Yindii (ยินดี) คือแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย เบเกอรี่ ขนม ผักผลไม้ สารพัดอาหารทางออนไลน์ในไทยที่มีอายุเพียง 1 ขวบ แต่กำลังเป็นที่กล่าวถึงบนโลกโซเชียลและเติบโตอย่างน่าติดตาม แม้อยู่ท่ามกลางสมรภูมิที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของบริษัทยักษ์ใหญ่

จุดเด่นของสตาร์ทอัพน้องใหม่ชื่อไทยรายนี้คือ ผู้ใช้งานสามารถซื้อเบเกอรี่หรืออาหารคุณภาพดีจากโรงแรมระดับ 5 ดาวและร้านค้าสุดพรีเมี่ยม ด้วยราคาที่ถูกลง 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ ช่วยสร้างรายได้ให้ธุรกิจในภาวะซบเซา และลดการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่จำเป็น ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย

ก่อตั้งโดย Louis-Alban Batard-Dupre (หลุยส์) ซีอีโอชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่ไทยเมื่อราว 2 ปีก่อน และตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาสร้างแพลตฟอร์ม เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ตอนที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาดในวงกว้างเป็นครั้งแรก 

 Louis-Alban Batard-Dupre (หลุยส์)

ดูเสี่ยงไม่ใช่น้อย แต่หลุยส์เลือกเดินพันกับภารกิจนี้ เพื่อแก้ไขหนึ่งในปัญหาของสังคมที่เขาพอจะทำอะไรได้บ้าง อย่างเรื่อง ‘อาหารส่วนเกิน’ (Surplus Food) 

“วิสัยทัศน์ของผมคือ Yindii จะเป็นมากกว่าพื้นที่ซื้อขาย แต่เป็นไลฟ์สไตล์ของผู้คน เราอยากเปลี่ยนแปลงวงการอาหารและเดลิเวอรี่ให้เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น สร้างความตระหนักรู้เรื่องขยะอาหารและผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีการนี้ เราจะป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ร่วมกันได้” หลุยส์กล่าว

ขยะอาหารอาจฟังดูไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่เรื่องนี้อยู่ใกล้ตัวและเร่งด่วนกว่าที่คิด เพราะราว 17 เปอร์เซ็นต์ (931 ล้านตัน) ของอาหารที่ผลิตในโลกตอนนี้ มีจุดจบสุดท้ายเป็นขยะอาหาร ส่วนหนึ่งเน่าเสีย เกินอายุ สูญเสียไประหว่างกระบวนการ อีกส่วนเป็นอาหารส่วนเกินที่ยังคุณภาพดีอยู่ แต่ไม่มีคนซื้อทานก่อนหมดวันขาย ถูกคัดทิ้งด้วยหน้าตาที่ดูไม่สวยงามตามมาตรฐาน หากตีเป็นเงินแล้ว มูลค่าความเสียหายจะสูงถึงราว 936,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ในขณะที่ประชากรกว่า 690 ล้านคนกำลังหิวโหยอยู่ทั่วโลก หากเราลดขยะอาหารได้เพียงสัก 1 ใน 4 ของทั้งหมดและกระจายต่อให้เข้าถึงได้ พวกเขาจะมีอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิตทันที

“คนอาจรู้สึกว่าทิ้งขนมปังชิ้นเดียวเอง ไม่เป็นอะไรหรอก แต่จริงๆ ขนมปังนี้หมายถึงน้ำที่ต้องใช้ไปเป็นลิตรตั้งแต่ต้นทาง หมายถึงเหงื่อของชาวนาที่ปลูกข้าวสาลี แก๊สและพลังงานที่ต้องใช้ในการขนส่ง ผลกระทบของขยะอาหารนั้นสูงกว่าที่ใครหลายคนจินตนาการถึงเลย” หลุยส์เน้นย้ำ พร้อมบอกว่าการผลิตอาหารและต้องกำจัดทิ้งปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 8 – 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดในโลก มากกว่าอุตสาหกรรมการบินตั้ง 4 – 5 เท่า

เศษบนจานข้าวของเราแต่ละคนจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่ควรเพิกเฉย และเป็นเหตุผลที่เรามาคุยกับซีอีโอผู้ใช้ชื่อตำแหน่งตัวเองว่าเป็น ‘Food Waste Fighter’ คนนี้

 Louis-Alban Batard-Dupre (หลุยส์)
01

ยินดีแก้ปัญหา

“ผมตัดสินใจเรื่องงานตั้งแต่เนิ่นๆ ในชีวิตเลยว่าอยากทำงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลง” หลุยส์เล่าแนวคิดที่มีในใจเสมอมาตั้งแต่เริ่มทำงาน

10 ปีที่ผ่านมา งานประจำของเขาคือการพัฒนาสตาร์ทอัพให้เติบโต ตระเวนไปตามประเทศต่างๆ ตั้งแต่สเปน โปรตุเกส แถบละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา ก่อนคว้ากระเป๋า ย้ายมาอีกซีกโลกหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน

“ผมคิดว่าภูมิภาคนี้กำลังเติบโตและมีโอกาสมากมายที่น่าตื่นเต้น ก่อนหน้านี้ ผมเคยมาประเทศไทยและรู้สึกชอบ เมื่อถึงเวลา ผมจึงเลือกมาที่กรุงเทพฯ” 

ระหว่างทำงานในโลกธุรกิจ หลุยส์เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของ SOS Thailand (Scholars of Sustenance หรือมูลนิธิรักษ์อาหาร) ที่ขับเคลื่อนการจัดการอาหารส่วนเกินให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชน โดยมีส่วนเข้าไปช่วยคิดแนวทางการระดมทุน ประสบการณ์นี้ทำให้เขาค่อยๆ เริ่มเข้าใจเรื่องปัญหาขยะอาหารในไทย

จนเมื่อ COVID-19 แพร่ระบาดช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลุยส์ตัดสินใจผันตัวเป็นผู้ประกอบการ นำประสบการณ์มาลองสร้างโมเดลการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในรูปแบบธุรกิจ

“นักท่องเที่ยวหาย คนตกงานมากขึ้น อาหารเหลือเต็มไปหมด ผมอยากจะทำประโยชน์อะไรสักอย่าง เลยชวนเพื่อนมาลองสร้างอะไรกันเร็วมากๆ แล้วดูว่าเวิร์กไหม เราแค่เริ่มจากปัญหาเลย”

02

ยินดีทำให้ทุกฝ่าย

“เราอยู่ในโลกที่ไม่แน่นอน ปัญหาใหญ่ของร้านอาหารคือคาดการณ์ไม่ได้ว่าวันนี้จะขายได้เท่าไร” นักธุรกิจผู้ผ่านประสบการณ์มาหลากหลายเล่าปัญหาที่สังเกตเห็น ซึ่งชัดเจนยิ่งขึ้นในภาวะโรคระบาดที่กระทบทั้งอุตสาหกรรมอย่างหนักหน่วง

“หากคุณทำอาหารน้อยไป คุณจะเสียโอกาสในการขาย แต่ถ้าทำมากเกิน เมื่อถึงเวลาปิดร้าน จะมีอาหารที่คุณขายวันต่อไปไม่ได้อีก แต่ยังทานภายในวันนี้ได้อยู่ คุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย และหลายคนก็รักอาหารที่ตัวเองทำ แต่กลับต้องแจกจ่ายหรือทิ้ง ทำให้สูญเสียรายได้และต้องจ่ายเงินเพื่อจัดการอีกด้วย”

ในขณะที่ฝั่งผู้บริโภค มีคนจำนวนมากแสวงหารสชาติอาหารชั้นเลิศอยู่แล้ว หากเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกลงมากถึง 50 หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็คงตอบโจทย์ชีวิตเป็นอย่างดี

Yindii จึงรับหน้าที่เป็นตัวกลาง พัฒนาแอปพลิเคชันและเว็บไซต์สำหรับซื้อ-ขาย อาหารออนไลน์ จับคู่ความต้องการและมอบประสบการณ์ใหม่ให้ทั้งสองฝ่าย

ในแพลตฟอร์ม ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปกดจองล่วงหน้าเพื่อสั่งซื้อเบเกอรี่และอาหารจากร้านที่ต้องการตามเวลาที่กำหนดไว้ มีทั้งช่วงเช้า สาย กลางวัน และเย็น โดยเมนูจะเป็นแบบสุ่ม จัดใส่ลงถุงปริศนา (Yindii Box) เพราะขึ้นอยู่กับอาหารที่มี ณ ช่วงเวลานั้นๆ (กรอกเพื่อแจ้งข้อจำกัดการทานอาหารก่อนได้)

Yindii สตาร์ทอัพสั่งอาหารคุณภาพดีราคา 50% ที่ให้คุณและธุรกิจจับมือกันพิทักษ์โลก
Yindii สตาร์ทอัพสั่งอาหารคุณภาพดีราคา 50% ที่ให้คุณและธุรกิจจับมือกันพิทักษ์โลก

เช่น ชุดอาหารเช้าจาก Grand Hyatt Erawan หรือเบเกอรี่จาก Le Macaron แต่ละรอบมีจำนวนชุดอาหารจำกัด ถือเป็นการเพิ่มความน่าตื่นเต้นให้คอยลุ้นกันว่าจะมื้อนี้จะจองได้ไหม และจะได้ทานอะไร

“ตอนเราไปคุยกับร้าน เขาตอบกลับมาว่ามีของเหลืออยู่แล้ว แต่ไม่รู้หรอกว่าจะมีอะไรเหลือบ้างในแต่ละวัน เท่าไร ตอนนั้นเรารู้ทันทีว่าต้องทำให้แตกต่างจากเดลิเวอรี่อาหารอื่นๆ ถือเป็นโอกาสลองทำให้มันน่าตื่นเต้นขึ้นสักหน่อย พอไปถามลูกค้า หลายคนตอบว่าถ้ายังได้เป็นเบเกอรี่ อะไรก็กินได้ จึงเกิดเป็นโมเดลนี้”

ส่วนการรับอาหาร ผู้ใช้งานสามารถเลือกว่าจะไปรับที่ร้านเองหรือให้ส่งตรงถึงที่หมาย เมื่อการสั่งซื้อสำเร็จแพลตฟอร์มจะได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าดำเนินการ 

หากไม่มีการขายเกิดขึ้น ร้านจะไม่เสียอะไรเลย (ยกเว้นอาหาร) กลายเป็นว่ามีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากของที่เดิมต้องทิ้งลงถังเมื่อหมดวัน ผู้บริโภคมีอาหารอร่อยๆ ทานในราคาย่อมเยา และมีส่วนช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหาร โดยทุก 3 กิโลกรัมที่รักษาได้ จะเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 4.5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ 

เป็นโมเดลที่ทำให้ทุกฝ่ายยินดี

Yindii สตาร์ทอัพสั่งอาหารคุณภาพดีราคา 50% ที่ให้คุณและธุรกิจจับมือกันพิทักษ์โลก
03

ยินดีเปลี่ยนความคิด

หนึ่งในความท้าทายของแนวคิดที่หลุยส์และ Yindii กำลังนำเสนอคือ ทัศนคติของคนที่มีต่ออาหารส่วนเกิน ทั้งมองว่าสกปรก ไม่ได้คุณภาพ หน้าตาไม่สวยเท่าไร ซึ่งไม่ผิดนักที่เราจะมีภาพจำเช่นนั้นจากประสบการณ์ในอดีต

“ผมมองว่ามันเหมือนปัญหาขยะพลาสติก เมื่อสิบปีก่อน คนยังไม่ค่อยรู้ผลกระทบมากนัก แต่พอสื่อสารไปเรื่อยๆ ตอนนี้คนก็เห็นความสำคัญในวงกว้างมากขึ้น” หลุยส์กล่าว สาเหตุที่เขาสนใจเรื่องขยะอาหารจนถึงขั้นทำเป็นธุรกิจนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาผ่านการปลูกฝังรับสารมานานตั้งแต่ยังเล็กเหมือนกัน

“ย้อนกลับไปตอนผมเป็นเด็ก ถ้าทานอาหารไม่หมด ผมลุกออกจากโต๊ะไม่ได้เลย คุณตาจะมองผมแล้วบอกว่ายังมีอาหารเหลืออยู่นะ และมีแคมเปญมากมายบอกเราว่าหลายคนกำลังอดอยาก ทานอาหารให้หมดเสีย บางประเทศที่ผมเคยไปอยู่ ถึงขั้นบัญญัติกฎหมายว่า ถ้าซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งอาหารที่ยังไม่หมดอายุ พวกเขาต้องจ่ายค่าปรับด้วย” 

ภารกิจสำคัญของ Yindii คือการเลือกหาวิธีสื่อสารและสร้างการรับรู้ใหม่ที่เหมาะสม หนึ่งในวิธีที่พวกเขาเริ่มทำคือ ให้ร้านบนแพลตฟอร์มเป็นสัญญาณบ่งบอกคุณภาพ และช่วยลบภาพจำเดิมของคนทิ้งไปเอง

“เราต้องการสร้างมาตรฐานอาหารที่สูง ผู้ใช้งานจะได้รู้สึกมั่นใจทันทีว่าอาหารที่ได้รับนั้นดีแน่นอน แม้ใกล้จะหมดวัน เป็นเหตุผลที่ช่วงแรกเราเลือกทำงานกับโรงแรมห้าดาว ร้านเบเกอรี่และซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมี่ยมเป็นหลัก เพราะพวกเขาใส่ใจคุณภาพและประสบการณ์ของลูกค้ามาก” 

การชักชวนธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายในช่วงแรก เมื่อเพิ่งสร้างแพลตฟอร์มขึ้นใหม่ๆ และธุรกิจอาจกังวลว่าอาหารเหลือดูเป็นเรื่องไม่ดี อาจแปลว่าคนซื้อไม่มากเท่าที่ควร แต่หลุยส์พยายามสื่อสารว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ในการทำธุรกิจและไม่น่าอับอาย

สิ่งที่ธุรกิจควรทำคือ ร่วมกันทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของอาหารส่วนเกิน โดยแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เป็นเหมือนตาข่ายรองรับความเป็นอยู่ของอาหารเหล่านั้นเอง ธุรกิจยังไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไรให้วุ่นวายเลย

“แต่ตอนแรกมันท้าทายอยู่แล้ว จนกระทั่งเราเจอ Early Adopter (ผู้ทดลองกลุ่มแรกๆ) อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตด้านสุขภาพ Sunshine Market ตอนที่เจ้าของได้ยินไอเดียของเรา เธอบอกว่ารอสิ่งนี้มานานแล้ว และเรามาถูกทาง” หลุยส์เล่าถึงร้านที่เชื่อในพันธกิจของเขา

หลังจากนั้น โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท ตกลงเข้าร่วมแพลตฟอร์มเป็นโรงแรมแรก เมื่อมีรายแรก รายที่ 2 3 4 ก็สนใจตามกันมา จนตอนนี้มีร้านอยู่บนแอปพลิเคชันมากถึงเกือบ 100 ร้านในเขตกรุงเทพฯ แล้ว

“ร้านค้าที่เข้ามาไม่ได้ขายอาหารราคาที่ถูกลงเท่านั้น แต่สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าใหม่ๆ ด้วย พวกเขาอาจค้นเจอร้านคุณโดยบังเอิญ และถ้าชอบอาหาร เขาอาจอุดหนุนในโอกาสต่อไป ทำให้มีลูกค้าและยอดขายเพิ่มขึ้น ธุรกิจอยู่รอด โดยเฉพาะในช่วง COVID-19

“ที่สำคัญ พวกคุณจะได้ร่วมกันลดขยะและต่อสู้เพื่อโลกใบนี้ ในวันที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกว่าจะสนับสนุนใคร ระหว่างธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน หรือธุรกิจที่ไม่สนอะไรเลย” 

คุณอยากสร้างความสัมพันธ์แบบใด ทางเลือกเป็นของคุณ

Yindii สตาร์ทอัพสั่งอาหารคุณภาพดีราคา 50% ที่ให้คุณและธุรกิจจับมือกันพิทักษ์โลก
04

ยินดีเติบโต

“ผมตื่นเต้นมากที่ได้เห็นผลตอบรับจากคนไทย มีคนเข้ามาคอมเมนต์ในแอปพลิเคชัน ถ่ายภาพอาหารให้คนอื่นเพื่อช่วยในการตัดสินใจ บอกว่าชอบสิ่งที่เราทำ และตอนที่ระบบเรามีปัญหา หลายคนก็เข้าใจและบอกว่าไม่เป็นอะไร ทำต่อไปนะ” ซีอีโอชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงเสียงตอบรับที่เกิดขึ้น ช่วงแรก ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย แต่ตอนนี้มีคนไทยใช้แอปพลิเคชันคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ตัวเลขนี้เกิดขึ้นจากการบอกปากต่อปากและแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น มีคนทำวิดีโอแนว Unboxing รีวิวการเปิดกล่อง สร้างความตื่นเต้นให้ผู้คนอยากลองสั่งมาลุ้นกันบ้าง

รวมถึงมีคนไทยอย่าง ชวิน อัศวเสตกุล วัย 19 ปี ที่แนวคิดตรงกันกับหลุยส์และมีความเป็นผู้นำ เข้ามาร่วมก่อตั้งและช่วยขยับขยายตลาดในไทย ก่อนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

แรงขับเคลื่อนเหล่านี้ ทำให้เดือนเมษายนที่ผ่านมา Yindii มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้ใช้งานในระบบมากถึง 30,000 รายแบบไม่ทันตั้งตัว 

“เพราะผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเร็วมาก แพลตฟอร์มที่เพิ่งสร้างเสร็จเดือนตุลาคมและยังอยู่ในช่วงทดลองเลยช้าลง เรากำลังเร่งปรับปรุงแอปพลิเคชันใหม่อยู่ ถ้าใช้งานตอนนี้คุณอาจต้องอดทนสักหน่อย แต่อยากให้ได้ลองพิทักษ์อาหารเหล่านี้บน Yindii สักครั้งนะ ผมเชื่อว่าคุณจะหลงรักการช่วยรักษาโลกด้วยวิธีนี้” 

Yindii สตาร์ทอัพสั่งอาหารคุณภาพดีราคา 50% ที่ให้คุณและธุรกิจจับมือกันพิทักษ์โลก
05

ยินดีมีจุดยืนที่แตกต่าง

“สิ่งที่ Yindii แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ คือ เมื่อคุณสั่งซื้ออาหารกับเรา คุณคือ Food Hero คุณคือนักขับเคลื่อนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อให้มีแพลตฟอร์มใหญ่ทำโมเดลคล้ายกัน มันอาจไม่ได้ทำเพื่อเหตุผลเดียวกันนี้ และผู้คนจะยังไม่เชื่อในทันที” หลุยส์ตอบ เมื่อเราถามถึงการทำธุรกิจให้แตกต่างและอยู่รอดในอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันทุ่มเงินเพื่อครองใจลูกค้า

แพลตฟอร์มใหญ่ที่บริการด้านเดลิเวอรี่อยู่แล้วมีข้อจำกัด ต่างจากรายใหม่ที่แนวทางชัดอย่าง Yindii ส่งผลให้การเข้ามาแข่งขันในตลาดอาหารส่วนเกินเป็นเรื่องยาก ไม่น่าดึงดูดใจ เพราะหากทำจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการตัดราคากันเอง

เช่น ร้าน A ขายพิซซ่าปกติในราคาเต็ม 100 บาท หากจู่ๆ มีโปรโมชันพิซซ่าปริศนาที่คุณภาพเหมือนกัน ลดราคา 70 เปอร์เซ็นต์ คนย่อมสนใจข้อเสนอนี้ แต่จะเกิดการเปรียบเทียบกับราคาปกติในแพลตฟอร์ม และร้าน A จะสูญเสียโอกาสการสร้างรายได้เท่าเดิมไปทันที

เมื่อดูรายละเอียดลึกลงไปแพลตฟอร์มนี้มีแนวโน้มที่จะส่งอาหารถึงผู้สั่งช้ากว่าแอปพลิเคชันอื่นที่อาจคุ้นเคยกันด้วย ซึ่งไม่ใช่ข้อผิดพลาด เพราะพวกเขาตั้งใจออกแบบให้เป็นเช่นนั้น

“ธุรกิจส่งอาหารในประเทศไทยโตขึ้นรวดเร็วมาก และเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังกังวล เพราะมักเป็นการส่งแบบจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่งในครั้งเดียว แต่เราคิดว่า แทนที่จะต้องรีบส่งภายในยี่สิบนาที เราจะบอกคุณว่าอาจรอถึงหนึ่งชั่วโมงนะ แล้วเราจะใช้เวลาไปรับอาหารห้าถึงหกกล่อง นำส่งให้ลูกค้าห้าถึงหกคนในทีเดียว ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมา และลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ของประเทศด้วย​” หลุยส์อธิบายแนวคิด พร้อมเสริมว่า Yindii พยายามสนับสนุนร้านไม่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อให้เกิดการขนส่งที่เป็นมิตรทั้งกระบวนการ

“เราทำสิ่งที่แตกต่างกันในคนละตลาด ผมเลยไม่ได้กังวลเรื่องผู้เล่นรายใหญ่เท่าไรนะ สำหรับเรา ความยั่งยืนคือหัวใจของความสำเร็จ” 

06

ยินดีก้าวต่อไป

ปัจจุบัน Yindii ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านอาหารส่วนเกินนี้ไปมากกว่าหมื่นกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป้าหมายระยะสั้นต่อไปของพวกเขา คือการลดให้ได้มากกว่า 100,000 กิโลกรัมภายในระยะเวลา 1 ปี ด้วยความคาดหวังว่าจะมีผู้ใช้งานแตะ 1 ล้านคน พร้อมร้านค้าอีกมากที่เข้าร่วมอุดมการณ์ เป็น Food Hero ให้ผู้บริโภคเลือกสรรอย่างไว้วางใจ 

รวมถึงร่วมมือกับ SOS Thailand เพื่อให้คนได้ทั้งซื้ออาหารและสนับสนุนเงินทุนให้ SOS Thailand นำไปปรุงอาหารส่วนเกินช่วยเหลือผู้อื่นต่อ (ปัจจุบัน Yindii เปิดในส่วนการสนับสนุนเงินทุน เป็นอีกหนึ่งช่องทางการบริจาค) 

ส่วนเป้าหมายระยะไกล คือการขยายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่อื่น เพื่อขยายผลและปักหมุดความสำเร็จให้กับสตาร์ทอัพจากประเทศไทย

“One small box, One big step” หลุยส์สรุปแก่นสำคัญของ Yindii เมื่อคนเริ่มสั่งซื้ออาหารส่วนเกิน 1 กล่องเล็กๆ นี้ เขาจะเริ่มเห็นข้อดีและอาจเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นต่อไป เช่น เลิกใช้หลอดพลาสติก ทานอาหารให้หมดจาน แม้ดูเล็กน้อย แต่แสนสำคัญ

เป็นก้าวเล็กๆ ที่รวมกันแล้วทำให้มนุษย์อิ่มท้อง​ ไม่ทำร้ายโลกใบเดียวที่เรามีไปมากกว่านี้ และรักษาไว้ให้ยังคงน่าอยู่อย่างยินดีสำหรับคนรุ่นต่อจากเรา

 Louis-Alban Batard-Dupre (หลุยส์)

Writers

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน