ภาพเขียนการ์ตูนลายเส้นสนุกสนาน สีสันหวานแหววสะดุดตา ประกายกลิตเตอร์วะแวววะวับ คาแรกเตอร์กึ่งคนกึ่งสัตว์ชวนให้คิดถึงแอนิเมชันเรื่องโปรดในวัยเยาว์ เนื้อหนังมังสาเป็นขนฟูนุ่มน่าสัมผัส ขัดแย้งกับเนื้อหาเสียดสีนานาประเด็นร้อนในสังคม ตั้งแต่ปัญหาธรรมชาติไปจนถึงการเมือง

ประติมากรรมรูปหล่อน้องเหมียวเพศเมียนั่งกอดเข่า ส่งสายตาละห้อยหาปนโศก หว่างขามีแม่กุญแจไซส์โตล็อกกางเกงในเหล็กไว้อย่างรัดกุม ถัดออกมาไม่ไกลคือลูกกุญแจ ถึงดูผิวเผินน่ารัก แต่เบื้องหลังทุกมุมโค้งเว้าล้วนแฝงไปด้วยนัยยะทางประวัติศาสตร์ การกดขี่ทางเพศ และความทรมานของอิสตรีทั้งสิ้น

ศิลปินนักออกแบบการ์ตูนสีสดที่ซ่อนประเด็นสังคม ธรรมชาติ จนถึงการเมือง

นี่คือฝีไม้ลายมือของ ยุรี เกนสาคู ศิลปินนักออกแบบลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ผู้มีผลงานเป็นเอกลักษณ์ผ่านหูผ่านตาเราตลอดเวลา

ยุรี เกนสาคู

เรารู้จักเธออย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อคราวไปชมผลงาน ‘Atmosfear : บรรยากาศมาคุ’ ที่ 100 Tonson Gallery ภาพจิตรกรสาวร่างเล็กยืนตวัดฝีแปรง ประจงลากเส้นต่อจุดบนผนังสูงเกือบเป็น 2 เท่าอย่างทะมัดทะแมงประทับอยู่ในความทรงจำตั้งแต่นั้นมา สิงสาราสัตว์นับสิบรายล้อมผนังทั้ง 4 ด้าน แม้ดูตลกขบขัน แต่ล้วนเดินทางออกมาจากก้นบึ้งแห่งความกลัวของผู้วาดมันขึ้นมาทั้งสิ้น

ศิลปินนักออกแบบการ์ตูนสีสดที่ซ่อนประเด็นสังคม ธรรมชาติ จนถึงการเมือง
ยุรี เกนสาคู ศิลปินนักออกแบบลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น

จนเมื่องาน BAB 2020 ปีที่ผ่านมา เธอจัดแสดงภาพเขียนมาสเตอร์พีซ ‘Bleu Blanc Rouge’ ในตึก The PARQ หลังกลับมาจากฝรั่งเศสในฐานะศิลปินพำนัก (Artist Residency) แถมจับมือกับคริสตัลในโปรเจกต์ Crystal x Yuree ออกแบบฉลากขวดน้ำสุดเก๋ มีทั้งเต่าทะเลนักดำน้ำ พะยูนคู่หูแม่ลูก วาฬยักษ์ใจดี และนางเงือกชุบแป้งทอด

ล่าสุด เราได้คุยกับเธอสั้นๆ ในงาน Bangkok Illustration Fair 2021 จึงถือโอกาสชวนเธอมานั่งลงสนทนายาวๆ อีกครั้ง เกี่ยวกับตัวตนและผลงาน ย้อนรอยเบื้องหลังคาแรกเตอร์สุดน่ารักที่เธอชุบชีวิตขึ้นบนผืนผ้าใบ มิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ ถุงผ้า เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม ไปจนถึงประติมากรรมรูปหล่อสุดคิวต์ ฉบับยุรี เกนสาคู

01

Put the Right Girl to the Right Place

หมุนทวนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปสมัยยังเป็นเด็กหญิงยุรี แววตาเป็นประกายของเธอจับจ้องดีไซน์คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนตามบรรจุภัณฑ์ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันด้วยความชอบ ทั้งถุงขนม ของเล่นกระจุกกระจิก หนังการ์ตูน ค่อยๆ ซึมและซับเข้าสู่ห้วงคำนึงอย่างแนบเนียน รู้ตัวอีกทีก็ต้องใจราวกับต้องมนตร์นะจังงังเรียบร้อยแล้ว

แต่พอได้เห็นพี่ชายนักเรียนช่างศิลป์ต้องฝึกทักษะการวาดพื้นฐาน กลับมองว่าหมดสนุกและไม่ใช่แนวทางที่ตนสนใจ เพราะไม่เหมือนกับการขีดเส้นตามจินตนาการเป็นตัวการ์ตูนสุดโปรดอย่างเจ้าตัวถนัด

“แต่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีพรสวรรค์เลยนะ” ศิลปินหญิงกล่าวถ่อมตัวตามประสาคนมากฝีมือ

หลังอกหักจากระบบสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ยุรีบ่ายหน้าสู่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานที่ซึ่งเปิดประตูบานกว้างอ้าออกต้อนรับเหล่ามนุษย์ผู้มีความคิดสร้างสรรค์

ยุรี เกนสาคู ศิลปินนักออกแบบการ์ตูนสีสดที่ซ่อนประเด็นสังคม ธรรมชาติ จนถึงการเมือง

“โชคดีตรงได้เรียนที่ที่เหมาะกับเรา จำได้ครั้งหนึ่งตอนฝึกวาดสีน้ำมัน เราก็จัดสโตรกหนักๆ เป็นภาพพื้นผิวอะไรสักอย่างแปะบนแบกกราวนด์แบนเรียบ แทนที่จะทำอากาศให้ฟุ้งหน่อย ไม่มีเอกภาพเลย ปรากฏว่าอาจารย์ไม่ตำหนิอะไรเลยสักคำ บางครั้งวาดลดทอนแบบบิดๆ เบี้ยวๆ แนวหลีกหนีความเป็นจริง กลับได้คะแนนดีด้วยซ้ำ เพราะความคิดและสไตล์เรามีค่ามากกว่าแค่ความเหมือนจริง”

ยุรีพาตัวเองเข้าไปอยู่ถูกที่ถูกทาง เหมือนนักกีฬาดาวรุ่งได้โค้ชมากฝีมือมาช่วยเทรน บ่มเพาะจนสุกงอมพร้อมทาน สบกับโอกาสพิเศษที่ได้รับ ซึ่งนับเป็นหมุดหมายแห่งการก้าวเข้าสู่วงการศิลปะเต็มตัวของเธออย่างเป็นทางการ

“ตอนเรียนไม่เคยมั่นใจว่าจะอยู่รอดได้ด้วยอาชีพศิลปิน ช่วงนั้นพ่อผู้เป็นรายได้เดียวของครอบครัวเพิ่งเสีย ยิ่งต้องคิดหนักว่าจะไปทางนี้ต่อดีไหม เผอิญหลังเรียนจบ มหาวิทยาลัยทำโครงการร่วมกับพื้นที่สองสามแห่ง เปิดโอกาสให้คนที่ยังไม่เคยจัดนิทรรศการเดี่ยว มาสร้างและขายผลงานของตัวเอง ปรากฏว่าเราได้รับคัดเลือก ทำให้มีแกลเลอรี่เข้ามาติดต่อและขายผลงานได้เกือบหมด จึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเดินทางนี้ต่อไป”

ยุรี เกนสาคู ศิลปินนักออกแบบการ์ตูนสีสดที่ซ่อนประเด็นสังคม ธรรมชาติ จนถึงการเมือง

เจ้าตัวแอบกระซิบว่าถ้างานครั้งนั้นแป้ก ก็คงหักเลี้ยวไปสายออกแบบเพื่อการค้าอย่างเดียว ปิดตายลงกลอนประตูศิลปินไฟน์อาร์ต ไม่ได้เขียนภาพโชว์ตามแกลเลอรี่หรืองานต่างๆ อย่างที่เห็นทุกวันนี้ควบคู่กันไปด้วย

02

แกงโฮะ

กลเม็ดเด็ดพรายของยุรี เกนสาคู คือการหยิบคว้าเรื่องราวนอกกรอบหลากหลาย ตั้งแต่ตำนานปกรณัม นิทานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงแง่มุมในก้นบึ้งแห่งตัวตนของเธอ ทั้งความกลัวและความสนใจต่อประเด็นต่างๆ ในสังคม กลั่นกรองออกมาเป็นทั้งผลงานพาณิชยศิลป์และวิจิตรศิลป์

“นอกจากโจทย์ใหญ่ซึ่งครอบไว้ ก็พยายามสำรวจตัวเองว่าขณะนั้นสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษอยู่บ้าง พอได้ไอเดียคร่าวๆ ก็พยายามแตกแขนงความคิดให้เหนือคาด อย่างงาน Nagabi Transferry ในเทศกาล Thailand Biennale 2018 ที่กระบี่ เราสนใจเรื่องตำนาน จึงเอานิทานพื้นบ้านเรื่องการเกิดเกาะของภาคใต้มาเป็นธีม มียักษ์ นาค เขานางนอน เป็นเนื้อหาในการวาดภาพลงบนเรือและทำประติมากรรม

เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ

“หรือชิ้น The Prophecy of 24 March 2019 จัดแสดงที่ถังแกลเลอรี่ ช่วงนั้นเริ่มสนใจเรื่องการเมืองเพราะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการยึดอำนาจ เลยโยงเอาคำทำนายอนาคตเรื่องนารีขี่ม้าขาว มาผสมผสานกับความเชื่อแบบจีนซึ่งปรากฏบนปฏิทินแบบฉีก วาดขึ้นใหม่โดยเปลี่ยนคนบนหลังม้าจากชายเป็นหญิงแทน” เธอเล่ารายละเอียดการออกแบบอย่างฉะฉาน

ความคิดสร้างสรรค์น่าจะเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่ทำให้ยุรีเลือกเฟ้นวัตถุดิบแปลกตามายำรวมกันได้อย่างแซ่บนัว แต่หากสืบสาวราวเรื่องไปถึงต้นตอ จะพบว่าไอเดียสนุกๆ ของเธอก่อกำเนิดขึ้นจากนิสัยขี้เบื่อหน่ายสไตล์ศิลปิน อยากทำให้ตัวเองอยู่กับงานได้จนตลอดรอดฝั่ง เพราะงานบางชิ้นก็กินเวลาถึงค่อนปีกว่าจะสำเร็จ

“คือพี่เป็นคนไม่ชอบแก้งาน” นักออกแบบตรงข้ามเราเปลี่ยนประเด็นพลางหัวเราะ

เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ

“พอรับบรีฟมาแล้วมีไอเดีย จะรีบปรึกษาลูกค้าทันทีว่าถ้าทำแบบนี้โอเคไหม อีกอย่างคือต้องทำรีเสิร์ชให้แม่นมาก ต้องทั้งลึกซึ้งและกว้างขวาง อย่างตอนทำกระเป๋าผ้าลดโลกร้อนให้ โลตัส (Lotus’s) ก็ศึกษาละเอียด สัตว์ชนิดไหนได้รับผลกระทบจากขยะอย่างไรบ้าง ทุกอย่างต้องมีความหมายเสมอ

“จะวาดหรือออกแบบอะไรก็ต้องให้ชัวร์ประมาณหนึ่ง ไม่ให้โดนด่าว่าไม่มีความรู้ สมัยก่อนไม่กล้า เพราะรู้สึกว่ายังอ่านไม่มาก แต่ตอนนี้เปลี่ยนความคิดแล้ว ถ้าถึงจุดที่พร้อมพูดเพราะมั่นใจในข้อมูลก็ทำเลย เพราะหากกลัวจนขึ้นสมอง คงไม่ได้ทำอะไรกันพอดี อย่างนั้นไม่ต้องไปเป็นนักวิชาการก่อนแล้วค่อยมาเป็นจิตรกรหรอ” โทนเสียงสดใสเจือหัวเราะในลำคอ กลบเนื้อหาเสียดสีระหว่างบรรทัดได้อย่างอยู่หมัด ไม่ต่างอะไรกับผลงานของเธอ

เพราะผสานสารพัดเรื่องราวเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกล่อม คุมประเด็นได้เฉียบคม ผลงานของยุรีจึงเป็นเหมือนแกงโฮะแห่งเรื่องราว ที่แม่ครัวประจำหม้อนั้นมากฝีมือและประสบการณ์ รู้จักวัตถุดิบอย่างถ่องแท้ ปรุงเป็นอาหารรสเลิศจนกินได้ไม่มีเบื่อ รู้ตัวอีกทีก็อ้วนพีด้วยความเอิบอิ่มใจในผลงาน

03

Sugar Coating

ตัวการ์ตูนหลุดจากโลกความจริง สีสันฉูดฉาดเด่นชัดถนัดตา สถานที่และเวลาพร่าเลือนราวกับอยู่ในเทพนิยาย แต่สอดแฝงเรื่องราวหนักแน่นเข้มข้นอย่างชาญฉลาด คือสไตล์จากปลายพู่กันของศิลปินลูกครึ่งคนนี้

“แบบปัจจุบัน เริ่มก่อตัวตอนไหนไม่รู้เหมือนกัน รู้แค่ว่าเบื่อโลก ชอบวาดอะไรไม่เหมือนจริง เพื่อหลีกหนีสิ่งที่เราเห็นด้วยตา เน้นสัตว์เพราะมันน่ารัก อยู่ใกล้แล้วมีความสุข ตรงไปตรงมากว่ามนุษย์ ส่วนสีสันของงานมาจากรสนิยม เราชอบความสนุกสนาน ทำอย่างไรก็ได้ให้อยู่บนโลกนี้โดยไม่ประสาทแดกไปก่อน เลยแปรสิ่งไม่ดีให้สวยงาม ลดทอนความโหดร้ายนองเลือดลง โดยยังคงความไม่ดีเอาไว้ เหมือนกับแอบด่าคนด้วยคำพูดเพราะๆ (หัวเราะ) เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะได้เข้าใจและใช้ชีวิตอยู่กับมันง่ายขึ้น”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหยิบประเด็นดาร์กๆ มาเคลือบน้ำตาล นำเสนอในรูปแบบสำเร็จรูปพร้อมทาน หลายครั้งมีส่วนช่วยลับคมให้สารัตถะ ซึ่งงานศิลปะหรืองานดีไซน์จะกระซิบบอกแก่ผู้ชมเป็นนัยๆ แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้อยู่ดีว่ารูปแบบเช่นนี้จะไปลดทอนเบียดบังเนื้อหาแท้จริงของงานหรือเปล่า

เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ

“ไม่คิดว่าลดทอน แค่เป็นวิธีหนึ่งในการนำเสนอมากกว่า” เธอปฏิเสธด้วยน้ำเสียงถ้อยที

“งานตรงไปตรงมาไม่ค่อยสนุก บางคนอาจชอบเพราะมีพลัง แต่ผลงานย่อมสะท้อนผู้สร้าง เราไม่ใช่คนบู๊ก้าวร้าว เกลียดใครก็ด่า อยากนำเสนอแบบ Soft Power มากกว่า จึงพยายามประนีประนอม แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สื่อสารได้ว่าเราต้องการอะไร และจัดแสดงเป็นสาธารณะหรือใช้เพื่อการค้าได้อย่างปลอดภัย เพราะถ้ารุนแรงสุดโต่งก็อาจจะไม่มีที่ทาง”

ฉะนั้น การเล่นแร่แปรธาตุ พลิกเอาความหมายแท้จริงซ้อนลึกลงไปข้างใน ไม่ใช่การแสดงทักษะอันฉกาจอย่างคนอวดดี แต่เป็นกุศโลบายอันสุขุมคัมภีร์ที่เปิดโอกาสให้งานเดินทางอย่างสาธารณะ เข้าสู่ห้วงกระแสความนึกคิดของคนหมู่มากได้ตามประสาเครื่องมืออันมี Soft Power ดั่งเจ้าตัวว่าต่างหาก

04

“ของจริงไม่ได้แบนเหมือนในภาพนะ”

หากไม่นับเอกลักษณ์ซึ่งถูกจริตตรงใจเราอย่างเต็มเปา อีกเหตุผลที่ต้องปรี่ไปชมผลงานเธอด้วยตาเนื้อทุกคราว คือบรรดารายละเอียดสนุกๆ ที่กล้องถ่ายภาพเล่าต่อไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“เราอยากให้คนมาดูว่าของจริงไม่ได้แบนเหมือนในภาพนะ ถ้ามาดูจะเห็นพื้นผิวของการคอลลาจ ใช้ประกาย กลิตเตอร์ ขน ผ้า มาผสมให้งานสนุกขึ้น

เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ
เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ

“อย่างชิ้น เรื่อสำเภาหัวแดง (Red Beak Junk Ship) ล่าสุดที่ล้ง 1919 เราเชื่อมโยงกับสถานที่ การค้า ความเชื่อของคนจีนเกี่ยวกับการเดินเรือ หยิบเอาผ้าแพรซึ่งเคยซื้อเก็บไว้ตอนไปเมืองจีน และสั่งผ้ากระสอบใหม่เพื่อมาใช้ในงาน ด้านล่างของภาพก็มีเรือสำเภาจีน ใช้เสริมฮวงจุ้ยมาตั้งคู่กัน ช่วยสื่อถึงการค้าขาย พอมีสิ่งพวกนี้งานจะน่าตื่นเต้นขึ้น”

ถ้าบอกว่างานของยุรีในยุคนี้มันหยดแล้ว ย้อนกลับไปสมัยก่อนหน้ามันยิ่งกว่าหลายเท่า เพราะเธอเล่นสนุกกับภาพลายเส้นตัวเองได้อย่างเหนือชั้นสุดๆ ตั้งแต่ทำปกอัลบั้มและมิวสิกวิดีโอในโปรเจกต์ Pry&May-T ไปจนถึงแอนิเมชัน ‘วิฬาร์ทวาทศ’ บนผนังถ้ำในนิทรรศการ ‘สภาวการณ์-มนุษย์-เมือง บทสนทนาในถ้ำ’ ที่ถ้ำจอมพล จังหวัดราชบุรี

“โปรเจกต์ Pry&May-T พี่เม (เมธี น้อยจินดา แห่งวงโมเดิร์นด็อก) ชวนไปทำ เป็นครั้งแรกสำหรับแอนิเมชันเลย เราตีความจากอารมณ์เพลง เพราะเนื้อร้องเหมือนบทกวีมาก ลายเส้นทุกอย่างมาจากเราทั้งหมด แต่การทำให้ขยับมีทีมงานหลังบ้านเอาไปทำต่อ ยุรีพึ่งพาคนทำกราฟิกค่อนข้างเยอะเพราะเราไม่รู้ขั้นตอน ไม่รู้ว่าอะไรได้หรือไม่ได้

เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ
เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ

“ส่วนที่ถ้ำจอมพล อาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน ชวนไปดูไซต์ว่าทำอะไรได้บ้าง ท่านมัดมือมัดขาเราด้วยการห้ามวาดภาพ ยุรีเลยทำงานคาแรกเตอร์ เป็นแอนิเมชันเรื่อง นางสิบสอง แทนเพราะเข้ากับโลเคชันและมีดนตรี ที่ยุรีและพี่เมเล่นประกอบเรื่อง อย่างเพลง Can’t Take My Eyes off You เล่นคู่ไปกับฉากที่นางสิบสองไม่มีลูกตา ยกเว้นนางเภา แม่ของพระรถเสน ที่เหลือตาอยู่ข้างเดียว” นักออกแบบหญิงถ่ายทอดประสบการณ์โปรเจกต์นั้นอย่างสนุกสนาน

นางเงือกชุบแป้งทอดบนเครื่องซักผ้าบุเบี้ยว แมวเหมียวนั่งกอดเขาโดยใส่กางเกงในเหล็กล็อกเอาไว้ นอกจากจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทำให้ใครหลายคนหยุดชะงักจนต้องเหลียวหลังกลับมามอง ยังยืนยันได้ด้วยว่ายุรีไม่ได้เป็นเซียนแค่บนผืนกระดาษผ้าใบเท่านั้น

“เราเริ่มต้นจากภาพวาดก่อนแล้วค่อยมาหัดทำประติมากรรมทีหลัง เพราะชอบให้มีงานหลายแบบจัดแสดงพร้อมกัน เพื่อให้ภาพรวมมีมิติและพลังมากขึ้น ชิ้นแรกคือ Gogi Chan Sitting on the Eternal Waste แล้วก็หัวเรือ Nagabi Transferry ทำเป็นนาค ตามมาด้วยสาวน้อยแม่กุญแจ (Lady Key) และล่าสุดคือ Broken Victoria ประติมากรรมเทพีแห่งชัยชนะปีกหักสภาพสะบักสะบอม เราทำขึ้นเพื่อใช้คู่กับภาพ Bleu Blanc Rouge และภาพ Louis XVI ในงาน BAB 2020

“ประติมากรรมมีเรื่องให้คำนึงเยอะมาก หลักๆ คือทุน แพงกว่าจิตรกรรมเยอะ ไหนจะที่เก็บอีก แล้วเราไม่ได้มาสายนี้ จะทำขายก็กลัวขายไม่ได้”

ยุรีมองว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายประเภทควบคู่ไปกับการทำงานดีไซน์ คือหนึ่งในกระบวนการเติบโต (ส่วนตัว) ของเธอ เพราะชีวิตมีหลากหลายด้าน ศิลปะแต่ละประเภท งานดีไซน์แต่ละชนิด มีวิถีทางในการดำเนินไปสู่ผู้เสพแตกต่างกัน แนวทางสนุกเร้าใจเช่นนี้ จึงคอยเติมแรงไฟแห่งการสร้างสรรค์ของเธอลุกโชนขึ้นอยู่ทุกวี่วัน และเปิดประตูแห่งโอกาสให้กางกว้าง 

เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ
05

ศิลปินพำนัก

นิทรรศการ The Adventure of Momotaro Girl จัดแสดงที่ Yokohama Museum of Art เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ ค.ศ. 2007

ภาพ Bleu Blanc Rouge ในงาน BAB 2020 ผลงานจากเมืองลา โรแชล (La Rochelle) ประเทศฝรั่งเศส

งานทั้งคู่นี้ นอกจากเป็นผลิตผลที่ได้รับคัดเลือกไปเป็นศิลปินพำนัก (Artist Residency) ยังการันตีฝีมือของ ยุรี เกนสาคู ได้ครบจบในตัว

เทคนิคหนึ่งที่เราได้จากการฟังเธอเล่า คือการพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสถานที่และโจทย์ที่ได้รับ

เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ

“ตอนไปญี่ปุ่น ก็นั่งทบทวนกับตัวเองว่าเรามีอะไรเกี่ยวกับประเทศนี้ไหม ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบไม่นาน ยังหน่อมแน้มอยู่เลย ไปอยู่ต่างแดนคนเดียวก็เหงา พอดีพักอยู่ตึกชื่อ ‘โตโฮ’ เลยใช้เป็นชื่อเล่นของผลงานว่า ‘โฮโต’ หมายถึง ร้องไห้หนักมาก แล้วพอไปเดินตามร้านฮาร์ดแวร์ เจอบล็อกแก้วรูปทรงคล้ายตึกนี้ เลยซื้อมาใช้ ทำงานไซส์จิ๋วในนั้น มีคนนั่ง เปิดทีวี จำลองเหมือนเป็นตัวเรา

เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ

“ฝรั่งเศสครั้งล่าสุด พอทำการบ้านจริงๆ พบว่ามีเรื่องราวเชื่อมโยงเยอะมาก การ์ตูน Barbapapa ช่อง 11 ที่เคยดูตอนเด็ก วรรณกรรมเรื่อง สามทหารเสือ ที่เราเคยไปวาดปกให้ แถมมีฉากหนึ่งเกิดในเมืองลา โรแชล ที่เราไปพอดี รวมทั้งการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง กุหลาบแวร์ซาย” เธออธิบายถึงวิธีการทำงานรูปแบบเฉพาะตัว

และโอกาสได้ไปท่องโลกกว้างในฐานะศิลปินพำนัก รวมถึงการสร้างและจัดแสดงงานในเมืองนอกเมืองนามานักต่อนัก ทั้งรัสเซีย ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ นี้เอง คือส่วนผสมสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมวิธีคิดในการทำงานเชิงพาณิชยศิลป์ของยุรีให้แพรวพราวขึ้น

“การทำงานด้านคอมเมอร์เชียลไม่ใช่การเล่าเรื่องของตัวเอง เราเลยต้องพยายามคิดเชื่อมโยงกับโจทย์ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้เข้าใจงานและค้นคว้าข้อมูลมาบิดเล่นได้สนุกกว่าเดิม เราว่าศิลปะทำให้คนเรามีอะไรอย่างอื่นในชีวิต ไม่ใช่แค่การวาดรูปเพื่อทำมาหากิน แต่งานดีไซน์สวยๆ ลวดลายตามสมุด หนังสือ กระเป๋า ขวดน้ำ คือความสุขเล็กๆ น้อยๆ คือสุนทรียะประจำวันที่หลายคนอาจมองไม่เห็นว่าสำคัญ” ศิลปินยืนยัน ก่อนย้ำว่าการทำงานกับคนอื่นสนุกมาก และถ้าเขาไม่มาชวน ก็คงไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ แบบนี้

06

แฝดคนละฝา

ยุรีผู้คร่ำหวอดทั้งในวงการศิลปะและวงการออกแบบ จึงต้องคอยบริหารจัดการทรัพยากรซึ่งมีมูลค่าทางสุนทรียะสูงให้เหมาะเหม็งกับประเภทงานทั้ง 2 แขนง ที่เรียกว่าเป็นแฝดคนละฝากัน

“เราไม่ได้มองว่าอะไรมีค่ามากกว่าอะไร” เธอรีบออกตัวทันควัน คำพูดเดินทางไวไม่แพ้ความคิด

“เพราะสองอย่างนี้ต่างกันชัดเจน คนละโจทย์เลยด้วยซ้ำ แค่ต้องจูนตัวเองให้เข้ากับแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปให้ได้เท่านั้น อย่าหลงทาง ยุรีจะไม่เอาบางอย่างในจิตรกรรมไปแปะลงตามบรรจุภัณฑ์สิ่งของ เพราะธรรมชาติของจิตรกรรมมันอยู่ได้แค่บนผืนผ้าใบหรือกระดาษเท่านั้น ไปอยู่บนกล่องขนมก็ไม่เหมาะ”

“งานคอมเมอร์เชียลสนุกตรงได้เล่าเรื่องคนอื่นด้วยวิธีการของเรา แต่มักมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ห้ามการเมือง ห้ามเลือดสาด ดังนั้น ความท้าทายหลักคือการวาดเรื่องความโหดร้ายของโชคชะตาปนอยู่อย่างไรให้น่ารัก เช่น การวาดคนแก่ คนพิการ มันต้องปรับโหมดและปรับตัวตามลูกค้าเยอะเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้มาจากสายกราฟิก”

แต่หลายคนมักไม่ยอมปรับตัวตามใคร ให้อารมณ์ศิลปินนำทาง การยอมโอนอ่อนผ่อนปรนและลดสัดส่วนตัวตนที่ปรุงแต่งในงานอย่างเหมาะสม ทำให้คุณสูญเสียตัวตนบ้างไหม-เราข้องใจ

เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักในมิวสิกวิดีโอ แอนิเมชันบนผนังถ้ำ เคสโทรศัพท์ เรือเฟอร์รี่ ขวดน้ำดื่ม และประติมากรรมรูปหล่อ

“ก็ต้องยอมเสียไปนิดหนึ่ง แต่เราไม่มีปัญหากับเรื่องนี้ นิสัยของเราค่อนข้างประนีประนอมอยู่แล้ว ขอจบงานแบบยังรักกันดีกว่า อย่างเคสโทรศัพท์มือถือ เราต้องลดทอนรายละเอียดลงไปเยอะมาก จากเดิมที่ต้องวาดเยอะๆ ให้เต็ม กลายเป็นเหลือแค่ตัวเดียว นั่นแปลว่าเรายิ่งต้องใส่ใจกับทุกอย่างมากขึ้นไปอีก ความจริงไม่ได้แย่เลยนะ” คู่สนทนาเบรกอารมณ์ได้ทันจังหวะ

แล้วคุณมีเกณฑ์ในการเลือกรับงานอย่างไร คือคำถามสุดท้ายจากเรา

“ความน่าสนใจของงานเป็นหลัก ไม่ฝืนใจเรามาก จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับตังค์เลยก็ไม่ใช่ ถ้าไม่สนุกเท่าไหร่แต่ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อและโอกาสเวลาเหมาะกันก็ได้ จ๊อบไหนรู้สึกแย่ที่ต้องทำก็ไม่รับ อย่างไปวาดแบบส่วนตัวมีคนเห็นไม่กี่คน แล้วมาโขกสับกดราคาเราอีก ก็ขอปฏิเสธ แต่งานเอาต์ดอร์ที่มีความหมายต่อคนส่วนมาก เราได้สื่อสารอะไรด้วย เงินนิดเดียวก็ทำให้ได้” ยุรีทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

ยุรี เกนสาคู ศิลปินนักออกแบบลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น

ต่อไปนี้คือ 5 ผลงานสุดจ๊าบของยุรี เกนสาคู ที่ไม่ได้มีดีแค่สีสันน่ารัก แต่ยังแฝงความหมายนัยยะเอาไว้ได้อย่างแยบยล 

Hot Pot Sweet Dream (2014)

Moscow International Biennale for Young Artist

ทำในงาน Moscow International Biennale for Young Artists เนื้อหาเกี่ยวกับสันติภาพ เวลาบีบมาก ทำแค่สิบเจ็ดวันเอง ชิ้นนี้ไม่ได้สำคัญแค่ในเชิงตัวงานที่ได้รู้จักรัสเซียมากขึ้นนะ แต่สำคัญในเชิงประสบการณ์และความท้าทายด้วย

Atmos Fear : บรรยากาศมาคุ (2016 – 2017)

Atmos Fear : บรรยากาศมาคุ (2016 - 2017)

Painting Installation นี้เป็นเหมือนการห่อหุ้มผู้ชมด้วยภาพจิตรกรรม ชอบเพราะมีพลังมากๆ เหมือนสร้างโลกเล็กๆ ไว้แล้วให้ผู้ชมก็เข้าไปอยู่ข้างในได้เลย

Gogi Chan Sitting on the Eternal Waste (2017)

ยุรี เกนสาคู ศิลปินนักออกแบบลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น

น้องเงือกเป็นประติมากรรมชิ้นแรกที่ทำในเชิงเทคนิค ท้าทายเพราะเรายังใหม่มาก ยิ่งเล่นกับรายละเอียด เช่น ตรงสีชมพูเคลือบมุกสีม่วง ตรงสีเหลืองเคลือบมุกสีส้ม ใช้ฝาเครื่องซักผ้าจริง ส่วนเชิงเนื้อหา การทำประติมากรรมโดดๆ ออกมาตัวเดียว แปลว่ามันต้องเล่าเรื่องจบภายในตัวเอง เราเลยต้องคิดละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นไปอีก

Nagabi Transferry (2018)

ยุรี เกนสาคู ศิลปินนักออกแบบลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น

การได้รับโจทย์เป็นจังหวัดกระบี่ทำให้เราต้องรีเสิร์ชเยอะ ทั้งยังเป็นงาน Size-specific มากๆ การวาดจึงต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมว่าเวลาไปอยู่ในเซ็ตแล้วจะเป็นอย่างไร แถมมีประติมากรรมหัวเรือด้วย แต่พอทำเสร็จแล้วโคตรภูมิใจ เพราะมันเป็นเหมือนเรือประจำเทศกาล จบงานแล้วเขาก็ยังใช้ขนส่งคนได้จริงอยู่จนถึงทุกวันนี้

BLEU BLANC ROUGE (2020)

ยุรี เกนสาคู ศิลปินนักออกแบบลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น

สำคัญในเชิงประสบการณ์ แม้วิธีการทำงานคือการหาความเกี่ยวข้องระหว่างเรากับสถานที่ แต่สุดท้ายก็คือการทำความเข้าใจตัวเองนั่นแหละ เนื้อหาค่อนข้างหนักทำให้เราต้องอ่านเยอะ แต่ยิ่งอ่านยิ่งสนุก พอเอามาใส่ขนต่อที่ไทยยิ่งชอบมากขึ้นเพราะดูไม่แบน ถือว่าเป็นชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง

ภาพผลงานบางส่วน : ยุรี เกนสาคู

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)