เพลงรักจากพลังงานสะอาด คือแคมเปญที่ทำให้เรามานั่งอยู่หน้าจอตอนนี้
มือเสิร์ชยูทูบ รับชมมิวสิกวิดีโอเพลง เป็นเธอ (Brighter Sky) ของ วี-วิโอเลต วอเทียร์
ถ้าไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าเพลงนี้ทำขึ้นอย่างมีวัตถุประสงค์ เพราะฟังดูแล้วเหมือนเพลงรักทั่วไป ราวกับภาคต่อเพลงดังของเจ้าตัวด้วยซ้ำ ไม่มีคำว่าไฟฟ้าหรือพลังงานในเนื้อสักท่อน อีกทั้งกระบวนการที่พิเศษสุด ๆ อย่างการถ่ายทำเอ็มวีด้วยรถเทรลเลอร์กักเก็บพลังงานเพียงคันเดียว ก็ยังเฉลยให้เห็นในตอนท้ายสุด
ขนาดเอเจนซี่โฆษณาที่ได้รับมอบหมายอย่าง Dentsu ยังกลับมาพร้อมการบ้านว่า ลูกค้าเจ้านี้เป็นแบรนด์ที่มีลักษณะนิสัยแบบ Show, don’t tell
เรากำลังพูดถึง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติที่ดำเนินธุรกิจใน 10 ประเทศทั่วโลก
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่บ้านปูหันมาทำแคมเปญเพื่อบอกทุกคนว่า พลังงานสะอาดจากบ้านปูอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และเลือกคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เพราะเชื่อว่าพวกเขาจะเป็นกำลังหลักของโลกอนาคต
แต่ก่อนไปพูดถึงเบื้องหลังแคมเปญ เรามาไขข้อสงสัยว่าจะเล่าเรื่องพลังงานสะอาดที่ฟังดูเข้าใจยากให้ง่ายขึ้นยังไงกันก่อน
“ต้องตีคำว่า พลังงาน ออกมาเป็นสิ่งที่เขากำลังเข้าถึงอยู่ ต้องให้เห็นปลายทางว่ามันไปออกที่ไหน เช่น ไฟฟ้า แสงสว่าง แม้กระทั่งการรีดผ้า ขับรถ ก็เกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพลังงานรูปแบบใด
“พลังงานสะอาดถือเป็นโจทย์สำหรับโลกอนาคต เพราะเราต้องดูแลโลกให้ดียิ่งขึ้น แต่เดิมรถเคยใช้น้ำมันก็เปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้า เป็นต้น”
เราพยักหน้าไปพลางร้องอ๋อ และหวังว่าคุณคนอ่านจะมองเห็นภาพชัดขึ้น เพราะคนที่อธิบายให้คุณฟังไปเมื่อครู่ คือ รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – ฝ่ายสื่อสารองค์กร (Head of Corporate Communications) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
“เราต้องหาวิธีการสื่อสาร”
รัฐพลเริ่มต้นด้วยการย้อนความให้ฟังว่า บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานที่เติบโตจากประเทศไทย ก่อนจะขยับขยายธุรกิจและดำเนินงานในระดับนานาชาติเป็นส่วนใหญ่
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อบ้านปูหันกลับมาทำธุรกิจในประเทศ และปรับองค์กรให้อยู่ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter คือการทำธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และทำธุรกิจให้สมาร์ทขึ้น ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวองค์กร แต่คนที่ได้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดก็จะใช้ชีวิตอย่างสมาร์ทด้วย
เมื่อบ้านปูเลือกที่จะเดินทางนี้ โปรดอย่าลืมว่าพลังงานเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ไกลตัว แตกต่างจาก Consumer Product อื่น ๆ ที่หยิบจับได้ มองเห็นชัด ทั้งที่ความจริงที่ซ่อนอยู่นั้นตรงกันข้าม
หลอดไฟปิ๊งไอเดียจึงสว่างวาบที่รัฐพล “ทำยังไงให้รู้ว่าบ้านปูอยู่ใกล้พวกคุณมากกว่าที่คุณคิด” กลายเป็นโจทย์ใหญ่
เขาย้ำกับเราหลายครั้งตลอดการสนทนาว่า บ้านปูไม่ได้ขายสินค้า แต่พวกเขาขายการแก้ไขปัญหา
เพราะความจริงคือ บ้านปูมีส่วนสำคัญในการสร้างพลังงานในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีรถเทรลเลอร์กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ที่รุดช่วยจ่ายไฟเสมอยามภัยมา พัฒนาโซลาร์รูฟท็อป บริการรถรับส่งมูฟมี แม้กระทั่งเรือไฟฟ้าสำหรับการท่องเที่ยว แต่ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรก็พูดกับเราตามตรงว่า “มันอาจจะไม่ตอบโจทย์แบรนด์ ในด้านของการเข้าถึงและมีประสบการณ์ร่วม เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเราทำ”
“เราเติบโตต่างประเทศ ทำแต่ Business-to-Business ไม่ใช่ Business-to-Customer เลยไม่ได้เข้าไปถึงกลุ่มคนรายย่อย ๆ แต่ตอนนี้วิสัยทัศน์เปลี่ยนแปลงไป เราต้องหาวิธีการสื่อสารกับเขา”
เขาในที่นี้ เดิมมี 4 กลุ่มหลักคือ ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน ลูกค้าหรือคู่ค้า พนักงาน และประชาชนทั่วไป แต่กลุ่มที่บ้านปูให้ความสำคัญมากไปกว่านั้น กลับเป็นคนรุ่นใหม่ หรือวัย Gen Z
“ถึงแม้เราจะเคยทำงานร่วมกับเขาในเชิงกิจกรรม เช่น สนับสนุนบอร์ดเกม การศึกษา ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเยาชนในด้านต่าง ๆ แต่ยังไม่เคยมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับแบรนด์โดยตรง”
เราถามผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรว่าเห็นอะไรในคนกลุ่มนี้ รัฐพลตอบอย่างมั่นใจว่า ศักยภาพ
“เขาเป็นกลุ่มที่ใส่ใจสังคมมาก มากขึ้นทุกวัน เป็นคนหาข้อมูลเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่รอบโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศ ถ้าเราสื่อสารกับเขาได้ สร้างให้เกิดแรงบันดาลใจที่ดี เขาก็จะมีแรงทำสิ่งดี ๆ ให้โลกด้วย”
แต่จะให้บริษัทพลังงานทำโฆษณาขึ้นมาเองก็กระไรอยู่ และลักษณะนิสัยของบ้านปูก็ไม่ใช่คนที่นิยมป่าวประกาศเสียด้วย
เป็นเรื่องที่แม้แต่คนที่เคยทำงานร่วมกันเพียงครั้งแรกก็ยังรู้
ใช่ Dentsu คือคนนั้น
“ความยาก ๆ ไม่เอา”
“เราอยากสร้างประสบการณ์ดี ๆ ร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ทำยังไงให้รู้ว่าเราอยู่ใกล้ตัวเขาเสมอ อีกสิ่งสำคัญคือทำให้คนรุ่นใหม่รับรู้ว่า การส่งมอบพลังงานที่ดีเพื่ออนาคตคือจุดยืนของเรา”
อาจไม่ครบถ้วนทั้งหมด แต่ใจความหลักของบรีฟคือข้อความข้างต้นไม่ผิดแน่
“จริง ๆ จะว่ายากก็ไม่ได้ยากมาก” เฟิร์น-อัญชลิกา เกตุวัฒนาไชย Associate Creative Director เกริ่นเล็กน้อย “เพราะลูกค้ามีวัตถุประสงค์ชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาต้องการอะไร กลุ่มเป้าหมายก็ชัดเจนมากว่าเป็นวัยรุ่น ดังนั้น เราต้องหาว่าไอเดียไหนจะสร้าง Brand Experience กับ Brand Engagement ให้เกิดขึ้นได้”
เรื่องที่ไม่ว่ายังไงก็ยังยาก ถ้าศัพท์ Gen Z คงเรียกว่า ‘ตัวต้นเรื่อง’ คือพลังงานสะอาดที่มองทางไหนก็ดูยากไปเสียหมด แม้แต่คน Gen Y อย่าง แมน-สิงห์ ติ้นเติมทรัพย์ Group Creative Director และ ออย-ชัชนิตย์ เย็นใจ Senior Copywriter ก็ยังประสบปัญหาคล้ายกัน
“เราคิดเหมือนกันว่า พลังงานสะอาดดูไกลตัวเรามาก รู้สึกว่า เอ๊ะ เราจะไปมีประสบการณ์ร่วมกับพลังงานได้ยังไง” แมนเล่าย้อนตอนเพิ่งได้รับโจทย์ “แต่พอลูกค้าให้ข้อมูลสิ่งที่เขาเคยทำมา มันใกล้ตัวจนเราอาจจะเคยผ่าน เคยนั่ง เคยสัมผัส เคยรับรู้ถึงมัน เพียงแค่ไม่ได้รับรู้ เราเลยอยากทำให้คน Gen Z ได้รู้สึกเหมือนกับเรา”
ออยบอกว่า สะพานที่เชื่อมหนึ่งคำกับอีกหนึ่งกลุ่มคน คือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน ที่มีพลังงานสะอาดเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่รู้ตัว
“เห็นจากอาคารบ้านเรือนก็เริ่มมีแผงโซลาร์เซลล์ รถอีวีก็เริ่มมีคนซื้อมาใช้แล้ว วัยรุ่นเริ่มตระหนักเรื่องโลกร้อนมากขึ้น เข้าไปเรียนรู้ และเริ่มปรับตัวอยู่กับพลังงานสะอาด เพราะเขามองเห็นว่าผลลัพธ์ที่ได้คือสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้การใช้ชีวิตของพวกเขาในอนาคตดีขึ้นด้วย”
คีย์เวิร์ดแรกที่เด้งขึ้นมากลางวงประชุม จึงเป็นคำว่าสนุก และต้องง่ายเข้าไว้ “ความยาก ๆ ไม่เอา ฉันจะผลักออกไปเลย” แมนเอ่ยอย่างหนักแน่น “เรามานั่งคิดและศึกษาข้อมูลเลยว่าเขาสนใจอะไร วิถีชีวิตเขาเป็นยังไง มิติไหนจะสื่อสารกับเขาได้ง่ายที่สุด”
เฟิร์นรับช่วงต่อ “เราทำการบ้านกันเยอะมาก เกือบ 10 ดราฟต์ คือ Final 1 Final 2 Final 3
“เราไม่ได้ทำงานกันแค่ 3 คน เบื้องหลังเราก็จะมีทีมกลยุทธ์ที่ช่วยรีเสิร์ชข้อมูลมาว่า เด็กวัยนี้ทำอะไรในหนึ่งวัน การแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลเป็นยังไง ฟังเพลงแบบไหน ศิลปินคนไหนที่เขาชอบ
“ในพาร์ตของครีเอทีฟ เราก็ต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดนั้นด้วยว่า ถ้าเราเป็นกลุ่มเป้าหมาย เราจะทำอะไรบ้างในหนึ่งวัน ถึงแตกเป็นไอเดียที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งการกิน การดูงานศิลป์ การทำงานอาร์ตต่าง ๆ แต่ก็มีช่องโหว่บางอย่างที่เรารู้สึกว่าเด็กทุกคนไม่ได้ชอบเหมือนกันหมด”
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ตามหา จึงกลายเป็นชิ้นที่ถูกปัดออกไปไว้หลังสุดจนเกือบนึกไม่ถึง
“เราคิดกันลึกเกินไป สุดท้ายมันกลับมาที่เรื่องเบสิก คือการฟังเพลงนั่นแหละ”
ถึงตาลูกค้ารับไอเดียการทำเพลงไปพิจารณา รัฐพลเล่าว่า บ้านปูมีการพูดคุยภายในกับผู้บริหารและคณะกรรมการหลายท่าน ซึ่งรวบรวมคนไว้หลายช่วงวัยด้วยกัน
“ท้ายที่สุด ไม่ว่าวัยไหนก็จะตอบว่าเพลงนี่แหละมันใช่ เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด”
เบื้องบนไฟเขียวแล้ว อยู่ที่ว่า ‘เพลง’ จะเป็นแค่ ‘เพลง’ รึเปล่า
“มันเป็นไปได้”
สำหรับ Dentsu การจะทำ Music Marketing คราวนี้ต่างออกไป เพราะสินค้าตัวอื่น ๆ อาจถือขึ้นมาโชว์ได้ หรือมีคำมากมายจะสื่อสารถึง แต่สินค้าของลูกค้ารายนี้กลับเป็นพลังงาน
ถ้ามันจับต้องไม่ได้ ก็ให้มันอยู่ในทุกกระบวนการของการทำเพลงที่จับต้องง่ายซะเลย
Dentsu ไม่ได้พูด แต่ดูจะเป็นเช่นนั้น
“เราจะใช้พลังงานสะอาดในทุกกระบวนการการทำเพลงนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น แต่งเพลง อัดเพลง ทุก ๆ อย่าง”
การทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนและไม่รู้ว่าเป็นไปได้ไหม หลายคนอาจหนีไปตั้งหลัก บางคนอาจส่ายหน้า แต่บ้านปูยกมือเอาด้วย
“เราคิดว่าเป็นไปได้” ขอตัดสลับไปที่รัฐพล เพื่อให้เขาได้อธิบายการตัดสินใจนั้นด้วยตัวเอง
“เราถามกระบวนการว่าเวลาอัดเพลงทำยังไง และรับเอาไปศึกษากับ Product Development ของบ้านปูที่เขามีโซลูชันเหล่านี้อยู่แล้ว เริ่มลงดีเทลกับงานโปรดักชันมากขึ้น เพราะแต่ละเครื่องดนตรีกินไฟไม่เหมือนกัน ทั้งแสง สี เสียง แล้วทีมวิศวกรก็กลับมาประมวลผล เราคิดว่าสามารถทำได้” ผู้อำนวยการย้ำความมั่นใจ
การเดินทางของแคมเปญนี้ตั้งแต่ดราฟต์แรกถึงสุดท้าย จึงเต็มไปด้วยความท้าทายว่าบ้านปูและ Dentsu จะใช้พลังงานสะอาดในเพลงตั้งแต่ก้าวที่ 1 จนถึง 100 ได้จริงหรือไม่
แต่ก่อนออกเดินไปถึงตรงนั้น คิดว่าใครเหมาะสมที่สุดที่จะทำเพลงสุดท้าทายนี้ให้คนฟังดีกว่า
“อยากให้เพลงนี้เป็นเพลงรัก”
หลังทีม Dentsu ใช้พลังสืบค้น รวบรวมข้อมูล วี-วิโอเลต วอร์เทีย คือคนแรกที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย
เพราะนอกจากจะเป็นศิลปินที่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ มีฐานแฟนคลับพอสมควร วียังเปี่ยมไปด้วยพลังบวก และสนใจเรื่องพลังงานสะอาดอีกด้วย
เราคุยกับรัฐพลภายหลัง เขาเสริมเพิ่มเติมอย่างติดตลกว่า วันที่ถ่ายทำ วียืนเต้นบนส้นสูงท่ามกลางแดดจ้าจนถึง 4 ทุ่ม ราวกับชาร์จแบตด้วยพลังแสงอาทิตย์ เห็นได้ชัดว่าบ้านปูเลือกคนไม่ผิด
แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ เป็นคนต่อมาที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย นักแต่งเพลงมือฉมังที่ถ้ามีโจทย์เพลงขวัญใจวัยรุ่นเข้ามา ก็คงหนีไม่พ้นเธอ
“ความรักมันใกล้ตัวคนมากที่สุด เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคนมีเรื่องของความรักเข้ามาเกี่ยวหมดอยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่าพาร์ตหนึ่งของความรักมันคือการมอบพลังงานดี ๆ ให้แก่กัน พอเรามาเปรียบเทียบว่าการมีบ้านปูอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็เหมือนเราได้รับพลังงานที่มันสะอาด ได้ส่งมอบความรักดี ๆ ให้กับโลก
“เราวางใจคุณแอ้มได้ระดับหนึ่งว่าเขาจะตีโจทย์เรื่องยาก ๆ ให้เป็นเพลงที่ติดหูได้” ทีมครีเอทีฟยื่นข้อเสนอ
ซึ่งแอ้มตีโจทย์แตกตามคาดการณ์ เพราะลูกค้าแทบจะแก้เนื้อร้องน้อยมาก รัฐพลเล่าให้ฟังว่าเขาชื่นชอบเพลงนี้ตั้งแต่แอ้มร้องไกด์ให้ฟัง และเชื่อมั่นว่าจะติดหูในไม่ช้า จากทักษะการแต่งเพลงที่มีชั้นเชิง บวกกับความเป็นมืออาชีพของแอ้มที่เข้าใจความต้องการของบ้านปูเป็นอย่างดี
เพราะนอกจากจะต้องทำให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่แล้ว โจทย์สำคัญจากบ้านปูคือ “ไม่อยากให้มีคำว่า พลังงานสะอาด ไฟฟ้า หรือคำตรง ๆ ที่ดูเป็นธุรกิจมากเกินไป”
เราถามผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
“ไม่อยากยัดเยียด เราอยากให้เพลงนี้เป็นเพลงรัก” เขาตอบทันที
“จะตีความอะไรในบริบทของเขาได้ทั้งหมด แต่ท้ายที่สุดมันจะกลับมาถึงแบรนด์เราเอง คนรุ่นใหม่ถ้าเขารักและเชื่อมั่นในแบรนด์อะไร เดี๋ยวเขาก็หาข้อมูลและเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้เอง
“เราอยากเป็นคนที่แค่ยืนอยู่เคียงข้างเขา อยากทำให้รู้สึกว่า การที่มีบ้านปูอยู่ใกล้ ๆ เขาจะได้รับพลังงานที่ทั้งบวก สะอาด และมีความสุข ถ้าไปยัดเยียดเขาว่า โลกเราต้องสวยงาม ต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เราว่าคนไม่ฟังเพลงหรอก และมันจะไม่ตอบโจทย์อะไรเลย”
ทำไมทั้งแคมเปญทั้งที ไม่ป่าวประกาศไปเลยว่าบ้านปูเป็นคนทำ – เราถามต่อ ยังไม่คลายสงสัยว่าเหตุใดบริษัทยักษ์ใหญ่ถึงได้ถ่อมตัวนัก
“ถ้าเราทำแล้วเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ก็เอาไปสื่อสารได้ แต่ไม่มีการโฆษณาก่อนแล้วท้ายที่สุดทำไม่ได้อย่างที่พูด เราเป็นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
“แม้กระทั่ง Dentsu เองที่ทำงานกับเราเป็นครั้งแรก ยังเห็นตัวตนเราภายในระยะเวลาไม่นาน เพียงแต่ความถ่อมตัวบางทีก็ทำให้คนมองไม่เห็น ได้แต่หวังว่าเพลงรักจากพลังงานสะอาดจะทำให้คนมองเห็นเรามากขึ้น” รัฐพลเอ่ย
“เราไม่ได้ขายโปรดักต์ เราขายโซลูชัน”
ถึงวันลงมือทำจริง ความไม่คุ้นชินคืออุปสรรคแรกที่ต้องข้ามผ่านไปให้ได้ จากคนที่อยากใช้ไฟก็แค่เสียบปลั๊ก Dentsu บอกว่าทุกคนต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การอัดเสียง ถ่ายเอมวี จนถึงการทำคอนเสิร์ต โดยมีความกังวลใจว่าจะทำสำเร็จไหมเป็นเพื่อนสนิท
“ หลังบ้านมีการคุยกันตลอดเวลาว่าจะใช้ไฟเท่าไร มันละเอียดมาก เพราะอุปกรณ์แต่ละอย่างไฟซัพพอร์ตไม่เท่ากันเลย
“ปกติเวลาเราขายงานลูกค้า อาจจะเจอแค่ฝ่าย Marketing แต่โปรเจกต์นี้เราต้องคุยกับวิศวกร และวิศวกรเขาอาจจะไม่เคยมานั่งประชุมเรื่อง PR ด้วยซ้ำ อย่าง AE ก็กลายเป็นต้องมานั่งอ่านเหมือนกันว่าอันนี้กี่โวลต์ กี่วัตต์ กี่แอมป์
“มันก็เป็นการชาเลนจ์บ้านปูเองด้วยว่า สิ่งที่เขามีอยู่จะสร้างสรรค์งานแบบนี้ออกมาได้ไหม บางทีเขาก็ต้องกลับไปผลิตอะไรเพิ่ม จากทำแคมเปญ 3 เดือนจบ แต่คราวนี้ยาวนานเกือบปี”
หลักฐานที่แสดงความเป็นไปได้ คือห้องอัดเสียงพลังงานโซลาร์เซลล์ และมินิคอนเสิร์ตที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ โดยใช้ไฟจากโซลูชันพลังงานที่เป็นชุดผลิตและกักเก็บไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เพียง 1 คัน
เฟิร์นแชร์ให้นึกภาพตามง่าย ๆ ว่า โซลูชันพลังงานตัวนี้ก็เหมือนกับแบตสำรองขนาดใหญ่มากที่เคลื่อนที่ได้ ทำงานโดยการกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์มาไว้ที่รถ จากนั้นจะถูกแปลงค่าเป็นพลังงานโวลต์ที่จ่ายไฟเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้
ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องผ่านการคำนวณมาเป็นอย่างดีและแม่นยำ เพื่อให้โซลูชันพลังงานสามารถกักเก็บและผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อการใช้งานได้ทั้งตลอดวัน
เราถามทีมครีเอทีฟในฐานะคนเบื้องหลังว่า พวกเขามองเห็นพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมบันเทิงในอนาคตบ้างไหม
“นั่นแหละคือสิ่งที่เราอยากจะบอก ขนาดการทำเพลงที่ดูไม่ได้เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เรายังใช้ได้เลย เพราะฉะนั้น เรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันก็อาจเกิดขึ้นง่ายกว่าด้วยซ้ำ
“มันคงไม่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ทันที แต่แคมเปญนี้คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีว่า เรากำลังจะก้าวเข้าไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ เหมือนเป็นตัวอย่างที่ทำให้รู้ว่า ฉันก็ทำได้นะ มาลองเปลี่ยนกันไหม”
ในมุมมองของลูกค้าเอง แม้จะยังไม่มั่นใจในผลลัพธ์ว่าจะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหน แต่นี่ก็ถือเป็นแคมเปญแรกที่เขามีความภาคภูมิใจมาก เพราะนอกจากเทคโนโลยีนี้แล้ว ยังมีโซลูชันแห่งอนาคตของบ้านปูปรากฏอยู่ในเอ็มวีหลายอย่าง แม้กระทั่งวิศวกร พนักงานจริง ก็โลดแล่นอยู่ด้วย
“บ้านปูไม่ได้ขายโปรดักต์ เราขายโซลูชัน” เขาย้ำอีกครั้ง “เราไม่ได้สร้างรถแล้วขายเป็นคัน แต่เรามอบทางเลือกที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันให้ง่ายขึ้น มีความสุขมากขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะความยั่งยืนคือสิ่งที่บ้านปูให้ความสำคัญมาโดยตลอด” รัฐพลทิ้งท้าย
รับชมมิวสิกวิดีโอเพลงเป็นเธอ (Brighter Sky) ได้ที่นี่