ตอนนี้น้าโย่งอายุเท่าไหร่คะ – เราเปิดบทสนทนา

“ฉันลืม” ชายตรงหน้าตอบทันที “เกิดมานานแล้วเลยลืม ไม่รู้ว่าอายุเท่าไหร่” 

น้าโย่ง เชิญยิ้ม หรือ พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา ตลกมากฝีมือที่ฟื้นเพลงพื้นบ้านไทยให้กลับมาร่วมสมัย กำลังใช้ความคิดไล่เรียงปีเกิด “น้าเกิดปีศูนย์หนึ่ง” ก่อนจะตอบคำถามด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “ตอนนี้ก็หกสิบสามเต็ม”

63 – เลข 2 หลักบอกจำนวนขวบปีอันแลกมาด้วยประสบการณ์ทั้งชีวิตของ น้าโย่ง เชิญยิ้ม ตลกที่ฝันอยากเป็น ‘ตลก’ และเส้นทางสู่ ‘อาชีพตลก’ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างฟุ่มเฟือยที่สุด ที่สุดเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้ 

ระหว่างทางก่อนเท้าก้าวเข้าเส้นชัย พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา เก็บเกี่ยวและเรียนรู้มาตลอด เขาเข้าสู่วงการบันเทิงพื้นบ้านด้วยการฝึกร้องเพลงฉ่อยตั้งแต่ประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 จบประถมศึกษาชั้นปีที่ 7 ก็หัดลิเก จนมาอยู่กับคณะเฉลิมชัยลือชา และแจ้งเกิดเป็น ‘ก้านยาว เก้ากะรัต’ ตัวโจ๊กในคณะลิเกศักดิ์นรินทร์ ดาวร้าย คณะลิเกที่มีชื่อเสียงโด่งดังทางภาคเหนือ, โรงลิเก คือสถานที่ที่ทำให้เขาเจอ บุญสม เอี่ยมชาวนา รักแรกและรักเดียวของหนุ่มพิษณุโลกคนนี้

ต่อจากนี้คือเรื่องราวชีวิต สุข เศร้า และรักต้องสู้ ของน้าโย่ง เชิญยิ้ม ชายที่เชื่อในความพยายามและไม่หยุดเรียนรู้ ผู้เป็นบุคคลสำคัญที่ฟื้น ‘เพลงฉ่อย’ กลับมาอย่างทันสมัย เป็นที่ถูกใจของคนทุกวัย จนสังคมออนไลน์ต้องร่างสาส์นถึงเวิร์คพอยท์ให้เสนอน้าโย่งเป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ เพราะความตั้งใจในการอนุรักษ์และสืบสานเพลงพื้นบ้านไทย

โย่ง เชิญยิ้ม วัย 63 เล่าเรื่องเพลงฉ่อย รักแรกในคณะลิเก และอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณ

ลูกชายที่เติบโตมากับทุ่งนาและเพลงฉ่อย

“พ่อแม่ทำไร่ทำนา เรามีพื้นฐานไม่รวยอยู่แล้ว ก็เลยยากจนอย่างถาวรมาตลอด พอโตมาหน่อยก็เลี้ยงควาย ช่วยพ่อแม่ไม่ค่อยได้เพราะไม่แข็งแรง แม่บอกว่านมเขามีไม่พอกิน นมแม่น้อย มีแค่สองเต้า” เขาหัวเราะ “พูดเล่น”

“เราเป็นลูกคนเดียว ที่บ้านก็มีพ่อกับแม่อย่างละคนเท่านั้นเอง” เราเกือบหลงกลคำพูดของรุ่นใหญ่ “แต่พ่อตายตอนน้าเจ็ดขวบ คุณแม่เลยเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เราก็เป็นเด็กบ้านนอกที่สงบเสงี่ยม ไม่ซนจนขนาดไฮเปอร์”

ชีวิตวัยเด็กของ พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา ในจังหวัดพิษณุโลก เป็นอย่างนั้น 

จนกระทั่ง ป.5 เขาได้เรียนเพลงฉ่อยจากป้านกหวีด เป็นการฝึกฝนและมอบศาสตร์เพลงพื้นบ้านจากแม่เพลงสู่ลูก-หลาน ซึ่งการหัดร้องก็ต้องอาศัยตำราเพลงฉ่อย ป้านกหวีดชวนลูกหลานจับมือกันเดินไปบ้านพ่อเพลง

“ป้านกหวีดไม่มีตำรา ต้องไปเอาตำราจากพ่อคมคาย ตอนนั้นนั่งรถไปลงกลางทาง แล้วเดินลัดทุ่งนาอีกสี่ถึงห้ากิโล เราเป็นเด็ก รองเท้าก็ไม่มี เดินลัดทุ่งตอนเขาเพิ่งเกี่ยวข้าวเสร็จ ฝุ่นกำลังฟุ้งร้อน พื้นกำลังอมแดด ป้าก็เอาผ้าขาวม้ามากางเหมือนปีกนกให้หลาน ๆ เดินกันสองสามคน ถ้าเหนื่อยก็เดินไปหยุดพักใต้ร่มไม้ที่ไม่มีใบ เราจำได้ดี

“พอได้ตำราก็ต้องเดินกลับ ตำราอยู่ในห่อผ้าขาวม้า เก่ามาก ข้อความในตำราก็เลือน เพราะเปิดบ่อย มันก็ถู ๆ กัน แต่ป้านกหวีดเขาเป็นเพลงฉ่อยอยู่แล้ว ก็เลยแต่งเพิ่มเอาเองมั่ง น้าโย่งก็ได้เรียนตำรานั้นจากป้า” 

โย่ง เชิญยิ้ม วัย 63 เล่าเรื่องเพลงฉ่อย รักแรกในคณะลิเก และอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณ

ถ้าถามว่าเด็กชายพิเชษฐ์รักการร้องเพลงฉ่อยขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่า

“อาบน้ำ ปีนต้นไม้ ขึ้นหลังควาย ก็ร้องเพลงฉ่อย ร้องตั้งแต่ยังไม่เข้าจังหวะ จนตอนนี้ก็ยังไม่เข้า” 

“ตอน ป.5 ที่น้าหัดเพลงฉ่อย ความนิยมเรื่องการแสดงแขนงนี้เริ่มถอย เรารู้สึกเลยนะ แต่ป้านกหวีดก็พอมีงานบ้าง ตอนน้าเด็ก ๆ เขาคงมีงานกันมากกว่านี้ เพราะป้าบอกว่าเพลงฉ่อยทำให้เขาหากิน เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าได้เลย อาชีพนี้เมื่อก่อนได้รับความนิยมมาก พอกิน พอเลี้ยง อย่างว่านะศิลปินพื้นบ้าน ซึ่งป้านกหวีดเป็นแม่เพลงเลย

“ป้าเขาเล่นเป็นอาชีพ มีวง มีผู้หญิง มีผู้ชาย ร้องแก้กันสนุกสนาน แล้วสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องไฟ บางวงก็อาศัยตะเกียงเจ้าพายุ สมมติเขาเล่นอยู่หัวบ้านนู้น บ้านเราได้ยิน ก็นอนฟัง ได้ยินเสียงคนเฮ เขาร้องแก้กัน แล้วน้าก็เคยไปดูเขาฉ่อยกันในทุ่งนาด้วย ยังเคยทันเห็นภาพพวกนี้” น้าโย่งเล่าบรรยากาศความรุ่งเรืองของเพลงฉ่อยในความทรงจำ

เมื่อตบเท้าเข้าวงการบันเทิง (พื้นบ้านไทย) เขายังคงมีเพลงฉ่อยไหลวนอยู่ในสายเลือด หลังเรียนจบชั้น ป.7 ราว 2 ปี พิเชษฐ์ก็สปาร์กจอยกับศิลปะพื้นบ้านอีกหนึ่งแขนง ‘ลิเก’ เขาหัดลิเกกับครูติ่ง คณะหอมหวลเล็ก

“ครูเขามองเรา ไอ้นี่ตัวก็ผอม เสียงก็อย่างนั้น ให้เป็นตัวโกงคงไม่มีใครกลัว ให้เป็นพระเอกก็คงไม่ได้ เลยให้เป็นตัวโจ๊ก ตั้งแต่นั้นน้าก็ร่อนเร่เล่นลิเกไปเรื่อย แล้วก็ไปอยู่ประจำกับคณะเฉลิมชัยลือชา เป็นลิเกดังทางภาคเหนือ 

“แล้วก็มาอยู่ประจำกับศักดิ์นรินทร์ ดาวร้าย เป็นลิเกดังทางภาคเหนือเหมือนกัน อยู่กับเขาหลายปี อยู่จนได้เป็นคู่เขยกัน ยายสม (บุญสม เอี่ยมชาวนา) ที่อยู่ด้วยกันทุกวันนี้ก็เป็นน้องเมียของศักดิ์นรินทร์ ดาวร้าย” 

เส้นทางตัวตลกในคณะลิเกกำลังเดินคู่ขนานไปกับเส้นทางความรักของ ‘ก้านยาว เก้ากะรัต’

ชายหนุ่มที่มีรักแรกและรักเดียวเป็นนางเอกลิเก

“น้าขอยายสมมาสองพันสี่สิบบาท สองสลึง” ตัวตลกประจำคณะลิเกศักดิ์นรินทร์ ดาวร้าย เปรย

พิเชษฐ์แจ้งเกิดเป็นดาวโจ๊กในคณะลิเกนาม ‘ก้านยาว เก้ากะรัต’ เราถามเขาถึงชีวิตรัก มันเริ่มต้นอย่างไร เรื่องราวของตัวตลกตกหลุมรักนางเอกลิเก – เล่าได้ใช้มั้ยเรื่องชีวิตคู่ (เขาถามย้ำให้แน่ใจ) เราพยักหน้าแทนคำตอบ

“ก็เป็นเพื่อนกัน” คลาสสิก เราคิดในใจ “ยายสมเป็นน้องพี่เป้า พี่เป้าเขาเป็น… น้าก็พูดไปเรื่อย แกไม่รู้จักหรอก เอาเป็นว่าน้ารู้จักแล้วกัน” เขาหัวเราะ “พี่เป้าเป็นเมียพี่ศักดิ์นรินทร์ น้าก็เป็นเพื่อนยายสม เพื่อนแบบไอ้ อี มึง กู เลย”

เพราะความสนิทและห่วงใยฉันเพื่อน ทำให้มวลความรักก่อตัวขึ้นในหัวใจชายหนุ่มและหญิงสาว 

“บางทีเราทำงานปิดวิกลิเกเร่ พี่ศักดิ์นรินทร์ใช้เราแห่ป้ายโฆษณาบ้าง ร้องวิกบ้าง พอกลับเข้าครัวมาก็ไม่ค่อยมีอะไรเหลือแล้ว สองผัวเมียเขากินกันหมด เหลือแต่น้ำ ๆ บ้าง ผัก ๆ บ้าง แต่ยายสมเขาเป็นคนทำครัว เขาก็ตักไว้ให้เรากิน ก็เลยเกิดความอบอุ่น ห่วงใยกันมาเรื่อย หนักเข้าพอใครมาจีบเขา เราก็ไม่ค่อยชอบ ไม่อยากให้ใครมาจีบ

“เวลาเขาไปเล่นลิเกกับอีกคณะ ไม่ว่าจะแสง รัตนศิลป์, ภิรมย์ รุ่งเพชร, ศักดิ์นรินทร์ ดาวร้าย ซึ่งคณะเหล่านี้มีชื่อเสียง แล้วก็เป็นญาติยายสมทั้งนั้นเลย เวลาไปเล่นต่างคณะ ก็เริ่มคิดถึงเขา เรียกว่ารักหรือเปล่าไม่รู้นะ”

เมื่อน้าสมต้องไปเล่นลิเกกับอีกคณะหนึ่ง จำต้องโดยสารรถไฟจากจังหวัดพิษณุโลกไปอำเภอตะพานหิน และโดยสารรถไฟกลับจากอำเภอตะพานหินมาจังหวัดพิษณุโลก ก็จะมี ‘เพื่อน’ มาคอยรับที่สถานีเสมอ 

“เราเป็นห่วงถึงขนาดไปรับเขา ยืนจ้องว่าอยู่ตู้ไหน พอเขาลงมาก็หิ้วหีบใส่เครื่องลิเก นั่งกลับบ้านมาบนสามล้อคนเดียวกัน มันถูกบ่มงอมหรือยังไงไม่รู้นะ เวลาไปไหนกับเขาก็มีความสุขดี มีครั้งหนึ่งลิเกคณะพี่ศักดิ์นรินทร์หยุด ก็เลยไปดูหนังกัน ดูเรื่อง มหาหิน ที่พิษณุโลกรามา มีพี่ศักดิ์นรินทร์ เมียเขา ลูกเขา แล้วก็มียายสมไป น้าไป

“พอหนังจบ กำลังเดินกลับ มีผู้ชายคนหนึ่งขี่รถมอเตอร์ไซค์มารับยายสม”

โย่ง เชิญยิ้ม วัย 63 เล่าเรื่องเพลงฉ่อย รักแรกในคณะลิเก และอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณ
โย่ง เชิญยิ้ม วัย 63 เล่าเรื่องเพลงฉ่อย รักแรกในคณะลิเก และอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณ

แล้วน้าโย่งรู้สึกยังไง – เราลุ้นคำตอบ

“มันเจ็บดีเหมือนกัน แกเดินมากับฉัน แล้วแกไปกับคนอื่น ใจตอนนั้นเริ่มเป็นห่วง พอกลับมาคิดตอนนี้ไม่รู้จะเจ็บทำไม เขาก็มารับไปส่งที่บ้านที่เราจะไปนี่แหละ แต่คืนนั้นน้านอนไม่หลับเลยนะ ไม่สบายใจ เลยเขียนจดหมาย”

‘ลาก่อนเวทีสุดที่รัก’ ชายหนุ่มจั่วหัวบนหน้ากระดาษ 

“ตอนเช้าน้าทิ้งจดหมายไว้ แล้วหิ้วกระเป๋าลงจากบ้าน จะกลับไปหาแม่ เลิกดีกว่าอาชีพลิเก มันไม่สบายใจ ตอนที่หิ้วกระเป๋าลงมา ข้างบ้านก็เปิดวิทยุ เป็นเพลงของ แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ ช่วงนั้นกำลังดัง เขาร้องว่า ‘หิ้วกระเป๋าก้าวลงบันได…’ แล้วตอนนั้นฝนตกด้วย น้าเดินฝ่าฝนแต่ไม่รู้สึกเลยว่าฝนตก เดินตากฝนไปคิวรถสองแถว ตังค์ก็ไม่มีติดตัว

“มีรถเพื่อนอยู่คันหนึ่ง มันวิ่งเข้าหมู่บ้าน น้าก็อาศัยรถเพื่อนกลับ มันก็ต้องรอผู้โดยสารเต็มก่อนถึงจะออก น้าก็ขึ้นไปนั่งรอบนรถ ระหว่างที่รอ อยู่ ๆ ได้ยินเสียง ‘จะไปไหน’ พอหันมาอีกทีหนึ่ง ยายสมเขาเดินกางร่มมา” 

แล้วน้าโย่งทำยังไง – เราลุ้นคำตอบ

“น้าก็ไม่ตอบ” หัวใจชายหนุ่มช่างเด็ดขาด

“เขาพูดอีกว่า ‘กลับเดี๋ยวนี้’ น้านอนอัดอั้นมาทั้งคืน แล้วมาใช้คำว่า ‘กลับเดี๋ยวนี้’ กับเรา”

แล้วน้าโย่งทำยังไง – เราลุ้นคำตอบ

“พอน้าได้ยิน ก็ลงรถ แล้วไปกับเขาเลย” อ้าว คดีพลิก! ชายหนุ่มพ่ายต่อความรักที่มีให้หญิงสาว 

“น้าเดินตากฝนกลับไปกับเขาใต้ร่มคันเดียวกัน เหมือนมิวสิกเลย จากนั้นก็เริ่มฝากตังค์เขาบ้าง มันรู้สึกอยากฝากแต่น้าไม่แนะนำใครนะ ถ้าฝากแล้วจะเคยชินตลอดชีวิต รู้แบบนี้ไม่ฝากดีกว่า” น้าโย่งเตือนด้วยเสียงหัวเราะ

หลังม่านโรงลิเกกลายเป็นโลกสีชมพู มีเพียงดาวตลกและนางเอกลิเกเท่านั้นที่รู้ แต่ด้วยเกรงสายตาญาติผู้ใหญ่กลายเป็นว่า ยิ่งใกล้-ยิ่งห่าง เธอนั่งมุมนั้น-ฉันนั่งมุมโน้น ถึงกระนั้น สิ่งใดเล่าจะพรากใจต่อใจ 

“น้าใช้วิธีมองกันผ่านกระจกแต่งหน้า จะได้ไม่มีใครรู้ ทีแรกก็มองเขาในกระจกอยู่นาน เขาก็มองเรา เริ่มรู้กัน ก็เล่นอะไรกันในกระจก มันเป็นอย่างนั้น จนกระทั่งไปปรึกษากับพี่ศักดิ์นรินทร์ ให้ไปช่วยขอยายสมให้หน่อย

“พี่ศักดิ์นรินทร์ก็ไปกับเรา แล้วก็มีผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง เหี้ยมหาญ เทวายอดน้ำหอม เป็นลิเกเหมือนกัน ตอนนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ ก็สุ่มไป จากพิษณุโลกไปตะพานหิน ไปบ้านพี่สาวเขา ไม่มีใครอยู่กันสักคน ทีนี้ผู้ใหญ่ที่ไปกับเราเขาต้องกลับ น้าก็เลยอยู่ขอกับพี่สาวเขา เขาบอกว่ารักกันได้อยู่กันดี ก็ทำให้ผีรู้คนเห็น เขาก็เรียกสองพันสี่สิบบาท สองสลึง”

หัวใจน้าโย่งผูกกับน้าสมมาตลอด 44 ปี, เราถามด้วยความสงสัยว่า น้าสมคือรักแรกหรือเปล่า

“ก็ไม่เคยมีเมียหลายคน” น้าโย่งยิ้ม 

“น้าอยู่กับยายสมมาตลอด ไม่รู้จะทิ้งยังไง ไม่เคยหัดทิ้งใครมาก่อน”

โย่ง เชิญยิ้ม วัย 63 เล่าเรื่องเพลงฉ่อย รักแรกในคณะลิเก และอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณ

ดาวตลกที่นอนฝันหลังโรงลิเกว่าอยากเป็นตลก

“น้านอนฝันว่าได้เล่นตลกกับคณะเชิญยิ้ม”

ก้านยาว เก้ากะรัต ตื่นจากความฝันและพบความจริงว่าตัวเขานอนอยู่หลังโรงลิเก ความบันเทิงประเภทสร้างเสียงหัวร่องอหายยั่วเย้าให้เขาอยากผันตัวจากดาวตลกประจำคณะลิเกสู่อาชีพ ‘ตลก’ ที่ตัวเขาเองได้แค่ ‘ฝัน’

“น้ารู้ว่าไม่มีทางหรอก” เขาเชื่อแบบนั้น “พอตื่นขึ้นมา น้ายกมือไหว้พ่อแก่ ‘ขอให้ลูกได้ไปเล่นตลก’”

เขาอาศัยศรัทธา ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะดลบันดาลให้ความฝันกลายเป็นความจริง แต่โชคชะตาไม่เคยเล่นตลก

“มีวันหนึ่ง พี่สมหมาย เจริญสุข เขาเล่นลิเกอยู่กรุงเทพฯ แต่วันนั้นมาเล่นกับศักดิ์นรินทร์ ดาวร้าย ก็มีโอกาสเปิดใจกันว่าน้าอยากเล่นตลก เขาบอกว่าถ้าอยากเล่น เดี๋ยวพาไป เพราะรู้จักตลกหลายคน ก็ตัดสินใจบอกแม่ บอกยายสม ว่าขอไปตามความฝัน ตอนนั้นไม่มีตังค์หรอก มีมอเตอร์ไซค์อยู่คันเดียว ยามาฮ่าเมท สีแดง ตัดสินใจขายมอเตอร์ไซค์ แล้วเอาทองติดตัวมาหนึ่งบาท น้าเดินทางมาตอนกลางคืน วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ตรงกับวันอังคาร จำได้เลย

“น้ามาลงที่สถานีหัวลำโพงด้วยกางเกงสแล็ก รองเท้าผ้าใบ กระเป๋าลูกเท่าหม้อข้าว เสื้อสีเหลืองดอกคูน เพราะกลัวจะไม่เหลืองเท่าคนกรุงเทพฯ” เป็นครั้งแรกที่เข้ากรุงเทพฯ – เราถาม “ครั้งแรก” ว่าที่ (ตลก) ตอบทันที

สมหมาย เจริญสุข พาก้านยาวไปฝากตัวกับคณะเทพ โพธิ์งาม, เพชร ดาราฉาย, พ่อดม ชวนชื่น, โน้ต เชิญยิ้ม ที่เอ่ยถึงมาทั้งหมดสมาชิกเต็ม! ไม่มีตำแหน่งว่าง เขาไม่ชวด เพราะโชคยังเข้าข้าง, วันที่ 12 ภายในเดือนเดียวกันกับที่เขาตัดสินใจบอกลาแม่และคนรักมาทำตามความฝัน ในที่สุดก้านยาวก็ได้ลงปักฐานกับคณะน่ารัก ในฐานะ ‘ตลก’

“เล่นครั้งแรกที่ร้านกระท้อน ไก่ลอยฟ้า แถวบางนา เล่นเป็นตัวนางมณโฑ ตอนนั้นดีใจมาก เป็นการปรับตัวครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับอาชีพตลก อย่างเล่นลิเก คนดูตั้งใจดูอยู่แล้ว เขารู้ว่าเราเป็นตัวโจ๊ก แฟน ๆ เราก็พอมี แต่เล่นตลก ทุกคนเป็นตลกกันหมดเลย ใครจะเป็นศูนย์หน้า เป็นตัวยิงเท่านั้นเอง ตอนนั้นก็ยังไม่เข้าใจอะไรมาก แต่อยากเล่น 

“จริง ๆ แล้วประสบการณ์ที่เล่นลิเกมาเอามาใช้ได้หมด น้ารู้สึกว่าไม่ได้เสียเวลากับการเรียนรู้นะ เพียงแต่ว่าจังหวะไหนจะหยิบอะไรขึ้นมาใช้ มันเป็นอย่างนั้นมากกว่า ซึ่งสิ่งที่คล้ายกันมันคือการแสดงและความบันเทิง วันแรกมันเล่นยากมาก น้ารู้สึกเลย ฉะนั้นต้องใส่ความพยายามเข้าไปอีก ต้องใช้ความพยายามให้เปลืองเข้าไปอีก น้าก็ถามพี่ ๆ ที่เขาอยู่ก่อนหน้าว่าเล่นยังไง หาความรู้ตลอด จนกระทั่งเล่นเข้ากัน น้าก็เล่นตลกอยู่กับคณะน่ารักเกือบปี 

“วันนั้นสิ่งที่ทำให้น้ามีความสุขไม่ใช่รายได้” แล้วความสุขนั้นคืออะไร – เราถามทันที

“ความฝันที่เดินตามมาถึงแล้ว น้าถือว่าทำสำเร็จในการเดินทางจากบ้านนอกมาเป็นตลกในกรุงเทพฯ” 

โย่ง เชิญยิ้ม วัย 63 เล่าเรื่องเพลงฉ่อย รักแรกในคณะลิเก และอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณ
โย่ง เชิญยิ้ม วัย 63 เล่าเรื่องเพลงฉ่อย รักแรกในคณะลิเก และอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณ

อาชีพตลกที่ต้องตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไป

หลังจากประกอบอาชีพตลกครบขวบปี ตลกบางคณะมีคนแยกตัว โยกย้ายมาอยู่คณะนี้ คณะโน้น หรือสร้างคณะของตัวเองขึ้นมา วันหนึ่ง ยาว อยุธยา แยกตัวออกจากคณะเพื่อมารวมตัวกันสร้างคณะใหม่ แต่ยังขาดสมาชิกอยู่หนึ่งคน จึงต่อสายมาบ้านพักที่น้าโย่งพักอยู่ โดยตั้งใจจะโทรศัพท์มาขอเบอร์ของ ทองเปีย ซุปเปอร์โจ๊ก 

“แต่น้าดันไปรับสาย” ความสนุกก็บังเกิด แถมด้วยการตัดสินใจครั้งใหญ่ของตลกน้องใหม่

“ฮัลโหล ใครอะ (ปลายสายถาม), ผมยาวนะ, นี่พี่ยาว (ยาว อยุธยา) นะ, ยาวกับยาวคุยกัน พี่ยาวบอกว่า พี่ ๆ กำลังตั้งคณะกัน มึงจะเอามั้ย ถ้ามึงจะเอามาหาพี่ที่ธนบุรี ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ทางนั้นก็เคยเห็นเราเล่นผ่านตามาบ้าง 

“น้าก็ไปหา พอพี่ยาวเล่นเสร็จเขาก็เรียกขึ้นรถ พาขับวนคุยกัน ตอนนั้นคณะน่ารักยังไม่รู้ แต่น้าเริ่มไม่สบายใจแล้ว การออกจากคณะน่ารักมันยาก เพราะถูกปลูกฝังมาจากที่นั่น แล้วแม่ก็เคยบอกว่า การเนรคุณคนไม่ใช่ของดี แกเอ้ย มันลำบากใจ คืนนั้นนอนไม่หลับเลย น้ารับปากเขาแล้วว่าจะไป อีกวันตื่นมาเจอ พี่จำปี สีเดียว (แอนนา ชวนชื่น) สนิทกันมาก เขาเคยเป็นตลกของสายัณห์ สัญญา มาก่อน แกนั่งซักผ้าอยู่ น้าก็นั่งอยู่บนโต๊ะ เราแกล้งถามลองใจพี่ปี้ว่า

“พี่ปี้ ถ้าคณะเทพ โพธิ์งาม หรือคณะใหญ่ ๆ มาชวนพี่ พี่จะไปมั้ย”

จำปี สีเดียว เงยหน้าจากกะละมังซักผ้ามาตอบทันที

“อยู่ทำเหี้ยอะไรล่ะ มีอนาคตก็ต้องไปสิ” ปี้ตอบ 

“พี่ปี้เขาพูดแบบนี้เลย ซึ่งน้านอนคิดทั้งคืนเลยนะ แต่ในช่วงจังหวะที่พี่ปี้เงยหน้าจากกะละมังซักผ้ามาหาเรา เขาตัดสินใจได้แล้ว มันทำให้น้ารู้สึกว่า พี่เขาก็ไม่ได้จะอยู่กับเราตลอดชีวิต มีอะไรที่ดีกว่าสำหรับการก้าวของเราก็ไป แต่ทางนี้คณะน่ารัก น้าก็ยังนับถือ ยังรักใคร่กันเหมือนเดิม น้าก็เลยตัดสินใจไปอยู่กับคณะเด่นรวมดาว” น้าโย่งเล่า

จนกระทั่งคณะเด่นรวมดาวแยกจากกัน โย่ง พิษณุโลก เลยร่วมคณะกับ ยาว อยุธยา และ ยอด นครนายก จน พ.ศ. 2538 น้าโย่งตัดสินใจตั้งคณะของตัวเอง ชื่อคณะโย่ง พิษณุโลก ด้วยเหตุผลว่า อยากเล่นตลกในแนวของตัวเอง

“ก่อนหน้านี้น้าเล่นแต่งตัวเป็นผู้หญิงบ้าง สาวเหนือบ้าง โปะหน้าโปะตาคนก็จำไม่ได้ ก็อยากเปลี่ยนมาเล่นแนวคำพูด เอาภาษามาเล่น เอาคำพูดมาร้อย เริ่มไม่เหมือนละครแล้ว หามุกรอบตัวมาเล่น อยากเล่าเรื่องตลกในแบบของเรา ซึ่งก็ได้รับความเมตตาจากผู้หลักผู้ใหญ่ ตอนนั้นไปหาพี่โน้ต ขณะที่กำลังมีความทุกข์ว่าจะมีงานมั้ย จะไปอีท่าไหน จะเซ จะรุ่ง พี่โน้ตเห็นเราเครียด ๆ ก็บอกว่า ไอ้โย่งมึงไม่ต้องเครียด มึงไม่ต้องคิดมาก เอาสมองไปคิดมุกดีกว่า

“จากนั้นน้าเหมือนโดนอุ้ม แกบอกว่าไปแทนงานพี่เลย วันนี้พี่ไม่ไป ตอนนั้นคณะน้ายังไม่มีนักดนตรี เขาก็สั่งนักดนตรีของเขาไปกับเรา พาเข้าวิลล่าดารา พระรามเก้า ซึ่งตลกหน้าใหม่กับที่ใหญ่ ๆ ยาก ไม่มีสิทธิ์ แต่เขาดันเราเข้าไปเลย พี่เด่นก็เอาไปเล่นรายการบ้าง จนกระทั่งได้ออกรายการ ทไวไลท์โชว์ ได้บวชถวายสมเด็จย่า พี่โน้ต พี่เป็ด ก็บวชด้วย มีโอกาสนั่งฉันข้าวด้วยกัน พี่เขาบอกว่า สึกแล้วไปเล่นรายการกัน เขาทำรายการ มุมหัวเราะ อยู่ช่องสาม แล้วก็กลายมาเป็นรายการ สมาคมคนเส้นตื้น อยู่พักหนึ่ง และสุดท้ายเป็นรายการ ก่อนบ่ายคลายเครียด เราก็เล่นกับเขามาตลอด”

เล่นตลกมาหลายปี แต่เคราะห์ไม่ดี ตรงชื่อ โย่ง พิษณุโลก คนจำไม่ได้ เลยขอ เป็ด เชิญยิ้ม และ โน้ต เชิญยิ้ม มาใช้สกุลเดียวกัน เป็น โย่ง เชิญยิ้ม ซึ่งตลกรุ่นพี่ก็อนุมัติด้วยความยินดี ทำให้เป็นที่รู้จักดังจวบจนปัจจุบัน 

เรื่องราวของ พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา ในวันที่ชีวิตกลายเป็น ‘โย่ง เชิญยิ้ม’
เรื่องราวของ พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา ในวันที่ชีวิตกลายเป็น ‘โย่ง เชิญยิ้ม’

เพลงฉ่อยที่อยู่ในลิเก ตลก และทอล์กโชว์

น้าโย่งเป็นตลกคนแรกที่จัดทอล์กโชว์เป็นของตัวเอง เรื่องมันเริ่มจาก อาจารย์พิษณุ สกุลโรมวิลาส ไปนั่งดูตลกคาเฟ่ที่พระรามเก้า และเห็นลวดลายลีลาของน้าโย่ง ก็เลยชวนไปทอล์กโชว์ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับนักพูดชื่อดังหลายท่าน ซึ่งการขึ้นเวทีทอล์กครั้งนั้นของน้าโย่งก็ถูกบันทึกเทปและออกฉายในรายการโทรทัศน์ช่อง 5 

การไม่หยุดเรียนรู้ นำไปสู่การจัด โย่ง ทอล์ก ตอน โย่งแอ๊ดว้านซ์ ไร้สารเครียด ใน พ.ศ. 2542 

“มันเป็นการปรับตัวอีกแล้ว ปรับจากลิเกมาเป็นตลก ปรับจากตลกมาเป็นทอล์กโชว์ เหมือนเล่นฟุตบอลคนเดียวทุกตำแหน่ง ปูเอง ตบเอง มันก็จะผิดกันกับเพื่อนตบให้ ตอนนั้นมีงานเยอะเลย ผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความสนใจ 

ตอนเล่นลิเกน้าก็เอาเพลงฉ่อยมาร้อง มาเล่นตลกก็เอาเพลงฉ่อยมาแจม ทอล์กโชว์ก็ยังมีเพลงฉ่อย แต่คนไม่รู้หรอกว่าเป็นเพลงฉ่อย เขานึกว่าเป็นมุก มีอยู่วันหนึ่ง เวิร์คพอยท์จัดงานคอนเสิร์ตคุณพระช่วยสำแดงสด เขาโทรมาหาน้าว่าอยากได้หน้าม่าน ก่อนหน้านั้นน้าชวนน้าพวง น้านง เอามุกมาแต่งเพลงฉ่อย ไปออกงานแสดงจตุพลทอล์ค ไทยแลนด์แดนแฮปปี้ ของ อาจารย์จตุพล ชมภูนิช เราก็แต่งเพลงฉ่อยไปร้องกัน คนก็ขำ แสดงว่าได้ผล จากนั้นน้าก็ปรับเพลงฉ่อยเป็นมุกให้ร่วมสมัยขึ้น แต่เค้าโครงและวิธีการร้องก็ยังเป็นเพลงฉ่อยรุ่นเดิม ๆ ที่ได้เรียนรู้มาจากป้านกหวีด

“พอหน้าม่านของเวิร์คพอยท์จบ เขาโทรกลับมาอีก จะเอาไปอยู่ในช่วงหนึ่งของรายการ คุณพระช่วย ช่วงจำอวดหน้าม่าน น้าดีใจ ไม่ได้ดีใจเพราะได้เงินนะ ดีใจที่ได้ร้องเพลงฉ่อยออกทีวี เพลงฉ่อยคนจะรู้จักแล้วนะ ตอนนั้นเพลงพื้นบ้าน ไม่รู้ว่าคนไม่เห็นเขาหรือเขาหายไป ไม่ค่อยมีกระแส เหมือนฝ่อ ๆ อยู่ แล้วน้าได้มีโอกาสช่วยรดน้ำ เติมปุ๋ย

“สุดท้ายเพลงฉ่อยก็ได้รับความนิยม น้าดีใจที่เด็ก ๆ เอ่ชากันได้ อย่างน้อยก็เป็นกระแส กระตุ้นให้เด็กอยากร้อง อยากเล่น ให้ผ่านตาว่านี่ของไทย ๆ เป็นอย่างนี้ เอามาสนุกกันได้ตลอด ไม่ใช่ว่าตับของเก่า ไม่เข้าของใหม่ ก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น น้าเอาแก่น เอาพื้นมันมา แล้วริดกิ่ง ริดใบ ให้มันแตกเสียใหม่ มันก็สวยขึ้นเองแหละ” น้าโย่งยิ้มภูมิใจ

เป็นเวลากว่า 50 ปีที่เพลงฉ่อยวนเวียนอยู่ในชีวิตของ โย่ง เชิญยิ้ม ตั้งแต่ฝึกหัด รักษา และสืบสาน เพลงพื้นบ้านไทยจะไม่หายสาบสูญ แน่นอนว่าต้องอนุรักษ์ แต่การอนุรักษ์ไม่เพียงพอให้ต่อลมหายใจ น้าโย่งแนะกับเราว่า

“ต้องถูกใช้อย่างร่วมสมัย และใหม่อยู่เสมอ” เหมือนดังสิ่งที่เขาทำ, เพลงฉ่อยจึงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“น้าอยากให้เพลงพื้นบ้านยังอยู่นะ ไม่ว่าจะเป็นเพลงเกี่ยวข้าว เพลงขอทาน เพลงเรือ เพลงอีแซว เพลงลำตัด แต่ก็ต้องปรับให้กลืนกับยุคสมัย บางทีน้าก็เอากีตาร์มาเล่นกับเพลงฉ่อย มันก็เท่และเข้ากันได้ ตอนนี้สิ่งที่น้าทำมันเกินจากที่น้าฝันมามาก เพลงฉ่อยกลับมาเป็นที่รู้จัก แต่น้าก็ต้องมีฝันต่อไป คือ ทำไม่หยุด น้าไม่หยุดแค่นี้ 

“แต่มีสิ่งหนึ่งที่น้าเสียดายคือ ตำราเพลงฉ่อยที่เดินลัดทุ่งไปเอามันไม่มีแล้ว โชคร้ายที่น้าเสียตำราไป แต่โชคดีเหมือนกันที่มันหายไป เลยทำให้น้าต้องแต่งมันขึ้นมาใหม่ โดยทุกท่วงทำนองมันยังคงอยู่จากการฝึกฝนของเรา”

แม้เพลงฉ่อยที่เคยร่ำเรียนกับป้านกหวีดจะเลือน แต่นี้คือเพลงเกริ่นที่น้าโย่งยังจำได้ดี

ชายวัย 63 ที่ไม่หยุดเรียนรู้และอาชีพที่ไม่มีวันเกษียณ

เพลงฉ่อยของน้าโย่งมีแต่ภาษาวัยรุ่น สนุก ๆ ช่วงนี้น้าโย่งได้ยินศัพท์ปัง ๆ จากชาวเน็ตบ้างไหม

“มี ๆ คำว่าไอ้ต้าว จึ้ง!” น้าโยงตอบด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี

แล้วมีอะไรอีกบ้างที่น้าโย่งในวัย 63 เพิ่งเรียนรู้ใหม่ – เราชวนน้าโย่งทบทวน

“เป็นดนตรีเสียส่วนใหญ่ น้าไม่มีพื้นฐานมาก่อน ต้นทุนก็คือความพยายาม”

น้าโย่งเป็นคนที่ไม่หยุดเรียนรู้ หลายคนคงเห็นในรายการ โจ๊กตัดโจ๊ก ที่น้าโย่งร้องเพลงพร้อมเล่นเครื่องดนตรีประกอบหลายชิ้น ขณะที่เรานั่งคุยกันนี้ นักดนตรีมือสมัครเล่นก็หยิบ อาซาลาโตะ (Asalato) เครื่องดนตรีเคาะจังหวะลูกกลมดิ๊กจากแอฟริกาใต้มาสาธิตการใช้งานให้เราฟัง พร้อมด้วยแฮนด์แพน (Handpan) ใบใหญ่ในกระเป๋าผ้า

ไม่เพียงเครื่องดนตรีต่างประเทศ ดนตรีไทยอย่างกรับ น้าโย่งก็ขอรู้จริง ไปเรียนรู้วิธีการตีกรับกับพ่อหวังเต๊ะ ครูเพลงลำตัดและศิลปินพื้นบ้านของไทย เป็นความพยายามอยากเรียนรู้ตลอด 2 ปีที่คุ้มค่าและใช้งานได้จริง

“น้าหัดตีกรับจนได้ห้องดนตรีหนึ่งห้อง สาเหตุที่ได้เพราะว่ายายสมเขาทนไม่ไหว” น้าโย่งพูดหยอก 

“น้าเห็นอะไรก็อยากเล่นไปหมด กรับกลม กรับแบน ตีกระดูก ตีช้อน บางทีเครื่องดนตรีไม่รู้จักก็เล่น ไม่ว่าจะแซกโซโฟน โซปราโน่ ขลุ่ย อาซาลาโต้ แฮนด์แพน น้าเห็นก็อยากเล่น บางทีเอามาตีแบบไทย ๆ บ้าง พอเอามาเล่นแล้วมีความสุข มันเอื้อแล้วก็ส่งเสริมกับอาชีพน้าด้วยนะ ขณะที่น้าร้องเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงขอทาน น้าก็เอาของใหม่ ๆ มาสอดแทรกของเก่าเข้าไป ทำให้วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่เห็นแล้วว้าว เพลงพื้นบ้านก็ไม่เชยนะ ทันสมัยอยู่ตลอด”

อะไรเป็นเหตุผลให้น้าโย่งวัย 63 ปี ยังคงไขว้คว้าที่จะค้นหาสิ่งใหม่อยู่เสมอ 

“เพราะนาฬิกามันไม่เคยหยุดเดิน มันเฉือนอายุเราทุกวินาที สั้นลง ๆ ๆ ในขณะที่เรานอน อายุเราไม่เคยหยุดสั้น แล้วเวลาที่สั้นลง เราจะทำอะไร ฉะนั้นคิดอะไร จงรีบลุกขึ้นมาทำ ก่อนที่อายุจะสั้นลงทุกวินาที” 

นี่คือคำตอบของชายที่ยังยินดีจะเรียนรู้และใช้ความพยายามให้เปลืองที่สุดเท่าที่จะทำได้

และว่ากันว่า วัยเกษียณไม่ใช่หลักชัยสุดท้ายของชีวิต ทว่าเป็นจุดเริ่มต้นต่างหาก เช่นเดียวกับชายตรงหน้า

“น้ายังไม่รู้สึกว่าเกษียณมีผลต่อชีวิตน้ายังไง อาจเป็นด้วยอาชีพที่ทำให้น้าไม่รู้จักคำว่าเกษียณ อาชีพตลกที่สร้างความสนุกให้คน ไม่มีคำว่าเกษียณแน่นอน แต่น้ารู้จักอยู่คำหนึ่ง คำว่าหมดแรง เมื่อไหร่ที่หมดแรงต้องลุกขึ้นมาให้ได้”

แล้วชีวิต ‘ตลก’ เขาเครียดกันบ้างไหม – เราถาม ‘ตลก’

“น้าเครียดเพื่อจะหาความสนุก มันแปลกนะอาชีพน้า เหมือนกวน ๆ แต่เป็นเรื่องจริง”

เครียดกับความสนุก แล้วความสุขอยู่ตรงไหน – เราถามอีกตลบ

“ตอนเด็ก ๆ เวลาทำให้ใครมีความสุขหรือมีรอยยิ้มที่เกิดจากการกระทำของเรา โคตรมีความสุขเลย แล้วน้าจะกลับมานอนนึกถึงรอยยิ้มที่น้าสร้างขึ้น น้าเป็นตลก เพราะรูปแบบที่เราจะนำเสนอความสุขมันกลายเป็นอาชีพ ตรงนี้แหละที่เรารัก ส่วนเงินทองมันมากับอาชีพ ถ้าเราอยากได้เงินอย่างเดียว ไม่รอดแน่ ถ้าไม่รักมันจริง ๆ ไม่รอดแน่ 

“ความสุขของคนมันคือสิ่งหนึ่งที่ตอบแทนอาชีพตลก” น้าโย่งตอบด้วยแววตาเป็นประกาย

เรื่องราวของ พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา ในวันที่ชีวิตกลายเป็น ‘โย่ง เชิญยิ้ม’

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน