11 กุมภาพันธ์ 2023
9 K

กลิ่นอายเมืองอุทัยธานีที่เราจำได้ตั้งแต่เด็ก คงหนีไม่พ้นความเป็นเมืองเก่าที่อนุรักษ์บ้านไม้เรือนแพและเรือนไทยเอาไว้ เป็นเสน่ห์ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่คุ้นชิน ต่างกับ ต้น-กวิน ว่องวิกย์การ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาปนิกแห่ง Destroy Dirty Thing หนุ่มอุทัยผู้หลงใหลงานไม้ สู่การเปลี่ยนผ่านบ้านไม้เก่า 2 ชั้นให้เป็นโฮมสเตย์ในชื่อ ‘เส้น นอน บ้าน’

หลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูและได้เห็นผ่านตาถึง ‘เส้น นอน วาด Postel & Gallery’ นั่นคืออีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่กวินเป็นคนสร้างขึ้น ด้วยการนำตึกแถวเก่าที่ผสมผสานระหว่างไม้กับซีเมนต์มาทำที่พักในตัวเมือง โดยตั้งใจนำเสนอความเป็นเมืองสโลว์ไลฟ์และเสน่ห์เมืองเก่าผ่านเส้นศิลป์ โครงสร้าง รวมถึงภาพวาด ซึ่งในครั้งนี้ กวินถ่ายทอดเรื่องราวงานศิลป์ผ่านโฮมสเตย์แห่งใหม่ที่พร้อมเปิดประตูให้ทุกคนทำความรู้จัก พร้อมสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นเมืองอุทัยธานีให้มากขึ้น

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ในบ้านไม้ยุค 80 ที่อยากให้แขกใช้ชีวิตช้า ๆ ในเมืองเก่าอุทัยธานี

สนทนาสถาปนิก

ทำไมถึงกลับมาทำโฮมสเตย์ที่เมืองนี้ – เราถามด้วยความสงสัย

“เพราะผมอยากให้คนที่มาเยือนได้เสพเสน่ห์และวิถีชีวิตของเมืองอุทัย ด้วยการสัมผัสผ่านสถาปัตยกรรม” นี่คือคำตอบของคนที่อาศัยอยู่เมืองนี้มาตั้งแต่เกิด โยกย้ายถิ่นฐานไปเรียนที่กรุงเทพฯ และเริ่มต้นชีวิตการทำงานจวบจนปัจจุบันในจังหวัดเชียงใหม่

แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาทำสิ่งที่ตัวเองสนใจในบ้านเกิด จาก ‘เส้น นอน วาด’ สู่ ‘เส้น นอน บ้าน’ อาจารย์กวินเล่าว่า ที่นี่เกิดจากความบังเอิญทั้งสิ้น โฮมสเตย์นี้สร้างขึ้นจากร่องรอยบ้านไม้เก่ายุค 80 ที่เขามีความทรงจำร่วมมานานกว่า 40 ปี เป็นสถานที่ที่เขาเคยใช้ชีวิตและเติบโต ทั้งกิน เรียน นอน เล่น และเขายังเล่าอีกว่า คุณพ่อตั้งใจทำบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นห้องเก็บของ แต่ตัวเขากลับมองว่าทุกองค์ประกอบเต็มไปด้วยเสน่ห์ ตั้งแต่บันไดไม้ที่สร้างโดยคุณปู่ ไปจนถึงหลังคาจั่วและพื้นหินขัด 

เขาจึงเสนอโปรเจกต์รีโนเวตบ้านไม้หลังเก่านี้ให้เป็นโฮมสเตย์ พร้อมความคิดที่ว่า ‘ความธรรมดานี่แหละ คือความไม่ธรรมดา’

“คอนเซปต์ของ เส้น นอน บ้าน มีอยู่ 5 อย่าง” สถาปนิกบอกอย่างตั้งใจพลางหัวเราะ

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ในบ้านไม้ยุค 80 ที่อยากให้แขกใช้ชีวิตช้า ๆ ในเมืองเก่าอุทัยธานี
เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ในบ้านไม้ยุค 80 ที่อยากให้แขกใช้ชีวิตช้า ๆ ในเมืองเก่าอุทัยธานี

หนึ่ง คือ ‘ความบ้าน ๆ’ 

โฮมสเตย์หลังนี้สร้างจากบ้านที่มีองค์ประกอบบ้าน ๆ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ก็มาจากบ้านเก่า กวินจึงอยากให้ที่นี่มีกลิ่นอายเช่นในวันเก่า

“ปู่ผมเป็นช่างไม้ ผมจึงอยากส่งเสริมความงามของมันและทำให้มันมีตัวตน” เขาบอก

กวินเล่าอย่างภูมิใจว่าเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านมีอายุยาวนานกว่า 45 – 50 ปี ไม่ว่าจะเป็นตู้คุณยายหรือโต๊ะเครื่องแป้งคุณแม่ที่ซื้อสะสม แม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์และบันไดไม้ที่ปู่ทำเองกับมือ ซึ่งเขาต่อเติม Glass Block เพื่อเป็นตัวกลางในการนำแสงภายนอกให้ส่องถึงความงามของเนื้อไม้ที่ผ่านกาลเวลามาหลายสิบปี ยิปซัมที่เคยถูกนำมาปิดโครงไม้ของเพดานทั้งชั้นล่างและชั้นสอง เขาก็นำออกไปจนหมด เผยให้เห็นคานไม้ที่ผ่านการขัดเกลาอย่างไม่พิถีพิถัน ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของมันที่กวินอยากนำเสนอ

อีกสิ่งหนึ่งที่เขามองว่าธรรมดา แต่หากนำมาจะเพิ่มสีสัน คือการที่เขาตัดสินใจนำหนังสือซึ่งเป็นของสะสมของพ่อมาแต่งเติมในห้องพัก หวังให้ผู้มาเยือนได้หยิบอ่าน ถึงแม้ไม่ได้อ่าน อย่างน้อยก็ยังมีความสัมพันธ์กันระหว่างไม้และหนังสือ เพราะหนังสือล้วนทำมาจากไม้ และอาจารย์กวินกล่าวอีกว่าหนังสือที่ไม่ได้เก็บอยู่ภายในตู้ยังทำหน้าที่เป็นผนัง ถือเป็นสถาปัตยกรรมชนิดหนึ่งในห้อง

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ในบ้านไม้ยุค 80 ที่อยากให้แขกใช้ชีวิตช้า ๆ ในเมืองเก่าอุทัยธานี

สอง คือ ‘พื้นที่สีเทา’

“พื้นที่ภายนอกคือพื้นที่สีขาว แต่พื้นหรือห้องปิดทุกด้านคือพื้นที่สีดำ” กวินนิยาม

เขาสถาปนาพื้นที่สีเทาขึ้นมาด้วยตัวเอง เขามองว่าพื้นที่ Open Space เล็ก ๆ กึ่งเอาต์ดอร์หน่อย ๆ มีความหมายและความสำคัญอย่างมาก เพราะเขาหวังให้คนเมืองได้หนีออกจากความมืดมิด เพื่อสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดแม้อยู่ในห้อง

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ในบ้านไม้ยุค 80 ที่อยากให้แขกใช้ชีวิตช้า ๆ ในเมืองเก่าอุทัยธานี

สาม คือ ‘ความเป็นศิลปะ’

“เพราะชื่อ เส้น นอน บ้าน มันจึงต้องพาศิลปะมาสู่สถาปัตยกรรม”

อาจารย์กวินเล่าว่า สถาปัตยกรรมเป็นศิลปะชนิดเดียวที่พิเศษกว่าสิ่งอื่น เพราะคือนำมาซึ่งการชมความงามผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เขาเล่าว่าในโฮมสเตย์มีศิลปะอยู่ 2 อย่าง หนึ่ง คือ การมองเห็นภาพเส้น ลายเขียนที่วาดลงโปสต์การ์ดและผนังห้อง สอง คือ การถักทอเส้นจากไม้ เพื่อให้กลายเป็นสถาปัตยกรรม 3 มิติให้เราได้เข้าไปรู้สึกและสัมผัสด้วยตัวเอง

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ในบ้านไม้ยุค 80 ที่อยากให้แขกใช้ชีวิตช้า ๆ ในเมืองเก่าอุทัยธานี
เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ในบ้านไม้ยุค 80 ที่อยากให้แขกใช้ชีวิตช้า ๆ ในเมืองเก่าอุทัยธานี

สี่ คือ ‘ความคราฟต์’

กวินเชื่อมั่นว่าการนำไม้มาเป็นวัสดุหลักเป็นธรรมชาติที่มีเสน่ห์อย่างยิ่ง เพราะทำให้เห็นถึงรสมือ ลายมือของช่าง รอยถาก รอยเลื่อย ที่มีความไม่เรียบร้อย หรือที่ตัวเขาเองเรียกมันว่า ‘แผลเป็น’ 

“คนชอบก็ชอบ คนไม่ชอบเขาก็ไม่ชอบนะ หมือนกับแนวคิดวาบิ-ซาบิ ความสวยงามผ่านความไม่สมบูรณ์แบบฉบับญี่ปุ่น ไม้เป็นวัสดุธรรมชาติ มนุษย์ก็เป็นธรรมชาติ ผมว่าไม่มีมนุษย์คนไหนเกลียดไม้ เพราะมันเหมือนการพาธรรมชาติมารองรับชีวิต” 

เราฟังอาจารย์กวินเล่าด้วยความสนใจ จนกระทั่งเขาบอกถึงสิ่งที่เป็นจุดยืนทางสถาปัตยกรรมของเขา สิ่งนั้นคือการที่อุทัยธานีมีเตาเผาอิฐ เขาจึงตัดสินใจใช้วัสดุนี้ จนกลายเป็นสถาปัตยกรรมอิฐโชว์แนว เพราะเขามองเห็นว่าปูนไม่ใช่ทรัพยากรทดแทน จึงตั้งใจหลีกเลี่ยงโดยใช้อิฐแทน

“เวลาฉาบปูน เราจะเห็นถึงฝีมือช่างที่ไม่เหมือนกันและไม่สมบูรณ์แบบด้วย มันก็เหมือนมนุษย์เรานี่แหละ” สถาปนิกกล่าวด้วยความเชื่อมั่น

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ ที่พักของหนุ่มอุทัยผู้เปลี่ยนบ้านไม้เก่าของครอบครัว ให้แขกมาใช้ชีวิตสโลไลฟ์และใกล้ชิดธรรมชาติในจังหวัดอุทัยธานี

ห้า คือ ‘ไม้เก่า’

ถึงแม้ เส้น นอน บ้าน จะเป็นเรือนไม้มาก่อน แต่ต้องยอมรับว่าไม้ที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอต่อการรีโนเวต เขาจึงต้องซื้อไม้เก่าจากเรือนไม้ของชาวบ้านมาเพิ่มเติม 

อาจารย์กวินเล่าถึงความมหัศจรรย์ของไม้ให้ฟังอีกว่า วัสดุชนิดนี้ใช้ได้นานถึง 3 ชั่วอายุคน มันจึงนำมาหมุนเวียนใช้ต่อได้ จากเรือนที่ 1 สู่เรือนที่ 2 

“ประเด็นคือ เวลาซื้อไม้เก่า เรายิ่งเห็นความเป็นร่องรอยมากขึ้น และพอยิ่งเห็นความเก่า มันก็มาปลุกความเป็นครีเอทีฟของเรา การรีโนเวตที่นี่จึงเหมือนกับดนตรีแจ๊ส การลงไปดูหน้างานและเห็นว่าไม้ที่เหลือนำมาต่อเติมสิ่งอื่นได้ นั่นคือการด้นสดที่ทำให้สถาปัตยกรรมมีชีวิตขึ้นมา” 

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ ที่พักของหนุ่มอุทัยผู้เปลี่ยนบ้านไม้เก่าของครอบครัว ให้แขกมาใช้ชีวิตสโลไลฟ์และใกล้ชิดธรรมชาติในจังหวัดอุทัยธานี

สนทนาสถาปัตย์ 

สถาปนิกจากเมืองอุทัยยังเกริ่นอีกว่า จากการวางแผนออกแบบ เส้น นอน บ้าน เขาทำได้ตรงตามแบบเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเกิดจากการด้นสด จับเศษเสาและกรอบหน้าต่างมาสร้างเป็นที่นั่ง ฉากบังตา และชิงช้าเพิ่มเติม เราทึ่งในความคิดสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของอาจารย์กวินเป็นอย่างมาก จึงถามต่อถึงห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในโฮมสเตย์

เส้น นอน บ้าน ประกอบด้วยห้องพัก 3 ห้อง ได้แก่ ห้องชมสวน ห้องชมระเบียง และห้องชมฟ้า มีพื้นที่ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ และชานเรือน แต่ละห้องมีจุดเด่นต่างกันไป

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ ที่พักของหนุ่มอุทัยผู้เปลี่ยนบ้านไม้เก่าของครอบครัว ให้แขกมาใช้ชีวิตสโลไลฟ์และใกล้ชิดธรรมชาติในจังหวัดอุทัยธานี

‘ห้องชมสวน’ เป็นห้องเล็กที่ตั้งอยู่ภายในชั้นหนึ่งของตัวบ้าน เมื่อเปิดประตูระเบียงจะเจอม้านั่งหินลานหินขัด พร้อมสวนหย่อมขนาดเล็กให้ได้ชื่นชมธรรมชาติ ส่วนเตียงเป็นเตียงวางพื้น

ถัดมาคือ ‘ห้องชมระเบียง’ เป็นห้องเล็กที่ตั้งอยู่บนชั้นสอง เตียงวางพื้นเช่นเดียวกับชั้นล่าง แต่ระเบียงห้องนี้ใหญ่กว่าใครเพื่อน อาจารย์กวินเล่าว่าห้องนี้ไม่ได้มีวิวหลักล้านที่สวยงามตระการตา แต่คนที่มาเยือนกลับให้ความสนใจมากที่สุด

ห้องสุดท้ายคือ ‘ห้องชมฟ้า’ ห้องใหญ่บนชั้นสอง นอนได้ถึง 4 คน ห้องดูแปลกใหม่กว่าห้องไหน ๆ เพราะห้องน้ำมีเพดานเปิดรับแสง ให้ผู้มาพักได้สัมผัสทั้งแสงอาทิตย์และแสงจันทร์ยามอาบน้ำ

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ ที่พักของหนุ่มอุทัยผู้เปลี่ยนบ้านไม้เก่าของครอบครัว ให้แขกมาใช้ชีวิตสโลไลฟ์และใกล้ชิดธรรมชาติในจังหวัดอุทัยธานี

หากสังเกตดี ๆ อาจารย์กวินมักใส่ใจกับการจัดห้องให้สัมผัสธรรมชาติ เพราะสิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ คือการที่ ‘ทุกห้องต้องได้สนทนากับธรรมชาติ’ หวังให้ผู้เข้าพักได้สัมผัสพื้นไม้ด้วยเท้าเปล่า สัมผัสเสียงจากระเบียงห้อง สัมผัสลมที่พัดผ่านตามแนวเสา ถึงแม้จะไม่ได้ออกไปเที่ยวไกลถึงขุนเขาหรือนอกเมือง เจ้าบ้านก็ยังอยากให้เราใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด ไม่ว่าจะยามตื่นหรือยามหลับ เขาคิดมาอย่างดีแล้วว่าต้องการให้ผู้มาพักจะได้พักผ่อน ชาร์จแบต และดื่มด่ำกับธรรมชาติที่หาไม่ได้จากเมืองกรุง

ห้องพักมีแอร์ไหมคะ – เราถามด้วยความเดียงสา นึกว่าต้องสัมผัสธรรมชาติอย่างจริงแท้

“มีสิ จากที่เล่ามาเหมือนไม่มีใช่ไหม” อาจารย์ตอบพลางหัวเราะ

แต่สิ่งที่ไม่มีจริง ๆ คือ โทรทัศน์ อาจารย์กวินให้เหตุผลว่า เพราะมันเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนมากที่สุด เจ้าโทรทัศน์จะทำให้เราไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง และอีกสิ่งหนึ่งที่เราละความสนใจไม่ได้เลยคือรูปวาดบนหัวเตียงของแต่ละห้อง อาจารย์กวินเฉลยว่า นั่นคือภาพที่เขาวาดเอง ประกอบไปด้วยภาพวาดมุมสูงของชุมชนริมตลาด ชุมชนเรือนแพ และถนนคนเดินตรอกโรงยา ซึ่งทั้งหมดคือเสน่ห์แห่งเมืองอุทัยที่สายตาของเขามองเห็น 

เส้น นอน บ้าน โฮมสเตย์ ที่พักของหนุ่มอุทัยผู้เปลี่ยนบ้านไม้เก่าของครอบครัว ให้แขกมาใช้ชีวิตสโลไลฟ์และใกล้ชิดธรรมชาติในจังหวัดอุทัยธานี

สนทนาอุทัย

จากที่ทำมาทั้งหมด อาจารย์อยากให้แขกที่มาพักได้รับอะไรกลับไป – เราถาม

“ผมอยากให้เขาได้ใช้ชีวิตช้าลง ลดสปีดจากทุกสิ่ง ได้หยุดอ่านหนังสือ จิบกาแฟ ฟังเสียงนก ชมธรรมชาติ และแหงนมองฟ้า ในการมานอนพัก 2 วัน 1 คืน ผมพยายามสร้างพื้นที่สีเทาให้คนได้หลุดออกจากกล่อง ได้อยู่กับโลกจริง ๆ รับรูป รส กลิ่น เสียง ที่มันเป็นจริง” 

เราปิดท้ายบทสนทนาด้วยคำถามที่ว่า แล้วอาจารย์กวินอยากให้ผู้มาเยือนจดจำอุทัยในแบบไหนอาจารย์ตอบอย่างภูมิใจว่า “อยากให้จดจำว่าอุทัยธานีเป็นเมืองใกล้ชิดธรรมชาติ และยังได้เจอวิถีกับชีวิตของคน ไม่ต้องทำอะไรเร่งรีบ ขี่มอเตอร์ไซค์หรือปั่นจักรยานแค่ 5 นาทีก็ได้ชมแม่น้ำ จะกินก๋วยเตี๋ยวกี่ร้านก็ได้ แถมยังได้สัมผัสกับธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของกลุ่มคนอย่างแนบแน่นด้วย”

3 Things
you should do

at ZEN NON BAN

01

เยือนร้านหนังสือบุ๊คโทเปีย หนอนหนังสือและคนรักหนังสือจะต้องชอบใจ นอกจากมีหนังสือให้อ่านแล้ว ยังได้พูดคุยกับเจ้าของร้านอย่าง พี่อ้วน ที่เป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ด้วย

02

เดินริมน้ำสะแกกรัง ชมเรือนแพ เดินจากตลาดลงใต้ผ่านวัดพิชัยฯ ไปจนเกือบถึงสะพานหน้าวิทยาลัยเทคนิค ได้เห็นถึงวิถีชีวิตเรือนแพจริง ๆ ในแบบที่มีคนอาศัย ไม่ใช่แค่ตั้งโชว์

03

เอ็นจอยในบ้านจงรัก เรือนไม้เก่าที่เจ้าของเป็นสถาปนิก มีความน่ารักของอาคารและเมนูอาหารที่น่าสนใจ รวมไปถึงมีพิพิธภัณฑ์ของเล่น ของใช้ สัมผัสเสน่ห์บ้านเก่าโบราณ

เส้น นอน บ้าน
  • 112, 10 ถนนรักการดี ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัย จังหวัดอุทัยธานี (แผนที่)
  • 09 9143 3737, 06 1664 6731
  • ZEN NON WAD

Writer

มานิตา สุนทรพจน์

มานิตา สุนทรพจน์

เด็กสาวชาวอุทัย ผู้นมัสการให้แด่สายผลิตงานสร้างสรรค์ และผู้ฝากความสุขอนันต์ไว้บนพุงแมวและชาเขียว

Photographer

นิพนธ์ แก้วเทศ

นิพนธ์ แก้วเทศ

จงทำตามความฝันของตัวเองและเดินหน้าเต็มที่