The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

มาปราจีนฯ ทั้งที ไม่มาพิพิธภัณฑ์ตะเกียงเหมือนมาไม่ถึง

พิพิธภัณฑ์ตะเกียง หรือ ‘พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์’ ก่อตั้งโดย ณรงค์ อยู่สุขสุวรรณ์ พ่อค้าของเก่าวัย 67 ที่มีตะเกียงมากกว่า 10,000 ดวง จากการรับซื้อตะเกียงจากชาวบ้านเพื่อแยกส่วนขายเศษทองเหลืองราคาถูก จนวันหนึ่งมีคนมาขอซื้อตะเกียงต่อจากเขาดวงละ 100 บาท หลังจากทราบว่าเจ้าของคนใหม่รับตะเกียงไปขายต่อต่างประเทศ เขาเลิกขายตะเกียงทันที และหันมาสะสมแทน

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

แสงของตะเกียงเจ้าพายุดวงแรกเลยจุดประกายให้ณรงค์เริ่มต้นเก็บสะสมตะเกียงทุกแบบและทุกประเภทด้วยใจรัก เมื่อจำนวนตะเกียงเยอะมากจนล้นโกดังเขาจึงเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับตะเกียงไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา กระทั่งเป็นพิพิธภัณฑ์ตะเกียงที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

  นอกจากมีตะเกียงให้ชมแทบจะทุกแบบ ยังมีของสะสมหาชมยากสมัยคุณปู่ยังวัยรุ่นและสวนสัตว์ขนาดย่อมชวนให้ตื่นตาตื่นใจด้วย

ณรงค์บอกเราว่า “การเป็นที่หนึ่งของเอเชียไม่ใช่เรื่องง่าย”

ประโยคสั้นและกระชับของณรงค์ทำเราสงสัยจนอยากรู้ว่า กว่าจะมาเป็นที่หนึ่งนั้นยากขนาดไหน

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์
พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

1

แสงสว่างจากตะเกียงเจ้าพายุทยอยดับลงทีละดวง หลังจากประเทศไทยทำความรู้จักกับ ‘ไฟฟ้า’ ราว 130 ปีก่อน ของใหม่มา ของเก่าอย่างตะเกียงน้ำมันก๊าดเริ่มหมดความหมายและมีจุดหมายปลายทางยังร้านขายของเก่า จากประโยชน์ส่องแสงสว่างริบหรี่เหลือค่าเพียงเศษทองเหลืองกิโลกรัมละสิบกว่าบาท

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์
พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

“ประมาณ 40 – 50 ปีก่อน คนขนตะเกียงมาขายทิ้งกันหมด เราก็ทุบเฉพาะทองเหลืองไปขาย สมัยนั้นกิโลกรัมละสิบกว่าบาท พอทุบไม่ไหวเราก็แขวนเก็บไว้ มีคนมาเห็นแล้วเขาขอซื้อดวงละ 50 บาท เราก็ขาย ตอนหลังมีคนมาขอซื้ออีก ให้ราคา 70 บาท เราก็ขาย พอช่วง 20 ปีหลังมีคนมาขอซื้อ เขาบอกเราว่าถ้ามีคนให้ 70 เขาให้ 100 เราว่างพอดีเลยมีโอกาสคุยกับเขาว่าซื้อไปทำไม

“เขาบอกเราว่าเอาไปพ่นสีตกแต่งใหม่แล้วขายชาวต่างชาติ เราเลยฉุกคิดว่าถ้าขายไปของก็จะอยู่นอกประเทศหมด เราน่าจะเก็บสะสมไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาและเรียนรู้ระบบกลไกของตะเกียงเจ้าพายุ เลยเริ่มสะสมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันถ้าใครมาขอซื้อเราก็ไม่ขายแล้ว”  นักสะสมตะเกียงเล่าสู่กันฟัง

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

ตะเกียงดวงแรกของนักสะสมเป็นตะเกียงเปโตรแม็กซ์ดวงเล็กขนาด 150 แรงเทียน ลักษณะแปลกตาเพราะขนาดเล็กกว่าตะเกียงเจ้าพายุ ด้วยความเป็นพ่อค้าของเก่า แน่นอนว่ามีตะเกียงดวงแรก ย่อมมีดวงที่สอง สาม และสี่ ปัจจุบันณรงค์มีตะเกียงมากกว่า 10,000 ดวง จนโกดังเก็บของเก่าขนาดใหญ่ 2 ไร่เก็บไม่เพียงพอ เขาเกิดความคิดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น ได้รู้จัก และได้ศึกษา

2

หากเดินเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ ด้านขวาจะเป็นอาคารราชาวดี ความสูง 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงของโบราณหาชมยาก เช่น เตารีดโบราณ ตู้เย็นน้ำมันก๊าด และตะเกียงบางส่วน ชั้นบนจัดแสดงตะเกียงแบบจัดเต็มจากหลากหลายประเทศผู้ผลิต อย่างตะเกียงเจ้าพายุแบรนด์ไอด้าจากประเทศเยอรมนี แบรนด์ซิงมิงจากประเทศจีน แบรนด์เรเดียสจากประเทศสวีเดน ฯลฯ นอกจากจะเกียงเจ้าพายุ ยังมีตะเกียงแบ่งประเภทตามการใช้งาน เช่น ตะเกียงประดับริมรั้ว ตะเกียงเรือ ตะเกียงฉายสไลด์สำหรับทหาร

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์
พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์
พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์
พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

ภายในพิพิธภัณฑ์มีตะเกียงกระจายอยู่เกือบทุกอาคาร นับรวมแล้วทั้งหมด 13,001 ดวง ณรงค์บอกว่าเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีตะเกียงในโกดังที่ยังไม่ได้เอามาโชว์อีกเยอะมากเช่นกัน

แต่เราคัดมาให้ชมเรียกน้ำย่อยกันก่อนจำนวน 10 แบบถ้วน

1 ตะเกียงดวงแรกของณรงค์

ตะเกียงเปโตรแม็กซ์สีดำดวงเล็กขนาด 150 แรงเทียน ด้วยขนาดเล็กกว่าตะเกียงพายุทั่วไปจึงได้ใจนักสะสมไปเต็มๆ แถมยังเป็นตะเกียงดวงแรกที่จุดประกายให้ณรงค์สะสมตะเกียงมาจนปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

2 ตะเกียงทิลเลย์ 24 หัว

ตะเกียงขนาด 7,200 แรงเทียน อะไหล่จากประเทศอังกฤษ ประกอบในประเทศไทยโดย คุณเชาวลิต รังสีสุวัติ ในการจุดตะเกียงแต่ละครั้งต้องใช้คนอย่างน้อย 8 คน และคนสูบถังด้านล่างอีก 1 คน ต้องใช้คนมาก เพราะต้องคอยดูและรักษาไส้ตะเกียงไม่ให้แตก

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

3 ตะเกียงวอชิงตัน

ตะเกียงขนาดใหญ่ยักษ์เป็นเสาไฟฟ้าส่องสว่างสมัยก่อน มีเพียง 9 ดวงในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

4 ตะเกียงรัตนมาลา

  กว่าจะได้ดวงนี้มาไม่ง่าย ตะเกียงรัตนมาลาทำขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยช่างไฟฟ้าในวัง แต่ถูกยุติห้ามจำหน่ายเพราะตีตราครุฑคล้ายเป็นของหลวง ปัจจุบันมีมูลค่ามากถึง 500,000 บาท

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

5 ตะเกียงดัดแปลงรุ่น 237

บริษัทโคลแมนดัดแปลงตะเกียงรุ่น 237 ด้วยฟิล์มฉายสไลด์ สำหรับมิชชันนารีและกลุ่มคนชนบทที่ขาดแคลนไฟฟ้า

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

6 โคมระย้าโคลแมน

โคมระย้าประกอบด้วยตะเกียง 2 เสา 4 ไส้ หาชมยาก! เป็น 1 ในคอลเลกชันของฟิล กราฟฟ์

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

7 ตะเกียงเรือ

ตะเกียงสำหรับเรือโดยเฉพาะ จะถูกแขวนไว้บริเวณหัวเรือ หากเกิดเหตุเรือล่มคนจะมองเห็นดวงไฟและช่วยเหลือได้ทัน แทนการตะโกนขอความช่วยเหลือ

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

8 ตะเกียงรันเวย์สนามบิน

ใช้วางขอบรันเวย์สนามบินในสมัยก่อน

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

9 ฮีตเตอร์โบราณ

ฮีตเตอร์มีไส้คล้ายไส้ตะเกียง ไส้จะทำปฏิกิริยาความร้อนกับเหล็ก เหล็กก็จะร้อน ร่างกายก็จะอบอุ่น

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

10 พัดลมน้ำมันก๊าด

การทำงานคล้ายตะเกียงเจ้าพายุ จะต้องใส่น้ำมันก๊าดบริเวณด้านล่างแล้วสูบ เมื่อเกิดความร้อนใบพัดจะหมุนได้

ภายในอาคารยังมีของสะสมของบรรพบุรุษ และภรรยาของณรงค์เองก็เป็นนักสะสมตัวยงไม่แพ้กัน เธอจะเน้นสะสมโต๊ะ-เก้าอี้ไม้สักแท้ และมี 2 มุมจำลองยอดฮิตที่ใครมาก็ต้องออกลวดลายท่าทางคือ ร้านชา-กาแฟโกเฮง และร้านตัดผมโบราณ อุปกรณ์ตัดผมและชงชา-กาแฟเหมือนพาเราย้อนอดีตจริงๆ

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

หลังจากตาลุกวาวกับตะเกียง 10 แบบ เราขอพาทัวร์กันต่อกับอาคารลีลาวดี เป็นอาคารแฝด 2 ชั้น 6 ห้อง ห้องแรกเป็นห้องราชพฤกษ์ จัดแสดงถ้วยชามโบราณ ถาดกระบื้องแท้ ขวดน้ำมะเน็ดหรือขวดน้ำอัดลมสมัยก่อน ระหว่างเดินชมถ้วยใบนู้น ขวดใบนี้ ณรงค์จะสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยตลอดทาง

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

“ของแต่ละชิ้นกว่าจะได้มาลำบากมาก สมัยก่อนไม่มีโทรศัพท์ การติดต่อสื่อสารก็ยาก เราต้องส่งหน้าม้าไปคุย ไปตะล่อมเจ้าของก่อน ถ้าเขามีเงินเขาจะไม่ขาย อย่างถาดแต่งงานเนื้อกระเบื้องแท้เราเฝ้ามา 3 ปี ส่งหน้าม้าไปคุยทุก 4 – 5 เดือน สุดท้ายได้มาคู่ละ 8,000 จนตอนนี้ราคา 80,000 แล้ว

“บางทีเลิกงานเราขับรถไปดูของด้วยตัวเอง พอไปถึงเมียขาย ผัวไม่ขาย พอกลับไปอีก ผัวเมียขาย แต่ลูกไม่ขาย ของแต่ละชิ้นเลยไม่ได้หามาง่ายๆ ผิดกับปัจจุบันเขาส่งภาพมาให้ดู เราก็เลือก ชอบก็จ่ายเงิน”

  ณรงค์ชวนย้อนอดีตพลางแวะห้องชัยพฤกษ์ จัดแสดงเครื่องทองเหลือง อย่างเชี่ยนหมาก ขันลงหิน เตาน้ำมันก๊าด ฯลฯ และห้องถัดมาแฟนคลับสายปั่นต้องชอบ เป็นห้องรถจักรยานและจักรยานยนต์หลากหลายยี่ห้อ ทีเด็ดอยู่ตรงรถจักรยานยนต์สองระบบ จะใช้ถีบเป็นจักรยานหรือขับเป็นจักรยานยนต์ก็ได้

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์
พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

เดินชมห้องชั้นล่างจนครบทุกซอกทุกมุม ขอนำเสนอห้องทองกวาว รวบรวมของเล่นสังกะสีหลากหลายแบบ เด็กๆ มาต้องชอบ แม้แต่เรายังอยากอยู่ห้องนี้นานๆ นอกจากจะหวนคิดถึงวัยเด็ก เรายังได้เห็นพัฒนาการของของเล่นจากอดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย อัพเดตของเล่นล่าสุดของห้องคือ ตุ๊กตาไลน์เฟรนด์

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

“ถ้าลูกค้ามากันเป็นครอบครัว เราเป็นเจ้าของเห็นแล้วมีความสุขมาก พ่อแม่จะแนะนำลูกว่า สมัยก่อนแก้วแบบนี้แม่เคยใช้นะ เราเดินตามหลังได้ยินได้ฟังก็มีความสุข เหมือนบรรยากาศเก่าๆ กลับคืนมา”

เดินหน้าต่อเพียง 2 ก้าวจะเจอกับห้องทองหลาง เป็นห้องรวบรวมพระผง พระเหรียญ รวมถึงภาพพระเก่ามากมาย แบ่งหมวดหมู่ตามจังหวัด เยอะสุดต้องยกให้พระผง-พระเหรียญจากปราจีนฯ เดินอีกนิดถึงห้องสุดท้ายของอาคารลีลาวดี เป็นห้องทองพันชั่ง ชั่งจริงๆ เพราะณรงค์ขนสารพัดตราชั่ง เครื่องตวงและวัด เครื่องคำนวณภาษี มาให้ชมกันอย่างจุใจ!

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์
พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

ก้าวขาเดินลงบันไดสักนิดจะเจอกับอาคารชวนชม จัดแสดงภาพถ่ายเก่าของเมืองปราจีนฯ  ภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งเสด็จฯ เยือนปราจีนฯ ณ วัดแก้วพิจิตร หนังสือการ์ตูน หนังสือเรียน แสตมป์ และธนบัตรเก่า ตลอดจนลอตเตอรี่รุ่นแรกของประเทศไทยก็มี

ณรงค์แนะว่า การจะเก็บของเก่าให้ทรงคุณค่าจะต้องทำบัญชีด้วย เช่น บันทึกว่าซื้อมาจากไหน ได้มาจากใคร ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับจะสุดยอดมาก เขาพูดติดตลกกับเราว่า “ถ้าทำบัญชีไว้แล้วย้อนมาดู มันเหลือเชื่อมากนะ เราอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว”

สุดท้ายและท้ายสุดกับอาคารฟ้าประดิษฐ์ อยู่บริเวณด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรือขุด เป็นเรือที่ทำมาจากต้นไม้ทั้งต้นเพื่อทำเรือเพียงลำเดียว และมีเรือนเครื่องผูก เป็นบ้านที่สร้างจากไม้ไผ่ผูกกันโดยไม่ใช่ตะปูหรือลวดในการก่อสร้างแม้แต่ตัวเดียว

3

หลังจากชมพิพิธภัณฑ์จนครบทุกห้องและทุกอาคาร ขอพักจิบน้ำเย็นชื่นใจและจับเข่าคุยกับณรงค์ถึงการเก็บตะเกียงที่เยอะที่สุดในอาเซียนด้วยเหตุผลเดียวคือการเก็บเพื่อคนรุ่นหลัง

“ถ้าเขาไม่เห็นเขาจะไม่รู้เลย บางคนเคยได้ยินชื่อแต่ไม่รู้ว่าหน้าตาตะเกียงเจ้าพายุเป็นแบบไหน ปัจจุบันของใช้ที่คนรุ่นใหม่ทำขึ้นมาก็ต้องศึกษาจากของโบราณมาก่อนทั้งนั้น ถึงจะทำเครื่องมือทันสมัยได้ สมัยก่อนตู้เหล็ก 1 ใบจะต้องใช้สว่านหมุนมือ ใช้ตะปูมาย้ำ เดี๋ยวนี้ปุ๊บปั๊บปั๊มขึ้นรูปเสร็จแล้ว

“กระบวนการมันแตกต่างกัน อย่างแผ่นเสียงต้องไขลาน แล้วมีวิวัฒนาการมาใช้ถ่าน เราไม่ควรมองว่าของโบราณไม่มีคุณค่า แต่ควรตั้งคำถามว่าคนโบราณเขาคิดได้ยังไง เขาทำได้ยังไงมากกว่า”

ณรงค์ตอบ เจ้าของพิพิธภัณฑ์มีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ แม้ธุรกิจพิพิธภัณฑ์ของเขาขาดทุนมาเป็นเวลากว่า 10 ปี  ณรงค์เฉลยพร้อมรอยยิ้มว่า

“เราทำด้วยใจรัก กัดฟันสู้แม้จะขาดทุน เพราะเราอยากให้เด็กรุ่นหลังเขาศึกษาจริงๆ ความสุขของเราคือการมาเดินในพิพิธภัณฑ์ เราสุขใจเพราะเกิดเป็นคนไทยคนหนึ่ง ได้เก็บรักษาของไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษา ในอนาคตเราก็ต้องจากโลกนี้อยู่แล้ว แต่ของพวกนี้ต่างหากยังคงอยู่

“มีบางคนเอาของมาบริจาค เราบอกว่าเราไม่ได้เป็นมูลนิธิ เราจะเขียนชื่อ-ที่อยู่ให้เขา แต่ว่า ต้องมีแต่ด้วยนะ ถ้ามอบของให้เราแล้ว ในช่วงชีวิตเราจะเก็บรักษาให้ดีที่สุด เมื่อสิ้นอายุเราก็จบกันแค่นั้น อย่าเป็นเวรเป็นกรรมมารุ่นลูกรุ่นหลาน เราพูดแบบนี้ไว้ก่อน คนมอบก็สบายใจ เราก็สบายใจ”

คนฟังอย่างเราก็สบายใจ เมื่อรู้ว่ามีผู้ใหญ่ความตั้งใจดี เก็บของสะสมกว่าค่อนชีวิตเพื่อสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดปราจีนฯ ให้เด็กรุ่นหลังและคนรักของเก่าได้ศึกษา แน่นอน ทุกคนมีความทรงจำกับอดีต บ้างก็เป็นของเล่นชิ้นโปรด บ้างก็เป็นตะเกียงดวงเก่าสมัยคุณพ่อ ถ้าคุณกำลังหวนคิดถึงสิ่งเหล่านั้น เราขอมอบบัตรเชิญให้คุณมาเดินย้อนอดีตพร้อมค้นหาความทรงจำในโลกปัจจุบัน ณ พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ ไม่มากก็น้อย ไม่ความสุขก็รอยยิ้มที่คุณจะได้รับกลับบ้านแบบแก้มปริ!

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ (พิพิธภัณฑ์ตะเกียง)

ที่อยู่ 135 ถนนปราจีนตคาม ตำบลดงพระราม อำเภอเมืองฯ จังหวัดปราจีนบุรี 25000
เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น.
อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ราคา 80 บาท เด็กราคา 30 บาท
หากเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อ 037218511
Facebook : พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ (พิพิธภัณฑ์ตะเกียง)

เว็บไซต์ : www.yusuksuwan.com

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล