The Cloud x ไทยประกันชีวิต
Larger than Life แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ครูยศ เหล่าอัน คือนักปลูกต้นไม้

ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ชายคนนี้ปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 1 ล้านต้นทั่วประเทศ

เขาชวนทุกคนปลูกต้นไม้ ด้วยวิธีที่แปลกประหลาด เรียบง่าย และได้ผลจริง แต่ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับวิธีนี้ตั้งแต่ได้ฟังครั้งแรก

จะน่าเหลือเชื่อไปไหมหากฉันบอกว่า ใต้รากสาขาลึกลงไปในผืนดิน ต้นไม้ของครูยศ มีเถ้าอัฐิของผู้ล่วงลับถูกฝังอยู่ด้วย

แต่สุดท้ายต้นไม้จำนวน 1 ล้านต้น คงบอกได้ว่าสิ่งที่เขาทำ ส่งต่อไปสู่ผู้คนในสังคมได้ไกลขนาดไหน

เมื่อแรกเริ่ม ครูยศถูกมองว่าบ้าที่คิดจะทำ ‘โครงการปลูกต้นไม้ด้วยเถ้ากระดูก’ ด้วยความเชื่อต่อพิธีกรรมที่มีมาอย่างยาวนาน จนถึงความกลัวต่อวิญญาณผีสาง ทำให้แนวคิดของเขาถูกต่อต้านจากชาวบ้านทันที

ครูยศ เหล่าอัน

เจตนาดีของครูยศ คือต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน ส่งเสริมให้คนปลูกและดูแลต้นไม้ ที่สำคัญคือช่วยลดปัญหาขยะมลพิษในแหล่งน้ำจากการลอยอังคาร

ครูยศจึงลงมือทำ แม้จะถูกต่อต้าน ทำเพื่อพิสูจน์ว่าแนวคิดของเขาไม่ใช่เรื่องพิเรนทร์ที่เป็นไปไม่ได้

เขาเริ่มปลูกต้นไม้บนที่ดินสาธารณะรกร้างว่างเปล่า จากสิบเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนต้น พิสูจน์จนชาวบ้านค่อยๆ ซึมซับและเข้าใจ ด้วยผลลัพธ์ที่สัมผัสได้อย่างอากาศบริสุทธิ์และร่มเงาไม้ใหญ่

จากเสียงต่อต้าน กลายเป็นความเชื่อถือและศรัทธาที่ขยายจากหมู่บ้านเล็กๆ ออกไปไกล เถ้าอัฐิจำนวนมากมายถูกส่งมาจากทุกสารทิศ เพื่อให้ครูยศนำไปปลูกต้นไม้

ครูยศ เหล่าอัน

ชีวิตคือการเดินทาง และการเดินทางที่ใช้เวลาชั่วชีวิตคือการมุ่งหน้ากลับไปสู่สภาวะแท้จริง สภาวะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ” ครูยศกล่าวขึ้นขณะพาฉันเดินฝ่าดงไม้ลึกเข้าไป

ที่นี่คือวัดป่าโรจธรรม จังหวัดขอนแก่น สองข้างทางเรียงรายไปด้วยต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์อย่างสวนป่า ใต้รากสาขาของต้นไม้ทุกต้นมีเถ้ากระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนแห่งชีวิตที่ถูกคืนกลับสู่ผืนดิน ให้เป็นสภาวะแท้จริงที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ 

“ทุกชีวิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่เราสามารถสร้างประโยชน์เป็นบุญกุศลให้โลกใบนี้ได้ แม้สิ้นชีวิตไปแล้วก็ตาม ต้นไม้ที่เจริญงอกงามจากเถ้าถ่านอัฐิจะคงอยู่ต่อไป เพื่อผลิตออกซิเจน มอบความชุ่มชื้น และแผ่กิ่งก้านสาขาอย่างเมตตา เป็นที่พักพิงอาศัยแก่เพื่อนร่วมโลก” ครูยศเอ่ยขึ้น

ต้นไม้แห่งความศรัทธาได้ถูกปลูกขึ้นในใจของผู้คน และจะผลิดอกออกผลไปอีกแสนนาน

01

ที่มาของความเชื่อ

ทางพุทธศาสนา เมื่อมนุษย์สิ้นลมหายใจร่างกายจะถูกนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจด้วยการเผา จนสุดท้ายเหลือเพียงเถ้าถ่านอัฐิที่จะถูกนำไปลอยอังคารในแม่น้ำหรือมหาสมุทร เพื่อส่งดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ไปสู่ภพภูมิที่ดี 

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ครูยศเห็นชาวบ้านนำอัฐิของเหล่าผู้ล่วงลับไปลอยอังคารในแม่น้ำชีที่แห้งขอดในฤดูแล้ง ผ้าขาว หม้อ ไห ถุงปุ๋ย ติดอยู่ตามเกาะแก่งแม่น้ำ แม้แต่อัฐิยังถูกโปรยลงบนพื้นดินแตกระแหงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นลำน้ำ นอกจากจะเป็นภาพที่น่าสลดใจแล้ว ภาชนะและข้าวของที่ติดอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติเหล่านั้นยังเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม 

“เริ่มจากความเมตตาและสงสาร เมื่อเห็นอัฐิของผู้วายชนม์ถูกนำไปกองทิ้งไว้ตามแหล่งน้ำที่แห้งขอดช่วงฤดูแล้ง เพราะเถ้าถ่านเหล่านั้นก็คือคน แทนที่ผู้วายชนม์จะได้ไปเกิดดีมีสุข กลับมาถูกมองในแง่ไม่ดีงาม”

หลังเฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่หลายปี ครูยศจึงเกิดความคิดว่า ในเมื่อแก่นแท้ของการลอยอังคารคือการกลับคืนสู่ธรรมชาติผ่านสายน้ำของมนุษย์คนหนึ่ง การกลับคืนสู่ธรรมชาติผ่านธาตุชนิดอื่นอย่าง ‘ดิน’ ก็ถือเป็นการเข้าถึงแก่นแท้นี้ไม่ต่างกัน

โครงการปลูกต้นไม้ด้วยเถ้ากระดูก ของชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงถือกำเนิดขึ้น 

“ถ้าเรานำอัฐิเหล่านั้นไปผสมกับดินเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกต้นไม้ คืนร่างกายมนุษย์กลับคืนสู่แผ่นดิน คืนชีวิตกลับสู่ธรรมชาติ น่าจะเป็นบุญกุศลมากกว่ามาทิ้งไว้เช่นนั้น ซึ่งก็เหมือนกับคืนสู่น้ำในการลอยอังคารตามความเชื่อดั้งเดิมของศาสนาพุทธ” 

แนวคิดการนำเถ้ากระดูกมาปลูกต้นไม้ของครูยศ ถูกต่อต้านจากคนในชุมชนทันที เพราะแม้จะมีเจตนาดี แต่ด้วยความเชื่อต่อพิธีกรรมที่มีมาอย่างยาวนาน จนถึงความกลัวต่อวิญญาณผีสาง ทำให้แนวคิดดังกล่าวดูแหวกแนวไปมากสำหรับคนเมื่อ 30 ปีก่อน

“ผมเลยเริ่มจากการลงมือทำเลย ทำให้ชาวบ้านดู พิสูจน์ให้เขาเห็น” ครูยศเล่า 

วัดตามชนบทสมัยนั้นมีทั้งวัดที่มีเมรุเผาศพและวัดที่ไม่มีฌาปนสถานจึงใช้เพียงกองฟอนแบบโบราณ กองฟอนคือการเอาไม้เนื้อแข็งมาสุมรวมกันเป็นทรงสี่เหลี่ยมคล้ายคอกหมูเพื่อวางหีบศพแล้วเผา เมื่อเผาเสร็จก็จะมีเถ้าถ่านอัฐิหลงเหลืออยู่ในบริเวณ

ครูยศ เหล่าอัน

“ผมก็ไปเก็บเถ้ากระดูกแถวเมรุบ้าง กองฟอนบ้าง มาปลูกต้นไม้บนที่ดินสาธารณะรกร้างว่างเปล่าตามหมู่บ้าน โดยเฉพาะวัดและบริเวณรอบๆ อย่างป่าช้าเก่า ซึ่งมีพื้นที่ว่างสามารถปลูกต้นไม้ได้ ผมก็จะขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดก่อนเข้าไปปลูกทุกครั้ง โดยเน้นพืชสมุนไพรและไม้ยืนต้น จากสิบเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนต้น

02

พลังแห่งศรัทธา

“ชาวบ้านค่อยๆ ซึมซับและเข้าใจจากผลลัพธ์ที่เราทำ เห็นความร่มรื่น สัมผัสอากาศบริสุทธิ์ จากต้นไม้ที่ปลูกไว้ตามพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ของชุมชน จากที่ชาวบ้านมองว่าครูยศนี่บ้า (หัวเราะ) เขาก็เริ่มให้ความเชื่อถือและเล่ากันปากต่อปาก จากบ้านสู่บ้านเพื่อนำอัฐิมาบริจาค บ้านไหนอยู่ใกล้ก็หอบมาให้ ส่วนคนอยู่ไกลก็ติดต่อทางจดหมาย ส่งอัฐิเป็นพัสดุไปรษณีย์มา

“ตอนที่แม่ผมถึงแก่ความตาย ผมนำอัฐิของแม่มาผสมดินปลูกต้นไม้บนที่นาของตัวเอง เขียนป้ายชื่อแม่อย่างดี ระบุวันเกิดวันตาย และปักไว้ข้างๆ ต้นไม้ที่งอกเงยขึ้นจากเถ้ากระดูกของท่าน ต้นไม้ของแม่โตวันโตคืนให้ร่มเงาลูกหลานในอาณาบริเวณบ้าน” 

ครูยศ เหล่าอัน

โครงการปลูกต้นไม้ปลูกป่าด้วยเถ้ากระดูกเริ่มเป็นที่รู้จัก จากแค่ในตำบลก็ขยายไปยังต่างจังหวัด ครูยศได้รับการติดต่อจากชาวบ้านและผู้นำชุมชนจำนวนมากที่ศรัทธาและสนใจอยากร่วมโครงการ 

“ผมสนับสนุนให้คนปลูกต้นไม้บนที่ดินของตัวเอง ตามหัวไร่ปลายนาที่บรรพบุรุษหาที่ดินที่ดอนไว้ให้ คุณมีกินมีใช่ทุกวันนี้เพราะพ่อแม่ให้ คุณกล้าไหมที่จะปลูกต้นไม้ให้ท่าน ถ้ากล้าผมจะไปทำพิธีปลูกให้ แต่ถ้าไม่กล้า อยากบริจาคอัฐิก็ส่งมา ผมจะปลูกให้ บางหมู่บ้านเก็บเถ้าถ่านอัฐิผู้วายชนม์ไว้เป็นร้อยห่อ รอผมและคณะไปทำพิธีปลูกให้ ซึ่งพิธีก็เรียบง่ายมาก ไม่สิ้นเปลืองเลย” ครูยศกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

03

ป่าในวัดป่า

ที่ดินทั้ง 20 ไร่ ของวัดป่าโรจนธรรมแห่งนี้เป็นพื้นที่ไร่นาเดิมของชาวบ้านที่บริจาคให้โครงการมาทำวัดป่า แบ่งการใช้งานเป็นอาสนสถานและที่พักสงฆ์ประมาณ 5 ไร่ ที่เหลือปลูกต้นไม้ และขุดบึงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้รดต้นไม้ในฤดูแล้ง ที่นี่ไม่ใช้น้ำประปาใช้น้ำจากบ่อดินธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้า และการบิณฑบาตทุกเช้าจะต้องเดินเท้าเข้าหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างออกไป 5 กิโลเมตร 

ไม่มีป้ายหรือกำแพงวัด ถ้าใครบังเอิญขับรถหลงจากทางหลวงลึกเข้ามา คงคาดไม่ถึงว่าที่นี่คือวัด และเป็นวัดที่ทำหน้าที่เสมือนโอเอซิสให้ร่มเงาและเก็บกักความชุ่มชื้นมหาศาลเอาไว้ บนพื้นที่เกษตรกรรมขนาดมหึมาสุดลูกหูลูกตาที่แทบไม่มีไม้ยืนต้นอยู่เลย

ครูยศ เหล่าอัน

ครูยศพาฉันเดินสำรวจสวนป่าในบริเวณวัด ยิ่งลึกยิ่งร่มรื่น เรือนยอดของไม้พะยูงจำนวนนับพันต้นทำหน้าที่เป็นหลังคาธรรมชาติกันเปลวแดดร้อนเปรี้ยง เศษใบและกิ่งไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผืนดิน เป็นที่อยู่อาศัยให้สรรพสัตว์ร่วมโลก

“ต้นพะยูงพวกนี้ เพิ่งปลูกไปเมื่อไม่นาน อายุราว 4 – 5 ปี” ครูยศอธิบายต่อถึงวิธีคัดเลือกสายพันธุ์ต้นไม้ที่จะนำมาเข้าร่วมโครงการ ว่าต้องเป็นพันธุ์พืชพื้นถิ่นดั้งเดิมที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศมาตั้งแต่โบราณ พื้นที่จะถูกกับดินฟ้าอากาศ ทางภาคอีสานมีพวกประดู่ ยางนา ไม้แดง เพียงเมล็ดได้รับความชุ่มชื้นก็จะแตกหน่อเติบโตอย่างแข็งแรงโดยธรรมชาติ เพราะอุณหภูมิและปัจจัยต่างๆ พอเหมาะกับพันธุ์พืชนั้นๆ 

“ถ้ามีการระบุสายพันธุ์ไว้ในพินัยกรรมของผู้วายชนม์ ผมก็จะปลูกให้ตามความประสงค์นั้น บางคนพูดไว้ก่อนตาย ชีวิตผมได้ดิบได้ดีเพราะทุเรียน ปลูกต้นทุเรียนด้วยเถ้ากระดูกผมนะ หรือบางคนอยากได้ต้นพะยูง เพราะจะได้ช่วยพยุงชีวิตของลูกหลานให้มั่นคง

“ที่สำคัญคือ เราต้องการให้มีระบบนิเวศ มีต้นไม้หลากหลายชนิดปลูกแซมกันอยู่ในพื้นที่เดียว เพราะมันจะทำให้พวกนก หนู ปู แมลง มดแดง หรือนก มาพึ่งพิงอาศัย”

04

คืนสู่สามัญ

วันนี้จะมีพิธีปลูกต้นไม้ด้วยเถ้าถ่านอัฐิจากผู้วายชนม์จำนวน 13 ท่าน

“เราจะเริ่มด้วยการทำพิธีกรรมทางศาสนาก่อน เป็นพิธีที่เรียบง่ายทว่าสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้เกียรติผู้วายชนม์

เริ่มด้วยนิมนต์พระบังสกุล อนิจจา วต สังขารา อุปปาทวยธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข พระสงฆ์ก็จะไปยืนพิจารณา สักวันไม่ว่าอาตมาหรือโยมก็ต้องมีสภาพนี้เหมือนกัน

จากนั้นถวายจัตุปัจจัยให้พระภิกขุสงฆ์ ก่อนจะเข้าสู่พิธีปลูกต้นไม้ พระสงฆ์รูปไหนอยากร่วมปลูกด้วย ก็เชิญจับจอบจับเสียมลงแปลงสวนป่าพร้อมญาติโยมได้เลย” ครูยศกล่าวยิ้มๆ

ในการปลูกต้นไม้ ครูยศจะขุดหลุมขนาดกว้าง 50 ลึก 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และจอกแหนที่เก็บขึ้นมาจากแอ่งน้ำธรรมชาติ มารองก้นหลุมเอาไว้ ไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆ จากนั้นนำเถ้าถ่านอัฐิผู้วายชนม์ผสมเข้ากับวัตถุดิบธรรมชาติที่ใช้รองก้นหลุมเหล่านั้น พร้อมอธิษฐานจิต   

ครูยศ เหล่าอัน
ครูยศ เหล่าอัน

“ขอให้ท่านผู้บริจาคสรีระร่างกาย เถ้าถ่านอัฐินี้ จงไปเกิดดีมีสุขในสัมปรายภพเบื้องหน้า บุตรหลานของท่านเบื้องหลังก็ขอให้มีความสุขความเจริญเช่นกัน บัดนี้ชมรมอนุรักษ์และคณะทั้งหลายจะปลูกต้นไม้เป็นเกียรติ เป็นอนุสรณ์ให้กับท่าน”

เมื่ออธิษฐานจบก็ลงมือปลูกด้วยกระบวนอย่างการปลูกต้นไม้ทั่วไป ญาติโยมและพระสงฆ์ร่วมไม้ร่วมมือกันเอากล้าไม้ลงหลุมที่จัดเตรียมเอาไว้ กลบดินให้แน่น เป็นอันเสร็จพิธี

ครูยศ เหล่าอัน

ในเถ้ากระดูกประกอบไปด้วย ธาตุไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ต้นไม้แตกรากได้ดี ช่วยเร่งการออกดอกผล นอกจากนี้ เถ้ากระดูกมีความเป็นด่างเล็กน้อย ทำให้เมื่อผสมลงในดินที่เป็นกรดจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของดิน

ลูกหลานผู้วายชนม์ท่านไหนอยากปักป้ายระบุชื่อ วันเกิด วันตาย อายุ ไว้ข้างต้นไม้ ก็สามารถทำได้เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงผู้ล่วงลับ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการระบุชื่อ ปล่อยให้เถ้าถ่านอัฐิได้ผสมผสานไปเป็นส่วนหนึ่งของดิน อย่างการเป็นส่วนหนึ่งของน้ำในพิธีลอยอังคาร

ครูยศ เหล่าอัน

“ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน นับถือศาสนาอะไร ก็สามารถบริจาคเถ้าถ่านอัฐิมาปลูกต้นไม้ได้ มีชาวต่างชาติจำนวนมากทั้งชาวยุโรป ชาวอเมริกัน ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธเข้าร่วมโครงการนี้ บางท่านอยู่เมืองไทย มีภรรยาเป็นคนไทย เขาก็บอกไว้ก่อนเสียชีวิตเลยว่าถ้าเขาเป็นอะไรไปไม่ต้องส่งร่างกลับประเทศเขานะ ให้เอาเถ้ากระดูกไปปลูกต้นไม้แทน

“ช่วงขวบปีแรกของการปลูกเราอาจจะต้องรดน้ำดูแลกล้าไม้ แต่เมื่อพ้น 5 ปีแรกไปแล้วต้นไม้จะดูแลเรา ผลิตออกซิเจน ปรับสภาพอากาศ ดูแลระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม พวกเราจะอาศัยพึ่งใบบุญของป่านี้ไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน

“ถ้าคุณมีโอกาสกลับมาที่วัดป่านี้ในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ต้นไม้อายุน้อยที่เห็นอยู่นี้จะเติบโตเป็นไม้ใหญ่เขียวชอุ่มยิ่งกว่าเดิม อาณาบริเวณของวัดป่าจะร่มรื่นรมณียาเหมือนกับในสมัยพุทธกาล”

05

ปลูกต้นไม้ในใจคน

“ผมเป็นเด็กวัด ได้ซึมซับความรู้ทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่เด็ก วัดสมัยโบราณจะมีความร่มรื่น ไม่ได้มีอาคารสิ่งก่อสร้างมากอย่างในปัจจุบัน ผู้คนเข้าไปแล้วจะรู้สึกร่มเย็น สามารถปลดเปลื้องความทุกข์ได้ เราจึงอยากให้โครงการปลูกต้นไม้ปลูกป่าด้วยเถ้ากระดูกนี้ได้ไปสร้างความร่มรื่นให้หลายๆ วัดเป็นรมณียสถาน เพื่อถวายพระพุทธเจ้าผู้ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในผืนป่า”

ครูยศเป็นคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์มาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 12 ปี สมัยเป็นเด็กวัดที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดมหาสารคาม มีคหบดีผู้มีอันจะกิน นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากประเทศอินเดียมาทอดกฐินให้วัด แต่ก็ไม่มีคนปลูก จนเวลาผ่านไปหลายเดือน ในที่สุดครูยศจึงตัดสินใจที่จะปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์เอง โดยตั้งอธิษฐานจิตว่า “หากข้าพเจ้าจะมีบุญวาสนาได้พึ่งพาอาศัยพระพุทธศาสนา ขอให้ต้นโพธิ์ที่ข้าพเจ้าปลูกจงเจริญงอกงามสืบไป”

50 ปีต่อมา ต้นโพธิ์ดังกล่าวยังคงอยู่และเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขา ใครไปใครมาก็ต้องไปพึ่งร่มเงา ครูยศจึงเป็นคนรักต้นไม้มานับจากนั้น

เมื่อเติบโตขึ้น ครูยศตระเวณปลูกต้นไม้ตามป่าสาธารณประโยชน์ ที่ดินรกร้าง ในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน หลังจบวิทยาลัยครู วิชาเอกเกษตรกรรม ครูยศก็มารับราชการครู นอกจากปลูกฝังเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เด็กๆ แล้ว ยังได้นำคณะนักเรียนและครูร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน โดยเน้นปลูกต้นไม้ในวัด ป่าช้า โรงเรียน และที่ดินสาธารณะรกร้างตามหมู่บ้าน และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกสวนป่าในพื้นที่ตนเอง

“ผมอึดอัดมาก เวลาเห็นบางหน่วยงานจัดงานปลูกต้นไม้เอาหน้าแบบสักงับ สักงับเป็นภาษาอีสานแปลว่า ขุดหลุมตื้นๆ ซึ่งตรงกับการกระทำของหน่วยงานเหล่านั้น คือเอาต้นไม้ลงดินโดยไม่ตระเตรียมหลุม ไม่ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่จะเป็นสารอายุให้ต้นไม้ แค่เอารากลง ถ่ายภาพ แล้วก็จากไปตลอดกาล

“ผมเสียดายงบประมาณราชการที่มาสูญเสียให้กับความฉาบฉวยเหล่านี้ปีละหลายล้านบาท

ผมจึงไปอาสาออกแบบการปลูกต้นไม้ ให้คำแนะนำการทำสวนป่า สวนสาธารณะประโยชน์กับองค์การบริหารส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ ผมไม่รอให้ใครมาเปลี่ยน ผมลงมือทำเดี๋ยวนั้น เพื่อหวังว่าสิ่งเล็กๆ ที่ทำจะช่วยประเทศ ช่วยโลกได้

“ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคณะทำงานหลัก 15 คน ตั้งแต่พระภิกษุสงฆ์ไปจนถึงนักเรียนนักศึกษา และเรามีสมาชิกชมรม 1 พันกว่าคนทั่วประเทศ ผมปลูกฝังและกระจายงานออกไป เพราะผมทำอยู่คนเดียว รู้อยู่คนเดียว วันหนึ่งผมตายขึ้นมา โครงการนี้ก็จะไม่ได้ไปต่อ ซึ่งนั่นคือความไม่ยั่งยืน” ครูยศกล่าว

06

กุศโลบายเพื่อวันพรุ่งนี้

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ปลูกต้นไม้ด้วยเถ้ากระดูกไปแล้ว 1,030,047 ต้น มีการลงทะเบียนใส่หมายเลขไว้อย่างเป็นระบบ สามารถตรวจสอบได้

“ปลูกต้นไม้ใช้เวลาไม่กี่ปีก็ได้เก็บผลกิน แต่การเปลี่ยนแนวคิดเพื่อปลูกต้นไม้ในใจคนนั้นใช้เวลาและความอดทนอย่างมหาศาล ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อย แต่ท้อไม่ได้ เพราะได้ตั้งปณิธานที่จะคืนบุญคุณให้แผ่นดิน คืนความอุดมสมบูรณ์ คืนพื้นที่สีเขียวให้ผืนป่าจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อถึงวันนั้นก็เอาเถ้าถ่านจากร่างกายผมมาเป็นปุ๋ยต้นไม้”

อีกหนึ่งปัญหาที่ครูยศให้ความสำคัญคือ ปัญหาขยะในผืนป่า “คนทุกวันนี้มักง่าย เอาป่ามาเป็นที่ทิ้งขยะ บางคนเข้ามาท่องเที่ยว บางคนเข้ามาเก็บผลผลิตจากป่าไปประทังชีวิต ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติแต่กลับทิ้งภาระมลพิษไว้เบื้องหลัง”

ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรเอกชนหลายแห่ง จัดทำโครงการเก็บขยะออกจากป่า คืนเทวดาให้ต้นไม้ ซึ่งเป็นการชวนอาสาสมัครเข้าไปช่วยกันเก็บขยะสิ่งแปลกปลอมออกจากผืนป่า

“ป่าเป็นแหล่งผลิตต้นน้ำและออกซิเจน เมื่อป่าสะอาด คนก็ได้รับผลผลิตบริสุทธิ์ไปด้วย ในอีกแง่ ซึ่งจะมองเป็นกุศโลบายก็ได้ คือเมื่อป่าสะอาด เทพบุตร เทพธิดา เจ้าป่าเจ้าเขา จะได้ความร่มเย็นและได้พลังในการปกปักรักษาป่าดังเดิม

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ป่าชุมชนภูกระแต จังหวัดมหาสารคาม กลายเป็นป่าปลอดขยะแห่งแรกของประเทศไทย ทั้งที่แต่ก่อนเป็นที่ทิ้งขยะ มีขยะสะสมที่คนเอามาทิ้งไว้เป็นร้อยๆ ตัน หลังจากช่วยกันกำจัดขยะออกจากป่าจนหมด

เราก็เอาโครงการปลูกต้นไม้ปลูกป่าด้วยเถ้ากระดูกเข้าไปเพิ่มปริมาณต้นไม้ เท่านั้นแหละ ไม่มีใครกล้านำขยะมาทิ้งอีกเลย เพราะกลัวสิ่งที่ดูแลรักษาต้นไม้อยู่ครูยศทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

รักอิสระ มุกดาม่วง

เป็นคนจังหวัดอุดรธานี-ถิ่นภาคอีสาน โดยกำเนิด รักอิสระเคยดร็อปเรียนตอนมัธยมแล้วไปเป็นเด็กล้างจานที่ร้านอาหารไทยในอเมริกา 1 ปี ชอบเดินทางท่องเที่ยว ถ่ายรูป และสนใจภาพเชิงสารคดีเป็นพิเศษ