18 กุมภาพันธ์ 2022
5 K

เยา-เยาวดี ชูคง นั่งยิ้มแป้น เป็นรอยยิ้มที่ต่อให้แม้ไม่อาจสังเกตเห็นริมฝีปาก ก็อ่านได้จากประกายความปรีดาที่ฉายผ่านแววตานั้น เมื่อศิลปินวงโปรดของเธอเกริ่นว่า เพลงต่อไปที่ทุกคนกำลังจะได้รับฟัง พวกเขาเตรียมมามอบแด่เธอ ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการร้อยเรียงมันขึ้นมา

‘เราคือเรา’ (Be Yourself) บทเพลงไฮไลต์ในค่ำคืนของงาน Music from Yao’s Kitchen แต่งและขับร้องโดยศิลปินวงนั่งเล่น พูดถึงการเป็นตัวเองท่ามกลางสังคมที่แตกต่างหลากหลาย ไม่มีใครดีหรือด้อยกว่า เพราะทุกคนล้วนสวยงามและมีคุณค่า เพียงเชื่อมั่นและทำตามวิถีทางของตัวให้ดีที่สุด

เยาวดี ชูคง กับร้าน Maadae Slow Fish Kitchen อาหารใต้จากประมงพื้นบ้าน เน้นรสชาติวัตถุดิบ

สำหรับคนที่สนใจอาหารแนว Slow Food ย่อมทราบดีว่า เยาเป็นตัวจริงของคนที่มุ่งมั่นเพื่อสร้างสรรค์และจุดประกายความเข้าใจของผู้คนต่อการบริโภคอาหารอย่างรู้ที่มา ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของแนวคิดดังกล่าว โดยเธอเริ่มก้าวแรกจากการปลุกปั้น Bird Nest Café ร้านอาหารเล็ก ๆ ที่สนับสนุนผลผลิตอินทรีย์จากเกษตรกรท้องถิ่น และเข้าร่วมเครือข่าย Slow Food Thailand ตั้งแต่ร้านอาหารออร์แกนิกในจังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นร้านลับ ก่อนขยับทำร้านเพิ่มด้วยแนวทางเดียวกัน Olé Gourmet Mexican, ยักษ์กะโจน และล่าสุด Maadae Slow Fish Kitchen ร้านอาหารไทย-ปักษ์ใต้ของเธอ ก็ต่อยอดคอนเซ็ปต์สู่ Slow Fish รังสรรค์สารพัดเมนูจากวัตถุดิบส่งตรงจากเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดชุมพร เพื่อส่งเสริมอาหารที่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

นอกจากบทบาทเชฟเจ้าของร้านอาหาร เยายังเป็นนักสื่อสารอาหาร นักกิจกรรมด้านอาหาร และโต้โผของเครือข่าย Slow Food Community Food for Change Chiangmai ที่ขับเคลื่อนแนวคิดนี้ในเมืองเชียงใหม่ รวมถึงอยู่เบื้องหลังการก่อร่างสร้างเครือข่าย Slow Food Community Chumphon จังหวัดชุมพร

12 ปีล่วงผ่าน เธอยังคงยืนหยัดบนเส้นทางกับเป้าหมายสร้างระบบอาหารที่ดีอย่างชัดเจนไม่เปลี่ยน แต่กว่าที่เยาจะเป็นเยาเช่นทุกวันนี้ ใครจะคิดว่าครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นเด็กที่เกลียดการทำอาหาร

เยาวดี ชูคง กับร้าน Maadae Slow Fish Kitchen อาหารใต้จากประมงพื้นบ้าน เน้นรสชาติวัตถุดิบ
เยาวดี ชูคง กับร้าน Maadae Slow Fish Kitchen อาหารใต้จากประมงพื้นบ้าน เน้นรสชาติวัตถุดิบ

เรียนจากติ

“ตอนเด็ก ๆ ถ้าถามว่าชอบทำกับข้าวไหม… ไม่ชอบเลย” เยาตอบชัดคำ แต่กระนั้นเธอว่าก็ไม่ถึงขั้นชัง และนับเป็นเฉพาะกรณี โดยกรณีหลักคือการต้องทำกับข้าวที่บ้าน

“เวลาทำกับข้าวที่บ้านมันไม่สนุกและจะรู้สึกกดดันมาก เพราะแม่เราเป็นคนพิถีพิถันเรื่องการกิน แล้วยิ่งวัตถุดิบต้องจัดแจงเองทุกอย่าง ตั้งแต่สอยมะพร้าวมาขูด คั้นกะทิ ตำพริกแกง หรือทำปลา เหนื่อยและยุ่งยากมาก”

ส่วนกรณียกเว้นซึ่งทำให้เธอรู้สึกตรงกันข้าม คือการได้ไปช่วยทำอาหารครัวงานวัด

หญิงสาวชาวพัทลุงโดยกำเนิดย้อนความให้ฟังว่า เธอเติบโตมาในครอบครัวชาวนาชาวไร่และมีแม่เป็นแม่ครัวใหญ่ของวัด ฉะนั้นเมื่อมีงานบุญ งานบวช งานขาวดำ เธอจึงมักติดสอยห้อยตามแม่ไปทำงานเสมอ กลิ่นหอมของเครื่องแกงใต้คลุ้งตลบอบอวล ชายหญิงจับกลุ่มปอกหั่นวัตถุดิบพลางพูดคุยสัพยอกในวาระที่นานครั้งจะได้ออกมาเจอกัน เป็นบรรยากาศแห่งความมีชีวิตชีวาและเปลี่ยนให้กิจกรรมอันน่าระอา กลายเป็นความสนุกสนานที่เธออยากมีส่วนร่วม

เยาเริ่มจับตะหลิว ก่อไฟ ใช้กระทะเจียวไข่คล่อง ตอนอยู่ชั้นประถมต้นที่ต้องทำข้าวกล่องไปทานเป็นมื้อเที่ยง กระทั่งพี่สาวคนโตซึ่งดูแลเรื่องอาหารการกินในบ้านออกเรือน เธอจึงได้คลุกคลีกับงานครัวมากขึ้น

เยาวดี ชูคง กับร้าน Maadae Slow Fish Kitchen อาหารใต้จากประมงพื้นบ้าน เน้นรสชาติวัตถุดิบ

“ส่วนมากแม่จะไม่ทำกับข้าวที่บ้าน เพราะต้องไปทำนาหาเงินส่งเสียลูก ๆ 4 คน พอพี่สาวออกเรือน งานหุงหาอาหารของครอบครัวก็ถูกส่งต่อมาที่เรา หลังกลับจากโรงเรียนก็ต้องเข้าครัวเตรียมมื้อเย็น หรือถ้าเป็นวันหยุดก็เกือบครบ 3 มื้อ จนวันอาทิตย์เราต้องหาเรื่องไปเรียนพุทธศาสนา เพื่อจะได้ออกจากบ้านบ้างและไม่ต้องทำกับข้าว” เยาหัวเราะร่วนกับการคิดค้นทางหนีที่ไล่ “ตอนนั้นคือไม่ชอบสุด ๆ ยิ่งทำกับข้าวแม่ให้กินนี่ยิ่งหนัก เพราะแม่เอาแต่ติ”

ทว่าสิ่งนี้เองเป็นเสมือนวิชาอาหาร 101 ที่เด็กหญิงค่อย ๆ ซึมซับ

“ไม่มีการสอนเกิดขึ้นในบ้าน เพราะไม่มีใครมีสูตรแล้วก็ไม่มีใครสอน แต่จะใช้วิธีการสังเกต เป็นลูกมือ และลงมือทำ เสร็จสรรพถ้าชิมแล้วเข้าท่าเขาจะบอกแค่ว่าอร่อย แต่ถ้าไม่ก็ติ แกงเหม็นขมิ้นบ้าง อ่อนกะปิบ้าง ซึ่งส่วนมากผลจะออกอย่างหลังมากกว่า”

การเรียนรู้ของเยาจึงมาจากการนำคำติติงไปปรับพัฒนา แม้ช่วงเวลาอาหารวัยเด็กจะค่อนไปทางขม แต่พอโตขึ้นเยากลับรู้สึกดีใจที่ตนได้ผ่านจุดนั้น เพราะมันทำให้เธอรู้จักและเข้าใจว่า รสชาติแท้จริงของอาหารเป็นอย่างไร

เยาวดี ชูคง กับร้าน Maadae Slow Fish Kitchen อาหารใต้จากประมงพื้นบ้าน เน้นรสชาติวัตถุดิบ

ติดรส ติดลิ้น

ยำส้มโอปลาทอด ห่อหมกปลาย่างเตาถ่าน แกงคั่วปลาโอย่างใส่ใบชะพลู และอีกสองสามเมนูผัด ทยอยเสิร์ฟลงบนโต๊ะ ผมเริ่มจากตักชิมยำส้มโอรสกลมกล่อม ก่อนพ่ายแพ้ต่อกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของใบตองย่าง ส่วนแกงคั่วนั้นหนักแน่น นุ่มนวล โดยรวมคือดีงาม เยาบอกว่าอาหารทุกจานตรงหน้าไม่เน้นปรุงแต่งรสมาก อาศัยเกลือ กะปิ และน้ำปลา เป็นเครื่องปรุงหลักตามฉบับพื้นบ้าน

“ที่นี่ใช้ผักตามฤดูกาล ส่วนปลาส่งตรงมาจากประมงเรือเล็ก ในเมื่อเรามีวัตถุดิบสมบูรณ์ สดใหม่ การใช้เครื่องปรุงเยอะจะส่งผลให้วัตถุดิบที่อยากชูเสียรสชาติ” เยาอธิบาย “ตรงกันข้ามหากวัตถุดิบไม่ดีหรือเป็นผักนอกฤดู เข้าใจได้ว่ามันไม่อร่อย เลยต้องถล่มใส่ซอสปรุงรสเพิ่มเข้าไป”

การปรุงอาหารแบบใช้เครื่องปรุงน้อยนิด ไม่เพียงเชื่อมโยงให้เห็นถึงความใส่ใจในการเลือกสรรวัตถุดิบ ทว่าเบื้องหลังของความพิถีพิถันนี้ยังมาจากความเคยชินกับการกินดีที่ติดรสจนติดลิ้นมาตั้งแต่เด็ก

“ปกติบ้านเราทำอาหารไม่ใส่ผงชูรส ประกอบกับตอนย้ายไปพักอยู่บ้านอา รู้จักร้านอาหารอร่อย ๆ แล้วชอบซื้อกลับมาให้กิน ซึ่งของอร่อยสมัยนั้นมักทำด้วยกรรมวิธีโบราณ เครื่องปรุงหลักจะมีแค่กะปิ น้ำปลา และเกลือ ไม่มีหรอกจำพวกน้ำมันหอย ผงชูรส ผงปรุงรส พอได้กินอาหารแบบนี้จนชิน โตขึ้นเราเลยกินอาหารของคนอื่นไม่ค่อยได้” คำว่า กินไม่ค่อยได้ ในความหมายของเยานั้นค่อนข้างเอาการ ถึงขั้นเมื่อต้องย้ายเข้ามาเรียนรามฯ เธอยอมลงทุนหาเช่าบ้านเพื่อแลกกับการได้ทำกับข้าวกินเอง และสิ่งนี้ก็สะท้อนว่าิการกินดีเป็นเรื่องที่เธอเห็นความสำคัญมาแต่ไหนแต่ไร

เยาวดี ชูคง กับร้าน Maadae Slow Fish Kitchen อาหารใต้จากประมงพื้นบ้าน เน้นรสชาติวัตถุดิบ
เยาวดี ชูคง กับร้าน Maadae Slow Fish Kitchen อาหารใต้จากประมงพื้นบ้าน เน้นรสชาติวัตถุดิบ

เรียนรู้สิ่งใหม่

2 ปีหลังลาจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาเปิดเกสต์เฮาส์ที่เชียงใหม่ อยู่มาวันหนึ่งเยาบังเอิญได้ฟังเรื่องราวของสวนพันพรรณและชายชื่อ โจน จันได จากลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้เธอต้องหาโอกาสตามไปเยี่ยมเยียน โดยไม่นึกฝันมาก่อนว่านั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต

“พอได้พูดคุยกับพี่โจนถึงเรื่องเป้าหมายของการก่อตั้งสวนพันพรรณ การทำสวนเกษตรอินทรีย์ และงานเก็บเมล็ดพันธุ์ เราก็มีความรู้สึกว่าอยากทำงานที่ชอบ แล้วช่วยเหลือสังคมไปด้วยแบบนี้บ้าง”

ไม่นานเธอก็ตัดสินใจปิดกิจการ พลันย้ายไปสวมบทแม่ครัวประจำสวนพันพรรณ ควบคู่เปิดโรงเรียนสอนทำอาหารใกล้ ๆ

“ตอนอยู่พันพรรณเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา เพราะหน้าที่ของเราคือการทำอาหารให้ชาวต่างชาติที่มาเข้าคอร์ส บางคนอยู่หลายเดือนจะให้เขากินข้าวทุกวันก็กลัวเบื่อ เลยต้องหัดทำขนมปังบ้าง แพนเค้กบ้าง และบางเมนูเกิดจากคนในคอร์สสอนเราทำ จะว่าไปทักษะการทำอาหารฝรั่งของเราเริ่มจากตรงนี้เลย” เยาเสริมว่า เหนืออื่นใดคือได้ซึมซับแนวคิดการกินอย่างรู้ที่มา การให้เกียรติเกษตรกร รวมถึงแนวทางส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต่อมาเธอได้ถ่ายทอดประสบการณ์และแรงบันดาลใจเหล่านี้ลงใน ‘The Yao of Cooking’ หนังสือ Cook Book คู่ควรติดชั้นของคนรักอาหาร

เยาวดี ชูคง กับร้าน Maadae Slow Fish Kitchen อาหารใต้จากประมงพื้นบ้าน เน้นรสชาติวัตถุดิบ
เส้นทางชีวิตการใช้อาหารขับเคลื่อนความยั่งยืนของ เยาวดี ชูคง

ใส่ใจในที่มา

ร้านอาหาร Bird Nest Café เกิดขึ้นมาในจังหวะที่เยารู้สึกอิ่มตัวจากการอยู่พันพรรณนานถึง 15 ปี กอปรกับเชื่อว่า การจะเป็นพันพรรณสามารถเป็นได้ทุกที่ ทุกเมนูในร้านจึงสร้างสรรค์จากผลผลิตของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ พร้อมสนับสนุนพืชผักปลอดสารเคมีของสวนพันพรรณ

“พอทำไปได้สักระยะทางกินเปลี่ยนโลกก็มาชวนให้เราเข้าร่วมเครือข่าย Slow Food Thailand ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Slow Food คืออะไร แต่เขายืนยันว่าในเชียงใหม่ร้านเรานี่แหละเข้าข่าย Slow Food สุดแล้ว” เยาตอบรับคำเชิญชวน ก่อนมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานยังถิ่นกำเนิดแนวคิดที่ประเทศอิตาลี ซึ่งช่วยเปิดมุมมองความคิดและก้าวเป็นส่วนหนึ่งกับขบวนการเคลื่อนไหวด้านอาหารที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก

“Slow Food ไม่ได้หมายถึงการทำอาหารช้า ๆ นะ แต่คอนเซ็ปต์ของมันคือการใส่ใจในที่มาอาหาร รู้และเลือกสรรที่มาของวัตถุดิบ เป็นการทำอาหารแบบประณีตแล้วก็รู้ว่ามันมาจากไหน” เยาขยายแนวคิดที่เธอเองเคยสงสัย “ส่วน Slow หมายถึงกระบวนการผลิตที่ไม่เร่งรีบ ไม่ใช้สารเคมี อีกอย่างคือต้องเป็นธรรมต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมด้วย”

นอกจากการเปิดร้านอาหาร เยายังเปิดพื้นที่จัดกิจกรรมหลายหลาก อาทิ Good Seed, Good Food เพื่อปลูกความเข้าใจของผู้คนให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการมีแหล่งผลิตอาหารที่ดีกับการกินดี ตลอดจนเป็นเรี่ยวแรงหลักผลักดันการก่อตั้งเครือข่าย Slow Food Community Food for Change Chiangmai ที่ขับเคลื่อนแนวคิดนี้ในเมืองเชียงใหม่

เส้นทางชีวิตการใช้อาหารขับเคลื่อนความยั่งยืนของ เยาวดี ชูคง จากร้าน Bird Nest Café สู่ Olé Gourmet Mexican ยักษ์กะโจน และ Maadae Slow Fish Kitchen
เส้นทางชีวิตการใช้อาหารขับเคลื่อนความยั่งยืนของ เยาวดี ชูคง

มานี่ซิ

“จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ชอบทำร้านอาหารขนาดนั้น เพราะไม่ค่อยถนัดเรื่องการบริหาร แค่รู้สึกว่ามันเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค และน่าจะพอเป็นเวทีให้เราแบ่งปันความรู้แก่ผู้คนได้” เยาพูดออกมาซื่อ ๆ เมื่อพูดคุยกันถึงเรื่องธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีกลายเธอก็ได้เปิดเวทีแห่งใหม่ Maadae Slow Fish Kitchen ร้านอาหารไทย-ปักษ์ใต้ ที่ยังคงเข้มข้นในคอนเซ็ปต์ และเน้นถ่ายทอดเสน่ห์รสแท้จากธรรมชาติด้วยการไม่ปรุงแต่งมากทั้งรูปรส โดยชื่อ ‘Maadae’ ทับศัพท์มาจากภาษาใต้ ‘มาเด’ แปลว่า มานี่ซิ ส่วน ‘Slow Fish’ เป็นอีกแนวคิดต่อยอดจาก Slow Food นำเสนอการใช้วัตถุดิบอาหารทะเลที่มีคุณภาพ สะอาด และเป็นธรรม ซึ่งทางร้านทำงานร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดชุมพร

“กลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลสามเสียม จังหวัดชุมพร เป็นกลุ่มที่เรามองเห็นว่าพวกเขามีศักยภาพ เข้าใจคอนเซ็ปต์ของร้าน และทำประมงเชิงอนุรักษ์ เราติดต่อซื้อขายวัตถุดิบอาหารทะเลจากที่นี่มาตั้งแต่ยังทำร้าน ‘ยักษ์กะโจน’ เรื่อยมาจนกระทั่งปรับโมเดลธุรกิจเป็นมาเดฯ ส่วนวิธีการซื้อขายคือเราจะช่วยกันทำราคา จากนั้นไม่ว่าชาวประมงได้ปลาอะไรมาทางร้านจะพยายามรับซื้อให้มากที่สุด โดยเฉพาะชนิดที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม เช่น ปลากระทุงเหว ปลาสาก หรือจำพวกปลาก้างเยอะ เพราะเขาอาจขายยาก แต่เราขายได้ เดี๋ยวขายให้ เชื่อมั้ย วันไหนมีปลากะพง ปลาเก๋านะคนไม่ค่อยสั่ง คนมาร้านนี้ส่วนมากอยากลองปลาแปลก ๆ กันมากกว่า” เยาหัวเราะ พลางเผยว่าเป้าหมายของการทำงานกับประมงพื้นบ้าน คือ ต้องการให้คนรับรู้ความหลากหลายของปลาในท้องทะเล สนับสนุนการทำประมงแบบยั่งยืน รวมถึงอยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและกลับมาสานต่ออาชีพประมงพื้นบ้านมากขึ้น

ขณะเดียวกัน เยามีความตั้งใจอยากให้มาเดฯ เป็นพื้นที่บ่มเพาะเชฟที่เชื่อมั่นในวิถีการกินอย่างรู้ที่มา และสามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจกับลูกค้า โดยส่วนตัวเธอมีความเชื่ออย่างแรงกล้าในคนรุ่นใหม่

“หัวหน้าเชฟร้านเราอายุ 24 ปีเองนะ แล้วในครัวก็มีแต่เด็กวัยรุ่น เพราะเราค่อนข้างเชื่อมั่นในตัวคนรุ่นใหม่ และคาดหวังว่าถ้าเขาออกไปเปิดร้านของตัวเอง เขาจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากตรงนี้ไปสื่อสาร ให้การศึกษาคนไปเรื่อย ๆ เป็นจุดเล็ก ๆ ที่กระจายวงกว้าง เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวให้เติบโต”

เส้นทางชีวิตการใช้อาหารขับเคลื่อนความยั่งยืนของ เยาวดี ชูคง

อาหารดี ทุกอย่างดี

ปลายเดือนมกราคมหลังติดใจในเรื่องเล่าและรสชาติ ผมไม่ลังเลที่จะตอบรับคำชวนของเยา แล้วจึงมาโผล่อยู่ชานระเบียงหน้าบ้านดินบรรยากาศอบอุ่นของเธอในอำเภอแม่แตง ท่ามกลางท้องทุ่ง แสงตะวันเรื่อลับขอบเขา และผู้คนนั่งปะปนกับเหล่าศิลปินวงคุ้นจับกลุ่มกินข้าวอย่างอิ่มหนำ

Music from Yao’s Kitchen คือโปรเจกต์เปิดบ้านเยาให้ผู้คนได้มาเพลิดเพลินกับเสียงเพลงจากศิลปินวงโปรด พร้อมล้อมวงซึมซับวิถี Slow Food ผ่านช่วงเวลาอาหารมื้อเย็น

“ส่วนตัวเราชื่นชอบงานศิลปะและดนตรีอยู่แล้ว เลยอยากทดลองใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงอาหาร เพื่อให้แนวคิดการกินแบบรู้ที่มาเข้าถึงคนหลากหลายกลุ่ม” เยากล่าว

เธอบอกอีกว่า เร็วนี้ ๆ กำลังจะมีโปรเจกต์ออกหนังสือเล่มใหม่ ‘Bring Me Curry When I am Gone’ รวบรวมเรื่องราวอาหารในพิธีงานศพของภาคเหนือและภาคใต้ หนึ่งในพิธีกรรมที่เธอรู้สึกว่ามักจะได้พบเจออาหารที่ดี และสะท้อนว่าวัฒนธรรมการกินนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทย

ควบคู่กันนักกิจกรรมด้านอาหารคนนี้ ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนขบวน Slow Food ในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดหลังประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเครือข่าย Slow Food Community Chumphon จังหวัดชุมพร เธอก็ปักหมุดขยายเครือข่ายอาหารยั่งยืนต่อในโซนภาคใต้ เพราะเชื่อว่าคนเล็ก ๆ ก็ทำเรื่องใหญ่ได้หากร่วมมือกัน ก่อนทิ้งท้ายสั้น ๆ ถึงสิ่งที่ทำให้เธอไม่ลดละความมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเสมอมา

“เราอยากเห็นอาหารที่ดีขึ้น เพราะอาหารคือโครงสร้างใหญ่ที่ทำลายโลกทุกวันนี้ ถ้าอาหารดี สิ่งแวดล้อมจะดี แล้วทุกอย่างก็จะดีครบทั้งวงจร”

เส้นทางชีวิตการใช้อาหารขับเคลื่อนความยั่งยืนของ เยาวดี ชูคง

Maadae Slow Fish Kitchen

โทรศัพท์ : 09 2669 0514

Facebook : Maadae Slow Fish Kitchen – ร้านมาเด สโลว์ฟิช

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ