สถานีต่อไป เอกมัย Next Station, Ekamai
เสียงเรียนท่านผู้โดยสารโปรดทราบ… ครั้งนี้แตกต่างออกไปจากทุกครั้ง เพราะรถไฟความยาว 19 ขบวน กำลังนำท่านผู้อ่านเข้าสู่อัลบั้มธาตุทองซาวด์ของ YOUNGOHM (ยังโอม) ศิลปินวัย 24 ปีที่มียอดเข้าฟังใน YouTube มากถึง 2,000 ล้านครั้ง
เราหยิบหูฟังที่เกือบพังขึ้นมาใส่ ขึ้นรถวิน ต่อรถไฟ เพื่อไปต่อแถวเด็กนักเรียนมือถือกล้อง รอพูดคุยกับโอมถึงถิ่น เพราะคงไม่มีที่ใดจะเหมาะกับเขาไปมากกว่าโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองอีกแล้ว
หลังหายไป 2 ปี YOUNGOHM (ยังโอม) ไม่ได้กลับมาพร้อมเพลงดังอลังการที่โหมโรงทุกสิ่งเหมือนใน Bangkok Legacy
เขาคิดถึงวันที่ตัวเองเป็น เด็กชายรัธพงศ์ ภูรีสิทธิ์ ลุกขึ้นมาทำตราสัญลักษณ์โรงเรียนใหม่ เล่าเรื่องวัยเยาว์ทั้งดีร้าย ตั้งใจทำเพลงให้ฟังได้อย่างไร้รอยต่อ และบรรจุชื่อของคนที่สำคัญกับชีวิตลงไปมากมาย
“พี่โอม” คือเสียงตะโกนไล่หลังที่เราได้ยินบ่อยสุดของวันนี้ รองลงมาคือคำว่า “ได้ดิ” พร้อมกับการหยุดถ่ายรูปนับครั้งไม่ถ้วน


ภาพที่ได้ก็คงมีหลายคนบอกว่าสวย และแน่นอน ต้องมีคนบอกว่าไม่ เมื่อชายหนุ่มเนื้อตัวเต็มไปด้วยรอยสัก ขนาบข้างด้วยเด็กชุดนักเรียนที่มองเขาอย่างชื่นชมยินดี
แต่พอถูกพาทัวร์วัดธาตุทองเกือบทุกซอกมุมโดยเจ้าบ้าน เวลาบนนาฬิกาที่ล่วงเลยไปกับคำถามที่เตรียมมาก็ไม่สลักสำคัญอะไรอีก แม้เกินกว่าครึ่งจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครถามโอมมาก่อนในชีวิต
พร้อมแทร็กแรกของอัลบัม ‘ธาตุทองซาวด์’ ที่ดังขึ้นใจกลางเอกมัย
นี่คือเสียงจากเด็กโรงเรียนวัด
SMOKING ON THE ROOFTOP
I see my city, my gang, I see my goal
โอมและเจทรุดตัวนั่งเก้าอี้ประจำในห้องที่เขาเคยเรียน น่าแปลกที่เก้าอี้ตัวนั้นอยู่ค่อนมาทางด้านหน้า ไม่ใช่ด้านหลัง
คงเห็นว่าเราไม่เชื่อ เขาหยิบโทรศัพท์มาเปิดคลิปแตกพร่าหลายปีก่อนให้ดู เพื่อบอกให้รู้ว่าทั้งคู่นั่งตรงนี้จริง
“โรงเรียนนี้เป็นที่ที่สอนผมในช่วงวัยรุ่น ถึงแม้จะจบมานานแล้ว แต่ความเป็นธาตุทองยังอยู่รอบตัวเรา เพื่อนมัธยมผ่านอะไรด้วยกันมาเยอะ เราผิดพลาดด้วยกัน โดนอาจารย์ไล่ด้วยกัน เป็นช่วงวัยที่ทำให้ผมเติบโตและน่าจดจำ ผมอยากจะพูดเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังด้วย”

โอมพูดถึงอัลบั้มที่เล่าเรื่องตั้งแต่ ม.1 จนเริ่มมีชื่อเสียงประหนึ่งจิ๊กซอว์ “ทุกเพลงมาจากชีวิตผมหมดเลย เรื่องจริงทั้งหมดเลยทุกอย่างที่พูดไป” เขาย้ำ “ผมดีใจที่คนยังมาฟังแบบที่ผมอยากให้ฟัง และเขาเห็นในสิ่งที่ผมตั้งใจทำ”
ในฐานะศิลปินที่มียอดวิวกว่า 2,000 ล้าน เขายืนยันว่าไม่เคยทำเพลงด้วยความคิดว่าต้องแมส เป้าหมายคือสร้างผลงานที่แปลกใหม่และสนุกกับมัน ต่อให้ปล่อยเพลงออกมาแล้วแป้กก็ตาม
“อยู่ที่ว่าแต่ละคนคาดหวังอะไรกับเพลงตัวเองมากกว่า ถ้าเกิดมีเรื่องเงินเข้ามาเยอะเกินไปผมก็คงไม่เอา เพราะผมจำความรู้สึกที่ทำเพลงตอนเด็กได้เสมอ เราไม่ได้ทำเพราะอยากได้ตังค์หรืออยากทำให้มันฮิต เราทำเพราะสนุก ไม่อยากทำการบ้าน อยากเอาเวลามาแต่งเพลง ก็แค่นั้น”


เราเถียงในใจว่าไม่ใช่ เพราะในความสนุก เราสัมผัสได้ว่าโอมจริงจังในเส้นทางของตัวเองเกินกว่าเด็กวัยเดียวกันมากนัก ขณะที่คนอื่นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเป็นหรือจะทำอะไร ความฝันของโอมกลับชัดเจนกว่าใครเขา
เพียงแต่เมื่อถึงคราวให้ตอบคำถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็กชายรัธพงศ์ก็ไม่เคยตอบว่า แรปเปอร์ สักที
“ผมไม่เคยกล้าเขียนเลย รู้สึกว่ามันตลก” เขาหัวเราะให้กับความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ก่อนจะเล่าถึงเหตุการณ์ที่จำได้ไม่ลืม

“ช่วง ม.ปลาย อาจารย์เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงว่า เราแม่งเริ่มไม่ตั้งใจ การบ้านก็ไม่ส่ง เราก็บอกเขาไปตรง ๆ ว่า ช่วงนี้ผมต้องไปซ้อมแรปเพื่อลงแข่ง เขาก็ตอบกลับมาว่า แข่งแรปแล้วจะไปหากินอะไร การแรปจะช่วยให้เกรดดีขึ้นไหม”
แล้วตอนได้เข้าไปแข่งจริง ๆ กลับมาบอกอาจารย์ไหมว่าทำได้แล้ว – เราถามต่อ
“ไม่เคย เพราะไปพูดในเพลง ผมสะใจทีหลังมากกว่า”
แม้การใช้ชีวิตแบบที่โอมต้องการจะไม่ง่ายและมีโอกาสแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
HOW I LIKE, Pt. 2
ถึงจะมีโอกาสแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์ มันก็ยังมีก็เอาให้เลือดกระเด็น แล้วมันจะเป็นยังไงมันก็ต้องเป็น
นอกจากเพื่อนในวัยเด็ก 2 บุคคลที่มีอิทธิพลกับตัวตนของโอมมาก คือ ILLSLICK และ ยาย
“เขาเป็นเด็กบ้าน ๆ ไปแข่งแรป” โอมพูดถึงคนแรก “วันหนึ่งก็สร้างชื่อเสียงขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องมีเงินก็ทำเพลงดี ๆ ได้ ขนาดพี่ ILLSLICK ยังทำได้เลย เขาเป็นใครก็ไม่รู้ เราแม่งอยู่ใจกลางเมืองใหญ่ มีทุกอย่าง ทำไมเราจะทำไม่ได้ ผมนั่งคิดกับตัวเอง แล้วบอกกับยายว่า พี่เขาทำเพลงได้เงินจากยูทูบ เดี๋ยวโอมจะทำแบบนี้แหละ”
โอมโตมากับยายอารมณ์ดี ใจกว้าง ต้อนรับเพื่อนทุกคน เขาคุยกับยายทุกเรื่อง ผิดกับแม่ที่คาดหวังจากลูกมากกว่าใคร โอมในวัยพลุ่งพล่านสุดขีดยอมรับว่าเขากินแรงกดดันจากครอบครัวเป็นอาหาร
“แทนที่มันจะกดดันให้ผมตั้งใจเรียน กลับกลายเป็นทำให้ผมตั้งใจแรปมากขึ้น เพื่อให้เขาเห็นว่าเราทำได้”
เป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวจะตั้งความหวังไว้กับลูก อยากให้เรียนสูง ทำงานดี และไม่เข้าใจว่าการแรปจะเป็นอาชีพได้ พาลให้นึกถึงท่อนหนึ่งในเพลงนี้ที่ร้องว่า ชีวิตขอเลือกเอง แม่รู้ผมเลือกเพลง ขอโทษที่เลือดเย็น เราถามโอมตามตรงว่านั่นเป็นเรื่องจริงรึเปล่า


“จริง ๆ ผมไม่ได้พูดคำนี้ออกไปหรอก แต่ความหมายประมาณนั้น”
เพราะแม่พยายามเปลี่ยนตัวตนของโอมเหรอ
“เขาแค่พยายามให้เราเป็นในแบบที่เขาคิด” เขาเปิดอก
“ช่วงที่มั่นใจแล้ว ผมไม่คุยกับใครที่บ้านเลย ใครว่าอะไร ผมจะเงียบอย่างเดียว น่าจะเป็นปีที่ผมไม่คุยกับแม่ ตั้งแต่ช่วง ม.5 – ม.6 ผมเริ่มไม่ตั้งใจเรียน คิดจะออกจากบ้าน ไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว ณ เวลานั้นผมไม่สนว่าแม่จะเข้าใจรึเปล่า คุณจะคิดอะไรก็เรื่องของคุณ ผมหาเงินได้ ผมดูแลตัวเองได้ ผมไม่ว่านะ แต่ผมก็จะไปตามทางของผม ก็มียายนี่แหละที่เข้ามาห้าม

“เขายอมเราแล้ว เขายอมให้เราทำ ขอแค่ให้เราอยู่กับเขา ผมก็เลยไม่ไป ผมยังอยู่ และผมก็ลุยทำเพลงเต็มที่”
ด้วยเหตุผลหลายอย่าง โอมพูดด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายว่าเขารักยายมากกว่าแม่ แต่เราเชื่อเหลือเกินว่าเขาเองก็รักแม่ไม่น้อยไปกว่าใคร และต่อให้มองย้อนกลับไปในวันที่บีบบังคับให้แม่เข้าใจ เขาก็ยังเลือกจะทำมันอีกครั้ง
“เพราะถ้าวันนั้นแม่ไม่กดดันเรา เราก็คงไม่พยายามจนมีวันนี้เหมือนกัน บางทีคนเราก็ต้องโดนกดดันบ้าง โดนทำให้รู้สึกลำบากบ้าง ถ้าไม่รู้จักลำบากก็คงไม่รู้จักสบาย สุดท้ายก็ยังมียายที่อยู่กับผม”


บางอย่างใน 19 บทเพลงเป็นสิ่งที่โอมไม่กล้าพอจะพูดต่อหน้า หากว่าแม่ได้ฟัง เขาบอกว่าทั้งหมดคือข้อความที่ฝากไว้ให้
รวมถึงเพลงนี้ที่เขาทั้งขอโทษที่ดื้อด้านและขอบคุณเงินค่าขนมทุกบาท ขอบคุณทุกความไม่เข้าใจที่ทำให้ต้องพยายาม แม้ดูเหมือนอยากเป็นหนึ่งเหนือใคร เขาเพียงหวังให้แม่ภูมิใจต่างหาก และก็ใช่ว่าเขาไม่สนใจอะไร โอมรู้ดีที่สุดว่าเส้นทางชีวิต โอกาส 0.2 เปอร์เซ็นต์ที่เขาเลือกไม่ได้ทำร้ายเขาแค่คนเดียว
การพิสูจน์ตัวเองของเด็กวัดเริ่มต้นขึ้นอย่างทุลักทุเล มีความคาดหวังของแม่เป็นกำแพงสูงชัน ฝ่าลวดหนามจนหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำงานไม่เกี่ยงสูงหรือต่ำแลกกับเงินทำเพลงไม่กี่สตางค์ และเรียนรู้จะพ่ายแพ้อย่างคนเจนสนาม
ถึงแม้เจ็บช้ำกันมามาก โอมบอกตัวเองว่าต้องเดินไปข้างหน้า
ข้างล่าง
สักวันกูก็ต้องตายแต่ไม่ใช่วันนี้ เพราะฉะนั้นยังไม่ถึงเวลาให้พักในตอนนี้
“ส่วนใหญ่คนที่จะมาแรปก็มีแต่เด็กวัดทั้งนั้น เพราะว่าฮิปฮอปคือรากเหง้าของคนรากหญ้า คือดนตรีเพื่อชีวิต แรปในช่วงเริ่มต้นไม่มีลูกคุณหนูคุณนาย เพราะการไปแรปด่ากันอย่างนี้ คนดี ๆ ที่ไหนเขาจะมาทำ”
ทัศนคติที่โอมเสพมาตั้งแต่เด็กคือวัฒนธรรมฮิปฮอป จุดเริ่มต้นของฮิปฮอปส่วนหนึ่งมาจากคนผิวสีโดนเหยียดหยาม วิธีการที่พวกเขาเลือกต่อสู้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของเชื้อชาติคือการแรปผ่านเพลง ไม่ต่างอะไรกับการเป็นเด็กวัด
เราถามโอมว่าเขาต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของใคร โอมตอบกลับมาว่า “ตัวผม”
ดำเนินชีวิตด้วยความคิดที่ว่า ต้องมีสักวันเป็นของกู แม้จะรู้ว่าทุกอย่างตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน สิ่งที่ดีอาจไม่ใช่สิ่งที่ดังที่สุด หากถึงคราวที่ทางสายนี้ไม่รุ่งจริงดังแม่ว่า เขาก็พร้อมล้มเลิก อาจเป็นเพราะโอมเติบโตมาในบ้านที่เคยมีหนี้ท่วม เงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนเด็กวัดให้เป็นเสาหลักของครอบครัว
“บ้านผมไม่ได้มีเงินเป็นร้อยเป็นพันล้าน ถ้าวันหนึ่งผมไม่ได้เงินจากเพลงแล้วก็ช่างมัน ไม่มีใครอยู่ค้างฟ้าหรอก ขึ้นได้ก็ต้องลงให้เป็น”
เมื่อก่อนโอมเคยมีฝันไกลสุดแค่ตัวเอง ตอนนี้เขามองเป้าหมายเป็นภาพกว้าง แบกสัมภาระหนักอึ้งบนบ่า ไม่ใช่ความคาดหวังอย่างเคย แต่เป็นความรับผิดชอบ
“ผมอยากผลักดันให้เพื่อนไปด้วย” โอมไม่พูดเปล่า เขาพาเพื่อนวัยเด็กมาทำอัลบั้มนี้ด้วยกัน แม้ระหว่างทางจะมีสิ่งของหลายชิ้นร่วงหล่นจากบ่า เขาก็ทำใจปล่อยวาง


“พอมีชื่อเสียงก็มีคนหลายแบบอยากเข้าหาเรา ทั้งดีและไม่ดี บางคนก็เคยเป็นเพื่อน แต่สุดท้ายแล้วถ้าไม่ได้หวังดีกับเรา เขาก็จะหลุดวงโคจรไปเองโดยที่ผมไม่ได้ทำอะไร ผมไม่ได้แคร์มากหรอก เพราะสิ่งที่ผมทำให้ทุกคน ผมไม่เคยอยากจะก้าวก่ายใครหรือต้องการผลประโยชน์จากใคร”
โอมในอดีตยอมทะเลาะกับแม่เพื่อทำตามฝันฉันใด โอมในวันนี้ก็ยังยอมแลกอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อความฝันฉันนั้น ใครจะรู้ คนทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่อย่างเขาก็เคยยื่นความคาดหวังใส่จานให้คนอื่นกินเหมือนกัน
“ผมเคยไม่เข้าใจว่าจุดที่เราอยู่มันคือจุดไหน ชื่อเสียง เงินทอง ทุกอย่างยังบังตาเราอยู่ มีทะเลาะกับเพื่อน ทะเลาะกับคนรอบตัว ไม่ได้มีเจตนาไม่ดี คือเราอยากเห็นทุกคนเจ๋ง อยากเห็นทุกคนเก่ง อยากเห็นทุกคนพัฒนา แต่วิธีการไม่ถูก อาจจะกดดันเขาเกินไป ล้ำเส้นเกินไป แล้วเราก็ประชดประชันกัน ทะเลาะกัน สุดท้ายแล้วไง มันได้อะไร นอกจากผมมานั่งรู้สึกแย่กับตัวเอง แล้วเขาก็ยังต้องใช้ชีวิตแบบของเขาเหมือนเดิม
“พอผ่านมาถึงเข้าใจว่า เราสามารถซัพพอร์ตคนบางคนโดยที่ไม่ต้องคาดหวังอะไรก็ได้”
ถามว่าทำไมเขาถึงต้องพยายามขนาดนั้น
“ผมอยากให้วงการเพลงไทยเป็นที่ยอมรับของโลก เป็นความฝันใหม่เลย” เขาเล่าพร้อมประกายในแววตา
“ผมมองประเทศเกาหลี เขาก็ใช้ศิลปะนำพาประเทศมาถึงจุดนี้ได้ เขาปลูกเมล็ดพันธุ์มานาน จาก 10 ปีที่แล้วเราดูซีรีส์ เขาพัฒนากันมาจนถึงไหน ผมว่าประเทศไทยก็ทำได้ แค่ยังขาดองค์ประกอบอะไรบางอย่าง
“ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นแค่ผมหรอก ผมยินดีกับทุกคนที่ทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียง ผมภูมิใจที่ได้เห็นคนเก่ง ๆ ในประเทศที่โดนกดขี่ทางความคิดแบบนี้”
I JUST WANNA BE FREE
ผ่านไปด้วย me, my self & i ทางที่กูเลือกไม่มีใครสอนต้องทำยังไง
หากการร้อยเรียงชีวิตในอัลบั้มนี้เหมือนจิ๊กซอว์ คอนเสิร์ตแรกที่กำลังจะเกิดขึ้นก็เป็นเพียงชิ้นที่ 20
“เพราะชีวิตผมไม่ได้จบแค่นั้น”
แต่มันคงจะเป็นชิ้นที่สำคัญ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันเร็วกว่าที่คาดคิด
ปีนี้โอมจะมีอายุครบ 25 ปี เรียกอีกอย่างว่า เบญจเพส คุณคิดว่าเขากลัวไหม
“ผมมองว่าผมเป็นคนอเมริกัน นอนตอนเช้า (หัวเราะ) คนที่นั่นเขายังไม่รู้เลยว่าเบญจเพสคืออะไร เขาก็ไม่เห็นเป็นอะไร ผมก็เป็นคนเหมือนเขา ผมคิดแบบนี้จริง ๆ” โอมตอบอย่างยียวน ตามประสาคนมีวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
“คนก็มาถามผมเป็นปกติของคนไทย แล้วผมก็นั่งคิดเหมือนกันว่า คนอเมริกันเขาผ่านมันไปได้ไงวะ เขาก็ไม่ต้องบนนี่หว่า ยังประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรืองได้ แต่ถ้าใครอยากจะเชื่อผมไม่ว่า แค่ผมมองแบบนี้ว่า อ้าว คนอินเดีย คนญี่ปุ่น ไม่เคยมานั่งนับเบญจเพสเขาก็ผ่านกันมาได้ หรือว่าจะตายก็เป็นเรื่องปกติ
“ผมไม่ซีเรียสกับวันเกิดเท่าไหร่ ยายบอกเสมอว่าวันเกิดคือวันที่เราควรกลับไปไหว้แม่ เพราะนี่คือวันที่แม่เจ็บที่สุด ผมไม่เคยขอพร หรือช่วยฉันด้วย (พนมมือ) ไม่เคยอยู่แล้ว อาจจะมีบ้างสมัยเด็ก ๆ ที่ชีวิตยากกว่านี้”
เคยมีคนบอกว่าเราอาจต้องตายหลาย ๆ ครั้ง ก่อนจะได้มีชีวิตจริง ๆ โอมเองก็เชื่อสิ่งเดียวกัน เพราะถ้าคนเราไม่รู้จักทุกข์ ก็ไม่รู้จักสุข ถ้าไม่รู้จักคำว่าลำบาก ก็ไม่รู้จักคำว่าสบาย
“บางคนเกิดมาในบ้านเศรษฐี นั่งเก้าอี้เฟอร์ทุกวัน เขาอาจจะไม่รู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่สบายก็ได้ วันไหนที่เขาได้ไปนั่งกลางแดดกลางฝนเขาถึงจะรู้ ว่าเก้าอี้ตัวนั้นมันนั่งสบายแค่ไหน”


โอมบอกว่าเขาในวันนี้พร้อมตาย อันที่จริง เขาพร้อมมาตั้งนานแล้ว
“ผมแค่รู้สึกว่า… ผมแค่ตื่นมาทำสิ่งที่ผมต้องทำ แล้วก็ทำได้ดีในความคิดผม ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลมากขนาดนั้น ตายแล้วไง ตายก็ตาย มีใครไม่ตายบ้าง คนเราเกิดมาก็ต้องตาย อยู่ที่ตายยังไงมากกว่า
“ถึงแม้ผมไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผมตายก็คงไม่เสียดาย ทุกวันผมก็ใช้เต็มที่เท่าที่จะเต็มที่ได้แล้ว”
กลับกัน เมื่อถูกถามว่าถ้าเลือกเกิดได้ใหม่จะเลือกไหม เขาดันลังเลที่จะตอบ เราเลยยื่นข้อเสนอให้เขาจินตนาการเหมือนตอนสร้างตัวละคร เผื่อว่ายังโอมคนใหม่นี้จะไม่ต้องเผชิญหน้ากับความลำบาก เพียงแต่เขาไม่เคยลืมตอนอยู่ข้างล่าง
“ผมว่าทุกชีวิตมีเสน่ห์ของตัวเอง เป็นเหมือนหนัง บางเรื่องเล่าถึงคนรวยที่ชีวิตต้องผกผัน บางเรื่องพูดถึงคนจนที่สู้ชีวิตจนร่ำรวย แต่ถ้าให้เลือกเกิด ก็คงอยากเกิดมารวยมั้ง แค่ต้องเพิ่มอุปสรรคเข้าไปหน่อย ไม่งั้นง่ายเกิน ชีวิตจะไม่สนุก”


ถึงตาโอมถามเรากลับ หลังสงสัยว่าคนอย่างเขาจะเชื่อในสำนวน ‘ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ บ้างรึเปล่า
“มองคำนี้ยังไง เพราะไอน์สไตน์บอกว่า ถ้าคุณทำแต่สิ่งเดิม ๆ แล้วคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ มันเป็นไปได้เหรอ ถ้าคุณอยากได้ผลลัพธ์ใหม่ คุณก็ต้องทำอะไรใหม่ ๆ
“บางคนอาจจะพยายามแต่ไม่ถูกวิธี กลายเป็นความพยายามที่เปล่าประโยชน์ ถ้าคุณทำแล้วไม่ได้ คุณต้องมานั่งสังเกตว่าฉันทำตรงไหนผิด ฉันทำตรงไหนพลาด ตรงไหนยังไม่ดี นั่นคือความพยายามที่ถูกต้อง ไม่ใช่พยายามจะทำ ๆๆ แต่ว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม ผลลัพธ์ออกมาเหมือนเดิม เขาอาจจะทำจนตายแล้วไม่สำเร็จก็ได้”
แล้วยังโอมพยายามถูกวิธีไหม – เราถามอย่างนึกสนุกเมื่อบทสนทนางวดได้ที่
“ก็ต้องถูกแล้วล่ะ ถ้าไม่ถูกก็คงไม่มาอยู่ตรงนี้ (หัวเราะ)”
เสียงจากเด็กวัด
มันไม่ผิดที่เกิดเป็นคนจน ดีซะอีกเพราะมึงน่ะคงทน ฝันให้ไกลและจงทะนงตน และมึงก็แค่สู้เหมือนอาจารย์ปรีดี พนมยงค์
โอมเรียกที่นี่ว่า ‘ธาตุทองซิตี้’ มันประกอบไปด้วย เด็ก ครู พระ และคนตาย
เราเดินสำรวจพื้นที่ตามเจ้าถิ่น ฟังเสียงเพลงในอัลบั้มที่ร้องออกมาโดยเด็ก ๆ สลับกับการแวะทักทายอาจารย์ที่ห่างหายกันไปนาน ทั้งยังต้องคอยหลบรถ เพราะวัดที่มีมากถึง 40 ศาลาก็จัดงานศพอยู่ด้วย
ยิ่งมีโอม ยิ่งทำให้ทุกเรื่องดูไม่เข้ากันไปหมด
การปรากฏตัวของเขาธรรมดามาก ไม่ต่างอะไรกับแก๊งรุ่นพี่ทั่วไป มีเพื่อนสนิทที่เขาไม่เพียงโอบกอดแต่ยังให้อาชีพเคียงข้างกาย คอยผลัดกันพูดถึงสถานที่ในความทรงจำ และหามุมให้พวกเราได้เก็บภาพสุดพิเศษโดยไม่มีเกี่ยงงอน
ผ่านศาลาในตำนานที่โอมปล่อยเพลงแรกในชีวิต พวกเขาเดินเข้าไปร่วมวงกับรุ่นน้องที่กำลังซ้อมดนตรี ภาพเด็กหัวเกรียน สวมชุดนักเรียน และเล่นกีตาร์ ก็ซ้อนทับขึ้นมาในหัวอย่างห้ามไม่ได้


เราแซวเขาขำ ๆ ว่า ถ้าในอนาคตมีรางวัลศิษย์เก่าโรงเรียนดีเด่น เขาจะได้รับในสาขาอะไร โอมใช้เวลาเพียงปราดเดียวเพื่อตอบว่า ประชาสัมพันธ์เป็นเลิศ แต่เขาขอเป็นเพียง น้าผู้ใหญ่ ผู้พร้อมให้คำปรึกษามากกว่าจะกลายเป็นไอดอล
เริ่มต้นจากจุดแล้วก็วน โอมประกาศให้ทุกคนฟังว่า นี่คือเสียงจากเด็กวัด
แม้ไม่เคยถูกยอมรับ แต่เขาก็เป็นที่รักอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้ไม่มีบ้านให้กลับไป แต่มาโรงเรียนเมื่อไหร่ทุกคนก็พร้อมจะกอดเขา
โอมเลือกมองกลับหลังเพื่อเขียนเพลงทั้ง 19 แต่เขาในวันนี้ก็มาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ
เราแยกย้ายกันหลังบทสนทนาสุดเมามันจบลง
หยิบหูฟังและก้าวขาขึ้น BTS เอกมัย
ผู้โดยสารโปรดทราบ โปรดเอื้อเฟื้อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อนพ้อง ครอบครัว ผู้ที่จำเป็นต้องใช้กำลังใจขณะเดินทาง และคนที่รักท่านอย่างจริงใจ โดยอาจสังเกตได้จากความหวังดีที่มีให้ต่อกัน การกระทำที่ไม่หวังซึ่งผลตอบแทน
สถานีต่อไป ใครจะรู้…

