4 กุมภาพันธ์ 2020
13 K

“น้องเดินเข้ามาเห็นองค์ที่อยู่หน้าบ้านแล้วรู้สึกยังไง”

ฉันใช้เวลาเพียงแค่ชั่วอึดใจก็ควานหาคำแทนความรู้สึกนั้นเจอ

“รู้สึกเกรงขามค่ะ”

น่าเกรงขาม คงจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุดกับความรู้สึกแรกเมื่อได้ก้าวเข้ามาพบกับองค์พระครุฑสีแดงสูง 3 เมตรครึ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าบ้าน สำหรับใครที่อยากมาเดินเที่ยวงาน Bangkok Design Week สัปดาห์นี้ แม้บ้านทำครุฑแห่งนี้จะไม่มีป้ายชื่อ แต่ถ้าได้เดินเข้ามาในตรอกหมอเพชรหมอพลอยแล้วละก็ รับรองว่าไม่มีทางที่จะหาบ้านหลังนี้ไม่เจอ

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

สามพี่น้องตระกูลแย้มประเสริฐ คือทายาทรุ่นที่สองของกิจการทำตราตั้งครุฑแห่งย่านเจริญกรุงที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับกันในวงการ จนปรากฏอยู่ในรายชื่อร้านทำตราตั้งครุฑที่สำนักพระราชวังให้การรับรอง คุณเบน-ณรงค์วัฒน์ แย้มประเสริฐ พี่ชายคนโตของบ้าน เล่าให้ฟังถึงผลงานของพวกเขาที่เราเชื่อว่าคนไทยทุกคนน่าจะเคยได้พบเห็น จากหน้าอาคารห้างร้านต่างๆ และธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศไทย

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

“ธนาคารไทยพาณิชย์สั่งครุฑกับเรามากที่สุดครับ ลองสังเกตดูจะเห็นว่าข้างใต้ริบบิ้นเขียนไม่เหมือนคนอื่นนะครับ ข้างล่างทั่วไปจะเขียนว่าโดยได้รับพระบรมราชานุญาต แต่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารเดียวที่เขียนว่า ตั้งโดยพระบรมราชานุญาต เพราะว่ารัชกาลที่ห้าทรงตั้งขึ้นมา 

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

 “สมัยก่อนพ่อผมทำงานเป็นลูกจ้างร้านคนอื่นอยู่ตรงวงเวียน 22 แล้วก็ออกมาทำเอง ตั้งบริษัทนี้เมื่อปี 29 ครับ หลังจากนั้นก็เริ่มมีชื่อเสียง เพราะเรารับปากแล้วทำเต็มที่ เราทำครบวงจรตั้งแต่ปั้นเลย ผลิตจนเป็นองค์ใหญ่ๆ แบบนั้น พอเสร็จปุ๊บเราก็ขึ้นไปติดตั้งให้ด้วย ที่ผมทำก็มีโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โค้ก เป๊ปซี่ มาม่า ยูไลยเทเลอร์ สามารถคอร์เปอเรชั่น ซีพี เจียไต๋ คิง เพาเวอร์ นับแล้วเกินยี่สิบเจ้าแน่นอน องค์ใหญ่ที่สุดที่เคยทำก็หกเมตรกว่าครับ ที่ตึกซีพีสีลม แล้วเราไม่ได้ทำแค่องค์ครุฑอย่างเดียว ที่เราภาคภูมิใจคือเราทำตราสัญลักษณ์ ภ.ป.ร. กับ สก. ที่ตึกโรงพยาบาลจุฬาฯ ด้วยครับ”

งามรูป งามมงคล งามสมเกียรติ

การขอรับพระราชทานอนุญาตใช้ตราแผ่นดินในกิจการเอกชนนั้นเริ่มมีตั้งแต่รัชกาลที่ 5 โดยเป็นตราอาร์มมีข้อความประกอบด้านล่างว่า ‘โดยได้รับพระบรมราชานุญาต’ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้เปลี่ยนตราอาร์มเป็นตราตั้งครุฑพ่าห์ โดยจะพระราชทานให้เป็นเกียรติสำหรับห้างร้านที่ประกอบกิจการโดยสุจริต มีฐานะมั่นคง เป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน 

เมื่อบริษัทนั้นๆ ได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จะได้รับสารตราตั้งที่มีการกำหนดรูปแบบเครื่องทรงของครุฑ แต่ไม่ได้กำหนดสัดส่วนการสร้างเอาไว้ ช่างทำครุฑจึงต้องใช้ทักษะทางศิลปะและการศึกษาค้นคว้าจากตำราต่างๆ เพื่อออกแบบองค์ครุฑให้สง่างามสมกับเกียรติยศที่ได้พระราชทานไว้

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

  “ไม่มีใครเคยเห็นพระครุฑองค์จริงหรอกครับ ที่เห็นนี่คือจินตนาการของคนปั้น เราก็อ่านมาว่าพระครุฑสูงกี่เซียะกี่ศอก ถ้าสูงเท่านี้ปีกควรจะต้องเท่าไหร่ ก็ออกมาเป็นสัดส่วนที่เราทำ ส่วนพวกเครื่องทรงเราก็ได้รูปมาจากสำนักพระราชวัง เราก็ทำตามนั้น ไม่มีปัญหา” 

เช่นเดียวกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ ความสวยของงานแต่ละชิ้นอาจขึ้นอยู่กับสายตาคนมอง แต่หากจะวัดความสวยจากมุมมองของช่างผู้สร้างผลงานแล้วนั้น คุณเบนบอกว่ามองได้ 2 ข้อ

  “ถ้าช่างด้วยกันมองก็คือ หนึ่ง ต้องถูกลักษณะ สอง ต้องได้สัดส่วน ถูกลักษณะหมายถึงต้องมีจะงอยปาก มีเขี้ยว ได้สัดส่วน หมายถึงศีรษะ อก กล้ามท้อง ปีก ริบบิ้นด้านล่าง ต้องได้กัน เราศึกษากายวิภาคของคนด้วย เพราะสมมติคนต้องยืนท่านี้ เข่าต้องอยู่ขนาดไหน เหมือนท่าฝึกโขนครับ เราก็ต้องปั้นให้คล้ายกัน”

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง
ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

  แม้จะเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในตำนานที่ไม่เคยมีใครเห็นตัวจริง แต่การคำนึงถึงความสมจริงในมิติของมนุษย์ก็กลายมาเป็นส่วนผสมที่ทำให้ผลงานออกมากลมกล่อมที่สุด คุณแย้ม-อภิชาติ แย้มประเสริฐ ลูกชายคนที่ 2 ของบ้านเสริมอีกว่า หากมีจุดที่ไม่สมจริงเขาจะไม่ยอมปล่อยผ่านแน่นอน “อย่างเดือนที่แล้วปั้นครุฑองค์ใหม่องค์หนึ่ง เขาปั้นหน้าอกไม่สวย เหมือนอกผู้หญิง เรามองว่ามันไม่ใช่ อกผู้ชายต้องบึกบึน มีพลัง เราก็เอารูปกล้ามคนให้เขาดู ช่างเขาก็เก่งนะ เขาก็แก้ได้” 

งามด้วยรูปแล้วยังต้องงามมงคลด้วย การวัดสัดส่วนต่างๆ เมื่อวัดด้วยตลับเมตรจีนแล้วจะต้องตกเลขดีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่กิจการ และที่สำคัญที่สุด นอกจากจะสวยในมุมมองของช่างแล้ว ยังต้องปั้นให้ ‘เข้ากัน’ กับกิจการของลูกค้ารายนั้นๆ ด้วย หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่าครุฑของห้างร้านแต่ละเจ้านั้นมีหน้าตาไม่เหมือนกัน 

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง
ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

หนังสือภาพ ครุฑ จัดพิมพ์โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ใช้สำหรับอ้างอิงการปั้นครุฑหน้าโบราณ

“ถ้าเราทำให้ร้านค้าก็ต้องเป็นหน้าเทวดา จะได้ต้อนรับลูกค้า เป็นเคล็ดเฉยๆ ผมจะไม่ค่อยใส่เขี้ยวหรอก เพราะครุฑพ่อค้าเราจะไปเขี้ยวกับลูกค้าไม่ได้ มีคนเคยรีเควสต์แปลกๆ ก็มี อย่างครุฑที่คิง เพาเวอร์ รางน้ำ เขาอยากได้หน้าครุฑแบบโบราณ เราก็ปั้นให้ อันนั้นทำได้ แต่จะให้มาทำหน้าเหมือนณเดชน์ เหมือนต้อยหมวกแดง อย่างนี้ทำไม่ได้นะครับ”

ทำด้วยหัวใจไม่จำกัดเทคนิค

ในสมัยโบราณการสร้างครุฑจะใช้การแกะสลักไม้ จนถึงยุคสมัยที่บ้านทำครุฑแห่งนี้เริ่มกิจการ บริษัทที่ได้รับพระบรมราชานุญาตมีมากขึ้น การแกะสลักไม้จึงถูกแทนที่ด้วยการหล่อเรซิ่นและไฟเบอร์กลาส ทำให้ผลิตได้เร็ว ราคาย่อมเยา และมีน้ำหนักเบากว่า โดยช่างจะขึ้นรูปด้วยดินเหนียวหรือขี้ผึ้งเพื่อทำแม่พิมพ์สำหรับหล่อต่อไป 

“การปั้นเมื่อก่อนใช้ดินเหนียว ต้องไปซื้อที่ปทุมธานี ถือว่าเป็นดินดีที่สุดที่เราศึกษามา แต่ดินมันจะยากตรงที่เราต้องบำรุงมันด้วย ต้องฉีดน้ำ เอาผ้าคลุม ปัจจุบันไม่มีดินขายแล้ว เราเลยใช้ขี้ผึ้งแทน”

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง
ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

ทักษะความรู้ในการปั้นและหล่อครุฑนั้นไม่มีโรงเรียนหรือตำราสอนสำเร็จรูป ทั้งหมดล้วนผ่านการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์มากว่า 30 ปี จนกลายมาเป็นตำราประจำตัวที่คุณเบนยืนยันว่า หากช่างรุ่นใหม่ต้องการเรียนรู้ สิ่งเดียวที่จะทำได้ก็คือการฝึกฝน

“ต้องฝึกกี่ปีก็บอกไม่ได้ครับ แต่เขาจะต้องทำตลอดชีวิตเขาเลย เขาต้องฝึกปั้นไก่ ปั้นทุกสิ่งทุกอย่าง ฝึกทำทุกขั้นตอน ใช้ทั้งเทคนิคปั้นและแกะครับ ที่สำคัญคือ เราต้องทำจากหัวใจที่เราต้องการทำให้สวยจริงๆ ไม่ใช่คิดแค่ว่าผัดให้มันกินเถอะวะ แบบนั้นไม่ได้ เราผัดแล้วต้องอร่อยที่สุดสำหรับลูกค้าคนนั้น

“ส่วนตัวผมนะ ผมมีความเชื่อว่าไม่ว่าเทคนิคไหน ถ้าช่างตั้งใจ มันก็จะถ่ายทอดเอกลักษณ์ของเราได้” 

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

รับซ่อมสร้างทั่วราชอาณาจักร

กระบวนการพิจารณาเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสำหรับแต่ละบริษัทนั้นอาจกินเวลายาวนานหลายปี ทำให้งานสร้างองค์ครุฑสำหรับกิจการใหม่ในแต่ละปีมีไม่มาก งานส่วนใหญ่จึงเป็นงานซ่อมแซมเสียมากกว่างานสร้างใหม่ โดยครุฑเก่าแก่ที่สุดที่บ้านนี้เคยได้รับการติดต่อมาเป็นครุฑไม้โบราณที่มีอายุกว่าร้อยปี 

  “เป็นครุฑของบริษัทดีทแฮล์มที่เจริญกรุง หักลงมาเลย เขาก็ตกใจทั้งบริษัท พอเขาเรียกผมไป ผมก็บอกว่าเรียกผมคนเดียวไม่ได้ ต้องเรียกพราหมณ์มาด้วย ต้องเชิญพราหมณ์มาถอนจิตวิญญาณออก ผมจึงจะถอดองค์ลงมาได้ แต่ผมก็ไม่มีปัญญาซ่อมได้เนื่องจากว่ามันผุมาก กลายเป็นเศษไม้แล้ว ก็ต้องคืนเขาไปทั้งผ้าขาวแบบนั้นแหละครับ แล้วทำองค์ใหม่ไปติดแทนที่เดิม 

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

“อย่างครุฑรุ่นใหม่ที่เป็นไฟเบอร์กลาส ไม่มีการพังลงมาแบบครุฑไม้แล้วครับ เพราะการจับยึดของพอลิเมอร์มันอยู่เป็นร้อยๆ ปี ไม่ต้องห่วงเลย แต่ถ้าเรื่องสีมันก็จะซีดตามโมเลกุลของมัน อาจจะห้าปีหรือเจ็ดปีซ่อมสีทีหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าหันหน้าทิศไหนด้วย ถ้าหันทิศตะวันออกกับตะวันตกก็จะซีดเร็วหน่อย การดูแลซ่อมสีเราก็จะปีนขึ้นไปซ่อม ถอดลงมาไม่ได้ ถ้าถอดลงมาเราต้องทำพิธีเชิญลงแล้วเชิญขึ้นอีก เลยทำบนนั้นเลยดีกว่า”

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง
ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

หากถามว่าเอกลักษณ์ของบ้านทำครุฑแห่งนี้คืออะไร คุณเบนตอบทันทีว่า “ชอบขัดใจลูกค้า” เพราะไม่เพียงแต่ต้องรับฟังความต้องการของเจ้าของกิจการนั้นๆ แต่ช่างทำครุฑยังต้องคอยแนะนำความเหมาะสมให้กับลูกค้าด้วย แม้จะไม่ได้เรียนจบศิลปะมาโดยตรง แต่ความสนใจศึกษาทั้งศิลปะ ความเชื่อ และปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์ที่เรียนจบมาก็ช่วยให้คุณเบนให้คำแนะนำกับลูกค้าได้แบบครบวงจร “บางอย่างลูกค้าอยากได้ แต่ด้วยสายตาวิศวกรโครงสร้างมันไม่ไหว เขาก็ต้องฟังเราครับ”

เมื่อศิลปะผสานเทคโนโลยี

ในฐานะเจ้าของบ้านทำครุฑรุ่นที่สอง นอกจากความตั้งใจที่อยากจะอนุรักษ์ศิลปะการสร้างครุฑให้คงอยู่ต่อไปแล้ว คุณเบนยังต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ศิลปะการทำตราตั้งครุฑไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ อย่างการนำเทคโนโลยี CNC มาทดลองใช้กับการทำครุฑขนาดเล็ก ที่เขาบอกว่า “เหมือนกินผัดกะเพราแล้วไม่ได้กลิ่นกระเทียม”

“มันไม่ได้อย่างใจจริงๆ มันไม่ลึก อย่างตรงนี้ต้องนูน แต่เครื่องมันก็ทำได้แค่นี้ไง ปั้นมันทำได้ลึกซึ้งกว่า ผมเพิ่งมาลองทำได้ไม่กี่อัน ซึ่งยังไม่ค่อยสวย แต่คิดว่าอีกสักพักคงจะทำได้ดีขึ้น ต้องรอเทคโนโลยีพัฒนากว่านี้ อย่างองค์นี้ถ้าให้สวยปากต้องยื่นออกมาอีกนิด อันนี้จะยังไม่ค่อยสมส่วนเท่าไหร่ ติได้ทุกส่วนอะ” 

อีกหนึ่งข้อจำกัดที่เทคโนโลยียังทำไม่ได้คือการคำนึงถึง ‘การกินอากาศ’ เมื่อต้องติดตั้งชิ้นงานบนตึกสูง โดยหากเป็นการปั้น ช่างจะใช้สายตาและความชำนาญในการกะขนาดสัดส่วนด้านบนของชิ้นงานให้ใหญ่กว่าขนาดจริง เพื่อที่เมื่อนำไปติดตั้งแล้วจะได้ดูสมส่วนเมื่อมองจากด้านล่างขึ้นไป 

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง
ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

“ถ้าทำงาน 3D เราก็จะเห็นแค่ตรงๆ จากในจอ อะไรที่มีเครื่องทำได้เนี่ยราคามันจะถูกลงก็จริง ผู้บริโภคก็ต้องเลือกเอาว่าจะเลือกบริโภคแบบลึกซึ้ง ได้กลิ่นอายของมัน หรือว่าจะแค่ Just Have คุณก็ได้แค่ Just Have แต่ถ้าคุณ Must Have คุณก็จะได้อีกแบบหนึ่ง”

พิพิธภัณฑ์บ้านรักครุฑ

พระครุฑสีแดงองค์ใหญ่ยักษ์ยังคงสยายปีกอยู่ด้านหน้าทางเข้า ราวกับเป็นเครื่องยืนยันฝีมือของช่างทำครุฑประจำบ้านหลังนี้ เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วนับตั้งแต่กิจการบ้านทำครุฑแห่งนี้ได้ถูกปลูกปั้นขึ้นมา มาถึงวันนี้ครอบครัวแย้มประเสริฐมีแนวคิดที่จะรวบรวมผลงานองค์ครุฑที่เคยได้ทำไว้มาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กในชื่อ ‘พิพิธภัณฑ์บ้านรักครุฑ’ เพื่อส่งต่อความรู้ทางศิลปะการทำตราตั้งครุฑให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต 

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

“เราเห็นทุกวันเราก็รู้สึกชิน พอดีวันหนึ่งรุ่นน้องผมมาเห็นเขาก็ตกใจ ไม่เคยเห็นครุฑองค์ใหญ่ขนาดนี้ เขาก็ถ่ายรูปกันใหญ่ พอเราเห็นว่าเขามีความสนใจ ถามนู่นถามนี่ ผมก็ว่าจะทำตรงนี้เป็นจุดถ่ายรูปให้คนเข้ามาชม” คุณแย้มเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นความคิด

 “เราอยากจะจรรโลงและสืบสานต่อให้คนรุ่นหลัง อย่างถ้าผมเสียชีวิตไปแล้วจะมีคนรุ่นต่อไปมารู้เหมือนผมหรือเปล่าก็คงยังไม่มี เรื่องราวหลายอย่างที่เกี่ยวกับองค์พระครุฑก็ยังมีอีกเยอะ คิดว่าก็คงจะทำที่บ้านนี่แหละครับให้เป็นพิพิธภัณฑ์” คุณเบนกล่าวปิดท้าย

ตระกูลแย้มประเสริฐ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของบ้านทำตราตั้งครุฑที่แรกและที่เดียวแห่งย่านเจริญกรุง

บ้านรักครุฑแห่งนี้ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในธุรกิจสร้างสรรค์ประจำย่านเจริญกรุงที่ต้องห้ามพลาด สำหรับใครที่สนใจเข้ามาสัมผัสเรื่องราวการทำตราตั้งครุฑด้วยตัวเอง แวะเข้ามาเยี่ยมชมได้ทุกวัน ในงาน Bangkok Design Week 2020 ที่จัดขึ้นในช่วงวันที่ 1 – 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตั้งแต่ 09.00 – 16.00 น.

Writer

Avatar

แก้วขวัญ เรืองเดชา

โปรดิวเซอร์สารคดีโทรทัศน์ นักเขียน และนักออกแบบนิทรรศการ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ