ในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ ผู้ประกอบการหลายท่านกำลังใช้ความพยายามอย่างหนักในการประคับประคองธุรกิจของตนให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ไม่มีใครเคยโดนบทเรียนกะทันหันเช่นนี้มาก่อน ไม่มีใครตอบได้ว่าโรคนี้จะสงบลงเมื่อไร สถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อไร

Makoto Marketing บทนี้ จึงขอเสนอเรื่องราวของบริษัทหนึ่งที่เผชิญกับวิกฤตทางธรรมชาติที่รุนแรงมาก จนสิ่งที่สร้างสมมา 200 ปี อันตรธานหายไปภายในคืนเดียว 

สิ่งที่บริษัทนี้ยังหลงเหลืออยู่คืออะไรบ้าง และสองพ่อลูกมีวิธีการก้าวข้ามผ่านวิกฤตนั้นได้อย่างไร

จุดกำเนิดร้านมิโสะ 200 ปี

ในสมัยปลายยุคเอโดะ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ของไทย) มีโรงผลิตเหล้าเล็กๆ แห่งหนึ่งกำเนิดขึ้นในเมืองริคุเซนทาคาตะ จังหวัดอิวาเตะ ใน ค.ศ. 1807 ชื่อร้าน ‘ยากิซาวะโชเท็น’ (八木澤商店) หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทก็เริ่มผลิตมิโสะและโชยุ (ซีอิ๊ว) ด้วย เนื่องจากใช้กรรมวิธีการหมักคล้ายกับการทำเหล้าสาเก

ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายควบคุมสาเก บริษัทยากิซาวะโชเท็นจึงตัดสินใจเลิกผลิตสาเก และหันมาผลิตมิโสะกับโชยุแทน 

วิธีพลิกวิกฤตของ ยากิซาวะโชเท็น Yagisawa Shoten บริษัทโชยุ 200 ปีที่ถูกสึนามิซัดเหลือ 0 โดยไม่ลดคน จ่ายเงินเดือนเต็ม

ยากิซาวะโชเท็น เป็นร้านทำมิโสะด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายปริมาณมากๆ เหมือนแบรนด์อื่น แต่ลูกค้าจำนวนมากตกหลุมรักในกลิ่นหอมและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่คนในจังหวัดอิวาเตะเอง รวมถึงคนตามเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียว

ปัจจุบันบริษัทผลิตเครื่องปรุงที่หลากหลาย เช่น น้ำจิ้มซอสงา น้ำจิ้มพองสุ ชื่อสินค้าบางรุ่นของร้านก็น่ารักมาก เช่น ‘ชีวิตฉันที่มีเธอ’ (ซุปดาชิ) ‘ซีอิ๊วปาฏิหาริย์’ หรือสินค้าขายดีอย่าง ‘ถ้าไม่มีเธอ ฉันคงแย่แน่’ (โชยุผสมยุสุ) นี่คือชื่อสินค้าจริงๆ 

วิธีพลิกวิกฤตของ ยากิซาวะโชเท็น Yagisawa Shoten บริษัทโชยุ 200 ปีที่ถูกสึนามิซัดเหลือ 0 โดยไม่ลดคน จ่ายเงินเดือนเต็ม
ภาพ : yagisawa-s.jp

ทุกอย่างไปได้ดี… จนวันหนึ่ง 

จาก 200 ปี เหลือแต่ศูนย์

วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.​ 2011 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในเขตโทโฮคุ เมืองริคุเซนทาคาตะ เป็นเมืองที่ประสบภัยสึนามิหนักมาก มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายกว่า 1,800 คน จากประชากรทั้งหมด 24,000 คน มีบริษัท 604 บริษัท จาก 699 บริษัทที่ประสบภัยพิบัติ

หนึ่งในนั้น คือยากิซาวะโชเท็น

กระแสน้ำได้พัดพาโรงงาน คลังสินค้า เครื่องจักร ไปหมด และกรรโชกวัตถุดิบมีค่าอย่างเมล็ดถั่วเหลือง ตลอดจนเชื้อราที่ใช้ในการหมักซีอิ๊วไป 

ถังไม้ขนาดยักษ์​เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตรที่ใช้มาตลอด 150 ปีถูกพัดหายไปบ้าง ไปเกยอยู่ตรงเชิงเขาบ้าง 

ไม่มีอะไรที่นำกลับมาใช้ได้เลย 

วิธีพลิกวิกฤตของ ยากิซาวะโชเท็น บริษัทโชยุ 200 ปีที่ถูกสึนามิซัดเหลือ 0 โดยไม่ลดคน จ่ายเงินเดือนเต็ม

ถังหมักมิโสะของร้านยากิซาวะ ที่ถูกพัดเสียหาย

คุณคาสึโยชิ โคโนะ ประธานรุ่นที่ 8 อยู่โตเกียวในวันนั้นพอดี ภายหลังท่านได้เขียนเล่าถึงเหตุการณ์ไว้ดังนี้

กว่าผมจะได้กลับไปที่บริษัทก็หลังจากเหตุการณ์สองถึงสามวัน ผมยังรู้สึกเหมือนได้กลิ่นมิโสะอ่อนๆ ในสายลมอยู่เลย 

“ตอนนั้นผมคิดว่า ร้านยากิซาวะจบเห่แล้ว เมืองก็เสียหาย แม้แต่อาคารที่เป็นคลังสินค้าที่เคยตั้งตระหง่านอยู่ตรงนี้ก็ไม่มี ป้ายร้านก็จมดินไปกว่าครึ่ง ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ผมยังพาแขกเดินชมโรงงานอยู่เลย ยังเล่าเรื่องกรรมวิธีการหมักซีอิ๊วโบราณและเสน่ห์ของโชยุอยู่เลย 

สิ่งที่อยู่ตรงหน้าผมเมื่อไม่กี่วันก่อน ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ตอนนั้นผมเผลอพูดลอยๆ ออกมาว่า ‘คงต้องเลิกกิจการแล้วล่ะ’

“แต่ลูกชายผมไม่ยอม เขาบอกว่า ยังไงผมจะพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาให้ได้ อย่าปลดพนักงานออก ผมจะทำให้ทั้งบริษัทนี้และเมืองนี้อยู่รอดให้ได้

“ขนาดลูกชายผมยังพูดขนาดนี้ …ผมเองก็ต้องไม่ยอมแพ้สิ! เอาล่ะ ลุกขึ้นใหม่ก็ลุกขึ้นใหม่!” 

ผ่านไปประมาณ 1 เดือน คาสึโยชิหาพื้นที่มุมหนึ่งของโรงเรียนสอนขับรถมาเป็นออฟฟิศชั่วคราว และเริ่มธุรกิจใหม่อีกครั้ง 

ในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของการทำงานหลังจากเกิดสึนามิ มีพนักงานมาทำงานได้เพียง 30 คน จากทั้งหมด 45 คน คาสึโยชิหยิบซองเงินเดือนของทุกคนออกมาจากถุงกระดาษ พร้อมพูดเสียงดังฟังชัดว่า

“ทุกคน รู้ไหมว่านี่คืออะไร ซองเงินเดือนของพวกเรายังไงล่ะ” 

พนักงานบางคนนั่งทรุดไปกับพื้น พวกเขาไม่คาดคิดว่าในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ประธานบริษัทยังอุตส่าห์เตรียมเงินเดือนครบจำนวน และใส่ซองให้อย่างประณีต 

หัวหน้าแผนกบัญชีที่ช่วยเอาเงินใส่ซองนั้น ในวันนั้น เขายังคงตามหาแม่ พี่สาว และหลานตนเอง ไม่เจอด้วยซ้ำ แต่คิดถึงประธานและเพื่อนพนักงาน จึงช่วยอย่างเต็มที่ 

ท่านประธานพูดต่อว่า 

“อย่างที่ทุกคนทราบดี บริษัทนี้ไม่สามารถทำมิโสะหรือโชยุในตอนนี้ แต่เราจะต้องกลับมาลุกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง คนในเมืองเองก็ทยอยอพยพกลับมากันแล้ว กว่าจะถึงตอนนั้น พวกเรามารวมตัวกันตรงนี้ ขายอะไรเท่าที่จะขายได้เพื่อประทังชีวิตไปกันนะ” 

ในตอนนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้ผู้ประกอบการปลดพนักงานออกก่อน หลังฟื้นตัวได้ค่อยกลับไปจ้างใหม่ แต่ท่านประธานก็ยังคงจ้างงานทุกคนเหมือนเดิม ไม่มีการประกาศลดคนหรือขอให้คนลาออกแต่อย่างใด คนที่ตกใจกับข่าวนี้มากที่สุดก็คือพนักงานบริษัทยากิซาวะนั่นเอง 

“มีอีกเรื่องที่ต้องแจ้ง คือหลังจากนี้ ลูกชายผม มิชิฮิโระ จะขึ้นมาเป็นประธานแทน ขอบคุณมากครับ” 

ท่านประธานคาสึโยชิพูด ก่อนถอยตนเองกลับไปอยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเป็นที่ปรึกษาแทน 

วิธีพลิกวิกฤตของ ยากิซาวะโชเท็น Yagisawa Shoten บริษัทโชยุ 200 ปีที่ถูกสึนามิซัดเหลือ 0 โดยไม่ลดคน จ่ายเงินเดือนเต็ม

ท่านประธานใหม่… วัย 37 ปี

ในตอนนั้น มิชิฮิโระ คาโนะ กลับมาช่วยงานที่บ้านได้ประมาณ 10 ปีแล้ว เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน พ่อของเขาถ่ายโอนอำนาจการเลือกพนักงานและอำนาจตัดสินใจในการทำธุรกรรมกับธนาคารให้กับมิชิฮิโระแล้ว แต่มิชิฮิโระกลับเพิ่งยกมืออาสาเป็นประธานบริหารบริษัทหลังเหตุการณ์สึนามิครั้งนี้ 

“ที่ผมทำแบบนั้น เพราะผมเข้าใจดีว่า ทั้งพนักงาน ธนาคาร และพาร์ตเนอร์เราคงเป็นห่วงว่าร้านยากิซาวะจะดำเนินธุรกิจต่อได้อย่างไร แต่หากทุกคนรู้ว่ามีประธานคนใหม่เข้ามารับตำแหน่ง ทุกคนน่าจะรู้สึกดีว่า อย่างน้อยร้านยากิซาวะคงพยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อให้อยู่รอดให้ได้” มิชิฮิโระกล่าว

ในช่วงที่อพยพหนีภัยสึนามินั้น มิชิฮิโระได้สังเกตเห็นพลังบางอย่างในตัวพนักงานบริษัทตนเอง 

“ผมคิดว่า ทุกคนทำได้ยอดเยี่ยมมากเลยครับ ตอนที่เราอพยพกันอยู่นั้น เราช่วยกันพยุงคุณยายแถวบ้านขึ้นเขาไปด้วยกัน ตอนไปถึงที่อพยพ เราเก็บกิ่งไม้มาเป็นฟืนบ้าง ช่วยกันตักน้ำบ้าง 

“พอมีใครบอกว่า ตรงหุบเขามีเด็กอนุบาลติดอยู่นะ ทุกคนก็พร้อมใจกันเฮโลไปช่วย ตอนนั้น ผมรู้สึกว่าผมอยากทำงานกับพนักงานกลุ่มนี้ไปตลอดชีวิต ถ้ามีพนักงานแบบนี้อยู่ ยากิซาวะต้องฟื้นตัวได้แน่ๆ” 

แม้ร้านมิโสะโชยุยากิซาวะจะเป็นบริษัทเล็กๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเขามีก็คือคน หากไม่มีคน คงไม่มีทางฟื้นฟูร้านจากภัยสึนามิได้เป็นแน่

สองพ่อลูกตระกูลคาโนะจึงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะรักษาบริษัท 200 ปีแห่งนี้ไว้ให้ได้ ในวันที่พวกเขาไม่เหลืออะไรในมือ นอกจากพนักงาน

วิธีพลิกวิกฤตของ ยากิซาวะโชเท็น yagisawa บริษัทโชยุ 200 ปีที่ถูกสึนามิซัดเหลือ 0 โดยไม่ลดคน จ่ายเงินเดือนเต็ม

หัวเชื้อที่หายไป

กรรมวิธีในการทำซีอิ๊วนั้น เริ่มจากการนำถั่วเหลืองกับข้าวมาคั่ว แล้วนำไปบ่มประมาณ 3 วัน จากนั้นจึงนำถั่วที่บ่มไปผสมกับน้ำเกลือ แล้วนำไปหมักต่ออีก 1 ปี ถั่วที่บ่มนี้ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘โมโรมิ’

โรงซีอิ๊วแต่ละแห่งทำรสชาติให้ต่างกันได้ด้วยโมโรมิกับถังไม้ แต่ของสำคัญทั้งสองอย่างนี้ถูกพัดพาสูญหายไปกับสายน้ำแล้ว

ในขณะที่ทุกคนในบริษัทถอดใจว่า ‘รสชาติแบบยากิซาวะ’ จะหายไปจากโลกนี้แล้ว วันหนึ่ง มีโทรศัพท์จากศูนย์วิจัยอาหารในจังหวัดอิวาเตะติดต่อเข้ามา พวกเขาเคยขอโมโรมิของร้านยากิซาวะไปวิจัย เนื่องจากเป็นรสชาติและกรรมวิธีแบบดั้งเดิม 

พวกเขาพบว่า ในซีอิ๊วของร้านยากิซาวะมีกรดอะมิโนแบบพิเศษที่ช่วยป้องกันมะเร็งได้ และข่าวดีที่สุดสำหรับสองพ่อลูกคือ แม้ศูนย์วิจัยจะประสบภัยพิบัติด้วย แต่โมโรมิของร้านยากิซาวะปลอดภัยดี มีโมโรมิเหลืออยู่ที่ศูนย์วิจัย 4 กิโลกรัม แม้เป็นปริมาณที่ไม่มาก แต่ก็เพียงพอที่จะบ่มเพาะเพิ่มได้ 

ส่วนถังไม้นั้น โชคดีที่ทางบริษัทสกัดและเก็บจุลินทรีย์ที่จำเป็นในการหมักมาเพาะได้ 

แม้จะต้องใช้เวลาบ่มเพาะจุลินทรีย์และโมโรมิประมาณ 2 – 3 ปี และต้องใช้เวลาถึง 20 ปี กว่าจะทำรสชาติแบบเดิมขึ้นมาอีกได้ สองพ่อลูกก็ยังพอมีของสำคัญในมือที่จะผลิตโชยุและมิโสะต่อไป

ลุกขึ้นสู้ 

วิธีกอบกู้ธุรกิจให้ฟื้นตัวได้นั้นมีสองทาง หนึ่ง คือสร้างรายได้ สอง คือลดค่าใช้จ่าย 

สำหรับด้านวิธีการหารายได้นั้น ชิมิฮิโระตัดสินใจทำสิ่งที่ร้านเครื่องปรุงเก่าแก่ในอดีตคงไม่ยอมทำเด็ดขาด นั่นคือการรับจ้างผลิต (OEM) นั่นเอง รสชาติซีอิ๊วที่ไม่เหมือนเดิม อาจทำให้ยากิซาวะไม่กล้าแปะฉลากแบรนด์ตนเองลงบนขวด แต่ก็รอถึง 20 ปีไม่ได้

มิชิฮิโระตัดสินใจติดต่อโรงทำโชยุในจังหวัดอากิตะที่เคยรู้จักกันอยู่แล้ว โรงงานแห่งนี้เป็นบริษัทที่ทำโชยุด้วยวิธีโบราณเช่นกัน และเห็นความสำคัญของการรักษารสชาติเช่นนี้ จึงช่วยผลิตเป็นพันขวด ทั้งๆ ที่ร้านนี้ไม่เคยยอมผลิตแบบค้าส่งเช่นนี้มาก่อน 

ร้านยากิซาวะได้สินค้า OEM มาในเดือนพฤษภาคม และเริ่มวางจำหน่ายหลังภัยพิบัติเกิดขึ้นเพียง 2 เดือน ระหว่างนั้นก็สร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้น ช่วงเดือนธันวาคม ยากิซาวะไปเจรจาขอยืมโรงงานในเมืองเดียวกันเพื่อผลิต และหลังจากเกิดภัยพิบัติได้ 1 ปีกับ 2 เดือน โรงงานใหม่ของบริษัทยากิซาวะก็เสร็จสมบูรณ์​

ก่อนเกิดภัยพิบัติ มิชิฮิโระเป็นกำลังสำคัญของกลุ่มสมาพันธ์นักธุรกิจรายเล็ก ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 88 คนอยู่แล้ว พวกเขามีอุดมการณ์ร่วมกันว่า “จะไม่ปล่อยให้ใครล้มละลายแม้แต่บริษัทเดียว”

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ มิชิฮิโระก็รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ธนาคารลงบนกระดาษแผ่นเดียว ถ่ายเอกสาร แล้วนำไปแจกตามศูนย์อพยพต่างๆ เพื่อให้เจ้าของธุรกิจโทรไปต่อรองเรื่องการชำระสินเชื่อกับธนาคารได้ทันเวลา 

นอกจากนี้ มิชิฮิโระยังเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงานและสวัสดิการสังคมมาให้คำปรึกษา โดยจัดเป็นสัมมนา ทำให้เขาและผู้ประกอบการเห็นวิธีลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ระบบเงินสนับสนุนการจ้างงาน ซึ่งจะมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายอยู่ฝ่ายเดียว 

ค่อยๆ ลุก ค่อยๆ ก้าว ค่อยๆ เดิน

วิธีพลิกวิกฤตของ ยากิซาวะโชเท็น yagisawa บริษัทโชยุ 200 ปีที่ถูกสึนามิซัดเหลือ 0 โดยไม่ลดคน จ่ายเงินเดือนเต็ม

ซีอิ๊วปาฏิหาริย์

ใน ค.ศ.​2013 2 ปีหลังจากเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ ร้านยากิซาวะออกซีอิ๊วใหม่รุ่นหนึ่ง ชื่อ ‘ซีอิ๊วปาฏิหาริย์’ เป็นซีอิ๊วหมักจากโมโรมิที่เหลือรอดจากภัยพิบัติแล้วนำมาเพาะเพิ่มจำนวน ทางบริษัทยังเลือกใช้ถั่วเหลืองจากเกษตรกรในจังหวัดอิวาเตะ เพื่อเป็นการสนับสนุนท้องถิ่น 

วิธีพลิกวิกฤตของ ยากิซาวะโชเท็น Yagisawa Shoten บริษัทโชยุ 200 ปีที่ถูกสึนามิซัดเหลือ 0 โดยไม่ลดคน จ่ายเงินเดือนเต็ม
ภาพ : www.yagisawa-s.co.jp

มิชิฮิโระยังสร้างระบบการจ้างงานคนในท้องถิ่น แต่ก่อนเมื่อหนุ่มสาวในเมืองเรียนจบ ก็จะมุ่งหน้าไปทำงานในเมืองใหญ่ เพราะในจังหวัดอิวาเตะแทบไม่มีประกาศรับสมัครพนักงานใหม่เลย แต่มิชิฮิโระพยายามชวนเพื่อนๆ ในกลุ่มธุรกิจให้จ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ขณะเดียวกันก็เดินทางบรรยายตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้คนเห็นคุณค่าของอาหาร และท้องถิ่นตน เด็กจบใหม่มีที่ทำงาน ผูกพันกับท้องถิ่น และตั้งใจสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้ชุมชน ดังที่มิชิฮิโระและผองเพื่อนดำเนินการมา

“ผมอยากสร้างประโยชน์ให้ประเทศนี้ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ไม่ว่าที่เมืองเราหรือเมืองอื่น เราจะทำอะไรได้บ้าง นี่คือสาเหตุที่ทำไมเราถึงต้องฟื้นตัวให้ได้ในวันนี้ อาจเรียกว่า คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ของพวกเราก็ได้ครับ” 

บทเรียนจากบริษัท 200 ปี

  1. วิกฤต อาจทำลายข้าวของ สินทรัพย์ ได้ แต่ทำลายพลังใจของคนไม่ได้
  2. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มิชิฮิโระสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประกอบการรายอื่นในชุมชน รวมถึงบริษัทอื่นที่อยู่ในวงการเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุ จึงมีผู้ให้ความช่วยเหลือมาก หรือร่วมแรงร่วมใจร่วมคิดวิธีแก้ปัญหาได้ 
  3. วิกฤต เป็นโอกาสที่ทำให้เห็นความงดงามของคนและได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างแท้จริง ดังเช่นที่มิชิฮิโระเห็นพนักงานตนเป็นจิตอาสาไปช่วยผู้อื่น 
  4. วิกฤต เป็นโอกาสที่ดีในการแสดงน้ำใจต่อพนักงานและได้ใจพนักงาน ดังเช่นคุณพ่อคาสึโยชิที่พยายามหาทางจ่ายเงินเดือนพนักงาน 
  5. ในระยะสั้น ผู้ประกอบการต้องรีบหาวิธีลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด เช่น เจรจากับเจ้าหนี้ ธนาคาร หรือผู้ให้เช่าอาคาร 
  6. ขณะเดียวกันก็หาวิธีสร้างรายได้ในระยะเวลาสั้นๆ หรือลงทุนไม่สูงเกินไป กรณียากิซาวะ คือการยอมเอาสูตรของโรงงานตนไปให้โรงงานที่เป็นพันธมิตรช่วยผลิตให้ และการไปเช่าโรงงานที่ไม่ได้รับความเสียหาย 

ภาพ : www.1101.com/tohoku_shigoto/

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย