The Cloud x Museum Siam
ความเชื่อ โชคลาง ชะตาฟ้าลิขิต เป็นสิ่งที่อยู่กับคนไทยมาแต่โบราณ ยามตกทุกข์ได้ยาก นอกเหนือจากครอบครัวก็มีสิ่งเหล่านี้คอยช่วยพยุงจิตใจ
ในเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์พื้นที่ประวัติศาสตร์อายุ 2 ศตวรรษ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พึ่งพาทางจิตใจของผู้คนในพระนครมากมายหลายรูปแบบให้เลือกสักการะ ทั้งไทย จีน อินเดีย พุทธ พราห์มณ์ ผี แสดงถึงความเชื่ออันหลากหลายที่ชาวสยามรับมาปรับใช้ในชีวิต
11 สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้มีทั้งประวัติศาสตร์สนุกและความขลัง น่าขอพรและเรียนรู้เรื่องราวอดีตไปพร้อมกัน ดังนี้
ศาลหลักเมือง
เสาหลักเมือง 2 ต้นแห่งกรุงเทพมหานคร

ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ ก่อนสร้างเมืองต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่สำคัญ ซึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีจัดขึ้นเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้วในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2325) บริเวณใกล้สนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง โดยเสาตั้งอยู่ในศาลา ต่อมาเสาโดนแดดลมฝนจึงผุกร่อนทรุดโทรม รัชกาลที่ 4 จึงโปรดฯ ให้สร้างเสาหลักเมืองใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ยังคงเสาหลักเมืองเดิมไว้
กรุงรัตนโกสินทร์มีเสาหลักเมือง 2 ต้น โดยให้ประชาชนจุดธูปไหว้เสาจำลองด้านนอก และเข้าไปสักการะเสาหลักเมืองของจริงด้านในศาลหลักเมือง
ที่อยู่ : 2 ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 05.30 – 18.30 น.
อุทกทานพระแม่ธรณีบีบมวยผม
ศาลพระแม่ธรณีผู้แจกจ่ายน้ำสะอาด

ศาลพระแม่ธรณีศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา สร้างขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ปั้นด้วยฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ร่วมกับ พระยาจินดารังสรรค์ (พลับ) เพื่อแจกน้ำดื่มสะอาดจากมวยผมพระแม่ให้ประชาชน
ศาลนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2460 มีอีกชื่อคือ ‘อุทกทาน’ แปลว่า การให้ทานด้วยน้ำ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะอดอยาก อุทกทานถูกชาวบ้านเข้ามาขโมยเอาอุปกรณ์ท่อน้ำต่างๆ ไปจนใช้การไม่ได้ ต่อมาถูกซ่อมแซมให้ใช้ได้เหมือนเดิมในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ก็ไม่ได้ใช้แจกน้ำสะอาดอีกต่อไป
แม้ปัจจุบันเหลือเพียงศาลให้สักการะ แต่ผู้คนก็ยังนิยมมากราบไหว้ขอพรจากพระแม่ธรณี เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
ที่อยู่ : เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนินใน แขวงพระบรมมหาราชวัง
หลวงพ่อพระร่วงทองคำ
พระพุทธรูปที่นิยมบนด้วยว่าวและตะกร้อ

พระพุทธรูปปางมารวิชัยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในกรุงสุโขทัย มีอายุกว่า 700 ปี เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดโคกสิงคาราม อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ต่อมาจึงอัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่วัดมหรรณพารามวรวิหารใน พ.ศ. 2393
นอกจากเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก หลวงพ่อยังขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้มีคนมากมายพากันมาบนบานศาลกลา่ว โดยสิ่งที่นิยมนำมาแก้บนคือ ว่าวและลูกตะกร้อ ว่ากันว่าเป็นสิ่งที่หลวงพ่อพระร่วงชอบ โดยบางคนตีความว่าว่าวจะทำให้ชีวิตติดลมบน และลูกตะกร้อจะช่วยสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น
ที่อยู่ : 261/4 ถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 06.00 – 17.00 น.
ศาลเจ้าพ่อเสือ
ศาลเจ้าเก่าแก่ที่องค์ประธานไม่ใช่เสือ

ทุกเช้าศาลเจ้าแห่งนี้จะเนืองแน่นด้วยคนเซ่นไหว้บูชา แม้เรียกว่าศาลเจ้าพ่อเสือ แต่เทพเจ้าที่เป็นองค์พระประธานกลับเป็น ตั่วเหล่าเอี๊ย เทพเจ้าเก่าแก่ของจีน และยังเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้ เจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู และเจ้าแม่ทับทิม
เหตุผลที่ทำให้เรียกแบบนี้มีด้วยกันสองประการ ข้อแรกคือ ชื่อองค์พระประธานเรียกยากเกินไป คนจำไม่ได้ และข้อสองคือ ตอนที่ย้ายศาลเจ้ามาบริเวณนี้มีรูปบูชาเทพเจ้าเสืออยู่แล้วองค์หนึ่ง คนไทยจึงเรียกศาลเจ้าพ่อเสือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นอกจากขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ด้านเสริมอำนาจบารมี ที่นี่ยังขึ้นชื่อเรื่องเสี่ยงเซียมซีแม่นอีกด้วย
ที่อยู่ : 468 ถนนตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ
เวลาทำการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 17.00 น.
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
ศาสนสถานพราห์มณ์อายุมากกว่า 200 ปี

โบสถ์พราหมณ์หรือสำนักพราหมณ์พระราชครูในสำนักพระราชวัง เป็นสถานที่ประกอบพิธีและเคารพสักการะของพี่น้องศาสนาพราหมณ์ อยู่ในย่านเมืองเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเป็นโบราณสถานที่ใช้ประกอบราชพิธีที่สำคัญของพระนครตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ภายในเทวสถานประกอบไปด้วยโบสถ์ 3 หลัง สำหรับเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ไว้ ทั้งพระอิศวร พระพิฆเนศวร และพระนารายณ์ ส่วนลานด้านหน้าเป็นเทวาลัยขนาดเล็ก ซึ่งประดิษฐานพระพรหมอยู่ ผู้คนต่างแวะเวียนมาสักการะบูชาเป็นระยะ
ใครสนใจอยากค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ฮินดู ที่นี่ยังมีหอเวทวิทยาคม ห้องสมุดเฉพาะกิจที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับศาสนานี้ให้ศึกษากันด้วย
ที่อยู่ : 268 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.
เทวาลัยพระวิษณุ
ศาลสัมพันธไมตรีไทย-อินเดีย

เกาะกลางถนนระหว่างวัดสุทัศน์กับโรงเรียนเบญจมราชาลัยฯ จะพบซุ้มเล็กๆ ของเทวาลัยพระวิษณุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีพระรูปปฏิมากรรมพระวิษณุซึ่งอัญเชิญมาจากอินเดีย เพื่อแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและอินเดีย ในโอกาสครบรอบรัตนโกสินทร์ 200 ปี สำหรับพระวิษณุเชื่อว่าเป็นเทพผู้ดูแลรักษาทุกสรรพสิ่ง ผู้คนจึงมักมาสักการะ กราบไหว้ขอพร ทั้งชาวไทยและชาวอินเดีย
ที่อยู่ : ถนนศิริพงษ์ แขวงเสาชิงช้า
ศาลเจ้าพ่อครุฑ
ศาลครุฑริมคลองหลอด

ศาลขนาดกะทัดรัด 1 ห้องแถว ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยตรอกครุฑ ริมคลองหลอด เป็นสถานที่พึ่งพาจิตใจของชาวบ้านในละแวกนั้น เชื่อกันว่ามีคนพบครุฑไม้แกะสลัก สันนิษฐานว่าเป็นครุฑด้านหน้าหัวเรือรบ ลอยจากแม่น้ำมาติดที่คลองหลอดและไม่ไปไหน จนผู้คนเกิดความศรัทธาและอัญเชิญมาสักการะในซอย ทว่าถูกขโมยไป จึงต้องสร้างองค์ครุฑขึ้นใหม่ ว่ากันว่าขอพรได้ทุกเรื่อง
ที่อยู่ : 10 ถนนอัษฎางค์ แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.
ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง
เก๋งจีนของเทพเจ้าแห่งความเมตตา

หากเห็นคนเดินเข้ามาในสวนสราญรมย์พร้อมดอกไม้และธูปเทียน ให้เดาได้เลยว่าเขามุ่งตรงไปที่เก๋งจีนทรงหกเหลี่ยม 3 ชั้น เพราะที่นั่นมีศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 บนความเชื่อว่าเจ้าแม่ตะเคียนทองเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตา บริเวณหน้าศาลมีพื้นที่ให้กราบไหว้ ขอพรเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต ส่วนภายในนั้นมีบางส่วนของต้นตะเคียนผูกด้วยผ้าหลากสีตั้งอยู่
ที่อยู่ : ถนนเจริญกรุง แขวงพระบรมมหาราชวัง
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 05.00 – 21.00 น.
อนุสาวรีย์หมู
หมูประจำสะพานปีกุน

เดินลงสะพานปีกุนมาไม่เกินสิบก้าว รับรองว่าต้องสะดุดตากับรูปปั้นหมูสีทองตั้งโดดเด่นบนเนินหิน ที่คอหมูมีผ้าหลากสีและพวงมาลัยดอกดาวเรืองราวกับนักหาเสียง ชาวบ้านนิยมเรียกสิ่งนี้ว่าอนุสาวรีย์หมู สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เหตุที่สร้างเป็นรูปหมูนั้น มาจากปีนักษัตรประจำวันเกิดของพระมเหสี และผู้ที่สร้างอนุสาวรีย์ก็เกิดปีกุนเหมือนกัน ผู้คนมักบูชาเพื่อโชคลาภและการงาน
ที่อยู่ : บริเวณเชิงสะพานปีกุน เยื้องหน้าวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีดาราม แขวงพระบรมมหาราชวัง
บ่อน้ำทิพย์
บ่อน้ำในวัดจีนแห่งย่านซ่อมเครื่องไฟฟ้า


อาจจะแปลกใจสักหน่อย เพราะไม่นึกว่าในซอยที่เต็มไปด้วยร้านค้าขายอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างบ้านหม้อ จะมีวัดจีนสวยงามอายุกว่า 240 ปี วัดทิพยวารีวิหารแห่งนี้มีจุดเด่นคือบ่อน้ำทิพย์ที่เลี้ยวซ้ายจากบันไดมาก็จะมองเห็น บ่อเล็กๆ ทำจากหิน มีประติมากรรมนูนต่ำลายดอกบัว และมีรูปปั้นมังกรสีสดใสคอยหลั่งน้ำทิพย์ออกมาจากปาก ให้ผู้คนตักขึ้นมาพรมบนหัว หรือเก็บใส่ขวดไว้เป็นน้ำมนต์เพื่อนำกลับไปบูชาก็ได้เช่นเดียวกัน
ที่อยู่ : 119 ซอยทิพย์วารี แขวงวังบูรพาภิรมย์
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น.
ศาลเจ้าบ้านหม้อ เล่าปึงเถ้ากง
ศาลเจ้าจีนในถิ่นบ้านหม้อ

แถวบ้านหม้อมีศาลเจ้าจีนเล็กๆ ให้ได้ไปสักการะ เดิมเป็นเพียงศาลพระภูมิเล็กๆ ที่มีอายุกว่าร้อยปี ปัจจุบันถูกบูรณะใหม่เป็นอาคารคอนกรีต มีรูปบูชาของเจ้าพ่อปู่เล่าปึงเถ้ากง เทพเจ้ากวนอู เทพแห่งความซื่อสัตย์ รวมถึงเจ้าแม่กวนอิม ประดิษฐานอยู่ นอกจากการขอพรแล้ว ยังนิยมกราบไหว้เพื่อแก้ปีชง เสริมดวง กันอีกด้วย
ที่อยู่ : 303 ถนนบ้านหม้อ แขวงวังบูรพาภิรมย์
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
อ่านเรื่องราวของ 200 ที่เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพิ่มเติมได้ที่นี่
