แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยที่ชื่อว่า โยธกา (YOTHAKA) นั้น แม้จะเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลก แต่อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกับพวกเราชาวไทยสักเท่าไร

ถ้าให้เล่าอย่างย่นย่อ โยธกาเป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่นำงานหัตถกรรมมาผสานกับงานออกแบบ จนเกิดเป็นเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบที่เป็นสากล แต่ยังคงกลิ่นอายของความเป็นตะวันออกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ของโยธกาเน้นวางขายต่างประเทศเป็นหลัก ในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้งบริษัทนั้นโยธกาหยิบเอาพืชไร้ราคาที่หลายคนเรียกว่าสวะอย่างผักตบชวามาเปลี่ยนให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ล้ำค่าที่ลูกค้าคนยุโรปต้องแย่งกันซื้อ ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนมาหยิบจับวัสดุใหม่ๆ สร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบที่หลากหลายและคาดเดาไม่ได้มาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับและรับรางวัลงานออกแบบยอดเยี่ยมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่นมายาวนานกว่า 30 ปี 

รู้จัก YOTHAKA แบรนด์ไทยที่ออกแบบผักตบชวาเป็นเฟอร์นิเจอร์จนได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติ

โยธกามีลูกค้าตั้งแต่โรงแรมและรีสอร์ตหรู ไปจนถึงบูติกช็อปจากทั่วโลก ทั้ง Hermès, Louis Vuitton, FENDI และงานบางชิ้นยังได้รับเลือกให้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น นอกจากนี้ โยธกายังได้รับข้อเสนอจากผู้จัดงานแสดงสินค้าอันดับต้นๆ ของโลกที่ฝรั่งเศสให้จัดแสดงในพื้นที่แสดงงานที่ดีที่สุดเพื่อเป็นไฮไลต์ให้กับงานนั้นอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจของโยธกาก็คือแบรนด์นี้อยู่มา 30 ปี แต่เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้มีหน้าร้านหรือโชว์รูมมากมายเหมือนแบรนด์อื่นๆ รวมไปถึงไม่เคยทำการตลาด ไม่มีแผนการตลาด ไม่มีการทำและซื้อโฆษณา จะมีอยู่บ้างก็คือการไปออกงานแสดงสินค้าในประเทศและนอกประเทศแถบยุโรปอย่างต่อเนื่อง

สินค้าของโยธกาขายตัวของมันเองด้วยการออกแบบ ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากนักออกแบบคนเดียวของแบรนด์อย่าง คุณรักษ์-สุวรรณ คงขุนเทียน ที่ควบตำแหน่งเจ้าของกิจการไปด้วย นอกเหนือจากงานของบริษัทตัวเองแล้ว คุณรักษ์ยังสละเวลาไปเป็นคนให้คำปรึกษากับแบรนด์อื่นๆ ไปเป็นอาจารย์ผู้ให้ความรู้แก่บรรดานักออกแบบมาอย่างยาวนาน จนเป็นที่นับถือของบรรดาลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทั้งเจ้าของกิจการและนักออกแบบรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น PiN หรือ กรกต อารมณ์ดี ที่ The Cloud เคยสัมภาษณ์มาก่อนหน้านี้

คุณรักษ์-สุวรรณ คงขุนเทียน

ในปีนี้ที่คุณรักษ์จะอายุ 71 ปี และแบรนด์โยธกาจะมีอายุ 30 ปี คุณรักษ์กำลังรวบรวมผลงานที่ตัวเองทำมาตลอด 30 ปีนี้เพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่มีชีวประวัติของตัวเอง และไม่ได้จะรวบรวมทฤษฎีในด้านการออกแบบ แต่เป็นหนังสือที่รวมผลงานการทำเฟอร์นิเจอร์ของนักออกแบบคนหนึ่งที่ทำงานออกแบบมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ซึ่งทำให้คุณรักษ์ได้มีโอกาสกลับไปรวบรวมรูปภาพของงานเก่าๆ พร้อมกับประมวลความคิดที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงที่ทำมา 

นี่จึงเป็นวาระดีที่จะมีโอกาสได้พูดคุยและเข้าใจวิธีการทำงานของนักออกแบบ ผู้ซึ่งเป็นเหมือนอาจารย์ของเหล่านักออกแบบคนนี้ และนี่คือเรื่องราวของนักออกแบบผู้เป็นเหมือนอาจารย์ของอาจารย์ที่ชื่อ สุวรรณ คงขุนเทียน 

จุดเริ่มต้นของโยธกา

“ที่ผมทำเฟอร์นิเจอร์หัตถกรรมอยู่มาได้นานขนาดนี้ เพราะผมรักงานหัตถกรรม ถ้าไม่รักกันจริงจะอยู่กันได้นานขนาดนี้เหรอ”

คุณรักษ์เล่าให้เราฟังว่าแกเกิดที่จังหวัดหัตถกรรมอย่างเชียงใหม่ ชีวิตในวัยเด็กก็วิ่งเล่นกับเพื่อนเข้าบ้านนู้นบ้านนี้ จึงได้เห็นการทำหัตถกรรมมาตลอด พอโตขึ้นมาหน่อยเมื่อเข้าโรงเรียนก็ได้เริ่มเรียนศิลปะด้วยความสนใจของตัวเองและการชักชวนของครูที่โรงเรียน โดยการเรียนศิลปะนั้นไม่ใช่แค่วาดรูปเล่น แต่เป็นการฝึกและหัดเขียนภาพสีน้ำ จนถึงการเรียนเขียนภาพแบบ Still Life เลยด้วย เกิดเป็นความชอบจนเลือกศึกษาต่อที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หลังจากเรียนจบ คุณรักษ์ไปทำงานเป็นคนอ่านแบบงานก่อสร้างที่ซาอุฯ อยู่พักใหญ่ ก่อนมีโอกาสกลับมาเปิดบริษัทออกแบบอินทีเรียอยู่ที่สิงคโปร์เกือบ 10 ปี รับงานออกแบบบ้านและโรงแรมขนาดเล็กเป็นหลัก ซึ่งก็ต้องสั่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ไทยอยู่อย่างเสมอ

“คือในการกลับไทยมานั้นก็มีอยู่ทีหนึ่งที่ได้มาเจอ หน่า (ม.ล. ภาวินี สันติศิริ) ซึ่งเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัย ตอนนั้นเขาทำวิจัยเกี่ยวกับการหารายได้เพิ่มเติมให้กับผู้มีรายได้น้อยเสริมไปจากงานประจำ โดยหยิบผักตบชวาที่มีอยู่มากมายมาทำเป็นวัสดุคล้ายๆ เชือก แล้วนำมาสานทำเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกทีหนึ่ง ผมซึ่งชอบงานหัตถกรรมอยู่แล้วมาเห็นก็ชอบมาก เลยเกิดไอเดียว่าอยากลองทำสิ่งนี้ส่งออกดู”

คุณรักษ์-สุวรรณ คงขุนเทียน

อะไรทำให้อยากเปลี่ยนอาชีพจากอินทีเรียในสิงคโปร์มาบุกเบิกทำเฟอร์นิเจอร์ส่งออกแบบเริ่มต้นใหม่ที่ไทยในวัย 40 ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่ต้องการความมั่นคงในชีวิตมากกว่ากระโจนหาความเสี่ยง ผมถาม

“ตอนนั้นผมอายุสี่สิบแล้ว อยู่สิงคโปร์มาสิบกว่าปีและผมไม่เคยคิดว่าจะลงหลักปักฐานที่นั่นเลย มันเหมือนถึงจุดอิ่มตัวแล้วและอยากกลับบ้าน ซึ่งการไปอยู่สิงคโปร์ทำให้เห็นช่องทางและโอกาส ไปจนถึงเห็นสิ่งดีๆ ของบ้านเราด้วย คือภาพลักษณ์ของไทยในตอนนั้นมักจะโดนคนต่างชาติเหยียดหยามมาตลอดว่าสินค้าไทยชอบลอกเลียนแบบงานคนอื่น และผลิตสินค้าที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ลึกๆ เลยมีความฝันอยากออกแบบสินค้าอะไรสักอย่างที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ประเทศ

“ตอนที่มาเห็นผักตบชวาเนี่ย นอกจากความชอบงานหัตถกรรมแล้ว มันคือเรื่องที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดในการทำธุรกิจส่งออก เพราะหัตถกรรมมันก็บอกอยู่แล้วว่าใช้มือทำเป็นหลัก คือผมไม่มีเงินมากพอจะบินไปซื้อเครื่องจักรแพงๆ มา แล้วเปิดโรงงาน และในตลาดโลกงานทำมือพวกนี้ยังมีช่องทางอยู่ 

“หัตถกรรมเป็นทางเลือกที่แข็งแกร่งมากอันหนึ่งของประเทศไทย เพราะงานหัตถกรรมเป็นสิ่งที่ประเทศอุตสาหกรรมเขาจะไม่ทำกัน คือพอประเทศเจริญไปถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว งานหัตถกรรมมันทำเงินได้ไม่เท่ากับอุตสาหกรรม ลองคิดว่าถ้าคนยุโรปมาทำงานหัตถกรรม ด้วยค่าแรงที่สูงมากมันจะทำให้งานชิ้นนั้นมีราคาที่แพงมากจนขายไม่ได้ แต่ประเทศเรายังไม่ได้ถูกพัฒนาจนเป็นระบบอุตสาหกรรมแบบเต็มตัว ผสมกับค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำ นั่นจึงเป็นจุดแข็งของงานหัตถกรรมของเรา แล้วงานพวกนี้เป็นงานที่คนไทยไม่ซื้อ อาจจะเพราะเห็นจนชินตาอยู่แล้ว มันก็เลยเหมาะกับการนำไปทำตลาดที่ยุโรปหรือที่อื่นๆ มากกว่า” คุณรักษ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งแบรนด์โยธกา

รู้จัก YOTHAKA แบรนด์ไทยที่ออกแบบผักตบชวาเป็นเฟอร์นิเจอร์จนได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติ

ก้าวแรกที่ล้มลุกคลุกคลาน

หลังจากที่คุณรักษ์ตัดสินใจทำเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวา ซึ่งในช่วงแรกยังไม่ได้มีการออกแบบอะไรใหม่ ใช้รูปแบบของงานเก้าอี้หวายที่แพร่หลายกันในยุคนั้นมาทำด้วยผักตบชวาเฉยๆ พอดีว่ามีลูกค้าเก่าคนหนึ่งที่คุณรักษ์เคยทำงานออกแบบให้และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไปซื้อกิจการโรงแรมเล็กๆ ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และเรียกคุณรักษ์มาทำงานตกแต่งภายในให้ ซึ่งหลังจากทำงานจนใกล้จะเสร็จ ลูกค้าคนนี้ก็ชวนให้คุณรักษ์มาใช้พื้นที่ห้องบอลล์รูมในโรงแรมนี้แบบฟรีๆ

“เขาบอกว่าเผื่อคุณอยากจะมาค้าขายอะไรที่นี่ ผมเลยคิดว่างั้นเอาเฟอร์นิเจอร์ผักตบชวาของเราไปลองวางขายที่ LA เลยดีกว่า ซึ่งผมไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน ไม่เคยศึกษาตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายเลย ไปเพราะว่าได้ที่ฟรี ก็ทำเรื่องส่งของทุกสิ่งไปจากไทย แล้วก็ไปรวบรวมรายชื่อนักออกแบบและสถาปนิกที่อยู่ใน LA ทำบัตรเชิญ ทำโปสเตอร์ แล้วโทรศัพท์ไปชวนทุกคนให้มางานเปิดตัวของเรา”

ทุกสิ่งเหมือนจะดำเนินไปด้วยดี แต่ผิดคาด เพราะด้วยขาดประสบการณ์การทำเอกสารนำเข้าส่งออกสินค้า ทำให้นำของออกจากท่าเรือมาได้ไม่ตรงกับวันเปิดงาน งานแสดงเฟอร์นิเจอร์ผักตบชวาก็เลยต้องยกเลิกไป คุณรักษ์เล่าให้ฟังว่า นอกจากเสียค่าส่งของและค่าเดินทางที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงแล้ว ยังต้องเสียเวลาโทรศัพท์ยกเลิกการจัดงานให้กับทุกคนที่ส่งบัตรเชิญไปอีกด้วย

ตอนหลังที่เอาของออกจากท่าเรือได้แล้ว ก็ต้องเที่ยวเอาไปไล่แจกคนอื่นจนหมด แม้จะเปิดงานไม่ได้แต่ความโชคร้ายก็ยังไม่จบ เพราะเย็นวันนั้นหลังจากที่ออกจากโรงแรมคุณรักษ์และทุกคนก็ประสบกับอุบัติเหตุรถชนอีก แม้ว่าจะไม่ได้บาดเจ็บอะไรมาก แต่ก็ทำให้การเริ่มต้นทำธุรกิจส่งออกครั้งแรกนั้นล้มลุกคลุกคลานอยู่มาก จนทำให้คุณรักษ์ต้องกลับไปทำงานเป็นอินทีเรียที่สิงคโปร์ต่อเพื่อเก็บเงินอีกครั้งหนึ่ง

คุณรักษ์-สุวรรณ คงขุนเทียน YOTHAKA แบรนด์ไทยที่ออกแบบผักตบชวาเป็นเฟอร์นิเจอร์จนได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติ

“หลังจากทำงานเก็บเงินอยู่อีกสองปี ก็เริ่มรู้สึกว่าอยากกลับมาออกแบบและทำเฟอร์นิเจอร์หัตถกรรมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เรากำหนดแนวทางในการสร้างสรรค์งานของเราเลยว่าเราจะเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบ ใช้เฉพาะวัสดุที่ผลิตขึ้นในเมืองไทยด้วย และเป็นงานทำด้วยมือที่เป็นทักษะขั้นสูง ผมอยากทำเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเมืองไทยไม่ได้มีแต่ของไร้คุณภาพกับของก๊อปปี้ เป้าหมายหลักคือสินค้าที่ผมทำต้องไปวางในงานแฟร์ของยุโรป และเราจะติดแบรนด์ของเรา หรือคำว่า ‘เมด อิน ไทยแลนด์’ ให้ทุกคนเห็นเลย กูจะทำให้มึงดู ผมคิดแบบนี้จริงๆ

“นอกจากนี้ ด้วยความที่เราอยากให้เป็นของคุณภาพจริงๆ แม้แต่โครงด้านในของเฟอร์นิเจอร์ที่จะถูกผักตบมาห่อหุ้มหมด เราก็จะใช้ไม้ที่ดี ทำโครงให้สวยเรียบร้อย จะไม่มีการเอาไม้ลังหรือไม้อัดมาปะให้มันเต็มๆ ไป เฟอร์นิเจอร์ของผมทุกชิ้นจะต้องสวยจากภายใน ถ้าวันหนึ่งลูกค้าเขารื้อโครงออกมา ลูกค้าจะต้องประทับใจ” คุณรักษ์เล่าให้ฟังถึงจุดยืนของโยธกา

หลังจากที่ได้เริ่มออกแบบเฟอร์นิเจอร์ผักตบชวาอย่างจริงจัง ก็มีการทำโชว์รูมที่โรงแรมเพนนินซูลาเพื่อวางขายสินค้า ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจไทย ทำให้หลายๆ บริษัทที่ทำงานส่งออกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แน่นอนว่าโยธกาก็เป็นหนึ่งในนั้น และสิ่งสำคัญที่สุดคือการได้เริ่มเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าที่มาดูเฟอร์นิเจอร์ในโชว์รูม โดยที่ยังไม่ได้รู้จักการไปออกงานแสดงสินค้าแต่อย่างใด

แล้วการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในตอนนั้นมีวิธีคิดออกแบบยังไงบ้าง ผมถามต่อ

“ด้วยความที่ผมเป็นอินทีเรียมาก่อน ผมไม่ได้คิดเริ่มต้นว่าอยากออกแบบโต๊ะหรือเก้าอี้ก่อน แต่ผมจะไปค้นคว้าว่ามี Mood and Tone ของห้องแบบไหนที่ตลาดต้องการ แล้วค่อยคิดว่าจะออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นไหนที่มาเติมเต็มห้องห้องนั้น อย่างบ้านแบบคันทรีจะต้องใช้โซฟาแบบไหนเราก็ออกแบบให้มันเข้ากับบรรยากาศได้

“อย่างตัวผักตบชวานี่เมื่อก่อนเขาเรียกกันว่าสวะนะ ถ้าอยู่ในบ้านเราที่มีความชื้นสูงมันก็อาจจะขึ้นรา หมาแมวมาข่วนก็เสียหายได้ แต่พอคนต่างประเทศมาเห็นเขาชอบกันมาก ทั้งพื้นผิวและสีสันมันไม่เหมือนวัสดุอื่นๆ แถมอากาศที่แห้งก็ไม่ทำให้ขึ้นราด้วย 

“แต่ปัญหาคือเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติเนี่ย ลูกค้าหลายคนชอบคิดว่ามันเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับบ้านสไตล์คันทรีอย่างเดียว ผมเลยมาคิดว่ามันน่าจะสร้างสไตล์แบบอื่นๆ ได้ จึงเกิดไอเดียออกแบบรูปทรงให้ดูร่วมสมัยเข้ากับเมืองมากขึ้น มีระยะสัดส่วน ความสูง ความกว้างความลึก ที่เป็นแบบสากล แต่มีคอนทราสต์จากวัสดุธรรมชาติที่เราใช้ มันเลยทำให้เกิดภาพของงานออกแบบที่มีกลิ่นอายตะวันออกอยู่ด้วย แบรนด์โยธกาเลยค่อยๆ คลี่คลายมากขึ้นแ ละเริ่มสร้างตัวตนขึ้นมา ว่าถ้าอยากได้เฟอร์นิเจอร์หัตถกรรมแบบนี้ต้องเราเท่านั้น”

ออกแบบหัตถกรรม

ในระบบการศึกษา อาชีพอย่างนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์เป็นอาชีพที่ตอบสนองการผลิตในระบบอุตสาหกรรมเป็นหลักแทนที่จะเป็นหัตถกรรม ผมเลยถามทางคุณรักษ์ไปว่าการต้องมาทำงานออกแบบควบคู่ไปกับงานหัตถกรรมนั้นมีวิธีคิดยังไงบ้าง

“ในช่วงที่ผมทำเก้าอี้ตัวแรกๆ ผมใช้เทคนิคของการสานหวายของไทยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยความที่ผมไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับงานช่างและงานฝีมือเลย แต่เราชอบอยู่และเรียนรู้กับช่างตั้งแต่เช้าถึงเย็นมาตลอด ผมศึกษาว่าเขาทำยังไงบ้าง ขณะเดียวกันก็ไปดูงานหัตถกรรมแบบอื่นๆ ของต่างประเทศว่าเขาสานกันยังไง เก็บรายละเอียดกันยังไง แล้วก็ลอกเลียนและปรับปรุงมาใช้กับของตัวเอง จนเทคนิคการสานผักตบชวาของเราในตอนหลังๆ ไม่มีการใช้เทคนิคของหวายอีกเลย ทั้งการสาน การจบงาน การเก็บรายละเอียดนั้น เป็นเทคนิคของผักตบชวาโดยเฉพาะเลย

“เวลาเราออกแบบงานคราฟต์บนโต๊ะกับออกแบบกับช่างมันไม่เหมือนกันนะ ทำงานกับช่างเราจะเห็น Solution ซึ่งก็ทำให้ผมต้องศึกษาเทคนิควิธีการทำงานพร้อมกับช่าง ผมเรียนรู้จากช่าง อย่างเวลาเราออกแบบมา พอเอาให้ช่างเขาดู เขาบอกว่ามันสานไม่ได้ ผมก็ถามว่าแล้วทำยังไงถึงจะสานได้ ก็เรียนจากช่างว่ามันต้องการโครงสร้างภายในที่เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งมีจุดสำหรับยึดและพัน เราก็กลับมาพัฒนาแบบใหม่ให้เป็นแบบนั้น คือค่อยๆ สร้างความรู้ในตัวเราขึ้นมา จนตอนนี้เวลาที่ผมออกแบบ ผมออกแบบลวดลายแพตเทิร์นไปพร้อมๆ กันกับฟอร์มของเก้าอี้ได้ 

“แม้ว่าผมสานชิ้นงานไม่เป็นก็จริง แต่ตอนนี้ผมทำแพตเทิร์นสานแบบเล็กๆ เองไว้สื่อสารกับช่างฝีมือในโรงงานได้ ไปจนถึงคิดวิธีจบและเก็บชิ้นงานให้กับช่างไปเลย ซึ่งการเก็บรายละเอียดพวกนี้คือหัวใจของงานหัตถกรรม การทำอาชีพแบบนี้ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ต้องเรียนรู้จริงๆ และต้องรักมันมากๆ ด้วย ตอนที่เห็นเราก็จำไว้ เพื่อวันหนึ่งเราจะเอาสิ่งที่เคยเห็นหยิบออกมาใช้งานได้” คุณรักษ์อธิบายถึงการเรียนรู้งานหัตถกรรมของตัวเองในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

รู้จัก YOTHAKA แบรนด์ไทยที่ออกแบบผักตบชวาเป็นเฟอร์นิเจอร์จนได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติ

จากจุดสูงสุดสู่จุดจบของผักตบชวา

ในช่วงแรกโยธกาขายผลงานผ่านช่องทางโชว์รูมเพียงอย่างเดียว ด้วยความบังเอิญที่คุณรักษ์ได้เป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสาร บ้านในฝัน ทำให้ได้มาเจอกับ คุณวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์) คอลัมนิสต์อีกคนที่เขียนให้นิตยสารเดียวกัน ซึ่งเปิดบริษัทที่ฝรั่งเศสนำเข้าและขายดอกไม้กระดาษที่ผลิตในไทย และขอคุณรักษ์ซื้อเก้าอี้ผักตบชวาของโยธกาไปวางเป็นของตกแต่งในบูทแสดงสินค้าที่งานแฟร์ Maison et Objet ที่ฝรั่งเศส (งานแสดงสินค้าที่ได้รับความนิยมและน่าเชื่อถือมากอันดับต้นๆ ในยุโรปและในโลก)

“ปรากฏว่าพอแฟร์จบลง ยอดสั่งซื้อเก้าอี้ของเราก็เข้ามาเพียบเลย (หัวเราะ) เพราะลูกค้าได้เห็นเก้าอี้เราจากทางนั้น เลยกลายเป็นได้เข้าตลาดยุโรปเลยแบบบังเอิญ ยอดสั่งซื้อจากทางยุโรปและทวีปอื่นก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนที่ซื้อก็เอาของที่เราออกแบบและผลิตไปวางขายในงานแสดงสินค้าตามเมืองต่างๆ อีก ตอนนั้นเราออกคอลเลกชันใหม่ทุกปี ปีละสองครั้ง แบบเดียวกับแฟชั่นเลย Spring-Summer หรือ Autumn-Winter เพราะคนสั่งซื้อเข้ามาอยู่ตลอด” คุณรักษ์เล่าย้อนไปถึงตอนที่โยธกาเข้าสู่ตลาดยุโรปในครั้งแรก

ความนิยมของเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวาของโยธกาพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ยอดสั่งซื้อเริ่มมีมาจากทั่วทั้งโลก ในช่วงเวลานั้นมีการส่งออกเฟอร์นิเจอร์จากโรงงานมากถึง 12 – 14 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือนติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะเจอจุดพลิกผันครั้งใหญ่ นั่นคือการเสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็วของเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวา ยอดสั่งซื้อลดลงจนไม่มีใครสั่งซื้ออีกต่อไป สำหรับผู้ประกอบการคนอื่นๆ อาจจะมองว่าเป็นวิกฤต แต่สำหรับโยธกาแล้วกลับเป็นโอกาส

“ผักตบชวาหายไปเพราะการตัดสินโดยตลาดของยุโรปที่เรียกกันว่า ‘เทรนด์’ คือเทรนด์ใหม่ที่ประกาศออกมาคือสไตล์ Outdoor ซึ่งไม่ใช้วัสดุธรรมชาติแล้ว ลูกค้าก็จะเลิกซื้อพร้อมกันหมด ตอนนั้นผมก็ฟังหูไว้หู พอได้มีโอกาสบินไปเยี่ยมลูกค้าตามงานแฟร์ต่างๆ ในหลายประเทศ จึงถึงจุดที่เรายอมรับว่าผักตบชวานั้นไปต่อไม่ได้แล้ว และผมเป็นคนที่พลิกตัวเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ได้เร็วมาก ไม่ยึดติดในงานออกแบบเดิมๆ ไม่รอจนเกิดปัญหาแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง แบบนั้นมันช้าเกินไป 

“การที่เราเป็นบริษัทที่ใช้สองมือสร้างเฟอร์นิเจอร์ ไม่ได้มีเครื่องจักรราคาแพงอะไร มันทำให้เราเปลี่ยนตัวเองได้ตลอดเวลา ผมก็เลยเริ่มหันมามองจุดแข็งของเทคนิคและทักษะงานหัตถกรรมที่เรามี เริ่มมองหาวัสดุใหม่ๆ อย่างอื่นที่มีศักยภาพนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ได้ และหยิบมาทดลองทำก่อนเลย จึงเป็นที่มาของเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุต่างๆ มากมาย” คุณรักษ์เล่าถึงตอนที่เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

วัสดุที่โยธกาเลือกใช้หลังจากนั้นก็คือย่านลิเภา กระดาษใยสับปะรด เชือกลีซอ พลากสติกเส้น หวาย เชือก ไปจนถึงพวกผักตบเทียมหรือเถาวัลย์เทียมที่ทำมาจากพลาสติก ซึ่งคุณรักษ์ใช้การออกแบบที่เข้าใจในเทคนิคการสานของช่าง และความเข้าใจในวัสดุใหม่ๆ ที่หยิบจับมาทดลองใช้เปลี่ยนเพียงรายละเอียดของงานบางส่วน ทำให้ช่างฝีมือคนเดิมสามารถสร้างเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุใหม่ๆ ขึ้นมา โดยไม่ต้องเปลี่ยนทักษะหรือเทคนิคการทำงานแบบเดิมๆ 

“คือเราพลิกตัวเองได้ไวมาตั้งแต่ตอนนั้น อย่างตอนนี้เทรนด์ใหม่ๆ เป็นเรื่องของการใช้เทคนิคผูกและมัด เราก็ขยับและเริ่มให้ช่างที่มีลองปรับเปลี่ยนเทคนิคการสาน ให้มาใช้การผูกและมัดมัดกับวัสดุใหม่ๆ ดู ก็ทำกันได้หมดทุกคน จับตัววัสดุอย่างเชือกต่างๆ ได้ทันที ทั้งเชือกจากวัสดุสังเคราะห์และเชือกจากวัสดุธรรมชาติอย่างเชือกหนัง ด้าย อะไรก็ได้หมดเลย มันเหมือนกับว่างานหัตถกรรมนี่อยู่ในดีเอ็นเอของคนบ้านเราเลยนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก” คุณรักษ์เล่าถึงการปรับตัวครั้งใหม่

นักออกแบบผู้ชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลากว่า 30 ปี

นอกเหนือจากเรื่องของวัสดุใหม่ๆ ที่โยธกาหยิบมาใช้สร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างต่อเนื่องแล้ว คุณรักษ์ยังมองหาลูกเล่นและใส่ไอเดียสดใหม่ลงไปในงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งการทำให้การออกแบบเฟอร์นิเจอร์มีกลิ่นอายและจริตของแฟชั่น มีการหยิบเอางานศิลปะที่โดดเด่นจากหลายยุคหลายสมัยมาผสมผสานกับงานหัตถกรรม ทำให้เกิดเป็นลวดลายกราฟิก 

อย่างเช่นในช่วงนี้งานแบบบาโรกกำลังเป็นกระแสอยู่ ก็มีการหยิบมาผสมในงานออกแบบ ปรับเฟอร์นิเจอร์เดิมให้เอื้อต่อการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ อย่างม้านั่งที่เอาไว้ใช้วางล้อมต้นไม้เป็นวงกลมสำหรับภายนอกอาคาร เก้าอี้สำหรับการนั่งเตี้ยๆ แบบอิหร่าน การเอางานหัตถกรรมจากอารยธรรมอื่นมาประยุกต์ใช้ เช่น งานถักเชือกแบบมาคราเม่ (Macramé) ซึ่งเป็นการสานถักที่มีต้นกำเนิดในอาหรับ ไปจนถึงการได้เห็นเก้าอี้ที่ช่างในโรงงานทำกันขึ้นมาเล่นๆ ก็ตาม ล้วนแล้วแต่ถูกคุณรักษ์หยิบมาประยุกต์ใช้กับงานของโยธกาทั้งหมด

“เก้าอี้บางตัวได้ไปเห็นจากที่ช่างทำขึ้นมาเพื่อใช้นั่งเล่นกันเองภายในโรงงาน ผมเห็นแล้วปิ๊งเลยหยิบมาออกแบบใหม่ จนไปเข้าตาเพื่อนและถูกซื้อใช้ในงานแฟชั่นโชว์ ซึ่งมันดูแหวกแตกต่างมากๆ พอมีคนเห็นกันเยอะก็มีรุ่นพี่ที่รู้จักโทรเข้ามาสั่งซื้อเก้าอี้ตัวนั้นมาใช้งานอีกทีด้วย 

ช่วงหลังมีคนพูดกันเยอะว่างานหัตถกรรมมันเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทีนี้งานของโยธกาแม้เราจะหยิบยืมงานหัตถกรรมของที่อื่นมา แต่ก็ต้องขายความเป็นตัวตนแบบคนตะวันออกเข้าไป หรือดัดแปลงให้มันเป็นแบบที่ชาติอื่นทำไม่ได้ เช่น ใช้งานสานหลายๆ แบบมาผสมเข้าด้วยกันคล้ายเทคนิคงานศิลปะแบบคอลลาจ คือถ้าเราไปทำงานหัตถกรรมแบบลายหลุยส์ของฝรั่งเศส เขาไม่จำเป็นต้องมาซื้อของเราก็ได้นะ” คุณรักษ์เล่าถึงการหยิบจับไอเดียใหม่มาใช้ โดยที่ยังคงความเป็นตัวตนไว้ได้

คุณรักษ์หาแรงบันดาลใจในการทำงานยังไงบ้าง ถึงสร้างงานได้ต่อเนื่องมาขนาดนี้ ผมถามต่อ

“ตอนที่มาทำหนังสือเล่มนี้ ผมเพิ่งมารวบรวมงานตัวเองทั้งหมด และได้เห็นว่าตัวเองเป็นคนชอบงานที่มีลักษณะเส้นๆ ทั้งโครงสร้างของเก้าอี้ ไปจนถึงการสานที่เป็นเหมือนงานกราฟิก ทั้งหมดนั้นเป็นเส้นหมดเลย ผมก็ตอบไม่ได้ว่ามันมาจากไหน ถ้าให้คิดคงเหมือนกับเวลาผมเดินทางไปเจออะไรมามากๆ แล้วเจอของที่สวยๆ สักชิ้น ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่เฟอร์นิเจอร์ แต่หมายถึงทั้งงานสถาปัตยกรรม เครื่องประดับ วินโดว์ดิสเพลย์ สเปซที่ว่างต่างๆ ทั้งงานแบบหรูหราหรืองานชาวบ้าน 

“มันเหมือนสมองเราเก็บสะสมไว้เป็นคลัง แล้วเวลาที่ต้องการใช้เราก็ค่อยเรียกมันออกมา แรงบันดาลใจในการออกแบบของผมคือประสบการณ์ของชีวิต ไม่ใช่การไปเห็นนกเหยี่ยวหรืออีกาอะไรแบบนั้น”

ผมเลยสงสัยต่อว่า แล้วงานออกแบบที่ดีหรือนักออกแบบที่ดีในมุมมองของคุณรักษ์นั้นเป็นอย่างไร

“งานออกแบบที่ดีสำหรับผมอาจจะฟังดูเป็นสูตรสำเร็จนะ คือมันต้องมีฟังก์ชันการใช้งานที่ดี เช่น ใช้งานดี ดูแลรักษาง่าย ตอบโจทย์ของผู้ซื้อ อาจจะไม่ต้องสวยที่สุดก็ได้ อย่างเก้าอี้พลาสติกที่ใช้กันตามร้านแผงลอยหรือตามงานศพ หน้าตามันไม่ค่อยดี แต่ฟังก์ชันมันโคตรดีเลย อันนั้นสำหรับผมก็ถือว่ามันเป็นงานออกแบบที่ดีนะ 

“อีกเรื่องหนึ่ง ความสวยงามเป็นเรื่องที่มีหลายระดับและเป็นเรื่องเฉพาะตัว อย่างเวลาที่ผมไปเป็นกรรมการตัดสินงานประกวดต่างๆ ผมจะพยายามไม่เอาความชอบของตัวเองมาตัดสิน เพราะความสวยงามมันมีมิติอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย อย่างก่อนหน้านี้คนชอบใส่กางเกงขาบาน ถ้าเราใส่กางเกงขาเล็กๆ ก็ถือว่าไม่สวย อะไรแบบนี้ 

“แต่สำหรับนักออกแบบที่ดี ควรเป็นคนช่างสังเกตและมีความรู้สึกที่ไวต่อสิ่งต่างๆ มีสายตาที่เฉียบและเฉี่ยว คุณต้องมองในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น และคุณต้องมองเห็นความงามมากกว่าที่คนอื่นเห็น ผมว่านักออกแบบและศิลปินที่ประสบความสำเร็จมักจะมีสองสิ่งนี้” คุณรักษ์ตอบ

ก่อนที่จะร่ำลากันผมถามคุณรักษ์ว่า สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานออกแบบมากว่า 30 ปีคืออะไร

“ผมได้เรียนรู้ในเรื่องการอยู่รอด การปรับตัว และไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ทั้งกับตัวเองและธุรกิจของตัวเองเลย วิถีชีวิตเปลี่ยนไปตลอดเวลา เฟอร์นิเจอร์มันก็ต้องเปลี่ยนไปตลอดด้วยเช่นกัน เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นทางการมากๆ คนก็ไม่ชอบนั่งกันแล้ว หรือเก้าอี้นั่งซักผ้าที่เดี๋ยวนี้คนไม่นั่งซักผ้าด้วยมือแล้ว มันก็ค่อยๆ หายไป”

คุณรักษ์-สุวรรณ คงขุนเทียน

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan