ปอ-ภราดล พรอำนวย เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ 

หลายคนรู้จักเขาในฐานะเจ้าของ North Gate Jazz Co-Op บาร์แจ๊ซชื่อดังที่คนรักเสียงดนตรีจากทั่วโลกแวะเวียนมาที่ร้านของเขา และอีกหลายคนรู้จักปอในฐานะนักเดินทาง ครั้งหนึ่งเขาเคยตัดสินใจเดินทางด้วยวิธีการโบกรถจากเชียงใหม่-ประเทศจีน และยังนั่งรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียเข้าสู่ประเทศรัสเซีย โดยมีแซ็กโซโฟนคู่ใจเป็นเพื่อนร่วมทาง จนกลายมาเป็นเรื่องราวของมิตรภาพและเสียงดนตรีในหนังสือบันทึกการเดินทาง ลมใต้ปอด 

YoRice สาเกหวานไร้แอลกอฮอล์ที่ยกระดับข้าวไทย ช่วยเกษตรกรไทย และแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร

ตัวตนของปอไม่ได้ต่างอะไรกับศิลปินทั้งโลกที่ล้วนมีความช่างฝัน ปอเองมีความฝันที่อยากจะเห็นโลก เห็นผู้คนรอบข้างมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี และเขายังมีความกล้าลุกขึ้นมาลงมือทำในสิ่งที่ฝัน

นักดนตรีผู้นี้ตัดสินใจลุกขึ้นมาลงมือทำงานแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ ในเชียงใหม่ อาทิ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง เขาคิดโปรเจกต์ ‘มือเย็นเมืองเย็น’ ขึ้นมา เพื่อชวนคนเชียงใหม่หันมาเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมือง และร่วมกันปลูกต้นไม้ให้เมืองเชียงใหม่เย็นขึ้น

โปรเจกต์ ‘ครัวกลาง‘ ที่ปอกับเพื่อนๆ ร่วมกันทำเพื่อมอบอาหารให้กับผู้ที่ขาดแคลนอาหารจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงรณรงค์ให้แต่ละชุมชนมีครัวกลางช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นโปรเจกต์ ‘ครัวงาน’ ที่นำเงินจากการระดุมทุนมาช่วยจ้างงานให้กับผู้คนที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งที่ตัวเขาเองก็ตกงานจากคำสั่งให้ปิดสถานบันเทิง รวมถึงงดงานแสดงดนตรีต่างๆ แต่ก็ยังเลือกยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ลำบากกว่า

YoRice สาเกหวานไร้แอลกอฮอล์ที่ยกระดับข้าวไทย ช่วยเกษตรกรไทย และแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร

ล่าสุดนักดนตรีและนักพัฒนาสังคมคนนี้เพิ่งประกาศอีกบทบาทของเขา ในฐานะเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มอามาซาเกะ (Amazake) สาเกหวานไร้แอลกอฮอล์จากข้าวไทย ได้ชื่อว่าเป็น Super Food สุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพของชาวญี่ปุ่น ที่ออกจำหน่ายในนาม ‘YoRice’ แบรนด์เครื่องดื่มจากเชียงใหม่ของปอ นอกจากทำให้ผู้ดื่มได้สุขภาพที่ดีแก่ตัวเอง ทุกขวดที่อุดหนุนยังสนับสนุนความเป็นอยู่ของพี่น้องเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ ช่วยส่งเสริมข้าวสายพันธุ์ไทยชนิดต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ และช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารในค่ายผู้อพยพตามชายแดนไทยได้อีกด้วย 

เรียกว่า YoRice เป็นเครื่องดื่ม 4 in 1 ที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้ถึง 4 ด้านในขวดเดียว

แบรนด์เครื่องดื่มอามาซาเกะจากข้าวไทยนี้ทำได้อย่างไร คำตอบจากปอนั้นมีอรรถรสไม่แพ้รสชาติเครื่องดื่มของเขาเลย

มองเห็นปัญหาข้าวไทย

YoRice สาเกหวานไร้แอลกอฮอล์ที่ยกระดับข้าวไทย ช่วยเกษตรกรไทย และแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร

“จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในเชียงใหม่ ทำให้ร้านของผมต้องปิด เพื่อนที่เป็นช่างภาพก็ไม่ค่อยมีงาน ช่วงระบาดรอบแรกผมกับเพื่อนๆ ยังพอมีกำลัง เลยชวนกันทำเรื่องอาหารชุมชน ทำครัวกลาง ช่วยเหลือคนขาดแคลนอาหาร

“ทีนี้มีเพื่อนๆ ที่ทำเรื่องกลุ่มผู้ไร้รัฐในค่ายผู้อพยพติดต่อมา เล่าให้ฟังว่านอกจากคนไทยแล้ว ยังมีคนชายขอบที่อยู่ในค่ายผู้อพยพ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารจากคำสั่งปิดด่านทั้งหมด ซึ่งปกติเขาจะออกมาในพื้นที่ใกล้ๆ เพื่อทำงานเล็กๆ น้อยๆ แลกกับค่าอาหารกลับไป แต่พอมีการประกาศให้ปิดด่านทั้งหมด ทำให้ค่ายอพยพหกค่ายที่มีคนทั้งหมดหกพันคน มีเด็กสองพันห้าร้อยคน เด็กกำพร้าอีกพันสองร้อยห้าสิบคน ไม่มีข้าวกิน

“พอทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในค่ายอพยพ ก็มาคิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง กลุ่ม Shan State Refugee Committee (SSRC) บอกกับผมว่า ชาวบ้านขอข้าวหักหรือข้าวท่อนก็ได้ จริงๆ มันเป็นข้าวเหมือนกันนี่แหละ แต่ดันหัก ไม่สวย คนไม่กิน เอาไปให้หมูให้ไก่กินเป็นอาหาร จนในที่สุดเราก็ระดมทุนหาซื้อข้าวเหล่านั้นมาได้ในราคาถูก แต่ท้ายสุดเราจะต้องใช้วิธีระดมทุนแบบนี้ไปตลอดเหรอ ก็คงไม่ใช่ ผมจึงพยายามมองหาวิธีการที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่านี้

“นอกจากนี้ การที่ผมเข้าไปทำงานเกี่ยวกับข้าวในคราวนั้น ยังทำให้ผมสงสัยเกี่ยวกับข้าวไทย ทั้งที่เราเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ทำไมสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวนาถึงไม่ดีเลย ทำไมข้าวไทยถึงมูลค่าน้อย ทำไมเรากินข้าวอยู่ไม่กี่ชนิดทั้งที่ข้าวไทยมีตั้งหลากหลายสายพันธุ์ และทั้งที่เราเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับต้นๆ ของโลก ทำไมถึงยังมีเหตุการณ์ขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นได้” ปอกำลังตั้งคำถามกับ ‘ข้าวไทย’

YoRice สาเกหวานไร้แอลกอฮอล์ที่ยกระดับข้าวไทย ช่วยเกษตรกรไทย และแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร

ภูมิปัญญาญี่ปุ่น ยกระดับข้าวไทย

ขณะที่ปอกำลังเกิดความสงสัยอยู่นั้น นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ คุณหมอที่เชื่อเรื่องการทานอาหารให้เป็นยา และทำงานวิจัยเรื่องข้าว ตลอดจนส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์มาตลอดหลายสิบปีก็ติดต่อมาหาเขาพอดี

“คุณหมอก้องเกียรติเสนอว่าจะส่งทีมนักวิจัยเรื่องข้าวเข้าไปช่วยในพื้นที่ ไปสอนให้พี่น้องปลูกข้าวเองได้ เป็นข้าวที่มีคุณภาพ ปลูกแบบอินทรีย์ ดีต่อคนกิน คนปลูก และสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างมาก แต่เรามองต่อไปว่าแค่นั้นอาจยังไม่พอ น่าจะมองหาวิธีที่จะทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยได้ด้วย 

“หนึ่งในวิธีเพิ่มมูลค่าให้ข้าวไทยคือการเพิ่มคุณค่า คุณหมอเสนอไอเดียกับเราว่า ญี่ปุ่นมีอาหารชนิดหนึ่งเป็น Super Food ของเขา นั่นคือ อามาซาเกะ (Amazake) หรือสาเกหวานไม่มีแอลกอฮอล์ เกิดจากการหมักข้าวให้เกิดคุณค่าทางอาหารมากขึ้นด้วยโคจิ (Koji) ทีนี้ทุกอย่างเลยลงตัว เราจึงเกิดไอเดียลองรับซื้อข้าวไทยพันธุ์ต่างๆ ที่ได้จากพี่น้องเกษตรอินทรีย์รวมถึงผู้คนในค่ายอพยพ ไม่ว่าจะสวยหรือหัก มาแปรรูปให้เกิดมูลค่า และเล่าคุณค่าของข้าวแต่ละชนิดผ่านรสต่างๆ จนสุดท้ายเราจึงตัดสินใจทำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอามาซาเกะจากข้าวไทยภายใต้แบรนด์ YoRice ออกมา”

YoRice สาเกหวานไร้แอลกอฮอล์ที่ยกระดับข้าวไทย ช่วยเกษตรกรไทย และแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร
จากภูมิปัญญาอาหารของญี่ปุ่นสู่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากข้าวพื้นบ้านไทย ที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมข้าวพันธุ์ไทยและแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนในค่ายผู้อพยพ

อามาซาเกะคือเครื่องดื่มจากข้าวที่เกิดจากการหมักข้าวกับโคจิ เชื้อราชนิดหนึ่ง (Aspergillus Oryzae) ที่คนญี่ปุ่นนำมาใช้หมักข้าวหรือถั่ว เพื่อให้เชื้อราชนิดนี้เข้าไปทำปฏิกิริยาสร้างเอนไซม์และแบคทีเรียดีให้กับคนกิน คนกินจะมีระบบขับถ่ายที่ดี ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น ร่างกายแข็งแรง แม้แต่ในมิโสะหรือโชยุที่เราคุ้นเคยจากอาหารญี่ปุ่นก็ล้วนเกิดจากการหมักโคจิทั้งสิ้น นี่อาจเป็นเคล็ดลับที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืนก็เป็นได้ และเพื่อดึงคุณประโยชน์ของข้าวไทยแต่ละชนิดให้ออกมามากที่สุด YoRice จึงนำภูมิปัญญาการหมักอาหารของญี่ปุ่นนี้มาใช้ด้วย

แต่จู่ๆ จากนักดนตรีและช่างภาพจะหันมาจับงานธุรกิจเล็กๆ เกี่ยวกับข้าวและภูมิปัญญาการหมักอาหารด้วยเชื้อราของญี่ปุ่น แน่นอนว่ากว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ พวกเขาต้องเสียทั้งเหงื่อและน้ำตาไปไม่น้อยเลย

“แปดเดือนแรกเราใช้เวลาไปกับการศึกษาเฉพาะเรื่องข้าวเลยครับ ผมเป็นนักดนตรี เพื่อนอีกคนเป็นช่างภาพ เราต่างไม่เคยอินเรื่องข้าวมาก่อน เลยพยายามศึกษาหาความรู้ ซึ่งคุณหมอก้องเกียรติก็ส่งทีมนักวิจัยมาให้ความรู้กับเรา เราได้เรียนรู้ ได้ทดลองปลูกข้าวบนนาจริงๆ เราลงมือทำกันเมื่อหน้าฝนปีที่แล้ว นำเมล็ดพันธุ์มาหว่าน ถอนต้นกล้า มัดเป็นกำแช่น้ำ ลองไปปักดำ ทำทุกๆ ขั้นตอนที่เกษตรกรอินทรีย์ทำ เพื่อจะได้เข้าใจความรู้สึก ความลำบากของพวกเขา

“นอกจากการทดลองปลูกข้าว คุณหมอยังพาเราไปดูเกษตรกรอินทรีย์ในจังหวัดต่างๆ ที่ร่วมโปรเจกต์กับคุณหมอ ไปดูนาที่อำเภอแม่แตง ไปดูการปลูกข้าวสินเหล็ก ข้าวสีนิล ซึ่งเราเข้าใจเลยว่าการที่ชาวนาจะเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์มันไม่ง่ายเลย เราก็ไปดูว่ามันไม่ง่ายยังไง คือเกษตรกรที่ใช้สารเคมีมาตลอด เพราะช่วยลดต้นทุนเรื่องแรงงานได้ คุณไม่ต้องไปเอาหอยเชอรี่ออก ไม่ต้องเอาหญ้าออก ไม่ต้องเอาแมลงออก เพราะมันเป็นเคมีน่ะ ไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนจะมากินอยู่แล้วครับ…” ปอเว้นจังหวะ ก่อนจะพูดว่า  “กินไปมันก็ตาย”

จากภูมิปัญญาอาหารของญี่ปุ่นสู่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากข้าวพื้นบ้านไทย ที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมข้าวพันธุ์ไทยและแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนในค่ายผู้อพยพ

“สมมติมีนาอยู่ร้อยแปลง เราทำแบบอินทรีย์อยู่สิบแปลง นก หอยเชอรี่ สัตว์ต่างๆ ก็จะมาลงอยู่แค่สิบแปลงนี้  เพราะสัตว์รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่สารเคมี ไม่อันตราย ชาวนาที่ทำแบบอินทรีย์จึงลำบาก แต่จะลำบากแค่ช่วงแรกๆ เพราะหลังจากที่ดินเริ่มฟื้น ผลผลิตก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ จนดินที่ปลูกไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ผลผลิตดีแบบเดียวกัน แต่ที่สำคัญกว่าผลผลิตคือ สุขภาพของเขา มีคุณลุงคนหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์ จากเคยเป็นโรคหอบหืด โรคที่เกิดจากพิษของการใช้สารเคมี พอลูกสาวเห็นว่าพ่อสุขภาพดีขึ้น เขาก็ดีใจและชวนชุมชนทำด้วยกัน จนกลายเป็นวิสาหกิจกุฉินารายณ์ ที่ปลูกอินทรีย์กันทั้งชุมชน นี่เป็นเรื่องที่คุณหมอเล่าให้ฟัง ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เรา 

“พอได้ลองลงพื้นที่ การที่เราอุดหนุนเกษตรอินทรีย์มันไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อชุมชนด้วย เราได้เห็นกับตาว่าชุมชนสุขภาพดีขึ้น และมีความยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งสารเคมี เรื่องสุขภาพซื้อกันไม่ได้อยู่แล้ว และชุมชนนี้ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนรอบๆ ที่จะขยายตัวเป็นเกษตรอินทรีย์ต่อไปด้วย เราอยากช่วยสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรอินทรีย์ที่ได้พบ”

จากภูมิปัญญาอาหารของญี่ปุ่นสู่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากข้าวพื้นบ้านไทย ที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมข้าวพันธุ์ไทยและแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนในค่ายผู้อพยพ

“นอกจากเรื่องข้าว เราต้องศึกษาเรื่องโคจิที่ใช้หมักกับข้าวไทย ต้องมีห้องควบคุมอุณหภูมิเพื่อเลี้ยงโคจิ มีขั้นตอนการล้างข้าว เพื่อเอาไขมันที่เกาะเมล็ดข้าวออกไปให้ได้มากที่สุด การแช่ข้าว วิธีการนึ่งข้าวโดยไม่ให้น้ำไปโดนเมล็ด ทุกอย่างละเอียดอ่อนมาก เพราะเรากำลังทำงานกับสิ่งมีชีวิต

“เวลาจะเลี้ยงเชื้อโคจิ เราต้องแน่ใจว่าโคจิอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะกับเขา แน่ใจว่าเขาจะแทงรากจนถึงใจกลางข้าวได้ เพราะเขาจะดึงเอาสารอาหารของข้าวออกมาได้เต็มที่ที่สุด ซึ่งเราได้คนญี่ปุ่นที่มีความรู้เรื่องนี้มาช่วยดูให้ในขั้นตอนที่เราหัดทำกัน แต่การเลี้ยงโคจิไม่ง่ายเลยครับ

“กว่าผมจะเข้าใจการเลี้ยงโคจิ ก็เสียทั้งเหงื่อทั้งน้ำตาไปหลายรอบ มันไม่ง่ายเลย” ปอย้ำ 

“การเลี้ยงโคจิยากชนิดที่ว่า เราคิดว่าทำสำเร็จแล้ว เราเริ่มทำแบรนด์มาแล้ว ฉลากมาแล้ว จะโพสต์ขายอยู่แล้ว แต่พอเราลองเอาโคจิมาทำเป็นอามาซาเกะ มันกลับไม่ใช่ ไม่อร่อย เราร่วงตรงนั้นเลยครับ เหมือนกับบิตคอยน์ที่มันร่วงตอนนี้” ปอหัวเราะสนุกก่อนเล่าต่อ “คือการทำโคจิล็อตหนึ่งต้องใช้เวลาเจ็ดสิบชั่วโมงกว่าจะรู้ว่ามันสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราทำอามาซาเกะหนึ่งรอบ ตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสามทุ่ม มารู้ตอนสามทุ่มว่ากินไม่ได้ เจ็ดสิบชั่วโมงบวกกับสิบสี่ชั่วโมงกว่าจะรู้ว่ามันไม่ได้ นั่นแหละครับ ความยากของมันที่ทำให้เราเสียเหงื่อและน้ำตาไปเยอะกว่าจะสำเร็จ”

จากภูมิปัญญาอาหารญี่ปุ่นสู่ YoRice จากข้าวพื้นบ้านไทย ที่ช่วยเหลือเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมข้าวพันธุ์ไทยและแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารในค่ายผู้อพยพ

สาเกหวานไร้แอลกอฮอล์และโคจิจากข้าวไทย

จากความพยายามกินเวลาหลายเดือน ในที่สุด YoRice ก็ผลิตออกมาจนสำเร็จ ได้การรับรองจาก อย. และเริ่มต้นทำตามพันธกิจที่วางไว้ โดยหยิบข้าวสายพันธุ์ไทยจากแต่ละพื้นที่มาทำเป็นรสชาติต่างๆ เช่น รสออริจินัลจากข้าวญี่ปุ่นและข้าวหอมมะลิ รสข้าวมะลินิลสุรินทร์จากจังหวัดสุรินทร์

อนาคตจะมีรสข้าวสินเหล็กจากอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่างให้รสชาติหวานนวลจากน้ำตาลเชิงซ้อน เกิดจากโคจิเข้าไปทำปฏิกิริยาเม็ดข้าว ถือเป็นน้ำตาลที่ดีต่อการบริโภค และการหมักข้าวแต่ละชนิดด้วยโคจิก็ยังทำให้อามาซาเกะแต่ละรสมีกลิ่นหอมหวนเฉพาะตัว

แม้กระทั่งฉลากบนบรรจุภัณฑ์แต่ละรสชาติ ก็ช่วยบอกเล่าคุณค่าของข้าวแต่ละชนิด รวมไปถึงเรื่องราวของผู้ปลูกข้าว ให้ผู้บริโภคได้รู้จักข้าวไทยชนิดต่างๆ มากขึ้น และยังเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางอาหาร ใช้ดื่มทดแทนนมสำหรับคนแพ้นมหรือคนทานมังสวิรัติได้ ที่สำคัญ สาเกหวานของ YoRice ไม่เติมน้ำตาลเพิ่มด้วย

ด้วยความโดดเด่นและแตกต่างจากเครื่องดื่มอื่นในท้องตลาด รวมถึงเรื่องราวภารกิจของแบรนด์ YoRice ที่เล่าออกไป ไม่นานผู้คนที่สนใจเรื่องข้าว เกษตรอินทรีย์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ก็เริ่มเข้ามาอุดหนุนสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันผู้ที่สนใจอุดหนุนเครื่องดื่มจากข้าวไทยพื้นบ้าน สำหรับชาวเชียงใหม่สั่งซื้อได้จากทางร้าน Din Cafe, สมถะ และริมปิง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนคนกรุงเทพฯ อุดหนุนได้ที่ร้าน Rice สาระ และ Passion Food 

จากภูมิปัญญาอาหารของญี่ปุ่นสู่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากข้าวพื้นบ้านไทย ที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมข้าวพันธุ์ไทยและแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนในค่ายผู้อพยพ

ชีวิตดีขึ้นได้ด้วยข้าวไทย

ปัจจุบันพวกเขายังพยายามต่อยอดไปมากกว่าแค่เครื่องดื่ม ปอเล่าให้เราฟังว่า YoRice กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นก็คือ ไอศกรีมอามาซาเกะข้าวไทย และนอกจากผลิตภัณฑ์ ตัววัตถุดิบอย่างโคจิเอง YoRice ก็ทยอยนำเสนอสูตรทำอาหารต่างๆ ด้วยโคจิลงบนเพจของแบรนด์ อาทิ สูตรกับหมักแป้งขนมปังกับโคจิ สูตรการทำมิโซะเองที่บ้าน สูตรการหมักปลาด้วยโคจิกับเกลือ ซึ่งทาง YoRice โดยได้สูตรมาจาก เยาวดี ชูคง เจ้าของร้าน YakkaJon ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น Maadae Slow Fish Kitchen เพื่อให้ผู้ที่สนใจโคจิได้ลองนำไปประกอบอาหารเองได้ที่บ้าน

“ผมมองว่าสิ่งที่ YoRice ทำ คือการเป็นอาหารสุขภาพทางเลือก โดยเรามีโคจิเป็นทางเลือกในการประกอบอาหารให้มีคุณค่ามากขึ้น เหมือนที่เรานำเสนอการนำโคจิมาหมักกับแป้งขนมปัง จะทำให้ขนมปังที่คุณทำไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นด้วย อีกอย่างผมอยากนำเสนอทางเลือกของข้าวพื้นบ้านไทยที่มีถึงสองหมื่นสายพันธ์ุ ผมต้องการนำเสนอความหลากหลาย ผมอยากให้คนหันมาสนใจทางเลือกนี้เพราะมันสำคัญ

“ความหลากหลายที่เขาบอกว่ามันคือความยั่งยืน เป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ถ้าเราไม่รักษาไว้ ความหลากหลายที่เคยมีก็จะหายไป ไม่มีคนกิน ไม่มีคนปลูก ไม่มีคนเก็บเมล็ดพันธุ์ คุณค่าจากข้าวหลายๆ ชนิดในบ้านเราจะหายสาบสูญ และความหลากหลายยังรวมถึงเรื่องการกิน การกินที่หลากหลายสำคัญต่อสุขภาพ หมายความว่าถ้าคุณกินอาหารแบบเดิมซ้ำๆ ก็กลายเป็นโทษ แค่เรากินอะไรเหมือนเดิมทุกวัน เรายังกลืนไม่ลงเลย และการกินที่หลากหลายยังเป็นยาไปในตัว เพราะจะช่วยให้เรามีแบคทีเรียที่ดีในร่างกายที่หลากหลายขึ้นตามไปด้วย

“ข้าวเป็นตัวแทนของอาหารไทย การที่ YoRice ส่งเสริมให้คนหันมาปลูกข้าวพื้นบ้าน และปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นนวัตกรรมทางอาหารที่หลากหลาย ผมว่านี่เป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยทำได้”

จากภูมิปัญญาอาหารญี่ปุ่นสู่ YoRice จากข้าวพื้นบ้านไทย ที่ช่วยเหลือเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมข้าวพันธุ์ไทยและแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารในค่ายผู้อพยพ

ปัจจุบันเครื่องดื่มจากข้าวรสหวานนวลแถมยังดีต่อสุขภาพนี้กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก เมื่อแบรนด์ยืนด้วยตนเองอย่างแข็งแรงแล้ว เขาตั้งใจจะนำกำไรทุกๆ 30 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายไปช่วยเหลือเกษตรกรอินทรีย์และผู้ประสบภัยขาดแคลนอาหาร อย่างไรก็ตาม ปอไม่ได้มองว่าการแบ่งกำไรเพื่อไปสนับสนุนคือทั้งหมด แต่เขามองว่าทุกกระบวนการทำงานของ YoRice ตั้งแต่ขั้นตอนแรกก็ช่วยสนับสนุนผู้คนที่เขาตั้งใจช่วยเหลือได้

“ผมว่าการอุดหนุนสำคัญต่อกระบวนการมาก ไม่ใช่ว่าคุณประกอบธุรกิจให้ได้กำไร แล้วเอากำไรไปช่วยเหลือ ตั้งแต่เริ่มไปอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกแบบอินทรีย์ รับซื้อข้าวในราคายุติธรรม ทำงานร่วมกับนักวิจัยที่ให้องค์ความรู้กับภาคเกษตรกร นำเมล็ดข้าวหักที่หลายคนมองว่าไม่มีค่า มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น ระหว่างนั้นก็ทำงานให้องค์ความรู้ร่วมกับชุมชน ร่วมกับคนในสังคม ถ้าเหลือกำไรก็นำมาสนับสนุนให้เกิดเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ส่วนผู้ไร้รัฐในค่ายอพยพ เราตั้งใจอุดหนุนข้าวอินทรีย์ที่เขาปลูกจากที่คุณหมอไปให้ความรู้ และนำกำไรมาช่วยเหลือในด้านต่างๆ ต่อไป

“YoRice เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน เราพยายามช่วยแก้ไขปัญหาเท่าที่เราจะทำได้ แน่นอนว่าผมฝันถึงการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ แต่การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือหลายภาคส่วน ต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐ 

“ถ้า YoRice เป็นจุดเริ่มต้นให้คนหันมาเห็นความสำคัญของปัญหาที่เราพยายามนำเสนอ เห็นคุณค่าของข้าวไทย เห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมถึงความเป็นอยู่ของผู้คน ต่อไปคงมีผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจดี และส่งผลไปสู่สิ่งดีๆ เยอะขึ้น ผมเชื่อว่าหลายปัญหาก็คงจะค่อยๆ ดีขึ้น แถมเรายังได้กินผลิตภัณฑ์ที่อิ่มท้องแล้วยังอิ่มใจด้วย”

จากภูมิปัญญาอาหารญี่ปุ่นสู่ YoRice จากข้าวพื้นบ้านไทย ที่ช่วยเหลือเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมข้าวพันธุ์ไทยและแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารในค่ายผู้อพยพ

Lessons Learned

  • หากธุรกิจเริ่มต้นจากหลายปัญหา จงทำให้น้อย แต่ส่งผลประโยชน์และแก้ไขปัญหาให้ได้มาก
  • ธุรกิจที่มาจากความตั้งใจดี จะส่งเสริมให้แบรนด์มีคนรักและเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ

ติดตามเรื่องราว สถานที่จำหน่ายและสั่งซื้อ YoRice ได้ที่

เว็บไซต์ : www.yoricedrink.com

Facebook : Yorice Amazake เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

Line ID: @yorice

โทรศัพท์ : 09 5595 5244

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ