25 พฤศจิกายน 2020
2 K

เมื่อเรานึกถึงย่างกุ้ง เราจะนึกถึงอะไร เจดีย์ชเวดากอง เทพทันใจ พระนอนตาหวาน ชาพม่า แหล่งขยายการค้าและการลงทุนที่ยังเป็นโอกาสของคนไทยเสมอ หรือพานคิดไปถึง ‘กุ้งย่าง’ (เป็นความพยายามในการใส่กิมมิกผ่านการเล่นคำในภาษาไทยเท่านั้น) 

หากลอง Zoom In เข้าไป คุณจะสัมผัสถึงความรุ่มรวยและสีสันทางวัฒนธรรมของย่างกุ้ง อันเกิดจากการผสมผสานของความหลากหลายวัฒนธรรมใน ได้แก่ วัฒนธรรมพม่า (Bamar) วัฒนธรรมจากชาติพันธุ์อีก 134 เชื้อชาติ และวัฒนธรรมจากต่างแดน โดยเฉพาะอินเดีย จีน โปรตุเกส และอังกฤษ จึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าคุณจะเห็นทั้งเจดีย์ โบสถ์ มัสยิด และวัดแขก ตั้งอยู่ติดกัน

แม้ว่าย่างกุ้งจะกลายเป็นอดีตเมืองหลวง (ปัจจุบัน ย้ายไปอยู่ที่กรุงเนปยีดอซึ่งอยู่ห่างไปทางตอนเหนือของย่างกุ้งประมาณ 200 ไมล์) แต่ก็ยังคงเป็นมหานครศูนย์กลางด้านธุรกิจ การเงิน การค้า การลงทุน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของการเซ็ตเทรนด์ให้สังคมและวัฒนธรรมเมียนมาสมัยใหม่

ตึกรามที่แข่งกันขึ้นสูงเบียดเสียดไปบนท้องฟ้า รถราที่คลาคล่ำ และประชากรจากทั่วสารทิศที่หลั่งไหล
ไปหาโอกาสในการยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น นำมาสู่ความท้าทายของย่างกุ้งในการพัฒนาเมือง (Urban Development) แก้ปัญหามลภาวะและความแออัดของประชากรในพื้นที่เขตเมือง ไม่ต่างจากเมืองใหญ่หลายแห่งบนโลก 

#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง
ภาพ : english.dvb.no
#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง
ภาพ : www.bangkokpost.com

ย่านเมือง (Downtown) ของย่างกุ้งจะแบ่งเป็นซอยเล็กเรียงรายไปด้วยตึกแถวสูง 4 – 6 ชั้น ซึ่งเป็นทั้งสำนักงาน ร้านค้า และที่อยู่อาศัย และด้านหลังของแต่ละซอยจะมีทางเดินหลังบ้านเล็กๆ อยู่ข้างหลัง อาจด้วยความหนาแน่นของประชากร จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบริการจัดการเพื่อกำจัดขยะในเขตเมือง อันนำไปสู่ปัญหาขยะล้นซอย ก่อให้เกิดมลภาวะ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในย่างกุ้งในช่วงเวลาหนึ่ง อีกทั้งคนย่างกุ้งก็ยังเคยประสบปัญหาการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว ซึ่งเมื่อเทียบกับประชากรต่อหัวแล้วถือว่ายังมีน้อยมาก

Yangon City Development Committee (ลักษณะคล้ายกรุงเทพมหานครในฐานะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) Yangon Heritage Trust (กองทุนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบูรณะและปรับปรุงตึกสไตล์โคโลเนียลในเขตเมืองให้เป็นร้านค้า ร้านอาหาร ร้านชาพม่า และ Art Gallery) Doh Eain (กิจการเพื่อสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาเมืองของย่างกุ้ง ซึ่งมีสมาชิกทั้งชาวเมียนมาและชาวต่างชาติ) กอปรกับการสนับสนุนจากสถานทูตและหน่วยงานจากต่างประเทศจึงผลักดันการพัฒนาปรับปรุงซอยเล็กๆ ดังกล่าวให้กลายสภาพจากทางเดินที่เต็มไปด้วยขยะ เป็นทางเดินพื้นที่สาธารณะ

เผื่อท่านใดที่สงสัยว่า แล้วทำไมหน่วยงานต่างประเทศโดยเฉพาะสถานทูตต้องไปให้การสนับสนุนการปรับปรุงพัฒนาเมืองของประเทศอื่นๆ ด้วย ผมคงตอบได้ว่า นอกจากจะเป็นการแสดงไมตรีจิตให้ประเทศเจ้าบ้านแล้ว ยังเป็นการร่วมมือร่วมใจของแต่ละประเทศในการทำให้โลกนี้ดี น่าอยู่ และยั่งยืนขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDG) ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11 คือการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างยั่งยืน

นี่คือเครื่องพิสูจน์ว่า การทูตไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด เพราะมันคือปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการสร้างความเชื่อมโยงของความสัมพันธ์ในทุกระดับทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน (หากท่านใดสนใจเพิ่มเติม ผมขอชวนท่านลองไปอ่านบทความของ พี่กิ๊ก-อาทิตย์ ประสาทกุล ที่พูดถึงเรื่องการใช้ศิลปะในการเชื่อมความสัมพันธ์ระดับประชาชน

#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง
#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง
#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง
#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง
#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง

กำแพงศิลปะ

ย่างกุ้งเป็นเมืองที่ฝนตกชุกกินระยะยาวตั้งแต่ปลายเมษายน-ปลายตุลาคมในทุกๆ ปี จึงทำให้สีของตึกมักถูกชะล้างไปด้วยน้ำฝนเสมอๆ แต่การจะทาสีทับธรรมดามันก็คงธรรมดาไปสำหรับชาวย่างกุ้ง หน่วยงานพันธมิตรจึงได้เชิญศิลปินท้องถิ่นหลายท่านมาช่วยแต่งแต้มสีสัน วาดงานศิลปะให้กำแพงหลังตึกของซอยย่านดาวน์ทาวน์นี้ 

ภาพที่สร้างความสนใจให้ผมคือ คนเมียนมาที่ผู้ชายใส่สะโหร่ง ผู้หญิงใส่ผ้าถุง ซึ่งรวมๆ กันแล้วชาวเมียนมาเรียกสิ่งนี้ว่า ลองจี (Longyi) กำลังปีนป่ายกำแพงเพื่อจะออกไปดูโลกภายนอก ภาพผู้หญิงใส่ชุดสีเหลืองที่กำลังอยู่กลางทุ่งหญ้า (ผมเดาว่าน่าจะเป็นทุ่งหญ้ากว้างที่เมืองกะลอ (Kalaw) ในรัฐฉาน) กับอีกหลายรูปที่เป็นรูปของชนพื้นเมืองในรัฐคะยา (กลุ่มเดียวกับกะเหรี่ยงคอยาวและชาวเขาในภาคเหนือของบ้านเรา) 

ภาพเหล่านี้สะท้อนว่า คนเมียนมากำลังร่วมแรงร่วมใจที่จะบรรลุเป้าหมายปลายทางของกระบวนการสันติภาพของประเทศ ซึ่งมีคนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยในดินแดนแห่งนี้ นี่คือการตระหนักและเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย อันเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย

#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง
#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง

สนามเด็กเล่น

เราพูดเสมอว่า เด็กคืออนาคตของพวกเรา 

สนามเด็กเล่น ก็คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทั้งความกล้าแสดงออก และการผ่อนคลายปลดปล่อยจิตใจให้ได้เป็นอิสระ

แม้ว่าจะมีเพียงพื้นที่ยาวๆ เล็กๆ ถูกตกแต่งไปด้วยกำแพงงานศิลปะให้ได้วิ่งเล่น มีกระดานสไลเดอร์ ชิงช้าที่ทำจากยางล้อรถ และกระถางต้นไม้รายรอบ แต่การปรับและเพิ่มพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ลองเล่น ลองคิด ลองผ่อนคลาย ก็มีส่วนช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี มีการรักษาสมดุลชีวิต ตลอดจนพัฒนาไปสู่การมีความคิดที่สร้างสรรค์ (Creative) และเป็นนวัตกรรม (Innovative)

บางที ชีวิตเราก็ไม่ได้ต่างอะไรจากสนามเด็กเล่น มีล้มบ้าง เจ็บบ้าง ถึงเวลาก็ลุกขึ้นมาสู้ใหม่ แม้อีกไม่กี่ปี ผมก็จะเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนแล้ว แต่การเก็บความเป็นเด็กไว้สร้างเชื้อไฟในการทำสิ่งใด ๆ ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญและเตือนสติในการดำเนินชีวิตได้เสมอ

#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง
#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง
#YGNWalls เปลี่ยนกองขยะหลังตึกใจกลางเมืองให้เป็นสนามเด็กเล่นและที่ชมศิลปะของคนย่างกุ้ง

แหล่งเช็กอินแห่งใหม่

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่มาย่างกุ้ง ไม่มาไหว้พระไหว้เทพเสริมสิริมงคลก็มาทำธุรกิจ (ไทยเป็นคู่ค้าของเมียนมาอันดับ 2 และมีการลงทุนสะสมสูงสุดในเมียนมาอันดับ 4 และธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในย่างกุ้ง) การเยี่ยมดูตึกรามบ้านช่องในกรุงย่างกุ้งและการเดินมาเดินเล่นถ่ายรูปในซอยเล็กๆ ก็น่าจะเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับเราได้เห็นมุมมองใหม่ของย่างกุ้ง

คุณลองนุ่งลองจีแล้วไปถ่ายรูป เช็กอิน โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ไอจี แล้วติดแฮชแท็ก #YGNWalls สิครับ แล้วคุณอาจจะได้รูปเก๋ๆ ชิคๆ ไว้อวดเพื่อนๆ ของคุณให้เขาได้อิจฉา จนต้องตามไปถ่ายรูปเช็กอินตามคุณก็ได้นะครับ

ในแก่นแท้ของทุกเรื่องย่อมมีข้อดีในตัวเสมอ เพียงแต่เราต้องหาทางที่อย่างน้อยจะปรับนิดแต่งหน่อยให้สิ่งเหล่านั้นกลับมาสวยงามอีกครั้ง 

แม้การพัฒนาพื้นที่ในซอยเล็กๆ หลังตึกใจกลางเมืองย่างกุ้งจะเป็นส่วนเล็กๆ ในการพัฒนาเมืองย่างกุ้งที่กำลังเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่จุดเล็กๆ คือสิ่งสำคัญเสมอ ที่จะช่วยแต่งเติมให้โลกใบนี้มีความงดงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองโลกต่อไป 

และมันไม่ใช่แค่การเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้คนย่างกุ้งเท่านั้น หากแต่มันยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดว่า การเพิ่มพื้นที่ให้คนได้หายใจทั้งทางกายภาพและทางจิตวิญญาณ คือการเพิ่มอิสระทางความคิดให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงการดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ และตระหนักความเข้าใจถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น อันมีเป้าหมายคือการสร้างคุณภาพชีวิตและสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข

ภาพ : มณฑ์ศิริ วิจักษนุกูล

Writer & Photographer

Avatar

ชิน เศรษฐวัฒน์

เด็กราชบุรีผู้ใช้ชีวิตรอบมหาสมุทรอินเดียมา 4 ปี และใช้การเดินทางไว้ปรับสมดุลชีวิต