The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ยุทธศักดิ์ สุภสร คือผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ดำรงตำแหน่งมา 8 ปี และเป็นผู้ว่าการ ททท. ที่เป็นคนนอกองค์กรในรอบ 55 ปี นับตั้งแต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก่อตั้งมา 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. (Tourism  Authority of Thailand : TAT) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีเป้าหมายสร้างรายได้การท่องเที่ยวให้เกิดกับประเทศ ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวนับเป็นส่วนที่มีความสำคัญในการสร้างรายได้ของประเทศ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร และประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาคบริการก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และภาคการท่องเที่ยวก็มีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ภาพของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ทุกคนเข้าใจ คือการสร้างการตลาดและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของนักเดินทางทั่วโลก เพราะการเข้ามาของนักท่องเที่ยว นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และ ทิศทางของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในมือของยุทธศักดิ์ คือการให้ความสำคัญกับการเติบโตของนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ไม่ใช่แค่ปริมาณ

คู่สนทนาเบื้องหน้าเรากำลังจะหมดวาระหน้าที่ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566

สิ่งที่เขาอยากให้เกิดกับการท่องเที่ยวไทย คือ ‘ความยั่งยืน’ ของระบบนิเวศการท่องเที่ยว

รวมถึงความยั่งยืนขององค์กรที่ชื่อว่า ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ ด้วย

เรื่องราวต่อไปนี้คือการวางรากฐานที่เข้มแข็ง และเป้าหมายของ ททท. ในอนาคต 

ยุทธศักดิ์ สุภสร กับการเดินทาง 8 ปีของผู้ว่าการททท. ที่อยากเห็นการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

ย้อนกลับไป พ.ศ. 2558 ทำไมคุณถึงตัดสินใจรับตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องชีวิตการทำงาน ผมเล่าให้ทุกคนฟังเสมอว่าการรับราชการก็ดี กึ่งข้าราชการก็ดี เปรียบเสมือนคน 2 อาชีพ อาชีพแรก คือคนขับรถไฟ เปรียบกับข้าราชการประจำ ชีวิตมีความมั่นคงสูงและรู้จุดหมายปลายทางในเวลาที่แน่นอนชัดเจน อาชีพที่สอง คือชาวประมง เวลาหันหัวเรือออกจากฝั่ง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้ปลากลับมาไหม ซึ่งก็คงได้มาบ้าง เพราะในอดีตที่ผ่านมามันเคยได้แต่ไม่รู้ว่าจะได้กลับมามากหรือน้อย ก็ต้องบริหารความเสี่ยงเอาเอง

และในวันที่ผู้ใหญ่ถามผมว่าจะเอายังไง ผมเลยตัดสินใจเลือกอาชีพชาวประมง แต่ไม่ใช่ประมงน้ำแรกที่ ททท. นะ และถ้าถามว่าทำไมต้องที่นี่ เพราะผมรู้สึกผูกพันในการทำงานด้วยกันในภารกิจที่อื่นมา เลยรู้จักกันดี ซึ่งไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นผู้ว่าการ แต่เมื่อมีโอกาสผมก็ไม่ทิ้ง ซึ่งกระบวนการสรรหาก็ไม่ง่าย ใช้เวลาพอสมควร

ผมถือว่าเป็นผู้ว่าฯ คนนอก เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558 และผมยังจำได้ดีว่าผมเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ด้วยความตั้งใจอะไร

ยุทธศักดิ์ สุภสร กับการเดินทาง 8 ปีของผู้ว่าการททท. ที่อยากเห็นการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

ตอนนั้นความตั้งใจของคุณคืออะไร

ตอนมาแรก ๆ ผมว่าคน ททท. เข้มแข็งอยู่แล้ว ถ้าดูในเกียรติประวัติหรือเกียรติภูมิก็อยู่ในระดับต้น ๆ ของรัฐวิสาหกิจที่มีคุณูปการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หน้าที่ของผมต้องทำให้เห็นว่าอะไรเป็นหน้าที่ที่แท้จริงของ ททท. และทำให้ ททท. พร้อมปลั๊กอินกับคนอื่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และวิสัยทัศน์ให้ได้

ผมต้องการเตรียมพร้อมให้ ททท. อยู่ต่อไปได้โดยต่อยอดสิ่งที่เรามี และอนาคตเราคงหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไม่ได้ เลยนำมาสู่การปรับโครงสร้างขององค์กร ผมเพิ่มตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา เพราะสิ่งนี้จะเป็นอนาคตของ ททท. ผมพยายามวางรากฐานการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่า ททท. พร้อมรับทุกความท้าทาย ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรในอนาคต พวกเขาจะผ่านมันไปได้ด้วยคน นโยบาย และความยืดหยุ่น

ความยืดหยุ่นสำคัญยังไง

เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพลวัติมันสูง ในเชิงวิสัยทัศน์ ผมเปลี่ยนแผนมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ว่าจะแผนไหนก็ต้องขึ้นต้นด้วย ‘ผู้นำ’ ต้องเป็นผู้นำที่เกิดการยอมรับว่าเขาคนนั้นคือผู้นำจริง ๆ

การเป็นผู้นำต้องให้เขามากกว่าเอาจากเขา ถ้าไม่ทำตัวเป็นผู้ให้ ผมก็ก้าวไปสู่การยอมรับว่าผมมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไม่ได้ ซึ่งการให้ไม่ได้หมายถึงงบประมาณ แต่หมายถึงการออกแรง การออกความคิด หรือการยอมเอาตัวไปเสี่ยงในบางสถานการณ์ด้วย

ยุทธศักดิ์ สุภสร กับการเดินทาง 8 ปีของผู้ว่าการททท. ที่อยากเห็นการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

แล้วคุณยุทธศักดิ์เป็นผู้นำแบบไหน

จริง ๆ ต้องถามคนอื่น ถามผมก็ตอบยาก (หัวเราะ) 

ส่วนใหญ่ผมตัดสินใจหลาย ๆ อย่างบนพื้นฐานของข้อมูล ผมเป็นคนชอบอ่าน ชอบศึกษาหาความรู้ในทุกรูปแบบไม่เฉพาะแค่หนังสือ และผมเชื่อใน Best Practice ถ้าเราอยากเป็นองค์กรที่ดี ก็ต้องดูว่าองค์กรที่ดีเขาทำยังไง

และทุกคนทราบว่าผมทำงานเร็ว แรก ๆ ก็ไม่เข้าใจ สั่งวันนี้เอาเมื่อวาน หมายความว่า ทุกคนต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ และการตัดสินใจก็สำคัญ ต้องเร็ว แต่ไม่ลวก 

ทำไมคุณถึงเป็นผู้นำที่เน้นการตัดสินใจและการทำงานเร็ว

ผมคิดว่าอะไรที่ทำได้เร็วก็ควรจะทำ เพราะงานในความรับผิดชอบของ ททท. มาเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวก็สำคัญมาก ถ้าทำงานได้เร็ว นั่นหมายถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศก็มากขึ้น

และถ้าผมตัดสินใจได้แม่นในเวลาที่ทางนโยบายต้องการ ก็ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้องได้ นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามทำ ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ผมก็พร้อมรับผิดชอบ

การตัดสินใจครั้งไหนของผู้ว่าการ ททท. ที่สำคัญที่สุด 

ขึ้นอยู่กับว่าผมเจอสถานการณ์อะไรในแต่ละช่วงเวลามากกว่า ผมเป็นผู้ว่าการ ททท. ปีนี้ปีที่ 8 มีโจทย์ให้เจอทุกปี 2 ปีแรกผมเจอเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ จากนั้นก็เจอเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต

ล่าสุดคือสถานการณ์โควิด-19 เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ ซึ่งผมไม่รู้ว่าหน่วยงานอื่นจัดการกันอย่างไร แต่เราไม่เคยหยุดทำ ผมพูดเสมอว่า ถ้าพวกเราทำให้การท่องเที่ยวกลับมาได้เร็วขึ้นกว่าที่ทุกคนคิด 1 วัน มันนำมาซึ่งความสุขและรอยยิ้มของผู้ประกอบการ เพราะวิกฤตนี้ไม่ใช่แค่ปากท้องของผู้ประกอบการ แต่พวกเขายังมีพ่อแม่ มีลูกและการศึกษาของลูก ๆ นั่นทำให้ผมคิดว่ายังไงเราก็ต้องทำ ผมจะทำให้คน ททท. ภูมิใจว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านไป พวกเราจะมองกลับไปด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจว่าเราทำอะไรให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และประเทศนี้บ้าง 

การเรียนเศรษฐศาสตร์มาตลอด ส่งผลดีในแง่การบริหารองค์กรไหม

เรียนเศรษฐศาสตร์ที่ไหนก็น่าจะเหมือนกันนะ เพราะตำราเล่มเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนความคิดผมคือการเรียนหนังสือที่ประเทศญี่ปุ่น มันทำให้ผมคิดเป็นระบบ สนใจตัวเลข-สถิติ ให้ความสำคัญกับการมีวินัยและรักษามาตรฐานการทำงาน โดยผมถ่ายทอดสิ่งนี้ให้คน ททท. ผ่านวิธีคิดของผม

แต่การเปลี่ยนวิธีคิดคนก็ไม่ง่าย ผมเชื่อว่าคนที่นี่พร้อมจะรับฟัง แต่ผมต้องทำให้เขาเชื่อและศรัทธาก่อน เผอิญผมเป็นคนชอบลงมือทำเอง เลยทำให้เขารู้สึกว่าผมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ช่วงแรกผมใช้เวลา 3 ปีในการเดินสายเจอสำนักงาน 45 แห่งในประเทศไทย และ 29 แห่งในต่างประเทศ เพื่อไปฟังรายงาน กินข้าว พูดคุย นั่นทำให้ผมเกิดความผูกพัน และเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึก ‘อยู่ต่อเลยได้ไหม’ 

ยุทธศักดิ์ สุภสร กับการเดินทาง 8 ปีของผู้ว่าการททท. ที่อยากเห็นการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

คุณเลยเป็นพี่ใหญ่ของ ททท. มาตลอด 8 ปี

ผมไม่คิดจะอยู่ถึง 2 เทอมจริง ๆ นะ เพราะชาวประมงไม่เคยอยู่ท่าไหนนาน ๆ เต็มที่ก็ 2 – 3 ปี

ที่นี่นานที่สุดในชีวิตเลย (เพราะอะไร) พอทำไปปุ๊บก็มีความรู้สึกผูกพัน บางทีงานมันต่อเนื่องกันแล้วพลวัติของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ท้าทายความสามารถของผม และอาจเป็นเพราะความสนุกกับงาน มีเพื่อนร่วมงานในทุก ๆ ระดับที่ดี ประกอบกับการได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ ตั้งแต่บอร์ดบริหาร-ท่านรัฐมนตรี ผมไม่อยากบอกว่าติดใจ (หัวเราะ) ซึ่งผมทำงานโดยมีความตั้งใจที่ดีเหมือนกับวันแรกที่ได้รับตำแหน่ง 

คุณมีวิธีดูแลพี่ ๆ น้อง ๆ ในองค์กรอย่างไร

มันเหมือนต้นไม้ใหญ่นะ คนอยู่ใต้ร่มต้นไม้ใหญ่ไม่รู้หรอกว่าข้างบนลมแรงขนาดไหน ลมข้างบนอาจจะแรงมาก ด้วยปัจจัยภายนอกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมพยายามทำให้ในองค์กรมีความสุข อย่างตอนนี้น้อง ๆ เรียกร้องการทำงานที่น้อยลง มีรายงานเข้ามาเยอะว่าคนขอไปพบจิตแพทย์มากขึ้น มันก็ไม่ดีนะ คนควรจะมี Work-life Balance ที่ดี ผมเลยไปอ่านข้อมูลการทำงานแบบ ‘4 Day Week’ ก็สั่งเลย วันพุธทดลองไม่ต้องเข้าออฟฟิศ

แรก ๆ มีปัญหา เพราะทุกคนคิดว่าเป็นวันหยุด (หัวเราะ) ที่ผมทำแบบนั้นเพราะ หนึ่ง ผมต้องการให้มี Work-life Balance ที่ดี สอง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งทุกคนน่าจะชอบ

ตอนนี้ผมกำลังหางบประมาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้น้อง ๆ เช่น เอาคอมพิวเตอร์กลับไปทำงานที่บ้านเพื่ออำนวยความสะดวกให้พวกเขา เพราะเราคำนึงถึงความสุขของพนักงาน แต่การจะได้มา แม้ลมมันแรงขนาดไหน ผมก็พยายามไม่ให้พวกเขารู้หรอก 

ในวันที่คุณเจอมรสุมหรือคลื่นลมแรง พี่ใหญ่คนนี้จัดการตัวเองอย่างไร

มันเป็นเรื่องปกตินะ เหมือนกับอาชีพชาวประมง ไม่ใช่ทุกวันที่คลื่นลมจะสงบ ซึ่งประสบการณ์จะบอกผมเองว่าต้องทำอย่างไร ถ้าเจอลมแรง ๆ คลื่นหนัก ๆ ก็ต้องพยายามประคับประคองให้ผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไปให้ได้ แม้มันอาจจะทิ้งร่องรอยหรือบาดแผลไว้บ้าง แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่ผมถือกระเป๋าเดินทางยี่ห้อ RIMOWA แล้วมันบุบ เพราะนั่นหมายถึงร่องรอยของการเดินทาง (ไม่ใจสลายเหรอคะ) ไม่ใจสลาย เอาสติกเกอร์แปะทับไว้ก็ได้ 

แล้ววัฒนธรรมองค์กรของคน ททท. เป็นแบบไหน

พวกเราเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีวินัยเหมือนข้าราชการ และทำงานเหมือนเอกชน

ผมว่าเหมือนทีมฟุตบอลนะ สมัยใหม่เรียกว่า Total Football ทุกคนทดแทนตำแหน่งกันได้ ต้องพร้อมบุกและตั้งรับอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ผมเชื่อว่าคน ททท. ทำงานด้วยหัวใจเดียวกัน และผมคิดว่าองค์กรไม่ได้ต้องการคนเก่งไปเสียทั้งหมด แต่ต้องการคนที่มีวินัยและมีใจรักในการทำงาน 

คุณบอกว่าชอบความท้าทาย แล้วความท้าทายในปีนี้ของคุณคืออะไร

ผมหวังว่าการเปลี่ยนผ่านของผมจะราบรื่น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนที่จะมาแทนต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมทำมาตลอด 8 ปี แต่เขาต้องรักษาขวัญกำลังใจ รักษาแนวทางการทำงานที่ดีเยี่ยมที่ผ่านมาของพนักงานและเจ้าหน้าที่ ททท. ทุกคน การเปลี่ยนผ่านนี้ของ ททท. จะต้องดีขึ้นและไม่หันหลังกลับ

มีเรื่องไหนที่คุณเป็นห่วงไหม (ในฐานะพี่ใหญ่ของบ้านหลังนี้)

ผมต้องการให้คน ททท. เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว พร้อมที่จะเรียนรู้และพร้อมที่จะทำงานกับหลายภาคส่วน ผมดีใจอย่างหนึ่งที่ทำให้คน ททท. รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง อะไรที่ผมรู้ ผมก็อยากทำให้ผู้บริหารรู้พอ ๆ กับผม เพราะมหาวิทยาลัย Keio University (Japan) ที่ผมเรียน มีมอตโต้ว่า ‘ความรู้ทำให้สง่างาม’ ผมเชื่อว่าความรู้ทำให้พวกเรามีความมั่นใจ ยิ่งพวกเราบวกประสบการณ์ที่มีอยู่และเติมความรู้ใหม่ ๆ เข้าไปอีก

สิ่งที่คุณอยากให้เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คืออะไร

สิ่งที่ผมตั้งใจก็ทำเกือบหมดแล้วนะ ส่งบอลไปหมดแล้ว (หัวเราะ) 

หลังโควิด-19 ผมต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง 2 เรื่อง หนึ่ง Digital Transformation สอง การท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ ผมต้องการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘มาตรฐานความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว’

สิ่งที่ผมให้พยายามเล่นมาก ๆ และเห็นว่าเป็นอนาคตของ ททท. คือการให้น้ำหนักกับการสร้าง Growth Engine และ การดูแลด้าน Supply Side มากขึ้น สิ่งนี้น่าจะทำให้รักษาความสำคัญของ ททท. ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศได้ และการมาของผม ผมมาเพื่อวางรากฐานในการเติบโตอย่างยั่งยืน ผมไม่ได้สนว่าจะอยู่ 4 ปี 8 ปี แต่ ททท. ต้องอยู่ตลอดไป

ผมจะดีใจมาก ๆ ถ้าในวันที่ผมหมดวาระ ททท. ยังโลดแล่นโดดเด่นอยู่ในยุทธจักรการท่องเที่ยว มันสุดยอดนะ ผมเชื่อว่า ททท. ทำได้ และเชื่อมั่นว่าคนที่จะมาเป็นผู้ว่าการท่านใหม่ก็ต้องทำได้

แล้วสิ่งที่คุณอยากให้เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวไทยคืออะไร 

ผมอยากเห็นการท่องเที่ยวไทยเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบ SDGs ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ผมเคยพูดต่อหน้าท่านนายกฯ ว่า คำว่า ยั่งยืน (Sustainability) เป็นเรื่องที่ต้องทำเดี๋ยวนี้ 

ตอนนี้ SDGs เป็นเป้าหมายของคนทั้งโลกเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมมองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยทำในสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว เพราะบางเรื่องไม่ถูกทำให้อยู่ในบริบทของการท่องเที่ยว เราเลยต้องนำมาปรุงใหม่ เพื่อให้คนที่อยูในวงการท่องเที่ยวเห็นว่าเขาช่วยโลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วได้ ผมเลยเอา 17 เป้าหมายของ SDGs มาทำเป็น STGs (Sustainable Tourism Goals) โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาตีความแล้วทำให้เป็นบริบทของการท่องเที่ยว และผมมีแผนจะแจกดาวความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายนี้ด้วย และแน่นอน ทุกวันนี้ทุกคนพูดเรื่องความยั่งยืน แต่ความยั่งยืนมันต้องใช้เวลา และไม่เริ่มไม่ได้ สิ่งที่ผมทำในวันนี้ ไม่ได้ทำเพื่อตัวผม แต่ผมทำเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ยุทธศักดิ์ สุภสร กับการเดินทาง 8 ปีของผู้ว่าการททท. ที่อยากเห็นการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

จากวันแรกที่คุณเข้ามาบริหารจนถึงวันนี้ การท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปเยอะไหม

ผมเห็นความสึกหรอ มันก็เหมือนรถ วิ่งมานาน เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเข้าอู่ ซ่อมแซม และปรับปรุงให้ทันสมัย หรือเปลี่ยน Ecosystem ใหม่ เพื่อให้รถคันนี้วิ่งฉิวต่อไปได้

จึงนำมาสู่นโยบายที่พูดเรื่องการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบด้วยหรือเปล่า

เราพูดมาพอสมควรในจังหวะที่ ททท. กำลังเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับแผนวิสาหกิจใหม่ของเรา ผมรู้แล้วว่าปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น แต่มีสัญญาณบางอย่างที่ไม่ได้เติบโตเชิงคุณภาพ ฉะนั้น ถึงเวลาที่ต้องพิจารณาการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบเลยเป็นคำตอบ และเป็นที่มาที่ไปของการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์มากขึ้น หันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงด้าน Supply Side ที่มีเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบมาเกี่ยวข้องมากขึ้นด้วย

Product Highlights ของปีนี้ คือ NFT, N คือธรรมชาติ (Nature) F คืออาหาร (Food) และ T คือความเป็นไทย (Thainess) และอีกอันคือ 5F ได้แก่ Food, Fashion, Film, Fight และ Festival เป็น Soft Power ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเดินทาง จาก SPOT (Soft Power of Thailand) นำมาสู่ทริปท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดการเดินทางมากขึ้น ซึ่งเป็นการเดินทางเชิงประสบการณ์ที่มีคุณค่า (Meaningful Travel) ผมถึงบอกว่า ททท. นอกจากเป็นนักการตลาดแล้ว ต้องเป็นนักออกแบบประสบการณ์ด้วย โดยเปลี่ยนจาก Product Catalogue มาเป็นเมนูประสบการณ์ ซึ่งต้องออกแบบด้วยหัวใจนะ ผมเรียกสิ่งนั้นว่า Heart Crafted 

ยุทธศักดิ์ สุภสร พี่ใหญ่แห่ง ททท. กับ Meaningful Journey ตลอด 8 ปี ของการพาการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน

Meaningful Journey ตลอด 8 ปีของการเดินทางในฐานะผู้ว่าการ ททท. คืออะไร

ผมมีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนี้ครับ ซึ่งมันไม่ง่ายที่จะมาอยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญขนาดนี้ แต่ผมโชคดีที่คน ททท. มีคุณภาพ ผมเลยมีความสุขกับการทำงานในทุก ๆ นาที ถ้าวินาทีก็อาจจะฟังดูเวอร์ไปหน่อย (หัวเราะ)

ขอบคุณสำหรับความร่วมมือและความเข้าใจที่ทุกคนมีให้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมเองอาจไม่ได้เป็นคนที่ทำให้ทุกคนพอใจในทุกเรื่อง แต่ผมมีความตั้งใจดี และไม่มีแม้แต่วินาทีเดียวที่ผมคิดไม่ดีกับที่นี่ 

เคยมีคนถามผมว่าความยั่งยืนคืออะไร ในความคิดของผม มันคืออะไรที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และความพยายามของผมที่ทำมาตลอด คือการทำให้ ททท. ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งผมไม่ได้เป็นห่วงเลยว่าใครจะมาแทน เพราะผมเชื่อว่าพี่ ๆ น้อง ๆ คน ททท. อยู่ได้ และอย่างที่ผมเคยบอก Once TAT, Always TAT

หลังหมดวาระ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คนนี้จะกลายเป็นใคร

ผมก็ยังไม่รู้อนาคตตัวเองเหมือนกันนะ (หัวเราะ) 

เคยคิดเล่น ๆ ว่าเราจะหยุดทำงานก็ได้ แต่ภรรยาไม่ให้หยุด เขาบอกว่า “พี่หยุดไม่ได้ ลูกยังเรียนไม่จบ” ผมต้องทำงานต่อในฐานะผู้นำครอบครัว (ยิ้ม) ซึ่งคงถึงเวลาที่ผมต้องถอดหัวโขนในฐานะผู้ว่าการ ททท. ออก แล้วทำงานในด้านอื่นต่อไป ซึ่งความไม่มั่นใจเดียวที่ผมมี คือที่ใหม่จะดีเท่าที่นี่หรือเปล่า

ยุทธศักดิ์ สุภสร พี่ใหญ่แห่ง ททท. กับ Meaningful Journey ตลอด 8 ปี ของการพาการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน
ยุทธศักดิ์ สุภสร พี่ใหญ่แห่ง ททท. กับ Meaningful Journey ตลอด 8 ปี ของการพาการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน

10 Things you never know

about Yuthasak Supasorn

1. คำพูดติดปากของคุณคือคำว่า

เอาอย่างนี้นะ (ใช้ในเวลาต้องตัดสินใจ)

2. คุณแข่งแฟนพันธุ์แท้ตอนอะไรได้บ้าง

ลิเวอร์พูล 

3. ถ้าต้องร้องคาราโอเกะ 1 เพลง คุณจะร้องเพลงอะไร

เส้นบางๆ – INDIGO

4. ถ้าเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการ The Mask Singer คุณจะเป็นหน้ากากอะไร

หน้ากากคิริน (โลโก้เบียร์คิริน) ผมอยู่ญี่ปุ่น 8 ปี น้ำหนักขึ้น 20 กิโลเพราะคิรินนี่แหละ 

5. สิ่งใหม่ที่คุณเพิ่งเรียนรู้เร็ว ๆ นี้

ChatGPT

6. แล้วคุณคุยอะไรกับ ChatGPT

ผมให้ ChatGPT แต่งกลอนวันครบรอบแต่งงาน 24 ปี ให้ ผมเขียน Prompt ว่า 

: created by heart, this poem is composed by ChatGPT on our Anniversary.

7. หนังสือ 1 เล่มที่คุณอยากแนะนำให้อ่าน

ตี๋เหรินเจี๋ย นักสืบคู่บัลลังก์ สำนักพิมพ์มติชน

8. คุณมีเวลา 10 วินาทีในการให้โอวาทเด็กจบใหม่ คุณจะพูดกับพวกเขาว่า

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ต้องบริหารความเสี่ยงให้เป็น รักการแก้ปัญหาและคิดบวกเข้าไว้

9. วลีภาษาญี่ปุ่นที่คุณชื่นชอบเป็นพิเศษ

‘ください。’ แปลว่า พยายามเข้านะ เพราะทุกอย่างต้องอาศัยความพยายาม สำหรับผม คำว่า ‘พยายาม’ มีความหมายหลายอย่างซ่อนอยู่นะ ทั้งการมีสติและการต่อสู้ด้วยหัวใจ 

10. ความสามารถพิเศษของคุณที่คนอื่นไม่ค่อยรู้

ผมมีลางสังหรณ์ ถ้าลิเวอร์พูลจะแพ้

Writer

Avatar

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล