หมู่เกาะยาเอะยามะ (Yaeyama) เป็นหมู่เกาะที่อยู่ใต้สุดของญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดโอกินาว่า เกาะอิชิงากิ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของหมู่เกาะแห่งนี้ เป็นเมืองใหญ่เพียงเมืองเดียวที่เป็นศูนย์กลางของการเดินทางไปยังเกาะต่าง ๆ ของหมู่เกาะยาเอะยามะ ด้วยสนามบิน New Ishigaki และท่าเรือเฟอรี่ที่จะข้ามไปยังเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะ

เกาะอิชิกากิตั้งอยู่ห่างจากโอกินาว่าลงมาประมาณ 400 กิโลเมตร และอยู่ห่างไปจากไต้หวันไปเพียงราว 300 กิโลเมตรเท่านั้น ชีวิตผู้คนในแถบนี้จึงมีการผสมผสานกันระหว่าง 2 วัฒนธรรมทั้งของจีนและญี่ปุ่น ซึ่งพบทั้งในอาหาร ศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องความเชื่อและอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เกาะอิชิงากิถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของการดำน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เนื่องจากท้องทะเลในบริเวณนี้คือที่ตั้งของแนวปะการังที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง

กระแสน้ำอุ่น Kuroshio ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระแสน้ำที่หมุนวงรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ได้นำความอุดมสมบูรณ์จากท้องทะเลเข้ามาสู่ญี่ปุ่น เช่นเดียวกันกระแสน้ำกัลฟ์สตรีมในมหาสมุทรแอตแลนติก และกระแสน้ำนี้ก็นำพาความหลากหลายของชีวิตขึ้นมาจากทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ หนึ่งประเทศที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Coral Triangle ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นศูนย์กลางความหลากหลายของแนวปะการังและสรรพชีวิตในแนวปะการังบนโลกของเรา ทำให้ในบริเวณหมู่เกาะยาเอะยามะ รวมไปถึงโอกินาว่านี้ เป็นแนวปะการังเขตร้อนที่อยู่ในตำแหน่งสูงและห่างไกลจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดในโลก

Yaeyama หมู่เกาะใต้สุดของญี่ปุ่น แนวปะการังเขตร้อนที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรที่สุดในโลก
แนวปะการังแข็งในบริเวณหมู่เกาะยาเอะยามะและโอกินาว่า แนวปะการังเขตร้อนที่อยู่ห่างไกลจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในช่วงเวลาที่ผมมาดำน้ำ บริเวณนี้อุณหภูมิน้ำสูงขึ้นถึง 33 องศาเซลเซียส ยาวนานนับเดือน จนทำให้ปะการังในแนวน้ำตื้นหลาย ๆ พื้นที่เริ่มพบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว แต่เมื่อลมมรสุมเริ่มพัดผ่านเข้ามา อุณหภูมิของน้ำก็จะลดต่ำลง และปะการังส่วนใหญ่ก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติ

หากแนวปะการังในบริเวณหมู่เกาะยาเอะยามะนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากไปกว่านั้น ก็คือ จะต้องรับมือกับอุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนแปลงมากมายตามฤดูกาล อุณหภูมิน้ำจะลดลงไปถึง 16 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาว และในช่วงฤดูร้อนบางปี อุณภูมิก็จะสูงขึ้นมาถึง 30 องศาเซลเซียส ทำให้แนวปะการังที่หมู่เกาะแห่งนี้มีความน่าสนใจ ซึ่งแตกต่างไปจากแนวปะการังเขตร้อนในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก

Yaeyama หมู่เกาะใต้สุดของญี่ปุ่น แนวปะการังเขตร้อนที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรที่สุดในโลก
แนวปะการังแข็งในบริเวณนี้ปรับตัวให้ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของปี แนวปะการังน้ำตื้นในบริเวณนี้ เกิดและตายลงสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตลอดเวลา เมื่อปะการังบางส่วนตายไป ก็จะเป็นรากฐานให้เมล็ดพันธุ์ปะการังตัวใหม่เข้ามายึดเกาะโครงสร้างนั้นและใช้ชีวิตเติบโตต่อไป

ก้าวแรกเมื่อลงจากเครื่องบิน ผมรู้สึกแปลกใจมากที่เกาะแห่งนี้ดูไม่เหมือนญี่ปุ่นที่ผมเคยรู้จักสักนิดเดียว ถ้าจะบอกว่ามันคือฮาวาย หรือกวม หรือปาเลา ผมก็คิดว่าใช่

ตลอดเวลาที่นั่งรถแท็กซี่เข้ามาในเมือง สองข้างทางคือพื้นที่รกร้าง พื้นที่บางส่วนเป็นฟาร์มเกษตรกรรม สิ่งที่เลื่องชื่อที่สุดบนเกาะแห่งนี้ก็คือเนื้อวัวจากเกาะอิชิงากิ ซึ่งโด่งดังไม่แพ้เนื้อวัวจากแหล่งอื่น ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ตัวเมืองอิชิงากิจัดได้ว่าค่อนข้างเล็ก มีถนนอยู่ไม่กี่บล็อก ไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แต่มีซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อยู่ 2 – 3 แห่ง กิจกรรมหลักของผู้คนที่เดินทางมาเกาะแห่งนี้มีอยู่ 2 – 3 อย่าง ถ้าไม่ดำน้ำ ก็ตกปลา หรือไม่ก็เล่นเซิร์ฟ

Yaeyama หมู่เกาะใต้สุดของญี่ปุ่น แนวปะการังเขตร้อนที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรที่สุดในโลก
พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่เกาะยาเอะยามะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ในท้องทุ่งอันอุดมสมบูรณ์ เมืองอิชิงากิเป็นเมืองส่งออกเนื้อวัวคุณภาพสูงไม่แพ้หลายพื้นที่ในญี่ปุ่น

เรือที่เราออกไปดำน้ำนั้นเป็นเรือ Day Trip ดัดแปลงมาจากเรือประมงของญี่ปุ่น ค่อนข้างกว้างขวาง สะอาด และสะดวกสบายมาก มีห้องอาบน้ำและห้องน้ำขนาดใหญ่ไว้บริการ ถังดำน้ำส่วนใหญ่ที่ใช้บนเกาะนี้เป็นถังเหล็กใบสั้น ๆ ใช้วาวล์แบบ Yoke Valve เหมือนที่ใช้ในบ้านเรา ส่วนอุณหภูมิน้ำในช่วงหน้าร้อนของปีนี้สูงถึง 33 องศาเซลเซียส ซึ่งจัดว่าร้อนที่สุดตั้งแต่ผมเคยดำน้ำมาเลยทีเดียว

สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดสำหรับการดำน้ำที่หมู่เกาะยาเอยามะ ก็คือแนวปะการัง ปกติที่อื่น ๆ ในโลก แนวปะการังแข็งส่วนใหญ่มักเป็นแนวลาดลงไปตาม Reef Slope หรือไม่ก็เป็นแนวยาวแบน ๆ ราบ ๆ ไปตามข้างชายเกาะ แต่แนวปะการังแข็งของที่นี่เป็นเสมือนหุบเขาที่มียอดเขาสูงต่ำสลับซับซ้อนกันไปสุดลูกหูลูกตา เวลาที่เราดำน้ำไปก็จะเหมือนล่องลอยไปตามยอดของหุบเขาเหนือหน้าผาสูง เต็มไปด้วยปะการังหลากหลายสายพันธุ์ สีสัน และรูปทรงที่แย่งกันเกาะบนเหลี่ยมมุมต่าง ๆ ของยอดเขาอันสลับซับซ้อน ยิ่งในปีนี้เป็นปีที่อุณหภูมิน้ำสูงขึ้นไปเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดสภาวะปะการังฟอกขาว โดยเฉพาะในบริเวณแนวปะการังน้ำตื้นใกล้ผิวน้ำ ก็จะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น และจากความร้อนของแสงแดด

Yaeyama หมู่เกาะใต้สุดของญี่ปุ่น แนวปะการังเขตร้อนที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรที่สุดในโลก
แนวปะการังแข็งที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตาราวกับเนินเขา เกิดขึ้นมาจากการทับถมตัวของแนวปะการังชั้นแล้วชั้นเล่า ทำให้การดำน้ำในบริเวณนี้เหมือนกับการว่ายเวียนไปมาเหนือยอดเขาและหุบเหวแห่งปะการัง

โอโยะ ไดฟ์ลีดเดอร์ของผมบอกว่า ปีนี้น้ำร้อนมากผิดปกติ ทำให้ปะการังเริ่มฟอกขาวมาเกือบเดือนแล้ว เพราะปีนี้ยังไม่มีพายุเข้าเลย ทำให้อุณหภูมิของน้ำไม่ลดลงเลย ถ้ามีพายุเข้ามาสักลูกหรือ 2 ลูก ปะการังที่ฟอกขาวก็น่าจะกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ

นอกเหนือไปจากแนวปะการังที่งดงามแล้ว เกาะยาเอะยามะยังเป็นจุดหนึ่งที่ขึ้นชื่อที่สุดในญี่ปุ่น เรื่องการมาเฝ้าชมพฤติกรรมการทำความสะอาดร่างกายของปลากระเบนราหู หรือ Manta Ray ในบริเวณ Cleaning Station 

ถ้าหากจะนับจำนวนปลากระเบนราหูที่พบได้ในบริเวณนี้ อาจจะไม่มากเท่ากับในบริเวณอ่าว Hanifaru ที่มัลดีฟส์ หรือในบริเวณหมู่เกาะโคโมโด แต่การเฝ้าชมพฤติกรรมการทำความสะอาดร่างกายของกระเบนราหูที่มาลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ เหนือทุ่งปะการัง ซึ่งเป็นทิวเขาสลับซับซ้อนของจุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อในบริเวณนี้ อย่าง Manta Road หรือ Manta City ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหนเช่นเดียวกัน

Yaeyama หมู่เกาะใต้สุดของญี่ปุ่น แนวปะการังเขตร้อนที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรที่สุดในโลก
ท้องทะเลสีครามและฟ้าสีสดใสในบริเวณประภาคาร Hirakubozaki บริเวณตอนเหนือของเกาะอิชิงากิ ถ้าหากไม่มีแอปฯ ตรวจสภาพอากาศ ไม่มีทางที่เราจะรู้เลยว่ามีพายุขนาดใหญ่ระดับ Super Typhoon กำลังเคลื่อนที่ตรงเข้ามาในวันรุ่งขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมอยากเดินทางมาดำน้ำในบริเวณนี้ ก็คือปลาบู่ทะเลตัวเล็ก ๆ ในกลุ่ม Stonogoiops ชนิดหนึ่งที่มีขนาดใกล้เคียงกับ Black-ray Goby ในบ้านเรา พบไปได้ทั่วมหาสมุทรอินเดียและน่านน้ำแปซิฟิก หากที่ในบริเวณนี้ มีปลาบู่ทะเลตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Yasha Goby หรือ Stonogobiops yasha ที่เพิ่งถูกค้นพบในช่วงไม่กี่ปี ก่อนเปลี่ยนศตวรรษในราวปี 1990 และเพิ่งได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการในปี 2001 ที่ผ่านมานี้เอง ด้วยสีสันที่สวยสะดุดตาของมันทำให้ Yasha Goby เป็นที่หมายปองของกลุ่มคนเลี้ยงปลาทั่วโลก ซึ่งใฝ่ฝันอยากได้มาครอบครองใส่ตู้เลี้ยงปลาไว้ที่บ้าน

แต่สำหรับผม Yasha Goby ที่อาจหาดูได้ตามแหล่งขายปลาอย่างตลาดนัดสวนจตุจักรหรือตามตู้ปลาบ้านเพื่อนนั้น ทำให้ผมต้องเก็บกระเป๋า แพ็กอุปกรณ์ดำน้ำ และกล้องถ่ายภาพใต้น้ำน้ำหนักรวมกันมากกว่า 50 กิโลกรัม ขึ้นเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมานับสิบชั่วโมง เปลี่ยนเครื่อง 2 รอบ เพื่อจะมาดูปลาตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในบ้านซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของมันจริง ๆ

เมื่อมาถึงผมก็พยายามค้นหาเจ้า Yasha Goby ตามบริเวณแนวพื้นทรายด้านนอกแนวปะการัง แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะพบเห็น จนกระทั่งวันหนึ่งผมมาพบกับ Koji ซึ่งเป็นไดฟ์ลีดเดอร์อีกคนหนึ่งที่บอกว่าเขาเคยเห็น Yasha Goby และถ่ายภาพไว้ด้วยในบริเวณจุดดำน้ำที่ชื่อว่า Osaki Hanagoi Reef 

เราลงไปตามแนว Slope และพยายามค้นหาเจ้า Yasha Goby กันอยู่ 30 นาที จนเกือบจะหมดเวลาที่เราจะใช้ได้ในความลึกนั้น (การดำน้ำที่ญี่ปุ่นนี้เขาค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องเวลามาก ว่าจะให้ดำน้ำแค่ไดฟ์ละประมาณ 45 นาทีเท่านั้น) ในขณะที่พวกเรากำลังบ่ายหัวเพื่อกลับเรือ ผมเหลือบไปเห็นปลาตัวจิ๋ว ๆ สีสันสดใส ลอยตัวขึ้นมาเหนือพื้นทรายเพื่ออ้าปากจับกินแพลงก์ตอนที่ล่องลอยมากับกระแสน้ำ อยู่เหนือพื้นทรายที่ห่างไปประมาณ 5 เมตร มันคือเจ้า Yasha Goby ที่เราตามหากันมาทั้งไดฟ์นั่นเอง

ผมทรุดตัวลงนอนบนพื้นทราย พยายามประคองลมหายใจให้เป็นปกติ และเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าที่สุดเข้าไปทีละคืบ ปลาบู่ในกลุ่มนี้ค่อนข้างไวต่อการเคลื่อนไหวที่ผิดธรรมชาติ เราสังเกตอากัปกิริยาและภาษากายได้จากการเคลื่อนไหวของมัน 

ถ้ามันลอยตัวขึ้นกลางน้ำและอ้าปากกินแพลงก์ตอน เราค่อย ๆ ขยับเข้าไปได้ทีละนิด แต่ถ้าหากมันหยุดนิ่งลงนอนบนพื้นทรายและยกครีบหลังขึ้นสูง แปลว่ามันเริ่มระแวงและพร้อมมุดกลับลงไปในรูที่อาศัยอยู่กับกุ้งดีดขันตัวเล็ก ๆ แล้ว ผมใช้เวลาในการขยับเข้าไปทีละคืบ ๆ อย่างช้า ๆ เกือบ 5 นาที กว่าที่จะเข้าใกล้และสร้างความคุ้นเคยกับเจ้า Yasha Goby ก่อนเริ่มต้นบันทึกภาพแรก และใช้เวลาอีกเกือบ 10 นาที ก่อนที่จะกลับขึ้นมาพักน้ำและขึ้นสู่ผิวน้ำ

Yaeyama หมู่เกาะใต้สุดของญี่ปุ่น แนวปะการังเขตร้อนที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรที่สุดในโลก
ปลาบู่ทะเล Yasha Goby (Stonogobiops yasha) ปลาบู่ทะเลตัวเล็ก ๆ ที่เพิ่งมีรายงานพบเป็นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมา และได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ในปี 2001 ปลาบู่ทะเลชนิดนี้พบได้มากในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะในบริเวณหมู่เกาะโอกินาว่าและยาเอะยามะ รวมไปถึงบางส่วนของเกาะไต้หวัน

เราดำน้ำมาได้สัก 3 – 4 วัน โอโยะก็บอกกับผมว่า มะรืนนี้พายุกำลังจะเข้า เรืออาจจะออกไปดำน้ำไม่ได้อย่างน้อย 4 – 5 วัน จะเลื่อนตั๋วกลับเมืองไทยไหม หรือจะรอให้พายุผ่านพ้นไปก่อน สถานการณ์ของปะการังที่ฟอกขาวอยู่อาจดีขึ้นเมื่ออุณหภูมิของน้ำลดต่ำลง

Yaeyama หมู่เกาะใต้สุดของญี่ปุ่น แนวปะการังเขตร้อนที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรที่สุดในโลก
พายุไต้ฝุ่น หินหนามหน่อ ขณะกำลังเคลื่อนตัวผ่านเข้ามาในบริเวณชายฝั่งเกาะอิชิงากิ เนื่องจากท้องทะเลในบริเวณนี้ต้องพบกับสภาพอากาศที่รุนแรงตลอดเวลา ท่าจอดเรือในเมืองนี้จึงต้องสร้าง Break Water เป็นแนวกันคลื่นลมในท้องทะเลไม่ต่ำกว่า 3 – 4 ชั้น
หมู่เกาะยาเอะยามะ ศูนย์กลางการดำน้ำของญี่ปุ่น จุดชมปลากระเบนราหูทำความสะอาดร่างกายตัวเอง และปลาแสนสวย Yasha Goby
บนนถนนในเมืองที่ดูไร้ผู้คนราวกับเมืองร้าง ในช่วงเวลาที่พายุพัดผ่านเข้ามา เมืองอิชิงากิเคยประสบเหตุพายุพัดถล่มเมืองไปหลายครั้ง และครั้งล่าสุดคือเมื่อประมาณ 5 ปีก่อนที่พายุพัดถล่มเข้าใจกลางเมือง มีรถลอยขึ้นไปติดระเบียงชั้นสองของโรงแรม และมีเรือถูกพายุขึ้นมาอยู่บนฝั่งหลายลำ การใช้ชีวิตท่ามกลางพายุทำให้คนที่นี่ต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติไม่แพ้ปะการัง เมื่อมีประกาศแจ้งเตือนพายุ ทุกคนก็จะเริ่มตุนอาหารและหาที่หลบภัยอยู่ในบ้าน จนเมื่อพายุพัดผ่านไป ทุกคนก็ออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติ

ก่อนพายุเข้าวันหนึ่งผมขับรถวนเวียนรอบเกาะ บนเนินสูงกลางทุ่งโล่งเหนือหน้าผาริมทะเล ผมเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งยืนต้นโดดเดี่ยวอยู่กลางทุ่งหญ้า รูปทรงอันแปลกตาของมันนั้นเติบโตขึ้นจากความพยายามที่จะถ่วงสมดุล เพื่อรับกับสภาพอากาศจากลมพายุรุนแรงที่โถมกระหน่ำเข้าในบริเวณชายฝั่งของเกาะแห่งนี้เกือบทุกปี

หมู่เกาะยาเอะยามะ ศูนย์กลางการดำน้ำของญี่ปุ่น จุดชมปลากระเบนราหูทำความสะอาดร่างกายตัวเอง และปลาแสนสวย Yasha Goby
ต้นไม้โดดเดี่ยวกลางทุ่งหญ้าเหนือหน้าผาริมทะเล พยายามเอนต้นเพื่อต่อสู้กับลมพายุที่พัดแรงถาโถมเข้ามาในบริเวณริมชายฝั่งเกาะอิชิงากิ ตลอดช่วงฤดูมรสุมที่พายุไต้ฝุ่นส่วนใหญ่จะก่อตัวขึ้นในบริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิก และมักเคลื่อนตัวผ่านเข้ามาในบริเวณนี้ปีละอย่างน้อย 7 – 8 ลูก

ด้วยที่ตั้งของเกาะแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิกและเป็นแหล่งกำเนิดของพายุไต้ฝุ่น ที่ประมาณการณ์กันว่าจะมีพายุเกิดขึ้นในบริเวณนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 30 ลูก และมีโอกาสที่ไต้ฝุ่นเหล่านี้จะเคลื่อนตัวพัดผ่านเข้ามาในบริเวณหมู่เกาะในแถบโอกินาว่านี้อย่างน้อยโดยเฉลี่ยปีละ 7 – 8 ลูก ผู้คนที่นี้ค่อนข้างคุ้นชินกับวิถีชีวิตที่จะต้องรับมือกับพายุ และอยู่กับพายุอย่างคุ้นชินไปกับมัน

หมู่เกาะยาเอะยามะ ศูนย์กลางการดำน้ำของญี่ปุ่น จุดชมปลากระเบนราหูทำความสะอาดร่างกายตัวเอง และปลาแสนสวย Yasha Goby
ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ส่วนใหญ่ปรับชีวิตให้รับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายจากลมมรสุมและพายุไต้ฝุ่นได้ดี ผมบันทึกภาพในไว้ในเย็นวันก่อนที่พายุ Super Typhoon Hinnamnor จะเคลื่อนที่ตรงเข้ามาที่เกาะแห่งนี้ ในยามเย็นวันนั้น ผู้คนก็ยังคงออกมาชื่นชมความงดงามของแสงสุดท้ายของวัน ก่อนที่จะหลบอยู่ในบ้านไปอีกเกือบสัปดาห์ 1 เต็ม ๆ ในช่วงที่ไต้ฝุ่นความเร็วลมเกือบ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาที่เกาะ

หลาย ๆ คนที่อยู่ในเมืองใหญ่ อาจคิดว่าพายุไต้ฝุ่นเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ทำให้ฝนตกน้ำท่วม บ้านเรือนของผู้ตนเสียหาย ผู้คนได้รับอันตราย หากในความเป็นจริงแล้ว พายุไต้ฝุ่นคือองค์ประกอบหนึ่งในการหมุนเวียนของน้ำบนโลกใบนี้ ที่นำพาน้ำจากมหาสมุทรให้กลับกลายเป็นฝน ไปตกตามพื้นที่ต่าง ๆ บนโลกใบนี้ หากไม่มีลมพายุและลมฝนเกิดขึ้นบนโลกเลย สถานการณ์ที่เราทั้งหลายต้องเผชิญกับความแห้งแล้งอาจจะน่ากลัวมากกว่า

แน่นอนที่สุดว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศบนโลกใบนี้ ส่งผลให้เกิดพายุที่รุนแรงและคาดเดาได้ยากขึ้น มนุษย์เองก็ต้องปรับตัวรับกับสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเช่นกัน

ทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนต้องปรับตัว ไม่เว้นแม่แต่มนุษย์ที่เป็นเพียงแค่ส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในธรรมชาตินี้เช่นกัน

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม