ธุรกิจ : บริษัท สิภัทรตรา จำกัด และ ยาหยี Yayee (พ.ศ. 2559)

ประเภทธุรกิจ : ผลิตและค้าปลีก สินค้าแปรรูปจากผ้าปาเต๊ะพื้นเมือง ภูเก็ต

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2551 

อายุ : 13 ปี 

ผู้ก่อตั้ง : วาสิตา น้อยประดิษฐ์

ทายาทรุ่นสอง : พงศ์พิวิชญ์ ทั่วไตรภพ 

‘ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee’ เป็นแบรนด์พื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ต สร้างโดยลูกหลานชาวภูเก็ต ผลิตเสื้อผ้าด้วยฝีมือชาวบ้านคนภูเก็ต บนความตั้งใจที่อยากให้ผ้าปาเต๊ะเป็นที่รู้จักในระดับสากล 

ภูมิ-พงศ์พิวิชญ์ ทั่วไตรภพ ทายาทรุ่นสองของบริษัท สิภัทรตรา จำกัด ธุรกิจท้องถิ่นขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวซึ่งมีอายุนาน 10 กว่าปี รวมถึงขายสินค้าผ้าปาเต๊ะสวยๆ จนเป็นที่ถูกอกถูกใจนักท่องเที่ยวผู้หญิงหลายเชื้อชาติ

ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee แบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่นของทายาทรุ่นสอง ร้านขายของที่ระลึกในภูเก็ต

โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจภูเก็ตหยุดชะงัก สินค้าของฝากไม่ทำเงินให้กับบริษัทได้อีกต่อไป ภูมิต้องกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ รับหน้าที่ทายาทรุ่นสองเพื่อกู้สถานการณ์วิกฤต 

ในร้านขายของที่ระลึกมีสินค้าหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือผ้าปาเต๊ะแบรนด์ยาหยีที่เป็นสินค้าชูโรงประจำร้าน เขาตัดสินใจนำชุดพื้นเมืองมาตีตลาดอีกครั้ง หวังกอบกู้ธุรกิจที่บ้านด้วยสินค้าชนิดนี้ การเดินทางของธุรกิจสิภัทรตราเริ่มขึ้นอีกครั้ง และต่างไปจากเดิมทุกองศา

จากเดิม ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee มีภาพจำดูแก่ ไม่เป็นที่นิยมในยุคสมัย เขาจับมารีดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ชวนดีไซเนอร์ระดับประเทศมาร่วมงาน ทำให้ชุดสวยขึ้น โมเดิร์นขึ้น สาวยุคใหม่ก็ใส่ได้ จากนั้นก็พลิกกลยุทธ์ทางการตลาดจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ขายแค่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ก็มาเจาะกลุ่มคนไทยในโลกออนไลน์จนเป็นที่นิยม ขายดีจนตอนนี้มีแพลนเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ยืนยันการเติบโตของแบรนด์ยาหยีหลังทายาทรุ่นสองรับช่วงต่อ 

ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee แบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่นของทายาทรุ่นสอง ร้านขายของที่ระลึกในภูเก็ต
ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee แบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่นของทายาทรุ่นสอง ร้านขายของที่ระลึกในภูเก็ต

ภูมิเล่าว่าแบรนด์ยาหยี เดิมเป็นชื่อแบรนด์สินค้าในร้านขายของที่ระลึก ตั้งชื่อโดย คุณแม่วาสิตา น้อยประดิษฐ์ แม่ของเขาผู้ชอบคำว่ายาหยีเป็นพิเศษ เพราะคำว่า ‘ยาหยี’ เป็นคำที่เรียกผู้หญิงอันเป็นที่รัก แม่วาสิตาตั้งใจให้คนที่สวมใส่ผ้าปาเต๊ะเป็นเหมือนยอดดวงใจของใครสักคน อยากให้ผู้หญิงที่ได้สวมใส่ชุดแบรนด์ยาหยีรู้สึกชอบตัวเอง

ว่ากันตามเนื้อผ้า จริงๆ ‘ผ้าปาเต๊ะ’ ก็คือ ‘ผ้าบาติก’ ชนิดหนึ่ง มีลวดลายสไตล์อินโดนีเซีย คำว่าปาเต๊ะ เป็นคำศัพท์ท้องถิ่นที่คนไทยและคนภูเก็ตเรียกเท่านั้น ส่วนคำศัพท์ที่ใช้ในภาษาต่างประเทศหรือในระดับสากล ก็จะมีเพียงแค่คำว่า บาติก 

คำว่าบาติก (Batik) หรือปาเต๊ะ เดิมเป็นคำในภาษาชวา ใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด คำว่า ‘บา’ แปลว่าการวาดหรือศิลปะ ส่วนคำว่า ‘ติก’ แปลว่าเล็กน้อยหรือจุดเล็กๆ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ตริติก หรือ ตาริติก ดังนั้น คำว่าบาติก จึงมีความหมายว่า ผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ เสมือนการหยดน้ำเทียนลงบนผ้าเป็นหยดติ๊กๆ

“เมืองไทยเป็นชาติเดียวที่เรียกสิ่งนี้ว่าปาเต๊ะ เราแยกปาเต๊ะกับบาติกออกจากกัน บาติกเป็นผ้าที่ใช้น้ำเทียนเขียนในสไตล์ชาวใต้ จะเป็นลายปลาการ์ตูน ลายสัตว์น้ำ แล้วเรียกผ้าบาติกที่เป็นลวดลายแบบอินโดนีเซียว่าผ้าปาเต๊ะ จริงๆ ก็คืออันเดียวกันแหละ” ภูมิเล่าถึงผ้าลายสวยผืนตรงหน้าให้เราฟังก่อนเริ่มสนทนาจริงจัง

ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee แบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่นของทายาทรุ่นสอง ร้านขายของที่ระลึกในภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ต

ขอเกริ่นอีกนิดเพื่อปูพื้นฉากหลังของจังหวัดภูเก็ต 

ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ร่ำรวยวัฒนธรรมที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ ไข่มุกอันดามันแห่งนี้ติดต่อกับชาวต่างชาติเพื่อทำการค้าขายมาเป็นเวลาเนิ่นนาน รับอิทธิพลของวัฒนธรรมเปอรานากัน (Peranakan) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวจีนเลือดผสมระหว่างมลายูกับจีน ใช้ชีวิตในคาบสมุทรมลายู คือประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย เป็นวัฒนธรรมร่วมใหญ่ มีอิทธิพลร่วมกันระหว่าง 4 ชาติที่อยู่ทางตอนใต้ ซึ่งจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง และตรัง เป็น 4 จังหวัดแถบอันดามันที่มีวัฒนธรรมเปอรานากันเด่นชัด ตกทอดเป็นมรดกจนถึงปัจจุบันในรูปแบบขนมท้องถิ่น ชุดพื้นเมืองเคปาย่าหรือบาบ๋า ย่าหยา รวมถึงที่อยู่อาศัยสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน และผ้าปาเต๊ะก็เป็นมรดกหนึ่งในวัฒนธรรมเปอรานากันเช่นเดียวกัน 

ผ้าปาเต๊ะหนึ่งผืน ทอไว้ด้วยเรื่องราววัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของผู้คน ตกทอดส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนเกินจะนับไหว ผ้าปาเต๊ะยาหยีก็เป็นแบรนด์ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่อยากรักษาวัฒนธรรมชาวใต้ และเล่าเรื่องวัฒนธรรมภูเก็ตให้ผู้คนได้รู้จัก

ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee แบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่นของทายาทรุ่นสอง ร้านขายของที่ระลึกในภูเก็ต
ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee แบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่นของทายาทรุ่นสอง ร้านขายของที่ระลึกในภูเก็ต
ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee แบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่นของทายาทรุ่นสอง ร้านขายของที่ระลึกในภูเก็ต

เริ่มต้นจากชุดปาเต๊ะที่แม่ใส่ออกงานสังคม

แม่วาสิตาเป็นนักธุรกิจหญิงคนเก่ง ทำธุรกิจมากมายจนมีชื่อเสียงในวงสังคมระดับจังหวัดภูเก็ต

ย้อนไปราว 20 ปีก่อน เธอเริ่มมาจับธุรกิจขายของฝากให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวป่าตอง จากนั้นก็ตัดสินใจเปิด บริษัท สิภัทรตรา จำกัด อย่างจริงจัง เพื่อผลิตและขายของที่ระลึกอย่างกระเป๋า เสื้อผ้า หมวกสาน พวงกุญแจ และงานแฮนด์เมด โดยใช้ผ้าไทยมาตัดทำเป็นสินค้าจนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีสินค้าวางขายในห้างสรรพสินค้าดังตามหัวเมืองท่องเที่ยวต่างๆ จะเรียกว่าขายของฝากให้กับนักท่องเที่ยวมาแล้วทุกเชื้อชาติก็ไม่เกินจริง

“ธุรกิจที่บ้านเราโตขึ้นเรื่อยๆ แม่ก็ต้องเริ่มเข้าสังคม มีตำแหน่งในสโมสรโรตารีจังหวัดภูเก็ต และเข้าไปมีบทบาททางการเมืองท้องถิ่น สมัยนั้นแม่ต้องใส่ชุดสวยๆ ออกงานเยอะมาก แม่เราก็เลยคิดว่า ไหนๆ ที่ร้านก็ขายผ้าไทย และในฐานะตัวแทนคนภูเก็ต ก็น่าจะนำผ้าปาเต๊ะภูเก็ตตัดใส่เป็นชุดสวยๆ เลยแล้วกัน 

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต ภายใต้แบรนด์ ‘ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee’
ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต ภายใต้แบรนด์ ‘ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee’

“สมัยนั้นไม่มีใครที่ตัดชุดผ้าปาเต๊ะ เพราะมักนำมาเป็นผ้านุ่งใส่คู่กับเสื้อบาบ๋า ย่าหยา แค่นั้น นั่นคือจุดสูงสุดในสมัยนั้นแล้ว จำได้ว่าแม่ลองให้ช่างฝีมือมาตัดเป็นชุดแล้วใส่ออกงาน ซึ่งผลตอบรับดีมาก คนชอบชุดของแม่เยอะมาก เพื่อนๆ เขาอยากใส่ชุดเหมือนกันเป็นทีมบ้าง เลยให้แม่ช่วยออกแบบ ทำไปทำมาสักพักเลยลองเปิดร้านขายจริงจังดู ปรากฏว่าขายดีมาก ตลาดต่างชาติตอบรับชุดผ้าปาเต๊ะของเรา”

ร้านขายของฝากให้กับนักท่องเที่ยวกำลังไปได้สวย ยอดขายชุดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนดูไม่น่าห่วงอะไร ส่วนภูมิเองก็ขึ้นมาร่ำเรียนในกรุงเทพฯ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขา International in Design and Architecture (INDA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขากำลังสนุกกับการปลุกปั้นแบรนด์ ANYFRIDAY ร้านน้ำหลากสีสุดแฟนตาซีที่คนซื้อวาดลวดลายบนถุงได้ ขายตามงานอีเวนต์ชื่อดังต่างๆ และพาแบรนด์ไปไกลถึงขั้นขายแฟรนไชส์ในต่างประเทศมาแล้ว มากกว่านั้น เขายังเป็น Brand Director ของโครงการ FLOWLOW ระบบการจัดการท่าเรืออัจฉริยะ 4.0 ของจังหวัดภูเก็ต และเขาก็ไม่ได้มีแพลนจะรับช่วงต่อกิจการของที่บ้านเลย

จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภูเก็ตนักท่องเที่ยวหาย ขาดนักท่องเที่ยว ร้านก็ขาดรายได้ไปตามๆ กัน เศรษฐกิจของภูเก็ตเริ่มแย่ลงตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 2019 เพราะนักท่องเที่ยวจีนหายกันไปเยอะ

เขาต้องกลับมาดูแลกิจการขายของฝาก เป็นไฟลต์บังคับให้เด็กวัยรุ่นไฟแรงคนนี้ต้องกลับบ้านเกิด โจทย์ของเขาในวัย 24 ปีมีอยู่เพียงข้อเดียว คือ ทำยังไงก็ได้ให้ร้านกลับมาขายของได้อีกครั้ง 

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต
ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

จุดเปลี่ยนผ่านในช่วงโควิด-19

ภูมิเข้ามารับช่วงต่อเป็นทายาทรุ่นสองของร้านในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 พอดิบพอดี เป็นช่วงที่แม่เริ่มป่วยจนต้องพักรักษาตัว และอยากวางมือจากการทำกิจการนี้ ลูกชายคนที่สองจึงต้องมาดูแลงานเต็มตัว แม้จะเรียกว่าเป็นช่วงวิกฤตเลยก็ได้ แต่เขากลับมองเห็นโอกาสบางอย่าง 

“เราเข้ามาทำจริงจังตอนช่วงโควิด-19 เลยนะ ประมาณเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ที่เริ่มมีการระบาดในจีนแล้ว แม่อยากวางมือจากงานที่ร้านเพราะเขาป่วย บวกกับเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ตอนแรกที่ลงมาช่วยยังไม่รู้อะไรเลย แม่อยากให้มาช่วยขยับขยาย แต่เขาไม่มีกำลังทำ 

“พอโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วประเทศไทย กลายเป็นว่าธุรกิจเราเกี่ยวกับการขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ยอดขายกลายเป็นศูนย์ ร้านริมหาดป่าตองถูกปิดหมด ในป่าตองไม่เหลืออะไรเลย ทุกอย่างโดนล้างไพ่ ล้างกระดานหมด ไม่เหลือแม้แต่นิดเดียว 

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

“ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า ต้องกอบกู้อะไรบางอย่าง เพื่อให้บริษัทมีรายได้ ก็เลยเอาผ้าปาเต๊ะมาปัดฝุ่นใหม่ รื้อฟื้นทุกอย่างใหม่ เริ่มสร้างสไตล์ชุดเอง เริ่มขายจากออนไลน์ เพราะหน้าร้านเราไม่มียอดขายแล้ว แต่ออนไลน์กลับโตทุกๆ วัน โตขึ้นเรื่อยๆ เราเองก็เริ่มหาตลาด ออกแบบให้ทันสมัยมากขึ้น ดูคุณภาพงานมากขึ้น เปลี่ยนกลุ่มลูกค้าจากที่ขายชาวต่างชาติมาขายคนไทยทั้งหมด 

“เราก็มาดูกลุ่มตลาดไทย ซึ่งเปลี่ยนวิธีคิดทางการตลาดทั้งหมด ตอนขายชาวต่างชาติ หมายถึงขายให้คนที่ไม่ซ้ำหน้ากันเลยในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น กระบวนการคิดจึงคิดคนละแบบในการขายคนไทย ซึ่งเราต้องการลูกค้าประจำ ต้องคิดใหม่หมดเลย วิธีการดีไซน์ชุดก็ต้องเปลี่ยน เราเลยชวนแม่ ชวนลูกน้องทุกคนว่าลองมาทำกันดูไหม มาตัดชุดผ้าปาเต๊ะยาหยีให้ตลาดภูเก็ต” 

หลังจากลองเปลี่ยนสไตล์สินค้าใหม่ จับกลุ่มตลาดคนไทย พอได้ออกขายจริงๆ ตลาดภูเก็ตยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก คนภูเก็ตสวมใส่กันน้อย แต่ชุดผ้าปาเต๊ะยาหยีกลับขายออนไลน์ได้ดีในตลาดกรุงเทพฯ หลายจังหวัดในแถบอีสาน และชลบุรี ภูมิเลยมองเห็นโอกาสและคิดว่าน่าจะมาถูกทาง 

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต
ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

เขาเริ่มลงชุดสวยๆ ในเฟซบุ๊กของร้านมากขึ้น ยิงแอดออนไลน์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย เริ่มมีไลฟ์ขายของ โดยชวนพี่น้องและกลุ่มเพื่อนสนิทกันมาช่วยไลฟ์ขายในบรรยากาศเป็นกันเอง บางเดือนไลฟ์กันที่กรุงเทพฯ บางเดือนก็ไลฟ์ที่ภูเก็ต ปรับเปลี่ยนกันตามสถานการณ์เฉพาะหน้า ยิ่งช่วงที่คนมาอยู่ในโลกออนไลน์กันเยอะ แบรนด์ยาหยีก็ยิ่งเป็นที่รู้จักในตลาดออนไลน์ เขาเติบโตจากจุดนี้ 

“เราสงสัยว่าผ้าพื้นเมืองคนใต้ ทำไมสู้ผ้าไหมแพรวา ผ้าม่อฮ่อมจากหนองคายไม่ได้เลย ผ้าไทยพวกนั้นดังระดับโลก ผ้าขาวม้าดังไกลถึงญี่ปุ่นนะ แต่ทำไมผ้าปาเต๊ะที่เราใส่ตั้งแต่รุ่นอาม่าอากงถึงยังอยู่แค่นี้ เราเห็นผ้าไทย ผ้าซิ่น ผ้าม่อฮ่อม ยังไปไกลได้เลย ทำไมผ้าบ้านเราจะไปไม่ได้ เห็นชัดแล้วว่าคนไทยก็ยังใส่กันอยู่นะ เรื่องราววัฒนธรรมที่อยู่บนผ้ามันไปได้ไกลกว่านั้น เรารู้สึกว่าหยิบตรงนี้มาทำให้ดีเถอะ”

เขาเชื่อว่าเขาทำได้ และคนในครอบครัวก็เชื่อใจ ช่วงเวลานั้นจังหวัดภูเก็ตแทบจะปิดเกาะ ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวเริ่มล้มหาย คนป่าตองที่ทำอาชีพเย็บผ้าขายนักท่องเที่ยวก็เริ่มตกงานกันมากขึ้น ภูมิรู้ว่าคนเหล่านี้มีฝีมือ และน่าจะเย็บผ้าปาเต๊ะให้กับยาหยีได้ เลยตัดสินใจเริ่มทำงานกับชุมชน ส่งผ้าของร้านให้ช่างท้องถิ่นเย็บตามแบบ 

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

“คนกลุ่มนี้ในภูเก็ตมีเยอะมากเลยนะ เมื่อก่อนพวกเขาตัดผ้า ตัดสูทให้ฝรั่งที่มาเที่ยวภูเก็ต พอโควิด-19 ระบาดก็ตกงานหมดเลย เราค่อยๆ ทำงานกับพวกเขา เอาผ้าปาเต๊ะเราไปให้เขาลองตัด กว่าจะลงตัวก็พยายามกันอยู่นาน จนเราได้ช่างฝีมือหลายคนมาตัดชุดให้ยาหยี ผ้าก็ผ้าพื้นเมือง ช่างก็เป็นช่างในชุมชน เราไม่ได้ผลิตผ้ากับโรงงานที่ทำกันทีละร้อยตัว มันไม่ใช่ เราทำได้ทีละตัว

“จำได้ว่าตอนเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ภูเก็ตมีมาตรการปิดทุกอำเภอ กั้นไม่ให้รถเข้าออกระหว่างพื้นที่เพื่อควบคุมการเดินทางของคนหมู่มาก การผลิตของเราแทบหยุดชะงัก ตอนนั้นเราเลยผลิตหน้ากากอนามัยผ้าปาเต๊ะ เชื่อไหมว่าขายได้เป็นพันชิ้นเลยนะ เพราะเราขายแค่ชิ้นละสี่สิบบาท คนตรงนั้นก็มีรายได้หล่อเลี้ยง ร้านเราก็อยู่ได้” 

ถามจริงๆ ท้อไหม-เราสงสัย

“มันท้อไม่ได้อยู่แล้วล่ะ ความรู้สึกตอนนั้นท้อไม่ได้ ถ้าเราหยุด ทุกอย่างก็จบเลย” 

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต
ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

ยาหยี ผ้าปาเต๊ะไทยที่ใครใส่ก็สวย

ชุดผ้าปาเต๊ะยาหยีถูกปรับเปลี่ยนดีไซน์มาทั้งหมด 3 ยุค

ยุคแรก เป็นชุดคลุมตัวใหญ่ ฟรีไซส์ ใส่ง่ายสำหรับคนต่างชาติ ดีเทลน้อย เน้นขายชาวจีน ชาวตะวันออกกลาง และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาภูเก็ตเป็นหลัก 

ยุคที่สอง เป็นชุดออกงานสังคมสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ดูดีมีภูมิฐาน เริ่มขายในตลาดคนไทย เหมาะกับกลุ่มลูกค้าวัย 50 – 60 ปี

ยุคที่สาม เป็นช่วงที่ภูมิเข้ามาดูแลเต็มตัว สไตล์ชุดจึงมีความเป็นวัยรุ่นขึ้นมาก สีและลวดลายบนผ้าเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ผู้หญิงวัย 20 ปีขึ้นไปก็สวมใส่ไปทำงานได้ ซึ่งการมารับช่วงต่อนี้ไม่ง่ายเลย เรียกได้ว่าพลิกกันทุกกระบวนท่า

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

“เราเข้ามาก็เจอปัญหาใหญ่ วัยรุ่นไม่ใส่กัน เพราะลายผ้าแบบอินโดไชนีสดั้งเดิมแก่ไปหน่อย การทำเสื้อผ้าเพื่อวัยรุ่นมันไม่ง่าย วิธีการแก้เกมของเรามีอยู่สองแบบ คือนำผ้าสีเรียบๆ เอามาเบรกตัดกันกับผ้าปาเต๊ะ หาวิธีการจัดวางให้ลงตัว ไม่งั้นวัยรุ่นไม่กล้าใส่ ส่วนวิธีที่สองคือ ออกแบบลายใหม่ให้วัยรุ่นใส่โดยเฉพาะ ยังคงความเป็นปาเต๊ะอยู่ แต่ปรับเปลี่ยนให้ดูโมเดิร์นขึ้น 

“สำคัญคือต้องรู้ลิมิตตัวเอง อะไรที่เราทำได้ดีก็ทำเอง อะไรทำได้ไม่ดีก็ต้องหาคนอื่นมาทำ เราหาทีมงานออกแบบเก่งๆ ที่เขาเชี่ยวชาญด้านนี้มาช่วย เราได้ดีไซเนอร์ห้องเสื้อแบรนด์ดังระดับประเทศ และดีไซเนอร์ที่ออกแบบชุดให้ศิลปินไทยหลายคนมาช่วยกันดีไซน์ชุดยาหยีใหม่ 

“ดีไซเนอร์ไทยเก่งมาก ความคิดของพวกเขาถ่ายทอดมาอยู่ในแบรนด์ยาหยีหมดเลย ทุกคนมาช่วยเพราะสนใจจะทำให้ผ้าปาเต๊ะท้องถิ่นดังระดับประเทศให้ได้ มันเป็นความท้าทายที่พวกเขาอยากลอง โจทย์ของเรามีอย่างเดียวคือ ทำยังไงก็ได้ให้ชุดยาหยีใส่ได้หลายช่วงวัย เราจะไม่ทิ้งลูกค้าเก่า การออกแบบเราห้ามทิ้งลูกค้าเดิมของเราเด็ดขาด พร้อมทำให้ลูกค้าใหม่ก็อยากมาใส่ชุดเรา 

“เราต้องขายคุณภาพมากขึ้น คือปรับบริการในการขายให้ลูกค้าประทับใจ และมาดูในเรื่องคุณภาพตัดเย็บ ผู้หญิงที่มีอายุจะเริ่มมีปัญหาเรื่องสรีระที่ไม่เหมือนสมัยสาวๆ จึงใส่เทคนิคในการตัดเย็บเพื่อปิดทรงที่ไม่สวยของผู้หญิง เสริมให้สรีระผู้หญิงสวยขึ้น พร้อมไปเจอสังคมทันที เรามีแบบผ้าเฉพาะของยาหยี ผ่านการตัดเย็บด้วยมือที่มีความซับซ้อน ยาก และประณีตมาก ใส่ซิกเนเจอร์ตัว Y ซ่อนอยู่ในชุดของยาหยีทุกชุด ใส่ตัวโลโก้ซ่อนอยู่ในตัวเสื้อผ้า เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของชุดเรา ให้คนใส่ชุดเรารู้ว่าคุณกำลังใส่ชุดร้านยาหยีอยู่นะ 

“พอเราเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ ยอดขายออนไลน์ทำสถิติสูงสุดแบบที่ไม่เคยขายได้ขนาดนี้มาก่อน และเดือนนี้กำลังจะเป็น New High ใหม่อีก ช่วงโควิด-19 ระลอกสามที่ทุกคนกำลังจะล้มละลายกัน เราจะทำให้ดูว่าเรามียอดขายสูงสุดมากกว่าตอนที่ไม่มีโควิดอีก” 

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต
ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

ชวน Professionals มาทำงานด้วย

ธุรกิจที่โตไวขนาดนี้ ย่อมต้องการระบบหลังบ้านที่พร้อมจัดการรับมือ ภูมิเล่าว่าเขาและทีมงานทุกคนต่างทำงานออนไลน์และ Work from Home เต็มรูปแบบมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แถมทำงานกันข้ามจังหวัด ไม่มีใครอยู่ด้วยกันเลย แต่ก็ทำงานร่วมกันได้ดี เน้นให้แต่ละคนทำงานเฉพาะทาง ให้ทุกอย่างลื่นไหลได้เร็วและง่ายที่สุด

“ทุกงานจะสำเร็จได้ ถ้างานอยู่ในมือของคนที่ Professional ทีมงานเรามีน้อยมาก บริหารงานแยกกัน ต่างคนต่างทำงาน เราจ้างคนเก่งๆ มาเป็นฟรีแลนซ์ เพื่อให้องค์กรเราลีนที่สุด มีเฉพาะสองตำแหน่งที่จำเป็นทำงานฟูลไทม์ คือคนคอยคุมพนักงานขาย พนักงานขายหน้าร้าน และเราที่ดูแลเองเต็มตัว นอกนั้นจ้างฟรีแลนซ์รับงานเป็นโปรเจกต์ๆ ไป เมื่อถึงเวลาก็เรียกทุกคนมาประชุม Zoom แล้วแจกแจงงาน เรามีแอดมินคอยตอบแชต ได้คนยิงแอดจาก E-commerce เจ้าดังมาช่วย มีช่างภาพมืออาชีพรับงานดูโปรดักชันระหว่างไลฟ์ให้ เราจ้างฟรีแลนซ์เฉพาะทาง พวกเขาเลยคุมคุณภาพดีได้ ลูกค้าก็เลยได้สินค้าที่ดีและไว

“อย่างช่วงนี้ที่กรุงเทพฯ ต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง เราก็งดการไลฟ์สดขายของออกไปก่อน เน้นถ่ายวิดีโอเก็บไว้ แล้วค่อยๆ ปล่อยหน้าแฟนเพจในแต่ละสัปดาห์แทน ตอนนี้ก็มีแพลนว่าอาจจะกลับไปทำไลฟ์ได้ที่ภูเก็ต ต้องประเมินสถานการณ์กันรายสัปดาห์ไป ช่วงนี้ต้องเน้นความไวเป็นหลัก” 

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

ไม่ซ้ำกันสักตัว

ชุดปาเต๊ะยาหยีเป็นงานคราฟต์ ทุกตัวที่ผลิตออกมาจะไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับการวางลายผ้า เป็นเทคนิคของช่างและการออกแบบเชิงศิลปะ 

ผ้าปาเต๊ะทุกผืนมีเสน่ห์ตรงที่การทำหน้าที่เล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านพื้นที่ความยาว 2 หลา กว้าง 40 นิ้ว ผ้าปาเต๊ะมีหลายระดับ ระดับสูงสุดในบรรดาปาเต๊ะทั้งหมดจะเรียกว่า ปาเต๊ะทูริส (Batik Tulis) หรือปาเต๊ะเขียนมือดั้งเดิม ร้านยาหยีเองก็ขายผ้าชนิดนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นประเภทผ้ากลุ่มที่แพงที่สุด ใช้ Junting หรือปากกาเขียน​เทียนทองเหลือง ช่างวาดจะตักน้ำเทียนแล้ววาดด้วยมือทั้งผืน พร้อมใส่เรื่องราวบางอย่างไว้

ผ้าท้องถิ่นบอกกับเราว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใส่อยู่ในผ้าหนึ่งผืน ล้วนเชื่อมโยงเรื่องราวกันเสมอ

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

“ผ้าปาเต๊ะจะต้องเล่าเรื่องราวของมันออกมาได้ เช่น ทำไมถึงมีดอกไม้อยู่ตรงนี้ ผีเสื้อทำไมอยู่ตรงนั้น ผีเสื้อกำลังทำอะไรกับดอกไม้ มันกำลังลงมาตอมนะ มีเรื่องราวของสีสันที่ใส่เข้ามา มีวัฒนธรรมที่แทรกซึมผ่านกาลเวลา ผ่านเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ทั้งหมดอยู่ในลาย  

“ช่างทำผ้าปาเต๊ะของเราเล่าเรื่องผ่านลายภาพวาดบนผ้าเสมอ การร้อยเรียงเรื่องราวเป็นส่วนสำคัญ เพราะฉะนั้น การนำมาตัดเป็นชุดก็ต้องไม่ละทิ้งการเล่าเรื่องราวเหล่านั้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ปาเต๊ะเราทำในโรงงานไม่ได้ ช่างตัดจะต้องนั่งต่อลายให้เสมอกันทุกๆ ตัว เพื่อให้ออกมาแล้วลายบนชุดสวยงาม ช่างทุกคนเรียนรู้การต่อลายแต่ละลายให้สมดุลกันของแต่ละชุด มันคืองานคราฟต์ดีๆ นี่เอง 

“ยาหยีมีแบบลายผ้าประมาณสามสิบแบบในร้าน สมมติลูกค้าอยากได้ชุดตามแบบเดิมที่เคยซื้อไป แต่เรามีผ้าผืนใหม่แล้ว ชุดตัวใหม่ก็ต้องถูกร้อยเรียงขึ้นมาอีกแบบ เราต้องมองอีกรอบหนึ่งว่าผ้าผืนนี้จะเอาหน้าผ้า หรือเอาเนื้อผ้าไปตัดแบบไหนได้บ้าง เรียกได้ว่าคนที่ใส่ชุดยาหยีจะยูนีก ต่อให้บอกว่าชุดแบบเดียวกัน แต่เรื่องราวบนผ้าต่างกันเลย” ภูมิอธิบาย

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต ภายใต้แบรนด์ ‘ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee’

วัฒนธรรม = Daily Use 

ยาหยีเอาจุดเด่นของผ้าปาเต๊ะมาต่อยอดทุกกระบวนการ เป็นการรักษาวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ พัฒนามรดกท้องถิ่นให้จับต้องได้ในตลาดคนหมู่มาก ภูมิเองก็ตั้งใจให้เสื้อยาหยีโตในระดับสากล

“เราตั้งใจปลุกให้มันมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง และเราเชื่อเสมอนะว่า วัฒนธรรมก็ต้องวิวัฒนาการไปตามยุคสมัยของกาลเวลา เรามีสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ แต่ส่วนหนึ่งต้องปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของคนในยุคสมัยด้วย วัฒนธรรมนั้นถึงจะอยู่รอด ไม่อย่างนั้นเราจะเห็นว่าผ้าปาเต๊ะล้มหายตายจากไปกับอาม่าอากงเราไปเรื่อยๆ เด็กรุ่นใหม่จะเอามานุ่งเนี่ยไม่มีแล้วนะ ผ้าปาเต๊ะมันจะหายไป ใครจะยังใส่อยู่อีก 

“ภูเก็ตรับวัฒนธรรมเปอรานากันเข้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ มีคนนำผ้าบาติกเข้ามา สมมติทุกอย่างยังคงหลงเหลืออยู่ ยกเว้นผ้าปาเต๊ะ น่าเสียดาย ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เราอยากให้คนที่มาภูเก็ตนอกจากไปเที่ยวทะเล มากินอาหารทะเลแล้ว ก็อยากให้มาดูผ้าพื้นเมืองด้วย

“เราไม่ค่อยจัดโปรโมชันลดราคาเท่าไหร่ เพื่อไม่ลดคุณค่าของแบรนด์ เพราะไม่ได้ตั้งราคามาเพื่อเซลล์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราเน้นแจกของแถมในแต่ละซีซั่นมากกว่า เช่น แจกแมสก์ผ้าลายเดียวกับชุดเพื่อสวมใส่ให้เข้ากันได้สวยงาม แจกกระเป๋าใบเล็กเพื่อให้ลูกค้าไว้ใส่เจลแอลกอฮอล์พกพาได้ง่าย เน้นแจกของแถมให้เข้ากับสถานการณ์มากกว่า ลูกค้าก็ได้ประโยชน์จากของแถมด้วย” 

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต ภายใต้แบรนด์ ‘ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee’

ตอนนี้ผ้าปาเต๊ะยาหยีเริ่มติดตลาดคนทำงานและคนรุ่นใหม่ ชุดยาหยีคอลเลกชันใหม่อย่างตัวสีชมพูพาสเทลระบายริ้วแขน เชื่อว่าใครเห็นเป็นต้องรัก

จุดเด่นอีกอย่างของผ้าปาเต๊ะยาหยีอยู่ที่ความคงทน ภูมิเล่าว่าการผลิตตั้งแต่แรกเริ่มมีผลกับความคงทนของชุด ผ้าทุกผืนของยาหยีทุกผลิตจนเป็นเนื้อผ้าอย่างดี ตัดเย็บอย่างพิถีพิถัน พร้อมอัดกาวแทบจะทุกชุด จึงไม่ยุ่ย ไม่เป็นฟองอากาศด้านใน คุ้มค่าเมื่อสวมใส่ เสื้อทุกตัวผ่านการเย็บมือด้วยเครื่องจักรเย็บผ้าธรรมดา เป็นสินค้าโฮมเมดที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“เราอยากทำให้ผ้าปาเต๊ะไม่ได้เป็นแค่ผ้าเชิงวัฒนธรรมอีกต่อไป ชุดของเราต้องเป็น Daily Use สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน แค่ไปเดินตลาดแล้วเห็นวัยรุ่นใส่ผ้าปาเต๊ะ ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วนะ ไม่ต้องใส่แบรนด์ยาหยีก็ได้ เราถือว่าเราได้ทำอาชีพที่ผลักดันทั้งระบบ เราไม่กลัวเลยนะถ้าจะมีคนก็อปแบรนด์ ทำไปเถอะ เมื่อไหร่ที่คนทำเยอะ กระแสมันยิ่งดี คนในชุมชนเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์ ผ้าชนิดนี้ก็จะไม่สูญหายไปตามกาลเวลา”

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

ชุดปาเต๊ะจากเกาะภูเก็ตสู่ตลาดสากล

คุณมีความฝันว่าอยากเห็นชุดยาหยีไปได้ไกลถึงไหน-เราถาม

“อยากให้ต่างประเทศรู้จัก ทุกวันนี้เราลุยเต็มที่ อยากทำความฝันให้เป็นจริง เรามีส่งออกไปต่างประเทศแล้วคือที่อังกฤษกับออสเตรเลีย คนไทยที่อังกฤษบอกว่าคนอังกฤษชอบชุดยาหยีมาก แล้วกลุ่มคนไทยในออสเตรเลียเขาซื้อไปใส่บ่อย เรามองอนาคตว่าอยากจะโกอินเตอร์ไปต่างประเทศให้มากขึ้น ตั้งใจจะไปต่ออีกเหมือนกัน ไม่อยากหยุดแค่ในไทย วัฒนธรรมของเรามันไปได้ไกลกว่านั้น” นั่นคือหมุดหมายในอนาคตของเขา และเราเชื่อว่าเขาทำได้ 

ชุดผ้าปาเต๊ะยาหยีเน้นขายออนไลน์ทางเพจเฟซบุ๊กเป็นหลัก มีคลอเลกชันใหม่ออกมาเรื่อยๆ สาวสายสวยหรูดูดีหรือสาวหวาน ก็ใส่ชุดของยาหยีได้ทั้งนั้น ทุกชุดของยาหยีจะตั้งเป็นชื่อของดอกไม้ เช่น ชุดคามิเลีย ชุดบัวบาน ชุดทองอุไร และชุดพุดซ้อน เพราะลายผ้าดั้งเดิมมักเป็นลายสัตว์ ไม่ก็ดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ตามชุมชนที่ทำผ้าผืนนั้น 

“เรารู้ว่านี่แค่จุดเริ่มต้น เราแค่ต่อยอดจากจุดที่บ้านเราทำมา หนทางนี้ยังต้องฝ่าไปอีกเยอะมาก น่าดีใจที่คนมีชื่อเสียงหลายคนเลือกชุดหยาหยีใส่ไปออกงานต่างๆ คนที่เห็นก็เข้ามาทักว่าชุดแบรนด์อะไร ซื้อที่ไหน สวยจังเลย คนสวมใส่ก็รู้สึกดีที่ตัวเองใส่แล้วสวย เราเองในฐานะเจ้าของแบรนด์ก็ภูมิใจด้วย ความคาดหวังสูงสุด คือการได้เห็นคนหันมาสนใจวัฒนธรรมนี้มากขึ้น” ภูมิเล่าทิ้งท้าย ก่อนหยิบชุดปาเต๊ะตัวใหม่ให้เราชม

ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต
ทายาทรุ่นสองร้านขายของที่ระลึกภูเก็ต ผู้พลิกฟื้นจิตวิญญาณผ้าท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิต

ภาพ : ชุดผ้าปาเต๊ะ Yayee

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน