19 สิงหาคม 2020
13 K

ฝน-นภนีรา รักษาสุข คือนักออกแบบและผู้ก่อตั้ง ยินดีดีไซน์ Yindee design บริษัทที่รับออกแบบบรรจุภัณฑ์และแบรนดิ้งของสินค้าต่างๆ มากมาย ซึ่งผลงานของยินดีดีไซน์นั้น ถ้าหยิบออกมาเราก็น่าจะคุ้นตากันเป็นอย่างดี ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ขนม ของใช้ภายในบ้าน ไปจนถึงอัตลักษณ์ของร้านอาหารร้านขนม และอีกมากมายหลายต่อหลายสิ่ง ไม่เพียงแค่นั้น งานออกแบบบรรจุภัณฑ์ของยินดีดีไซน์ยังได้รับรางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์ยอดเยี่ยมจากหลายสถาบัน ที่เป็นที่ยอมรับทั้งในไทยไปจนต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นและยุโรปอีกด้วย 

นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign

งานออกแบบบรรจุภัณฑ์ของยินดีดีไซน์ไม่ได้มีแค่ความสวยหรือน่ารัก แต่ยังแตกต่างและโดดเด่นออกจากที่มีในท้องตลาด วิธีคิดวิธีทำงาน ไปจนถึงการนำเสนอลูกค้าให้เห็นพ้องต้องกันนั้น เป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาและน่าสนใจ โดยเฉพาะหากคุณเป็นนักออกแบบที่ได้รับงานมา หรือคุณเป็นผู้ประกอบการที่อยากได้บรรจุภัณฑ์ใหม่ให้สินค้าตัวเอง เพราะฝนเริ่มต้นการทำงานออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก โดยเน้นไปที่การศึกษาหาตัวตนของสินค้าจากภายใน และตัวตนที่เป็นและชัดเจนนั่นแหละ ที่จะทำให้งานออกแบบนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับคุณค่า เวลาการทำงานส่วนมากของยินดีดีไซน์จึงมุ่งไปที่ส่วนนี้ หาใช่การเลือกใช้สีสันสดใส วัสดุแปลก หรือทำตามความนิยมของตลาดที่มาไวไปไว ซึ่งทำให้เกิดการแก้งานกันแบบไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าพร้อมกันแล้ว ก็ขอเชิญทุกคนไปพูดคุยและค้นหาวิธีการทำงานของ ฝน-นภนีรา รักษาสุข กันได้เลย

ยินดีที่ไม่รู้จัก

คงจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจ ที่แม้ทุกวันนี้จะเป็นเจ้าของบริษัทออกแบบ แต่ในอดีต ฝนกลับไม่เคยคิดจะทำงานออกแบบกราฟิกเลย เพราะมีความฝันว่าอยากจะทำงานโฆษณาให้ได้รางวัลระดับโลกอย่างคานส์มากกว่า เลยได้เลือกเรียนที่คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 

“ฝนชอบงานโฆษณา ช่วงปีสามฝนได้เข้าเวิร์กช็อปและประกวดงานโฆษณาอย่าง BAD Awards พอจบมาก็ได้ทำงานในเอเจนซี่โฆษณาของญี่ปุ่น ทำไปได้ประมาณครึ่งปี งานเวิร์กช็อปต่างๆ ที่เคยทำมามันก็ส่งผล ทำให้มีเอเจนซี่ชื่อดังเรียกฝนไปสัมภาษณ์เป็น Junior Art Director เป็นบริษัทในฝันเลย ทำไปได้สักสองปีกว่าๆ ด้วยความที่เอเจนซี่นั้นเป็นบริษัทที่ใหญ่มากๆ เราได้เรียนรู้เยอะ พอๆ กับก็รู้สึกว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ เลยตัดสินใจจะไปเรียนต่อด้านโฆษณาโดยตรง พอลาออกปุ๊บ ก็เจอต้มยำกุ้งปั๊บ เลยไม่ได้ไป” ฝนเล่าถึงการเริ่มต้นการเป็นนักออกแบบของตัวเอง

ด้วยภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกที่กระทบกับผู้ประกอบการหลายคน ครอบครัวของฝนก็ได้รับผลกระทบและเกิดหนี้จากการลงทุนด้วยเช่นกัน การไปเรียนต่อก็ถูกยกเลิก ในตอนนั้นฝนที่อยู่ในสถานะคนว่างงานจึงเป็นฟรีแลนซ์เพื่อหารายได้ และจุดเปลี่ยนในชีวิตก็เริ่มขึ้นตอนนี้

นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign

“ในตอนนั้น แม้เราจะเคยทำงานในเอเจนซี่โฆษณาใหญ่มา แต่มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ทำงานโฆษณาในฐานะฟรีแลนซ์ เพราะการทำโฆษณาในตอนนั้นมันต้องการทีมงานขนาดใหญ่ พอดีว่ามีเพื่อนที่เคยเป็น AE เขาย้ายเป็นเป็นลูกค้าในบริษัทคอนซูเมอร์โปรดักต์ ชวนให้เราไปช่วยออกแบบงานที่สมัยก่อนเรียกว่า Below the Line เช่นงาน P.O.P. ที่ติดตามชั้นวางของในห้าง 

“ฝนไม่เคยมองงานกราฟิกมาก่อนเลยและไม่ค่อยเชี่ยวชาญด้วย เพราะสมัยอยู่เอเจนซี่ หน้าที่ของอาร์ตไดฯ คือคิดไอเดีย ทำเลย์เอาต์ ทำสตอรี่บอร์ด คุมการถ่าย คุมการตัดต่อ หรือคุมการถ่ายภาพนิ่ง เป็นหลัก แต่พอมีโอกาสก็เลยลองทำดู ทำมาเรื่อยๆ เริ่มจากงานชิ้นเล็กๆ จนลูกค้าเริ่มให้งานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วฝนก็สนุกกับการเข้าไปรับงานและคุยกับลูกค้า คือตั้งแต่มัธยมฝนเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจมากๆ ถ้ามองย้อนไปเราคงเป็นคนชอบเรื่องการตลาดนั่นแหละ ทีนี้พอมีโอกาสมาคุยกับลูกค้า ก็มักจะคุยกันในบริบทของการตลาดด้วย ยิ่งทำให้เราสนุกมาก

“สมัยก่อนกล่องทิชชูในบ้านเราคนไทยไม่ได้ออกแบบเอง ลูกค้าเขาจะเอาอาร์ตเวิร์กกล่องจากเมืองนอกมาให้ฝนปรับขนาด ซึ่งก็จะมีแต่ลายดอกไม้เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็นแม่บ้าน ฝนปรับจนวันหนึ่งพูดกับเขาว่า ลายพวกนี้ฝนปรับเองแต่ฝนไม่ซื้อนะ มันไม่ใช่ของฝน มันไม่เป็นตัวแทนให้คนรุ่นเราเลย 

“ลูกค้าตอนนั้นก็รุ่นๆ เดียวกันหมด คนรุ่นเราก็แต่งบ้านแต่งคอนโดฯ นะ แล้วดูซิคนที่ซื้อไปใช้ก็เอากล่อง เอาผ้าคลุม ที่เขาคิดว่าสวยมาครอบกล่องกันหมด แล้วแบรนด์จะอยู่ตรงไหนเหรอ ลูกค้าก็เห็นด้วย เราก็เลยเสนอโปรเจกต์ใหม่ที่วางกลุ่มเป้าหมายใหม่ เป็นคนทำงานออกแบบ คนโฆษณา คนที่ให้ความสำคัญกับงานดีไซน์ แล้วออกแบบกล่องในสไตล์มินิมอล เก๋เท่แบบไม่เคยมีมาก่อน ลูกค้าเห็นโปรเจกต์นี้แล้วชอบมาก และกล้าพอที่จะลองผลิตและวางขายจริงดู” ฝนเล่าถึงวันเปลี่ยนชีวิตในการเป็นนักออกแบบของเธอ

หลังจากสินค้าได้ถูกผลิตและวางจำหน่าย ปรากฏว่าสินค้าได้รับการตอบรับดีเกินคาด และได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเยอะมาก เพราะคนซื้อจริงนั้นกว้างกว่ากลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่แรก ทางบริษัทในเครือที่สิงคโปร์ก็ติดต่อขอซื้อแบบไปผลิตขาย บริษัทแม่ที่อเมริกาก็นำเคสการเปลี่ยนลวดลายบนกล่องนี้ไปเป็นกรณีศึกษาในการประชุมระดับภูมิภาคด้วย 

“ตอนนั้นมันทำให้เราสนุก ตื่นเต้น ความรู้สึกกับงานกราฟิกและการออกแบบบรรจุภัณฑ์เปลี่ยนไปเลย ด้วยความที่มันสร้างอิมแพ็กต์มาก” ฝนเล่าย้อนถึงวันนั้นด้วยแววตาเป็นประกาย

นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
Kleenex [be u] โปรเจกต์ที่ทำให้มุมมองที่มีต่องานออกแบบเปลี่ยนไป

ยินดีที่ได้รู้จัก

หลังจากโปรเจกต์กล่องกระดาษทิชชูนั้น ฝนก็ได้เริ่มเข้าสู่การเป็นนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพราะได้งานออกแบบบรรจุภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มได้รับความไว้วางใจมากขึ้นและได้ทำงานให้กับภูมิภาคเอเชีย ได้ทำงานให้บริษัทข้ามชาติหลายบริษัท ไปจนถึงได้มีโอกาสทำงานออกแบบกราฟิกให้กับ Orange เครือข่ายโทรศัพท์ที่สร้างแบรนด์อย่างเป็นระบบ ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในยุคนั้น มีโอกาสเห็นหลักการและวิธีการของการทำแบรนดิ้งที่เป็นสากล จึงทำให้ฝนเริ่มเข้าใจเรื่องของแบรนดิ้งเพิ่มมากขึ้นในตอนนั้น

แต่ฝนไม่รู้เลยว่า หลักการที่ได้รับรู้มาจากการทำงานในช่วงเวลานั้น จะถูกนำมาใช้แบบไม่รู้ตัวกับการทำบริษัทของตัวเอง

“มันมีเหตุการณ์สองสามครั้งที่ทำให้เรามานั่งถามตัวเอง และจัดการกับ Positioning ของตัวเอง เช่นเราถูกเปรียบเทียบราคากับคนอื่น เราทำงานจนเสร็จแล้วโดนลดราคาทีหลังโดยแผนกจัดซื้อ 

“ฝนมาถามตัวเองว่า ทำไมเขาทำกับเราแบบนี้ เราทำงานไม่เหมือนที่อื่นนะ เขาไม่รู้เหรอว่าเราเป็นยังไง และได้คำตอบว่า ก็เขาไม่รู้ไง เขาไม่เห็นไง ทำให้เขารู้สิ ทำให้เขาเห็นสิ มันเป็นความรับผิดชอบของเรา ไม่เกี่ยวกับเขา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ยินดีดีไซน์โดยไม่ได้ตั้งใจ เริ่มมาจากการที่เรามานั่งชัดเจนว่าเราเก่งอะไร เราต่างยังไง ตัดสินใจว่าเราจะทำอะไร และไม่ทำอะไร

“หลังจากนั้นไม่นาน ฝนได้รู้จักกับ ผศ. ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ นักวิจัยอาหารที่เก่งมากของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตอนนั้นถ้าผู้ประกอบการอยากพัฒนาสินค้าของตัวเอง แต่ไม่มีแผนก R&D ก็มาพัฒนาสินค้าที่นี่ได้ ทำให้ฝนได้เจอผู้ประกอบการที่ตั้งใจทำสินค้าอาหารดีๆ เยอะมาก แต่ไม่สามารถแข่งขันในตลาด พื้นฐานแบรนดิ้งก็ไม่มี บรรจุภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ เลยลองไปช่วยงานอาจารย์ดู ไปออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการหลายราย มันสนุกมาก ดีมาก เพราะได้ใช้ประสบการณ์ที่เราเคยทำงานให้บริษัทใหญ่ๆ มาทดลองทำและช่วยผู้ประกอบการรายเล็กได้” ฝนเล่าถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งในชีวิต

ยินดีที่ได้ออกแบบ

งานที่สร้างให้ยินดีดีไซน์เป็นที่รู้จัก คืองานออกแบบบรรจุภัณฑ์กล้วยตากของ Banana Society ที่เปลี่ยนหน้าตากล้วยตากไปอย่างสิ้นเชิง และยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์สินค้าไทยขึ้นไปอย่างมาก ทำให้มีคนเห็นและติดต่อมาเพื่อให้ช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้ฝนเข้าใจถึงความถนัดของตัวเองมากขึ้น 

นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
กล้วยตาก Banana Society บรรจุภัณฑ์ที่ทำให้เป็นที่รู้จักเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

“เราไม่ได้ทำแค่การออกแบบให้สวยงาม เพราะทุกๆ งานที่เข้ามาเราต้องศึกษาค้นคว้าถึงตัวแก่นของลูกค้า ให้รู้จักเขาอย่างดีก่อน จึงจะทำงานออกแบบให้ออกมาได้ มันใช้เวลานานกว่าทั่วไป สมัยก่อนฝนต้องอธิบายให้บรรดาผู้ประกอบการฟัง ซึ่งตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จักการทำแบรนดิ้งหรอก ยิ่งเรื่องดีไซน์นี่แทบไม่มีใครลงทุน 

“ต้องพูดให้เห็นภาพว่านี่คือหลุมพรางของผู้ประกอบการ ทีลงทุนหลังบ้าน เครื่องจักรหลายสิบล้านนะทำได้ แต่พอจะออกไปหน้าบ้าน กลับเสียดายไม่ยอมแต่งตัวให้ดึงดูด ให้โดดเด่น แทบทุกคนอยากลงทุนกับมันให้น้อยที่สุด ทั้งที่มันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมันเป็นตัวกำหนดว่าคนเขาจะเดินเข้ามาหาเราไหม เขาจะเชื่อถือเราไหม เมื่อก่อนพูดอันนี้บ่อย แต่ตอนนี้คนเข้าใจมากขึ้นเยอะแล้วนะคะ  

“เรามักจะบอกทุกคนว่า ถ้าแบรนดิ้งคือคน บรรจุภัณฑ์มันก็คือการแต่งตัวภายนอก เราต้องชัดเจนก่อนว่าคนคนนั้นคือใคร แล้วแต่งตัวให้สอดคล้องกับคนคนนั้น หลุมพรางของการไม่มีพื้นฐานแบรนดิ้ง คือทุกคนจะเลือกงานตามความชอบ ซึ่งไม่ผิดที่แต่ละคนจะมีความชอบส่วนตัว แต่เราจะให้ความชอบส่วนตัวนำทางธุรกิจทั้งหมดไม่ได้ 

“ถ้ามีคนในที่ประชุมห้าคน แต่ละคนก็มีความชอบต่างกันหมด คำถามคือใครจะเป็นคนตัดสินใจล่ะว่าแบรนด์นี้หน้าตามันจะออกมาเป็นแบบไหน ก็คงจะจบที่คนที่มีตำแหน่งใหญ่ที่สุดในห้อง ซึ่งถ้าหลังจากนั้นคนที่ใหญ่ที่สุดเกิดไม่อยู่แล้ว หรือเขาเกิดเปลี่ยนใจล่ะ แบรนด์มันก็จะแกว่ง ไม่มั่นคง คนทำงานก็จะทำงานยาก ต้องมาเถียงกันในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเถียง

“การสร้างแบรนด์มันเหมือนกับการที่ทุกคนในห้องประชุมร่วมกันคลอดเด็กคนหนึ่งออกมานอนบนโต๊ะ แล้วเห็นพ้องต้องกันว่า เด็กคนนี้เป็นใคร เกิดมาทำไม มีความเชื่ออะไร บุคลิกยังไง คนอื่นรอบๆ ตัวเขาจะเห็นเด็กคนนี้เป็นแบบไหน เขาจะมีวิธีการพูดยังไง เป็นกันเองหรือวิชาการ” ฝนเล่าถึงความถนัดใหม่ที่ใช้เป็นหลักการในการทำงาน

บรรจุภัณฑ์ น้ำสลัดเบาเบา หนึ่งในงานยุคแรกๆ

เราสงสัยและต้องถามฝนในฐานะนักออกแบบที่เพิ่งมาเจอตัวสินค้านั้นๆ ว่าจะรู้จักแบรนด์ได้ดีกว่าผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคนสร้างมันขึ้นมาได้จริงหรือ

“เราจะรู้จักแบรนด์เขาดีกว่าตัวลูกค้าไหม ไม่ค่ะ ลูกค้าย่อมเชี่ยวชาญในงานของเขามากกว่า แต่ก็เหมือนคนแหละ บางครั้งมันก็มีจุดบอดที่เรามองไม่เห็นด้วยตัวเอง ฝนเป็นเหมือนคนนอกที่จะมองจากข้างนอกเข้ามา และสะท้อนให้เขาเห็น บวกกับการหาข้อมูลและวิเคราะห์ให้รอบด้าน ก็จะทำให้แบรนด์ของลูกค้าแตกต่างจากคนอื่นได้จริงๆ 

“อย่างบางคนมีเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าที่เลิศมาก แต่เขาอยู่กับมันทุกวันจนไม่เห็นว่ามันพิเศษ เราก็บอกเขาว่า โอ้โห อันนี้เจ๋งเลยนะ หรือบางคนมั่นใจมากว่าสินค้าเขาอร่อยไม่มีใครเหมือน แต่เราเจอว่ามีสินค้าแบบเดียวกันนี้อีกตั้งเยอะ 

“เราก็บอกเขาว่าเพิ่มจุดขายให้น่าสนใจขึ้นดีไหม ปรึกษากัน การทำแบรนดิ้งไม่ใช่การจับยัด แต่เป็นการค้นหา เราไม่ใช่คนที่จะไปชี้นิ้วว่าเขาต้องเป็นแบบไหน แต่เรามีเครื่องมือในการส่องทาง พาเขาไปให้เห็นในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นในตัวเขาเองมาก่อน และการลงมือทำก็จะมาหลังจากนั้น” ฝนเล่าถึงการทำแบรนดิ้งให้ลูกค้า 

หลังจากฟังแนวคิดแล้ว เราสงสัยถึงวิธีการทำงานของยินดีดีไซน์ว่ามีขั้นตอนการทำงานยังไงบ้าง ฝนเล่าให้ฟังว่า ในขั้นแรกสุดจะส่งข้อมูลของทางบริษัทไปให้ก่อน ซึ่งจะอธิบายหลักการทำงาน วิธีการทำงาน ราคา และผลงานที่ผ่านมาไปให้ หลังจากนั้นเมื่อลูกค้ายืนยันว่าอยากให้ทำงานให้ ก็จะมาสู่ขั้นตอนถัดไป คือการโทรหรือ Zoom คุยกันเพื่อพูดคุยเบื้องต้น ว่าลูกค้ามองหาอะไร ต้องการอะไร ซึ่งฝนบอกว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก

“ขั้นตอนนี้ฝนคุยเองทุกครั้ง เพราะชอบ สนุก และเราได้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ทั้งหมด แล้วหลังจากที่ตกลงทำงานด้วยกัน ฝนก็จะพาทีมแห่ไปศึกษาลูกค้า ไปดูโรงงาน ไปเจอครอบครัว เจอหุ้นส่วน ดูเครื่องจักร ไปที่ไร่ที่สวน เราจะได้รู้จักลูกค้าอย่างลึกซึ้ง รู้วิธีคิดทั้งจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต 

“ประสบการณ์เรื่องตลาดเรื่องคู่แข่งของเขา ทัศนคติของเขามีประโยชน์มาก หลังจากนั้นเราก็จะนำข้อมูลที่ได้มาทำการบ้านต่อ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้ใช้และไม่ใช้สินค้าของเขา ว่าแต่ละกลุ่มมองเห็นสินค้านี้ในมุมไหนบ้าง หรือไปสำรวจตลาด ดูคู่แข่งของลูกค้าทั้งหมด ประสบการณ์ในการซื้อและใช้เป็นยังไง เพื่อวิเคราะห์และสรุปแบรนดิ้งของเขา เมื่อได้ข้อสรุปมาเราก็เอาไปคุยกับลูกค้าว่าคนแบบนี้ใช่คุณไหม” ฝนอธิบายขั้นตอนการทำงานของบริษัท

ถ้าลูกค้าเห็นด้วยกับแบรนดิ้งที่นำเสนอ ทางลูกค้าก็จะมีงานต้องทำ มีการลงมือทำอีกหลายอย่างให้สอดคล้องกับแบรนด์ ส่วนทางฝนก็จะทำงานต่อในด้านของ Design Direction ทำหน้าที่เหมือนเข็มทิศที่กำหนดทิศทางการออกแบบหลังจากนี้ทั้งหมด หลังจากสรุปทิศทางได้แล้วจึงออกแบบชิ้นงานต่างๆ ที่จำเป็นในการทำการตลาด เช่น โลโก้ บรรจุภัณฑ์ หน้าร้าน อัตลักษณ์องค์กร เว็บไซต์ เป็นต้น 

“สิ่งที่เราจะไม่ทำอย่างเด็ดขาด คือออกแบบเลย เช่นวันนี้รับบรีฟ เจอกันครั้งต่อไปก็นำเสนอดีไซน์แพ็กให้ลูกค้าเลือกเลยสามแบบ เพราะมันคือการทำงานแบบที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย นึกภาพดูนะคะ ถ้าลูกค้าบอกว่าอยากให้มันดูน้อยและร่าเริง ความน้อยและร่าเริงของลูกค้าและนักออกแบบอาจจะเป็นคนละภาพเลยก็ได้ และคำถามที่มาก่อนหน้านั้นก็คือ แล้วทำไมมันต้องน้อยและร่าเริงตั้งแต่แรกด้วย มันมีที่มาที่ไปยังไงเหรอ

บางครั้งมีลูกค้าที่ติดต่อมา แต่มีสินค้าที่ยังไม่ดีพอ ฝนก็อดไม่ได้ที่จะเสนอสิ่งที่ดีกว่า เพราะสินค้าคือส่วนสำคัญที่สุด

“ถ้าของมันไม่ดีจริงๆ ก็จะบอกว่าอย่าเพิ่งทำเลย เสียเงินเปล่าๆ ไปพัฒนาสินค้าก่อนไหม ฝนมีลูกค้ารายหนึ่งเป็นร้านขายของฝากที่สุพรรณบุรี พอดีเขาลงเครื่องจักรใหม่ ขยายกำลังผลิต แล้วเขาได้โมลด์กลมๆ แถมมา ทำให้ทำขนมแบบสอดไส้ได้ด้วย ก็เลยทำขนมเค้กไส้ครีมวานิลลา กาแฟ ช็อกโกแล็ตขาย แล้วเรียกเราไปช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ 

“พอเราชิม ก็บอกเขาไปว่าพี่อย่าทำเลย ขนมแบบนี้มีขายเยอะแยะ ไม่ได้ต่าง ถ้าอยากจะทำจริงๆ เราขอเสนอ Product Concept ใหม่ให้ดีกว่า ทีนี้ด้วยทีม R&D ของเขาค่อนข้างเก่ง เราเลยวางไอเดียเป็นสองเซ็ต เซ็ตแรกคือขนมไทย มีขนมตาล ตะโก้ และเปียกปูน ข้างในเป็นไส้กะทิ ส่วนอีกเซ็ตหนึ่งเป็นไส้เบอร์รี่ชีส ข้างในเป็นไส้ชีสและแยมบลูเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ ซึ่งพอทำออกมาวางขายก็ขายดีมาก เพราะนอกจากสินค้าจะน่าสนใจ แพ็กเกจจิ้งก็ยังเป็นของฝากที่เชื่อมโยงระหว่างขนมไทยโบราณและความทันสมัยเข้าด้วยกัน” ฝนเล่าเรื่องการออกแบบที่ไปถึงคอนเซปต์ของขนม

เอกชัย Maru cake โปรเจ็กต์ที่ช่วยคิด product concept ด้วย

แล้วบรรจุภัณฑ์ที่ดีในสายตาของนักออกแบบอย่างยินดีดีไซน์นั้นเป็นอย่างไร 

“ในฐานะนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ เราอยากเห็นสินค้าประสบความสำเร็จทั้งในแง่แบรนด์และยอดขาย สำหรับฝน แพ็กเกจจิ้งที่ดี คือแพ็กเกจจิ้งที่สื่อสารความเป็นแบรนด์ออกมา ด้วยภาษาเดียวกับคนที่เราอยากสื่อสารด้วย โดยแตกต่างจากคนอื่นๆ ในตลาด เราพูดอยู่ตลอดว่าเรื่องสวยไม่สวยไม่ใช่ประเด็น เพราะมันเป็นงานของเรา เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่เราให้ความสำคัญกับการสื่อสารด้วย 

“เราอยากให้บรรจุภัณฑ์สื่อสารกับลูกค้า ให้มันพูดคุยแทนเจ้าของแบรนด์ สร้างประสบการณ์ที่ดี มันไม่ใช่แค่เรื่องภาพ ข้อความ หรือกราฟิก ที่อยู่บนกล่อง แต่ประสบการณ์ทุกอย่างเกี่ยวบรรจุภัณฑ์นั้นคือการสื่อสารทั้งหมด แม้แต่ผิวสัมผัส หรือถ้าเคยซื้อของออนไลน์ เมื่อเปิดกล่องออกมาแล้วเจออะไร พับหรือจัดวางมาอย่างเรียบร้อย แนบการ์ดมาด้วย ทั้งหมดนี้คือการสื่อสารที่เราสนใจทั้งหมด 

“เคยกินขนมบางยี่ห้อมั้ยคะ ที่เขาปรับปรุงกล่องขนมให้มันแกะของออกมากินได้โดยไม่ทำให้มือเลอะ มันคือการสื่อสารกับลูกค้าว่า เขาไม่เคยหยุดเลยในการทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้น ในขณะที่บรรจุภัณฑ์บางอันกินแล้วมันบาดปากเรา มันก็คือการสื่อสารว่าเขาไม่สนใจหรอก คุณจ่ายเงินซื้อของไปแล้วก็พอ” นักออกแบบบรรจุภัณฑ์เล่าถึงบรรจุภัณฑ์ในอุดมคติ

นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign

การทำงานออกแบบที่อยากให้ลูกค้าประสบความสำเร็จนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าอาชีพเราแตกต่างกับนักออกแบบแขนงอื่นๆ ในแง่การมีตัวตนหรือลายเซ็นในการออกแบบรึเปล่า เราถามฝนเรื่องนี้

“เราไม่เคยคิดถึงเรื่องลายเซ็นหรือเอกลักษณ์ของบริษัทเลยนะ จริงๆ เราคิดตรงข้ามด้วยซ้ำ เราคิดว่าเมื่อรับงานลูกค้ามาแล้ว ก็ต้องทำงานออกมาให้เป็นตัวเขามากที่สุด ให้เขาประสบความสำเร็จในตลาด ไม่ใช่รับเงินเขามาเพื่อทำงานให้ตัวเอง มันไม่ผิดนะถ้านักออกแบบจะมีลายเซ็นตัวเองในขณะที่ทำให้ของลูกค้าขายได้ แต่เราไม่ได้มีความตั้งใจนี้ มีหลายคนบอกอยู่นะว่างานของยินดีดีไซน์นี่ลายเซ็นชัดมาก (หัวเราะ) ซึ่งไม่ได้ตั้งใจเลยจริงๆ 

“หลายครั้งมีลูกค้าใหม่บอกว่า อยากได้งานแบบงานนั้นน่ะ ที่เราเคยทำให้แบรนด์นั้น เรายังบอกเลยว่าอย่าคิดแบบนั้นเลย ให้เราสร้างของเราเองดีกว่า มันคงเป็นสไตล์กับวิถีการทำงานน่ะ ก็เลยออกมามีอะไรบางอย่างที่ทำให้คนรู้สึกว่า เอ๊ะ มันพูดอะไรบางอย่างนะ พอคนเขาเห็นว่าเราทำงานแบบนี้ คนที่เขาต้องการแบบนี้เขาก็ยิ่งมาหาเราค่ะ” ฝนอธิบาย

ยินดีที่ได้ลดขยะ

ในยุคที่พลาสติกกลับกลายเป็นมลพิษที่ทำร้ายโลกใบนี้ บรรจุภัณฑ์นั้นเลยถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายไม่ต่างกัน เราเลยถามฝนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในช่วงเวลาแบบนี้ว่าต้องปรับตัวอย่างไร

“เรารู้สึกว่าเราทำงานแพ็กเกจจิ้งเยอะ แล้วมันก็เกิดขยะเยอะตามไปด้วย ซึ่งวัสดุที่ย่อยสลายได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มนุษย์ก็ยังค้นคว้าและทดลองกันอยู่ เราในฐานะที่ทำงานด้านนี้ก็อยากช่วยให้ลูกค้าลดการใช้วัสดุให้น้อยลง อย่างการลดขนาด หรือไม่ใช้พลาสติกที่หนาเกินความจำเป็น ไปจนถึงการให้ความรู้กับผู้บริโภคถึงการจัดการขยะว่าควรทำยังไง 

“เราเลยทำโปรเจกต์เล็กๆ ในบริษัทชื่อว่า ‘กรีนกลมโปรเจกต์’ ชวนลูกค้าให้มองรอบด้านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ลูกค้าที่ร่วมด้วยเพราะเขาเองก็อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น แบรนด์สำลี Rii ก็มีสำลีไม่ฟอก ใช้ก้านกระดาษ หลายปีก่อนตอนเปิดตัวใหม่ๆ เราออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้แตกต่าง เป็นกล่องกระดาษ ซึ่งต้องเจาะช่องให้เห็นสำลีด้านใน เพราะถ้าไม่เห็น คนก็อาจจะไม่ซื้อ 

“แต่ตอนนี้เอาหน้าต่างออก เพราะคนรู้แล้วว่าสำลีเป็นยังไง และเราต้องการลดการใช้พลาสติกหน้าต่าง ลดกาว หรือแม้แต่ทำกล่องคอลเลกชันพิเศษแบบหนาออกมา จะได้รีฟิลได้นาน เป็นการลดบรรจุภัณฑ์กล่อง อะไรช่วยได้เราก็ช่วยกัน” ฝนเล่าถึงโปรเจกต์ที่เป็นอีกแรงในการช่วยลดขยะ

นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
Rii Skincare Cotton หนึ่งในแบรนด์ที่ร่วมในกรีนกลมโปรเจกต์

ยินดีที่ได้ทำงาน

ในวันนี้ ฝนยังทำงานออกแบบอย่างต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่วันแรกที่ฝันอยากได้รางวัลในแวดวงโฆษณา มาจนถึงวันนี้ที่ได้รับรางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์ยอดเยี่ยมทั้งจากไทย ญี่ปุ่น เอเชีย ไปจนถึงยุโรป เราเลยถามถึงความหมายในการทำงานเป็นนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ของเธอ

“เรื่องรางวัลงานออกแบบ ฝนแทบไม่เคยคิดเลย การได้รางวัลของฝนจบไปตั้งแต่ตอนที่ไม่ได้ทำโฆษณา ไม่ได้คานส์แล้วล่ะ (หัวเราะ) แต่หลายปีก่อนเริ่มส่งงานแพ็กเกจจิ้งประกวด เพราะอยากให้ลูกค้าได้โลโก้รางวัลมาติดบนแพ็กเขา งานเราก็ได้รางวัลมาเรื่อยๆ 

นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
Minnamame บรรจุภัณฑ์ที่ได้รางวัล Red Dot Design Award และอีกหลายรางวัล
นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
บรรจุภัณฑ์น้ำผักผลไม้สกัดเย็น ดอยคำ 

“วันนี้ฝนมีความสุขกับการเห็นคนที่ทำงานกับเราเขาได้ค้นพบความเจ๋งของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าได้เจอแบรนดิ้งของตัวเอง หรือน้องๆ Yinder ที่ทำงานด้วยกัน งานของฝนคือดูงานภาพรวม ไกด์ไดเรกชัน ซัพพอร์ตเขาในจุดที่เขาต้องการจากเรา และทำให้เขาเก่งขึ้นโตขึ้นทุกวัน

“สิ่งที่มันเติมเต็ม คือเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน หลายครั้งฝนไปเจอธุรกิจครอบครัวที่ต่างคนต่างคิด หาจุดตรงกลางไม่ได้ รุ่นพ่อที่ทำธุรกิจแบบเดิมก็คิดอย่าง รุ่นลูกที่อยากจะเปลี่ยนแปลงก็คิดอีกอย่าง แล้วเขาตกลงกันไม่ได้ หรือไม่ได้เคยคิดอยากจะคุยกันด้วยซ้ำ เราเป็นคนที่เข้ามานั่งคุยกับครอบครัวของเขา ซึ่งฝนถือเป็นเกียรติมากที่ได้ทำหน้าที่นี้ เขาเปิดบ้านเขาให้เราเข้าไป นั่งเล่าทุกอย่างให้เราฟัง มันคือกิจการของเขา มันคือชีวิตของเขา ซึ่งด้วยกระบวนการทำแบรนดิ้ง มันทำให้คนต่างรุ่นกันเข้าใจกันมากขึ้น

“มีหลายครั้งที่ลูกอยากสร้างแบรนด์ แต่พ่อไม่อยาก จะหาเรื่องไปทำไม รับจ้างผลิตก็อยู่ได้แล้ว ลูกก็โทรคุยกับฝนหลายรอบ ปรึกษาว่าทำยังไงดี พี่ช่วยพูดหน่อย ส่วนใหญ่ฝนจะแชร์ประสบการณ์ว่าพูดมุมไหนได้บ้าง แต่เขาต้องไปพูดเองนะ คนที่พูดได้ดีที่สุดคือลูก พี่ฝนซัพพอร์ตได้แต่ไม่ใช่ตัวหลักนะ คุยกันจนป๊าเริ่มอยากรู้รายละเอียดบ้าง จนกระทั่งวันที่นัดมาเจอกันนั่นแหละ ฝนรู้เลยว่าลูกเขาทำสำเร็จแล้ว และความภูมิใจจะเป็นของเขาที่เขาได้สร้างมันเอง ส่วนฝนเหรอ เวลาที่ป๊าพูดว่าฝากด้วยนะ มันคือความฟินที่สุด ที่ได้รู้ว่าคุณพ่อเขาไว้ใจ ไม่ได้ไว้ใจฝนนะ เขาไว้ใจลูกเขาค่ะ 

“งานแบบนี้ฝนไม่รู้ว่าจะไปหาได้อีกจากที่ไหน ตลอดทางที่ทำงานมา ฝนภูมิใจมีความสุขไปตลอดทาง ภูมิใจกับคนไทยเก่งๆ ผู้ประกอบการไทยที่ตั้งใจดีๆ ดีใจที่ได้เห็นความสำเร็จของเขา สนุกที่ได้คุยกัน มีความสุขที่ได้อยู่กับงานดีไซน์สวยงามที่ทีมทำ สำหรับฝน งานออกแบบแบรนด์สักแบรนด์หนึ่งมันก็มาจากชีวิตข้างในล่ะค่ะ” ฝนทิ้งท้ายถึงความหมายของการทำงานออกแบบ

นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
Memberry นมเบอร์รี่ช่วยเสริมความจำ 
นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
งานออกแบบอัตลักษณ์ร้านชานมไข่มุก GAGA
นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
บรรจุภัณฑ์ ปุ๋ยคืนดี ปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยฟื้นฟูดินและกำจัดขยะในชุมชน
นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
งานออกแบบอัตลักษณ์ร้านชานมไข่มุก Bearhouse
นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
แบรนด์เวชสำอาง Qualisk ที่ออกแบบ key visual จากการทำงานของส่วนผสมสำคัญ 
นภนีรา รักษาสุข นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ผู้ทำงานออกแบบภายนอกสินค้าด้วยการค้นหาจากภายใน, ยินดีดีไซน์, YindeeDesign
บรรจุภัณฑ์ผ้าอนามัย Quiescent ที่ออกแบบจากอินไซต์ของผู้หญิง
Rebranding ไอศกรีมทิพย์รส แบรนด์ที่มีอายุ 50 ปี

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan