ไม่นับรองเท้าส้นสูงที่สวมอยู่ รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน สูง 143 เซนติเมตร

เสียงส้นปลายแหลมของรองเท้าเธอกระทบพื้นคอนกรีตดังกริ๊กๆ ยามเดินตัวตรงขึ้นบันไดตึกบรูทัลลิสต์ ‘แม่กึ๋ง’ ของ ดร.โก้-ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน หันมาส่งยิ้มแจ่มใส นัยน์ตากลมวาวแจ่มจ้า ดูอย่างไรสถาปนิกหญิงคนนี้ก็ดูไม่เหมือนคนอายุ 75 ปี

ความสูงหรืออายุเป็นเพียงตัวเลขสำหรับผู้หญิงตัวนิดเดียว แม่กึ๋งพิสูจน์ตัวเองมาตลอดชีวิตว่าเพศ อายุ หรือความอ่อนหวานของสตรี ไม่่ใช่สิ่งชี้วัดเส้นทางชีวิตหรือความสามารถ

เธอบอกว่าตัวเองไม่ชอบการแข่งขัน ไม่ไขว่คว้าหาตำแหน่ง แต่ถ้าได้ลองมอบหมายอะไรให้สักอย่าง พลังความมุ่งมั่นนั้นเกินร้อย ความตั้งใจอันแรงกล้านี้เองที่ส่งแรงกระเพื่อมให้วงการสถาปนิกไทยมาหลายสิบปี ตั้งแต่ยุคตึกโมเดิร์นแบ่งบานในเมืองไทย งานสถาปนิกเป็นที่ต้องการไปทั่วราชอาณาจักร ผู้หญิงน้อยคนนักเลือกเส้นทางนักออกแบบสิ่งก่อสร้าง

ยุพยง เหมะศิลปิน เป็นสตรีคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้นายกสภาสถาปนิก

เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาปนิกออกแบบอาคารต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯ

เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปรับปรุงหลักสูตร ประเมินผลงานทางวิชาการ เป็นประธานอนุกรรมการจัดทำคลังข้อสอบ จัดสอบความรู้ และสอบเทียบวิทยฐานะผู้ขอรับใบประกอบวิชาชีพ สถาปัตยกรรมควบคุม และเป็นผู้มีบทบาทในการประสานเครือข่าย ความร่วมมือจากภาควิชาการ เข้าสู่วิชาชีพในฐานะกรรมการสมาคมสถาปนิกสยาม 

นอกเหนือจากนั้น เธอยังเป็นแม่ เป็นเพื่อน เป็นพี่น้องของสถาปนิกมากมาย และเป็นครูของนิสิตสถาปัตย์ทั่วไทย

ชีวิตและการงานอันยิ่งใหญ่ของ ‘ผู้หญิงตัวเล็กๆ’ คนหนึ่งเป็นอย่างไร วันนี้เธอยินดีเล่าให้ฟัง

รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
1

เล็กพริกขี้หนู

การเป็นผู้หญิงตัวเล็กมีข้อเสียไหม

ไม่เคยรู้สึกมีปมด้อยเลย แฮปปี้มาก การเป็นคนตัวเล็กมีประโยชน์กับตัวเราตั้งแต่เล็กๆ ในบรรดาพี่น้องสิบกว่าคน เราแสบสุด แต่ไม่เคยโดนตีเลย ไม้มะยมจะหยุดก่อนถึงตัว เป็นที่อิจฉาของพี่น้องว่าตัวเล็กแล้วน่าสงสาร เข้าโรงเรียนมาแตร์ฯ ก็อยู่แถวหน้าตลอด ตั้งแต่อนุบาลถึง มศ.5 คนก็จำเราได้ ครูก็เรียก ‘ไอ้ตัวเล็ก’ ตอนอยู่สถาปัตย์ จุฬาฯ เราตัวเล็ก เห็นขื่อก็ปีนโต๊ะขึ้นไปเล่น 

รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย

สมัยก่อนสาวมาแตร์ฯ เขาเรียนอะไรกันบ้าง 

สิ่งที่โดดเด่นของการเรียนมาแตร์คือเรื่องภาษา มาแตร์ฯ สมัยก่อนช่วงจบมัธยมมี Finishing Course เป็นหลักสูตรแม่บ้านแม่เรือน คือเรียนเป็นกุลสตรี ทำกับข้าว ออกงานสังคม มีอยู่ไม่กี่รุ่น มาแตร์ฯ ช่วงแรกมีแต่สายศิลป์ ใครจะเรียนสายวิทย์ อยากเรียนหมอ ต้องไปต่อเตรียมอุดมฯ แต่เราไม่ชอบการแข่งขัน ไม่ชอบสอบ

พอมาถึงรุ่นนี้โชคดีที่สุด มาแตร์ฯ เปิดสายวิทย์เป็นรุ่นแรก ครูโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ย้ายมาสอน คนอย่างเราที่ชอบเลขก็เลยไม่ต้องไปไหน พวกเรายี่สิบกว่าคนกลายเป็นหนูทดลองรุ่นแรก ปรากฏว่าสอบจบ มศ.5 ได้ยกชั้น เข้ามหาลัยได้หมด เป็นรุ่นที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จทางวิชาการ 

แล้วแม่เริ่มสนใจเป็นสถาปนิกได้ยังไง 

ชีวิตแม่พลิกผัน ไม่เป็นไปตามคาดทุกอย่าง เหมือนดวงลิขิตให้ต้องเป็น เราชอบตัวเลข ชอบคำนวณ ตั้งใจเรียนบัญชีแน่นอน แต่ตอน มศ.4 พ่อพาไปเที่ยวพัทยา ที่โรงแรมวงศ์อมาตย์ สมัยก่อนดังมาก มีรุ่นพี่สถาปัตย์ จุฬาฯ คืออาจารย์กิติ สินธุเสก ตอนนั้นเขาอยู่ปีห้า เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบรีสอร์ตของวงศ์อมาตย์ พ่อเขากับพ่อเราเป็นเพื่อนกัน เขาไปตรวจงานก่อสร้าง เราก็ตามเขาไปดูด้วย เขาไปบอกพวกพ่อๆ อาๆ ว่าเรามีแววสนใจสถาปัตย์ เราก็เพิ่งรู้ตัว 

เขาถามว่าสนใจเข้าสถาปัตย์ไหม เดี๋ยวติวให้พร้อมกับน้องสาวเขาที่เป็นเพื่อนรักกับเรา พอถึงเวลาสอบ เราสอบเข้าได้คนเดียว ก็เลยจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่สถาปัตย์ จุฬาฯ มีความสุขมาก สนุกมาก 

อาจารย์ผู้หญิงในคณะมีท่านเดียวคือ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี (เกษมศรี) ซึ่งเป็นญาติกัน ท่านก็เอ็นดูเรา นิสิตรุ่นนี้มีหกสิบสี่คน มีผู้หญิงเจ็ดคนเท่านั้น

ต้องทำตัวห้าวๆ ไหมคะ ถึงอยู่รอดในคณะที่มีแต่ผู้ชาย 

เป็นบางขณะ ซนก็ซน เรียนก็เรียน เรียบร้อยก็เรียบร้อย เคยวิ่งไปส่งงาน อาจารย์สมัยสารท สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ก็เรียก ยัยกึ๋ง มานี่ รู้จักช้างมั้ย เป็นผู้หญิงเปรียบเหมือนช้าง ต้องเดินช้าๆ (หัวเราะ) เอ๊า เราจะไปรู้ได้ไง 

ผู้หญิงคนอื่นๆ เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ เราก็กระโดดโลดเต้น จากนักเรียนโรงเรียนยายชีที่ไม่เคยเจอผู้ชายเลย เข้าไปอยู่ในดงผู้ชาย มาแตร์ฯ สอนว่าเราไม่ต้องกลัวใคร ดังนั้นเราเลยทำกิจกรรมทุกอย่าง โต้วาทีกับคณะนิเทศฯ แพ้จ๋อยกลับมาทุกทีแต่ก็ทำ กีฬาก็เล่น แข่งวิ่ง เล่นละครเป็นนางรำที่สวนอัมพร ดังที่สุดคือเล่นหนังสถาปัตย์ บทคืออยู่ในบาร์ ควันบุหรี่คลุ้ง ขึ้นไปทำเป็นร้องเพลงดีดกีตาร์ นุ่งกระโปรงสั้นกุด ก็ไม่รู้สึกอะไรเพราะเราตัวเล็ก ไม่รู้สึกเซ็กซี่ ต้องเหนียมอายอะไร แล้วเราก็สนิทสนมกับพวกผู้ชาย ไม่แบ่งแยกกัน 

รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย

คนจบสถาปัตย์ยุคนั้นได้เป็นสถาปนิกไหม

ค่อนข้าง สมัยก่อนอีกอาชีพที่นิยมเป็นคือเซลส์แมน อยู่บริษัทขายอุปกรณ์ก่อสร้าง วัสดุต่างๆ สถาปนิกจบไปอยู่โรงปูนซีเมนต์ (SCG) แยะเพราะงานพัฒนาเมืองบูมมาก ทั้งสถาปนิกทั้งวิศวกรเก่งๆ เข้าไปอยู่แยะ รุ่นพี่กับรุ่นเราไปอยู่ทางนั้นจำนวนหนึ่ง อีกพวกที่เรียนเก่งก็เป็นอาจารย์ ที่เหลือไปอยู่หน่วยราชการ พวกผู้หญิงมักไม่ทำงานออฟฟิศ ไปทำงานราชการ 

แม่เองก็ไปทำงานเป็นสถาปนิกโทที่การประปานครหลวงที่แม้นศรี เป็นสถาปนิกคนแรกของการประปา เราต้องเข้าไปปกครองช่างผู้ชายที่ไม่เคยมีเจ้านายมาก่อน วันดีคืนดีมีผู้หญิงตัวเท่านี้มานั่งโต๊ะเป็นเจ้านาย ตรวจแบบก่อสร้าง เราเจอแบบผิด พอถามเขาก็บอกกระดาษไขมันยืด เราก็รู้ว่าโดนแน่แล้ว เราก็ต้องประนีประนอม พี่ แบบนี้แก้ได้มั้ย อะไรไม่รู้ก็ถาม

สิ่งที่โดนคือหัวหน้ากองท่านเรียกไปหา ท่านว่าเราตัวเล็ก นุ่งกระโปรงสั้นไปยิ่งไม่สวย ยิ่งตัวเล็กนะ ยุพยง เธอนุ่งกระโปรงยาวจะได้ดูตัวโต ใจความคือไม่อยากให้เรานุ่งมินิสเกิร์ต แต่งตัวโป๊ไปให้พวก Draftsman ดู ตั้งแต่นั้นมาก็ต้องปรับการแต่งตัว

คุมงานตึกแรกของการประปาสูงหกชั้น เราเป็นกรรมการตรวจการจ้าง เป็นการเรียนรู้อีกชั้นของชีวิต ตอนผสมปูนเราก็แก่กล้าร้อนวิชาไปตวงเอง อีกวันรถยางแบนเลย (หัวเราะ) งานที่เราทำคือการคุมงานเดินท่อประปา งานออกแบบไม่มี เลยคิดว่าไม่ใช่งานเราแล้ว ไม่มีที่ให้เราได้ใช้ความรู้เต็มที่ 

แล้วแม่เบนเข็มมาทำงานเป็นอาจารย์ได้ยังไงคะ

ด้วยความบังเอิญ ได้เจอเพื่อนสถาปัตย์ที่มาเป็นอาจารย์ที่ ม.เกษตรฯ สองคน คนหนึ่งกำลังจะไปเมืองนอก มีตำแหน่งว่างพอดี เราก็เลยรีบสมัครมาอยู่คณะวิศวะ สมัยก่อนอยู่ที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด เป็นวิทยาลัยชลประทาน พอเกษตรศาสตร์มีการขยายคณะ เลยไปควบรวมวิทยาลัยนี้เข้ามา เราไปในช่วงเปลี่ยนผ่านพอดี วิทยาลัยนี้มีแต่ผู้ชาย อาจารย์ก็ผู้ชาย นิสิตวิศวะก็ผู้ชายทั้งนั้น ขนาดห้องน้ำผู้หญิงยังไม่มี ไปถึงคณบดีก็มองหน้า ถามว่าจะมาอยู่ไหวไหม เราก็ตอบว่า ได้ค่ะ 

วันที่ไปสมัคร เพื่อนก็บอกว่าวันนี้ฉันมีคลาสของปีสี่ เธอเข้าไปสอนเลย เราก็เข้าไปสอนเรื่องโครงสร้างบ้าน มีหลังคา มีเสา มีฐานราก เราก็งงว่าทำไมถามแต่เรื่องหลังคา เพิ่งมารู้ตอนแก่ ลูกศิษย์มาบอกว่าที่ผมถามเพราะอาจารย์ใส่กระโปรงสั้น (หัวเราะ) 

แสดงว่าแม่ใส่กระโปรงสั้นเป็นอาจิณ

สมัยก่อน อีหนู ใครๆ ก็ใส่ทั้งนั้น แต่แม่ไม่ใช่คนเปรี้ยวออกนอกเส้นทางเลย เปรี้ยวในหมู่เพื่อนผู้หญิง เพราะเพื่อนมักเป็นคนเรียบร้อย แต่เราชอบแต่งตัว ความเปรี้ยวของเราก็แค่นั้น สิ่งสำคัญคือกาลเทศะ ไปวัด ไปเจอผู้ใหญ่ ไปงานศพ เราก็แต่งตัวเรียบร้อย

อยู่เกษตรฯ เป็นสาวเปรี้ยว แต่งตัวไม่เหมือนใครเลย เดี๋ยวนี้ก็ยังเปรี้ยวกว่าคนอื่นในหมู่คนอายุเจ็ดสิบห้า วันไหนสอนเรื่องดีไซน์ Dot – Line – Plane ก็จะใส่ลายจุดมา บางวันสีก็ตัดกัน นุ่งกางเกงสีแดงใส่เสื้อสีเขียว แล้วก็มีความเชื่อมั่น เป็นคนสนุก 

ขอถามเรื่องความรักนิดหนึ่งได้ไหมคะ

ได้ (หัวเราะ) ก็เป็นสาวดังไง เพื่อนเยอะ คนจีบเยอะเลย 

ตอนฮอตสุด มีคนจีบพร้อมกันกี่คน

นับไม่ได้ สี่ห้าคนมั้ง แต่แปลกที่ไม่มีรุ่นพี่จีบเลย ก็เลยมาตกหลุมรักกับพ่อของโก้นี่แหละ ไปเรียนที่ University of Illinois at Urbana-Champaign ด้วยกัน ตอนไปเรียนพ่อเขาเป็นอาจารย์ที่ศิลปากร พวกเราเรียนที่เดียวกับ อาจารย์นิธิ สถาปิตานนท์ และภรรยา ศ. เลอสม สถาปิตานนท์ สถาปนิกและวิศวกรไทยเรียนที่นี่แยะ

แม่ไปก่อนเทอมหนึ่ง พอเรียนจบแม่กลับ พ่อทำงานต่อที่ชิคาโก สมัยก่อนสถาปนิกนิยมว่าต้องได้กรีนการ์ด เขาอยู่เราก็กลับมา แล้วก็สมัครไปต่อที่ IIT ที่ชิคาโก บินไปสมัครเรียนผังเมือง แต่ท้องเสียก่อนก็เลยไม่เอาดีกว่า สละสิทธิ์เพราะกลัวคลอดที่เมืองนอกแล้วพูดไม่รู้เรื่อง 

แต่คิดว่าเรียนต่อคงไม่สนุกเท่าได้ทำงาน ช่วงชีวิตที่กลับมาทำงานได้ประสบการณ์เยอะมาก

รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
2

สาวนักสู้

อะไรคือความฝันของสถาปนิกยุคนั้น

ตอนนั้น Modern Architecture เข้ามามาก สถาปนิกที่ไปเรียนปริญญาโทแล้วกลับมามักทำบ้านสไตล์โมเดิร์นแบบ Frank Lloyd Wright อย่างงาน รศ. แสงอรุณ รัตกสิกร ก็เหมือนแฟรงก์ อาจารย์หม่อมราชวงศ์แน่งน้อยก็เป็นลูกศิษย์ ไปฝึกงานกับแฟรงก์เลย ท่านไปเทรนมากับสำนักนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท่านได้มาก็มาปรากฏในงาน เป็น Movement หนึ่งในวงการสถาปนิกไทย แต่ว่าปรับให้มันเป็น Tropical Architecture ต้องรู้ทิศทางแดด มุมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้กับตะวันออกเฉียงเหนือไม่เท่ากัน ลมเข้ายังไงก็ต้องรู้ แล้วออกแบบให้ได้ Composition ที่สวย แม่เคยดีไซน์แล้วผู้รับเหมางง แบบผิดรึเปล่า ไม่ผิด (เน้นเสียง) ฉันทำแค่นี้ ข้างนี้มันต้องสั้น ข้างหลังมันต้องยาว

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยุคบุกเบิกเป็นอย่างไร

ช่วงที่แม่เข้ามา มหา’ลัยเกษตรกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาพอดี โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก World Bank ทั้งในด้านการพัฒนาหน่วยงาน บุคลากร รวมทั้งอาคารสถานที่ ตอนนั้นมีสถาปนิกอยู่ท่านเดียวในคณะเกษตรคือ อาจารย์ทองพันธุ์ พูนสุวรรณ ท่านสอนการออกแบบโรงเรือนให้กับภาควิชาเกษตรกลวิธาน และออกแบบอาคารต่างๆ ในมหา’ลัย

พอดีแม่จบมาทาง Campus Planning จึงได้เป็นสถาปนิกประจำโครงการของ World Bank ร่วมกับอาจารย์ทองพันธุ์ในการวางผังและพัฒนาพื้นที่มหา’ลัย เพราะก่อนหน้านี้ในพื้นที่เจ็ดร้อยไร่ อาคารของมหา’ลัยกับกระทรวงเกษตรตั้งอยู่ปะปนกันไปหมด พอธนาคารโลกเข้ามาสำรวจ ก็แบ่งพื้นที่เลย ซีกที่ติดกับถนนพหลโยธินเป็นของกระทรวง อีกซีกหนึ่งเป็นของมหา’ลัย

การออกแบบเพื่อมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร

ต้องดูฟังก์ชันของแต่ละคณะ แต่ละคณะนี่ความต้องการไม่เหมือนกันเลย เราต้องศึกษาข้อเท็จจริงว่าความต้องการประโยชน์ใช้สอยเขาเป็นยังไง การออกแบบห้องแล็บ ออกแบบห้องเรียน ออกแบบห้องวิจัยต่างๆ ต้องแก้ปัญหาเรื่องบริบทแบบ Tropical Architecture แล้วก็ต้องดูเส้นทางสัญจรของรถ จักรยาน และเส้นทางเดิน ซึ่งตอนนี้มี Inner loop-Outer loop ช่วงเปลี่ยนถ่ายการเรียนสิบห้านาที เด็กจะต้องเดินทัน 

งานบริหารมหาวิทยาลัย สนุกไหมคะ

สนุก พอต้องออกแบบวางผังพัฒนาโครงการต่างๆขึ้นมา เราก็ต้องเข้าไปทำ Space Inventory ทุกอาคารของมหา’ลัย เป็นโอกาสที่เราได้ไปเจอกับทุกคณะ ไปรู้จักกับเลขานุการของคณะเขาหมด เพราะเราต้องเข้าไปวัดขนาดมาเขียนแบบเอง เป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนามหาวิทยาลัย ว่ามหาวิทยาลัยตอนนี้มันมีอะไรแค่ไหน เพียงพอหรือไม่ แล้วจะต้องขยายหรือต้องพัฒนาอย่างไร เมื่อมหาวิทยาลัยเริ่มดำเนินการพัฒนา

ทั้งที่วิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นแคมปัสใหม่มีเนื้อที่เจ็ดพันไร่ เราได้เป็นกรรมการตรวจการจ้างก่อสร้างอาคารต่างๆ เกือบทุกงานที่ออกแบบโดยสถาปนิกภายนอกจากบริษัทดังๆ ทั้งนั้น ทำให้เราได้ฝึกปฏิบัติงานในสายวิชาชีพอย่างเต็มที่ควบคู่ไปกับการสอน

รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย

ระหว่างนั้นการสอนหนังสือเป็นอย่างไร

แม่สอนวิชาออกแบบสถาปัตยกรรมในหลักสูตรวิศวกรรมโยธาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เกษตรศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่คณะวิศวะฯ สอนวิชาออกแบบของสถาปัตย์ ในเมื่อวิศวกรโยธากับสถาปนิกต้องทำงานร่วมกัน สถาปนิกเป็นคนออกแบบ วิศวกรโยธาต้องคำนวณ แล้วถ้าวิศวกรโยธาอ่านแบบสถาปัตย์ไม่เป็น มันก็ไม่เข้าใจกัน 

เด็กวิศวกรรมโยธาที่จบไป แม่สอนเขียนแบบ อ่านแบบ ความงามอะไรต่างๆ พอไปทำงานแล้วมีฟีดแบ็กว่าวิศวะเกษตรฯ อ่านแบบเป็น อันนี้คือความภูมิใจมากเลย ว่าเราทำให้สถาปนิกกับวิศวกรพูดกันรู้เรื่อง วิศวะเขาเข้าใจความงามของสถาปัตย์ วิศวกรบางพวกมีเซนส์ความงามในตัวเขาพอสมควร คำนวณโครงสร้างออกมาสวยงาม ไม่ใช่เสาและคานต้องหนาปึ้ก เดี๋ยวนี้ยิ่งง่ายเพราะมีเครื่องมือ เข้าคอมพิวเตอร์มี 3D ดูอะไรปรับอะไรก็ได้ สมัยก่อนวิศวกรมีเครื่องมือคือเครื่องคิดเลขอันหนึ่ง คำนวณอย่างเดียว 

แม่สอนให้เด็กเข้าใจสุนทรียะความงามได้ยังไง

สอนเบสิกก่อน พื้นฐานของความงามมีหลักการ แล้วก็ให้ตัวอย่างเยอะๆ ต้องสอนให้เด็กดู แล้วก็ทดลอง งานมันจะเปรียบเทียบกันเอง ด้วยเหตุผล ที่มาที่ไปความคิด 

ตอนสอนมีเด็กคนหนึ่งนั่งจ้องหน้าเรา ชอบเรียนมาก เลยถามว่าเธอชอบจริงๆ รึเปล่า เธอไปเรียนสถาปัตย์สิ เชื่อไหม เขาบ้าจี้ไปสมัครเข้าปีหนึ่งใหม่ที่สถาปัตย์จุฬา แล้วเรียนจนจบ เดี๋ยวนี้เป็นสถาปนิกดัง แล้วเขาก็จะพูดเสมอ เพราะอาจารย์ยุพยงเนี่ยแหละบอกผม เชียร์ผมให้ผมมาที่นี่ 

ระหว่างสอนวิศวะฯ ไป พ.ศ. 2522 ศ.ดร.สุธรรม อารีกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการขณะนั้น ดำริให้มีการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่ยังไม่มีความพร้อม

พ.ศ.2534 อาจารย์สุธรรมได้เป็นอธิการบดี ก็รื้อฟื้นความคิดก่อตั้งคณะใหม่ แม่เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา จึงตั้งคณะกรรมการจัดตั้งคณะ ร่างหลักสูตร ในที่สุดก็ตั้งได้ปี 2538 เริ่มจากเป็นภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์

ตอนนั้นสถาปัตย์ขาดแคลน มีสอนเพียงที่จุฬา ขอนแก่น ศิลปากร ลาดกระบัง และในที่สุดถึงได้มีพระจอมเกล้าธนบุรี เกษตรศาสตร์ และเชียงใหม่เปิดตามมา

รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย

เรื่องประทับใจตอนคณะสถาปัตย์ตั้งไข่คือเรื่องอะไรคะ

สิ่งที่ดีใจที่สุดในการทำงานคือการที่ไปไฟท์เอาเงิน 17ล้าน มาสร้างตึกหลังแรกให้คณะสำเร็จ ปีนั้นอธิการบดีให้เราเปิดคณะสถาปัตย์ แต่ไม่จัด Priority ในการของบประมาณสร้างอาคารให้เรา คณะเปิดมาแล้วต้องไปอาศัยคณะวิศวะอยู่ ตอนนั้นงบประมาณถูกตัดไปแล้ว เราก็ขึ้นไปพบอธิการเลย อาจารย์ทำแบบนี้ได้ยังไง ต่อไปนี้อาจารย์ไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวจะร่างหนังสือให้อาจารย์เซ็นต์อย่างเดียว แล้วเราก็วิ่งไปทบวง ไปสำนักงบประมาณ ขอแปรญัตติงบที่ถูกตัดไป ในที่สุดก็ได้งบมาจนได้ ดีใจสุดๆ

อีกเรื่องคืออาจารย์ที่สอนมีไม่พอ เราก็ต้องออกไปหาข้างนอกมาช่วยเราจนกระทั่งเปิดได้ เพราะมีคอนเนกชัน แม่เป็นนักกิจกรรม ใน พ.ศ.2535 คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เขาตั้งสมาคมนิสิตเก่า เขาก็ชวนเราไปก่อตั้ง เราก็ไปทำงาน ถึงได้ไปชวนรุ่นพี่รุ่นน้องที่เป็นอาจารย์มาสอน

เคล็ดลับการได้ตัวอาจารย์เก่งๆ หลายมหาวิทยาลัยมาสอนคืออะไร

สิ่งที่สำคัญเราต้อง ‘ให้’ ก่อน เราถึงจะ ‘ได้’

เริ่มตั้งแต่การไปร่วมก่อตั้งสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตย์จุฬา ต่อด้วยการไปเป็นกรรมการสมาคมสถาปนิกสยามฯ สองสมัย และสุดท้ายมาเป็นกรรมการสภาสถาปนิกอีกสองสมัย โดยแม่ได้เป็นเหรัญญิกมาทุกองค์กร อาจจะเป็นเพราะเขาเห็นว่าแม่มีความซื่อสัตย์ก็ได้ คงจะเป็นเพราะว่ามีพ่อเป็นผู้พิพากษา พ่อสอนว่าความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โกงกินไม่ได้ เราจะเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมไม่ได้เด็ดขาด

แม่ว่าการมี Connection เป็นหัวใจสำคัญที่สุด การที่เราได้ไปทำกิจกรรมมากมาย ทำให้เราได้ร่วมงานกับสถาปนิกทั้งนักวิชาการและวิชาชีพมากมาย ใครขอให้เราช่วยทำอะไร เรายินดีทำให้หมด ฉะนั้นเมื่อเราขอความช่วยเหลือจากใคร ทุกคนก็เต็มใจที่จะช่วยเรา

แม่สามารถเชิญอาจารย์จากจุฬา ศิลปากร ลาดกระบัง รวมทั้งสถาปนิกจากบริษัทต่างๆ มาช่วยสอนให้กับนิสิตของเราตั้งแต่เริ่มเปิดหลักสูตรจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในวิชา Professional Practice จะต้องมีผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้ ถ้าเราสอนกันเองเด็กจะได้อะไร สมัยแรกๆ เด็กได้ไปเรียนวิชาออกแบบกันตามบริษัทออกแบบต่างๆ แม่แถดแถพาเด็กร่อนเร่ไปเรียนตามออฟฟิศ ดุสะบั้นหั่นแหลก เหนื่อยก็เหนื่อยนะ แต่ว่ามันได้ผล พอถึงตอนเด็กรับปริญญาเนี่ย ภูมิใจที่สุด

Green Architecture ที่เป็นจุดเด่นของสถาปัตยกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์เป็นอย่างไร

คณะสถาปัตย์เราเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกษตรศาสตร์มีศาสตร์ของแผ่นดินอยู่ใช่ไหม มันมีทุกอย่าง เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า มีคณะเกษตร คณะเกษตรก็ลงลึกไปทั้งปฐพี พืชสวน พืชไร่ สัตวบาล ส่วนคณะวนศาสตร์ก็มี ป่าไม้ น้ำ เราก็คิดว่าคณะสถาปัตย์ เกษตรศาสตร์ ของเราก็ต้องมีเอกลักษณ์ ต้องบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ให้เป็นจุดยืนของเรา 

Green Architecture คือต้องอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับสิ่งแวดล้อมได้ เราต้องรู้เรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ ป่าไม้ Tropical  Architecture ต้องเข้ามา เราพูดเรื่อง Sustainability ตั้งแต่เมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้ว เด็กที่นี่ใส่ใจเรื่องนี้มาก ไม่ค่อย Architecture จี๋จ๋า แต่อยู่กับโลกของความเป็นจริง มีภาควิชาที่ทำงานร่วมกับคณะอื่นๆ ได้ ภูมิสถาปัตย์เรามีความพร้อม เราร่วมกับคณะวนศาสตร์ พอเป็นนวัตกรรมก็ร่วมมือกับคณะวิศวะ สถาปัตย์ที่นี่มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรได้ดี เช่น จัดการกับของเสียในระบบอุตสาหกรรมแล้วมาใช้ในเชิงงานออกแบบ

รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
3

นายกหญิง

แม่ชอบสอนหรือบริหารมากกว่ากัน

พูดตรงๆ เลย บริหารดีกว่า เพราะตอนไปทำงานที่สภาสถาปนิกสยามแบบเต็มตัว เอ๊ะ เรานี่สนุกเหมือนกันนะ แต่การสอนก็โอเค ทุกวันนี้ยังสอนไม่หยุดอยู่เลย

หัวใจสำคัญในการบริหารให้ดีคือคุณสมบัติอะไรคะ

เข้าใจคน เอาใจเขาใส่ใจเรา ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ ที่สำคัญที่สุดคืออย่าดูถูกคน คลุกคลีได้หมด ไปเที่ยวก็นอนกับภารโรงได้ ทำงานที่สภาฯ ก็สนิทกับแม่บ้านมากเลย

ในการบริหาร คนจะมีอคติหรือฉันทาคติกับผู้หญิงอย่างไร

มีอคติ จนกว่าเราจะพิสูจน์ได้ แม่เป็นนายกสภาสถาปนิกเนี่ยลูกฟลุคตามเคย ไม่เคยคิดอยู่ในหัวแม้แต่เศษเสี้ยว แม่ไม่ได้อยากเป็น อยากไปทำงานเฉยๆ พอทำหลายสมัย หลายคนบอกว่าแม่ควรจะเป็น แต่ก็เห็นว่าบางคนเขาดูถูกเรา โอ้โห มันจะเป็นได้ไงวะ Practice มันก็ไม่เคยทำ แล้วมันเป็นผู้หญิง

แม่เป็นคนที่ถ้าไม่ทำก็จะไม่ทำ แต่ถ้าจะทำก็ต้องทำอย่างดีที่สุด สู้ตาย 

มีเรื่องพีกๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง

แม่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ มีการประชุมใหญ่ประจำปีครั้งแรกก็โดนลองของเลย เนื่องจากการที่สภาฯ ออกข้อบังคับให้สมาชิกต้องมีการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องให้ครบตามกำหนดของสภาฯ จึงจะสามารถต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ทุก 5 ปี ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในสมัยของแม่ สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เดือดร้อนมาก ไม่พอใจว่าทำไมจะต้องมาบังคับให้เขาต้องไปเรียน ไปพัฒนาความรู้ เขาแก่แล้วและก็มีความสามารถอยู่แล้ว ก็เลยยกพวกมาประชุมเป็นพันคนทั้งๆ ไม่เคยมีสมาชิกมาประชุมมากเท่านี้ อย่างเก่งก็เพียงสองสามร้อยคน เพื่อที่จะคัดค้านข้อบังคับนี้ จนต้องล้มเลิกการประชุมครั้งแรกไปโดยไม่สามารถสรุปได้ แม่ต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ ในที่สุดก็ต้องมีการทบทวนข้อบังคับนี้

ตอนแรกเราก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการเป็นประธานฯ มีคนแนะนำแม่ว่าให้ไปดูการประชุมสภาผู้แทนฯ ว่าเขาควบคุมการประชุมกันอย่างไร อ๋อ ประธานมีอำนาจควบคุมที่ประชุมได้ ปิดไมค์ได้ สั่งให้กลับไปนั่งที่ได้ แม่ก็เอาบทนี้มาเล่น แต่ไม่ใช่สักแต่ว่าห้าม เรามีวิธี บางทีเดี๋ยวก็อ่อนหวาน เดี๋ยวก็แข็งตูมใส่ เราใช้ความเป็นผู้หญิงของเรา กับความเข้มแข็งคล้ายๆ ผู้ชายของเรามาบริหารจัดการได้

งานที่ภูมิใจที่สุดในฐานะนายกหญิงคืออะไร

เป็นการจัดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ อันนี้ก็เป็นผลงานที่เรียกว่าทำสำเร็จ ก่อนหน้านั้นยังไม่เป็นระบบที่ชัดเจน เราทำคลังข้อสอบ แต่ละวิชาก็เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งสายวิชาชีพและวิชาการมาออกข้อสอบ มารีวิวข้อสอบจนได้เป็นคลังข้อสอบที่ใช้จนทุกวันนี้

เดิมคณะสถาปัตย์มีไม่กี่ที่ พอจบทุกคนจะได้ใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ แต่ตอนหลังมีคณะสถาปัตย์เกิดใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย มาตรฐานของแต่ละที่ก็ไม่ตรงกัน งานของสภาคือควบคุมดูแลมาตรฐานของสถาปนิก ต้องทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมาย มี License หลักสูตรที่เรียนมาไม่เท่ากันก็ต้องมาปรับฐาน ทุกคนต้องสอบเพื่อพิสูจน์ว่าทุกที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ศักยภาพพอๆ กัน ปัจจุบันนี้แม่เพิ่งไปเช็กดู มีสถาปนิกสักสามหมื่นคน มาจากยี่สิบสามสิบสถาบัน 

ช่วงที่เป็นนายกสภา เป็นปีที่การสอนสถาปัตย์บูมมาก แม่เลยต้องไปตรวจมาตรฐานของหลักสูตรหลายที่ ดูคุณสมบัติของอาจารย์ ดูการเรียนการสอน ดูผลงานของเด็ก ดู Outcome ว่าผู้ใช้บัณฑิตว่ายังไง เราถึงจะบอกว่าหลักสูตรนี้ได้รับการรับรอง แล้วเด็กที่จบจากที่นี่มีสิทธิ์มาสมัครเป็นสมาชิกสภา และสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้

ทีนี้การที่ไปตรวจสอบคุณสมบัติของสถาบันอื่น บางสถาบันไม่ผ่านนะ เราก็ต้องกลับไปช่วยเขาว่าจะทำยังไงจึงจะผ่าน อย่างที่ราชมงคลศรีวิชัย สงขลา และ มอ. ตรัง เราก็ไปแนะนำจนผ่านเรียบร้อย เดี๋ยวนี้แม่ก็ยังไปช่วยเขาตรวจวิทยานิพนธ์อยู่ตลอดทุกปี ไม่ทิ้งกัน

ถ้าพูดถึงคุณภาพของสถาปนิกไทยในแง่ของระดับสากล สถาปนิกไทยถือว่าโอเคไหม

โอเค แต่ไม่ใช่ว่าสอบใบประกอบครั้งเดียวแล้วจบ มันยังมีระดับที่ต้องสอบเลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ จากภาคีเป็นสามัญ แล้วจากสามัญเป็นวุฒิ ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีแบบนี้ บางประเทศถ้าเขาสอบเป็น Licensed Architect ผ่านแล้วก็จบ บางคนก็ว่าเมืองไทยน่าจะทำข้อสอบยากๆ เพียงครั้งเดียวแล้วได้เป็นสถาปนิกไปเลย

รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
4

คนรักงาน

ตอนนี้ความนิยมในการเรียนสถาปัตย์มันยังมีอยู่ไหม

ยังมีอยู่ ความนิยมจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้คนจบภูมิสถาปัตย์แล้วจะได้งานเยอะมาก 

ตอนนี้สถาปัตยกรรมมีหลายหลักสูตร คำว่าสถาปัตยกรรมใต้ร่มของสภาสถาปนิก มีสถาปัตย์ มีภูมิสถาปัตย์ มีสถาปัตย์ภายใน และผังเมือง เพราะฉะนั้น สี่สาขานี้ต้องมี License อีกสาขาที่ไม่อยู่ในนี้คือ Industrial Design 

บางคนเรียนสถาปนิกไม่ใช่เพื่อประกอบอาชีพ เพราะการเรียนการสอนสถาปนิกทำให้เราไปทำได้หลายอาชีพ ร้อยคนที่จบไป เป็นสถาปนิกจริงอาจแค่สามสิบสี่สิบคนด้วยซ้ำ บางคนไปสายนิเทศ ไปทำโฆษณา ไปทำอีเวนต์ ทำร้านเบอร์เกอร์ คาเฟ่ ร้านไอศกรีม ทำสิ่งพิมพ์ เป็นดาราก็เยอะ 

ที่ออกไปทำอะไรได้หลายอย่าง เพราะพื้นฐานการสอนของเราสอนให้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ คิดอย่างเป็นระบบ แล้วงานก็ต้องเสร็จเพราะมีเดดไลน์ Process of Thinking เอาไปใช้ในสายอาชีพต่างๆ ได้หมด คนจบไปทำสถาปัตย์จริงๆ ตอนนี้น้อยมาก

เพราะว่าอะไรคะ

เพราะตอนสถานการณ์ประเทศชาติ เศรษฐกิจ อะไรต่างๆ น่าเป็นห่วง เด็กที่จะจบรุ่นนี้หางานทำกันไม่ได้ แล้วที่มีอยู่โดยเฉพาะออฟฟิศเล็กๆ เนี่ย ถ้าสายป่านไม่ยาวก็ต้องเริ่มพลิกผันไปทำอย่างอื่นกันแล้ว เป็นผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ที่เราไม่แน่ใจเลยว่ามันจะพุ่งขึ้นได้เมื่อไหร่ 

ก่อนหน้าที่จะมี COVID-19 ไอ้ลูกศิษย์เรามันก็เลือกเดินทางอื่นกันพอสมควรแล้ว และเขาไม่ชอบให้เราถาม อาจารย์บางคนชอบไปถาม คุณจะเป็นสถาปนิกรึเปล่า คุณจบไปแล้วคุณทำอะไร เด็กๆ เขาเขียนมาบอกว่าไม่ชอบให้ถาม คือพวกเขาก็ยังไม่รู้เลย เขาก็ยัง Suffer อยู่ มาถามอะไรเขา ตั้งแต่นั้นมาเราไม่ถามอีกเลย มีอะไรก็ให้กำลังใจกันไป

ทุกวันนี้แม่ทำงานวันละกี่ชั่วโมง

ตอบไม่ได้ นอกจากสอนที่เกษตรแล้ว ปกติต้องไปตรวจทีสิสที่สงขลาและที่ตรัง ธรรมดาลงเครื่องแล้วไปมหาลัย ทำงานเก้าโมงเช้าถึงหนึ่งทุ่ม สามวันจบแล้วกลับ แต่ตอนนี้โควิดต้องตรวจออนไลน์ อาทิตย์ที่แล้วสงขลา อาทิตย์นี้ตรัง อาทิตย์หน้าเกษตรฯ เดินทางทั่วราชอาณาจักร การมีคณะสถาปัตย์ในจังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดแรงงานในภูมิภาคนั้น จบไปเขาก็สร้างงานกันเองในภูมิภาค เกิดสมาคมขึ้นกันเอง จัดตั้งเป็นกลุ่มภาคตะวันออก ภาคใต้ อะไรอย่างนี้

ตอนนี้ยังสอนดีไซน์อยู่ที่เกษตรฯ ใครต้องนั่งรถสามต่อให้เรียนออนไลน์ ใครอยู่หอที่นี่ให้มาเรียน สอนจบสี่โมง เฆี่ยนรถกลับบ้านเพื่อจะไปตรวจงานเด็กที่เหลือถึงสองทุ่ม 

ดังนั้น ทำงานเท่าไหร่ไม่รู้ ลูกมันจะเกลียดขี้หน้าแล้วเพราะไม่เคยเจอแม่เลย ว่างก็ชอบไปเที่ยวกับเพื่อน อยู่เฉยๆ จะอกแตกตาย

คำถามสุดท้าย ในใจแม่คิดว่าตัวเองอายุเท่าไหร่คะ

ไม่รู้ว่าคนอายุเจ็ดสิบห้าสมัยก่อนเขาอยู่บ้านกันได้ยังไง บางทีไปงานคิดว่าตัวเองเป็นเด็กเลยไปนั่งแถวหลัง เขาต้องสะกิดว่าอาวุโสแล้วค่ะ ไปนั่งแถวหน้า ทุกวันนี้ยังนุ่งขาสั้นเดินในหมู่บ้านนะคะ เดินอยู่ในซอยมอเตอร์ไซค์เข้ามาบีบแตรแป๊นๆ (หัวเราะ) ต้องออกกำลังกาย เพราะยังไม่อยากตายไงคะ ต้องแข็งแรง 

หลังอายุหกสิบ แม่ได้ทำงานเป็นอาจารย์ต่อจนถึงเดี๋ยวนี้ พออายุเจ็ดสิบห้าคิดว่าจะพอแล้ว ต้องสอนออนไลน์ จะบ้าตาย แต่ว่าคณบดีขอให้ช่วยก่อตั้งภาคนวัตกรรมใหม่ ยังไม่ทันรู้ตัว ต่อสัญญาไปถึงปีหน้าแล้ว 

เพื่อนฝูงก็ด่าว่าเขาเลิกทำงานกันหมดแล้ว เมื่อไหร่จะเลิก ช่วงหยุด COVID-19 สามเดือน อกจะแตก ไม่ได้ทำงาน พอคณะเปิดเผ่นมาคนแรก เป็นกันทั้งบ้าน พ่อเป็นผู้พิพากษาก็ทำงานถึงอายุแปดสิบสี่ จนขึ้นกระไดไม่ค่อยไหวถึงต้องขอให้เลิกเพราะกลัวล้ม เรามีความรู้สึกว่าต้องทำงาน ไม่งั้นก็ไร้ค่า 

เราจะหยุดเมื่อรู้ว่าเราไม่ไหว แต่เรายังไหวเราก็ทำต่อไป ถ้ามันเยอะนักเราก็แบ่งเก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน หายเหนื่อยเราก็เอาออกมาทำต่อ มันก็จะทำไปได้เรื่อยๆ แหละ

รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
รศ.ยุพยง เหมะศิลปิน อดีตนายกสภาสถาปนิกหญิง คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน