‘หอมเหมือนไปนั่งอยู่ในสวนกุหลาบ’

เป็นความรู้สึกแรกหลังจากที่กลิ่น ‘ปิยรัญจวร’ อบอวลไปทั่วห้อง ชนิดที่ว่าถ้าหลับตาก็จินตนาการถึงทุ่งดอกกุหลาบได้ไม่ยาก ต้นตอมาจากขวดสีขาวเล็กๆ ที่มีปูนปั้นสลักเป็นหน้ายักษ์ประดับอยู่ด้านหน้า แม้จะแกะสลักเป็นลายไทย แต่สีขาวล้วนที่ตัดกับก้านไม้สีอ่อนนั้น ทำให้ตั้งบนโต๊ะไม้ในบ้านได้อย่างไม่ขัดเขิน

‘ยักษียักษา’ เป็นแบรนด์เครื่องหอมกลิ่นไทยๆ ที่ตั้งใจอยากให้ความสุขอบอวลตั้งแต่ก้านไม้ไปจนถึงคนปลูกกุหลาบ กลิ่นหอมหวานที่ว่านั้นมาจากกุหลาบพันธุ์จุฬาลงกรณ์และพันธุ์ไกลกังวล ซึ่งปลูกอยู่ในสวนหลังบ้านของผู้สูงอายุในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เมื่อใช้ดอกกุหลาบพันธุ์ไทยและหลงรักวรรณคดีไทยเป็นทุนเดิม ยักษียักษาจึงเล่าเรื่องแบรนด์ผ่านยักษ์ ‘ทศกัณฐ์’ ตัวร้ายจากวรรณคดีไทยเรื่อง รามเกียรติ์ ที่นอกจากเป็นสัญลักษณ์แบบไทยๆ แล้ว เรื่องราวของยักษ์วายร้ายยังน่าสนใจจนต้องหยิบมาเป็นชื่อแบรนด์

หนึ่งเรื่องที่คนอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับทศกัณฐ์ คือยักษ์ตนนี้ไม่ได้มีแค่ร่างสีเขียวเกรี้ยวโกรธ แต่ยังมีโหมดอารมณ์ดีที่เรียกว่า ‘ทศกัณฐ์ลงสวน’ มักใช้เวลาว่างแอบไปเดินเล่นในดงดอกไม้และเกี้ยวพาราสีนางสีดา

เพราะประทับใจในทศกัณฐ์ร่างสีทองที่ว่า ยักษียักษาจึงบรรจงหล่อปูนปั้นหน้ายักษ์ประดับไว้ข้างขวดน้ำมันหอมระเหย และเป็นที่มาของชื่อ ‘ยักษียักษา’ แบรนด์เครื่องหอมจากดอกไม้ไทยที่หอมเหมือนได้ไปเดินอยู่ในสวนดอกไม้กับทศกัณฐ์

ยักษียักษา แบรนด์เครื่องหอมที่ใช้ดอกกุหลาบจากแปลงสวนหน้าบ้านผู้สูงวัยในชุมชน

ยักษียักษา

“ในทางธรรมชาติ น้ำมันหอมระเหยช่วยรักษาและบำบัดเรา เหมือนยามเป็นหวัดที่เราใช้วิคส์ ใช้ยาดม ถ้าเราเรียนรู้และสนิทกับเขา เขาจะให้ประโยชน์กับเรา พอเรามาทำ เราก็ดูว่าคนต้องการอะไร คนเป็นภูมิแพ้เยอะ หายใจได้ไม่ค่อยดี ใช้น้ำหอมแล้วไม่อยากได้เคมีสังเคราะห์ เราก็ตอบทุกโจทย์ที่คนอยากได้ นั่นคือสิ่งที่เราทำ” 

แม็ก - พรหมพิริยะ หงษ์ยนต์, ยักษียักษา

แม็ก-พรหมพิริยะ หงษ์ยนต์ ผู้ปั้น ‘ยักษียักษา’ อย่างพิถีพิถันบอกกับเรา นี่เป็นก้านใหม่ที่แตกกิ่งออกมาจาก ‘ภูวารา’ แบรนด์เครื่องหอมที่เขารุดหน้ากรุยทางไปก่อนหน้านั้นแล้ว

9 ปีก่อน ขณะที่เพิ่งเรียนจบด้านธุรกิจการบินมาหมาดๆ แม็กใช้เวลาหมดไปกับการทบทวนว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาชอบคืออะไร โชคดีที่คำถามนี้ไม่ได้ยากสำหรับเขาสักเท่าไหร่ เพราะเขารู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่ตัวเองโปรดปรานมาเสมอคือ ‘กลิ่นดอกไม้’ 

เขานี่แหละคือมนุษย์ประเภทที่ต้องเข้าไปดู เข้าไปดมทุกครั้งที่เจอไปเจอดอกไม้แปลกๆ 

แม็กหยิบเอาความรักมาทำเป็นเครื่องหอม เพราะเป็นทางเดียวที่ทำให้เขาได้ส่งต่อสิ่งกลิ่นที่ชอบไปยังคนอื่นๆ ได้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของภูวารา แบรนด์เครื่องหอมที่แม็กปลุกปั้นขึ้นมาด้วยสองมือ เขาเปรียบภูวาราเป็นลูกคนแรก ที่เฝ้าประคบประหงมจนปีกกล้าขาแข็ง ส่วนตอนนี้เขาทุ่มเทให้กับยักษียักษา ลูกคนเล็กในวัยกำลังตั้งไข่หัดเดิน

ระหว่างที่ภูวาราค่อยๆ เติบโต บ่อยครั้งที่แม็กได้ไปเยือนชุมชนต่างๆ เพื่อไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมในนามของบริษัท และนั่นทำให้เขามองเห็นช่องว่างที่การถือกำเนิดของยักษียักษาเข้าไปเติมเต็มได้

แบรนด์เครื่องหอมจากธรรมชาติที่เล่าเรื่องกลิ่นไทยๆ ผ่าน ‘ยักษ์ทศกัณฑ์’ กับความตั้งใจสร้างความสุขให้ทั้งคนรับและคนทำ
แบรนด์เครื่องหอมจากธรรมชาติที่เล่าเรื่องกลิ่นไทยๆ ผ่าน ‘ยักษ์ทศกัณฑ์’ กับความตั้งใจสร้างความสุขให้ทั้งคนรับและคนทำ

“ภูวาราเน้นเน้นการขาย ขายเพื่อสร้างรายได้ เลี้ยงครอบครัว สร้างชีวิตเรามาตลอด พอทำ CSR มันก็ทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะโครงสร้างมันถูกขึงไว้แล้ว เราไปพัฒนานั่น ไปพัฒนานี่ เราก็เห็นนะว่ามันก็ช่วยได้แค่ระยะสั้น ไม่ได้ยั่งยืน เราเลยแยกแบรนด์ออกมา เริ่มต้นใหม่กับยักษียักษา ทำโครงสร้างแบบใหม่เพื่อให้สังคมตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลย” แม็กเล่าให้เราฟัง

“เราอยากทำธุรกิจที่อยู่ร่วมกับสังคมและผลักดันคนข้างหลังให้ไปพร้อมกับเราได้ เราตั้งใจออกแบบธุรกิจอย่างไรให้มีความสุข และเป้าหมายสุดท้ายคือรอยยิ้ม” 

นี่คือโจทย์ใหม่ที่ยักษียักษากำลังเข้ามาแก้ เขาตั้งใจทำให้เป็นแบรนด์ CSV (Creating Shared Value) ที่ในท้ายที่สุดแล้วจะกลับมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน

‘แปลงสุข’

“น้ำหอมมาจากดอกไม้”

แม็กพาเราไปเยือน ‘แปลงสุข’ ที่ประจวบคีรีขันธ์ผ่านเรื่องที่เขากำลังเล่า เขาตั้งใจให้ที่นี่เป็นแหล่งปลูกกุหลาบโดยกลุ่มผู้สูงอายุ นี่ไม่ใช่ไร่หลายเอเคอร์ แต่เป็นสวนเล็กๆ ที่อยู่หน้าบ้านคุณลุง-คุณป้า ในชุมชนบ้านเกิดของเขา

“กลุ่มผู้สูงอายุต่างจังหวัดเขาไม่มีรายได้ มักจะรอลูกหลานส่งเงินมาให้ แต่เขารวยที่ดิน หน้าบ้านมีแปลงใหญ่ๆ เราเห็นว่าเขาชอบปลูกดอกไม้ ปลูกนู่น ปลูกนี่ เราเลยเอาดอกไม้ไปให้เขาปลูก แถวบ้านเขาเลี้ยงวัว ก็เอาปุ๋ยคอกมาใส่ เขาแค่ดูแลดอกไม้ไปเรื่อยๆ ถึงเวลาก็เก็บใส่กล่องแล้วเอามาให้เรา เราก็รับซื้อทั้งหมด เราไม่สนใจว่าดอกไม้จะหัก จะงอ จะสวยหรือไม่สวย เพราะคุณค่าของดอกไม้ไม่ได้อยู่ที่รูปร่าง แต่อยู่ที่กลิ่นหอม” 

ยักษียักษา แบรนด์เครื่องหอมที่ใช้ดอกกุหลาบจากแปลงสวนหน้าบ้านผู้สูงวัยในชุมชน
ยักษียักษา แบรนด์เครื่องหอมที่ใช้ดอกกุหลาบจากแปลงสวนหน้าบ้านผู้สูงวัยในชุมชน

แม็กให้ความสำคัญกับการสกัดกุหลาบมาเป็นอันดับหนึ่ง ยิ่งเป็นเรื่องความเข้มข้นของกลิ่นที่เปลี่ยนไปแม้ต่างฤดูกาล เขาจึงออกแบบกล่องดูดความชื้นให้ชาวบ้านเอาไว้เก็บดอกไม้ โดยดัดแปลงมาจากโถดูดความชื้นวิทยาศาสตร์ พอเอาดอกไม้วางลงไปก็จะแห้งไวขึ้น รักษาคุณภาพดอกไม้ไว้อย่างดี นอกจากรูปแบบธุรกิจแล้ว เขายังต้องออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ อย่างประณีต 

“เราอยากได้ประติมากรรมเป็นงานปั้น เลยไปปรึกษาเพาะช่าง ให้เขาปั้นหน้ายักษ์ขึ้นมา พอได้แม่พิมพ์เราก็เอาไปให้กลุ่มผู้พิการทางขา หล่อเป็นหน้ายักษ์เพื่อมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์”

เมื่อน้ำมันหอมระเหยพร้อม ขวดพร้อม ทุกอย่างจะถูกวางเอาไว้หน้าที่หน้าบ้าน ไม่นานนักก็จะมีคุณลุง-คุณป้า ปั่นจักรยานมาโฉบเอาไปประบรรจุกล่องที่บ้าน ใส่ก้านไม้ ปิดหีบห่อเรียบร้อยก็ปั่นจักรยานเอามาวางไว้ที่เดิม 

ยักษียักษา แบรนด์เครื่องหอมที่ใช้ดอกกุหลาบจากแปลงสวนหน้าบ้านผู้สูงวัยในชุมชน

นี่เป็นการทำธุรกิจที่อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างที่เขาตั้งใจไว้ และยังเป็นตัวกลางที่เชื่อมบ้านนู้น บ้านนี้ ไว้ด้วยกัน แม้ว่าเบื้องหน้าดูเรียบง่าย แต่เบื้องหลังกลับท้าทาย เพราะแม็กต้องก้าวออกจากตัวเองคนก่อนหน้า ซึ่งมองต้นทุนและกำไรขององค์กรเป็นที่ตั้ง แล้วหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของทุกชีวิตที่อยู่เบื้องหลังขวดน้ำมันหอมระเหยทุกขวด เข้าเรียกมันว่า Journey บนถนนเส้นที่เขาจะไม่ปล่อยให้ใครต้องเดินไปคนเดียว 

“ถ้าเราโฟกัสว่าทำอย่างไรให้ขายได้ สุดท้ายแล้วในหัวเราก็จะมีแต่เรื่องเงิน ในที่สุดเราก็ต้องไปกดราคาต้นทุน ทำให้ต้นทุนถูกที่สุด เพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด แต่ถ้าเราลืมเรื่องนั้นไปเลย คิดถึงชุมชนก่อนว่าจะทำอย่างไรให้เขามีรายได้ ทำอย่างไรให้เขามีความสุขและเลี้ยงครอบครัวได้ นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังไว้ เพราะฉะนั้น มันเริ่มจากมายเซ็ตของเรา”

จากภูวาราสู่ยักษียักษา

“สำหรับภูวารา เรารู้ว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจมันเติบโต ทำอย่างไรให้ธุรกิจยั่งยืน แล้วทำอย่างไรให้มันประสบความสำเร็จในตลาด ถ้ากล่องแพง เราก็แค่ต้องหาโรงงานใหม่”

นั่นเป็นบทเรียนที่แม็กได้จากการบริหารภูวารา แต่สำหรับยักษียักษานั้นตรงกันข้าม หากเปรียบเป็นคน ยักษียักษาคงเป็นทายาทรุ่นสองที่มีที่มาในการสานต่อธุรกิจ ได้เปรียบกว่าตรงที่มีภูวาราอยู่เบื้องหลัง ภูวารามีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมทุกอย่าง อีกทั้งยังพื้นที่ที่ทำให้แม็กได้ลองผิดลองถูกจนสะสมบทเรียนมาแล้วนับไม่ถ้วน 

แบรนด์เครื่องหอมจากธรรมชาติที่เล่าเรื่องกลิ่นไทยๆ ผ่าน ‘ยักษ์ทศกัณฑ์’ กับความตั้งใจสร้างความสุขให้ทั้งคนรับและคนทำ

“นี่เป็นความโชคดีของยักษียักษา” เขาเชื่ออย่างนั้น 

แม้จะดึงเอาความสำเร็จของแบรนด์พี่มาอุดรอยรั่วให้แบรนด์น้องได้ แต่แม็กเล่าว่าทั้งสองกำลังเดินไปบนถนนคนละเส้น 

“ยักษียักษาแตกต่างจากภูวารามาก คราวนี้โจทย์คือทำอย่างไรให้สังคมอยู่ได้ เราต้องทำกำไรแค่พอเหมาะ พอให้เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องคิดไปถึงว่าแต่ละบ้านต้องปลูกดอกกุหลาบกี่ต้น คุณลุงดูแลไหวไหม คุณลุงแฮปปี้ไหม บ้านนี้ทำหน้ายักษ์ได้วันละกี่หน้า แม่พิมพ์พอไหม ถ้าไม่พอเราต้องทำเพิ่มอีก มีการลงทุนในแบบที่ภูวาราไม่มี มันเลยมีการจัดการคนละแบบอย่างสิ้นเชิง”

แน่นอนว่าโจทย์ที่หินกว่าเป็นของยักษียักษา เพราะครั้งนี้เขาไม่สามารถจัดการทุกอย่างให้เป็นดั่งใจเหมือนครั้งก่อน

แบรนด์เครื่องหอมจากธรรมชาติที่เล่าเรื่องกลิ่นไทยๆ ผ่าน ‘ยักษ์ทศกัณฑ์’ กับความตั้งใจสร้างความสุขให้ทั้งคนรับและคนทำ

“พอเข้าหน้าฝน ดอกกุหลาบออกไม่ดี เราก็บอกลุงว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวพอต้นมันโตมันก็ดีขึ้น อย่างช่วง COVID-19 ส่งของลำบาก เราก็บอกลุงว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเราพอมีค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ ให้ เราต้องปรับตามชุมชนอยู่ตลอดเวลา”

อีกหนึ่งโจทย์ที่ทำเอาเขาเหงื่อตกคือการสื่อสารกับคนใน ส่วนที่ยากที่สุดของการทำเครื่องหอมคือขั้นตอนการสกัด แต่ความยากเบื้องหลังการปรุงน้ำหอมคุณภาพดีที่สุดอย่างที่เขาคิดไว้ คือการพูดคุยกับทุกคนในขั้นตอนการผลิตทั้งหมด

“แม้แต่การผลิตเรายังต้องการการสื่อสารที่ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำงานกับคน ไม่ใช่ไปสั่งเขาว่าให้ทำแบบนั้น แบบนี้ แต่เราต้องเข้าไปสร้างแรงบันดาลใจ บอกคุณลุงว่าต้องปลูกแบบไหน เดี๋ยวพอกุหลาบออกดอก เรามารับซื้อ มันก็จะสร้างรายได้ให้คุณลุงได้นะ ถ้าบอกแบบนี้คุณลุงก็จะตั้งใจปลูก อาจมีบ้างที่เรากำชับไม่ให้คุณลุงใช้ปุ๋ยเคมี เพราะมีสถาบันมาคอยรองรับคุณภาพเราตลอด แต่ถ้าใช้วิธีการสั่ง เขาจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าโน้มน้าวให้เขาทำอย่างมีความสุข เขาก็จะใส่ใจและใส่ความรักให้กับเราด้วย”

ยักษียักษา แบรนด์เครื่องหอมที่ใช้ดอกกุหลาบจากแปลงสวนหน้าบ้านผู้สูงวัยในชุมชน

พูดอย่างไรให้เข้าใจกันที่สุด

“ตั้งใจให้มีแปดกลิ่นที่ชื่อคล้องจองกัน”

ไทยดำริ ปิยรัญจวน อวลคนสุธา คือ 3 กลิ่นแรกของยักษียักษาที่คล้องจองกัน แต่ละกลิ่นมีเรื่องราวเบื้องหลังเป็นนิยายเรื่องสั้นที่บอกเล่าที่มาที่ไป ไม่เพียงแต่อบอวลอยู่ในโสตประสาท แต่แม็กยังอยากให้เรื่องราวของดอกไม้และความเป็นไทยที่เขาเล่าผ่านยักษ์ทศกัณฐ์อบอวลอยู่ในใจของคนใช้อีกด้วย 

คาเฟ่ที่ประจวบฯ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เขาตั้งใจให้ที่นั่นเป็นศูนย์การเรียนรู้ และเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้คนเข้ามาทำความรู้จักกับยักษียักษา ชวนมาจิบชากุหลาบที่รู้ว่ามาจากสวนของบ้านไหน กินขนมไทยที่ทำจากฝีมือคนในชุมชน นี่เป็นอีกช่องทางที่เขาใช้เล่าเรื่อง

“แบรนด์เครื่องหอมของไทยมีเยอะมาก บางทีเราอินของเราคนเดียว แต่คนอื่นเขาไม่ได้อินกับเราด้วย นี่คืออุปสรรคที่ว่าเราจะสื่อสารอย่างไรให้คนรับรู้เรื่องของเราได้ และอยากมาสัมผัสสิ่งนี้ให้มากขึ้น เราอยากให้มันเป็นของที่ระลึกประจำประเทศไทย อยากให้สื่อสารถึงคนทั่วโลกได้ เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยและสังคมโลก นั่นแหละคือเป้าหมายของยักษียักษา ถ้ามันไปถึงตรงนั้นได้ เราเชื่อว่าเดี๋ยวธุรกิจมันจะเติบโตไปได้เอง” 

สำหรับแม็กแล้ว ยักษียักษาคืองานชิ้นเอกที่เขาบรรจงสร้างทุกขั้นตอนอย่างละเอียดลออ โดยหวังว่าจะกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่เฉียดเข้าใกล้คำว่าสมบูรณ์แบบที่สุด และเป็นแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจอื่นๆ ที่อยากอยู่ร่วมกับชุมชนให้ยั่งยืนได้แบบเขา และที่สำคัญคือ ไม่ลืม ‘ความสุข’ ของผู้คนบนนถนนทั้งสายที่ยึดเอาไว้เป็นที่ตั้ง

“เราอยากออกแบบธุรกิจให้มีความสุข เชื่อว่านี่เป็นโจทย์ในดวงใจของใครหลายๆ คนเหมือนกัน แต่เขาอาจไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เราจึงทำยักษียักษาอย่างพิถีพิถัน เราคิดว่าถ้าคนอื่นอยากมาทำแบบเรา เขาสามารถถอดบางช่วง บางตอนของยักษียักษาไปใช้ได้ ตอนนี้ยักษียักษาอาจจะโตช้าเดินไปช้าๆ แต่เราเชื่อว่าการเดินช้าๆ ของเราจะมั่นคงและมีความสุข”

“เราอยากเห็นชาวบ้านได้ปลูกดอกไม้ เก็บดอกไม้ แล้วมีรายได้ ตอนเช้าผู้สูงอายุลุกขึ้นมานั่งทำงานแล้วเขามีความสุข รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ ยังมีความสามารถ เขาเกิดความภาคภูมิใจและเกิดรอยยิ้ม ทุกคนมีรอยยิ้มในการทำงาน เท่านั้นแหละสิ่งที่เราอยากเห็นมันคือสิ่งเล็กๆ ที่มีพลัง”

แม็ก - พรหมพิริยะ หงษ์ยนต์, ยักษียักษา

ยักษียักษา 

Facebook : ยักษียักษา YaksriYaksaa

Instagram : yaksriyaksaa

Writer

Avatar

ซูริ คานาเอะ

ชอบฟังมากกว่าพูด บูชาของอร่อย เสพติดเรื่องตลก และเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะอ่านหนังสือดีๆ ให้ครบทุกเล่ม

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ