แต่ละจังหวัดมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป บางจังหวัดมีดีเรื่องภูมิศาสตร์ พื้นที่สวยเหมาะแก่การท่องเที่ยว บางจังหวัดมีตึกสวยหรือสูงให้ตื่นตา บ้างก็มีดีเรื่องเทคโนโลยีและความทันสมัย ท่ามกลางเอกลักษณ์ที่แต่ละจังหวัดมุ่งขายเรื่องวัตถุนิยม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ เป็นที่ตั้ง ยังมีพื้นที่หนึ่งที่มีจุดยืนไม่เหมือนจังหวัดไหน ๆ เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีเกษตรกรผู้น่ารัก คอยฟูมฟักบ้านหลังนี้ด้วยเกษตรอินทรีย์

จังหวัดที่ว่าคือ ‘ยโสธร’ 

ที่จังหวัดนี้แตกต่างไม่เหมือนใคร เพราะที่นี่อยากสร้างเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนด้วยเกษตรอินทรีย์

ในยุคที่โลกกำลังเผชิญมลพิษมากขึ้น มหาสมุทร แม่น้ำ และอากาศที่เราหายใจเข้าไปมีสารปนเปื้อนจากการทำอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ผู้คนเจ็บป่วยจากโรคร้ายที่เกิดจากมลพิษมากขึ้นทุกปี โลกจึงมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนและหาทางอยู่รอดใหม่ที่ยั่งยืน คืนอากาศที่ดี ฟื้นฟูโลกที่น่าอยู่ขึ้นใหม่ หนึ่งในทางเลือกนั้นคือการทำเกษตรอินทรีย์

หลายรัฐในต่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวและเกษตรอินทรีย์ เช่น รัฐสิกขิม ประเทศอินเดีย กลายเป็นรัฐเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ คนในรัฐอยู่ได้ไม่เดือดร้อน มีผลผลิตเพิ่มและคนสุขภาพดี หรือเมืองโคเปนเฮเกน ที่ตอนนี้เป็นเมืองยั่งยืน สนับสนุนให้คนลดคาร์บอนด้วยการปั่นจักรยาน อัตราสุขภาพของคนในเมืองก็ดีขึ้นเพราะอากาศดี 

ยโสธร เมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ชีวิตออร์แกนิกคู่วิถีอีสาน

จังหวัดยโสธรก็กำลังมองเห็นถึงสิ่งนี้เช่นเดียวกัน คนที่นี่ให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรสีเขียวเข้าไปถึงรากวัฒนธรรม ยโสธรเป็นตำนานแห่งการทำนาข้าวอินทรีย์ มีประเพณีบุญคูณลาน เป็นพิธีทำบุญเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่นาข้าวและลานข้าวหลังการเก็บเกี่ยว เพราะคนที่นี่เชื่อว่า ข้าวทำให้ชีวิตดำรงชีวิตอยู่ได้และทำให้มีรายได้ยังชีพ ไม่เพียงแต่ชาวนาหรือชาวบ้านที่เชื่อในเกษตรอินทรีย์ แต่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงโรงพยาบาลเองก็สนับสนุนและเชื่อในสิ่งเดียวกัน

ยโสธรจึงเริ่มก่อตัวเป็นบ้านสีเขียว ศูนย์รวมคนที่เชื่อความยั่งยืนของอินทรีย์ ความศรัทธานี้สร้างผู้นำร่องการทำเกษตรสีเขียวนี้ขึ้น เป็นต้นแบบที่น่าเชื่อถือ มีทั้งปราชญ์ผู้นำความคิด มีเกษตรกรตัวอย่าง มีชาวนารุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาข้าว และมีคุณหมอผู้ได้รับมรดกความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน คนต้นแบบเหล่านี้กลายเป็นผู้นำความคิดและสร้างศรัทธาให้คนยโสธรอยากดำเนินรอยตาม สร้างความยั่นยืนให้บ้านหลังนี้ไปด้วยกัน  

เราจึงอยากพาไปรู้จักกับยโสธร อนาคตเมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ผ่านลูกหลานยโสธรแท้ทั้ง 4 คนที่อยากสร้างบ้านหลังนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

คนอยากสร้างบ้าน

บ้านคือสถานที่ที่พร้อมตอนรับกลับ โจน จันได ลูกหลานยโสธรผู้หลีกหนีความวุ่นวายและมลพิษในเมืองใหญ่กลับสู่อ้อมกอดบ้านเกิด 

“ทำงานในเมืองต้องทำงานหนัก เหนื่อยแต่กินไม่อิ่ม เงินไม่มี มีแต่งานที่หนักขึ้น ได้กินอาหารจำกัดแค่ข้าวผัด ผัดกะเพรา ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ก็เลยตั้งคำถามว่า ในเมื่อโลกนี้มีอาหารเยอะแยะ ทำไมเราต้องกินแค่นี้ โลกนี้มีวิถีทางที่ใช้ชีวิตให้มันสนุกสบายได้ตั้งเยอะ ทำไมเราต้องมาใช้ชีวิตเหมือนทาสอยู่ในเมือง เลยตัดสินใจใช้ชีวิตทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงปลาที่บ้านเกิด ทำให้รู้ว่าชีวิตที่อยู่ได้มันง่ายแค่นี้เอง”

สิ่งแรกที่ โจน จันได ทำหลังได้กลับบ้านคือ การทำสวนปลูกผักง่าย ๆ ข้างบ้าน เป็นสวนที่เดินเก็บกินกันได้สด ๆ อย่างปลอดภัยไม่ต้องกังวลสารปนเปื้อน

“เกษตรส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่ทำเพื่อเน้นขาย อย่างคนปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด ไม่มีใครกินอ้อย กินข้าวโพดของตัวเองหรอก ลงทุนสูงแต่ขายถูก แถมยังทำงานกับสารเคมี ทำให้สุขภาพทรุดโทรม อยู่อย่างยากลำบาก เพราะต้องเอาเงินไปลงทุน ผมเลยเห็นว่าทางรอดเดียวที่จะทำให้เราอยู่ได้ ก็คือการไม่อยู่กับสารพิษ อย่างการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสุขภาพของเรา”

ความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ที่ดีของ โจน จันได ไม่ใช่แค่การมีเงินมีทอง แต่เป็นการมีอยู่มีกินและมีสุขภาพดี เป็นสิ่งที่ย้ำให้เราเชื่อจริง ๆ ว่าคนยโสธรศรัทธาในสิ่งเดียวกัน เพราะ ตุ๊หล่าง-แก่นคำหล้า พิลาน้อย นักอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองยโสธร กลุ่มชาวนาไทอีสาน ก็สนใจการมีปัจจัย 4 มากกว่าเม็ดเงิน สิ่งสำคัญคือชีวิตที่ดี ตุ๊หล่างเล่าให้ฟังว่าก่อนก่อตั้งกลุ่มชาวนาไทอีสาน เขาเข้าร่วมกลุ่มข้าวผ้ายาบ้าน เป็นกลุ่มแรกที่รวบรวมผู้มีใจรักในการฟื้นฟูการทำเกษตรของบ้านเกิด

ยโสธร เมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ชีวิตออร์แกนิกคู่วิถีอีสาน
ยโสธร เมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ชีวิตออร์แกนิกคู่วิถีอีสาน

“ตั้งกลุ่มข้าวผ้ายาบ้าน เพราะอยากมีกลุ่มที่ทำได้ครบปัจจัย 4 คือ มีข้าว มีผ้า มียา มีบ้าน มันจะทำให้เราอยู่รอดได้แม้เกิดภัยพิบัติอะไรก็ตาม เป็นกลุ่มที่ทำหลายอย่าง ล้วนทำด้วยใจ ภายหลังเลยชวนกันตั้งกลุ่มที่มีกฎระเบียบและลงมือทำงานกันจริงจังมากขึ้น จนได้เป็นกลุ่มชาวนาไทอีสาน”

ความจริงใจในการสร้างกลุ่มที่จริงจังขึ้น เป็นอีกเครื่องยืนยันที่บอกเราว่า คนยโสธรยึดมั่นในวิถีการเกษตรที่ฝังรากในวัฒนธรรมของตัวเอง

ยโสธร เมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ชีวิตออร์แกนิกคู่วิถีอีสาน
ยโสธร เมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ชีวิตออร์แกนิกคู่วิถีอีสาน

ว่ากันว่าสุขภาพกายและใจที่ดีคือการมีปัจจัย 4 ที่ไม่สร้างมลพิษ ชุธิมา ม่วงมั่น กลุ่มเกษตรกรทำนา นาโส่ ลูกสาวแสนขยันผู้สืบทอดการทำเกษตรอินทรีย์อำเภอกุดชุมต่อจาก คุณพ่อมั่น สามสี เธอเล่าว่าพ่อและแม่ทำเกษตรแบบใช้สารเคมีมาตลอด สิ่งที่ต้องเผชิญคือโรคร้ายที่เข้ามารุกราน มะเร็งที่ทำให้คุณพ่อต้องตัดกระเพาะอาหาร และโรคภูมิแพ้ที่เข้ากระแสเลือดจนรักษาไม่หายของคุณแม่ นอกจากสุขภาพที่ทรุดโทรม ดินที่เคยดีก็กลายเป็นดินแข็งเหมือนปูนซีเมนต์ ปลาในนาข้าวก็ตาย

“เราคุยกับพ่อว่าจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีลงในนาแล้ว เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักกันได้ไหม จากนั้นก็เริ่มทำกันสามสี่คน แล้วก็เห็นว่าสิ่งที่ทำมันปลอดภัยต่อตัวเอง ปลอดภัยกับพ่อแม่ พ่อแม่รู้สึกร่างกายดีขึ้น ดินที่เคยแข็งก็ฟื้นฟูขึ้นมาเยอะ เลยรู้สึกว่าวิถีที่ทำตอนนี้มันถูกต้องแล้ว”

ลูกหลานยโสธรทั้งสามคนต่างเห็นว่า นาและสวนเกษตรอินทรีย์คือทางออกของสุขภาพและการกินอยู่ที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น หยูกยาก็สำคัญต่อสุขภาพไม่แพ้กันด้วย หมอเผด็จ จันทร์แดง แพทย์แผนไทยโรงพยาบาลกุดชุม ผู้อยากผลักดันให้คนยโสธรรู้จักสมุนไพรอินทรีย์เพื่อรักษาโรคมากขึ้น

ยโสธร เมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ชีวิตออร์แกนิกคู่วิถีอีสาน
ยโสธร เมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ชีวิตออร์แกนิกคู่วิถีอีสาน

“ยาแผนปัจจุบันข้อเสียคือบางตัวมีฤทธิ์ต่อตับ ต่อไต ไตเสื่อม ตับอักเสบ กินมากอาจจะแพ้ แต่สมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนเลือกได้ จากรายงานอาการไม่พึงประสงค์ยังไม่พบว่ามีอาการแพ้หนักจากการใช้ยาสมุนไพรเลย เราอยากให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับบริการที่หลากหลาย และบูรณาการองค์รวม เพื่อให้เขาได้เลือกใช้รักษาตัวเอง”

ทำความรู้จักกับเหล่าผู้รักในบ้านเกิดทั้ง 4 คนแล้ว เราอยากพาไปเห็นเมืองยโสธร บ้านหลังสีเขียวสบายตาผ่านมุมมองของคนอยากสร้างบ้านด้วยเกษตรอินทรีย์จากทั้งสี่คนให้มากขึ้น

ภาพบ้านหลังเก่า

แน่นอนว่าการทำเกษตรกรรมของชาวไร่ชาวสวนมักหมุนไปตามเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก ยโสธรเองก็เคยมีวิวัฒนาการเกษตรกรรมที่ล้อไปตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน โจน จันได เล่าให้เราฟัง

“50 ปีย้อนหลังกลับไป ทุกคนทำอินทรีย์ทั้งหมด แต่เป็นอินทรีย์แบบตามบุญตามกรรม คือปลูกแบบไม่ใช้อะไรเลย ปุ๋ยหมักก็ไม่มี ปลูกตามธรรมชาติ ลงทุนเยอะ ผลผลิตน้อย กระทั่งมีปุ๋ยเคมีเข้ามา ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น คนเลยเปลี่ยนจากวิถีเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นเกษตรเคมี แต่เกษตรเคมีเมื่อผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนก็สูงตามไปด้วย สิ่งนี้ทำให้เกษตรกรกลายเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว สูญเสียที่นา สูญเสียบ้าน”

ณ เวลานั้นเอง ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ก็มีน้อย เพราะไม่มีสื่อออนไลน์ให้ค้นคว้าอย่างสะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ โจน จันไดใช้วิธีหาข้อมูลจากการอ่านหนังสือ ติดต่อคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ผ่านโทรศัพท์ ลงทุนไปดูไร่สวนของคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ต่างจังหวัดต่างอำเภอ จะหาไร่ของคนทำเกษตรอินทรีย์แต่ละครั้งก็ยากลำบาก ต้องไปติดต่อสำนักงานอำเภอก่อน ถามทางชาวบ้านเพื่อไปไร่ตัวอย่าง พอไปถึงไร่แล้วเจ้าของสวนไม่อยู่บ้านก็มี กลับบ้านมือเปล่าอยู่หลายครั้ง แต่เขาก็ยังอยากหาข้อมูลกลับมาพัฒนาบ้านตัวเองอย่างไม่ลดละ

นอกจากการเข้ามาของสารเคมีและชุดความรู้เกษตรอินทรีย์ที่น้อยนิดในยุคนั้นของยโสธร ตุ๊หล่างเล่าว่า เขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของทางบ้านที่เทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทด้วย

“เมื่อก่อนใช้ควายไถนา เวลาควายไถนามันจะกินหญ้าด้วย ขี้ไปด้วย เวลาขี้ควายโดนน้ำ เรารู้สึกจั๊กจี้ เมื่อก่อนไม่ชอบทำนาเพราะเจอขี้ควายโดนน้ำ โดนฝนนี่แหละ แต่พออายุหลายขวบขึ้นมา พ่อเริ่มใช้รถไถนาเดินตาม หลังจากนั้นพี่ก็ช่วยทำนาจริง ๆ มาตลอดเพราะไม่มีขี้ควายแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องสะอิดสะเอียนอีกต่อไป 

“เมื่อก่อนชาวบ้านยังไม่ถึงขั้นทำเกษตรอินทรีย์นะ ยุคที่เกิดมาก็เริ่มมีปุ๋ยเคมีเข้ามา ต่อมาธรรมชาติเริ่มหดหายไปเยอะ เพราะมียาฆ่าหญ้าเข้ามาด้วย พออยู่กับสารเคมีนาน คนก็มีปัญหาสุขภาพกัน”

การเปลี่ยนไปในแต่ละยุคเกษตรกรรมให้เท่าทันกระแสโลก ทำให้เห็นว่าแต่ละยุคสมัยมีข้อบกพร่องเรื่องใด และมีผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตของคนแบบไหนบ้าง บ้านหลังเก่าที่ผ่านมาทุกยุคสมัยจึงเป็นบทเรียนที่ทำให้ชาวยโสธร อยากเพิ่มหน้าหนังสือใหม่จากบทเรียนเก่าให้ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยวิถีอินทรีย์ที่ไม่ล้อไปตามโลกแห่งเทคโนโลยีอย่างในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงของการเกษตรมาสู่จุดที่เกษตรกรพึ่งสารเคมีเยอะในปัจจุบัน ทำให้หลายคนอาจมองไม่เห็นภาพว่า เกษตรอินทรีย์จะสร้างชีวิตดีที่ยั่งยืนได้จริงอย่างไร ซึ่งคนยโสธรกำลังต่อเติมบ้านหลังเก่าให้เป็นบ้านสีเขียวที่น่าอยู่ได้จริงด้วยบทเรียนจากผู้เปี่ยมความรู้ อย่างเหล่าปราชญ์ชาวบ้านและภูมิความรู้จากเหล่านักพัฒนา

ปราชญ์ชาวบ้านผู้เปี่ยมความรู้

จุดเริ่มต้นจากทำเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 คุณพ่อมั่นเริ่มนำร่องการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยความร่วมมือจากสหกรณ์กรีนเนทจำกัด และโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง (มูลนิธิสุขภาพไทย) และโรงพยาบาลกุดชุม ทำให้มีคนสนใจมารวมกลุ่มมากกว่า 200 คน

การรวมตัวของชาวนาเกษตรอินทรีย์ทำให้ตำบลและหมู่บ้านข้างเคียงเห็นเป็นตัวอย่าง บ้านใกล้เรือนเคียงเริ่มอยากเข้ามาศึกษาด้วยกัน ซึ่งชุธิมาเองก็ได้กลับบ้านและร่วมทำนาเกษตรอินทรีย์กับคุณพ่อ หลังเรียนจบปริญญาตรีใน พ.ศ. 2540

การทำเกษตรอินทรีย์เป็นที่สนใจขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่ง พ.ศ. 2545 ทางจังหวัดมีนโยบายอยากให้คนยโสธรรู้จักเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เริ่มได้รับการสนับสนุนเรื่องเกษตรอินทรีย์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จนเกิดเป็นกลุ่มทำนาข้าวอินทรีย์ยโสธร ในปีนั้นมีการสนับสนุนให้จัดงานวันข้าวอินทรีย์ไทย เพื่อเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปรู้จักเกษตรอินทรีย์และรู้จักยโสธรมากขึ้นด้วย การเติบโตของยโสธรยังมียิ่งไปกว่านั้นใน พ.ศ. 2548 ทางภาครัฐริเริ่มนโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดยโสธรผ่านเกษตรอินทรีย์ ด้วยวิสัยทัศน์ “ยโสธรเมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล” ทำให้ใน พ.ศ. 2551 ก็เริ่มมีตลาดสีเขียวในเมืองเพื่อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์

ครอบครัวชุธิมากลายเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ถือชุดความรู้เกษตรอินทรีย์ที่ได้ทดลองทำด้วยตัวเอง และพร้อมส่งต่อชุดความรู้เหล่านั้นสู่มือคนยโสธร

“เคยมีคำถามจากชาวบ้านว่า ส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์แล้วมีที่ให้ขายไหม อย่างข้าวที่เราทำมันมีที่ให้ขายคือสหกรณ์ที่มารับซื้อข้าว แต่ผักอย่างอื่นขายที่ไหน เพราะเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มีแค่เรื่องข้าว ทางจังหวัดเลยจัดให้มีตลาดชุมชนขึ้น เปิดตลาดในเมืองแรก ๆ คนไม่ค่อยสนใจ แต่ตอนนี้เขาอยากให้เปิดกันทุกวันแล้ว บางคนก็มาซื้อตุนไว้เพราะตลาดมีแค่วันเดียว ข้อดีของผลผลิตอินทรีย์คือเก็บได้นาน รสชาติต่างจากผักทั่วไป ซึ่งตอนนี้ตลาดสีเขียวมีเกือบทุกวันแล้ว”

ทุกวันนี้เครือข่ายที่ทำเกษตรอินทรีย์ในยโสธรเริ่มเยอะขึ้น เพราะเชื่อในความเป็นไปได้ของเกษตรอินทรีย์จากการเห็นตลาดสีเขียว มีร้านที่เข้าร่วมตลาดสีเขียวกว่า 30 ร้าน ตลาดสีเขียวมีอยู่ที่โรงพยาบาลกุดชุม อำเภอกุดชุม ทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี ศาลากลางจังหวัด เปิดวันอังคารและวันศุกร์ และที่หอนาฬิกาจังหวัดยโสธร ทุกวันเสาร์ตอนเช้า และโรงพยาบาลยโสธร เปิดวันจันทร์และพฤหัสบดี 

ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่เข้ามาในระบบตลาดไว้วางใจได้แน่นอน เพราะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานของตลาดสีเขียวที่มีการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและส่งผลผลิตที่ดีจริงต่อผู้บริโภค

เมื่อเรามีกูรูผู้สร้างแหล่งอาหารเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือกูรูด้านการรักษาโรค หมอเผด็จถือเป็นลูกหลานของปราชญ์ชาวบ้าน เพราะคุณหมอได้ชุดความรู้เรื่องสมุนไพรรักษาโรคมาจากปราชญ์ชาวบ้านเช่นกัน

“ผมทำงานกับหมอพื้นบ้าน หมอพื้นบ้านต้องมีความรู้เรื่องสมุนไพร เราอยากให้หมอพื้นบ้านมาเป็นฐานทัพหลักให้ พาเขาอบรมให้รู้จักหลักวิถีวิทยาศาสตร์ในการรักษาร่วมกับยาสมุนไพร มอบหมายให้เขารักษาดูแลในพื้นที่ของตัวเอง เพราะหมอพื้นบ้านเป็นที่ไว้วางใจของชาวบ้านอยู่แล้ว

“เรามีความรู้จากที่เรียนและตำรับยาที่ใบลาน แกะจากใบลาน ใบข่อยที่หมอยาพื้นบ้านเขาทำไว้ให้ เป็นของหมอพื้นบ้านกุดชุม พ่อหมอเขาแกะออกมาคัดลอกไว้ ถ้าครอบครัวเขาไม่มีคนสืบทอด เขาก็เอามาให้หมอเผด็จ ผมเลยเอามาพิมพ์เป็นเล่ม และได้เอามาสานต่อเยอะแยะมากมาย”

การสานต่อของหมอเผด็จ คือการผลักดันสมุนไพรในระบบอินทรีย์ให้คนยโสธรรู้จัก และนำไปใช้รักษาโรคมากขึ้น เพราะสมุนไพรอินทรีย์ไม่เกิดการสะสมสารเคมี และไม่สร้างอาการไม่พึงประสงค์แก่ผู้ใช้

“เรามีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่รวมกลุ่มกันปลูกสมุนไพรประมาณ 10 กลุ่ม แต่ละปีมาประชุมกำหนดราคาขายกันเองโดยไม่ผ่านตลาดคนกลาง เกษตรกรจะรับโควต้าสมุนไพรไปปลูก แต่ละบ้านรับไปไม่เท่ากันแล้วแต่พื้นที่ที่เขามี ระหว่างปลูกเราก็จะไปเยี่ยมแปลงปลูก ไปดูว่าเขาใช้สารเคมีไหม และตรวจดินปลูกด้วย”

ผลจากการรร่วมแรงร่วมใจของคุณหมอกับชาวบ้าน ทำให้โรงพยาบาลกุดชุมมีศูนย์ผลิตยาสมุนไพรถึง 38 ตำรับ และได้เข้าไปอยู่ในบัญชียาตำรับแห่งชาติด้วย พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการตรวจปริมาณสารเคมีในร่างกายของเกษตรกร รณรงค์ให้คนยโสธรที่ทำเกษตรเคมีรู้จักสมุนไพรล้างพิษ หลังจบฤดูกาลปลูก ประชากรกลุ่มนี้ต้องมาตรวจว่าพวกเขาได้รับสารพิษเข้าร่างกายเท่าไร และต้องรับชาชงสมุนไพรจากโรงพยาบาล หรือถ้ามีสมุนไพรปลูกเองที่บ้าน ก็แนะนำให้เขาต้มกินเองแล้วตรวจซ้ำอีกครั้ง เป็นนโยบายของอำเภอกุดชุมส่งเสริมกันเอง ทำให้คนรู้ว่าสมุนไพรตัวไหนขับสารเคมี ขับสารพิษ และปลอดภัยต่อร่างกาย เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของคนยโสธร

นักพัฒนาผู้ลองผิดลองถูก

ก่อนจะเป็นผู้นำและให้ความเชื่อถือต่อชุมชน ผู้นั้นย่อมเคยเป็นนักลองผิดลองถูกมาก่อน แต่การลงมือปฏิบัติซ้ำ ๆ และทำให้คนในชุมชนเห็น เป็นการสร้างความเชื่อใจและแรงขับที่ทำให้คนยโสธรเริ่มเห็นความสำคัญแล้วพากันหันมาทำเกษตรอินทรีย์

“ช่วงแรกคนมองว่ามันโง่เขลาที่เราทำสวนอินทรีย์เพราะผลผลิตคงน้อย แต่ผลผลิตอินทรีย์ เราปลูกขายได้วันละ 200 – 300 บาท เขาคิดว่ามันอยู่ไม่ได้ แต่ที่จริงมันทำให้เรามีรายได้มากกว่าคนเหล่านั้นอีก เพราะนั่นเป็นเงินฝากทั้งหมด”

โจน จันได ยังยืนยันกับวิถีพึ่งตนเองด้วยเกษตรอินทรีย์ และลงมือทำด้วยตัวเองต่อไป เพื่อให้ชาวบ้านเห็นด้วยตาว่าเกษตรอินทรีย์ทำได้และอยู่ได้จริง 

คุยกับนักขับเคลื่อนเมืองอินทรีย์ ถึงโมเดลการสร้างยโสธรเป็นเมืองสีเขียว ที่มีทั้งอาหารและสมุนไพรปลอดภัย

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น คือทุกวันนี้คนเห็นด้วยมากขึ้น มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ถึง 50 กว่าครอบครัวที่หมู่บ้านของผม และมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาหลังจากนั้น”

นอกจากนี้ โจน จันได ยังทำหน้าที่เผยแพร่ชุดความรู้นี้สู่กลุ่มและชุมชนของตัวเอง ผลิตหนังสือที่อยากให้คนให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพกายและใจด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ พาคนรุ่นใหม่ลงแปลงลงสวนเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ และตอนนี้เขามีศูนย์เรียนรู้และศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ที่เชียงใหม่ แถมกำลังขยับขยายที่เก็บเมล็ดพันธุ์ให้เข้ากับสภาพอากาศของยโสธรด้วย

คุยกับนักขับเคลื่อนเมืองอินทรีย์ ถึงโมเดลการสร้างยโสธรเป็นเมืองสีเขียว ที่มีทั้งอาหารและสมุนไพรปลอดภัย
คุยกับนักขับเคลื่อนเมืองอินทรีย์ ถึงโมเดลการสร้างยโสธรเป็นเมืองสีเขียว ที่มีทั้งอาหารและสมุนไพรปลอดภัย

“การเก็บเมล็ดพันธุ์คือทางรอดของเกษตรกร เพราะว่าเกษตรกรทุกวันนี้ไม่มีเมล็ดพันธุ์อยู่ในมือ ต้องพึ่งเมล็ดพันธุ์จากบริษัทที่ผูกขาดด้วยราคาแพง ซึ่งเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นอ่อนแอมาก ต้องพึ่งพาปุ๋ย ใช้ยา ใช้ฮอร์โมนมากจนต้นทุนสูงขึ้น อย่างเรากินก๋วยเตี๋ยวมะระ ไม่มีใครรู้ว่ามะระที่เรากินราคาเมล็ดพันธุ์ปลูก เมล็ดละ 4 บาท กิโลกรัมละหลายหมื่น คนไม่ได้ปลูกเองเขาไม่รู้หรอกเนอะ ดังนั้น การที่หันมาเก็บเมล็ดพันธุ์มันจึงจำเป็นมาก”

โจน จันได สนับสนุนการเก็บเมล็ดพันธุ์ ให้ความรู้การเก็บและแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้ผู้ที่ต้องการด้วย

เช่นเดียวกับ ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า ที่เห็นว่าการเก็บเมล็ดพันธุ์ อนุรักษ์ และพัฒนาพันธุ์ข้าว เป็นหนทางอยู่รอดเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเกษตรกร

คุยกับนักขับเคลื่อนเมืองอินทรีย์ ถึงโมเดลการสร้างยโสธรเป็นเมืองสีเขียว ที่มีทั้งอาหารและสมุนไพรปลอดภัย
คุยกับนักขับเคลื่อนเมืองอินทรีย์ ถึงโมเดลการสร้างยโสธรเป็นเมืองสีเขียว ที่มีทั้งอาหารและสมุนไพรปลอดภัย

“การเก็บเมล็ดพันธุ์ทำให้เราควบคุมความเสี่ยงทางการผลิตได้ ถ้าเกษตรกรไปซื้อจากคนอื่น เมล็ดพันธุ์เป็นแบบเกษตรอินทรีย์จริงหรือไม่ก็ไม่รู้ เพราะที่กลุ่มชาวนาไทอีสานทดลองมา พันธุ์ข้าวหรือพืชผักที่ถูกเพาะเลี้ยงเติบโตมาในระบบเกษตรอินทรีย์รุ่นแม่ พอเรามาปลูกต่อในรุ่นลูก มันจะง่ายในระบบเกษตรอินทรีย์ แต่ถ้าถูกดูแลแบบใช้สารพิษสารเคมี พอเอามาปลูกต่อต้องดูแลมากขึ้น และการเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ทำให้เมล็ดพันธุ์คุ้นเคยเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทำให้เกิดการคัดพันธุ์ที่ดีขึ้นในแต่ละรุ่นด้วย การเก็บเมล็ดพันธุ์จึงจำเป็นต่อการควบคุมการผลิตเกษตรอินทรีย์มาก

“คนควรสนใจอาหารและวิถีอินทรีย์นะ มันควรเป็นหนทางเดียวด้วยซ้ำ มันไม่ควรมีทางเลือกอื่น เพียงแต่สังคมเรา ผู้คนมักสร้างตัวเลือกอื่นขึ้นมา อย่างคะน้าบางใบไม่สวย หลายคนก็ไม่อยากซื้อไม่อยากกิน กลับไปเลือกที่มันดูงาม ๆ ซึ่งกว่าจะงามแบบนั้นมันต้องใช้สารพิษพอสมควร ทุกภาคส่วนมีความสัมพันธ์ร่วมกันทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเกษตรกรสำคัญสุดหรือผู้บริโภคสำคัญที่สุด ถ้าผู้บริโภคช่วยกันซื้อของที่ปลอดภัย คนก็จะทำของที่ปลอดภัยให้กิน”

คุยกับนักขับเคลื่อนเมืองอินทรีย์ ถึงโมเดลการสร้างยโสธรเป็นเมืองสีเขียว ที่มีทั้งอาหารและสมุนไพรปลอดภัย
คุยกับนักขับเคลื่อนเมืองอินทรีย์ ถึงโมเดลการสร้างยโสธรเป็นเมืองสีเขียว ที่มีทั้งอาหารและสมุนไพรปลอดภัย

องค์ความรู้จากนักทดลองทำจริงปฏิบัติจริงจนไปสู่การพัฒนา แม้จะเคยถูกมองว่าเป็นคนโง่เขลาหรือเคยไม่ได้รับการเชื่อใจ แต่พวกเขาลงมือทำจนกลายเป็นหนึ่งในเสาธงที่สร้างความเชื่อให้จังหวัดยโสธรเริ่มสร้างบ้านหลังสีเขียวได้อย่างก้าวกระโดด มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่กลับบ้านพร้อมกับองค์ความรู้ของตัวเองที่นำไปบูรณาการกับเกษตรอินทรีย์ด้วย 

มากไปกว่านั้นคือ ภาครัฐเองก็เชื่อสิ่งที่ปราชญ์ผู้นำความรู้กำลังลงมือทำอยู่ ความศรัทธาและความร่วมมือร่วมใจที่อยากสร้างบ้านสีเขียวหลังนี้ไปด้วยกัน ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญอินทรีย์ขึ้น รัฐธรรมนูญที่เป็นแก่นให้คนยโสธรอยากสร้างเมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์นี้ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

จากนี้ลูกหลานยโสธรคนไหนที่อยากลาออกจากงานประจำ ถึงตอนนี้ก็คงไม่ต้องกลัวกันแล้วว่า ถ้ากลับบ้านมาจะไม่มีอยู่มีกิน

สร้างเมืองที่ใฝ่ฝัน

รู้จักเมืองยโสธรผ่านเหล่าผู้รักบ้านเกิดทั้ง 4 คนแล้ว การลงมือทุ่มทั้งแรงกายและแรงใจเพื่อบ้านหลังเล็กของตัวเองมาเนิ่นนาน พวกเขาจึงมีภาพวาดฝันถึงชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวด้วยเกษตรอินทรีย์เมืองยโสธร

เริ่มด้วยคนที่เคยไม่ชอบขี้ควายเปียกน้ำอย่าง ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า ที่ฝันถึงนาอินทรีย์เมืองยโสธรให้เป็นบ้านที่คนกินข้าวพื้นเมืองอย่างปลอดภัย

คุยกับนักขับเคลื่อนเมืองอินทรีย์ ถึงโมเดลการสร้างยโสธรเป็นเมืองสีเขียว ที่มีทั้งอาหารและสมุนไพรปลอดภัย

“เกษตรอินทรีย์เป็นหลักประกันให้คนผลิตได้แน่นอน ผมฝันมาตั้งแต่ครั้งแรกของการพัฒนาพันธุ์ข้าวว่า ผมอยากให้ข้าวอินทรีย์ราคาเท่ากับข้าวที่ใช้สารพิษสารเคมี ด้วยการพัฒนาพันธุ์ข้าว อยากให้มีความปลอดภัยทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำ ด้วยการพัฒนาพันธุ์ข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์ ยิ่งไปกว่านั้น ผมอยากเห็นสร้างรัฐธรรมนูญจังหวัด เป็นธรรมนูญการเพาะปลูกและสุขภาพ เช่น ยโสธรจะหยุดการนำเข้าสารพิษสารเคมี เพื่อคนจะได้ให้เห็นว่าทำเกษตรอินทรีย์มันอยู่รอดได้จริง ๆ คนที่กินอาหารอินทรีย์เขามีสุขภาพที่ดีจริง ๆ”

นักทดลองอย่าง โจน จันได ผู้มุ่งมั่นหาข้อมูล บุกป่าบุกสวนแสวงหาความเป็นไปได้ของเกษตรอินทรีย์ที่มองภาพเกษตรอินทรีย์ในระดับสังคมใหญ่

“คิดว่าภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เกษตรอินทรีย์อาจกลายมาเป็นกระแสหลักในสังคมก็เป็นได้ ไปที่ไหนเราก็ได้กินอาหารดี ๆ ถ้ามันกระจายทั่วประเทศด้วย มันจะก่อความรู้สึกอบอุ่นและสบายใจ คนมีสุขภาพดีขึ้นทั้งทางกายและทางใจ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำเกษตรอินทรีย์ ความเครียดจากการลงทุนและขาดทุนก็ลดลงเยอะ กระทรวงสาธารณสุขอาจลดงบประมาณลง เพราะผู้คนจะป่วยน้อยลงมาก เพราะผู้คนได้รับอาหารที่ดีและปลอดสารเคมี”

ลูกหลานปราชญ์ชาวบ้าน หมอเผด็จ จันทร์แดง ผู้สืบเสาะมรดกทางวัฒนธรรมจนเจอวิถีสมุนไพรจากใบลาน ก็อยากทำผู้คนสบายใจและสุขภาพดีด้วยยาพื้นบ้าน

“เรื่องสมุนไพร ผมอยากให้มีนโยบายมี 2 ส่วน หนึ่งคือนโยบายส่งเสริมการปลูกเพื่อใช้เอง สองคือนโยบายการใช้สมุนไพรสำเร็จ ปลูกเพื่อใช้เองคือ คนเขาปลูกแล้วเอามาทำยาเองได้ อันที่สองคือการใช้สมุนไพร ถ้าเขาป่วยและมีความรู้เรื่องสมุนไพร อยากให้คนยโสธรนึกถึงการรักษาด้วยสมุนไพรก่อน อยากให้คนที่ได้ใช้สมุนไพรไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายมากขึ้น สุขภาพเขาต้องดีขึ้น มีสุขภาพใจดี สุขภาพกายก็ดีด้วย”

ภาพบ้านหลังสีเขียวของลูกสาวคนขยันของบ้าน ชุธิมา ม่วงมั่น ที่เชื่อว่าเกษตรอินทรีย์คือการแบ่งปัน วิถีการอยู่ร่วมกับธรรมชาติจะพาเรากลับไปสู่จุดทำให้มีชีวิตดีขึ้น

“เรามีสโลแกนของที่นี่ ‘เกษตรอินทรีย์คือวิถีชีวิต ไม่ใช่ผลิตเพียงเพื่อขาย’ คือเราทำวิถีชีวิตชุมชนเพราะมันมีวัฒนธรรม เมื่อก่อนเราปลูกข้าวหลากหลายเพื่อไปทำบุญ มีข้าวเฉพาะเอาไว้ทำขนมจีน มีข้าวเพื่อทำข้าวโป่ง ถ้าเราทำเกษตรอินทรีย์เพื่อตอบสนองวิถีชีวิต เราจะมีความสุขได้ เพราะเราเคยผิดหวังกับเกษตรเชิงเดี่ยว อย่างอ้อย ข้าวโพดที่ทำเพื่อขาย สุดท้ายไปต่อไม่ได้ กำหนดราคาเองไม่ได้ด้วย แต่พอทำเกษตรอินทรีย์เพื่อวิถีชีวิตชุมชน เพื่ออยู่กับครอบครัวและสิ่งแวดล้อม มันจะไปต่อได้จริง ๆ เกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ชุมชน เรื่องของเครือข่ายที่อยู่ร่วมกัน มันคือเรื่องของการแบ่งปัน การดูแลซึ่งกันและกัน นี่คือเป้าหมายการทำเกษตรอินทรีย์ของเรา”

คุยกับนักขับเคลื่อนเมืองอินทรีย์ ถึงโมเดลการสร้างยโสธรเป็นเมืองสีเขียว ที่มีทั้งอาหารและสมุนไพรปลอดภัย

เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือกหนึ่งของอาชีพ แต่เป็นวิถีชีวิตที่สร้างความสุขทางกายและทางใจอย่างยั่งยืน ยโสธรคือศูนย์รวมเหล่าคนผู้ต้องการสร้างต้นทุนชีวิตที่มั่งคั่งด้วยความปลอดภัยทางสุขภาพ 

เพราะท้ายที่สุดแล้วคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนกลับคืนสู่ผืนดิน คือการมีบ้าน อาหารดี สิ่งแวดล้อมดี และชีวิตที่มีความสุข

ภาพ : ชุธิมา ม่วงมั่น, ตุ๊หล่าง-แก่นคำหล้า พิลาน้อย, โจน จันได, คุณหมอเผด็จ จันทร์แดง

Writer

Avatar

นกอินทรีย์

เรื่องกินเรื่องใหญ่ ถ้าเลือกได้ขอปลอดภัยไว้ก่อน อยากรู้จักกัน แค่แบ่งของกินให้ อะไรก็ยอมได้ทุกอย่าง