​ไม่ใกล้ ไม่ไกล นั่งเครื่องบินแค่ 2 ชั่วโมงกว่าก็ถึงแล้ว ยูนนานนี่เองครับ ผมชอบมณฑลนี้ จะไม่ชอบได้อย่างไรก็รู้จักอยู่ที่เดียว ผมไปยูนนานครั้งแรกเมื่อ 30 ปีมาแล้ว ไปอีกหลายๆ ครั้งก็วนเวียนที่ยูนนานนี่เอง จึงชอบแบบฝังใจและจำได้แม่น

​ที่ผมเอามาเล่าครั้งนี้ ต้องขอบอกก่อนครับว่าเมืองจีนนั้นเปลี่ยนแปลงทุกชั่วโมง วันนี้ล้ำหน้าอย่างที่ไม่มีใครรู้อนาคตได้ ฉะนั้น สิ่งที่ผมเคยเห็นมาก่อนนั้นไม่ใช่เอาอดีตของเขามาดูถูกดูแคลน ซึ่งจริงๆ แล้วผมกลับรักหลงใหลและถือว่าเป็นโชคอย่างมหาศาลที่ได้เห็นด้วยซ้ำไป

เข้าตลาดสดต้าลี่ กินขนมจีนข้ามสะพาน ลิ้มรสแฮมยูนนาน เป็ดทอดกรอบ ที่ มณฑลยูนนาน 40 ปีก่อน

​เมื่อตอนไทย-จีนฟื้นความสัมพันธ์กันเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ใครๆ ก็อยากไปเมืองจีน ผมก็เป็นคนหนึ่ง เผอิญมีเพื่อนที่ทำทัวร์แหล่งวัฒนธรรมประเทศอื่นๆ อยู่ กำลังจะเปิดเส้นทางทัวร์ในเมืองจีน แล้วชวนผมไปดูสิ่งที่น่าจะทำทัวร์ได้ โดยหยิบเอาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สมัยก่อนเคยเรียนกันว่าคนไทยเคยอยู่ที่อาณาจักรน่านเจ้าตรงทะเลสาบหนองแส แล้วอพยพมาทางแม่น้ำฮวงโห แล้วมาที่แม่น้ำโขง สุดท้ายมาปักหลักตรงที่เป็นเมืองไทยขณะนี้

หนองแสที่ว่าก็คือทะเลสาบเอ๋อไห่อยู่ที่ต้าลี่ ยูนนาน นั่นเอง ถึงจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เลื่อนลอย ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน แต่น่าสนใจที่จะไปดู ก็รวมกลุ่มกันไปที่นั่น

​เผอิญได้ อาจารย์เจี่ย เจนยอง อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยยูนนาน เป็นคนนำทางและเป็นล่ามให้ด้วย อาจารย์เจี่ยนี่จริงๆ เป็นคนไทยหาดใหญ่ นามสกุลเดิมจิระนคร สมัยเป็นวัยรุ่นทางบ้านส่งไปเรียนเมืองจีน แล้วติดค้างกลับเมืองไทยไม่ได้

เข้าตลาดสดต้าลี่ กินขนมจีนข้ามสะพาน ลิ้มรสแฮมยูนนาน เป็ดทอดกรอบ ที่ มณฑลยูนนาน 40 ปีก่อน
เข้าตลาดสดต้าลี่ กินขนมจีนข้ามสะพาน ลิ้มรสแฮมยูนนาน เป็ดทอดกรอบ ที่ มณฑลยูนนาน 40 ปีก่อน

​กลุ่มผมมีกัน 6 คน เป็นผู้หญิง 2 คน ไปสายการบินจีนที่เพิ่งเปิดเส้นทางดอนเมือง-คุนหมิง เครื่องไม่ใหญ่ พนักงานบนเครื่องมีแค่ 2 คนเป็นสจวร์ตกับแอร์ พอเครื่องตั้งลำก็เริ่มสนุก สจวร์ตถลกแขนเสื้อพับม้วนพร้อมลุย แอร์วางถาดอาหารโครม เอ้า…เจี๊ยะได้แล้ว เจี๊ยะเร็วๆ เดี๋ยวอาตี๋จะมาเก็บถาด ผมจำไม่ได้ว่ากินอะไร แต่อร่อย ที่อร่อยก็เพราะกินบนฟ้า

​อาคารสนามบินเป็นตึกเก่าเล็กๆ ชั้นเดียว กลิ่นยาฆ่าเชื้อคลุ้ง เหมือนโรงพยาบาลมากกว่าสนามบิน กระเป๋าถูกขนมาวางกองสุมกันตรงเคาน์เตอร์หน้า ตม. พอเสร็จพิธีการก็ไปคุ้ยกระเป๋า หอบหิ้วไปขึ้นรถตู้โล่งๆ ขนาด 20 ที่นั่ง คุนหมิงในตอนนั้นเล็กมาก โรงงานเยอะแยะขะมุกขะมอมเหมือนกันหมด อากาศก็มัวซัวทึมๆ บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นห้องแถวไม้ ถ้าเป็นตึกก็แค่ก่ออิฐไม่ฉาบปูน หลังคาเป็นกระเบื้องกาบกล้วยเก่าๆ แค่เห็นก็ตื่นเต้นน่าสนุกแล้ว

​หลายห้องแถวจะเห็นตั้งหม้อน้ำ บนหม้อน้ำเป็นโถดินเผาซ้อนๆ กันหลายโถ กลิ่นหอมยั่วยวน ต้องดูให้ได้ โถที่ว่าเป็นการตุ๋นไก่ครับ วิธีตุ๋นคือเอาไก่ดำสับกับเครื่องยาจีนแล้วใส่โถดิน ให้ไอน้ำจากหม้อต้มน้ำผ่านรูของโถขึ้นมา ไอน้ำนั้นจะค่อยๆ ทำให้ไก่เปื่อย ไอน้ำก็กลายเป็นน้ำซุปรสเครื่องยา เขาตุ๋นกันเป็นวันๆ แค่เห็นก็อาฆาตว่าต้องกินให้ได้

ไก่ตุ๋นน้ำซุปรสเครื่องยา

​อีกวันก็ออนทัวร์ ที่แรกเป็นตลาดสดกลางแจ้ง สมัยนั้นชาวบ้านยังใส่ชุดเหมาเจ๋อตุงอยู่ ไม่สีเทาก็สีเขียว หมวกติดดาวแดง เตะตาตรงกองขาหมูเค็มตากแห้ง กองสุมๆ สีมอมแมม เหมือนกองรองเท้าบูตเก่าๆ ขาหมูเค็มนี้เป็นของกินแจกฟรีจากรัฐบาล ใครอยากได้ขาไหนก็มาคุ้ยๆ เอา ที่น่าตื่นเต้น น่ากินเป็นผักสดครับ ทุกอย่างมันงามสดทั้งนั้น หัวไชเท้าใหญ่เท่าลูกรักบี้  ผักกาดขาวหัวเบ้อเริ่ม ขนาดคนซื้อต้องใช้วิธีอุ้มในวงแขน เห็นอย่างอื่นอีกเยอะแยะ แต่จำไม่ได้

เข้าตลาดสดต้าลี่ กินขนมจีนข้ามสะพาน ลิ้มรสแฮมยูนนาน เป็ดทอดกรอบ ที่ มณฑลยูนนาน 40 ปีก่อน

​ร้านอาหารที่กินก็น่าสนุกครับ พนักงานร้านอาหารต้องใส่ชุดขาวยาวเหมือนชุดคุณหมอ แต่ขาวแบบไม่ค่อยเจอน้ำซัก ไปยูนนานก็ต้องกินขนมจีนข้ามสะพาน สุดยอดและเก่าแก่ มีประวัติว่าในสมัยหลายร้อยปีมาแล้วมีสามีชาวบ้านคนหนึ่งไปสอบแข่งขันเพื่อเป็นจอหงวน ซึ่งต้องอยู่ในที่สอบหลายวัน เมียที่อยู่ที่บ้านเป็นห่วงว่าสามีจะไม่ได้กินอาหารดีๆ ถ้าได้กินอาหารดี สมองก็จะดีด้วย ความที่ระยะทางมันไกล ทำอาหารมาก็กล้วว่าจะหายร้อนแล้วไม่อร่อย จึงคิดค้นวิธีขึ้น เป็นขนมจีนข้ามสะพานนี่แหละ

​ขนมจีนข้ามสะพานที่ว่านั้นจะมีโถดินเผาใส่น้ำซุป น้ำซุปดูนิ่งๆ ไม่มีไอร้อน มีจานเนื้อไก่ เนื้อหมู หั่นบางเฉียบเท่ากระดาษ A4 มีจานเส้นขนมจีนที่เหมือนเส้นขนมจีนไหหลำ มีจานผัก วิธีกินเอาเนื้อหมูหรือไก่ไปแกว่งในโถน้ำซุป พอจุ่มปุ๊บ ก็สุกปั๊บ เพราะน้ำซุปที่นิ่งๆ นั้นจะมีไขมันลอยปิดไอร้อนอยู่ ฉะนั้น ใครอย่าเผลอซดน้ำซุปโฮกเข้าไป ฟันเป็นได้ร่วงออกจากเหงือกแน่ ตอนกินตักแบ่งใส่ถ้วยเล็ก ใส่เส้น ใส่ผัก อร่อยมาก ขบวนน้ำซุปนั้น ในโลกนี้ไม่มีใครทำได้อร่อยเท่าคนจีน สำหรับโถดินตุ๋นไก่ดำกับเครื่องยาที่เห็นตอนแรกก็ต้องกิน

​การเดินทางไปต้าลี่ เมื่อครั้งนั้นต้องไปตามถนนที่เรียกว่า Burma Road เป็นถนนที่สร้างขึ้นเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทหารอังกฤษ ซึ่งตอนนั้นปกครองพม่าอยู่ และญี่ปุ่นกำลังรุกรานจีน อังกฤษจึงตัดถนนเพื่อขนอาวุธยุทโธปกรณ์ไปช่วยจีน ตัดจากพม่า มายูนนาน แล้วจะไปต้าลี่ ใช้แรงงานกรรมกรจีนถึง 200,000 คน สร้างถึง 3 ปี เส้นทางตัดขึ้นภูเขาสูงชัน โค้งพับไป พับมา แบบหักศอก ตอนลงก็เหมือนกัน พอหมดสงครามจีนก็ยังใช้เส้นนี้ ซ่อมแบบใช้แรงงานคน ตรงไหนทรุดก็เอาหินก้อนใหญ่ถม แล้วใช้หินก้อนเล็กๆ เททับ เอายางมะตอยราด กำบังขอบถนนใช้ปลูกต้นยูคาลิปตัสเป็นแนว

​ผมไปตามถนนนี้ ทั้งกระเด้ง กระดอน โยก คลอน ตัวน่วมยิ่งกว่านวดแผนโบราณหลายเท่า บ่ายเย็นๆ ถึงเมืองเล็กๆ ของเผ่าหยี เผ่าไป๋ ซึ่งกำลังมีงานเทศกาลคบไฟพอดี พอมืดแล้วจะก่อกองไฟใหญ่กลางเมือง ชาวเมืองก็ออกมาเต้นรอบกองไฟ แหกปากร้องเพลงกันทุกคน เพลงนั้นมีอยู่ทำนองเดียว พวกเราลงไปร่วมวงเอากับเขาด้วย สนุกครับ กลับมานอนที่พัก ขนาดหลับแล้วเสียงเพลงยังก้องในหู

เข้าตลาดสดต้าลี่ กินขนมจีนข้ามสะพาน ลิ้มรสแฮมยูนนาน เป็ดทอดกรอบ ที่ มณฑลยูนนาน 40 ปีก่อน
เข้าตลาดสดต้าลี่ กินขนมจีนข้ามสะพาน ลิ้มรสแฮมยูนนาน เป็ดทอดกรอบ ที่ มณฑลยูนนาน 40 ปีก่อน

​อีกวันหนึ่งไปดูการแสดงในโรงละครของเมือง โรงละครเก่าเล็ก ฉาก แสง เชยไม่น่าสนใจ แต่พอการแสดงเริ่มต้นก็ช็อกคาเก้าอี้ เป็นนาฏศิลป์ที่แสดงเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยในยูนนาน เหล่านักแสดงสาวๆ สวยเหมือนพิมพ์เดียวกันหมด ขาวจั๊วะ รูปร่างเพรียว สูงระหง เวลาเต้นรำก็อ่อนไหว พลิ้วนิ่มนวล นักแสดงผู้ชายก็สันทัด ความพร้อมเพรียงนั้นเป็นเลิศ การแสดงไม่ช้า ไม่เร็ว เรียกว่าตื่นตะลึง น้ำลายหยดกับดารานาฏศิลป์สาวๆ

การเดินทางที่ว่าเป็นเพียงแค่ครึ่งทางเท่านั้น วิวข้างทางมักจะเห็นบ้านเรือนชาวจีนอยู่กันเป็นกลุ่มๆ เป็นบ้านก่อด้วยดินคลุกฟาง หลังคาเป็นกระเบื้องกาบกล้วย ทุกบ้านจะปลูกผักกินเอง เห็นผักก็สดงดงาม เหมือนเห็นที่ตลาด เจริญตาครับ

เป็นธรรมดาครับว่าที่พวกเรากินมาหลายมื้อแล้ว ก็ต้องหาส้วม ส้วมมีเยอะแยะ อาจารย์เจี่ยชี้ให้ดู แล้วบอกว่าเข้าได้เลย ไม่มีใครว่า แถมชอบอีกต่างหาก มีคนเข้าไปก่อน พอเข้าไปก็กระเด้งออกมาเหมือนมีใครถีบ หน้าตาจะหัวเราะก็ไม่ใช่ ร้องไห้ก็ไม่ใช่ ผมตามเข้าไป พื้นส้วมเป็นแค่แผ่นไม้ 2 แผ่น เขรอะเรี่ยราดด้วยขี้ ที่กองอยู่ข้างล่างก็สุดจะบรรยาย จากกองขี้พีระมิด ก็มีรางต่อออกไปลงที่ร่องน้ำรอบแปลงผัก ฉะนั้นผักที่งามๆ กินอร่อยนั้น ก็ใช้ปุ๋ยออร์แกนิกนี่เอง

ต้องใช้วิธีที่ไม่เข้าส้วม ไปหาป่าต้นหญ้าที่สูงขนาดเอว ผู้ชายนั้นสบายมาก ผู้หญิงก็ใช้วิธีนี้ด้วย แต่นั่งไป สั่นต้นหญ้าไป เป็นสัญญาณว่าเป็นเขตปฎิบัติธรรม ห้ามเข้า

ที่ต้าลี่นั้น เห็นแล้วช่างเป็นเมืองที่สวยเหลือเกิน สมบูรณ์แบบ สภาพสิ่งแวดล้อมเป็นที่ราบไกลสุดตา ฉากหลังของที่ราบ ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูงตระหง่านสลับซับซ้อน แล้วจะเห็นทางน้ำไหลจากภูเขากระจายทั่วไปหมด น้ำจะไหลลงทะเลสาบเอ๋อไห่ ส่วนทะเลสาบก็มองไม่เห็นฝั่งอีกด้านหนึ่ง ส่วนตัวเมืองนั้นจะต้องผ่านประตูจีนสูงใหญ่เข้าไป ซึ่งเก่ามาก ในตัวเมืองเป็นห้องแถวไม้เก่าๆ เรียงราย หลังคาห้องแถวที่เป็นกระเบื้องกาบกล้วย มีวัชพืชขึ้น นั่นมาจากอากาศที่เย็นชื้น อารมณ์ที่ได้เห็นเมืองในตอนนั้นเป็นโบราณคดีโรแมนติก

เมื่อเห็นก็เลยเข้าใจว่าทำไมเมืองต้าลี่ในอดีตเคยถูกกองทัพจีนจากแคว้นอื่นพยายามมาตียึดเอาเป็นเมืองขึ้นเพราะความอุดมสมบรูณ์ แต่ไม่เคยสำเร็จ จะมาเสียท่าพวกมองโกลเท่านั้น ที่เล่นข้ามเทือกเขาอันสลับซับซ้อนมายึดครองได้สำเร็จ

แล้วกลับมามองประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ว่าย้ายมาจากที่นั่น ผมว่าไม่มีทาง คนเราอยู่ที่สุขสบาย เพาะปลูกอุดมสมบรูณ์ อากาศก็ดี จะทิ้งเมืองไปหาที่ใหม่ที่ๆไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร นอกเสียจากมีโรคระบาดร้ายแรงจนต้องหนีตาย ซึ่งตามประวัติศาสตร์เมืองต้าลี่ก็ไม่เคยมีโรคระบาด

เข้าตลาดสดต้าลี่ กินขนมจีนข้ามสะพาน ลิ้มรสแฮมยูนนาน เป็ดทอดกรอบ ที่ มณฑลยูนนาน 40 ปีก่อน

ผมเที่ยวอยู่ 3 วัน เที่ยววัด ล่องเรือในทะเลสาบ ก่อนกลับไปแวะตลาด ที่ท่ารถเมล์มีรถเมล์ไม้เก่าๆ จอดอยู่ มีฝรั่งแบ็กแพ็กกลุ่มใหญ่กำลังขนสัมภาระขึ้นรถ ได้ความว่ากำลังจะไปลี่เจียงและแชงกรีล่า ระยะทางอีกพอประมาณ หูผึ่งเพราะคำว่าแชงกรีล่านั้น เหมือนคำว่าสวรรค์ที่จับต้องได้ มองฝรั่งพวกนั้นอย่างอิจฉา แล้วนึกว่าวันหนึ่งจะไปบ้าง นั่นเป็นยูนนานครั้งแรกของผมครับ

อีก 2 ปีไปอีกตอนนี้เที่ยวอยู่ที่ต้าลี่อย่างเดียว ซึ่งเปลี่ยนไปมาก จนจำสิ่งที่เคยเห็นครั้งแรกเกือบไม่ได้ ตึกสูงเกิดขึ้นเยอะ บ้านเรือนชาวบ้านแบบที่เคยเห็นหายไปหมด ถนนในเมืองต้าลี่มีแต่ฝูงจักรยาน สาวๆ ชาวจีนแต่งตัวกันสุดฤทธิ์ ตอนนั้นนิยมกระโปรงบานพลิ้วๆ ผมชอบสาวๆ ขี่จักรยานที่พวกเธอกลัวชายกระโปรงไปพันโซ่จักรยาน จึงจับชายกระโปรงไว้กับแฮนด์จักรยาน พอวิ่งกระโปรงก็พองเปิดไปถึงไหนต่อไหน ขาวจั๊วะทั้งเมือง

เข้าตลาดสดต้าลี่ กินขนมจีนข้ามสะพาน ลิ้มรสแฮมยูนนาน เป็ดทอดกรอบ ที่ มณฑลยูนนาน 40 ปีก่อน

ไปที่นั่นต้องขึ้นเขาไปไหว้ศาลเจ้าแห่งหนึ่งบนเขาที่คนจีนเชื่อว่าขออะไรก็สำเร็จ กลุ่มผมไปครับ ศาลเจ้านั้นเก่า เงียบ ดูขลังมาก ตามพิธีการเมื่อไหว้พระแล้วมีกระดาษสีที่ตัดเป็นเส้นยาวๆ ไว้ให้เขียน ใครที่ไม่อยากได้อะไรก็เขียนบนกระดาษ แล้วไปผูกกับต้นไม้นอกศาลเจ้า ทำนองว่าให้ศาลเจ้ารับเอาสิ่งที่ไม่ดีไว้เสียเอง คนจีนส่วนใหญ่จะเขียนชื่อโรคภัยไข้เจ็บที่มีปัญหา ผมถามคนที่ไปด้วยกันว่าเขียนอะไร เหมือนกันหมดครับ เขียนชื่อเจ้านายหรือหัวหน้าแผนก

มาเรื่องกินบ้าง ผมยังต้องไปตลาดสดของต้าลี่ เหมือนเดิมครับผักสดงามๆ น่ากินทั้งนั้น ถ้ามัวนึกถึงปุ๋ยออร์แกนิกก็ไม่ต้องกินอะไร ในเมื่อทุกคนกินได้ เราก็กินได้ ที่ผมชอบอีกอย่างเป็นแฮมยูนนานหรือหมูเค็มตากแห้งครับ น่ากินมาก ชิ้นหนา สะอาด แถมไม่แพง

แฮมยูนนานหรือหมูเค็มตากแห้ง

ไปเที่ยวสวนป่าหินเป็นตารางที่ส่วนใหญ่ต้องไป ผมเฉยๆ กับที่นั่น แต่ที่เด็ดขาดคือตรงกึ่งกลางระหว่างเมืองต้าลี่ ไปสวนป่าหินจะต้องแวะกินเป็ดย่าง เขาย่างอยู่นอกร้าน เป็นโอ่งดินสูงๆ แล้วหย่อนเป็ดไปเรียงรายย่างอยู่ในโอ่ง เชื้อเพลิงที่ใส่ใต้เตาเป็นใบต้นสนที่เอามามัดถักเหมือนถักผมเปีย มัดเป็นเส้นยาวและกองพะเนิน เป็ดย่างนั้นหอมหวล อร่อยจริงๆ

เป็ดย่าง

ผมยังได้กินของดีอีก มีคนจีนกลุ่มเล็กๆ ขอเลี้ยงมื้อเย็น นัดเวลากันตอนค่ำ ตอนกลุ่มผมไปถึง พวกเขาออกมาต้อนรับนอกร้าน แล้วบอกว่าวันนี้เป็นอาหารพิเศษ เป็น ‘หมา’ ครับ เป็นธรรมดาของการกินต้องกินเหล้าฉลอง แล้วต้องกระดกทีเดียวหมดจอก พอหมดแล้วก็รินอีก พอสัก 3 – 4 รอบ หมาก็หมาวะ เจ้าภาพแสนดีอุตส่าห์ตักใส่ถ้วยแจก ผมได้ทีเด็ดเป็นหางหมาครับ

ผมไปยูนนานอีก ตอนนี้ไปงานสัมมนาเรื่องชนเผ่าใต ผมไป 2 คนกับมาดามผม จากต้าลี่ลงใต้ไป 5 ชั่วโมง เป็นเมืองซินผิง บรรยากาศระหว่างทางมักจะผ่านภูเขาหินสูง มีต้นไม้แซมเป็นหย่อมๆ เวลาหมอกลงเหมือนรูปเขียนจีนอย่างไรอย่างนั้น เมืองซินผิงอยู่ในหุบเขาใหญ่ เมืองนี้คนจีนมุสลิมอยู่เยอะ และมีเรือนจีนโบราณสวยๆ มากมาย เนื่องจากกำลังเข้าสู่ยุคที่ทันสมัย พวกเฟอร์นิเจอร์จีน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้โบราณจึงถูกเอามาโยนทิ้ง เพราะมันเก่าขาหักบ้าง ลิ้นชักหลุด สีถลอกบ้าง พูดง่ายๆ ว่าเขาไม่ชอบแล้ว อยากได้ของใหม่ ผมเห็นแล้วอยากได้ อยากเอากลับมาเมืองไทย แต่จนปัญญา

ที่ต้องไปดูชุมชนชาวใตนั้นอยู่ห่างออกจากเมืองซินผิงไป เป็นชุมชนที่อยู่ต้นแม่น้ำแดง ซึ่งแม่น้ำแดงนี้ไหลเข้าเวียดนามไปถึงลาว มีคนใตจำนวนมากอพยพเข้าไปที่เวียดนามเยอะ และถูกเรียกว่าเป็นคนไตดำ 

พอเข้าเขตชาวใตความรู้สึกจะบอกทันทีว่าเป็นที่อยู่คนใต นาข้าวลดหลั่น ทำนาด้วยแรงงานควาย หมู่บ้านจะมีต้นกล้วย อ้อย และต้นหมาก ตอนนั่งคุยกับผู้หญิงชาวบ้านสนุกมาก เวลาเธอหัวเราะฟันดำปี๋ ความสวยของพวกเธอคือฟันต้องสีดำ กินหมากไม่เท่าไหร่ ต้องทาฟันด้วยยางไม้ แล้วต้องทาอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่พูดภาษาไทได้บ้าง เธอเห็นมาดามผม บอกว่าอีนางตัวดี ภาษาใตนั้น เรียกผู้ชายว่าไอ้ เรียกผู้หญิงว่าอี แล้วคำว่านางตัวดี หมายถึงรูปร่างหน้าตาสวย ฉะนั้น ในสมัยนี้ใครที่ชื่อ ฉ้อ แล้วถูกเรียกว่า อีฉ้อนางตัวดี ต้องดีใจว่าถูกชมครับ

ผมไปยูนนานอีก ตอนนี้ไปลี่เจียงเลย ถนน Burma Road นั้นลืมไปแล้ว เป็นซูเปอร์ไฮเวย์สายใหม่เส้นตรงวิ่งฉลุย แต่อย่างไรก็ต้องหยุดพักเที่ยวที่ต้าลี่ก่อน ต้าลี่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัว ประตูเมืองซ่อมแซมทาสีใหมีเอี่ยมอ่อง ห้องแถวเขายังรักษาของเก่าไว้มาก ของสร้างใหม่ก็มี แต่รูปแบบไปในทิศทางเดียวกัน สินค้าก็เป็นของสมัยใหม่

ที่สนุกคืออาหารการกิน ต้าลี่มีร้านอาหารเยอะ แต่ผมไม่กิน ชอบอาหารตามสั่ง ร้านตามสั่งเขาจะเอาตระกร้าผัก เห็ด พริก มาวางเรียงๆ กับพื้น มีอ่างปลา กุ้ง ปลาคล้ายปลาจีนเกล็ดใหญ่ ส่วนกุ้งจะเหมือนล็อบสเตอร์ตัวเล็กๆ ที่บ้านเราเคยเอามาเลี้ยงอยู่พักหนึ่ง ไม่รู้จะกินอะไรก็ชี้ที่ผัก ที่กุ้ง เดี๋ยวเขาจัดให้ เผอิญมาดามผมพูดภาษาจีนกลางพอได้ เลยได้กินอะไรแปลกๆ คนยูนนานนั้นกินเผ็ดครับ มีจานหนึ่งเป็นเนื้อสดยำ ใส่พริก ใส่เครื่องเทศจีน เหมือนลู่ของอีสาน

ไปลี่เจียง นี่เป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับไปแล้ว คนจีนเองก็มาเที่ยวเยอะ จีนเขาเก่งเรื่องการจัด แลนด์สเคปของเมือง เมืองนี้ผมจะไม่เล่ารายละเอียด เพราะเชื่อว่าคนไทยไปเที่ยวกันเยอะแล้ว ผมชอบไปเดินนอกเขตการท่องเที่ยว เมืองลี่เจียงนี้เป็นเมืองหัตถกรรมเครื่องครัวที่ทำจากทองแดง หม้อกระทะ กาน้ำ เป็นทองแดงตีด้วยมือ ไม่เหมือนของฝรั่งเศสหรือญี่ปุ่นที่ใช้ทองแดงมาเคลือบสแตนเลส แล้วใช้ระบบปั๊มรอยตีด้วยเครื่อง ของลี่เจียงเป็นทองแดงแท้ๆ หนา รอยตีมาจากค้อนจริงๆ ของลี่เจียงเสียตรงรูปแบบการใช้งาน จะเป็นแบบของจีน เช่นหม้อหรือกระทะก้นกลม แล้วด้ามจะตั้งขึ้น ไม่วางระนาบตามที่เราถนัด หม้อไฟที่มีช่องใส่ถ่านนั้นเยอะมาก เดี๋ยวนี้ตามบ้านเราๆก็ไม่ค่อยใช้หม้อไฟแล้ว

เครื่องทองแดง

ถ้าใครไปที่นั่นแล้วอยากได้เครื่องทองแดงต้องไปที่ตลาดสดครับ เดินทะลุย่านที่อยู่ ที่เที่ยวออกไปนิดเดียว มีร้านขายอยู่หลายร้าน ที่นั่นยังมีของกินที่ไม่น่าจะพลาด เป็นเป็ดย่างและเป็ดทอดกรอบ เป็ดทอดกรอบนั้นเขาจะเอาเป็ดมาคลุกเครื่องพะโล้ก่อน แล้วเอาไปทอดในหม้ออัดแรงดัน หม้อนี้ใหญ่มากครับ ใส่เป็ดได้ทีละ 10 กว่าตัว ทอดอยู่ 10 นาทีก็ได้กินแล้ว อร่อย กัดกินได้ทั้งตัว กรอบทั้งเนื้อ กรอบทั้งกระดูก เสียดายว่าไม่มีน้ำจิ้ม ถ้าได้น้ำจิ้มสามรสแบบน้ำจิ้มไก่ย่าง แล้วได้ข้าวเหนียวสักปั้น สมบูรณ์แบบไม่มีที่ติ ผมว่าถ้าใครเอาเป็ดกรอบวิธีนี้มาขายเมืองไทยต้องรวยระเบิด

ทั้งหมดนี้เป็นยูนนานที่ผมได้ผ่านมา ซึ่งอาจจะพอบอกได้ว่าเพราะอะไร ทำไม ผมจึงชอบที่นั่น คิดถึงที่นั่น แล้วจะให้หายคิดถึงก็ต้องกินอาหารยูนนาน ในกรุงเทพฯ เคยมีร้านอาหารยูนนาน อยู่ที่เจริญกรุงตรงใกล้ๆ กับศาลเจ้ากว๋องสิว แต่อยู่ๆ หายไป จะมีที่สามย่าน ใกล้ๆ ตลาดสามย่าน แต่ผมยังไม่เคยไปกิน

ทางเหนือนั้นมีหลายที่ ที่ดอยแม่สลองเก่าแก่สุด ที่หมู่บ้านสันติคีรี ตรงเหนือเมืองปายขึ้นไปนั่นก็อร่อย ที่ผมชอบและเป็นขาประจำอยู่ที่เชียงใหม่ ชื่อร้านมิตรใหม่ อยู่ตรงถนนราชมรรคา เถ้าแก่เป็นคนจีนยูนนาน เมื่อ 20 ปีที่แล้วลงมือทำเอง มีเมียกับญาติเป็นผู้ช่วย เถ้าแก่ยังทำขนมจีนข้ามสะพานอยู่ แต่ใครจะกินต้องสั่งล่วงหน้า 3 วัน ที่อร่อยมียำหัวไชเท้ากับคางหมูต้ม เต้าหู้อ่อนผัดแฮมยูนนานใส่เม็ดถั่วลันเตา ถ้าหน้าถั่วปากอ้าสดก็จะเอามาผัดน้ำมัน มีขาหมูหมั่นโถทอด เดี๋ยวนี้เถ้าแก่นั่งเลี้ยงหลานอย่างเดียว ให้เมียกับลูกชายรับช่วงต่อ ถ้ายังไม่ได้ไปยูนนานจริงๆ ก็กินอาหารยูนนานไปก่อนครับ

Writer & Photographer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ