สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่เข้ามายืนหลบพายุ ซึ่งโปรยปรายทั้งสายฝนและสายฟ้าลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เราเดินย่ำไปตามซอยโยธี ผ่านสถานพยาบาล อาคารผู้ป่วยและศูนย์วิจัยทางการแพทย์หลายอาคาร 

หลายคนอาจไม่รู้ว่าย่านโยธีประกอบไปด้วยโรงเรียนแพทย์ สถาบันการแพทย์และวิจัยมากกว่า 40 สถาบัน แถมยังมีโรงพยาบาลอยู่ถึง 7 แห่ง นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านสาธารณสุข บุคลากรการแพทย์ และนักวิจัยสูงที่สุดในประเทศ 

การพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์ YOTHI Medical Innovation District (YMID) จึงเกิดขึ้น จากความตั้งใจของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อสร้างหลากหลายพื้นที่นวัตกรรมในการเยียวยารักษาสุดล้ำ จากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการร่วมมือกันของบุคลากรการแพทย์กว่า 4,000 คน ที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ในย่านนี้ เพื่อขยับขยายกำแพงความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีการแพทย์ไทย ให้ก้าวไกลขึ้นเรื่อยๆ

ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี YOTHI Medical Innovation District
ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี YOTHI Medical Innovation District

ในวันที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกยังดำเนินไปอย่างน่าหวาดวิตก แม้ประเทศไทยจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างอยู่หมัดมาหลายเดือนแล้ว แต่ในความปกติที่กำลังดำเนินไป มีโรคระบาดอีกหลายชนิดที่ซ่อนอยู่อย่างเงียบเชียบรอบตัวเรา รอฤดูกาลที่เหมาะสมในการแพร่ระบาด

ปลายฤดูฝนที่ชุ่มฉ่ำ น้ำท่วมขังกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สัตว์ตัวจิ๋วที่เป็นพาหะนำโรคร้ายแรงอย่างไข้มาลาเรีย ที่คนเมืองอย่างเราได้ยินแล้วอาจไม่เชื่อหู ว่าโรคยังคงระบาดหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทย 

ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี YOTHI Medical Innovation District
ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี YOTHI Medical Innovation District

ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของไข้มาลาเรียในหลายพื้นที่ทั่วโลกยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 200 ล้านคน แถมยังเป็นเชื้อเรื้อรัง ที่แม้รักษาหายก็กลับมาเป็นซ้ำได้อีกเรื่อยๆ และเชื้อก็ค่อยๆ กลายพันธุ์จนดื้อยารักษา

เราจึงพาคุณมาเยี่ยมคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ของ YMID ที่กำลังทำงานวิจัยเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เพื่อเป้าหมายในการกำจัดเชื้อมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทยใน 4 ปี นับจากนี้

ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี YOTHI Medical Innovation District

ดร.เจตสุมน สัตตบงกช รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน พาเราเดินเข้าสู่แล็บเพาะเลี้ยงยุง ที่ทั้งน่าตื่นตาและน่าขนลุกไปพร้อมๆ กัน เพราะในถาดที่วางซ้อนทับกันจรดเพดานเบื้องหน้าเรานี้ มีลูกน้ำนับร้อยนับพันตัวกำลังแหวกว่ายอยู่ในน้ำ บรรพบุรุษของพวกมันถูกส่งมาจากตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ระบาดของไข้มาลาเรียมาก่อน 

ดร.เจตสุมน อธิบายว่า ลูกน้ำเหล่านี้จะเติบโตไปเป็นยุง สำหรับวิจัยวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ไวแว็กซ์ ซึ่งรุนแรงกว่าเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์อื่น ตรงที่เป็นเชื้อที่มีระยะแฝงตัวในตับ ทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นมาลาเรียซ้ำได้อีกหลายครั้งจากการถูกยุงกัดเพียงครั้งเดียว และในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียชนิดนี้ อีกทั้งจากสถิติพบว่า เชื้อชนิดนี้กำลังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของเด็กและสตรีในประเทศไทย

ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี YOTHI Medical Innovation District

ถัดจากแล็บเพาะตัวอ่อน เราเดินต่อไปยังแล็บของเจ้ายุงโตเต็มวัย ที่ถูกเลี้ยงในพื้นที่ปิดที่มีระบบความปลอดภัยแน่นหนา ขั้นตอนการวิจัยลำดับต่อไป คือการให้ยุงเหล่านี้กินเลือดคนไข้ที่มีเชื้อมาลาเรียไวแว็กซ์ เมื่อเชื้อเข้าสู่ตัวยุง นักวิจัยจะรอจนเชื้อเหล่านั้นเจริญเติบโตเต็มที่ 

จากนั้นจึงสกัดเชื้อจากต่อมน้ำลายยุง มาจำลองการติดเชื้อในอาสาสมัคร เพื่อเก็บตัวอย่างเชื้อในคน มาทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน โดยมีการติดตามผลและรักษาอาสาสมัครที่ตั้งใจให้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด โดยกระบวนการนี้เรียกว่าฟาสต์แทร็ก (Fast-Track)

ดร.เจตสุมน เล่าต่อว่า การพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปี กว่าจะนำวัคซีนมาใช้ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัย แต่ฟาสต์แทร็กคือนวัตกรรมที่มาช่วยย่นระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนให้เร็วขึ้น 

ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี YOTHI Medical Innovation District
ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี

การวิจัยด้วยกระบวนการจำลองการติดเชื้อในคน คือการวิจัยที่อาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรงได้รับเชื้อจุลินทรีย์ในปริมาณที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้สภาวะควบคุมโดยคณะผู้วิจัยและแพทย์ผู้มีความรู้และประสบการ์ต่อโรคนั้นๆ การวิจัยเหล่านี้มีส่วนช่วยให้นักวิจัยมีความเข้าใจถึงกระบวนการเกิดโรค การรักษา และการป้องกันโรคต่างๆ 

ในการพัฒนาวัคซีนแต่ละครั้ง การตัดสินใจเลือกวัคซีนว่าวัคซีนตัวใดจะนำไปวิจัยและพัฒนาต่อไป ถึงขั้นนำไปใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพในภาคสนามได้นั้น มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก กระบวนการจำลองการติดเชื้อในคน จะช่วยให้นักวิจัยสามารถลดจำนวนอาสาสมัครที่จะถูกใช้เพื่อทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน อีกทั้งลดระยะเวลาในการทดสอบ และยังทำให้นักวิจัยได้ข้อมูลเชิงลึกต่อกระบวนการเกิดโรค การป้องกัน และการรักษาอีกด้วย 

ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี

ดังนั้น กระบวนการนี้จึงได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายสำหรับการพัฒนาวัคซีนในโรคบางโรค ไม่เฉพาะไข้มาลาเรีย แต่ยังใช้วิจัยโรคไข้หวัดใหญ่ อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และตับอักเสบ หลายประเทศล้วนใช้นวัตกรรมนี้ ทั้งโคลอมเบีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ โดยไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่วิจัยด้วยกระบวนการฟาสต์แทร็กได้ เพราะมีบุคลากรและพื้นที่วิจัยได้มาตรฐานระดับโลก

ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี

ก่อนจากกัน ดร.เจตสุมน บอกเราด้วยความมุ่งมั่นว่า หากกระบวนการวิจัยวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ไวแว็กซ์ประสบความสำเร็จ นอกจากจะกำจัดเชื้อมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทยได้แล้ว ทีมนักวิจัยยังนำกระบวนการนี้มาใช้พัฒนาวัคซีนได้อีกหลายโรค เพราะขอบเขตการวิจัยของเหล่าบุคลากรการแพทย์ในย่านนวัตกรรมการแพทย์ YMID สามารถขยับขยายออกไปกว้างไกลไม่สิ้นสุด เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในอนาคตอันใกล้

ภารกิจพิชิต มาลาเรีย ด้วยนวัตกรรมสุดล้ำจากความร่วมมือของ 40 สถาบันการแพทย์ย่านโยธี

ทำความรู้จักย่านนวัตกรรมการแพทย์ YMID เพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ