เคยสงสัยบ้างไหมว่า เหตุใดเนื้อเพลงของ Yokee Playboy จึงเต็มไปด้วยประโยคแปลกๆ มากมาย

‘…เดิมไม่เคยคิดหาคำตอบ เดิมไม่เคยจะรู้ที่บอก ยามไม่มีผู้ใดคอยปลอบว่าสักวัน…’

‘…อ่อนโยนเหมือนแสงสีเทาที่สายตา หากเธอได้มองและลองหยุดดู คงมีใครรู้หมายความ…’

‘…รักข้างเดียว แล้วใครเขาจะรู้ได้ หากมัวเก็บคำถาม ข้างใน จะอย่างไร มากมาย …’

คือตัวอย่างคำร้องที่ โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา แกนหลักของวงรังสรรค์ขึ้น

25 ปีบนถนนเสียงเพลงของ โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา กับก้าวต่อไปของวงดนตรีรุ่นลุง Yokee Playboy

“เพลงของผมเป็นภาษาความรู้สึกมากกว่า ผมเชื่อว่าการสื่อสารของคน ภาษามันไวไม่เท่าความรู้สึก ถ้าอยากสื่อสารกับใคร ภาษาก็แค่เป็นตัวพาไปเท่านั้น อย่างผมร้องคำว่า ‘หมายความ’ แทนที่จะเป็น ‘ความหมาย’ เพราะเสียงมันไม่ฝืน แต่คิดว่าคนฟังก็น่าจะเข้าใจอยู่ดี” ศิลปินคนดังกล่าวขึ้นอย่างอารมณ์ดี

คงไม่ผิดหากจะบอกว่า ความแหวกแนวและไม่เหมือนใคร คือเอกลักษณ์ที่ทำให้บทเพลงของโป้และสหาย ยังคงยึดครองพื้นที่ในใจของแฟนเพลงกว่า 25 ปี ยืนยันได้จากผลงานระดับมาสเตอร์พีซมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คำตอบ, คืนนี้ขอ…หอม, วันเกิด, พรมหมลิขิต, แผลเป็น, หรือขอให้ผม ซึ่งยังคงถูกบรรเลงข้ามกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน

25 ปีบนถนนเสียงเพลงของ โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา กับก้าวต่อไปของวงดนตรีรุ่นลุง Yokee Playboy

ในวันนี้ เขากลับมาพร้อมอัลบั้มชุดที่ 8 We are new old. ผลงานเพลงที่เปรียบเสมือนการทดลองครั้งใหม่ของชายวัย 48 ปี ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ถือโอกาสดีแวะเวียนไปพูดคุยกับโป้ ถึงเส้นทางดนตรีอันยาวนาน และความฝันที่ไม่สิ้นสุดต่อวงการเพลงไทย ท่ามกลางการถือกำเนิดของวงดนตรีรุ่นใหม่ตลอดเวลา

01

พรหมลิขิต

เส้นทางดนตรีของโป้ ถ้าจะพูดไปแล้วก็คงเหมือนเป็นพรหมลิขิต

โป้เติบโตมาในครอบครัวสถาปนิก พ่อของเขาเป็นคนที่มีความฝันมากมาย อยากเป็นทั้งนักดนตรี ทั้งช่างภาพ แต่ด้วยยุคสมัยที่ยังมองว่างานเหล่านั้นไร้ความมั่นคง จึงไม่เคยสนับสนุนให้ลูกๆ เดินทางสายนี้

โป้เล่นกีตาร์เป็นบ้างเพราะเคยเห็นพี่ชายเล่น แต่ที่ชำนาญหน่อยก็คือ เป่าขลุ่ย ถึงขั้นเคยลงแข่งระดับมัธยมได้รองแชมป์ของประเทศ ทว่าทั้งหมดยังเป็นเพียงเป็นกิจกรรมยามว่างเท่านั้น จนกระทั่งเขาได้พบกับบุคคลหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตตลอดกาล

เจอรี่-ศศิศ มิลินทวณิช เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของโป้ สมัยเรียนที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ทั้งคู่เริ่มรู้จักกันจริงจัง ตอน ม.2 เมื่อมีการประกวดวงดนตรีโฟล์กซอง

“ตอนนั้นมีอยู่สองวงที่แข่งกัน คือวงของห้องผม ซึ่งเขาให้ผมมาช่วยเป่าขลุ่ยให้ ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นเล่นเพลง รักคุณเท่าฟ้า ส่วนอีกวงคือห้องเจอรี่ ซึ่งตอนนั้นมันอาวองการ์ดมาก คือเจอรี่เล่นกีตาร์ แล้วก็มีนักร้องคนหนึ่ง ส่วนอีกคนนั่งปั่นสมุดเฉยๆ ผมนี่อ้าปากค้างเลย มันมีวงแบบนี้ด้วยเหรอ ซึ่งสุดท้ายวงของเจอรี่ก็เป็นฝ่ายชนะไป

“แต่เหตุการณ์ที่พีกสุด คือเจอรี่มันเป็นพวกโจรมุมตึก แล้วผมเป็นเด็กเนิร์ด วันหนึ่งผมซื้อไอติมโคนมา กำลังเดินอยู่ดีๆ โจรมุมตึกก็โผล่มาหยิบไอติมไปเลีย แล้วก็ยื่นกลับมา ผมจะกินยังไง ก็ต้องเดินกลับมาซื้ออีกรอบ ตั้งแต่นั้นก็จำมันได้เลย แล้วตอนหลังก็เจอเรื่อยๆ ตามงานแข่งขัน และในที่สุดก็ชวนมารวมวงกัน และออกงานโรงเรียนเรื่อยมา”

ช่วงนั้นโป้เริ่มหมกหมุ่นเรื่องกีตาร์มาก เมื่อกลับถึงบ้าน ทุกเย็นจะต้องโทรศัพท์คุยกับเจอรี่ถึงเทคนิคการเล่นกีตาร์และวงดนตรีที่น่าสนใจ รวมทั้งเริ่มมีโอกาสรู้จักเพื่อนต่างโรงเรียนที่สนใจดนตรี เช่น โต้ง-มณเฑียร แก้วกำเนิด ต่อมาเมื่อเข้าเรียนชั้นปี 1 คณะครุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขายังไปร่วมกับ ป๊อด-ธนชัย อุชชิน ร้องเพลงเล่นดนตรีเปิดหมวกตามงานต่างๆ

25 ปีบนถนนเสียงเพลงของ โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา กับก้าวต่อไปของวงดนตรีรุ่นลุง Yokee Playboy

“ทุกอย่างมันซึมซับเข้าไปเอง ตอนที่ผมย้ายไปเรียนสถาปัตย์ที่ ม.รังสิต ก็เคยสำรวจตัวเองเหมือนกันว่า มีกิจกรรมอะไรที่ทำมาตลอด ก็พบว่ามีแค่เล่นกีตาร์อย่างเดียวเลย แล้วเมื่อก่อนเวลาซื้อเทป ผมจะซื้อสามม้วน ม้วนหนึ่งเอาไว้แกะกีตาร์ ซึ่งพังแน่นอนเพราะกรอไปกรอมา ม้วนที่สอง สำรองสำหรับแกะกีตาร์ และม้วนสามเอาไว้เก็บ ซึ่งตอนนั้นผมจะโตมากับพวกกีตาร์ฮีโร่ ยุค 90 เช่น Van Halen, Steve Vai, Joe Satriani, Paul Gilbert ถามอะไรตอบได้หมดเลย”

หากแต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยคิด คือความคลั่งไคล้นี้จะกลายมาเป็นอาชีพจริงจัง

ในช่วง พ.ศ. 2538 โป้ได้รับคำชวนจาก โต้ง เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ ให้มาเล่นดนตรีร่วมกับ อรอรีย์ จุฬารัตน์ ศิลปินน้องใหม่ของ Bakery Music ในคอนเสิร์ต Indie DNA ของ Moderndog โดยตอนนั้น วงของอรอรีย์มีสมาชิกอยู่แล้ว 3 คน คือ เธอเป็นนักร้องนำ โต้งเป็นมือกีตาร์ และ David Brochstein เป็นมือกลอง ขาดก็เพียงแต่มือเบส

ปัญหาคือ โป้ไม่เคยเล่นเบสมาก่อน โต้งจึงคะยั้นคะยอให้ลองดู โป้เห็นว่าไม่เสียหายอะไรจึงตกปากรับคำ ปรากฏว่าทุกคนในวงคิดว่ามันเวิร์ก อรอรีย์จึงตกลงให้มาอัดอัลบั้มด้วยกัน พร้อมกับเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ

“ผมเป็นมือเบสที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เพราะผมเล่นเบสแบบกีตาร์ ฉะนั้น เสียงก็จะสกปรกรกรุงรังไปหมดเลย โชคดีที่มือกลองเป็นซาวนด์เอ็นจิเนียร์ ก็เลยจัดวางซาวนด์แบบใหม่ คือเสียงกีตาร์ของโต้งจะแผ่ซ่านออกไปเลย ส่วนผมก็จะอยู่กับมือกลอง เวลาฟังก็จะได้ยินเสียงเบสกับกลองค่อนข้างชัด ทำให้ผมเล่นเบสในรูปแบบกีตาร์ได้

“แต่ถามว่าดีไหม ไม่ดีหรอก เพราะเราไปฝืนธรรมชาติของเสียง ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าอยากโชว์ คุณจะเห็นว่าวงอรอรีย์ มือเบสจะเฟี้ยวฟ้าวหน่อย เหมือนกับแคตวอล์กเป็นของเขาเลย” โป้กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

25 ปีบนถนนเสียงเพลงของ โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา กับก้าวต่อไปของวงดนตรีรุ่นลุง Yokee Playboy

ความกล้าแสดงออกและทำในสิ่งที่ไม่เหมือนใครของหนุ่มมาดเซอร์วัย 20 ปี เข้าตา สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ หนึ่งในผู้บริหารของ Bakery Music ถึงขั้นเปิดโอกาสให้โป้เริ่มแสดงความสามารถอื่นๆ ทางด้านดนตรี อย่างการแต่งเพลงในผลงานชุดใหม่ของเขา Zequence รวมถึงการร้องเพลง ทางออก ซึ่งเป็นเพลงเปิดอัลบั้มด้วย 

“ผมไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงเชื่อมั่นเรา ทุกวันนี้ก็ยังอยากถามเหมือนกัน จำได้ว่าตอนที่ร้องเพลงแรก ทรมานมาก ร้องอยู่เป็นอาทิตย์ จนเริ่มเฟลแล้ว ไม่รอดแน่ๆ กระทั่งพี่สมเกียรติต้องโทรศัพท์ตาม พี่บอย (ชีวิน โกสิยพงษ์) ว่าทำให้ร้องได้หน่อย ซึ่งพี่บอยเก่งมากเลย แกบอกว่า โป้เน้นเสียงแบบ ฉะ ฉับ ให้พี่หน่อย แค่นั้นพอ”

ในที่สุดผลงานการร้องเพลงแรกของโป้ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ได้เป็นเพลงประกอบละครโทรทัศน์ เรื่อง ไอ้คุณผี ทางไทยทีวีสีช่อง 3 และกลายเป็นจุดเริ่มต้นในฐานะศิลปินของชายที่ชื่อ ปิยะ ศาสตรวาหา

02

แผลเป็น

พ.ศ. 2539 ถือเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญของโป้ เมื่อเขาถูกชักชวนให้มาเป็นศิลปินออกอัลบั้ม

สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ หัวเรือของค่าย เคยให้สัมภาษณ์กับ 375°F Bakery Music นิตยสารฉลอง 10 ปีของค่ายขนมปังดนตรีว่า เขาจำโป้ได้จากคอนเสิร์ตแรกที่ศิลปินหนุ่มร่วมเล่นกับอรอรีย์ ครั้งนั้นโป้ได้ยื่นหนังสือเพลงที่จดเก็บไว้ พร้อมกับบอกว่า “นี่เพลงผมครับพี่” 

เดิมที Bakery Music ตั้งใจเซ็นสัญญาให้เขาเป็นศิลปินเดี่ยว แต่ด้วยความที่อยากทำงานเป็นวงมากกว่า โป้จึงชักชวนผู้คนรอบกายมาร่วมทำอัลบั้ม ตั้งแต่ ใหญ่-ยิ่งใหญ่ หุณชนะเสวีย์ มือกลอง ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยรังสิต และเคยเล่นดนตรีกลางคืนด้วยกัน ปาเดย์-ภาณุ กันตะบุตร มือเบส เป็นเพื่อนสมัยอยู่ที่จุฬาฯ และยังเคยมาออกอัลบั้มสองเอก ของวง Sepia กับ Bakery Music และคนสุดท้าย ซี-เฟาซี มามะ มือกีตาร์ ซึ่งรู้จักผ่านมือกลองของอรอรีย์อีกที โดยโป้เล่าว่า ครั้งแรกที่เห็นฝีมือการเล่นของเฟาซี เขาถึงกลับอึ้งไปเลย

ส่วนชื่อวงนั้น มาจากไอเดียของ ทอม-วรุตม์ ปันยารชุน Creative Director ของบริษัทที่มองว่า สมาชิกแต่ละคนหน้าตาเหมือนแขกหมดเลย ก็เลยนึกคำว่า ‘โยคี’ ขึ้นมา แต่ด้วยบุคลิกที่เป็นคนสนุกสนาน ขี้เล่น เลยผสมคำว่า ‘เพลย์บอย’ ลงไปด้วย ครั้งแรกที่พวกเขาได้ยินชื่อนี้ ถึงขั้นหัวเราะดังลั่น จากสตูอิโอชั้น 3 ลงมาที่ชั้นล่าง 

อย่างไรก็ตาม แม้จะนำเสนอออกมาในรูปแบบวง แต่ผลงานทั้งหมดกลับมาจากรสนิยมของโป้ล้วนๆ

25 ปีบนถนนเสียงเพลงของ โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา กับก้าวต่อไปของวงดนตรีรุ่นลุง Yokee Playboy

“ผมอยากให้มีอีกคนมาฟัง มาร่วมให้ความคิดเห็นด้วยว่า ทิศทางของงานเป็นอย่างไร เพราะผมคิดว่าเป็นแบนด์มันสนุกกว่าเดี่ยว แต่สุดท้ายผมก็เป็นฮิตเลอร์อยู่ดี คือเป็นคนเลือกแนวทางของงาน”

อย่างแนวเพลงก็เป็นโซล-ฟังก์ร็อก ยุค 1970 ซึ่งโป้บอกว่า เป็นแนวเดียวในเวลานั้นที่ทำเป็น ส่วนเนื้อเพลงก็กลั่นมาจากอารมณ์ความรู้สึกอันพลุ่งพล่านของเด็กหนุ่มวัย 20 กว่าที่อยากร้องแบบนี้ ไม่ได้สนใจว่าใครจะเข้าใจหรือไม่ สำหรับโป้แล้ว อัลบั้มชุดนี้เป็นผลของความไม่รู้อย่างแท้จริง คิดว่าอะไรดีก็ใส่มาเต็มที่

ยกตัวอย่างเช่น ตอนทำเดโม่ส่งให้ค่าย ไม่มีเพลงไหนที่ความยาวต่ำกว่า 6 นาทีเลย จนสุกี้ต้องเรียกตัวมาคุยบอกว่า ในธุรกิจดนตรี ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ โป้จึงต้องกลับไปเรียบเรียงเพลงใหม่ทั้งหมด ให้กระชับมากขึ้น

อัลบั้ม Yokee Playboys หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ชุด ‘นมหนาม’ วางแผง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2539 เป็นหนึ่งในผลงานที่ฉีกกรอบและได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากบรรดาเซียนเพลงไม่น้อย สำหรับผู้บริหารอย่างสุกี้แล้ว เขาบอกว่าอัลบั้มนี้มีกลิ่นที่ชัดเจนมาก และในแง่ดนตรีนับว่าเป็นผลงานที่ดีชุดหนึ่งของค่ายตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมา เช่นเดียวกับโป้ ซึ่งยอมรับตามตรงว่า คาดหวังในผลงานชุดแรกอยู่ไม่น้อย

หากแต่ในโลกของธุรกิจดนตรีมีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือความชอบของศิลปินสอดคล้องกับคนฟังหรือไม่ ซึ่งอัลบั้ม Yokee Playboys ต้องใช้เวลาพิสูจน์อยู่นานนับสิบปี จึงจะกลายเป็นอัลบั้มที่นักฟังเพลงถามหา และเป็นหนึ่งในงานขึ้นหิ้งของประวัติศาสตร์เพลงไทยยุคอัลเทอร์เนทีฟ 

25 ปีบนถนนเสียงเพลงของ โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา กับก้าวต่อไปของวงดนตรีรุ่นลุง Yokee Playboy

“ตอนทัวร์คอนเสิร์ต ผมโดนจับไปทัวร์กับศิลปินค่ายอื่น เช่น คุณเจนนิเฟอร์ คิ้ม, คุณฟอร์ด สบชัย แล้วก็วง BOX เซอร์ ซึ่งทุกวงได้รับเสียงตอบรับดีมาก แต่พอ Yokee Playboy เล่นจบ เหมือนเป็นสุญญากาศ เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคืออะไร ตอนนั้นรู้สึกเฟลมาก มันเฟลถึงขั้นวงแตก สมาชิกแยกย้าย สุดท้ายก็เหลือแค่พี่ซีคนเดียว

“คำถามคือเฟลแล้วยังไงต่อ โชคดีที่ Bakery Music เป็นค่ายที่แปลก คือไม่ใช่ว่าออกไปแล้ว ไม่สำเร็จจะพับไปเลย เขามองในระยะยาวว่า ศิลปินต้องมีการพัฒนาเลยให้เซ็นสามชุด ทำให้เราสู้ต่อ เพราะไม่ใช่ว่าจะเฟลไปตลอดสักหน่อย ถ้าชอบก็ทำต่อ ไม่ได้มีผลร้ายแรงอะไร ซึ่งผมก็ใช้วิธีนี้ตลอดชีวิตการทำงาน เพราะการทำอะไรขึ้นมา อย่างน้อยก็ต้องได้อะไรบางอย่างกลับมา เช่น คุณจะรู้ว่าไม่ได้ชอบแบบนี้ ซึ่งประสบการณ์นี่แหละที่ทำให้ได้เรียนรู้”

บาดแผลจากอัลบั้มชุดแรกนี่เองที่กลายเป็นสะพานให้โป้ค้นพบกับแนวทางใหม่ ที่ทำให้วงดนตรีชื่อแปลกยังคงอยู่ในสารบบเพลงไทยจนถึงปัจจุบัน

03

คำตอบ

“…ยิ้มที่อบอุ่น ให้ใจได้หายจากความสับสน ด้วยยิ้มที่อบอุ่น ให้ใจได้แสงส่องความมืดมนจากเดิม…”

คงไม่ผิด หากจะบอกว่า ยิ้ม ผลงานเปิดตัวของ EP.Super Swinging เมื่อ พ.ศ. 2541 คือการเริ่มต้นตำนานบทใหม่ของโป้และวง Yokee Playboy

“ครั้งแรกผมเขียนเพลงนี้ให้ Soul After Six แต่ผมมองพวกเขาไกลกว่าที่เขามองตัวเอง คือมองเป็นอาวองการ์ดไปเลย แล้วมีอยู่วันหนึ่ง Soul After Six ก็เรียกผมคุย บอกว่า ‘โป้..เพลงนี้ดีจริงๆ นะ แต่ว่าโป้น่าจะทำเองมากกว่า น่าจะออกมาดี’ ผมก็บอกไม่เป็นไร แล้วก็เอากลับมาทำเอง

“ตอนนั้นก็ทดลองใส่ซาวนด์อะไรใหม่ๆ พอดีไปเจอแบนโจตัวหนึ่ง ผมเล่นไม่เป็นหรอก แต่ทดลองไปตีเป็นกรูฟอะไรสักอย่าง กระทั่งได้เสียงออกมา แล้วเอามาใส่ในเพลง ปรากฏว่าเวิร์กมาก จากนั้นผมก็เอายาม เอาแม่บ้านที่บริษัท มาช่วยกันร้อง ฮู้! ฮ้า! เป็นการทดลองแท้ๆ เลย”

ส่วนเรื่องสมาชิกวง ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจากโป้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินเดี่ยวอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังอยากทำงานเป็นทีมเหมือนเดิม จึงหาวิธีใหม่ๆ มาทดลอง โดยโป้เปลี่ยนบทบาทตัวเอง จากหัวหน้าวงมาเป็นผู้ควบคุมหรือคอนดักเตอร์แทน และใช้หลักคิดที่ว่า หากอยากเล่นดนตรีร่วมกับใครก็ชวนมาเลย และถ้าสมมติว่า นักดนตรีคนนั้นไม่สะดวกไปร่วมทัวร์คอนเสิร์ต ก็หาคนมาเล่นแทน

สำหรับในชุดที่ 2 นอกจากเฟาซีที่ยึดตำแหน่งมือกีตาร์แล้ว ยังมีปาเดย์ที่มาช่วยเล่นเบส เพลง ข้างเดียว ส่วนเพลงที่เหลือได้ นรเทพ มาแสง หัวหน้าวง Pause มาร่วมบรรเลง แล้วยังมี มาตรชัย มะกรูดทอง มารับหน้าที่มือกลอง

อีกคนที่สำคัญมากคือ ฆ้อง มงคล นักแต่งเพลงมือดี มาร่วมเล่นเปียโน กีตาร์ และฟลุต รวมทั้งร่วมแต่งทำนองเพลง คืนนี้ขอ…หอม โดยฆ้องเป็นมือกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์ระดับปรมาจารย์ และยังร่วมงานกับโป้มาจนถึงปัจจุบัน

‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน

“ผมชอบแต่งเพลงกับฆ้องมาก ซึ่งตอนนั้นฆ้องอยู่ Sony Music ด้วยความที่ผมเป็นคนทำอะไรตรงๆ ก็เลยถามฆ้องไปเลยว่า มาอยู่กับเราไหม แล้วก็ทำงานดนตรีกันไปเรื่อยๆ จนแก่ เพราะว่าเราคงไม่เลิกหรอก เราชอบ ฆ้องก็บอกเอาดิ แค่นั้นเอง มันเป็นอะไรที่ง่ายมาก และกลายเป็นที่มาของชุดสอง”

ในมุมมองของผู้ฟัง Super Swinging แทบฉีกขาดจาก Yokee Playboys อย่างชัดเจน โดยเฉพาะความเข้มข้นของงานดนตรี จากฟังก์ร็อกกลายมาเป็นดิสโก้ร็อก เน้นกรูฟสบายๆ ที่ทุกคนสามารถโยกได้ แต่น่าเสียดายที่โป้มีแรงทำเพียง 5 เพลงเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องทำโปรเจกต์จบพอดี

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่เกิดขึ้นกับโป้ คือเขาเริ่มขายภาพลักษณ์ความเป็นเพลย์บอยมากขึ้น ทั้งรองเท้าหนังงู เสื้อลายเสือดาวเสือโคร่ง เข็มขัดเลื่อมๆ ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังก็คือ ทอม วรุตม์ ซึ่งได้รับโจทย์มาจากบริษัทอีกทีว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้โป้กลายเป็นหนุ่มเจ้าเสน่ห์ รวมถึงท่าเต้นส่ายก้น ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่ตัวเขาต่อมาอีกหลายปี

“ผมเริ่มส่ายก้นให้คนดูครั้งแรกที่เชียงใหม่ คือแต่ก่อนตอนไปทัวร์ คนไม่สนใจ เราก็เลยคิดว่าไม่ต้องเห็นหน้า มองก้นแทนแล้วกัน จำได้เลยว่า ครั้งแรกคนงง ร้องๆ อยู่ก็โชว์ก้นให้ดู กลายเป็นคนชอบไป จากนั้นก็เริ่มบานปลาย มีสาดน้ำ กลายเป็นผู้ชายมาดเซอร์ เอวพริ้วไหวที่ยากจะคาดเดา ก็งงเหมือนกัน ทุกคนคงชอบในสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ในโชว์”

แม้ยอดขายของอีพีนี้อาจไม่ได้น่าตื่นเต้นมากนัก แต่หลายคนก็มองว่า Super Swinging พาโป้ไปสู่กระแสป๊อปอย่างแท้จริง เริ่มมีแฟนคลับคอยเชียร์ตามคอนเสิร์ตต่างๆ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญเมื่อเขาทำอัลบั้มชุดถัดมา

หลังเรียนจบปริญญาตรี โป้ตัดสินใจทิ้งงานสถาปนิก ไม่สนใจแม้กระทั่งการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยก่อนหน้านั้นเขากลายมาเป็นพนักงานเขียนเพลงประจำของ Bakery Music โดยมีผลงานมากมาย เช่นเพลง เก็บไว้ ของ รัดเกล้า อามระดิษ รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของ Team Darling ผลิตเพลงให้ศิลปินสาวๆ ค่าย Dojo City เช่น ไปพัก ของ Niece รักๆ…รัก, คู่กัน, บ้านของฉัน, อ้วน ของ Triumphs Kingdom เป็นต้น

‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน
‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน

“การทำเพลงให้ Dojo เปิดมุมมองเราเข้าไปอีก เพราะเป็นการทำงานที่มีโจทย์ โจทย์คือการพูดเรื่องราว และก็ไม่ใช่ตัวเราแล้วนะ ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นเด็กสาววัยนี้ อยากจะพูดเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นมันเริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่จะคิดเลย ทุกอย่างจะเริ่มบิดแล้วให้เข้ากับน้องแต่ละวง ภาพลักษณ์เป็นแบบนี้ กลุ่มนี้ซ่า กลุ่มนี้เรียบร้อย ผมเริ่มเรียนรู้ ซึ่งมันเปลี่ยนวิธีคิดของเรา ทำให้อยากค้นหาความป๊อปในตัวเอง ค้นหาฮุกที่ถูกใจเรา อยากแต่งเพลงฮิตให้ตัวเอง”

2 เพลงสำคัญซึ่งกระตุ้นความรู้สึกให้โป้ คือ วันเกิด และ ทำร้าย เขาจำได้ดีว่าตอนที่ทำเสร็จถึงขั้นโทรศัพท์ไปหาสมเกียรติทันที พร้อมบอกว่า นี่แหละคือมาสเตอร์พีซของเขา

“อย่าง ทำร้าย ถือเป็นมหาฮุกเลย ตอนที่แต่งมันมีภาพตามมาด้วย ในหัวผมคือคนถูกมัดแล้วโดนฟาด ให้มาทำร้าย ฟาดผัวะ อะไรอย่างนี้ แต่ไม่ได้ทำเป็นเอ็มวีนะ มันรุนแรงไป แต่ตอนนั้นเรามั่นใจว่าต้องดังแน่ พอทำเสร็จเหมือนมีเอเนอจี้กลับมาที่เรา คือเวลาที่เราทำเพลงที่เพราะที่สุดของเราได้ เราจะรู้ตัว เริ่มมั่นใจอะไรบางอย่าง”

และเมื่อทำเพลงได้ประมาณหนึ่ง โป้ก็นำไปเล่นให้ บอย โกสิยพงษ์ ฟัง ซึ่งพอบอยฟังเสร็จ เขาก็เดินเข้าห้องประชุมบริษัททันที พร้อมบอกให้เลื่อนเอาอัลบั้มชุดนี้มาผลิตก่อน

‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน

YKPB กลายเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ทั้งในแง่ยอดขาย ตัวเพลง และการจดจำของผู้คน แต่สำหรับโป้แล้ว อัลบั้มนี้เป็นการทำเพลงที่สนุกสุดๆ เขานำแนวเพลงทุกแบบที่สนใจมาผสมผสานกันหมด รวมทั้งทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างเพลง แผลเป็น เกิดจากไอเดียที่ไม่อยากใช้เครื่องดนตรีเลย โป้จึงระดมศิลปินในค่ายมาช่วยกันร้องและทำเสียงประกอบ จนได้เพลงที่แปลก แหวกแนว ไม่เหมือนใคร

อีกเพลงที่โดดเด่นมาก คือ พรหมลิขิต ผลงานสุดคลาสสิกของ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล และ ครูเวส สุนทร​จามร ซึ่งโป้จับมาใส่เสื้อผ้าแบบใหม่ให้ทันสมัย จนกลายเป็นเพลงฮิตหนึ่งของยุค Y2K

“เมื่อก่อนจะมีเกม PlayStation ชื่อ Music วิธีเล่นคือวางเป็นบล็อกๆ แล้วเวลาว่างจากการทำทีสิส ผมก็มานั่งเล่นไปเรื่อยๆ คือสมัยนั้นคอมพิวเตอร์ยังไม่ได้มีโปรแกรมทำเพลง มีแต่ 4 Tracks เกมนี้เลยเหมือนเป็นโปรแกรมทำดนตรีรุ่นแรกในชีวิตของผม จุดเด่นของ Music คือความขาดๆ เกินๆ ของเสียง เพราะเวลาวางบล็อกซ้อนกัน ก็จะมีเสียงจึ๊กกะจั๊กๆ แล้วระหว่างนั้นผมจะร้องเพลงใส่เข้าไปด้วย ตอนนั้นร้องอยู่สองเพลง คือ พรหมลิขิต กับ ไม่เคยง้อใครเท่าคุณ พอจะเอามาใส่อัลบั้มก็เลยต้องเลือกสักเพลง ซึ่งผู้ใหญ่ก็เห็นว่า พรหมลิขิต น่าจะเหมาะสมกว่า”

‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน

หลังจากนั้น โป้ก็เริ่มมีผลงานเพลงอย่างต่อเนื่อง เช่น เขาไปร่วมกับสหายเก่าแก่ เจอรี่และผองเพื่อนในวงการ ทำวง 2 Days Ago Kids พร้อมก่อตั้งค่ายเพลงเล็กๆ อย่าง Playground Music ผลิตผลงานออกมา 2 – 3 ชุด โดยเพลงที่ดังสุด คือ ไม่มีความหมาย นอกจากนี้ยังเริ่มทำอัลบั้มชุดที่ 4 Love Trend อีกด้วย 

“ยอมรับว่ากดดัน เพราะศิลปินส่วนใหญ่มักคาดหวังว่า เมื่อเคยสำเร็จแล้ว ก็อยากกลับมาดังเหมือนเดิม อยากให้มีเพลงที่คนชอบอีก ซึ่งผมพยายามลืมๆ คำนี้ไป ความสำเร็จเคยเกิดขึ้นก็จริง แต่มันผ่านไปแล้ว จะได้ไม่ต้องกดดันตัวเอง กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับอะไรเก่าๆ อย่างชุดนี้ก็จะมีความขาดๆ เกินๆ ไม่สมบูรณ์อยู่ เป็นอีกรสชาติหนึ่ง”

แม้ยอดขายของ Love Trend อาจสู้ YKPB ไม่ได้ แต่ก็มีเพลงรักหลากสไตล์ที่โดดเด่นและน่าจดจำ เช่น อีกแล้ว, อยากมองเธอในแง่ร้าย, สบายสไตล์ ซึ่งสำหรับโป้แล้วถือว่าน่าพอใจ และเป็นการบันทึกอีกห้วงอารมณ์ที่อยากเก็บไว้

04

ทางแยก

ท่ามกลางความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วก็มีจุดที่ทำให้เส้นทางศิลปินของโป้สะดุด

เมื่อ พ.ศ. 2547 3 ผู้บริหารของ Bakery Music ตัดสินใจลาออกจากบริษัท ศิลปินในสังกัดจึงแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง บางวงก็ย้ายค่าย บางวงหันไปเป็นศิลปินอิสระ และอีกไม่น้อยที่หายหน้าไปจากวงการ ส่วนโป้เองก็มีอัลบั้มรวมฮิตออกมาชุดหนึ่ง ชื่อว่า The Greatest Grandfather Hits ก่อนจะหมดสัญญา

โป้ยอมรับว่ารู้สึกเคว้งพอสมควร เขายังมีผลงานเพลงออกมาบ้าง แต่ไม่ได้ถือว่าจริงจัง และในที่สุด ศิลปินหนุ่มก็ตัดสินใจกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว เป็นพนักงานประจำในตำแหน่งสถาปนิกฝึกหัด

ทว่าถึงงานจะมั่นคง มีรายได้แน่นอน แต่โป้กลับไม่มีความสุขเลย

“สิ่งที่หายไปคือความมีชีวิตชีวา ถึงขั้นที่ว่าทำไมแต่ละวันไม่มีความสุขได้ขนาดนี้ จนเริ่มกลับมาคิดว่า จะตายไปพร้อมกับแบบนี้หรือเปล่า ในที่สุดก็ย้อนกลับมาที่เรื่องเดิมคือดนตรี เพราะดนตรีทำให้ผมเป็นผู้เป็นคน ทำให้รู้สึกผิดชอบชั่วดี เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

“หลังจากหยุดไปได้สี่ห้าปี ผมก็พยายามเริ่มต้นทำดนตรีอีกครั้ง แต่ ณ ยุคนั้น ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ยุคของผม เป็นยุคของน้องๆ แล้ว ภูเขาความสำเร็จของเรา มันผ่านไปนู่นแล้ว เรานั่งเรือออกมาไกลแล้ว แต่ไม่เป็นไร ผมยอม ส่วนงานสถาปนิก เราก็รับผิดชอบให้เสร็จก่อน แล้วค่อยๆ เฟดตัวเองออกมา”

โป้กลับมาทำอัลบั้มอีกครั้ง ชื่อชุด Telepathy ในสังกัด Plenty Music ในเครือ RS ซึ่งมีสมเกียรติ เป็นหัวเรือใหญ่ โดยนอกจากเฟาซีและฆ้องที่มาช่วยเล่นเหมือนเดิมแล้ว ยังมี อดุลย์ รัชดาภิสิทธิ์ มือกีตาร์จาก Friday ซึ่งคุ้นเคยกับโป้มานานมาก อาณัติ ทองก้อน มือเบสที่เคยฝากผลงานในอัลบั้มของ Playgroud Music และ พิทยา ศิริสวัสดิ์ มือกลองสำเนียงนุ่มที่มีลูกกรูฟเสนาะหู

 ศิลปินหนุ่มเปรียบการทำงานครั้งนั้นเหมือนการลับมีดที่ทื่อไป ความท้าทายคือโลกของดนตรีได้เปลี่ยนไปมากแล้ว แต่โป้ยังคงยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ อยู่ ส่งผลให้การทำงานไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเสียทีเดียว แต่อย่างน้อย Telepathy ก็เป็นอัลบั้มที่ช่วยสื่อสารไปยังคนฟังว่า เขากลับมาแล้ว และพร้อมสู้ในถนนดนตรีต่อไป

‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน
‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน

Yokee Playboy ยังคงมีผลงานอย่างต่อเนื่อง อัลบั้ม Second Sun ในสังกัด Spicy Disc เกิดขึ้นหลังจากเขาแต่งงานและมีลูกสาว หลายคนมองว่างานชุดนี้เติบโตและจริงจังขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสมัย Bakery Music

โป้บอกว่าหลักคิดในการสร้างเพลงในเวลานั้นคือ ต้องมีประโยชน์กับสังคม รวมทั้งพยายามทดลองใส่ลูกเล่นใหม่ๆ ลงไปเพื่อให้งานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

“บางเพลงที่ไม่คิดว่าจะแต่งออกมาได้ ก็แต่งออกมาเฉยเลย เช่น เส้นชัย ตอนแรกตั้งใจให้เป็นเพลงบรรเลง แต่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นเพลงร้อง คือมันเหมือนเส้นชัยของแต่ละคนจะเปลี่ยนไปตามวัย จากเดิมที่เรานึกถึงแต่งาน แต่พอมีลูกสาว จุดมุ่งหมายของเราก็มาอยู่ที่เขา เพลงนี้ถือเป็นโฟล์กที่แปลกมาก ซึ่งผมไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน”

สำหรับชุดนี้ โป้ได้สมาชิกใหม่เข้ามาเสริมทีมหลายคน คือ สุทัศน์ เพชรมี มือเบส ซึ่งต่อมากลายเป็นนักร่วมเรียบเรียงเพลงประจำวง และ ญานสิทธิ์ ศรีศศิวิไล น้องเล็กของทีม แต่แก่กล้าด้วยฝีมือกีตาร์

แน่นอน แม้หลายคนอาจรู้สึกว่างานของ Yokee Playboy ไม่เหมือนเดิม แต่โป้ก็บอกว่า นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่ยิ่งเติบโต ยิ่งผ่าน ยิ่งเห็นอะไรมากขึ้น มุมมองและทัศนคติก็เปลี่ยนไป แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังอยากเรียนรู้ อยากทดลองหาประสบการณ์ใหม่ ทั้งเรื่องการทำเพลงและธุรกิจดนตรี

หลังทำงานภายใต้สังกัดต่างๆ มานานถึง 16 ปีเต็ม โป้ก็ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการมุ่งหน้าเป็นศิลปินอิสระ

“ผมชอบความอิสระ เพราะผมอยากร่วมงานกับทุกคนได้ง่ายๆ อยากทำอะไรผมก็ทำ เพราะฉะนั้น ถ้าทำเองก็น่าจะดีกว่า ส่วนค่าย ผมว่ามันเหมาะสำหรับวงรุ่นน้องมากกว่า ขณะที่วงแบบผม เวลาจะทำอะไรอาจมีความเกรงใจกันอยู่ ก็เลยกลับมาคิดว่า เรามาเริ่มอะไรเล็กๆ ก็ได้”

‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน
05

เติบโต

หากแต่เส้นทางในฐานะศิลปินอิสระไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

หลังทดลองปล่อยเพลง Aะ HA กับ ME สู่ตลาด ปรากฏว่าแทบจะจมหายไปทันที แต่โป้ก็ไม่ถอย และเริ่มตกผลึกว่า ควรทำอย่างไรจึงจะหยัดยืนบนถนนสายดนตรีได้ต่อไป

เรื่องหนึ่งที่เขาสัมผัสได้คือ ตัวชี้วัดความสำเร็จทุกวันนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน ซึ่งแต่ก่อนวัดกันที่อันดับความนิยมบนชาร์ตของสถานีวิทยุ แต่ปัจจุบันวิทยุไม่ได้มีอิทธิพลมากขนาดนั้น บวกกับเพลงใหม่ๆ มีเยอะขึ้น ช่องทางการเผยแพร่ก็หลากหลาย และต่อให้ฮิต ไม่นานนัก เมื่อหมดกระแสก็ไปแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่อันดับ แต่เป็นการทำชื่อของศิลปินคนนั้นยังอยู่ในการรับรู้ของผู้ฟังไปตลอดต่างหาก

“จากการวิเคราะห์แบบสถาปนิก ผมคิดว่าอย่าทำซิงเกิลเดียว แต่ให้ทำสักสองสามเพลง เพราะอย่างน้อยคุณจะได้มีตัวต่อให้เขาได้เห็นหน้าสักระยะ นานขึ้นหน่อย แล้ววิธีนี้ดีกว่าทำอัลบั้มเต็มสิบเพลง เพราะหนึ่งใช้ต้นทุนสูง สองใช้เวลาทำนานเกินไป และสามเวลาโปรโมต คุณก็ต้องโปรโมตทีละเพลงอยู่ดี 

“ผมเลยทำออกมาสักสามสี่ซีรีส์ แล้วค่อยทำอัลบั้มเต็ม นี่คือการตลาดของผม จากนั้นก็ทำคอนเสิร์ตใหญ่ รวบรวมคนที่ชอบเรา เพื่อบอกว่าผมมีอัลบั้มใหม่แล้วนะ แล้วคุณก็ทำเพลงใหม่เพิ่มเข้าไปในอัลบั้มเต็มอีกสี่ห้าเพลง นั่นคือความสมบูรณ์แบบของการทำงาน”

โป้เริ่มต้นทดลองโมเดลนี้ผ่านผลงานลำดับที่ 8 We are new old.

‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน

ความน่าสนใจของอัลบั้มนี้คือ ความพยายามฉีกกรอบการทำงานเดิมๆ เช่น การนำซาวนด์ดนตรีใหม่ๆ เข้ามา หรือการแต่งเพลงจากเครื่องดนตรีที่เพิ่งหัดเล่น อย่างเปียโนและไวโอลิน

“ช่วงนั้นผมพาลูกสาวไปเรียนเปียโนทุกเช้าวันอาทิตย์ ซึ่งเขาก็ให้ผู้ปกครองไปนั่งด้วย ลูกสาวเรียนไป เราก็เรียนไปด้วย จนครูมาสะกิดว่าพ่อตั้งใจเรียนกว่าลูกอีก เดี๋ยวครูสอนให้เอาไหม ผมก็บอกเลยว่าเอา แล้วมันเป็นคอร์ดอนุบาล โน้ตน้อยๆ ไปช้าๆ ผมเริ่มเรียนตั้งแต่ทฤษฎีดนตรีเลย พอเล่นเป็นก็อยากแต่งเพลง ซึ่งการแต่งเพลงจากเครื่องดนตรีที่ไม่คุ้นเคย มีข้อดีคือคุณจะได้ไปในที่ที่คุณไม่รู้จัก ไม่มีกรอบอะไร”

โป้ย้ำว่าการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับศิลปินทุกคน แต่ขณะเดียวกัน การรักษาความคาดหวังของแฟนเพลงที่สนับสนุนมาตลอด ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน

“สารภาพว่าตอนแรกไม่ได้คิดถึงการทำเพลงแบบเดิมเลย กระทั่งทำไปได้สักพักถึงรู้สึกว่าเรากำลังจะทิ้งคนฟังอยู่หรือเปล่า ก็เลยลองทำอะไรที่ไม่ซับซ้อน ทำแบบที่เคยทำ เพราะฉะนั้น งานใหม่จึงแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือเพลงที่คุณคิดว่าจะได้ฟังจาก Yokee Playboy อีกส่วนคือเพลงที่ผมขอทดลอง อย่างอีพีแรกคือ การแต่งเพลงจากเปียโน จากคนที่เล่นเปียโนไม่เป็น อีพีสองคือการใช้ซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเพลงทดลองมักหายไปกับสายลม”

‘โป้ Yokee Playboy’ ศิลปินผู้ไม่เคยหยุดทดลองตลอด 25 ปี พร้อมกับการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 8 ท่ามกลางยุควงดนตรีรุ่นหลาน

น่าเสียดายที่สุดท้ายแผนการที่โป้วางไว้ไม่ได้เป็นไปตามคาดหมาย เพราะ Yokee Playboy Reborn Concert ซึ่งเขาตั้งใจขอบคุณแฟนเพลงต้องเลื่อนแสดงอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่อย่างน้อยๆ ยังดีที่อัลบั้มซึ่งฟูมฟักมานานหลายปีก็เสร็จสมบูรณ์

แน่นอนโป้ไม่ได้คาดหวังถึงความสำเร็จเหมือนครั้งวันวาน ด้วยตระหนักดีว่า Yokee Playboy ได้กลายเป็นวงรุ่นลุงของวงการไปเรียบร้อยแล้ว แต่เขาก็ยังเลือกจะทำต่อไป เพราะอยากนำเสนอสิ่งที่แตกต่าง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ฟัง 

“เราผ่านอะไรมาเยอะมากจริงๆ แต่ไม่ใช่เราปิดหูปิดตาแล้วบอกว่าเป็นวงรุ่นใหญ่นะ เรามองเห็นการเกิดและการดับของวงต่างๆ มันเป็นวัฏจักร เป็นธรรมชาติของวงที่เกิดขึ้น ยุคนี้เป็นยุคของวงในรุ่นที่อายุต่ำกว่าผมยี่สิบกว่าปี คนฟังก็ต้องอยากฟังเสียงของคนรุ่นเขา เป็นธรรมชาติของคนทุกรุ่นที่ผ่านมา

“ผมเลยไม่กดดันตัวเอง ก็อยู่กับวัยของวงที่เป็นแบบนี้แหละ แค่คนรุ่นหลานยังร้องเพลงเราอยู่ แถมร้องได้หลายเพลง นี่คือรางวัลของคนทำดนตรีแล้ว คุณภูมิใจได้เลยว่าเพลงคุณข้ามรุ่น ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว แต่ถ้าคุณอยากทำงานเหมือนผมก็ทำต่อไปเลย สำเร็จไม่สำเร็จ ไม่เป็นไร ขอให้ Fulfill ไว้ก่อน เพราะพอโตขึ้น ผมมีความคิดอย่างหนึ่งคือ อย่ายอมให้เด็กๆ ในประเทศ เห็นน้อย ฟังน้อย ไม่เช่นนั้นโลกจะแคบ ส่วนฟังแล้วจะตัดสินอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา”

และทั้งหมดนี้เอง คือบทสรุปการเดินทางตลอด 25 ปีของ โป้และวง Yokee Playboy ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แม้แต่วินาทีเดียว

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว