ผมรู้จักตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ครั้งแรกในงานคอนเสิร์ตของพาราด็อกซ์เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน

ตอนนั้นผมยังทำงานที่แฟตเรดิโอ ผมทำคอนเสิร์ตชื่อ Fat Live Paradox Circus เพราะโดยส่วนตัวเวลาดูคอนเสิร์ตของวงนี้ให้ความรู้สึกเหมือนดูละครสัตว์มากกว่าดูโชว์ของวงดนตรี ทั้งเพลงที่ร้อง ชุดที่ใส่ บรรดาว้ากเกอร์ (อยากจะเรียกว่าสัมภเวสีมากกว่า) ที่วิ่งพล่านไปทั่วเวที และกิจกรรมบนเวทีที่คนดีๆ เขาไม่ทำกัน หรือถ้าทำก็จะไม่ขึ้นไปทำบนเวทีคอนเสิร์ต ตัววงเองก็ไม่ปฏิเสธความเห็นนี้ของผม ให้ความร่วมมือในการเตรียมงานในคอนเซปต์นี้เป็นอย่างดี

แล้วตุ๊กตาเป่าลมยักษ์มาเกี่ยวได้อย่างไร

เรื่องมีอยู่ว่า ระหว่างที่เราเตรียมงานออกแบบเวทีอยู่นั้น ผู้ดูแลอินดอร์สเตเดี้ยม สถานที่ที่เราจะจัดงานแจ้งมาว่า ก่อนเราจัดงาน 1 วัน เดวิด เบ็คแฮม จะมาเมืองไทย และจะไปสอนเด็กเตะบอลที่นั่น นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถก่อสร้างเวทีได้จนกว่าพี่เบ็คแฮมจะสอนเตะบอลเสร็จ ซึ่งก็คงจะเย็นๆ ของวันก่อนการแสดง 1 วัน

นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กซะแล้ว ถึงผมจะเป็นเด็กผี และพี่เบ็คก็เป็นนักเตะในดวงใจ แต่การสร้างเวทีคอนเสิร์ตใน 1 วันเป็นเรื่องที่ยากเกินไปสำหรับทุกคน

เดี๋ยวตุ๊กตาเป่าลมยักษ์มาแน่ๆ อ่านต่ออีกแป๊บ

หลังจากเราประชุมหาวิธีแก้ปัญหานี้อยู่นาน เราก็ได้ข้อสรุปที่ง่ายเสียจนไม่มีใครกล้าคิดมาก่อน นั่นก็คือตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ (นั่นไง มาแล้ว) เพราะเจ้าสิ่งนี้ แค่สูบลมเข้าไป มันก็จะเติบใหญ่ยืดพองแค่ไหนก็ได้ ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง เราแค่ทำพื้นเวทีไว้ให้มันไปนั่งอยู่บนนั้นก็เป็นอันเสร็จพิธี

เราจึงเจรจาต่อรองกับทางอินดอร์สเตเดี้ยมว่า วันก่อนการแสดง พี่เบ็คได้สอนเตะบอลแน่ๆ แต่ก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์เราขอสร้างพื้นเวที ติดตั้งเครื่องเสียงและแสง เอาตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ไปตั้งบนเวที และซ้อมคอนเสิร์ตกันก่อน พอถึงวันที่พี่เบ็คมา เราก็เอาลมออกจากตุ๊กตา เหลือไว้แค่พื้นเวที เครื่องเสียงและแสง ในวันงานของพี่เบ็คก็ใช้ทุกสิ่งเหล่านี้ได้เลยไม่ต้องสร้างใหม่ ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เรื่องจึงจบลงด้วยดี และนำไปสู่เรื่องดีๆ ในชีวิตผมต่อมาอีกมากมาย

ป้าอ้วน

ตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ตัวแรกที่เราสร้างขึ้นชื่อ ‘ป้าอ้วน’ เพราะหน้าตาเหมือนป้าอ้วนๆ นั่งกองอยู่กับพื้น สูงประมาณ 5 – 6 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร ทำด้วยไวนิลสีขาวล้วน ออกแบบโดยคุณ แจ๊ค-ปิติพงษ์ เชาวกุล คนเดียวกันกับที่ออกแบบเวทีวัวในงาน Big Mountain และอีกหลายๆ เวทีในงานที่ผมจัด

พวกเราทุกคนหลงรักป้าอ้วนมาก เพราะป้าอ้วนเลี้ยงง่าย แค่มีพัดลมใหญ่ๆ แบบที่เราเห็นตามร้านราดหน้าสัก 3 – 4 ตัวเป่าลมเข้าพุงแกไม่นาน จากที่แกแบนราบอยู่กับพื้นก็จะอ้วนพองขึ้นมานั่งอย่างอารมณ์ดี เราฉายภาพลวดลายสวยๆ ไปที่ตัวแกแกก็ไม่โกรธ แกตั้งใจทำงาน ไม่อู้ ไม่บ่น

ความเจ๋งของป้าอ้วนอีกอย่างคือ เราเก็บแกไว้ใช้ในงานต่อๆ ไปได้ด้วย จบงานคอนเสิร์ตพาราด็อกซ์ เราก็เอาแกไปนั่งในงานแฟตเฟสที่สวนสยามให้คนมากราบไหว้และถ่ายรูปด้วย เสียดาย ยุคนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก ไอจี ไม่งั้นคงได้เห็นรูปป้าแกเต็มฟีดไปแล้ว และเพราะความว่านอนสอนง่าย ขยันหมั่นเพียร ของป้าอ้วน ทำให้ในหลายๆ งานต่อมาผมใช้ตุ๊กตาเป่าลมเป็นส่วนประกอบหลักของเวทีคอนเสิร์ตอีกบ่อยๆ

Big Mountain
Big Mountain

ตอนทำ Big Mountain ครั้งแรกเรามีเวที Distric 9 ที่มี UFO เป่าลมลอยอยู่เหนือเวที และเก็บไว้ใช้ต่อมาอีก 3 – 4 ปี ตอนทำคอนเสิร์ต พาราด็อกซ์ผงาดง้ำค้ำโลก ก็มีตุ๊กตาห่านยักษ์วางไว้ที่สองข้างเวที ซึ่งต่อมาก็มาทำงานต่อที่ Big Mountain ในนามเวทีห่านอีก 2 ปี ประสบความสำเร็จดีทุกครั้ง

Big Mountain
คอนเสิร์ต

พวกเราทีมแก่นทุกคนหลงรักตุ๊กตาเป่าลมยักษ์กันจับใจ แต่ทำไมเราไม่เคยคิดจัดงานที่ว่าด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก เผื่อจะมีคนหลงรักมันเหมือนกับเรา

แล้วมันจะดีขึ้นอีกไหม ถ้าผู้ที่มาช่วยออกแบบตุ๊กตาเป่าลมยักษ์เหล่านั้นเป็นศิลปินที่คุณๆ รู้จักกันดีจากงานต่างๆ ของพวกเขา บางคนคุณอาจจะรู้จักจากหนังสือการ์ตูน บางคนจากงานกราฟฟิตี้ บางคนจากภาพประกอบในหนังสือ

ชื่อแบบ วิศุทธิ์ พรนิมิต, โลเล, ยุรี เกนสาคู, Rukkit, P7 หรือ Alex Face อะไรประมาณนี้ ถ้าเขาต้องมาออกแบบตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ในแบบของตัวเอง เอามาวางเรียงกันในโลเคชันสวยๆ อากาศดีๆ มีนู่นมีนี่ให้ดูให้ทำเยอะแยะ ฟังดูดีไหมครับ

Big Mountain
Big Mountain

อยากรู้เพิ่มอีกไหม เรากำลังเตรียมงานนี้อยู่ล่ะ ตอนนี้ตื่นเต้นกันมาก อยากเล่าต่อตอนนี้เลย แต่เดี๋ยวจะยาวไป กลัวคนไทยอ่านไม่จบ รออ่านต่อนะ อีกแป๊บเดียวเดี๋ยวจะมาเล่าต่อ 🙂

อ้อ ลืมบอกไป เราตั้งชื่องานไว้แล้วด้วยล่ะ ชื่อว่า ‘YAK Fest’ อ่านว่ายักษ์เฟสนะ

ชอบใช่ไหมล่ะ นั่นแหละ เราก็ชอบเหมือนกัน

Writer

Avatar

ยุทธนา บุญอ้อม

ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม เสาหลักของวงการเพลงอินดี้ไทย ผู้ก่อตั้งรายการวิทยุ FaT Radio รวมถึงเทศกาลดนตรีระดับตำนานของเมืองไทยอย่าง FaT Festival มาจนถึง Big Mountain และเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่งานใหม่ล่าสุดของประเทศไทย YAK Fest