หากมีตึกคอนกรีตเปล่าสูง 7 ชั้นตั้งอยู่ในซอกซอยลึกย่านพระโขนงของเมืองกรุงเทพฯ

คุณคิดว่าจะเปลี่ยนมันเป็นอะไรได้บ้าง

สำหรับ สิริมาดา และ สุทธิลักษณ์ ศุภองค์ประภา ผู้บริหารแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Wurkon (เวอร์ค่อน) พวกเขาจินตนาการถึงพื้นที่แสดงงานดีไซน์และแกลเลอรี่ศิลปะคุณภาพในรูปแบบที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่ต้องคุยภาษายากๆ หรือใช้บันไดปีนทำความเข้าใจ ซึ่งจะดีอย่างยิ่งถ้ามันเกิดขึ้นในเมืองที่ศิลปะยังดูเป็นของฟุ่มเฟือย และพื้นที่ส่วนกลางด้านความคิดสร้างสรรค์ยังหาได้ยากยิ่งอย่างกรุงเทพฯ

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

แนวคิดที่ว่านี้นำมาซึ่ง XSpace การเปลี่ยนโฉมโกดังคอนกรีตให้กลายเป็นโชว์รูม ออฟฟิศ พื้นที่แสดงงานดีไซน์และศิลปะร่วมสมัย ที่ได้ จูน เซคิโน (Jun Sekino) จาก Junsekino Architect and Design สถาปนิกเจ้าของรางวัลด้านการออกแบบมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ออกแบบและผลักดันแนวคิดด้านสถาปัตยกรรมให้กับแกลเลอรี่แห่งใหม่นี้

จากกล่องคอนกรีตสี่เหลี่ยมที่เคยแข็งทื่อ สู่ความยืดหยุ่นของพื้นที่ใช้สอย และสอดคล้องกับแนวคิดทางธุรกิจที่เจ้าของตั้งใจไว้ว่า ต้องการสร้างจุดบรรจบที่งานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ จะถูกลบเลือนพรมแดน และได้หลอมรวมความหลากหลายของงานทุกแขนงไว้ในพื้นที่เดียว

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

ลบเลือนพรมแดน

หลังย้ายพื้นที่โกดังเก็บของไปยังสถานที่ใหม่ที่เหมาะสมขึ้นในย่านอ่อนนุช Wurkon ก็ได้อดีตโกดังสูง 7 ชั้นด้วยเนื้อที่เกือบ 5000 ตารางเมตรคืนมาพร้อมกับโอกาสมากมาย

“เมื่อก่อนเราอยากได้โชว์รูมมาก แต่ขาดแคลนพื้นที่ พอได้ตึกอายุสามสิบปีนี้ เราก็มาคิดว่าจะต่อยอดเป็นอะไรดี” สิริมาดาเริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไป

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Wurkon ใน พ.ศ.2558 คือการมุ่งสร้างความแตกต่างในตลาดเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน และส่งเสริมวิถีชีวิตการทำงานรูปแบบใหม่ๆ หรือ New Lifestyle of  Work 

ในวันที่โลกออฟฟิศแบบใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและนั่งแยกแผนกชัดเจน เริ่มเปลี่ยนไปสู่การใช้แลปท็อปและรูปแบบพื้นที่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น พวกเขาเน้นนำเสนอเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อฟังก์ชันที่หลากหลาย สำหรับตอบสนองลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของงานดีไซน์โดยเฉพาะ นอกจากการนำเข้าแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เน้นดีไซน์ที่มีดีเอ็นตรงกับแบรนด์อย่าง ACTUI และ Andreu World จากประเทศสเปน Wurkon เองก็ยังเสริมตัวตนของพวกเขาด้วยการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับศิลปะและงานออกแบบบนสื่อโซเชียลในเชิงลึก ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและงานออกแบบ บทความอัปเดตข่าวสารแวดวงศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บทความสัมภาษณ์ศิลปินและนักออกแบบในแขนงต่างๆ

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

ทั้งหมดนี้ สุทธิลักษณ์กล่าวว่า เพราะต้องการให้ Wurkon เป็นคลังข้อมูลและแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบ ด้วยอยากให้แบรนด์ของพวกเขาสื่อสารภาษาเดียวกับศิลปิน และต้องการให้เหล่าดีไซเนอร์รู้สึกว่า Wurkon ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นเพื่อนในแวดวงเดียวกับพวกเขา โดยทั้งหมดนี้มี ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ผู้ช่ำชองด้านศิลปะ เป็นผู้ดูแลเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียมายาวนาน จนภายหลังเขาได้รับบทบาทมากขึ้น โดยการเข้ามาเป็น Media Director ของ Xspace คนปัจจุบัน

และจากจุดนี้เองที่ Wurkon ค้นพบแนวทางธุรกิจใหม่ เมื่อพวกเขาต้องการสร้างพื้นที่สำหรับศิลปะและงานสร้างสรรค์

“เราอยากทำพื้นที่โชว์งานเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นงานดีไซน์กับงานศิลปะให้อยู่ในสเปซเดียวกัน” สิริมาดาเสริมเหตุผลในชื่อโครงการที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร X หรือ Cross สัญลักษณ์ของจุดตัดและการบรรจบกัน 

เมื่อ Wurkon ต้องการก้าวเข้าสู่แวดวงศิลปะอย่างเต็มตัวในฐานะแกลเลอรี่ จึงเลือกสร้างพื้นที่โดยให้นิยามว่าเป็นความไร้พรมแดนระหว่างงานเฟอร์นิเจอร์กับเนื้อหาทางศิลปะ โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดบนพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร ที่ประกอบด้วยส่วนใช้งาน 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนโชว์รูมกึ่งแกลเลอรี่กับส่วนพื้นที่โล่ง ไว้จัดแสดงงานศิลปะแบบหมุนเวียน

ในโชว์รูมนั้น ความพร่าเลือนของเส้นแบ่งงานสร้างสรรค์อยู่ที่การจัดแสดง ซึ่งคัดเลือกเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเอกจากแบรนด์ที่ Wurkon มี มาจัดวางยังมุมต่างๆ ในฐานะงานออกแบบชิ้นหนึ่ง คู่กับบรรดาภาพศิลปะที่คัดสรรจากภัณฑารักษ์

“เราพยายามจัดให้เห็นว่า งานศิลปะกับตัวเฟอร์นิเจอร์ที่วางด้วยกันมันส่งเสริมกัน โดยปกติโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์อาจปฏิบัติกับรูปภาพเป็นแค่ของตกแต่ง แต่เราให้ความสำคัญเท่ากัน แล้วงานศิลปะแต่ละชิ้นก็คัดมาว่าเป็นชิ้นที่ดี” สุทธิลักษณ์อธิบายเสริม

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

ดังจะเห็นได้จากทั้งการแบ่งโซนจัดแสดงเป็นมุมตัวอย่าง ไม่ว่ามุมบาร์ มุมล็อบบี้ มุมนั่งพักผ่อน รวมถึงมุมที่เรียงเก้าอี้ให้แสดงตัวราวกับอยู่ในพิพิธภัณฑ์งานดีไซน์ ทั้งหมดจัดวางควบคู่กับภาพศิลปะที่คัดเลือกโดยภัณฑารักษ์ให้เข้ากับมุมหรือเฟอร์นิเจอร์นั้นๆ และทั้งหมดจะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นแกลเลอรี่ศิลปะ เป็นความพยายามที่สุทธิลักษณ์เล่าว่า เพื่อเชื้อเชิญนักออกแบบให้เลือกชมสินค้าที่สร้างแรงบันดาลใจ คล้ายการเติมแง่มุมศิลปะเพื่อเสริมคุณค่าด้านสุนทรียะให้แก่เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้น

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง
ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

อีกพื้นที่หนึ่งที่สำคัญ คือพื้นที่โล่งขนาดกว่า 500 ตารางเมตร อุทิศให้การแสดงเนื้อหาทางศิลปะเต็มรูปแบบ XSpace จะทำงานร่วมกับภัณฑารักษ์ท่านต่างๆ ในแต่ละวาระ ด้วยเนื้อที่อันกว้างขวาง เพดานสูง จึงแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยได้ไม่จำกัดประเภท ตั้งแต่จิตรกรรม จนถึงศิลปะบนโต๊ะอาหารอย่าง Chef’s Table และเปิดให้ผู้คนเข้าชมได้โดยอิสระ ไม่มีค่าใช้จ่าย และตั้งใจให้เนื้อหานั้นต่อเนื่องไปยังส่วนโชว์รูมด้วย

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง
ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

โอกาสในโครงสร้างคอนกรีต

ถัดจากพื้นที่ชั้น 1 ไฮไลต์ของ XSpace บริเวณชั้น 2 เป็นส่วนสำนักงานที่ผสมผสานส่วนโชว์รูมไว้ด้วย ส่วนชั้น 3 และ 4 เป็นสำนักงาน ชั้น 5 และ 6 เป็นโชว์รูมที่เน้นให้เห็นสินค้าทั้งหมดที่มี

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

ข้อดีของเนื้อที่อาคารจำนวนมาก รองรับความต้องการด้านพื้นที่ใช้สอยได้เพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความใหญ่โตและทึบตัน จึงท้าทาย จูน เซคิโน สถาปนิกผู้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและเติมหน้าที่ใช้สอยใหม่ให้กับโครงสร้างคอนกรีตสูงใหญ่นี้

“มันเหมือนเหลือแต่กระดูก อันไหนเก็บได้เราก็เก็บ แต่เส้นเลือดต้องเปลี่ยน และก็เปลี่ยนเนื้อหนังนิดหน่อย” จูนเปรียบเปรยให้ฟังถึงการเข้าปรับเปลี่ยนอาคารหลังนี้

“ปัญหาเดิมคือกรอบอาคารมันใหญ่มาก ทำให้แสงไม่เข้า ตรงกลางเลยมืด ต้องระเบิดมันให้มันสว่างขึ้น รวมถึงทางเจ้าของเขาอยากให้เป็น Open Plan มากๆ เพราะว่าจะเปลี่ยนฟังก์ชันไปเรื่อยๆ ทุกอย่างเป็นการใช้งานชั่วคราว”

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

นอกจากแกลเลอรี่ศิลปะจะปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามวาระของนิทรรศการ แม้ไม่ใช่ระยะเวลาที่บ่อยเท่า พื้นที่โชว์รูมสินค้าชั้นบนขึ้นไปก็จะจัดใหม่ตามโอกาส ส่วนในแต่ละชั้นสำนักงาน ทางเจ้าของโครงการก็มักโยกย้ายพื้นที่นั่งทำงานกันอยู่เสมอ ตามแนวคิดการให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและการเปิดรับความเปลี่ยนแปลง

การออกแบบอาคารนี้ จูนเล่าว่าเป็นการทำงานกับโครงสร้างเดิมที่สภาพดีอยู่แล้ว แต่ปรับปรุงให้เอื้อต่อคุณภาพการใช้พื้นที่ที่ดีขึ้น โดยมีข้อดีที่ได้จากความเป็นโกดังเก่าคือ โครงสร้างเสา-คานคอนกรีต ยังแข็งแรงและรับน้ำหนักได้มาก ตามมาด้วยความเป็นระเบียบของระยะช่วงเสาที่ซ้ำๆ กัน ซึ่งทำให้แบ่งและปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยได้ง่าย รวมถึงช่องลิฟต์ขนาดใหญ่ที่เคยใช้ขนของก็ยังใช้งานได้ดี

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

การปรับปรุงข้อเสียอื่นๆ เช่น กรอบอาคารที่มีหน้าต่างเพียงบางส่วน เพราะเดิมไม่ต้องใช้งานอะไรนอกจากเก็บของ ก็เปิดผนังออกหลายส่วนเพื่อรับแสงและลม และเดิมมีการซ้อนชั้นอาคารเพื่อให้ได้จำนวนพื้นที่ใช้สอยมากที่สุด ทำให้ระยะพื้นถึงฝ้าค่อนข้างต่ำ เขาใช้วิธีรื้อฝ้าออกเพื่อให้พื้นที่โปร่งขึ้น ผลที่ได้จึงเหมือนเป็นลิ้นชัก จูนอธิบายให้เห็นภาพต่อว่า ใช้วิธีเสียบสล็อตการใช้งานอะไรก็ได้เข้าไปในแต่ละชั้น

 “เหมือนทำโครงเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ๆ ตัวหนึ่ง แล้วเราเสียบและดึงฟังก์ชันที่ต้องการออกได้ตลอดเวลา”

โดยองค์ประกอบสำคัญที่สุดซึ่งแสดงถึงแนวคิดความยืดหยุ่นของอาคาร และช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับสถาปัตยกรรมทั้งในแง่รูปลักษณ์ภายนอก และในแง่การสร้างตัวตนของ XSpace คือส่วนเปลือกด้านหน้าอาคาร หรือฟาซาด (Façade) นั่นเอง

สถาปัตยกรรมพร่าเลือน

จากถนนสุขุมวิท 71 มุ่งเข้าสู่ท้ายซอยปรีดีพนมยงค์ 14 แกลเลอรี่ XSpace นับว่าซ่อนตัวอยู่ไกลจากถนนเส้นหลักพอควร ตำแหน่งที่ตั้งจึงเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของโครงการ ซึ่งสถาปนิกว่าเป็นอีกโจทย์ที่ต้องออกแบบอาคารให้ดูน่าดึงดูด และมีเอกลักษณ์เป็นที่จำได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต้องการให้หน้าตาดูหวือหวาแบบเป็นแฟชั่นที่ผ่านมารวดเร็วแล้วจากไป

“ตึกมันใหญ่มาก เกือบห้าพันตารางเมตร ต้องทำให้สิ่งที่เป็นมวลหนักๆ นี้ละลาย” จูนเล่าให้ฟังถึงการจัดการความมหึมาของอาคาร ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในที่มาของแนวคิดการออกแบบฟาซาดแบบพิกเซล

ทั้งการหาวิธีสลายความทึบตันของอาคาร และความต้องการสร้างภาพจำ ผู้ออกแบบจึงไม่ได้เริ่มจากการมองหารูปฟอร์ม แต่ต้องการสร้าง ‘ภาษา’ ชนิดหนึ่งที่จะเป็นเอกลักษณ์ของ XSpace

“ผมรู้สึกว่าความเป็น XSpace มันคือการเอาตึกเดิมมา Recode” จูนอธิบายต่อถึงแนวคิดการออกแบบ

“เราต้องหาความเป็นไอคอนิกบางอย่างที่ไม่ใช่ฟอร์ม แต่เป็น Code ที่ทำให้รู้ว่าที่นี่คือ XSpace”

‘Code’ ที่ว่านี้ สำเร็จออกมาเป็นบานเกล็ดผืนใหญ่ด้านหน้าอาคาร ประกอบด้วยวัสดุทึบและโปร่งสลับกัน โดยเรียงต่อกันเป็นตารางพิกเซล บานเกล็ดเหล่านี้หมุนเปิด-ปิด เพื่อนำแสงและลมธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายใน เหมาะอย่างยิ่งกับสภาพอากาศแบบร้อนชื้น และเปลือกอาคารนี้ยังสร้างปรากฏการณ์ด้านรูปลักษณ์ ทำให้หน้าตาตึกเปลี่ยนไปตามองศาการบิดหมุนบานเกล็ดที่ไม่ซ้ำกัน แน่นอนว่าเมื่อรวมกับเรื่องจังหวะของแสง และฤดูกาลแล้วสร้างภาษาของอาคารในต่างช่วงเวลาได้อย่างน่าสนใจ

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง
ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

“ฟาซาดนี้ยังเปิดกว้างให้เกิดการดัดแปลงได้ เช่น การเปลี่ยนวัสดุ หรืออาศัยความเป็นพิกเซลติดสติกเกอร์ลงบนพื้นผิวเพื่อสื่อสารภาพ ไปจนถึงข้อความบางอย่าง หรือมันอาจเป็น Coding เป็น Graphic Environment คนที่ขับรถอยู่บนทางด่วนก็มองเห็นได้ ผมอยากให้ที่นี่สื่อสารอย่างนั้น คือถ้าเห็น Coding นี้ คุณจะนึกถึง ‘X’ ทันทีเลย” ผู้ไม่อยากให้ตึกใหญ่ดูเป็นอาคารเล่า

จากแผงฟาซาดที่ยินยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งได้เช่นนี้ เขาไม่ได้มองสถาปัตยกรรมเป็นชิ้นงานศิลปะที่เสร็จสมบูรณ์ตายตัว แต่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นชั่วคราวและปลายเปิดสูง หรือเราอาจกล่าวอีกแบบได้ว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่มีจุดเสร็จสมบูรณ์ แต่เป็นสถาปัตยกรรมที่จะถูกเติมความหมายและถูกสร้างขึ้นใหม่อยู่เสมอ

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

ที่สำคัญ แนวคิดในการพร่าเลือนความตายตัวของสถาปัตยกรรมนี้ ยังได้รับการย้ำดังที่จูนเสริมว่า ‘ภาษา’ ที่เขาออกแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่บนสถาปัตยกรรมแต่เพียงอย่างเดียว ยังนำไปใช้ห่อหุ้มอาคารอื่นๆ ของ XSpace ได้หากพวกเขาต้องการ หรือนำไปใช้งานในลักษณะอื่น อย่างนำไปใช้เป็นภาพกราฟิกบนเนื้อที่ของโลกดิจิทัลของ xspace.gallery เอง

เพื่อทุกคนได้เข้าถึง

“ผมคิดว่าถ้าเรามองว่าสถาปัตยกรรมจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป มันอาจจะไม่ใช่ โลกมันเปลี่ยนเร็ว เราคาดเดาไม่ได้ว่าอีกห้าปีเป็นยังไง แต่ถ้าเรามีฮาร์ดแวร์บางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าตึกมันเดินไปต่อได้ ผมว่าอันนี้ดีกว่า”

แนวคิดเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่จูนว่านี้ ตรงกับแนวคิดการทำธุรกิจของ Wurkon ที่พร้อมรับการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ซึ่งอาคารที่ได้รับการมองในลักษณะของภาษาอันลื่นไหล และเน้นการสื่อสารเช่นนี้สอดคล้องกับอีกแนวคิดของแกลเลอรี่ คือความต้องการพูดกับคนหมู่มาก และต้องการให้ผู้คนเข้าถึงศิลปะได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก

“เราไม่อยากทำสเปซขาวๆ ที่ดูแล้วรู้สึกว่าศิลปะยิ่งใหญ่มาก มันกันคนออกไป” สุทธิลักษณ์ว่า

“เราโตมาในยุคที่ว่า เฮ้ย ศิลปะอะไรไม่สนใจอะ ทำมาหากินก่อน เอาไว้รวยก่อนค่อยไปดู 

“แต่คนรุ่นนี้ไม่ได้คิดอย่างนั้นแล้ว มันเป็นเรื่องของทุกคน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของยุค และเป็นเทรนด์ของโลกด้วย ในเมืองต่างๆ ศิลปะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วไปไปดู ไปเที่ยว เด็กๆ ออกจากบ้าน ออกจากโรงเรียน ไปเดินแกลเลอรี่ตอนบ่าย หรือคนเดทกัน ไม่รู้จะไปเที่ยวไหนก็ไปเดินมิวเซียม แต่ว่าเมืองไทยมันถูกทำให้รู้สึกว่าไกลตัว รู้สึกว่ายาก เราเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เปิดพื้นที่เชื่อมสิ่งนี้”

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

จากมุมมองของสถาปนิกเอง จูนก็เห็นตรงกันว่าเขาไม่ได้ต้องการให้อาคารเป็นสิ่งพิเศษที่วิเวกออกจากสถานที่ตั้ง คงจะดีกว่าถ้าสิ่งที่เคยรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวอย่างงานออกแบบ ศิลปะ แกลเลอรี่ หรือพิพิธภัณฑ์ ได้ทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนทุกคน ผ่านอาคารที่เขาออกแบบ

“ที่นี่เหมือน Creative Space ที่ไม่ได้เข้มงวดว่าเป็นศิลปะ เป็นสเปซที่คนมีส่วนผลักดันบางอย่างได้ ผมไม่อยากให้เป็นภาพแกลเลอรี่ที่นิ่งๆ เย็นๆ ที่คนไม่กล้าไปใช้ หรือรู้สึกว่าเข้ามาแล้วจะต้องโดนสเปซกระทืบแน่เลย” จูนกล่าวย้ำเสียงกลั้วหัวเราะ ก่อนเล่าต่อว่าต่างจากการออกแบบบ้าน ของธรรมดาที่ทุกคนรู้จักดีให้มีความพิเศษ 

เพราะการออกแบบแกลเลอรี่ศิลปะเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ เป็นการทำให้ของที่ทุกคนรู้สึกว่าพิเศษ กลายเป็นของธรรมดาที่จับต้องได้ ไม่ว่าใครก็ตาม

ปัดฝุ่นโกดังเฟอร์นิเจอร์อายุ 30 ปี เป็น XSpace แกลเลอรี่ศิลปะแห่งใหม่ย่านพระโขนง

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ