26 พฤษภาคม 2021
25 K

เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเขตปกครองที่มีอาณาเขตกว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ 3 เท่า ที่นี่ถือเป็นบ้านของชาวอุยกูร์จํานวน 12 ล้านคน โดยชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มชนเตอร์กิก (Turkic) เช่นเดียวกับชาวตุรกี ชาวอุยกูร์นับถือศาสนาอิสลาม ในขณะที่ชาวจีนฮั่นส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนา คนที่นี่ใช้ภาษาอุยกูร์ซึ่งเป็นภาษาคนละกลุ่มกับภาษาราชการอย่างภาษาจีนกลาง

ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 ทั่วโลกรับรู้ถึงปัญหาด้านชาติพันธุ์ในดินแดนแห่งนี้ เช่น เหตุการณ์ ค.ศ. 2009 ที่มีการลุกฮือของชาวอุยกูร์ขึ้นมา และทำร้ายชาวจีนแผ่นดินใหญ่หรือชาวฮั่นในเมืองอุรุมฉี เมืองที่ใหญ่ที่สุดใน ซินเจียง ประเทศจีน จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจํานวนมาก

หรือเหตุการณ์ที่รัฐบาลจีนสร้างค่ายกักกันประชาชนกว่า 1 ล้านคน โดยรัฐบาลจีนให้เหตุผลของการกระทำดังกล่าวผ่านบีบีซีว่า “ค่ายดังกล่าวเป็นโรงเรียนฝึกหัดอาชีพและโรงงานต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบรรเทาความยากจน ที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่และไม่มีการบีบบังคับให้ทำงาน” 

ท่องคัชการ์ คาราโครัม ไฮเวย์ และทัชเคอร์กัน ณ ซินเจียง สุดขอบประเทศจีน ดินแดนที่เต็มไปด้วยคำถามและความสวยงาม

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์จะเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วย ‘คำถาม’ และ ‘ปัญหา’ แต่สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงมี ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘ความงาม’ ที่รอคอยให้เหล่านักเดินทางไปสัมผัส 

สัมผัสซินเจียงที่คัชการ์ (Kashgar)

หลังจากเดินทางโดยเครื่องบินถึง 3 ต่อ ผมก็เดินทางมาถึงเมืองคัชการ์ เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของซินเจียง เพียงย่างเท้าก้าวออกจากอาคารสนามบิน ก็พบกับความรู้สึกที่แตกต่างจากส่วนอื่นๆ ของประเทศจีนที่ผมเคยไปเยือน โดยเฉพาะหน้าตาผู้คนที่นี่ช่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับชาวจีนฮั่น

ผมได้พบกับไกด์ท้องถิ่นที่ติดต่อไว้ และขึ้นรถเพื่อเข้าที่พักที่อยู่ใจกลางเมือง ความเจริญเข้ามาถึงคัชการ์มากกว่าที่ผมคิด มีอาคารที่พักอาศัยแบบสมัยใหม่ มีรถประจําทาง มีถนนที่คุณภาพไม่ต่างจากส่วนอื่นๆ ของประเทศจีน เหล่านี้อาจเป็นเพราะคัชการ์ตั้งอยู่ไม่ห่างจากพรมแดนถึง 3 ประเทศ จึงส่งผลให้เมืองนี้ยังคงมีความสําคัญทางการค้า ไม่ต่างจากในยุคที่เส้นทางสายไหมในอดีตยังรุ่งเรือง

ท่องคัชการ์ คาราโครัม ไฮเวย์ และทัชเคอร์กัน ณ ซินเจียง สุดขอบประเทศจีน ดินแดนที่เต็มไปด้วยคำถามและความสวยงาม

คงไม่มีที่ไหนทําให้เราได้สัมผัสความเป็นซินเจียงได้ดีเท่าที่เมืองคัชการ์ ดังเช่นข้อความหนึ่งบนป้ายที่หน้าโรงแรมที่เขียนไว้ว่า “ไม่มาเยือนคัชการ์ เหมือนกับไม่ได้มาเยือนซินเจียง” ผมจึงไม่รีรอที่จะเดินสัมผัสบรรยากาศรอบๆ โรงแรม ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่าคัชการ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี

เพียงลอดอุโมงค์ข้ามถนนก็จะถึงทางเข้าซอยส่วนที่เป็นเมืองเก่า ที่นี่ผมได้พบกับด่านตรวจแห่งแรกแต่ไม่ใช่แห่งเดียว เพราะตลอดการเดินทางหลายวันในซินเจียง ยังมีด่านตรวจลักษณะนี้อีกหลายสิบแห่งรอผมอยู่ เพียงแค่ต้องการเดินเข้าซอยเพื่อทะลุไปยังเขตเมืองเก่า

ท่องคัชการ์ คาราโครัม ไฮเวย์ และทัชเคอร์กัน ณ ซินเจียง สุดขอบประเทศจีน ดินแดนที่เต็มไปด้วยคำถามและความสวยงาม
ท่องคัชการ์ คาราโครัม ไฮเวย์ และทัชเคอร์กัน ณ ซินเจียง สุดขอบประเทศจีน ดินแดนที่เต็มไปด้วยคำถามและความสวยงาม

ทุกคนต้องผ่านด่านตรวจเพื่อสแกนโลหะและสิ่งแปลกปลอม สิ่งนี้แสดงให้ผมเห็นเป็นอย่างดีว่าที่นี่ยังคงมีปัญหาอยู่ พอผ่านด่านตรวจเข้าไปก็จะพบบรรยากาศสวยงามแปลกตาปรากฏอยู่ริมสองข้างทาง อาคารสีนํ้าตาลอ่อนสูงไม่เกิน 3 ชั้น ลักษณะเหมือนสร้างขึ้นจากดิน อาหารขายมากมายอยู่ทั้งสองฝั่ง และเด็กๆ ต่างออกมาวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน จึงทําให้ผมผ่อนคลายความเครียดที่วาดไว้ในหัวก่อนที่จะมาเมืองแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความสวยงามที่ผมได้เห็น ก็ยังมีความรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้น และกําลังถูกควบคุมอย่างเคร่งรัด

ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี รัฐบาลจีนได้ทุบส่วนเมืองเก่าคัชการ์ทิ้ง และสร้างเมืองเหล่านั้นขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมด โดยทางรัฐบาลจีนให้เหตุผลว่า บ้านที่สร้างจากดินที่มีอายุหลายร้อยปีนั้นไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการพังถล่มเมื่อเกิดแผ่นดินไหว อีกทั้งต้องการให้ชาวบ้านมีสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

หลังจากทุบและสร้างใหม่ มีชาวบ้านจํานวนมากต้องย้ายออกจากที่ที่ตัวเองเรียกว่าบ้าน ไปอาศัยในคอนโดมิเนียมที่สร้างขึ้นใหม่ดังเช่นคนในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีกระแสความเห็นจากโลกตะวันตกว่า จุดประสงค์ของรัฐบาลจีนที่สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ก็เพื่อให้การควบคุมชาวอุยกูร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอยู่ในสายตาของรัฐบาลจีน

ท่องคัชการ์ คาราโครัม ไฮเวย์ และทัชเคอร์กัน ณ ซินเจียง สุดขอบประเทศจีน ดินแดนที่เต็มไปด้วยคำถามและความสวยงาม

ถ้ามองอย่างผิวเผิน เมืองที่รัฐบาลจีนสร้างขึ้นมาใหม่ถือว่าสวยงามมาก มีการวางผังเมืองที่เป็นระเบียบ และกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เมือง ‘เก่าแห่งใหม่’ นี้สร้างเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวของชาวจีน ในขณะที่ยังคงกลิ่นอายของความดั้งเดิมได้อย่างแนบเนียน เช่นเดียวกับกล้องวงจรปิดที่ซ่อนอย่างแนบเนียนในทุกๆ เสาไฟ

ผมแวะเข้าไปในร้านขายชา ซึ่งเป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชาวอุยกูร์ ที่นี่เป็นที่รวมตัวของชายชาวอุยกูร์ แต่น่าสังเกตว่า ที่นี่อาจถูกเปลี่ยนให้เน้นขายของนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะราคาสูงเกินจะขายให้คนท้องถิ่น แต่เมื่อเทียบราคากับบรรยากาศริมระเบียงที่มองเห็นวิถีชีวิตของคนในเมือง ผมรู้สึกคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายในฐานะนักท่องเที่ยว และที่น่าสนใจคือ มีคนท้องถิ่นมานั่งจิบชาและเสวนากับเพื่อนฝูงจํานวนมากทั้งๆ ที่ราคาค่อนข้างสูง

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน
 วิวจากระเบียงร้านน้ำชา
ท่องคัชการ์ คาราโครัม ไฮเวย์ และทัชเคอร์กัน ณ ซินเจียง สุดขอบประเทศจีน ดินแดนที่เต็มไปด้วยคำถามและความสวยงาม

เมื่อเดินถึงจุดศูนย์กลางของเมืองเก่า จะพบมัสยิด Id Kah มีสีเหลืองตัดกับสีเขียวสวยงาม เป็นมัสยิดที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ในประเทศจีน รอบมัสยิดเป็นจัตุรัสที่เป็นจุดนัดพบของคนในเมือง และแน่นอนว่ามีเจ้าหน้าที่จำนวนมากเดินลาดตระเวน ส่วนภายในมัสยิดก็สงบร่มรื่นเช่นเดียวกับสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาหลายๆ ศาสนา 

สิ่งที่น่าตกใจเมื่อผมถามไกด์ท้องถิ่นในภายหลังคือ รัฐบาลห้ามไม่ให้ส่งเสียงใดๆ จากพิธีกรรมทางศาสนาในตอนเย็นเหมือนที่เราคุ้นเคยในมัสยิดหลายแห่งในกรุงเทพฯ และการทักทาย ‘อัสลามูอาลัยกุม’ แบบชาวมุสลิม ก็ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลห้ามไม่ให้พูด ผู้ฝ่าฝืนอาจโดนจับหรือปรับได้ รวมถึงห้ามผู้ชายชาวอุยกูร์ไว้เคราหรือผมยาวด้วย

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน

สิ่งที่แปลกอีกเรื่องคือ คัชการ์รวมถึงทุกเมืองในซินเจียงยังคงใช้เวลาตามปักกิ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว คัชการ์มีระยะทางห่างจากกรุงปักกิ่งถึง 4,000 กิโลเมตร ซึ่งหากวัดตามความเป็นจริง เวลาที่นี่ควรจะช้ากว่าที่ปักกิ่งหลายชั่วโมง ดังนั้น กว่าฟ้าจะมืดก็ปาไป 3 ทุ่มเสียแล้ว เมื่อตื่นมา 7 โมงเช้า ก็พบว่าบรรยากาศข้างนอกยังคงเหมือนเวลากลางดึก 

วันต่อมา ผมเดินทางไปชมหนึ่งในสถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดของคัชการ์ นั่นก็คือตลาดค้าสัตว์เมืองคัชการ์ จัดขึ้นทุกๆ วันอาทิตย์ และเป็นเช่นนี้เป็นเวลามากว่า 2,000 ปี ชาวบ้านในเมืองคัชการ์รวมถึงชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงจะนําปศุสัตว์ของพวกเขามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน มีปศุสัตว์มากมายไม่ว่าจะเป็นอูฐ แกะ แพะ แม้กระทั่งจามรี 

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน

บรรยากาศที่นี่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทุกคนที่มาเยือน เสียงตะโกนเรียกลูกค้า เสียงพ่อค้าตกลงราคากับผู้ที่มาซื้อ เสียงร้องของสัตว์นานาชนิด รวมไปถึงฝุ่นที่ตลบจนแสบจมูก และกลิ่นสาบของปศุสัตว์ที่ผมไม่คุ้นเคย หันไปอีกทางก็เห็นเด็กน้อยช่วยพ่อลากแกะที่เพิ่งซื้อกลับบ้าน ทุกสิ่งล้วนแตกต่างจากวิถีชีวิตของสังคมเมืองใหญ่ที่ผมคุ้นชิน

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน
หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน

แม้ว่าผมจะไปอยู่ตรงนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ความแตกต่างและความเป็นชุมชนเหล่านั้นเป็นประสบการณ์ที่ผมยังคงจดจําไม่ลืม นอกจากโซนค้าปศุสัตว์ ที่นี่ก็เป็นเหมือนตลาดทั่วไปที่มีของกินของใช้ขายมากมาย ชาวเมืองคัชการ์ต่างพร้อมใจกันมาเลือกซื้อของใช้ และรับประทานอาหารที่นี่อย่างคึกคัก

นับเป็นโชคดีที่ผมมีโอกาสมาเยือนสถานที่แห่งนี้ แม้ในอนาคตจะมีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือไม่ ในเมืองที่มีการควบคุมและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลแห่งนี้ แต่คัชการ์ในความทรงจําของผมก็จะยังคงคัชการ์ที่มีเสน่ห์แบบวันนี้ตลอดไป

พอหมดวัน ผมกลับมาที่พัก ลืมคําถามที่มีในหัวทั้งหมด รีบเข้านอนเพื่อจะได้พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะวันพรุ่งนี้ผมจะเดินทางไป Karakoram Highway หนึ่งในถนนที่ถูกขนานนามว่าเป็นถนนสูงที่สุดในโลก

ตื่นตากับทางหลวงสายคาราโครัม

เริ่มต้นวันด้วยความตื่นเต้น ผมรีบขึ้นรถตู้พร้อมกับไกด์ท้องถิ่น วันนี้มีจุดหมายปลายทางที่เมืองทัชเคอร์กัน ห่างจากเมืองคัชการ์ประมาณ 400 กิโลเมตร โดยผ่านถนนสายคาราโครัม ไฮเวย์ หนึ่งในการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ของจีน 

คาราโครัม ไฮเวย์ เป็นถนนที่สร้างเพื่อเชื่อมระหว่างเมืองคัชการ์และเมืองแอบบอตตาบัด ประเทศปากีสถาน ถนนแห่งนี้เป็นถนนเพียงเส้นเดียวที่เชื่อมระหว่างประเทศจีนกับปากีสถาน ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีมาเป็นเวลานาน คาราโครัม ไฮเวย์ ถือเป็นหนึ่งในถนนที่มีระดับความสูงมากที่สุดในโลก และเป็นที่เล่าขานว่าวิวระหว่างทางนั้นสวยงามระดับต้นๆ การได้เดินทางในถนนสายนี้อาจเป็นความฝันของใครหลายคน รวมถึงตัวผมเองด้วย

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน

ช่วงแรกหลังออกจากเมืองคัชการ์ สองข้างทางนั้นยังคงเป็นป่าต้นปอปลาร์ พืชประจําถิ่นของเมืองคัชการ์ที่กําลังผลัดใบเป็นสีเหลืองสวยงาม เราได้แวะพักที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อเตรียมเสบียงไว้สําหรับมื้อเที่ยง แต่น่าแปลกใจที่ไม่มีใครอยู่ในหมู่บ้านเลย ราวกับเป็นหมู่บ้านร้าง เมื่อสอบถามจากไกด์ท้องถิ่นได้ความว่า ทุกคนในหมู่บ้านไปรวมตัวเคารพธงชาติตามกฎที่บังคับไว้ และจะกลับมาอีกราวๆ ครึ่งชั่วโมง เหล่านี้อาจฟังดูแปลกสําหรับคนนอกอย่างผม 

แต่สําหรับชาวบ้านที่นี่คงกลายเป็นความเคยชิน หรือถูกทําให้เคยชินไปเสียแล้ว 

เมื่อออกจากหมู่บ้านมาสักพัก ลักษณะภูมิประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากที่เป็นพุ่มไม้เริ่มกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง นั่นเป็นสัญญาณว่าเรากําลังไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และที่เส้นขอบฟ้า แนวภูเขาสูงที่สุดที่ดวงตาผมเคยได้เห็นก็ปรากฏขึ้น แนวเทือกเขาปามีร์ (Pamir Mountains) ได้แสดงตัวต่อทุกคน ลักษณะเหมือนกําแพงสีเทาขนาดยักษ์ตั้งอยู่ตรงหน้า ไม่แปลกใจเลยว่าแนวเทือกเขานี้มีความสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกไม่แพ้เทือกเขาหิมาลัย

“นั่นคือ Kongur Tagh” 

ไกด์ท้องถิ่นชี้ให้ผมดูยอดเขาซึ่งมีความสูงถึง 7,649 เมตร เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาปามีร์

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน

เทือกเขาปามีร์เป็นเทือกเขาที่เปรียบเสมือนจุดนัดพบหรือจุดเริ่มต้นของแนวเทือกเขาสูงทุกแนวในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาคาราโครัมในประเทศปากีสถาน เทือกเขาฮินดูกุชในประเทศอัฟกานิสถาน เทือกเขาเทียนซานในประเทศคีร์กีซสถาน และเทือกเขาคุนหลุนในประเทศจีน

เทือกเขาปามีร์กินพื้นที่บางส่วนของประเทศจีนและทาจิกิสถาน นักเดินทางชาวจีนในสมัยเส้นทางสายไหมโบราณได้เปรียบที่นี่เป็นเหมือนจุดกึ่งกลางระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ ปัจจุบันที่นี่ก็ยังคงเป็นส่วนที่ทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน 

รถได้ขับลัดเลาะไปตามช่องเขาสูง วิวข้างทางนับเป็นภาพที่สวยงามที่สุดที่ผมเคยเห็น ในช่วงนี้ถนนยังคงเป็นถนนลาดยางคุณภาพดีเหมือนกับเส้นทางหลวงอื่นๆ ยิ่งทําให้รู้สึกถึงความพยายามในการดิ้นรนต่อสู้กับธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อเชื่อมสองดินแดนที่ถูกธรรมชาติตัดขาดเข้าหากัน

การเดินทางใน Karakoram Highway ฝั่งประเทศจีนจําเป็นต้องใช้เอกสารขออนุญาตพิเศษ ผมจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้บริการจากบริษัททัวร์ท้องถิ่นเพื่อจัดการเอกสาร นอกจากนี้ ผมยังต้องผ่านด่านตรวจใหญ่ๆ 2 ครั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร ถ่ายรูปพาสปอร์ต และสแกนใบหน้า

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน
 ทะเลสาบ Bulunkul

เมื่อรถขับเลยยอดเขา Kongur Tagh ไป เบื้องหน้าของผมเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ชื่อว่า Bulunkul ซึ่งมีฉากหลังของทะเลสาบเป็นเนินทรายขนาดใหญ่ อากาศที่นี่หนาวเย็นและลมพัดแรงมาก เมื่อลงไปริมทะเลสาบก็พบกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน และมีชายชาวคีร์กีซซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ในซินเจียง จูงตัวจามรีไว้คอยให้นักท่องเที่ยวขึ้นหลังถ่ายรูปด้วย ผมจึงอุดหนุนเขาไปในราคา 10 หยวน

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน

เมื่อออกจาก Bulunkul ภูมิประเทศสองข้างทางได้เปลี่ยนไปจนคล้ายดวงจันทร์ รวมถึงสภาพถนนก็เหมือนวิ่งอยู่บนผิวดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน ความสูงเริ่มเพิ่มขึ้นเกิน 3,000 เมตร ผมจึงงดการขยับตัวไปมา และนั่งชมวิวหุบเขาภายนอกเพื่อป้องกันอาการแพ้ความสูงหรือ Altitude Sickness

และแล้วภูเขาที่เปรียบเสมือนพระเอกใน Karakoram Highway ฝั่งประเทศจีนก็ปรากฏตัวมาให้ยลโฉม นั่นก็คือ Muztagh Ata แปลความหมายได้ว่า ‘บิดาแห่งภูเขานํ้าแข็ง’ เป็นภูเขาที่มีความสูงถึง 7,546 เมตร ภูเขาลูกนี้มีรูปทรงราวกับหมวกขนาดยักษ์ที่วางอยู่บนพื้นโล่ง ด้วยความที่ภูเขามีลักษณะเป็นสโลปไม่ชันมาก จึงถือว่าเป็นภูเขาที่พิชิตได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับภูเขาลูกอื่นที่มีความสูงระดับเดียวกัน

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน
หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน
Muztagh Ata เมื่อมองจากทะเลสาบ Karakul

รถจอดที่ Karakul ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ตั้งอยู่ใกล้ตีนภูเขา Muztagh Ata จากทะเลสาบนี้เราเห็นเทือกเขาปามีร์ในฝั่งประเทศจีนได้เกือบทั้งหมด ถึงแม้ว่าลมจะพัดแรงและอากาศหนาวจนถุงมือที่ผมใส่เอาไม่อยู่ แต่ความงามของธรรมชาติเบื้องหน้า ก็ทําให้ผมใช้เวลาอยู่ตรงนี้เกือบ 2 ชั่วโมงราวกับโดนสะกดไว้

เมื่อออกมาจากทะเลสาบ Karakul ฝั่งซ้ายของผมยังคงมี Muztagh Ata ปรากฏอยู่เสมือนเพื่อนเดินทาง ส่วนฝั่งขวาเป็นพื้นที่โล่งแห้งที่เป็นพรมแดนระหว่างประเทศจีนกับทาจิกิสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่สวยงามและไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ตอนนี้รถมุ่งตรงสู่เมืองทัชเคอร์กัน เมืองสุดท้ายของประเทศจีนก่อนถึงพรมแดนประเทศปากีสถาน

ยอดเขา Kongur Tagh ที่มองเห็นจากทะเลสาบ Karakul
ยอดเขา Kongur Tagh ที่มองเห็นจากทะเลสาบ Karakul

สุดขอบของประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน (Tashkurgan)

ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 140 Ptolemy นักปราชญ์ชาวกรีกได้เขียนระบุถึงเมืองที่มีหอคอยหิน ตั้งตระหง่านเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกคาราวานที่เดินทางผ่านมาว่า พวกเขาได้เดินทางมาถึงจุดกึ่งกลางระหว่างยุโรปและประเทศจีนแล้ว 

ทัชเคอร์กันมีความหมายว่า ‘ป้อมหิน’ เป็นเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาและถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ด้วยลักษณะที่ตั้งของเมืองนี้ ทําให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมโดยอาณาจักรอื่นๆ หลายครั้ง ป้อมหินอายุกว่า 2,000 ปีนี้ถือเป็นชื่อเรียกเมือง ที่ยังคงตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงยุคสมัยที่เส้นทางสายไหมในอดีตยังคงรุ่งเรือง 

ป้อมหินเมืองทัชเคอร์กัน
ป้อมหินเมืองทัชเคอร์กัน 

ป้อมหินนี้ได้ทําหน้าที่ปกป้องและสอดส่องคาราวานจํานวนนับไม่ถ้วนที่เดินทางผ่านทัชเคอร์กัน โดยว่ากันว่า จุดประสงค์ของนักเดินทางเหล่านั้นก็เพื่อค้าขายระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปะและวิทยาการระหว่างสองมุมที่ห่างไกลกันบนโลก และผลิดอกออกผลเป็นมรดกมากมายของมนุษย์ในปัจจุบัน

ป้อมหินที่อยู่คู่เมืองทัชเคอร์กันยังคงถูกรักษาและบูรณะสภาพไว้เป็นอย่างดี สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนต้องมาเยือน เพื่อชมสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของเมืองแห่งนี้ในอดีต ทุ่งหญ้าสีเหลืองทองกับป้อมหินที่ดูแข็งแกร่ง มีฉากหลังเป็นเทือกเขาปามีร์ คงเป็นเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ ที่อยู่สุดขอบประเทศจีน ที่ไม่ว่าใครมาเยือนก็ต้องหลงรัก

ท่องคัชการ์ คาราโครัม ไฮเวย์ และทัชเคอร์กัน ณ ซินเจียง สุดขอบประเทศจีน ดินแดนที่เต็มไปด้วยคำถามและความสวยงาม

ทัชเคอร์กันถือเป็นบ้านของชาวทาจิก แม้ว่าพวกเขาจะมีชื่อเรียกเหมือนกับชาวทาจิกในประเทศทาจิกิสถาน แต่กลับพูดคนละภาษา ชาวทาจิกเป็นชาติพันธุ์เดียวในประเทศจีนที่เป็นกลุ่มชนเดียวกับประชาชนในอิหร่าน พวกเขาพูดภาษากลุ่มอิหร่านตะวันออก (Eastern Iranian) ต่างจากชาวอุยกูร์ในคัชการ์ที่พูดภาษาอุยกูร์ ซึ่งเป็นภาษากลุ่มเตอร์กิก (Turkic) และหญิงชาวทาจิกจะมีการแต่งกายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ มีผ้าคลุมศีรษะและสวมหมวกสีม่วงลวดลายสวยงาม ถ้าหากหญิงผู้นั้นเพิ่งผ่านการแต่งงาน จะประดับศีรษะด้วยเครื่องเงิน เพื่อแสดงสถานะการสมรส

หญิงชาวทาจิกทำหน้าที่เป็นไกด์ท่องเที่ยว
หญิงชาวทาจิกทำหน้าที่เป็นไกด์ท่องเที่ยว

ปัจจุบันทัชเคอร์กันตั้งอยู่ใกล้พรมแดนประเทศทาจิกิสถาน อาฟกานิสถาน และปากีสถาน โดยขับรถออกจากเมืองนี้ตามคาราโครัม ไฮเวย์ ไปไม่เกิน 100 กิโลเมตรก็จะถึงช่องเขาคุนจีราบ (Khunjerab Pass) พรมแดนระหว่างประเทศจีนและประเทศปากีสถาน น่าเสียดายที่เอกสารขออนุญาตของผมไม่ครอบคลุมให้เดินทางไปถึงตรงนั้นได้ 

การเดินทางไปสุดขอบของประเทศจีนของผมจึงสิ้นสุดลงที่เมืองแห่งนี้

ท่องคัชการ์ คาราโครัม ไฮเวย์ และทัชเคอร์กัน ณ ซินเจียง สุดขอบประเทศจีน ดินแดนที่เต็มไปด้วยคำถามและความสวยงาม

ความสวยงามของสถานที่ ผู้คน รวมถึงเรื่องราวอันน่าสนใจในด้านประวัติศาสตร์ที่ผมได้สัมผัสตลอดการเดินทางในซินเจียง ล้วนแต่งเติมเป็นภาพความทรงจำที่งดงาม แต่ผมปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางทําให้ผมเรียนรู้และเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอมากน้อยแค่ไหน 

คําถามของผมเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของชาวอุยกูร์ที่ได้รับรู้ในฐานะนักท่องเที่ยวยังคงวนเวียนอยู่ในใจ 

ถ้าสมมติผมเกิดมาเป็นชาวอุยกูร์ วันหนึ่งรัฐบาลสร้างบ้านหลังใหม่ที่มีความสะดวกสบายแบบยุคสมัยใหม่ตามที่รัฐบาลนิยาม แต่ที่ที่บรรพบุรุษของผมเรียกว่าบ้านถูกทําลาย ผมก็ไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกดีใจหรือเสียใจกับความสะดวกสบายเหล่านี้

ความสะดวกสบายที่เบื้องหลังคือสายตาของรัฐบาลที่คอยเพ่งตาดูอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากผมเป็นชาวอุยกูร์ ผมอาจรู้สึกว่าตัวเองกําลังถูกกดขี่และอยู่ในกระบวนการ ‘กลืนเชื้อชาติ’ เช่นเดียวกับที่ข่าวทั่วโลกกําลังนําเสนอหรือไม่ 

ท้ายที่สุด ผมในฐานะผู้มาเยือนก็ทําได้เพียงคิดวิเคราะห์ไปตามทัศนะของตัวเอง และได้แต่หวังว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับดินแดนแห่งนี้ในอนาคต จะเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ 

หนุ่มไทยไปสัมผัสวิถีชาวอุยกูร์ ที่ Xinjiang และเดินทางเที่ยวสุดขอบประเทศจีนที่ทัชเคอร์กัน

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ปฏิภาณ จินดาประเสริฐ

นักศึกษาทันตแพทย์ ผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเดินทาง ได้พยายามแบ่งเวลาจากการเรียนเพื่อเดินทางตามความฝัน