พี่สมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้สืบทอดกิจการร้านค้าเชือก ก้วงเฮงเส็ง อันเก่าแก่ในย่านสำเพ็ง ซึ่งทุกคนรู้จักกันดีในฐานะนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือผู้จุดประกายความคิดให้กับผมว่า การใส่ใจศึกษาเรื่องราวจากสรรพสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับเราเสมอ คราวก่อนพี่สมชัยพาผมไปเยือนร้าน ไทยย่งฮั่วเชียง อันเก่าแก่คู่สำเพ็ง และเรื่องราวจากร้านเชือกเล็ก ๆ แห่งนี้ได้ช่วยทำให้ผมได้รู้จักสำเพ็งขึ้นอีกมากมาย

“หลังจากเชือกแล้วจะเป็นอะไรต่อดีครับ” ผมถามพี่สมชัย

“ถังไม้กับเหล็กดีไหม” พี่สมชัยเสนอ

สำเพ็งเป็นย่านการค้าสำคัญของไทยมาตั้งแต่อดีต และเป็นการค้าระดับนานาชาติ เพราะมีเรือขนส่งสินค้าหลายสัญชาติ หลายขนาด และหลายประเภทจอดเรียงราย ตั้งแต่ท่าน้ำจักรวรรดิ ราชวงศ์ ตลอดแนวถนนทรงวาดจนถึงตลาดน้อย

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

“เราเริ่มที่เชือก เพราะสำเพ็งเป็นย่านการค้า เชือกจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ผูกโยงเรือไว้ด้วยกันหรือผูกเรือไว้กับท่า ต่อจากเชือก เราควรจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับถังไม้ เพราะเมื่อก่อนต้องใช้ถังไม้ลำเลียงน้ำจืดบรรจุไว้บนเรือก่อนออกเดินทางค้าขายรอนแรมในทะเลกว้าง แล้วก็ตามด้วยเหล็ก เพราะเป็นวัสดุที่ใช้ทำโซ่ ทำสมอเรือ ฯลฯ เฮียว่าถ้าเรายึดเอาเรือเป็นแกนกลาง เราก็ควรลองทำความรู้จักสำเพ็งผ่านเชือก ถังไม้ และเหล็กให้ครบ” พี่สมชัยสรุปและผมก็เห็นด้วย

ปรากฏการณ์ ผม x พี่สมชัย จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ถังไม้และเหล็กจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง มาร่วมเดินตามพี่สมชัยไปพร้อมกับผมนะครับ

ถังถ่ายทางอากาศ

พี่สมชัยนัดพบผมที่สำนักงานแต่เช้าเพื่อให้ดูภาพสำคัญ

“อ้า… นี่คือวัดปทุมคงคาครับ เมื่อก่อนคือวัดสำเพ็ง” ผมรีบบอกเมื่อภาพโบราณภาพหนึ่งปรากฏขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ พี่สมชัยรีบขยายภาพนี้ให้ใหญ่ขึ้นหลายเท่า และแล้วผมก็สังเกตเห็นปากถังไม้ใบใหญ่ ๆ มีลักษณะเป็นวงกลมหลายต่อหลายวงวางเรียงต่อกันเต็มพื้นที่บริเวณแนวพระเจดีย์ ดูน่าตื่นตามาก

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณวัดปทุมคงคาโดย Peter Williams-Hunt
แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
ภาพเดียวกันเมื่อขยายขึ้นจะพบภาพปากถังไม้เป็นจำนวนมาก เป็นวงกลมวางเรียงรายกันอยู่ตามแนวพระเจดีย์และบริเวณอื่น ๆ

“ภาพนี้ระบุว่าถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2489 ตรงกับ ค.ศ. 1946 เป็นภาพถ่ายทางอากาศที่เผยให้เห็นวัดปทุมคงคาและถังไม้ตั้งวางอยู่เต็มไปหมด ส่วนอาคารปูนมุงกระเบื้องใกล้กับหัวมุมถนน คือที่ตั้งของร้านซุ้ยล้ง ร้านถังไม้เก่าแก่ที่เราจะเดินไปด้วยกันเช้านี้ เฮียขอสำเนาภาพนี้มาจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นภาพถ่ายของ ปีเตอร์ วิลเลียมส์-ฮันท์ ” พี่สมชัยเอ่ย

Peter Williams-Hunt เป็นช่างภาพชาวอังกฤษที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเข้ายังประเทศไทย เพื่อบันทึกภาพถ่ายทางอากาศเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงใน พ.ศ. 2489 และเป็นภาพที่ช่วยเผยให้เห็นสภาพบ้านเมืองในอดีตได้อย่างชัดเจน และภาพที่เรากำลังดูอยู่นี้เป็น 1 ใน 1,671 ภาพ ที่เขาบันทึกไว้ทั้งหมด

“ภาพนี้บอกเฮียว่าถังไม้เป็นอุปกรณ์สำคัญของคนจีนในสำเพ็ง เห็นไหมว่ามีถังไม้ขนาดใหญ่ตั้งอยู่เยอะมาก ๆ” พี่สมชัยชี้

“ตั้งแต่เด็ก ๆ เฮียเคยได้ยินมาว่า ครอบครัวคนจีนมีถังไว้ใช้ในชีวิตประจำวันหลายใบ ได้แก่ ถังซักผ้า ถังล้างหน้า ถังเก็บข้าวสาร ถังเก็บน้ำ ถังเก็บของเสีย ไม่ว่าจะถ่ายหนักถ่ายเบา และยังมีถังประเภทต่าง ๆ ที่แต่ละครอบครัวต้องตระเตรียมไว้ ถังไม้เป็นของสำคัญคู่ครอบครัวชาวจีนมาตั้งแต่โบราณ”

เมื่อดูภาพเสร็จ เราเริ่มออกเดินไปยังร้านถังไม้ซุ้ยล้ง พร้อมคุยกันไปเรื่อย ๆ 

“ชีวิตเฮียก็เกี่ยวพันกับถังไม้มาตั้งแต่จำความได้ สมัยก่อนไม่มีหรอกถังพลาสติก อาจมีถังสังกะสีบ้าง แต่ใคร ๆ ก็ใช้ถังไม้กันทั้งนั้น ที่จำได้คือถังล้างจาน เป็นถังไม้ตื้น ๆ ปากกว้าง ถังไม้ไม่เป็นสนิม ใช้ได้นาน ถังไม้อีกประเภทที่คุ้นเคยคือถังไม้ใบใหญ่ ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเมตรครึ่งถึง 2 เมตร สำหรับหมักน้ำปลา ทำกันจริงจังมาก นอกจากใช้เองแล้วก็ทำไว้ขายด้วย น้ำปลาที่หมักในถังไม้จะมีกลิ่นหอมเป็นธรรมชาติ”

ร้านซุ้ยล้ง

เราเดินคุยกันมาเรื่อย ๆ ไม่นานก็มาถึงร้านซุ้ยล้งพอดี สิ่งแรกที่ผมสังเกตเห็นก็คือสภาพร้านปัจจุบันนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับภาพถ่าย พ.ศ. 2489 ที่ผมเพิ่งดูเมื่อสักครู่ เรียกว่าแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย

ร้านซุ่ยล้งตั้งอยู่บนเขตทับซ้อนของซอยวานิช 1 กับถนนทรงวาด บริเวณนี้เป็นบริเวณที่เหลือรอดจากอัคคีภัยครั้งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 และอัคคีภัยครั้งนั้นได้ส่งผลให้รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะตัดถนนทรงวาดขึ้น พร้อมกับขยายพื้นที่ทางเดินในซอยวานิช 1 ให้กว้างขวางกว่าแต่ก่อน ได้ทรงตราพระราชบัญญัติเพื่อกำหนดให้อาคารที่สร้างในเขตสำเพ็ง จะต้องเป็นอาคารปูนหลังคามุงกระเบื้องแทนอาคารไม้หลังคามุงจาก

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

“ภาพถ่ายทางอากาศที่เราเห็นเมื่อสักครู่ ช่วยยืนยันได้ว่าอาคารนี้เป็นอาคารปูนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2489 แต่เฮียสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารปูนมาก่อนหน้านั้น น่าจะตั้งแต่ พ.ศ. 2449 เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงตัดถนนทรงวาด แม้ว่าบริเวณนี้จะไม่โดนไฟไหม้ แต่เมื่อทรงตราพระราชบัญญัติให้สร้างอาคารปูนแทนอาคารไม้ เฮียคิดว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้มีอิทธิพลต่ออาคารในย่านนี้เป็นอย่างมาก ขอเรียกว่าได้ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมแบบพิมพ์นิยมก็แล้วกัน 

“เพราะเมื่อทรงตราพระราชบัญญัติขึ้น อาคารในสำเพ็งจำนวนหนึ่งก็เปลี่ยนรูปแบบเป็นอาคารปูนสองชั้น ลักษณะเป็นห้องแถวเรียงต่อ ๆ กัน นอกจากนั้นยังมีคันกันไฟเพื่อชะลอไม่ให้ไฟลามจากอาคารหนึ่งสู่อาคารหนึ่ง ดังนั้นรูปแบบอาคารจึงออกมาเป็นลักษณะเดียวกันหมดทั้งย่าน เฮียเลยเรียกว่าเป็นอาคารแบบพิมพ์นิยม แต่อย่างไรก็ตาม เฮียไม่ใช่สถาปนิก และที่เล่าสู่กันฟังในวันนี้ถือเป็นข้อสันนิษฐานของเฮีย นอกจากนี้อาคารปูนเหล่านี้ยังมีกลิ่นอายตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เผยแพร่เข้ามาในช่วงเดียวกัน สังเกตได้จากรูปทรงอาคารและลายฉลุที่ประดับอาคารอยู่พอให้ได้กลิ่นอาย”

พี่สมชัยบรรยายสิ่งที่กำลังคิด การศึกษาเรื่องราวในอดีตเริ่มได้โดยการตั้งสมมติฐานจากหลักฐานและความรู้เบื้องต้น สิ่งสำคัญคือการแบ่งปันข้อสันนิษฐานเหล่านี้ต่อผู้อื่น เมื่อใดที่มีการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ก็นำมาแบ่งปันกันได้ ในที่สุดทุกคนก็ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

จากภายนอก เราเดินเข้าไปในร้านซุ้ยล้ง พร้อมคุยกันต่อไปเรื่อย ๆ

“นอกจากสถาปัตยกรรมภายนอกแล้ว เฮียอยากชวนสังเกตการตกแต่งภายในด้วย ตรงมุมนี้ ถือว่าเป็นการตกแต่งภายในแบบพิมพ์นิยมสำหรับร้านค้าของคนจีนที่มาจากกวางตุ้ง เป็น Heritage ด้วยเช่นกัน” พี่สมชัยกล่าวพร้อมกับชวนผมให้ผมมองผ่านถังไม้หลายใบหลายขนาด ไปยังบริเวณที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในร้าน

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
ที่ประดิษฐานปึงเถ่า จัดตามธรรมเนียมกวางตุ้ง

“ดูด้านบนก่อนนะครับ นั่นคือที่ประดิษฐานปึงเถ่า ท่านเป็นเทพเจ้าคุ้มครองทั้งบ้านและผู้อยู่อาศัย ร้านนี้เป็นร้านคนกวางตุ้ง สังเกตได้จากโบว์แดงที่ทำจากผ้าดิบ หากเป็นคนแต้จิ๋ว จะใช้ผ้าอีกอย่าง คนแต้จิ๋วมักใช้ผ้าบาง ๆ ฟู ๆ แทน พอนึกออกใช่ไหมครับ ร้านซุ้ยล้งยังจัดแท่นบูชาปึงเถ่าตามแบบโบราณอย่างแท้จริง เพราะมีโลหะประดับอยู่ตรงกลางแบบนี้ แล้วการนำผ้ามาจับจีบรอบโลหะทรงกลม ซึ่งพบเห็นได้ในครอบครัวที่มาจากกวางตุ้งเป็นส่วนใหญ่”

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
แกซิ้งหรือป้ายบรรพชน เป็นแกซิ้งรุ่นใหม่ที่ปรากฏภาพถ่ายบนป้าย   

“ด้านซ้ายเป็นป้ายบรรจุคำมงคล เรียกว่าตุ้ยเลี้ยง เป็นเหมือนคำอวยพรให้ผู้อยู่อาศัยร่วมกันสืบทอดกิจการให้มั่นคงเจริญก้าวหน้าต่อไป ถัดลงมาคือป้ายบรรพชน เรียกว่าแกซิ้ง เป็นการแสดงกตัญญูต่อบรรพบุรุษ แกซิ้งที่เห็นอยู่นี้เป็นแกซิ้งที่มาในยุคหลัง ๆ เพราะปรากฏรูปภาพถ่ายของบรรพบุรุษรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่อยู่ด้วย ถ้าเป็นสมัยก่อนในเมืองจีนจะไม่มีภาพถ่ายเช่นนี้ แกซิ้งป้ายนี้บอกทั้งชื่อและสถานที่เกิดของท่านในเมืองจีน และยังมีคำอวยพรให้ลูกหลานด้วยเช่นกัน” ผมฟังพี่สมชัยบรรยายอย่างเพลิดเพลิน สิ่งที่สังเกตได้คือจะมีคำอวยพรคู่กับทุกป้ายศักดิ์สิทธิ์ เพื่อมอบขวัญและกำลังใจให้ลูกหลานรักษาธุรกิจของครอบครัวสืบต่อไป

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
ตี่จู้เอี๊ยะหรือเจ้าที่

“ส่วนด้านล่างคือตี่จู้เอี๊ยะ แปลง่าย ๆ คือเจ้าที่ เมื่อก่อนคนจีนโพ้นทะเลเดินทางมาตั้งรกรากในสยาม ส่วนมากจะมีความคิดว่าเราเป็นคนต่างถิ่น เข้ามายังพื้นที่ที่มีผู้อาศัยอยู่มาแต่เก่าก่อน จึงสมควรที่จะตั้งศาลเพื่อแสดงการเคารพบูชาเจ้าที่ดั้งเดิม เฮียว่าใคร ๆ ก็รู้จักตี่จู้เอี๊ยะดีเพราะเรามักเห็นกันอยู่เสมอ แต่วันนี้เราได้เห็นทั้งปึงเถ่า ตุ้ยเลี้ยง และแกซิ้งพร้อมกับตี่จู้เอี๊ยะด้วยเลย ร้านคนกวางตุ้งในสำเพ็งก็มักจะตกแต่งด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ไว้คู่กับร้านมาหลายรุ่น เพื่อเป็นมงคลต่อทั้งสมาชิกครอบครัวและธุรกิจ คนจีนเป็นคนมุมานะ ทำงานหนัก ต้องการพลังใจให้ฝ่าฟันไปข้างหน้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดนี้ช่วยเป็นกำลังใจได้เสมอ”

ผมว่านี่คือการให้คุณค่ากับสิ่งประดับตกแต่งร้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในร้าน ที่ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมความคิดความเชื่อของผู้คนในสำเพ็งได้เป็นอย่างดี

ว่าด้วยเรื่องถังไม้

ในที่สุดผมก็ได้พบกับ คุณชูศักดิ์ ไชยโชติช่วง ผู้สืบทอดธุรกิจถังไม้ต่อจากบรรพบุรุษ และเป็นคนสำคัญที่เราอยากชวนคุยในวันนี้

“สวัสดีครับ เข้ามา เข้ามา ร้านซุ้ยล้งเป็นร้านเก่า เฮียทำต่อมาจากรุ่นเตี่ย ทำมานานแค่ไหนเหรอ…หลายสิบปีแล้ว อย่านับเลย (หัวเราะ)” เฮียชูศักดิ์คุยอย่างสนุกสนาน

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

“ถังไม้เกิดขึ้นก่อนทุกอย่าง เฮียว่ามีอายุนับพัน ๆ แล้วปีนะ มันมากับพวกไห พวกโอ่ง ที่ทำจากดิน สมัยก่อนไม่มีถังพลาสติกนะ อาจมีกาละมังสังกะสีบ้าง แต่สนิมขึ้นแล้วก็บุบง่าย เมื่อก่อนคนสำเพ็งใช้ถังไม้กันทั้งนั้น”

ถังไม้มีความสำคัญในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่อดีต การขนส่งสินค้าต้องใช้เรือเป็นพาหนะหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรือสำเภาหรือเรือกลไฟ นอกจากจะใช้ถังไม้ลำเลียงน้ำจืดบรรจุไว้บนเรือก่อนออกเดินทางแล้ว คนแถวสำเพ็งและทรงวาดยังค้าขายข้าวและผลิตผลทางการเกษตรกันเป็นหลักมานับร้อย ๆ ปี พ่อค้านิยมใช้ถังไม้เป็นที่เก็บรักษาข้าวสาร ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ ให้อยู่ในสภาพดี พร้อมตักแบ่งขายทันทีที่ลูกค้าแวะมา

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
ถังตวงข้าวสารพร้อมที่ปาด

“อย่างถังนี้เป็นถังตวงข้าวสาร เมื่อก่อนเวลาใครมาซื้อข้าวสารที่สำเพ็ง ก็จะใช้ถังแบบนี้ตวงข้าวสารขึ้นมาจากถังไม้ใหญ่ ๆ แล้วก็เอาไม้ปาดให้ข้าวสารเสมอปากถัง ไม่ให้ข้าวล้นขึ้นมา เวลาคนมาสั่งว่า ‘ซื้อข้าวสารถังนึง’ คนขายก็จะตวงด้วยถังแบบนี้ บางถังมีตราครุฑประทับไว้ด้วย เพื่อรับรองว่าเป็นถังมาตรฐาน (หัวเราะ)”

นอกจากถังไม้จะมีความสำคัญในเชิงพาณิชย์แล้ว ก็ยังมีความสำคัญในวิถีชีวิตประจำวันของคนสำเพ็งด้วย

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
ถังล้างจาน ถังซักผ้า ไปจนถัง (อ่าง) อาบน้ำ

“ถังตื้น ๆ ที่ปากกว้างนี่ก็มักจะเป็นถังล้างจาน ถังซักผ้า สำหรับครอบครัวขนาดกลางก็ขนาดนี้ ถ้าครอบครัวใหญ่หน่อย ขนาดปากถังก็กว้างขึ้น”

ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือคนไทยสมัยก่อนมักปลูกบ้านริมน้ำหรืออาศัยอยู่ในแพ และมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับน้ำ ในขณะที่คนจีนสำเพ็งเป็นคนค้าขาย ปลูกบ้านร้านค้าอยู่บนบก คนไทยซักผ้าล้างชามกันได้ริมน้ำ ขณะที่คนจีนในสำเพ็งอยู่ลึกเข้ามา ต้องอาศัยถังไม้ไปหาบน้ำจากแหล่งน้ำกลับมาบ้าน จะซักผ้าล้างจานก็ต้องอาศัยถังไม้เช่นกัน ถังไม้จึงมีบทบาทต่อคนสำเพ็งมากทีเดียว

“ถังมีหลายขนาดและมีรูปทรงที่แตกต่างกัน เช่น ปากถังก็มีทั้งกว้างและแคบ อย่างเรื่องความจุ มีทั้งแบบตื้นและลึก หรือรูปทรง ก็มีทั้งทรงกลมและทรงรี มีทั้งกว้างเสมอกัน หรือกว้างด้านบนแต่แคบลงด้านล่าง หรือแคบด้านบนแล้วบานออกด้านล่าง การนำถังไม้ไปใช้มีหลายวัตถุประสงค์ ขึ้นอยู่ว่าจะนำไปใช้อย่างไร ถ้าสั่งถังไม้ไปใช้หมักใช้ดองของกิน เราจะไม่รัดถังด้วยโลหะ ต้องใช้หวายรัด ไม่อย่างนั้นอันตราย น้ำส้มมันกัดเหล็กได้” เฮียชูศักดิ์อธิบาย การทำถังไม้ก็มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาหลายอย่างทีเดียว

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
ถังไอศกรีม

“ถังทรงนี้เมื่อก่อนเป็นถังไอศกรีม เขาจะเอาถังโลหะอีกใบที่ใส่ส่วนผสมไอศกรีมแช่ลงในถังไม้ทรงนี้ ในถังไม้ก็อัดน้ำแข็งกับเกลือเม็ดจนเต็ม แล้วก็มีเครื่องปั่นไอศกรีมที่มีมอเตอร์เชื่อมกับใบพัด จากนั้นก็เอาใบพัดกับมอเตอร์มาประกบด้านบน พอเดินเครื่องให้มอเตอร์ทำงาน มอเตอร์ก็จะหมุนใบพัดเพื่อปั่นส่วนผสมไอศกรีมที่อยู่ในหม้อโลหะไปเรื่อย ๆ ความเย็นจากน้ำแข็งและเกลือในถังไม้จะค่อย ๆ ซึมผ่านถังโลหะไปยังส่วนผสมจนทำให้กลายเป็นไอศกรีม แต่เดี๋ยวนี้ถังไอศกรีมเป็นถังสเตนเลสหมดแล้ว ถังแบบนี้เลยกลายเป็นถังประดับแทน บางคนก็นำไปเป็นถังใส่ของ ใส่ต้นไม้ หรือไปใช้ตกแต่ง”

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
พิมพ์เต้าหู้

ร้านซุ้ยล้งไม่ได้ทำแต่ถังไม้ แต่ยังมีของเด็ดอื่น ๆ ที่ทำจากไม้ด้วย

“ที่เห็นเป็นไม้ทรงสี่เหลี่ยมนี้คือพิมพ์สำหรับผลิตเต้าหู้ เทส่วนผสมสำหรับทำเต้าหู้ลงไปในพิมพ์เหลี่ยมนี้ แล้วเอาไม้ปิดทับด้านบนเพื่อกดส่วนผสมที่ทำจากถั่วเหลืองและรีดเอาน้ำออก ด้านล่างก็มีแผ่นไม้อีกแผ่นรองไว้ ซึ่งมักทำเป็นลายตารางเส้น ๆ เมื่อรีดน้ำออกไปหมดแล้ว ส่วนผสมก็จะจับตัวกันเป็นก้อนเต้าหู้ แล้วเราจึงค่อยแคะเต้าหู้ออกจากพิมพ์ ถ้าพลิกด้านล่างเต้าหู้ดูก็จะเห็นลายตารางเส้น ๆ แบบเดียวกับลายบนแผ่นไม้ เมื่อก่อนคนสำเพ็งทำอาหารเอง ทำเต้าหู้เอง หมักน้ำปลา หมักซอสถั่วเหลืองเอง ดองผักเอง ใช้ถังไม้ทั้งนั้น”

ในวันนี้ที่วิถีชีวิตคนสำเพ็งเปลี่ยนไป ร้านซุ้ยล้งต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

“เรามีทั้งกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ กลุ่มเดิมคือคนที่ยังชินกับการใช้ถังไม้ทำอะไรต่าง ๆ เช่น ใช้ถังไม้เก็บข้าวสาร เพราะช่วยรักษาไม่ให้มอดขึ้น ดูดซับความชื้นได้ดี ข้าวสารไม่แตกหักเสียหาย หรือใช้ถังไม้ใส่ของหมักดอง เพราะปลอดภัยกว่าดองในถังพลาสติกหรือถังโลหะ ให้สี กลิ่น และรสดีกว่า หรือถังไม้ใส่เฉาก๊วยหรือกวยจั๊บ เคยเห็นใช่ไหม คนทำก็รู้สึกว่าถังไม้ทำให้ของกินพวกนี้รสดีกว่า คนทานก็รู้สึกปลอดภัยกว่า เวลาเห็นคนตักเฉาก๊วยจากถังไม้ มันดูขลังกว่าเยอะ (หัวเราะ) 

“เแต่ก็นับว่าคนใช้น้อยลงนะ เพราะมีอุปกรณ์อื่น ๆ มาทดแทน นอกจากลูกค้ากลุ่มเดิมแล้ว ก็มีลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ชอบนำถังไม้ไปใช้ประดับ อย่างนำไปปลูกต้นไม้ ไปประดับบ้านตามมุมต่าง ๆ หรือถังสำหรับใช้ในห้องอบไอน้ำ หรือเซาน่าในพวกสปา โรงแรม หรือรีสอร์ต ช่วงที่ภาพยนตร์เรื่อง Pirates of the Caribbean กำลังฮิต ถังไม้ขายดีเลย (หัวเราะ)”

เฮียชูศักดิ์ยังคงสืบสานธุรกิจของครอบครัวด้วยความมุ่งมั่นให้ถังไม้ยังเป็นสินค้าคู่สำเพ็งต่อไป ผมแอบเห็นภาพถังไม้ใส่ต้นไม้หลายชนิดประดับอยู่บนระเบียงบ้านขึ้นมาบ้างแล้ว วันหลังต้องมาอุดหนุนเฮียเสียหน่อย

“มาเลย ถังไม้ร้านเฮียส่วนมากทำจากไม้สัก คุณภาพดีเยี่ยม” เฮียชูศักดิ์ยืนยันเป็นการส่งท้ายก่อนเราร่ำลากัน

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

ว่าด้วยเหล็ก

จากร้านซุ้ยล้ง ผมเดินต่อไปตามซอยวานิช 2 ออกจากย่านสำพ็งสู่ตลาดน้อย บริเวณนี้คนส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่า ‘เซียงกง’ เป็นแหล่งรวมชิ้นส่วนเหล็กนานาชนิด อะไหล่รถ อะไหล่เครื่องจักรสารพัด เราเดินไปจนถึงบริเวณท่าเรือภาณุรังษี ซึ่งได้มีการจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ตลาดน้อย เดิมพื้นที่นี้เป็นของราชพัสดุ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงกลางคลัง พี่สมชัยชี้ให้ผมดูอาคารไม้โบราณขนาดใหญ่ที่หลงเหลือในบริเวณนั้น

แกะรอยประวัติสำเพ็ง-เยาวราช ผ่านร้านถังไม้ซุ่ยล้ง และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
อดีตโรงกลึงขนาดใหญ่ เคยเป็นโรงซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลเรือ

“ตลาดน้อยเคยเป็นแหล่งซ่อมเรือขนาดใหญ่มาก่อน อาคารไม้เหล่านี้เดิมเป็นโรงกลึงสำหรับทำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเรือ และยังเป็นโรงซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลเรือที่มีคุณภาพ ซ่อมเพลาเรือใหญ่ ๆ ได้เลย อันนี้คืออีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุมชน และถ้ามองดี ๆ เราจะเห็นจุดเชื่อมของการที่ช่างตีเหล็กจากจีนเข้ามาอยู่อาศัยและดำเนินธุรกิจในย่านนี้มาแต่โบราณ” พี่สมชัยเริ่มเล่า

“ช่างตีเหล็กในย่านนี้ส่วนมากเป็นชาวแคะที่อยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน สังเกตได้จากศาลเจ้าฮกเกี้ยนที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้มาแต่โบราณ แล้วถ้าเราไปเดินคุยกับช่างตีเหล็กที่นี่ ก็จะพบว่าบรรพบุรุษของหลายต่อหลายคนมาจากหย่งติ้ง ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยของคนแคะในมณฑลฮกเกี้ยน” 

เมื่อผมกลับไปสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับหย่งติ้ง ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า หย่งติ้งมีหมู่บ้านที่สร้างบ้านจากดิน ชื่อว่าหมู่บ้านดินถู่โหลว ลักษณะบ้านดินนั้นเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เพราะเป็นทรงวงแหวนขนาดใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมโบราณของชาวจีนแคะอายุกว่า 300 ปี ที่วันนี้รัฐบาลจีนอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
หมู่บ้านถู่โหลว หย่งติ้ง
ภาพ : commons.wikimedia.org/wiki/File:Earth_buildings-Tianluokeng.jpg

“คนไทยแต่เดิมมีทักษะการตีเหล็กเพื่อเป็นอาวุธ อย่างดาบสั้น ดาบยาว ง้าว หรืออุปกรณ์การเกษตรอย่างเคียวเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันในสังคมไทยมาเนิ่นนาน พอช่างตีเหล็กจากจีนเดินทางเข้ามา ก็นำทักษะการตีเหล็กสำหรับผลิตอุปกรณ์ใหม่ ๆ เข้ามาด้วย อุปกรณ์การครัวก็เช่น มีดอีโต้ มีดปังตอ หรือตะขอแขวนหมู เป็นต้น อาวุธก็เป็นหอกและทวน ซึ่งต่างจากไทย 

“เมื่อความเจริญทางการค้าพุ่งขึ้นถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 บริเวณนี้กลายเป็นท่าเรือสำคัญ ทำให้ต้องอาศัยฝีมือของช่างตีเหล็กในหลาย ๆ ด้าน อย่างการผลิตโซ่และสมอ การตีเหล็กเพื่อทำบานพับ กลอน หรือที่จับประตูและหน้าต่าง สำหรับสร้างและซ่อมห้องพักบนเรือกลไฟ การตีเหล็กเพื่อทำแนวระเบียงกั้นบนดาดฟ้าเรือ การตีเหล็กเพื่อผลิตตะปูและสลักที่ใช้ยึดชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเรือ เป็นต้น ซึ่งช่างตีเหล็กที่อพยพมาจากจีนคือแรงงานสำคัญในกระบวนการดังกล่าว เพราะมีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะมากกว่า”

แล้วความสามารถในการตีเหล็กของบรรพบุรุษจากฮกเกี้ยน ส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาเซียงกงให้กลายเป็นแหล่งชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์และเครื่องจักรนานาประเภทในปัจจุบัน

“การตีเหล็กทำให้เข้าใจเรื่องเหล็กเป็นอย่างดีว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ความเชี่ยวชาญในการตีเหล็กมักเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะส่วน อย่างใครตีมีดเก่ง ก็ทำแต่มีด ใครตีโซ่เก่ง ก็ทำเฉพาะโซ่ ใครทำบานพับหรือที่จับเก่ง ก็ทำแต่สิ่งนั้น นั่นคือความเข้าใจเรื่องชิ้นส่วนประเภทต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นวัสดุหรือเครื่องจักรอะไรบางอย่าง เขาจึงแยกอะไหล่ ถอดอะไหล่ แกะอะไหล่ออกมาเป็นชิ้น ๆ ได้ 

“ถ้าลองสังเกตดี ๆ ร้านขายอะไหล่ในตลาดน้อยเป็นร้านที่ขายอะไหล่เฉพาะส่วน แต่ละร้านก็จะมีชิ้นส่วนนั้นชิ้นส่วนนี้ไม่เหมือนกัน คนนี้เชี่ยวชาญเฟืองท้าย คนนี้เชี่ยวชาญแหนบ คนนี้เชี่ยวชาญเกียร์ ฯลฯ ไม่เหมือนกัน ซึ่งทักษะเช่นนี้มาจากการที่ย่านนี้เป็นที่รวมช่างตีเหล็กที่มีความชำนาญต่อวัสดุแต่ละชิ้น จนแยกแยะส่วนประกอบได้”

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

จากท่าเรือภาณุรังษี เราเดินคุยกันไปเรื่อย ๆ ไล่ไปตามซอยวานิช 2 ผ่านกองชิ้นส่วนอะไหล่สารพัดชนิด เพื่อตามหาช่างตีเหล็กที่กล่าวกันว่าเป็นช่างคนสุดท้ายของตลาดน้อย

ร้านตีเหล็กเฮียเกรียงศักดิ์

“สวัสดีครับ เฮียชื่อ เกรียงศักดิ์ เกิดผลเจริญยิ่ง เป็นช่างตีเหล็กมานานกว่า 50 ปีแล้ว สืบทอดต่อจากพ่อ” เป็นความโชคดีของพี่สมชัยและผมมากที่พบเฮียเกรียงศักดิ์อยู่ในร้านพอดี ร้านของเฮียอยู่ในซอยย่อยที่ต้องอาศัยการเดินเท้าเข้าไปหาเท่านั้น

ผมรีบแนะนำตัวเองทันทีและขออนุญาตคุยกับเฮียไปเรื่อย ๆ ระหว่างที่เฮียกำลังทำงานในบ่ายวันนั้น และเฮียเกรียงศักดิ์ก็ใจดีมาก ๆ ที่กรุณาอนุญาตตามคำขอ

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

“เมื่อก่อนไม่มีใครเป็นลูกมือให้พ่อ เฮียก็ไม่ใช่เด็กเรียนหนังสือเก่ง เลยมาเป็นลูกมือพ่อเอาดีทางตีเหล็ก และเริ่มทำตั้งแต่อายุ 18 เฮียว่าตีเหล็กไม่ยากนะ แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความอดทนสูง แน่นอนว่าต้องทนร้อน ทนพวกเขม่าและควันเวลาจุดเตาหลอม ทนความเมื่อย ค้อนหนักราว ๆ 2 กิโล เราต้องออกแรงตีทั้งวัน ทนต่อเสียงดังเวลาค้อนกระทบบนโลหะ โป๊ก ๆๆ” เฮียเกรียงศักดิ์บรรยายได้อรรถรสครบทั้งภาพ เสียง และความรู้สึก

ตึกแถวอันเป็นที่ตั้งของร้านตีเหล็กนั้นไม่ใช่ตึกโบราณอย่างร้านซุ้ยล้งที่เราไปแวะมาเมื่อสักครู่ แต่ก็เป็นตึกที่เฮียอาศัยประกอบอาชีพช่างตีเหล็กมานานหลายสิบปี สิ่งที่เฮียบอกว่าเป็น Heritage แน่ ๆ ก็คือการจัดสภาพร้านและอุปกรณ์ตีเหล็กทั้งหมด

“ร้านตีเหล็กในย่านนี้ก็สร้างเหมือนร้านเฮียทั้งหมดนั่นแหละ แบบนี้เลย เข้ามามีเตาหลอมวางมุมหนึ่ง ใกล้ ๆ ถุงถ่าน มีทั่งวางตรงกลาง เพราะต้องการพื้นที่ตีหรือดัดเหล็ก แล้วร้านก็จะมีสีออกเทา ๆ เพราะมีควันและเขม่าจับ ตั้งแต่เด็ก ๆ เฮียก็เห็นเตี่ยทำงานในสภาพแบบนี้ ร้านตีเหล็กในย่านนี้ก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว” เฮียเกรียงศักดิ์เล่า ภาพร้านเล็ก ๆ ของเฮียเพียงร้านเดียวช่วยให้ผมพอจินตนาการสภาพของตลาดน้อยสมัยที่เคยอุดมไปด้วยร้านตีเหล็กแบบนี้ได้

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

ต่อจากนั้นไม่นานเฮียเกรียงศักดิ์ก็เริ่มจุดเตาหลอม ซึ่งเป็นของเก่าคู่ร้านมากว่า 30 ปี โดยเริ่มจากการตักถ่านมาใส่ในเตาก่อนจุดไฟ

“ถ่านต้องเป็นถ่านไม้ไผ่ด้วยนะ ถ่านไม้ไผ่ร้อนเร็วและให้ความร้อนสูง เป็นถ่านที่เผาดี ไม่กัดเหล็ก”

วลีที่ว่า “เผาดี ไม่กัดเหล็ก” นั้น เป็นภาษาช่างตีเหล็กที่ใช้อธิบายคุณสมบัติของถ่านไม้ไผ่ เพราะถ่านไม้ไผ่จะให้ความร้อนคงที่สม่ำเสมอ นั่นคือการรักษาอุณหภูมิที่ต้องการไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้นจนเกินความต้องการ ถ้าหากอุณหภูมิไม่คงที่ ปล่อยความร้อนออกมามากเกินไป ก็อาจหลอมละลายโลหะประเภทนั้น ๆ ไปได้ นอกจากนั้นยังไม่มีเขม่าขี้เถ้าจากถ่านมาติดกับเนื้อเหล็กจนทำให้ชิ้นงานไม่สวย

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

“อุณหภูมิเตาหลอมจะมากหรือน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ากำลังตีโลหะอะไร อย่างหัวแร้งบัดกรี ทำจากทองแดง ก็จะร้อนไม่มากเท่าเหล็ก ไม่งั้นละลายหมด ถ้าตีเหล็ก ก็ต้องอุณหภูมิสูงกว่า เฮียไม่มีปรอทวัดอุณหภูมิหรอกนะ เฮียกะเอา ร่างกายเรานี่แหละบอกอุณหภูมิได้ดีที่สุด” 

เสียงมอเตอร์พัดลมข้างเตาหลอมดังขึ้นเบา ๆ พัดลมถือเป็นอุปกรณ์สมัยใหม่ที่นำมาใช้เพื่อให้ถ่านติดไฟง่ายและเร่งความร้อนได้เร็วขึ้น แทนที่กระบอกลมที่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อน

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

เมื่อร้อนได้ที่ เฮียเกรียงศักดิ์ก็นำแท่งเหล็กจำนวนหนึ่งมาวางไว้บนเตาหลอม รอจนเนื้อเหล็กหลอมกลายเป็นสีแดง ก่อนนำคีมคีบออกมาตีบนทั่งที่ตั้งอยู่ข้างเตา

“อุปกรณ์สำคัญคือทั่ง มันคือแท่งเหล็กกล้าสำหรับรองรับการตีเหล็ก อันนี้เป็นเหล็กจากเยอรมนี เมื่อก่อนร้านตีเหล็กแถวนี้ใช้ทั่งจากเยอรมนีบ้าง จากอังกฤษบ้าง เป็นอุปกรณ์สำคัญ ต้องเลือกให้ดีทั้งความแข็งแรงและขนาด ทั่งนี้เป็นของเตี่ย พอเฮียรับช่วงมา เฮียก็ซื้อต่อจากเตี่ยอีกที” เฮียเกรียงศักดิ์เล่าไปพร้อมกับสาธิตวิธีการตีเหล็กไป วันนี้เฮียกำลังตีคีมเหล็กคีบเบ้าหลอมสำหรับหล่อพระพุทธรูป ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่มีลูกค้ารอคิวอยู่มากมาย

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

“เฮียทำพวกอุปกรณ์หล่อพระพุทธรูป อย่างเหล็กคีบเบ้าหลอม ช้อนสำหรับเททอง แล้วก็เหล็กอุ้มหม้อหลอม นอกจากนั้นก็มีคอแร้งบัดกรี แค่นี้ก็ทำไม่ทันแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้เฮียทำคนเดียวเลย ไม่มีคนงานช่วย เมื่อก่อนมีลูกมืออยู่คน แต่หายไปเฉย ๆ ความจริงการตีเหล็กควรทำ 2 คนนะ จะได้ช่วยกัน จะง่ายขึ้นเยอะ พอเหลือคนเดียว เฮียก็ต้องดัดแปลงวิธีหน่อย แต่คุณภาพไม่เปลี่ยนนะ ทุกอย่างคงทนเหมือนเดิม ก็อาจจะผลิตงานได้ช้าลงบ้างเท่านั้น” 

เสียงค้อนตีเหล็กดังขึ้นเป็นระยะ เฮียเกรียงศักดิ์หยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่วพร้อมพูดคุยกับเราไปเรื่อย ๆ ความร้อนจากเหล็กและเตาหลอมส่งผ่านมายังตัวผมจนรู้สึกได้ คนที่ทำงานแบบนี้ต้องมีความรักในงานอย่างแท้จริง

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง
อุปกรณ์เททองหล่อพระพุทธรูป

ไม่นานเฮียเกรียงศักด์ก็ตีเหล็กได้จำนวนหนึ่ง เฮียพักเติมถ่านไม้ไผ่ลงไปในเตา เปิดพัดลมเร่งไฟอีกครั้ง ระหว่างนี้ก็หันมาชวนผมให้ดูอุปกรณ์อื่น ๆ ที่อยู่ในร้าน

“อันนี้เรียกปากกาจับเหล็ก มันจะช่วยดัดเหล็กไปตามที่เราต้องการ อันนี้ก็อยู่มานานหลายสิบปีแล้วเหมือนกัน เฮียว่าพอ ๆ กันกับทั่ง นอกจากนั้นก็มีชะแลง สำหรับใช้ในเจาะ ตอก แซะ และงัด อุปกรณ์ก็ประมาณนี้ เมื่อก่อนได้ยินเสียงตีเหล็กดังไปทั่ว ตอนนี้มีไม่มีแล้ว” พูดจบเฮียเกรียงศักดิ์ก็หันไปหยิบแท่งเหล็กจำนวนหนึ่งวางบนเตาหลอมเพื่อจะตีอีกครั้ง

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

“ข้างบ้านก็เคยตีเหล็ก แต่ตอนนี้เลิกไปแล้ว ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ร้านตีเหล็กรอบ ๆ เซียงกงเริ่มทยอยปิดตัวลง เขาไปทำอย่างอื่นกันหมดเลย เฮียคิดว่าเฮียเป็นช่างตีเหล็กที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียว ลูกชายเฮียเขาเรียนจบมหาวิทยาลัย ทำงานออฟฟิศ เฮียให้เขาเลือกว่าจะทำอะไร อนาคตเป็นของเขา เขาต้องเลือกเอง” 

คำกล่าวของเฮียทำให้ผมนึกถึงผู้สืบทอดธุรกิจต่าง ๆ ในย่านนี้ ไม่ว่าเชือก ถังไม้ หรือเหล็ก ทุกคนเป็นคนใจกว้างที่เปิดโอกาสให้ลูกหลานเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองตามความสมัครใจทั้งสิ้น

  แล้วบรรพบุรุษเฮียมาจากหย่งติ้งด้วยรึเปล่าครับ – ผมนึกถึงข้อมูลที่เพิ่งได้รับมาเมื่อสักครู่ แล้วลองถามเฮียเกรียงศักดิ์เป็นคำถามสุดท้าย

“ใช่ ๆ มาจากหย่งติ้งในฮกเกี้ยน แถวนี้มาจากหย่งติ้งกันหลายคน” 

พี่สมชัยและผมกล่าวขอบคุณเฮียเกรียงศักดิ์หลังจากใช้เวลาอยู่นานจนรู้สึกเกรงใจ แต่ก่อนจะพ้นประตูไป พี่สมชัยชี้ให้ผมสังเกตผนังด้านขวาของร้าน ซึ่งประดิษฐานรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่บนนั้น

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

“รูปศักดิ์สิทธิ์นี้ท่านเป็นเทพประจำร้านตีเหล็กในย่านตลาดน้อย เป็นที่เคารพมากของผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนี้ และยังเป็นที่เคารพจนทุกวันนี้” พี่สมชัยให้ข้อมูล

“ลี้ทิก๊วยหรือหลีทิก๊วย ท่านเป็นหนึ่งในเทพ 8 เซียน คนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับเรื่องเหล็กจะบูชาท่านเป็นเทพสำคัญ เพราะว่านามของท่าน มีคำว่าเหล็กอยู่ด้วย นั่นคือคำว่า ทิ” 

ก่อนกลับออกจาตลาดน้อย พี่สมชัยพาผมเดินไปสักการะศาลของท่านหลีทิก๊วย ซึ่งปรากฏอยู่หลายแห่งในตลาดน้อย ผมจึงไปจดประวัติของท่านและนำมาบันทึกไว้ในบทความนี้ เพื่อให้เราทราบประวัติของท่านกันสักหน่อย 

หลีทิก๊วยมีนามเดิมว่าหลีเหียน เป็นชายหนุ่มรูปงาม กำพร้าบิดามารดา แต่จิตใจใฝ่ดี สนใจท่องพระคัมภีร์และมีน้ำใจฝักใฝ่ธรรมะ ไม่เสพเนื้อสัตว์ เป็นคนรักสันโดษ ต่อมาท่านได้เดินทางไปเขาฮั่วซัวเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ของหลีเล่ากุล ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ พร้อมกับบำเพ็ญภาวนาจนสำเร็จ มีผู้นับถือและสมัครตัวเป็นศิษย์มากมาย จนมีศิษย์ก้นกุฏิผู้หนึ่งนามว่าเอี้ยวจื้อ

วันหนึ่งหลีเหียนได้ถอดวิญญาณออกจากร่าง เพื่อเดินทางไปพบอาจารย์หลีเล่ากุล ท่านฝากให้เอี้ยวจื้อดูแลร่างของท่านไว้ให้ดี พอวันที่ 6 มารดาของเอี้ยวจื้อก็เจ็บหนัก เอี้ยวจื้อรออาจารย์ของตนไม่เห็นกลับมาเข้าร่างสักทีก็คิดว่าตายไปแล้ว จึงเผาร่างอาจารย์แล้วรีบเดินทางไปหามารดาของตน แต่มารดาได้สิ้นชีวิตไปเสียก่อนแล้ว ฝ่ายหลีเหียนนั้น เมื่อถอดวิญญาณไปพบอาจารย์แล้วก็ได้ไปศึกษาวิชาเซียนจาก 36 สำนักจนสำเร็จ พอเดินทางกลับมาก็ไม่พบร่างตน พบแต่กองขี้เถ้า 

วิญญาณหลีเหียนจึงเที่ยวล่องลอยหาร่างใหม่อาศัย เมื่อไปพบศพขอทานขาพิการมีไม้เท้าและถุงข้าวสารอยู่ข้าง ๆ จึงได้เข้าไปอาศัยอยู่ร่างนั้น และได้เสกไม้เท้าให้เป็นไม้เท้าเหล็ก และถุงข้าวสารให้เป็นน้ำเต้า ส่วนข้าวสารนั้นก็กลายเป็นยารักษาโรค และได้เรียกตนเองว่าหลีทิก๊วยมาตั้งแต่วันนั้น จากนั้นก็รีบไปชุบชีวิตให้มารดาของเอี้ยวจื้อผู้เป็นศิษย์เอก ก่อนกลับไปอยู่ที่สำนักของอาจารย์หลีเล่ากุลต่อไป 

ตามหลังชาวสำเพ็งไปสืบประวัติไชน่าทาวน์ ผ่าน ‘ซุ้ยล้ง’ ร้านถังไม้เก่าแก่ และช่างตีเหล็กคนสุดท้ายในเซียงกง

“ร้านเหล็ก ร้านชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องยนต์เครื่องจักรในเซียงกง มักจะมีชื่อร้านนำด้วยคำว่าลี้หรือหลี แล้วช่างเหล็กแถวนี้จะแซ่ลี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะเทพลี้ทิก๊วยก็แช่ลี้เหมือนกัน ท่านเป็นเหมือนเทพของคนตระกูลลี้พร้อมกับเทพของผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับเหล็กด้วย” พี่สมชัยเล่าขณะที่เราเดินกลับออกมาจากย่าน ผมเดินไล่อ่านป้ายร้านชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ และผมก็เห็นป้ายชื่อร้านที่มีคำว่าลี้อยู่หลายร้านจริง ๆ ด้วย 

ผมอำลาพี่สมชัยในเย็นวันนั้นเมื่อการเยี่ยมร้านถังไม้ซุ้ยล้งและร้านตีเหล็กของเฮียเกรียงศักดิ์สิ้นสุดลง

“ขอบพระคุณพี่สมชัยมากครับ เรื่องของเชือก ถังไม้ และเหล็ก ช่วยให้ผมรู้จักสำเพ็ง ทรงวาด และตลาดน้อยมากขึ้น การได้เดินไป ดูไป และคุยไปเรื่อย ๆ แบบนี้ทำให้ผมได้เห็น ได้สัมผัสไปพร้อมกันด้วย” ผมกล่าวกับพี่สมชัยก่อนร่ำลา

ความคิดแวบหนึ่งเกิดขึ้นในสมอง ณ ตอนนั้น แล้วเลยทำให้ผมเอ่ยปากถามพี่สมชัยไป

“ถ้า The Cloud จะจัด Walk เพื่อชวนผู้อ่านมาลองเดินสำรวจและทำความรู้จักสำเพ็ง ทรงวาด ตลาดน้อย ผ่านสรรพสิ่งเล็ก ๆ แบบนี้บ้าง พี่สมชัยพร้อมไหมครับ” 

พี่สมชัยยิ้มกว้างอย่างอารมณ์ดี ก่อนเดินจากไป ถ้าอย่างนั้นผมถือว่าพี่พร้อมนะครับ

ขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์

  • คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดก้วงเฮงเส็ง และบริษัท ก้องเกษม (1959) จำกัด
  • คุณชูศักดิ์ ไชยโชติช่วง ผู้จัดการร้านซุ้ยล้ง (ถังไม้)
  • คุณเกรียงศักดิ์ เกิดผลเจริญยิ่ง เจ้าของและช่างตีเหล็กแห่งโรงตีเหล็กเฮียเกรียงศักดิ์

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน