สองมือแพ็กกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้าฟาร์ม
นั่งนอนคิดอยู่นาน กว่าจะได้ประโยคที่ช่วยนิยามใจความของเรื่องเล่าในวันนี้ได้อย่างตรงใจ
ระยะหลังมานี้ ชาวแบกแพ็กหัวใจสีเขียวสุดคูลในโลกโซเชียล พูดถึงโครงการ WWOOF กันหนาหู จนคนติดบ้านอย่างเราอยากสะพายกระเป๋าแล้วจองตั๋วเครื่องบินกับเขาบ้าง เป็นสัญญาณว่าต้องทำความรู้จักเจ้า WWOOF ที่ว่านี้อย่างจริงๆ จังๆ เสียที
เราเริ่มทำความรู้จัก WWOOF ทีละน้อย และพบว่าสิ่งนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ตัวอักษรที่ชวนให้ออกเสียงเหมือนเสียงร้องของสุนัขจิ้งจอก ย่อมาจากชื่อเต็มว่า World Wide Opportunities on Organic Farms หรือ Willing Workers on Organic Farms วูฟทำหน้าที่จับคู่อาสาสมัครกับโฮสต์ฟาร์มตั้งแต่ ค.ศ. 1971 และแพร่ขยายไปว่า 90 ประเทศทั่วโลก มีเป้าหมายคือการส่งเสริมการทำอาสาสมัครในฟาร์มและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเชิงนิเวศ


ผู้ที่สนใจอยากทำอาสาสมัครในไร่ในฟาร์มต่างแดน หรือเรียกสั้นๆ ว่า WWOOFer สามารถค้นหาฟาร์มและสายงานในประเทศที่สนใจได้ทางเว็บไซต์ เมื่อได้รับการคอนเฟิร์มจากโฮสต์ ก็เตรียมแพ็กกระเป๋าข้ามน้ำข้ามทะเลไปกันได้เลย
โดยส่วนมาก งานที่บ้านของโฮสต์คือการทำเกษตรอินทรีย์ในแขนงต่างๆ ทั้งปลูกผัก ทำสวนผลไม้ ดูแลคอกวัว ไปจนถึงกิจการอื่นๆ ที่ระยะหลังเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น อย่างการทำอาร์ตแกลเลอรี่ ร้านอาหาร หรืองานฝีมือ โดยโฮสต์จะได้เหล่าอาสาสมัครมาช่วยลงแรงในฟาร์มแบบฟรีๆ แต่สวัสดิการที่โฮสต์จะจัดหาให้แก่วูฟเฟอร์ คืออาหารและที่พักแบบไม่ต้องจ่ายเพิ่ม (ทั้งนี้ วูฟเฟอร์ต้องจ่ายค่าสมัครสมาชิกโครงการรายปีและค่าตั๋วเครื่องบินเอง)
ที่สำคัญ ตลอดระยะเวลา 2 – 3 สัปดาห์ (เป็นอย่างต่ำ) ที่อาศัยอยู่กับโฮสต์ วูฟเฟอร์ยังได้ซึมซับวิทยายุทธในสาขางานของตนเองตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ชนิดที่ว่าคุ้มค่าคุ้มเวลาสุดๆ และเราเชื่อว่าจะหาจากห้องเรียนแห่งไหนไม่ได้เลย
แอบกระซิบบอกว่า นอกจาก WWOOF แล้ว ยังมีอีกหลากหลายโครงการที่ช่วยสานฝันนักเดินทางจากทั่วโลก ให้ได้ไปกินอยู่ดูงานฟาร์มถึงในไร่ อย่าง Workaway หรือ Helpx ปัจจุบันมีโฮสต์เข้าร่วมโครงการมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และมีชนิดงานให้เลือกทำหลากหลายประเภท ตั้งแต่ปลูกผัก ทำฟาร์ม เก็บน้ำผึ้ง ต่อเติมบ้าน ลูกเรือสำราญ ไปจนถึงดูแลน้องหมา

ไปเมืองนอกทั้งที ทำไมต้องไปวูฟ ?
วูฟอาจไม่เหมาะสำหรับใครที่ไม่ปรารถนาจะลงแรงลงกายในฟาร์มได้ทั้งวัน แต่วูฟก็เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้มีใจรักในการเรียนรู้ และอยากลิ้มลองวัฒนธรรมภูมิปัญญาของผู้คนในอีกสุดขอบโลก นอกจากจะได้ฝึกภาษา พบปะผู้คนใหม่ๆ ออกทริปที่ไม่เหมือนใคร ชิมอาหารอันยอดเยี่ยม และค้นพบศักยภาพของตัวเองในด้านที่ไม่เคยรู้ว่ามีอยู่ วูฟยังเป็นห้องเรียนออร์แกนิกกลางแจ้งสุดแจ๋ว คอยต้อนรับผู้คนจากต่างที่ต่างถิ่น มาเรียนรู้วิถีการกินอยู่แบบออร์แกนิกจากรากถึงปลายไม้ ซึ่งช่วยลงหลักปักฐานแนวทางและสร้างผู้คนในวงจรชีวิตอินทรีย์นี้ได้อยู่ไม่ขาด


ที่สำคัญ เพื่อนๆ ของเราย้ำหนักย้ำหนา ว่าการก้าวขาออกจากเซฟโซนด้วยการอาสาไปเป็นวูฟเฟอร์หรือแม้แต่การทำโฮสต์เอง ทำให้พวกเขาได้เห็นความเป็นไปได้ของชีวิตในการพึ่งพาและพึ่งพิงตนเอง การไปอยู่ต่างถิ่นในฐานะแรงงานอาสาสมัคร อาจเลือกอยู่เลือกกินไม่ได้มากนัก การปรับตัวในระยะเวลาอันสั้น และรู้จักมองหาความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องฝึกฝน

ส่วนผลพลอยได้อีกประการหนึ่งที่พวกเขาดูจะประทับใจมากเป็นพิเศษ คือมิตรภาพที่เกิดขึ้นในฟาร์มระหว่างเจ้าบ้านกับอาสาสมัครแปลกหน้า การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกิจการและครอบครัวของโฮสต์ ช่วยให้พวกเขาได้มีมุมสนทนาเงียบๆ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด และค้นพบตัวตนระหว่างกันโดยไม่รู้ตัว
แม้จะไม่เคยไปวูฟกับเขาสักครา แต่จากคำบอกเล่าและเรื่องราวที่มิตรสหายของเราเก็บเกี่ยวมาฝากจากแดนดินถิ่นไกล ทำให้เราเผลอหลงรักทริปการเดินทางของพวกเขาอย่างเต็มเปา และอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง
มิตรท่านแรกที่แวะเวียนมาแบ่งปันประสบการณ์การเป็นวูฟเฟอร์และโฮสต์ในโครงการ คือ ขวัญ-วัชรพล แดงสุภา ขวัญเรียนจบบริหารธุรกิจ แต่ปัจจุบันมุ่งมั่นทำสวนแบบผสมผสาน และทำ Permaculture โดยเปิดรับอาสาสมัครจากทั่วโลก อีกหนึ่งสายงานอาชีพที่น่าทึ่ง คือ ขวัญกำลังพัฒนาโปรเจกต์โรงเรียนสอนต่อเรือขนาดเล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขวัญเคยไปทำวูฟเฟอร์ใน Fishing Lodge (ที่พักสำหรับนักตกปลา) และฟาร์มหอยแมลงภู่ ที่ฟาร์ม Marlborough Sounds ในนิวซีแลนด์ และเคยไปศึกษาดูงานเกษตรระยะสั้นที่ Community Farm ในสเปน (ทั้งสองที่ที่กล่าวมาไม่ได้อยู่ในโครงการ WWOOF ขวัญเดินทางไปเองเป็นการส่วนตัว)


ขวัญบอกกับเราว่าแม่น้ำที่นิวซีแลนด์ใสมาก และเขาลากเสียงยาวจนเราเข้าใจว่ามากจริงๆ หน้าที่เขาคือช่วยโฮสต์ดูแลนักตกปลา จัดเตรียมบ้านพัก ตัดหญ้าที่สนามหน้าบ้าน (ตามสไตล์บ้านฝรั่งที่มักชื่นชอบสนามสวยๆ) นั่งเรือไปเปลี่ยนทุ่นราวแขวนและเก็บหอยแมลงภู่อยู่เป็นนิจ เวลาล่องเรือจะเห็นเหล่าเพนกวินเดินเตาะแตะๆ อยู่ตามเกาะ และเห็นนกบินโฉบลงมากินปลาในน้ำต่อหน้าต่อตา
ส่วนการทำฟาร์มหอยก็ดูแปลกไปจากบ้านเรามากเหมือนกัน เพราะหอยไม่ได้เกาะกับหลักไม้ แต่เกาะกับเชือกที่ต่อลงมาจากทุ่นลอยด้านบน มีมีดและมือเป็นอุปกรณ์ในการเก็บ เพียงสาวเชือกขึ้นก็ครูดหอยออกมาได้อย่างง่ายๆ ความน่ารักมากของช่วงชีวิตสั้นๆ ในนิวซีแลนด์คือ ขวัญมองเห็นดาวได้ถนัดทุกคืน เพราะไม่มี Light Pollution มาคอยกวนใจ ส่วนวิธีการส่งไปรษณีย์ ที่นี่เขาก็รับส่งของกันทางเรือเหมือนในหนังย้อนยุคไม่มีผิด

ส่วนที่สเปน แม้มีเวลาไม่มาก แต่ขวัญเก็บเกี่ยวความรู้มาได้เป็นกอบเป็นกำ อย่างวิธีการพักดินหรือเตรียมดินแบบชาวเมืองหนาว ซึ่งบ้านเราไม่ต้องมีขั้นตอนนี้ เพราะปราศจากฤดูหนาวที่รุนแรงเกินทน


เมื่อกลับมาเมืองไทย ขวัญยังติดใจการทำวูฟเฟอร์อยู่ไม่วาง จึงแบ่งเวลาว่างมาลงทะเบียนเป็นโฮสต์ในเมืองไทยกับเขาด้วย ขวัญเปิดรับสมัครวูฟเฟอร์ผ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊กของตนเอง รวมถึงผ่านโครงการ WWOOF และ Workaway ด้วย การสมัครเป็นวูฟเฟอร์ผ่านโครงการ อาจมีขั้นตอนและเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป โดยส่วนมากจะให้โฮสต์และวูฟเฟอร์ระบุว่าต้องการหรืือสนใจงานประเภทไหน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายจับคู่กันง่ายขึ้น สำหรับบางโครงการก็จะให้ใส่ข้อมูลละเอียดยิบ ตั้งแต่ช่วงเวลาการรับวูฟเฟอร์ ทักษะงานที่โฮสต์ต้องการ ภาษาที่ใช้สื่อสาร สิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านพัก ไปจนถึงข้อจำกัดด้านอาหารการกิน
ซึ่งขวัญแนะนำว่า เมื่อถึงเวลาติดต่อกับโฮสต์เจ้าบ้าน ควรสอบถามเรื่องระยะเวลาการทำงานต่อหนึ่งวันให้ชัดเจน (โดยส่วนมากมักไม่เกิน 5 ชั่วโมง) และโฮสต์บางที่อาจมีกิจกรรมสนุกๆ ไว้คอยรองรับเหล่าวูฟเฟอร์ให้ได้ผ่อนคลายในวันหยุดด้วย อย่างที่โฮสต์ฟาร์มของขวัญเอง เขามักจะอาสาพาเหล่าวูฟเฟอร์เดินสำรวจธรรมชาติและจุดน่าสนใจอื่นๆ ในท้องถิ่นที่นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าไม่ถึง
ต่อไปคือสาวน้อยที่เรื่องราวการเป็นวูฟเฟอร์ของเธอมีไม่น้อยเลยทีเดียว เฟิร์น-ศรีปุงวิวัฒน์ เธอเรียนจบด้าน Communication Design และปัจจุบันทำงานวิดีโอฟรีแลนซ์ เฟิร์นตัดสินใจไปเยือน Incredible Farm ในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนเหนือของอังกฤษในการทำวูฟเฟอร์ครั้งแรก สิ่งที่แสดงถึงความเป็นออร์แกนิกได้อย่างเต็มตัว คือที่นี่เขาเป็นฟาร์มแบบ Off-Grid ผลิตน้ำไฟใช้ได้เองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไฟฟ้าได้จากโซลาร์เซลล์ ส่วนน้ำก็มาจากน้ำฝน

ก๊วนวูฟเฟอร์ที่เฟิร์นพบเจอในอังกฤษ มีทั้งมากและใหม่ประสบการณ์ งานที่ได้ประลองฝีมือกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือการเพาะต้นกล้า ถอนวัชพืช เก็บผลผลิตและนำไปวางขายที่ Farmer’s Market หากเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนก็จะได้ช่วยกันแปรรูปบรรดาผลไม้กระบุงใหญ่มาเป็นแยมรสหวานฉ่ำ แต่สิ่งที่เปิดประสบการณ์ของเฟิร์นในทริปนี้มากที่สุด เห็นจะเป็นการช่วยโฮสต์รีดนมวัวสดๆ ทุกเช้า กลิ่นของนมสดจากเต้าของแม่วัว ยังหอมมันเตะจมูกมาถึงทุกวันนี้


ส่วนอีกแห่งคือฟาร์มสเตย์ ธุรกิจของครอบครัวเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขา Dolomites ทางตอนเหนือของอิตาลี แม้จะเพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่ความหลากหลายของกิจกรรมแซงหน้าที่อื่นๆ ไปไกลลิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำชีสนมแพะ และเลี้ยงผึ้ง ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหลักที่เฟิร์นตัดสินใจปักธงมาเป็นวูฟเฟอร์ ณ ที่แห่งนี้ เฟิร์นมีโอกาสได้ใส่ชุดเก็บน้ำผึ้งและชิมสารพันชีสออร์แกนิกแสนอร่อยอยู่บ่อยครั้ง

ในขั้นตอนการเลือกโฮสต์ เฟิร์นแนะนำให้เราดูเงื่อนไขให้ละเอียด เพราะโฮสต์บางแห่งอาจต้องการวูฟเฟอร์ที่มีประสบการณ์เฉพาะด้าน บางที่ต้องการวูฟเฟอร์ที่พร้อมจะอยู่กับเขานานหน่อย แต่โดยส่วนมากขอแค่อยู่ง่ายกินง่ายและมีใจรักในการเรียนรู้ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
เฟิร์นยังขอฝากความประทับใจในการเป็นวูฟเฟอร์ไว้ด้วยคลิปวิดีโอที่เธอถ่ายเอง
เกือบท้ายแต่ยังไม่ท้ายสุด เราขอแนะนำให้รู้จักกับ ออม-อรุโณชา โพธิ์บุญ
เธอเรียนจบด้านศิลปอุตสาหกรรม ปัจจุบันทำงานด้านการออกแบบ ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา


หลักเกณฑ์ในการเลือกโฮสต์ ออมมักเลือกโฮสต์ที่เตรียมงานหรือกิจกรรมมากกว่าหนึ่งอย่างให้เธอทำเสมอ เช่น งานฟาร์ม งานศิลปะ งานเซรามิก หรือทำสบู่ออร์แกนิก อย่างฟาร์มในญี่ปุ่นที่เธอเลือกมาทำวูฟเฟอร์เป็นครั้งแรก โชคเข้าข้างเพราะโฮสต์เป็นศิลปินสุดคูล เธอจึงได้ทั้งช่วยทำบ้านดิน ปลูกผัก และดูแลสวนดอกไม้ หากวันไหนเป็นวันฝนตก เหล่าวูฟเฟอร์ทั้งหลายก็จะได้ทำงานศิลปะกันในบ้าน ออมแอบกระซิบว่าโฮสต์บางที่ก็มีสายงานเยอะมากจนเลือกไม่ถูก และไม่มีข้อจำกัดด้านอายุเลย เหล่าวูฟเฟอร์มีตั้งแต่หนุ่มสาววัยรุ่นจนถึงคุณลุงวัยใกล้เกษียณ


ส่วนที่ไต้หวัน เธอได้ทำสวนผักและทดลองทำงานในร้านอาหารเกาหลี แต่ประสบการณ์วูฟเฟอร์ที่เธอจำไม่ลืม เห็นจะเป็นเป็นฟาร์มแพะ Green Goat Farm ที่รัฐ Virginia ในสหรัฐอเมริกา ด้วยความที่เธอเป็นวูฟเฟอร์เพียงคนเดียวของฟาร์ม เธอจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโฮสต์อย่างอบอุ่นและไม่รู้ตัว ส่วนเรื่องที่ทำให้เธอตื่นเต้นกว่านั้น คือการได้ช่วยดึงขาเจ้าแพะน้อยออกมาจากก้นแม่แพะ ถือเป็นการช่วยทำคลอดครั้งแรก และน่าจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตของเธอ
และมิตรสหายท่านสุดท้ายที่เรายินดีที่ได้รู้จักเป็นอย่างมาก และอยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จักเช่นกัน หนู-ภัทรพร อภิชิต อดีตวูฟเฟอร์คนแกร่งที่ตะลุยเกาะน้อยใหญ่ในญี่ปุ่นมาแล้วนับไม่ถ้วน และยังกลับมาเปิดโฮสต์ฟาร์มเล็กๆ อย่าง NuJo Art and Farm ในย่านสมุทรสงคราม ร่วมกับสามี โจ-วีรวุฒิ กังวานนวกุล นอกจากนี้ยังมี เดอะมนต์รักแม่กลอง ธุรกิจร่วมในองค์กรเล็กๆ ที่เธอให้คำจำกัดความว่าเป็นร้านค้าโชห่วย ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวของชุมชนผ่านสินค้าและของกระจุกกระจิกอีกสารพัน ทั้งหมดนี้ เธอไม่ได้เรียกมันว่าอาชีพ แต่เรียกมันว่าการใช้ชีวิตต่างหาก

เราตั้งใจให้พื้นที่กับหนูเยอะกว่าใครเพื่อน เพราะลำพังแค่เรื่องการเป็นวูฟเฟอร์ในญี่ปุ่น ก็แน่นเอียดจนแทบล้นหน้ากระดาษ เมื่อครั้งที่หนูได้รับทุนไปเรียนรู้เรื่องชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในญี่ปุ่น ก็เป็นเวลาประจวบเหมาะที่เธอได้ที่ทางในอัมพวาเข้าพอดี หนูมีแผนงานในการทำเกษตรยั่งยืนบนที่ดินผืนนั้นทดไว้ในใจ สองสามีภรรยาจึงใช้เวลาว่างบางส่วนจากการทำงาน ผจญภัยในฐานะวูฟเฟอร์บนตารางเมตรเล็กๆ ที่ถูกพับมุมเก็บซ่อนไว้บนแผนที่ญี่ปุ่น ถือเป็นการซ้อมใหญ่และปูพื้นฐานทักษะทางด้านงานเกษตร ก่อนที่เธอจะมาลงสนามจริง ณ แดนดินสมุทรสงครามในอนาคต

หนูและโจสะพายเป้รับบทวูฟเฟอร์มาแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้งมีทำเลที่ตั้งไม่ซ้ำกันเลยสักคราว ไล่ไปตั้งแต่โออิตะ โอกินาวา ทากายาม่า และปิดท้ายด้วยฮอกไกโด ทุกฟาร์มที่เธอไปดำรงวิถีชีวิตและทำการเกษตรแบบอินทรีย์ทั้งหมด เป็นภาพตัดที่แตกต่างจากชีวิตในเมืองหลวงอย่างเห็นได้ชัด แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าจนทั่วโลกต่างยกนิ้วให้ แต่ในพื้นที่ชนบทเล็กๆ ผู้คนต่างไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ ด้วยซ้ำไป
หนูและโจได้ทดลองทำงานสารพัด ตั้งแต่งานสบายๆ อย่างทำซอสโชยุ หมักมิโซะ อาบน้ำให้น้องหมา ปลูกผักเก็บดอกไม้ ไปจนถึงงานสายอาร์ติสต์อย่างจัดสวนหินและช่วยโฮสต์สร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะ หรือแม้แต่งานสายโหดอย่างถางหญ้าให้วัวกินและต้อนวัวขึ้นรถบรรทุกเพื่อไปโรงเชือด ทั้งสองก็เคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น



โฮสต์บางที่ก็อบอุ่นมาก เสมือนว่าเป็นพี่น้องร่วมท้องแม่เดียวกัน อย่างที่โออิตะ เธอได้มีโอกาสนั่งแช่ออนเซ็นร่วมกับครอบครัวของโฮสต์ทุกวันทีบ่อออนเซ็นสาธารณะประจำหมู่บ้าน หรือที่ทากายาม่า โฮสต์สาวสวยของเธอเคยมาเป็นอาสาสมัครในไทยและลาว หนูเล่าว่าโฮสต์ตื่นเต้นกับวูฟเฟอร์คนไทยมาก แถมยังกล่าวต้อนรับเธอด้วยคำว่า ‘สวัสดีค่ะ’ อย่างฉะฉาน
หนูได้มีโอกาสโชว์ฝีมือทำอาหารไทยให้โฮสต์ทาน เพราะที่บ้านโฮสต์มีเครื่องปรุงอาหารไทยแทบทุกชนิด นั่นถือเป็นเรื่องวิเศษมาก ที่ได้รสสัมผัสของเครื่องแกงไทยอันคุ้นเคย ในพื้นที่ห่างไกลจากบ้านเกิดหลายร้อยไมล์


แม้บางครั้งต้องลงแรงงานอย่างสาหัส เหงื่อไหลอาบจนเธอร้องอุทานในใจว่าเหนื่อยฉิบเป๋ง แต่สิ่งเหล่านั้นทำให้เธอละทิ้งตัวตนได้เป็นปลิดทิ้ง ก่อนหน้านี้แม้เธอเคยเป็นใคร เคยทำอะไร เคยมีคนรู้จักมากมาย แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่ เธอเห็นแล้วว่าธรรมชาตินั้นกว้างใหญ่มาก จนเธอกลายเป็นจุดเล็กๆ ซึ่งไร้ความหมาย เธอไม่มีอะไรเลย มีเพียงหน้าที่และงานที่ต้องทำให้ดีเท่านั้น และเธอบอกว่าเมื่อเราลดอัตตาลงแล้ว ชีวิตก็ไหลเลื่อนไปได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
หลังเติมเต็มประสบการณ์การทำวูฟเฟอร์ในแดนญี่ปุ่น เธอได้เขียนเล่าเรื่องราวลงบล็อกส่วนตัวและภายหลังได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือเล่มที่มีชื่อว่า เราพบกัน เมื่อวันอาทิตย์อุทัย แต่ความประทับใจจากการเป็นวูฟเฟอร์ยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้ไม่จาง หนูและโจจึงเปลี่ยนพื้นที่ในฟาร์มที่สมุทรสงคราม เป็นฟาร์มโฮสต์ที่รองรับอาสาสมัครซึ่งเป็นวูฟเฟอร์นักเดินทางด้วย

หนู รักที่จะเรียนรู้ผ่านผู้คนและบทสนทนามาแต่ไหนแต่ไร การทำวูฟเฟอร์และผันตัวมาเป็นโฮสต์เสียเองในวันหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้เธอสนุกที่จะเรียนรู้ต่อไปอย่างไม่รู้จบ น้ำเสียงของเธอหนักแน่นเมื่อบอกกับเราว่า โชคดีเหลือเกินที่เธอเคยเป็นวูฟเฟอร์มาก่อน เพราะนั่นทำให้เธอเข้าใจว่า เธอต้องจัดการหรือรับมือกับอะไรบ้าง แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าเธอจะเป็นโฮสต์ที่ดีให้กับทุกคนได้


เมื่อครั้งที่เธอเปิดบ้านรองรับเหล่าวูฟเฟอร์เป็นครั้งแรก เธอมีเพียงแค่อาคารหนึ่งหลังบนที่ดินผืนใหญ่ เย็นย่ำค่ำคืนมีเพียงแสงไฟดวงเดียวจากแผงโซลาร์เซลล์ เหล่าวูฟเฟอร์ได้ช่วยกันทำงานสารพัดสารเพ เพื่อประกอบโครงสร้างให้ฟาร์มแห่งนี้สมบูรณ์ขึ้นเท่าที่แรงกายแรงใจจะสู้ไหว ตั้งแต่เทปูน มุงหลังคา และเลื่อยไม้ บางครั้งใช้เวลานานมากกว่างานหนึ่งชิ้นจะลุล่วงตามเป้าหมาย ซึ่งเธอพูดไปหัวเราะไปว่า การจ้างช่างก่อสร้างตกเฉลี่ยวันละ 300 บาท มันง่ายและได้งานที่รวดเร็ว (แถมสวยกว่าเป็นแน่) แต่เพราะการเป็นโฮสต์ เธอจึงรักที่จะมองเห็นความไม่สมบูรณ์แบบเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต
เธอและวูฟเฟอร์ทุกคนต่างตื่นตาตื่นใจที่ได้นำเรื่องราวการเดินทางของตนเองมาแลกเปลี่ยนกัน จะว่าไปก็เหมือนเหล่านักผจญภัยจากทั่วมุมโลก ขอปลีกตัวหลบมาพักผ่อนหย่อนใจสักครู่ ทำสวน ปาดเหงื่อ ดีใจและสำเร็จไปด้วยกัน สิ่งนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิต แต่ทำให้เธอเห็นมุมมองของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในธรรมชาติร่วมกันได้อย่างชัดแจ๋ว

หนูทิ้งทวนบทสนทนาว่า การทำวูฟเฟอร์ไม่ใช่แค่การเดินทางไปเมืองนอก จ่ายเงิน กินของอร่อย และนอนสบายๆ ในโรงแรม เธอจึงเชื่อว่าคนส่วนมากที่รักในการเดินทางสายนี้ พวกเขามีความสนใจในบางอย่างร่วมกัน อาจเป็นเรื่องมนุษย์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรืออะไรก็ตามที่เธอไม่อาจคาดเดาได้ พวกเขาไม่ได้จ่ายเงินเพื่อแลกกับการทำงานลำบากเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อตามหาคำตอบบางอย่างให้กับชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นเช่นเดียวกันในหัวใจของวูฟเฟอร์หลายๆ คน รวมถึงตัวของเธอเองด้วย

ภาพ : วัชรพล แดงสุภา, เฟิร์น-ศรีปุงวิวัฒน์, อรุโณชา โพธิ์บุญ, ภัทรพร อภิชิต และ วีรวุฒิ กังวานนวกุล