10 พฤศจิกายน 2022
4 K

วันอังคาร ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565 มีพิธีเปิดห้องสมุดซึ่งเอกชนร่วมมือกับราชการคือกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และมูลนิธิวิชาหนังสือ งานครึกครื้นใหญ่โต มีผู้เข้าร่วมงานมากถึงกว่า 200 คน ทั้งชาวสงขลาเองและจากจังหวัดอื่น ทั้งใกล้เคียงและห่างไกล นับเป็นต้นแบบโครงการห้องสมุดประจำเมืองแห่งแรกในจังหวัดสงขลา และแห่งแรกของประเทศไทย

ห้องสมุดในอาคารชั้นเดียวเก่า ๆ แห่งนี้ มีอะไรดี

ย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีก่อน เมื่อวันที่ 28 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดประชุมเรื่อง ‘ระบบหนังสือและสถาบันหนังสือแห่งชาติ’ ที่จังหวัดเพชรบุรี มีครูมกุฏร่วมหารืออยู่ด้วย ครูมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และเลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ ผู้คลุกคลีอยู่กับหนังสือมาทั้งชีวิต ความฝันสูงสุดคือสร้างโอกาสการเข้าถึงการอ่านให้แก่คนในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ผลการประชุมทำให้รู้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโครงสร้างหนังสือและการอ่านของประเทศอย่างจริงจัง จึงเกิดโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือขึ้นอย่างย่อย ๆ เพื่อให้เห็นความสำคัญและจำเป็น รวมทั้งเป็นตัวแทนความต้องการของผู้คน และแนวคิดห้องสมุดประจำเมืองเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

เมื่อจะเปิดห้องสมุด วิธีง่าย ๆ คือเช่าอาคารสักหลัง หรือตั้งงบประมาณสร้างอาคารใหม่ แล้วเลือกสรรหนังสือใส่ไว้ให้เต็ม แต่ความคิดของครูมกุฏไม่ใช่เช่นนั้น กลายเป็นว่าพยายามหาบ้านหรืออาคารเก่าที่ไม่ใช้งาน และเจ้าของสถานที่ก็เห็นด้วยกับการมีห้องสมุดประจำเมือง สถาปัตยกรรมที่ทิ้งร้างก็จะมีชีวิตอีกครั้ง พร้อมกับได้สร้างโอกาสแห่งการอ่านแก่คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ในรูปแบบแนวคิดใหม่

ในเวลาเดียวกันนั้น คุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย เจ้าของอาคารเก่าในบริเวณเมืองสงขลาก็ดำริจะใช้ประโยชน์จากโกดังข้าวเก่าที่ถนนนครนอก และด้วยเหตุที่เคยทำห้องสมุดพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวันร่วมกันมา จึงตกลงจะร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกำลังดำเนินงานวัฒนธรรมร้านหนังสือ โครงการหนังสือเดินทางร้านหนังสือ : Book Passport เพื่อให้สอดคล้องกัน และอนุญาตให้มูลนิธิวิชาหนังสือใช้อาคารอายุร่วมร้อยปีนี้จัดตั้งห้องสมุดประจำเมืองต้นแบบขึ้น

ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ที่โกดังข้าวเก่า ถนนนครนอก สงขลา จึงกลายเป็นทุกอย่างที่ผู้คนทั้งหลายอยากจะให้เป็น ตั้งแต่สถานที่ส่งเสริมการอ่าน กระจายความรู้และความสนุก จัดแสดงงานศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ของเมือง ของชีวิตคนในท้องถิ่น ถ่ายทอดโดยคนในท้องที่ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แม้แต่สถานที่เช็กอินถ่ายรูปของนักท่องเที่ยว

เหล่านี้คือชีวิตมากมายหลายแง่มุมที่จะปรากฏ ณ ห้องสมุดแห่งนี้

ยับ เอี่ยน ฉ่อย จากโกดังข้าว สู่ห้องสมุดมีชีวิตประจำเมืองสงขลาที่เต็มไปด้วยความสนุก

ห้องสมุดที่มีชีวิต

ภาพห้องสมุดในความคิดและความจำของคนทั่วไป อาจเป็นสถานที่เงียบ ๆ มีหนังสือมากมายให้เลือกหยิบ อ่าน ยืม แต่ในความคิดหวังของครูมกุฏ เป็นได้มากกว่านั้น

อาคารเก่าที่ในอดีตคือโกดังข้าว ยังคงโครงสร้างเดิมไว้ทุกประการ ไม่รื้อส่วนใดออก ไม่ก่อสร้างเพิ่ม ห้องสมุดประจำเมืองสงขลา ภายในแต่งเติมเพิ่มด้วยตู้หนังสือ ผู้คนมาใช้พื้นที่อ่านหนังสือ หย่อนใจ หรือแม้จะถ่ายรูปอย่างเดียวก็ไม่มีใครว่า

หลายคนเมื่อแรกเข้าต้องสะดุดตาเสาหนังสือกลางอาคาร เหตุที่มีเสาหนังสือนี้ ก็ด้วยการออกแบบและหมายให้เป็นจุดเด่นของห้องสมุดที่เห็นได้ตั้งแต่บนถนนไกล ๆ แต่เหตุผลที่ซ่อนไว้ก็คือ เสากลางอาคารเป็นจุดอ่อนที่สุด ถ้าไม่เสริมความแข็งแรงก็อาจเป็นจุดล่อแหลมให้เดินชนหรือกระแทกได้ง่าย จึงสร้างเสาหนังสือห่อหุ้มเสาไม้เล็ก ๆ เดิมไว้เพื่อบังไม่ให้ใครไปยืนพิงหรือเดินชน ขณะเดียวกันก็จำลองห้องเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษามาไว้กลางห้องสมุด ว่าด้วยการเรียนเรื่องออกแบบสันปกหนังสือ ให้ผู้เรียนได้สังเกตศึกษาปกหนังสือเกือบ 1,000 ปก ในเวลาเดียวกัน

“ห้องสมุดคือสถานที่ให้บริการเครื่องมือความรู้และสติปัญญา และเป็นได้หลายอย่าง ไม่ควรทำให้ห้องสมุดตายด้วยการเอาหนังสือไปยัดไว้มากที่สุดจนล้น แต่ไม่มีคนเข้าไปอ่าน”

ครูมกุฏชี้ข้อเสียของห้องสมุด ซึ่งมักเจอปัญหาความแห้งแล้ง ไร้แรงดึงดูดนักอ่าน

“ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย มีหนังสือไม่มาก แต่นโยบายของเราคือ ใครก็ตามที่เดินเข้ามาที่ห้องสมุด และอยากได้หนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง หรือประเภทไหนที่เขาเห็นว่าจำเป็นและต้องการอ่าน ลงชื่อไว้ เขียนบอกไว้ เราจะพยายามจัดหาให้” 

เมืองจะมีชีวิตได้ ต้องเกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เช่นเดียวกับห้องสมุดแห่งนี้ที่เปิดให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วม สิ่งนี้กลายเป็นเป้าหมายหลักของ ยับ เอี่ยน ฉ่อย ต่อไป นอกเหนือจากบริการหนังสือและความรู้ นั่นคือสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม

ห้องสมุดที่เป็นมิตรกับนักเดินทาง

ในเมืองเก่าที่นักท่องเที่ยวสนใจหลั่งไหลกันมาเป็นจำนวนมาก ย่อมหนีไม่พ้นการปะทะของวัฒนธรรมหลากหลายทั้งที่มีอยู่เดิมและเกิดใหม่ ใจความสำคัญของที่นี่คือ สร้างพื้นที่ให้คนในท้องถิ่นได้มาพบปะกับคนจากต่างแดน

ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ประกาศตัวว่าในอนาคตจะเป็นแหล่งรวมข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวไว้ให้ได้มากที่สุด ถ้าอยากรู้จักเมืองสงขลาทั้งตัวเมืองอันเป็นศูนย์กลางและอำเภอ ตำบล หมู่บ้านต่าง ๆ ที่นี่พร้อมเพิ่มมิติประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง อาจจะเป็นข้อมูลอีกชุดที่แตกต่างจากในพิพิธภัณฑ์ และพร้อมจะให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงสถานที่จริง เช่นเดียวกับพร้อมจะเป็นศูนย์กลางให้ท้องถิ่นเสนอข้อมูล ทั้งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การศึกษาท่องเที่ยว และความเป็นไปในปัจจุบัน

“นักท่องเที่ยวอาจหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้บางส่วน แต่คงไม่ทั้งหมด ขณะที่ห้องสมุดของเรามีข้อมูลที่เป็นหลักฐานรับรองแล้ว เช่น หนังสือของ คุณเอนก นาวิกมูล ซึ่งเขียนเรื่องสงขลามากที่สุดในประเทศ คุณหาอ่านได้ทั้งหมดที่นี่ เราพยายามทำห้องสมุดนี้ให้เป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวที่จะรู้จักเมืองสงขลาและเมืองรอบข้างมากขึ้น ในอนาคต ที่นี่จะรวบรวมข้อมูลสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอและตำบลต่าง ๆ รวมทั้งเชื่อมโยงการติดต่อ เช่น ให้คำแนะนำแก่ชุมชน กระทั่งถึงการรับส่งนักท่องเที่ยว จนถึงขั้นติดต่อทางธุรกิจกับชาวบ้าน”        

นอกจากกิน เที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจในเมืองน่ารักอย่างสงขลา ยับ เอี่ยน ฉ่อย จะช่วยเพิ่มมิติให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวของคุณมากยิ่งขึ้น

ห้องสมุดที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

“วิธีคิดของเราคือ ต้องไม่กระทบกระเทือนใคร ไม่ทำให้ใครแม้แต่คนเดียวต้องเดือดร้อน เช่น เมื่อมีร้านขายหนังสืออยู่ในเมือง เราต้องไม่ทำให้ร้านขายหนังสือเดือดร้อน ไม่ขายหนังสือที่มีขายทั่วไป”

แล้วจะทำอย่างไร – เราสงสัย

“หน้าที่ของห้องสมุดคือส่งเสริมการอ่าน สมมติว่าเราเชิญนักเขียนชื่อดังและมีหนังสือออกใหม่มาเสวนาที่ห้องสมุด เราจะไม่ขายหนังสือของเขาในงานนั้น ถ้าคุณอยากได้หนังสือพร้อมลายเซ็น คุณต้องไปซื้อที่ร้านหนังสือ นี่คือวิธีทางกิจกรรมที่จะส่งเสริมกัน แต่ขณะเดียวกันเรามีหนังสือหายากให้สั่ง หนังสือที่ไม่มีขายทั่วไป เช่น หนังสือของราชบัณฑิตยสภา หนังสือของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น”        

นอกจากนี้ ครูมกุฏยืนยันแข็งขันว่า ยับ เอี่ยน ฉ่อย ไม่ใช่คาเฟ่

“เมื่อเราเปิดห้องสมุดได้เพียงวันเดียว มีคนนับสิบ ๆ คน หลายสิบทีเดียว มาแนะนำให้เปิดร้านกาแฟ เพราะสถานที่ดีมาก วิเศษมาก เขาว่ารวยแน่ ๆ ผมหัวเราะได้ข้ามคืนเลย ประเทศนี้เราจะไม่คิดทำอะไรอื่นแล้วหรือ นอกจากเปิดร้านกาแฟ จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราเอาที่นี่ไปแข่งกับร้านกาแฟที่มีอยู่แล้วหลายสิบร้าน ถ้าเราเปิด ร้านอื่น ๆ ก็อาจจะเดือดร้อน เพราะสถานที่เราได้เปรียบ แต่จะมีประโยชน์อะไร อย่าลืมว่าเรามาที่นี่เพื่อทำห้องสมุด ไม่ใช่ร้านกาแฟ”

ครูมกุฏกล่าวถึงความหวังในอนาคตของห้องสมุดแห่งนี้ ว่าจะกลายเป็นพื้นที่ให้พักผ่อนหย่อนใจ อ่านหนังสือ หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งของคนเมืองสงขลาและต่างถิ่น คนรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่วัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงวัยก็มาใช้พื้นที่ได้ นอกจากนี้ที่นี่ยังทำงานร่วมกับเครือข่ายสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่มีอยู่ เช่น a.e.y. space Art Space ย่านเมืองเก่าสงขลาที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมอยู่เป็นประจำ รวมทั้งสถาบันการศึกษา และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็จะมีสถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์ของการส่งเสริมวัฒนธรรม ตามความมุ่งหวังของอธิบดีคนก่อน คือ คุณชาย นครชัย โดยไม่ต้องก่อสร้างสำนักงานเพิ่มขึ้นใหม่        

โจทย์สำคัญที่คณะทำงานสำนักพิมพ์ผีเสื้อและมูลนิธิวิชาหนังสือ ซึ่งรับหน้าที่บริหารห้องสมุดแห่งนี้ ต้องรับไปคิดมากขึ้นอีกก็คือ จะทำอย่างไรให้ห้องสมุดคือพื้นที่แห่งวัฒนธรรม ความรู้ การแลกเปลี่ยนและส่งเสริมกันจากทั้งคนในและคนนอกพื้นที่จนพอจะเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ ได้

ยับ เอี่ยน ฉ่อย จากโกดังข้าว สู่ห้องสมุดมีชีวิตประจำเมืองสงขลาที่เต็มไปด้วยความสนุก

ห้องสมุดวัฒนธรรม

เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือคิดว่า การอ่านในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงหนังสือกระดาษ แต่มนุษย์ที่ผ่านประสบการณ์มามากมาย ล้วนเป็นหนังสืออีกรูปแบบหนึ่งที่มีคุณค่าด้วย

“แต่เดิมเราให้ความรู้แก่คนโดยเอาหนังสือไปวางไว้ แล้วให้คนอ่านหรือยืมกลับไป เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้ไม่ได้อยู่ในหนังสืออย่างเดียวแล้ว เราก็มักจะพูดว่าห้องสมุดมีชีวิต แต่เราไม่ได้เข้าใจว่าความมีชีวิตมันเป็นอย่างไร ความรู้ที่อยู่ในหนังสือคือความรู้แห้งที่จับใส่เข้าไป แต่มนุษย์ทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น ความรู้อยู่ในตัวเขามากขึ้น ทำไมเราจึงไม่ใช้ประโยชน์จากคนเหล่านี้ ในฐานะเป็นแหล่งความรู้อย่างหนึ่ง เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชีวิตชีวา มีวิญญาณ เป็นหนังสือเล่มใหญ่มหึมาไม่ซ้ำกันเลย”

จึงเกิดเป็นความคิดต่อมาว่า ห้องสมุดจะร่วมกับชาวสงขลากำหนดปฏิทินกิจกรรมตลอด 12 เดือนขึ้น ในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมผลัดหมุนเวียนกันไป รวมทั้งเชิญผู้อาวุโส ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนสงขลาหรือคนในจังหวัดใกล้เคียง เช่น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มาบอกเล่าเรื่องเสมือนหนังสือเล่มหนึ่ง มาสนทนากับผู้ฟังประหนึ่งได้อ่านหนังสือเล่มนั้นส่วนใดส่วนหนึ่ง คนที่มาฟังก็อาจได้แรงบันดาลใจ นำกลับไปคิดต่อทำต่อให้งอกงาม เขาอาจกลายเป็นหนังสือเล่มใหม่ที่มีค่าชวนอ่านอีกเล่มหนึ่งต่อไป 

ซึ่งสอดคล้องกับความคิด Human Book หรือ Human Library ที่แพร่หลายกันแล้วในต่างประเทศ ก่อเกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุดก็จัดกิจกรรมเช่นนี้ให้ผู้คนได้อ่าน ‘หนังสือคน’ เช่นกัน

ส่วนกิจกรรมทางศิลปะ ครูมกุฏเล่าว่า นักศึกษาการแสดง นักเรียนศิลปะแขนงต่าง ๆ มีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ไม่มีพื้นที่ให้แสดงผลงาน

“เราจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ต้องการเวที ต้องการพื้นที่เสนอผลงานของนักศึกษา อาจเป็นการแสดงระยะสั้นหรือระยะยาว เช่น เปิดแสดงดนตรี แสดงภาพวาด งานศิลปะ และรวมทั้งจำหน่ายผลงาน กระทั่งเป็นศูนย์กลางติดต่อเพื่อเปิดแสดงหรือรับงานในสถานที่ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้มามีส่วนร่วม และดึงคนในท้องที่ให้มาพบปะกับนักท่องเที่ยว ส่งเสริมกิจกรรมวัฒนธรรมทั้งหลายที่จะทำได้”

นี่ยังเป็นห้องสมุดอยู่อีกหรือ

ยุคนี้เราอาจเรียกพื้นที่เช่นนี้ว่า ‘พื้นที่สาธารณะ (Public Space)’ แต่ครูมกุฏยังย้ำกับเราว่า ยับ เอี่ยน ฉ่อย คือห้องสมุดที่มีหลากหลายมิติในตัวเอง เพื่อสร้างชีวิตชีวาแบบที่ห้องสมุดเป็นได้และควรจะเป็น

“พฤติกรรมของห้องสมุดไม่ได้เปลี่ยนไป แต่องค์ประกอบของความเป็นห้องสมุดนั้นมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น”

เราเห็นด้วยกับถ้อยคำของครูอย่างมาก แค่นึกภาพก็เห็นความสนุกรอต่อคิวกันแน่นไม่ไหวแล้ว

อนาคตของห้องสมุด

“ถึงแม้ไม่มี ยับ เอี่ยน ฉ่อย ตัวเมืองสงขลาก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีดีอยู่แล้ว แต่ครูคิดว่าท่ามกลางสิ่งเหล่านั้น เราไปแทรกอะไรอีกสักอย่างให้มีเสน่ห์ขึ้นมา ให้มันสนุกขึ้นมาได้มั้ย” ชายวัยเลข 7 เอ่ยด้วยพลังกระตือรือร้น

จากความคิดสำคัญแรกเริ่ม คือวางรากฐานอย่างเป็นรูปธรรมให้กับโครงการต้นแบบห้องสมุดประจำเมือง สถานีต่อไปของโมเดลนี้ คือเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล

“คนเกาะเขาขาดโอกาสมาตลอดชีวิตด้วยเรื่องต่าง ๆ การเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย การเรียน การเดินทางราคาแพง ต้องเสี่ยงชีวิต เสี่ยงภัยกว่าคนอื่น แล้วเครื่องมือความรู้ก็ไปไม่ถึงเขาเท่ากับคนในเมือง ไม่ต้องเทียบกับคนกรุงเทพฯ นะครับว่าเหลื่อมล้ำกันแค่ไหน แค่คนบนเกาะกับอำเภอเล็ก ๆ ของเมืองสงขลาอย่างอำเภอหาดใหญ่ อำเภอรัตภูมิ ก็เทียบไม่ได้แล้ว

“เราต้องลองลงมือทำให้คนทั้งหลาย โดยเฉพาะรัฐบาลเห็นว่า มีวิธีที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมากในการสร้างวัฒนธรรมหนังสือให้แก่คนในชาติ และสร้างโอกาสการเข้าถึงหนังสือได้อย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาชาติด้วยความรู้ได้ง่ายขึ้น” ครูมกุฏกล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง

ภาพ : ห้องสมุดยับ เอี่ยน ฉ่อย

ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย

ที่ตั้ง : 213 ถนนนครนอก ซอยท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ​ : 09.00 – 17.00 น. (ปิดวันจันทร​์-พุธ)

Facebook : ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย

Writer

Avatar

คณิศร สันติไชยกุล

นักเรียนนิเทศศาสตร์ อยากเห็นโลกที่ดีกว่าเดิม ให้ความสำคัญกับการมีอยู่ไม่ต่างจากการจากไป