

อ่านจบแล้ว ใครจะจดไปใช้บ้างก็ทำได้เลยนะ

นลิน ดำรงค์กิจการ

ธุรกิจกระดาษที่มีลูกค้ารายแรกเป็นห้างหรูเก่าแก่จากสหรัฐฯ

นลินในวัย 30 ปี ลาออกจากงานประจำที่ทำวิจัยและการตลาดสินค้าส่งออก มาก่อตั้งบริษัททำธุรกิจซื้อมาขายไปเป็นของตัวเอง ตั้งใจทำธุรกิจส่งออกสินค้าที่มีความเป็นไทยไปขายในตลาดโลก โดยเริ่มต้นจากห้องแถวเล็กๆ ย่านรามคำแหง มีลูกค้ารายแรกคือ Bloomingdale ห้างสรรพสินค้าหรูอายุ 159 ปี ในสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการสินค้าประเภทเครื่องเขียน จากโจทย์ว่าจะต้องเป็นสินค้าไทย เป็นงานที่ใช้ฝีมือ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

คำตอบเดียวในใจนลินตอนนั้น คือ กระดาษสา ซึ่งประเทศไทยมีการผลิต 2 รูปแบบ 

แบบแรกคือ ‘กระดาษเครื่อง’ ซึ่งออกมาเป็นกระดาษสาญี่ปุ่นชนิดบางใช้ห่อของขวัญ อีกแบบคือ ‘กระดาษมือ’ เป็นกระดาษสาชนิดหนา ทำให้มองเห็นเนื้อสัมผัสของกระดาษชัดเจน

“เป็นนิสัยของเราที่หากจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ กระดาษต้องไม่ใช่แค่กระดาษ จึงศึกษาจริงจังและออกเดินทางตามหาโรงงานที่ดีที่สุดทั่วเมืองเหนือ” นลินเล่าจุดเริ่มต้นของการเข้าไปพัฒนากระดาษสา เปลี่ยนภาพจำจากกระดาษห่อของและกระดาษทำร่ม ให้กลายเป็นกระดาษคุณภาพดีให้คนรักกระดาษได้ใช้

กระดาษสา

5 ปีผ่านไป จากผู้ซื้อมาขายไป นลินกลายเป็นผู้ผลิตกระดาษส่งขายต่างประเทศโดยซื้อต่อโรงงานกระดาษที่จังหวัดแพร่พัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างรายได้แก่ชุมชน 

ขณะที่กระดาษสาในตลาดราคา 10 บาทต่อแผ่น กระดาษสาของนลินราคาแผ่นละ 25 บาท แทนที่บอกว่ากระดาษสาของคนอื่นไม่ดี เธอทำให้ตลาดเห็นว่าของดีเป็นอย่างไร

ประสบการณ์การเป็นผู้จัดงานแสดงสินค้าส่งออกและการทำงานในสายวิจัยและการตลาดในอดีต ทำให้นลินให้ความสำคัญกับข้อมูลและการนำเสนอมากที่สุด ไม่เพียงพาสินค้าไปพบตลาดเธอจัดทำสื่อวิดีโอเล่าที่มาของกระดาษสา จากต้นหม่อนหรือ Mulberry Tree ซึ่งกรมป่าไม้รับรองว่าเป็นวัชพืช สู่กระบวนการเก็บเกี่ยว เปลี่ยนเปลือกไม้ จนเป็นกระดาษให้ใช้งาน เป็นยุคที่ธุรกิจกระดาษรุ่งโรจน์สมตำแหน่งเจ้าแม่กระดาษสา

“เราเป็นเจ้าแรกๆ ในตลาดที่มีกระดาษสาให้เลือกหลายสี โดยเฉพาะสีพาสเทล นอกจากเรื่องสีและคุณภาพ เราศึกษาความต้องการของตลาดและพัฒนาเพื่อตอบสนองสิ่งนั้น เพิ่มเติมคือความใส่ใจ เพราะอยากให้เกิดการใช้งานมากที่สุด ซึ่งนอกจากกลุ่มธุรกิจดอกไม้ยังมีธุรกิจอื่นที่ซื้อกระดาษเราไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์” นลินเล่า

ธุรกิจผลิตการ์ดอวยพรกับยอดขายปีละหลายล้านใบ

แม้กระดาษที่ผลิตจะขายดีมากจนส่งแทบไม่ทัน แต่ก็ยังติดข้อจำกัดเรื่องกำลังการผลิตที่จะสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ นลินจึงคิดต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าแก่กระดาษสาของเธอ

นลินเริ่มจากการ์ดอวยพรทำมือที่มีนักออกแบบ 6 – 7 คน คอยออกแบบเป็นคอลเลกชัน ซึ่งขายได้ปีละเป็นล้านใบ ความพิเศษคือหลักการออกแบบการ์ดที่มีจิตวิญญาณแบบไทยแต่ดีไซน์สากล

“การ์ดกระดาษสาของเราขายตามฤดูกาลและเทศกาลของฝรั่ง เรามีการ์ดที่ส่งหากันได้หมดทุกช่วงเหตุการณ์ในชีวิต นี่แหละความเป็นสากล รวมถึงสีที่ใช้และความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของตลาด เช่น ถ้าทำการ์ดขายตะวันออกกลางต้องไม่มีรูปหัวใจหรือรูปสัตว์ ถึงบอกว่าจะทำต้องรู้จริง” นลินชี้ชวนให้ดูคอลเลกชันการ์ดบนชั้นวาง 

กระดาษสา

ซึ่งแม้ผ่านมากว่า 20 ปีแล้วการ์ดกระดาษสาของเธอยังสีขาวนวลไม่เปลี่ยน ต่างจากกระดาษทั่วไปที่กลายเป็นสีเหลืองเมื่อเวลาเปลี่ยน

เวลาเปลี่ยน ตลาดก็เปลี่ยน จากกระดาษนลินคิดต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของคนรักกระดาษ เช่นการ์ด สมุดสะสมภาพ ของใช้ ของตกแต่ง

“สมัยก่อนไปออกงานกระดาษที่เยอรมัน ทั้งอาคารขายแต่การ์ดอย่างเดียว แต่มาวันนี้แทบไม่เหลือ” นลินเล่า ความรักในงานคราฟต์เธอสนุกกับการทดลองทำงานจากกระดาษมาเสนอลูกค้ามากมาย

งานคราฟต์ในนิยามของนลิน คืองานฝีมือที่ใช้ได้จริง ไม่ได้มีไว้ใส่ตู้โชว์ เธอเข้าใจการใช้งานและเห็นโอกาสในไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง เช่น จากเยื่อกระดาษกิโลกรัมละ 50 – 60 บาท หากทำกระดาษราคาแผ่นละไม่กี่บาท นลินเปลี่ยนให้เป็นงานศิลปะ Paper Casting หรือเทคนิคขึ้นรูปแบบโบราณ ซึ่งเดิมใช้วิธีสร้างโมเดลขึ้นมา อัดเยื่อกระดาษ ดูดน้ำออก แล้วตากแดด แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ง่ายขึ้นในบางขั้นตอน เช่นการดูดน้ำออกอย่างเร็ว นลินบอกว่าเธอสนุกกับการออกแบบรูปทรงชิ้นงาน ไม่ได้กดดันเรื่องการขาย ทั้งยังต่อยอดความเป็นไปได้ให้แก่ผลิตภัณฑ์

ตามหาสมุดยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร

แล้ววันหนึ่งนลินก็ได้รับโจทย์จากลูกค้าว่าอยากได้สมุดดีๆ 

คนทั่วไปคงคิดถึงโรงพิมพ์ แต่สมุดกับหนังสือไม่เหมือนกัน นลินใช้เวลาไม่น้อยตามหาโรงงานผู้ผลิต แต่ก็ไม่เจอใครที่ทำสมุดออกมาสวยและดีถูกใจ

“เราเชื่อว่าคนทำสมุดต้องรักสมุดก่อน ซึ่งเขาจะรู้ทันทีว่าจะทำสมุดที่ดีได้อย่างไร” นลินตั้งใจจะทำสมุดที่เป็นมากกว่าสมุด

เมื่อพูดถึงธุรกิจเครื่องเขียน คนจะนึกถึง ปากกา แฟ้ม และของใช้ในสำนักงาน นลินต้องการเปลี่ยนภาพจำนี้ เธออยากทำสมุดที่เป็นเพื่อนคู่กายและให้ประสบการณ์ดีๆ เมื่อใช้งาน

Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา

“วันที่ตัดสินใจลุกขึ้นมาทำสมุด เราไม่มีทุนซื้อเครื่องเย็บหรือตั้งโรงงานขนาดใหญ่ เรามีสิ่งที่ถนัดคืองานคราฟต์และความประณีต เรามีแรงงานฝีมือที่ทรงคุณค่าแม้จะมีขั้นตอนการทำมากมาย ซึ่งทุกชิ้นผ่านมือของพวกเรา ทุกชิ้นคือมาสเตอร์พีซ โจทย์ตั้งต้นของสมุดคือเรียบง่าย พิถีพิถันและประณีต แต่สมุดเล่มแรกออกมาหนาและหนักมากซึ่งเรายังไม่พอใจ หลังจากทดลองจนพบเราก็วิ่งหาโรงงานรับผลิตหลายแห่ง ผลก็คือทุกคนบอกว่า จะบ้าหรือไง ทำแบบนี้ต้องเจ๊งแน่ๆ” นลินเริ่มจากจินตนาการถึงสมุดที่อยากได้ ประมาณการทรัพยากรที่มี รู้ซึ้งสิ่งที่ทำได้ รู้เทรนด์ตลาดโลก และเข้าใจตัวเองว่าทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร

2 ปีผ่านไป ในที่สุดนลินก็ค้นพบวิธีเข้าเล่มสมุดประกอบด้วยแรงงานมีฝีมือและเครื่องจักรออกแบบพิเศษอันเป็นความลับทางธุรกิจ

สมุดที่เปิดกางท่าผีเสื้อได้ 360 องศาแต่ไม่ได้มีชื่อว่าผีเสื้อสมุด

Zequenz มาจากคำว่า Sequence ที่แปลว่า ลำดับหรือความต่อเนื่อง 

“Zequenz เกิดขึ้นในวันที่เราอยู่ในวงการนี้มายี่สิบปี อยากทำสินค้าดีๆ ให้คนไทยใช้ เราคิดถึงความต่อเนื่องของเรื่องราว การพัฒนาที่ไม่หยุด ซึ่งเราก็มีสมุดไว้บันทึกเรื่องราวของชีวิตและเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาที่เราให้แก่ลูกค้า” นลินเล่า

Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา

20 ปีก่อนหน้า นลินทำกระดาษที่เป็นมากกว่ากระดาษจนสำเร็จ แล้วสมุดที่มากกว่าสมุดเป็นอย่างไร เราสงสัย

ภายใต้สมุดเล่มบางคละหนา นานาขนาด หน้าตาเรียบๆ มีอะไรซ่อนอยู่มาดูกัน

หนึ่ง กระดาษสมุดเขียนง่ายและทนทาน นลินให้ความสำคัญกับเนื้อกระดาษที่ต้องหนาแน่นพอสมควร และไม่ลื่นเกินไปจนผู้ใช้บังคับลายมือตัวเองไม่ได้

“ยอมไม่ได้หากกระดาษนั้นสวยลื่นแต่ทำให้ลายมือไม่สวย ความหนาแน่นของเนื้อกระดาษก็เช่นกัน กระดาษที่เนื้อไม่แน่นพอจะทำให้ปากกาเสีย ขณะที่กระดาษเนื้อหยาบเกินไปทำให้เขียนแล้วหมึกทะลุ หรือกระดาษบางแบบเคลือบผิวมากเกินจนหมึกปากกาไม่แห้ง” นลินเล่า ขณะที่สีของกระดาษต้องไม่มีผลต่อคุณภาพสมุด แต่ตอบความต้องการใช้งานของลูกค้า โดยสมุด Zequenz รุ่นคลาสสิกปกสีขาว ดำ และแดง ใช้กระดาษสีขาวนวล ขณะที่รุ่นปกสีตอบโจทย์ตลาดด้วยกระดาษสีครีมธรรมชาติ ไม่ได้มาจากการฟอก

Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา

สอง สมุดที่เปิดได้ 360 องศา เปิด-ปิดสะดวกเพื่อให้เขียนได้ทั้งคนที่ถนัดมือซ้ายและมือขวา

สาม การเข้าเล่มด้วยมือ 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ต้นจนจบครบทั้ง 16 ขั้นตอน

หลังจากพิมพ์เส้นบนกระดาษ นับเรียงกระดาษเป็นตั้งๆ ซึ่งวางคั่นกระดาษทุกๆ 200 แผ่น ด้วยกระดาษแข็ง (สมุดรุ่นมาตรฐาน 1 เล่มมีกระดาษ 200 แผ่นพอดีไม่ขาดไม่เกิน) เข้าเครื่องตัดตามขนาดเตรียมเข้าเล่ม จากนั้นส่งไปเข้าเล่มด้วยวิธีที่เป็นความลับสุดยอด จนได้สมุดสันโค้งที่ผ่านการเคลือบกาวสูตรพิเศษที่สันหลายร้อยรอบ เมื่อนำไปเข้าปกเรียบร้อยจะเข้าห้องเจียนมุมขอบจนสมุดสวยเนียนเสมอกัน ก่อนส่งต่อให้ทีมตรวจสอบคุณภาพตรวจตราอย่างละเอียด

Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา
Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา
Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา
Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา

สมุดทุกเล่มทำด้วยมือและเหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นความเนี้ยบที่กระบวนการจากเครื่องทำให้ไม่ได้ “ข้อดีคือต่อให้บริษัทคู่แข่งในต่างประเทศมาเห็นก็เลียนแบบไม่ได้ เพราะหากจะลงทุนผลิตในจำนวนที่ขายทั้งโลกอย่างไรก็ไม่คุ้ม” นลินเล่า เธอเสริมว่าที่ผ่านมีหลายแบรนด์พยายามลอกเลียนแบบ ถึงขั้นบู๊ถึงศาลที่อิตาลีก็ทำมาแล้ว

สี่ สันโค้งมนมีความหมาย นลินบอกว่าความโค้งเป็นเรื่องของความรู้สึก แง่หนึ่งหมายถึงความลื่นไหล การเขียนที่ต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนชีวิต จะให้เธอทำสมุดมุมเหลี่ยมก็คงไม่ใช่ตัวตน และเพราะสันที่โค้งมนนี่เองทำให้องศาและขนาดกระดาษทุกแผ่นไม่เท่ากัน ตามมาด้วยการเข้าเล่มกระดาษแผ่นต่อแผ่น ซึ่งหากมีส่วนใดผิดไปเพียงนิดเดียวสมุดจะออกมาเบี้ยวทั้งเล่ม 

Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา

เท่านั้นไม่พอ นลินยังท้าทายตัวเองด้วยการทำสมุดมีเส้น ซึ่งเส้นสมุดทุกหน้าพิมพ์ทับจนมองเป็นเส้นเดียวกัน ความประณีตที่ทำให้เส้นของทุกแผ่นทับกันพอดี ระดับที่เครื่องทำสมุดด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงยังทำไม่ได้ เป็นเหตุผลที่คนญี่ปุ่นรักสมุดของ Zequenz หมดใจ มียอดขายเติบโตต่อเนื่องทุกปี จนหลายคนเข้าใจว่า Zequenz เป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น

ห้า สีเส้นบรรทัดที่ผ่านการทดสอบความเข้มระดับที่เหมาะสม ไม่รบกวนสายตา ซึ่งหากกวาดตามองหรืออ่านสิ่งที่จด จะเห็นว่าเส้นบรรทัดค่อยๆ หายไปจริง นอกจากนี้หมึกที่ใช้พิมพ์เส้นยังมาจากแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา

หก ความลับทางธุรกิจที่ยังคงเป็นความลับ

คนทำสมุดและคนขายเครื่องทำสมุดในตลาดโลกรู้จักนลิน เธอเล่าว่ามีการแจกโจทย์ว่อนในตลาด ให้ไปหาวิธีทำสมุดแบบ Zequenz แต่ไม่ว่าใครจะลองพยายามแกะวิธีแค่ไหนก็ทำได้ไม่เหมือน 

“ครั้งหนึ่งไปออกงานที่เยอรมัน มีชาวตุรกีมาแอบถาม พอได้ฟังเรื่องของเราเขาก็บอกว่ารู้แล้วว่าทำแบบเราไม่ได้จริงๆ เหมือนคนกลับใจมานั่งคุยกัน กลายเป็นสนุกไปและเราก็ภูมิใจมาก” 

ขั้นตอนการทำสมุด

ความพิเศษที่กล่าวมา ทำให้ Zequenz เป็นแบรนด์ที่มากกว่าคำว่าสมุดคราฟต์เพราะใช้ทั้งความคิด พลังใจ และฝีมือ เรียกได้ว่า From our heart to your hands เลยก็ว่าได้ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ นลินเล่าว่าเธอเกือบหัวใจสลายเพราะลูกค้าไม่ได้รับรู้ความตั้งใจทั้งหมดนี้

หลังจากนลินเอาสมุด Zequenz ในช่วงเริ่มแรกของการพัฒนาสินค้าไปทำ Focus Group ซึ่งวัตถุประสงค์คือเพื่อศึกษาพฤติกรรมการเลือกซื้อสมุดของผู้บริโภค เธอพบว่าตลอดเวลาที่ทำการทดลอง ไม่มีใครสนใจเลือกสมุดของเธอเลย แต่เมื่อมีโอกาสเล่าที่มาและตัวตนของสมุด ทุกคนก็ประทับใจและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการสื่อสารจุดแข็งของแบรนด์ที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้

คนใช้สมุดคราฟต์กว่าที่คิด

โลกออนไลน์ส่งผลต่อตลาดสมุดหรือพฤติกรรมคนอย่างไร เราถาม

“สำหรับเรากลับรู้สึกว่าขายดีด้วยซ้ำไป กลุ่มคนที่ใช้สมุด ถ้าเขาเป็นคนชอบเขียน ตอนอายุยังน้อยก็เขียน ปัจจุบันอายุมากแล้วยังไงเขาก็เขียน แต่สำหรับคนที่ไม่เขียนไม่ว่าอย่างไรก็จะยังคงไม่เขียน ดังนั้นเครื่องมือใหม่หรือคอมพิวเตอร์ก็เป็นเพียงของใหม่ ไม่ได้มาทดแทนแค่อำนวยความสะดวก จากข้อมูลตลาดสมุดทั่วโลกพบว่า สองถึงสามปีที่ผ่านมา มียอดขายสมุดในตลาดสูงขึ้น สำหรับลูกค้าเราเองที่ซื้ออยู่ก็เพราะคุณภาพและเอกลักษณ์ของดีไซน์”

“คนใช้สมุดเวลาต้องการสรุปประเด็นหรือจดสิ่งที่คิด ไม่ว่าจะบันทึกความทรงจำ เขียนสิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่ผ่านมาแล้ว ทั้งหมดนี้จะคอยย้ำเตือน นั่นคือ ไม่ใช่แค่ถ่ายทอดเส้นทางเดินของความคิดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพันธะสัญญาขณะที่จรดปากกาหรือดินสอ” นลินและน้ำหวาน-ปาลีรัตน์ ดำรงค์กิจการ ทายาทรุ่นสองผู้รับหน้าที่ดูแลและสื่อสารแบรนด์ ช่วยกันเล่า

สมุดของ Zequenz ทำยอดขายจากออนไลน์เยอะมากโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งลูกค้ายอมเสียค่าส่งที่แพงกว่าค่าสมุด 2 – 3 เท่า แต่นั่นก็ไม่ชุ่มชื่นหัวใจทีมงานทุกคนเท่ากับคำรีวิวดีๆ จากลูกค้า

“หลายคนที่ซื้อไปและใช้จริงเขียนรีวิวคุณสมบัติสมุดดีมากๆ ชอบมีคนเขียนมาถามว่าทำไมไม่มี Zequenz ขายที่ประเทศเขา เมืองเขา ซึ่งบางทีค่าส่งเป็นหลักพันบาทเขาก็ยอม บางคนก็เขียนอีเมลมาขอร้องบอกว่า ‘please please please’ อยากได้เล่มที่ใหญ่และหนากว่านี้” น้ำหวานเล่า 

สิ่งที่แตกต่างและเป็นข้อดีของการทำตลาดในต่างประเทศ คือพฤติกรรมของชาติตะวันตกที่แสดงออกและสื่อสารกับแบรนด์เมื่อรู้สึกถูกใจหรือไม่ถูกใจอย่างตรงไปตรงมา

“ลูกค้าสมุดอ่อนไหวมาก กระดาษเปลี่ยนสีไปหนึ่งเฉด หรือขยับเส้นเพียงหนึ่งมิลลิเมตรเขาก็รู้สึกได้แล้ว เพราะฉะนั้นคุณภาพต้องคงที่” น้ำหวานสรุปข้อมูลที่เธอศึกษาจากลูกค้า

ในฐานะที่อยู่วงการนี้มา 30 ปี นลินบอกว่านี่เป็นยุคที่คนสนใจเรื่อง Human Touch และ Digital Detox คนถวิลหาอะไรที่จับต้องได้

Zequenz แบรนด์สมุดของคุณแม่ผู้รักกระดาษ กับวิธีการ 16 ขั้นตอน ทำมือ 100% เปิดได้ 360 องศา

เคยมีคนถามว่าทำไม Zequenz ไม่ทำสมุดที่มีตาราง เป็นแพลนเนอร์

นลินตอบทันทีว่า เธอไม่อยากให้สมุดมีข้อจำกัดหรือบังคับ ชีวิตทั่วไปเราอยู่ในกรอบมาเยอะแล้ว หากต้องมาเขียนวันที่ลงตารางให้ตรงคงเครียด 

“การเขียนช่วยเรื่องเส้นสมองและประสาท ทั้งยังบอกว่าผู้เขียนเป็นคนแบบไหนจากงานที่สร้างสรรค์บนกระดาษ” นลินรีบบอกสรรพคุณสำคัญก่อนทิ้งท้ายนิยามความสำเร็จของธุรกิจนี้ว่า

“ตราบใดก็ตามที่คนรัก ชื่นชอบ เพราะสมุดเล่มนั้นให้ประสบการณ์ที่ดี ทุกครั้งที่ใช้สมุดเขาจะคิดถึงเรา”

นลิน ดำรงค์กิจการ

Lesson Learned

การจะเป็นผู้ประกอบการนั้นไม่ง่าย สำหรับนลินเธอเรียนรู้ว่า สิ่งสำคัญลำดับแรกเมื่อคิดจะเริ่มต้นธุรกิจ คือการสำรวจตัวเอง รู้ความพร้อมของตัว หัวใจ เวลา และศักยภาพที่มี เพราะหลายครั้งคุณต้องเริ่มต้นทำทุกอย่างด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญอันดับสองคือตลาด 

“ก็ขึ้นกับว่าจะนำเสนอสิ่งที่ตลาดต้องการหรือสิ่งที่ไม่อยู่ในความต้องการแต่คิดว่าเราต้องทำ ถ้าทำของที่ตลาดต้องการ ก็จะยังเจออุปสรรคเพราะใครๆ เขาก็ทำ จะมีคู่แข่งมาก ต้องทำอย่างมีกลยุทธ์ แต่ถ้าคุณตัดสินใจจะสร้างตลาดขึ้นมา คุณอยากเป็นคนแรกที่นำเสนอสิ่งนี้ สิ่งที่ตามมาคือคุณจะสร้างสรรค์และถ่ายทอดยังไง เปิดตลาดยังไง เพราะแค่มีเงิน มีข้อมูล มีโรงงานผลิต มีแบบที่สวยงามน่าซื้ออาจไม่พอ สำคัญที่สุดคือสัญชาตญาณ ความกล้าหาญ และความอดทน คุณจะต้องอึดมากๆ” นลินเล่า


ติดตาม Zequenz ได้ที่ Facebook และ Instagram @Zequenz หรือ www.zequenz.com

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan