“อย่าเผลอลืมความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจนเผลอตัวไปสร้างบาดแผลให้กับคนอื่นอีก”

ประสบการณ์ตรงจาก ฟ้า-นภัส นกน่วม อาจทำให้ใครหลายคนฉุกคิดว่า ความรุนแรงไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกายหรือก่อเหตุให้เกิดความเสียหายเท่านั้น แต่เรื่องเล็กๆ อย่างคำพูดก็ถือเป็นวิธีสร้างความเสียหายต่อจิตใจได้เช่นกัน 

เธอตีความความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยใช้การจัดวางสิ่งของที่พังเสียหาย เสมือนร่องรอยความรุนแรงที่หลงเหลืออยู่ และเลือกใช้พื้นที่จริงเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านผลงานชุดนี้ ที่สำคัญ เธอต้องการสื่อประเด็นความรุนแรงโดยเฉพาะในครอบครัว ซึ่งมักถูกมองข้ามอยู่เสมอ ทุกเหตุการณ์ที่เธอเลือกมาล้วนเกิดขึ้นเกิดจากสภาวะไม่สมประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของครอบครัว ความรุนแรงที่ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยพวกนี้สร้างผลกระทบค่อนข้างใหญ่กับผู้ถูกกระทำ 

เพราะในทุกเรื่องไม่มีใครสามารถรับผิดชอบความรู้สึกแย่นั้นได้อีกแล้ว

ชุดภาพถ่ายความพังภายในบ้าน ที่ตีความจากประสบการณ์ตรงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

ภาพที่ 1 (Dining)

“รู้ว่าเขาโกรธมาก โกรธมากๆ จำได้ว่าแม่ร้องไห้แล้วพูดกับเราว่า ‘ไปทำผู้หญิงท้องยังรู้สึกดีกว่านี้เลย’ ตอนนั้นสับสนมากไม่รู้จะทำยังไง มันจุกอกไปหมด ทั้งเสียใจทั้งรู้สึกผิด แต่ก็ไม่รู้ว่าเราผิดอะไร แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรนะ ใช้ชีวิตไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

ชุดภาพถ่ายความพังภายในบ้าน ที่ตีความจากประสบการณ์ตรงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

ภาพที่ 2 (Living)

“‘เรามีกันอยู่แค่นี้นะ’ ประโยคคลาสสิกของแม่เลย แต่ตอนนั้นเหมือนเขากับเราอยู่กันคนละโลกเลย เหมือนสัญญาณของเรามันจูนกันไม่ติดอีกต่อไปแล้ว จนวันที่ส่งตัวแม่ไป ก็มานั่งคิดว่าหรือจริงๆ แล้วถ้าเรามีกันและกันมากกว่านี้ ทุกอย่างก็คงไม่เป็นแบบนี้รึเปล่า”

ชุดภาพถ่ายความพังภายในบ้าน ที่ตีความจากประสบการณ์ตรงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

ภาพที่ 3 (Seeing)

“ไม่เคยคิดว่าเรื่องเข้าใจผิดจะทำให้เขาพูดประโยคนั้นออกมา ‘ทำแบบนี้เปลี่ยนนามสกุลไปเลยดีมั้ย’ จังหวะนั้นเราช็อกไปเลย ความรู้สึกตรงนั้นเหมือนความเป็นลูกของเราเป็นพันธนาการของเขาเลย มองไปตรงไหนก็มีแต่ของของพ่อ ที่ของพ่อ เสียใจมาก ไม่รู้จะพูดยังไง ก็นั่นแหละ เสียใจ”

Writer & Photographer

Avatar

นภัส นกน่วม

จากนักศึกษาโฟโต้สู่ฟรีแลนซ์กราฟิกจำเป็น ยังคงหลงใหลแง่งามของงานเขียนและภาพถ่ายอยู่เสมอ