เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เช่ารถขับไปตามท้องถนนในประเทศออสเตรเลีย

ผ่านป่า ผ่านอุทยาน เขตเมือง เขตชนบท ตลอดระยะทางจะเห็นสองข้างทางมีป้ายจำกัดความเร็ว แตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปในสถานที่ชุมชน หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาลจะเห็นป้ายบอกความเร็วปักอยู่ข้างถนนถี่มาก

จาก 60 ค่อย ๆ เหลือ 40 และ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสังเกตว่า รถทุกคันจะชะลอความเร็ว ไม่มีคันใดขับแซงขึ้นมา

คนขับรถส่วนใหญ่เคารพป้ายบอกความเร็วอย่างเคร่งครัด จนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติของคนขับรถที่นั่น ขณะที่เมืองไทย

ป้ายบอกความเร็วไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีไว้เพื่อท้าทายความเร็วมากกว่า

เพื่อนชาวออสซี่บอกว่า หากขับรถใช้ความเร็วเกินกำหนด ค่าปรับแพงมาก คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,000 – 24,000 บาท และโดนตัดแต้ม ผิดหลายครั้งอาจโดนยึดใบขับขี่ ทำให้คนออสซี่ไม่เสี่ยงทำผิดกฎหมาย

ยิ่งหากไม่ยอมหยุดรถให้คนข้ามถนนบนทางม้าลาย ค่าปรับและบทลงโทษจะสูงขึ้นอีกหลายเท่า

“คนขับรถมักแก้ตัวว่า ตัวเองต้องรีบ ๆ ไปให้ถึงที่ แต่ลืมนึกไปว่า คนเดินถนนก็รีบ ๆ ไปเหมือนกัน” เพื่อนออสซี่ให้ข้อคิด

ผู้เขียนเคยข้ามถนนในหลายประเทศ อาทิ แคนาดา ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หลายประเทศในยุโรป เกือบทุกครั้งเพียงแค่เรามายืนอยู่ริมถนน ตรงทางม้าลาย ยังไม่ทันจะข้ามถนน รถก็ชะลอมาแต่ไกล หยุด รอให้คนเดินข้ามทางม้าลายอย่างใจเย็น

ทางม้าลายถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1934 รูปลักษณ์ของมันก็ไม่ค่อยแตกต่างจากปัจจุบันนี้เท่าไหร่ คือเป็นเส้นตรงสลับช่องในแนวขวาง เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนใช้เป็นจุดข้ามถนน

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การหยุดรถให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของหลายประเทศ

แต่ดูเหมือนแทบจะเป็นเรื่องมหัศจรรย์บนทางม้าลายของประเทศเรา

เวลาข้ามถนนบนทางม้าลาย ผู้เขียนรู้สึกได้ว่า ในสายตาของคนขับรถส่วนใหญ่ ทางม้าลายเป็นส่วนเกินบนท้องถนน

ไม่จำเป็นต้องหยุดรถให้ และคนข้ามถนนคือสิ่งมีชีวิตที่สร้างความหงุดหงิดให้กับคนขับรถ บางคนเห็นคนกำลังจะข้ามถนน ถึงกับบีบแตรตวาดไล่ให้ผู้คนอย่าลงมาบนนถนนเด็ดขาด

ราวกับว่าพื้นที่บนท้องถนนเป็นสิทธิ์ของรถยนต์เท่านั้น คนเดินไม่มีสิทธิ์ จนกว่าคนขับรถจะอนุญาต

คนขับรถหลายคนอาจจะคิดว่า การที่พวกเขาหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย เป็นเพราะพวกเขาใจดีอนุญาต จนลืมไปว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องหยุดรถให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่า

“ช่องข้ามทางหรือทางม้าลาย คนเดินเท้าที่กำลังเดินข้ามถนนในทางม้าลายมีสิทธิ์ไปก่อนรถ เพราะตามกฎหมายต้องหยุดให้คนข้ามถนนในทางข้ามทาง…”

หลายครั้งที่ผู้เขียนเห็นคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ไม่ใช่แค่ยืนรอให้รถหยุด แต่ยังโค้งแล้วโค้งอีก รถบนถนนก็หาสนใจไม่ ยังใช้ความเร็วปกติ ไม่มีการชะลอหรือหยุดรถแต่อย่างใด

ครั้งหนึ่งผู้เขียนหยุดรถให้คนกำลังข้ามทางม้าลาย รถที่ขับตามหลังมาบีบแตรไล่ด้วยความไม่พอใจ

หากลองเอากล้องวงจรปิดไปตั้งถ่ายตรงทางข้ามม้าลายสักแห่ง จะเห็นว่ารถที่หยุดให้คนข้ามกับรถที่ไม่หยุดมีสัดส่วนที่น่าตกใจมาก เพราะส่วนใหญ่คงไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย

นักท่องเที่ยวต่างชาติประสบอุบัติเหตุโดนรถชนตายตรงทางม้าลายหลายครั้ง เพราะไม่ทราบว่า ประเทศนี้ไม่ได้รถไม่ได้หยุดตรงทางม้าลาย และการข้ามถนนตรงทางม้าลาย อาจเสี่ยงชีวิตมากกว่าตายเพราะโรคโควิดเสียอีก

ทำไมคนชาติอื่นถึงหยุดรถให้คนข้ามถนนจนเป็นเรื่องปกติ ขณะที่คนบ้านเรา การหยุดรถบนทางม้าลายเป็นเรื่องไม่ปกติ

แน่นอนว่า อันดับแรกคือโทษปรับของหลายประเทศรุนแรงมาก แค่ไม่หยุดรถให้คนข้ามถนน ก็โดนค่าปรับไปหลายพันบาท ใบสั่งจากกล้องวงจรปิดมาถึงบ้านทันที มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่หากเกิดอุบัติเหตุรถชน อันนั้นไม่ต้องพูดถึงบทลงโทษว่าจะหนักหนาเพียงใด

เพื่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

“ถ้าอยู่อเมริกา แค่คนเดินลงมาถนนถึงไม่ใช่ทางม้าลาย รถที่ผ่านมาเห็นแล้วไม่หยุด ตำรวจเห็นก็โดนตั๋วแล้ว”

ในขณะที่การจัดการจราจรบ้านเราอาจจะเห็นใบสั่งจากกล้องวงจรปิดตามท้องถนน ข้อหาขับรถไม่หยุดตรงไฟแดง ขับรถผิดเลน ขับรถเร็วเกินกำหนด

แต่ผู้เขียนยังไม่เคยได้ยินข่าว คนขับรถโดนใบสั่งด้วยข้อหาไม่หยุดรถตรงทางม้าลายให้คนข้ามถนน

มันสะท้อนอะไรในประเทศนี้

หรือเป็นเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา การจัดการจราจรบ้านเราให้ความสำคัญกับรถยนต์ ปัญหาการจราจรติดขัดมากกว่าความปลอดภัยของคนเดินถนน ผู้รักษากฎหมายก็ไม่ใส่ใจต่อคนที่ละเมิดกฎหมาย ไม่หยุดให้คนข้ามถนนบนทางม้าลาย แถมบางครั้งก็เป็นผู้ละเมิดเสียเอง จนเกิดอุบัติเหตุตำรวจขับรถชนคุณหมอขณะกำลังข้ามทางม้าลายเสียชีวิต เป็นข่าวใหญ่

แม้ว่าสถิติที่ผ่านมา มีคนโดนรถชนตายบนทางม้าลายในประเทศเฉลี่ยถึงปีละ 500 คน

ถนนหลายสายในเมืองใหญ่บางช่วง แทบจะไม่มีทางม้าลาย คือไม่อนุญาตให้คนข้ามถนน แต่ไล่ให้ไปเดินขึ้นสะพานลอยอันสูงชัน โดยไม่แคร์ว่าหากเป็นคนชรา คนป่วย จะเดินขึ้นบันไดไหวหรือไม่

แต่หากรถยนต์ต้องเสียเวลาติดไฟแดงตรงทางแยก ทางการก็ใจดีสร้างสะพานลอยหรืออุโมงค์ลอดถนนให้รถใช้ความเร็วได้มากขึ้น ยิ่งใช้ความเร็วได้มาก อุบัติเหตุชนคนบนท้องถนนก็เกิดได้บ่อย

แต่เราแทบจะไม่เห็นอุโมงค์ลอดถนนให้คนเดินได้สะดวก มากกว่าการสร้างสะพานลอย

สิทธิ์ของคนเดินจึงน้อยนิดเหลือเกินบนท้องถนน เพราะแม้จะเห็นคนขับรถไม่จอดตรงทางม้าลาย กฎหมายก็ไม่บังคับใช้อย่างจริงจัง จนต้องรอให้เกิดอุบัติเหตุ มีคนตาย เป็นข่าวดังเสียก่อน แต่พอเรื่องเงียบหายไป ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม

สิทธิ์ของคนเดินถนนจึงเป็นตัวอย่างสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมได้เป็นอย่างดี คนขับรถหรูติดแอร์เย็นสบาย ไปถึงโชเฟอร์รถเมล์ หากขึ้นหลังพวงมาลัยแล้ว คิดว่ามีสิทธิ์มากกว่าคนเดินถนนในการใช้พื้นที่ถนนอันกว้างขวาง

ยิ่งหากเป็นพวกรถนำขบวน รถวีไอพี ขับฝ่าไฟแดงผ่านตลอดด้วยความเร็ว คนเดินถนนหน้าไหนจะกล้าเดินข้ามทางม้าลาย

จะทำอย่างไรให้คนไทยรู้สึกว่า สิทธิ์การใช้ถนน ไม่ใช่มีแต่รถยนต์อย่างเดียว แต่คนเดินถนนก็มีสิทธิ์ใช้ถนนด้วยเช่นกัน

จะทำอย่างไรให้คนขับรถเอาใจเขามาใส่ใจเราว่า ถนนไม่ใช่พื้นที่ของรถยนต์อย่างเดียว แต่คนเดินก็มิสิทธิ์ด้วย และใช้น้อยมาก ๆ ส่วนใหญ่แค่เดินริมถนนหรือการข้ามถนนเท่านั้น

หากเราได้รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำ อาจจะต้องเริ่มต้นด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง บทลงโทษอันรุนแรง ก่อนจะทำให้คนขับรถมีสำนึกใหม่ว่า ถนนไม่ใช่ของรถยนต์อย่างเดียว คนเดินก็มีสิทธิ์ใช้ถนนด้วย

บางที ปรากฏการณ์คนขับรถหยุดตรงทางม้าลายให้คนข้ามถนน อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้คนเข้าใจดีว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมคืออะไร

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว