6 ธันวาคม 2019
3 K

“บงชูร์ หญิง คุณมาเป็นอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นของเราได้ หน้าที่ที่ยังว่างอยู่ตอนนี้คือฝ่ายแนะนำข้อมูล หากคุณสนใจ กรุณาลงทะเบียนตามรายละเอียดด้านล่างแล้วเราจะติดต่อกลับไป”

อีเมลตอบกลับจากคณะทำงานเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลละครหุ่นโลก World Puppet Theatre Festival ครั้งที่ 20 ณ เมืองชาร์เลอวิลล์-เมซีแยร์ (Charleville-Mézières) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน เทศกาลนี้มีระยะเวลา 9 วัน มีการแสดงมากถึง 400 โชว์ จากร้อยกว่าคณะละครหุ่น จากอย่างน้อย 25 ประเทศรวมกัน 

เอาจริงๆ เราไม่ได้สนใจละครหุ่นหรือแม้แต่ละครเวทีสักเท่าไหร่ แต่ชอบบรรยากาศงานเทศกาล และคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสให้ได้ฝึกภาษาฝรั่งเศสในบริบทแวดล้อมที่ได้ใช้ภาษาในการทำงานมากกว่า เพราะมันบังคับให้เราต้องสื่อสารข้อมูลได้จริงและพัฒนาคลังศัพท์ใหม่ๆ

ละครหุ่นคืออะไร

“เราทุกคนก็ต้องเป็นเด็กมาก่อนไง แล้วตอนเด็กๆ เราเล่นอะไรล่ะ ไม่ใช่พวกหุ่น ตุ๊กตา พวกนี้เหรอ”

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส

ชายหนุ่มชาวปารีเซียงที่รับเราติดรถมาด้วยจากปารีสกล่าว เมื่อพวกเราคุยกันถึงความเป็นสากลของละครหุ่น นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เทศกาลนี้ดึงดูดคนจากทั้งฝรั่งเศสและประเทศใกล้เคียงมาเที่ยวงานถึง 150,000 คน ในแต่ละครั้ง ตัวเขาเองก็ขับรถมาเที่ยวงานนี้กับภรรยา ในขณะที่ อาแล็ง ( Alain) นักศึกษาที่ร่วมทางมาด้วย เล่าถึงความสนใจของเขาว่า

“ผมเรียนเรื่องการจัดเวทีการแสดงนะ แล้วละครหุ่นสำหรับผมมันครอบคลุมทุกองค์ประกอบของละครเวที แสง เสียง อุปกรณ์” 

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครใน เทศกาลละครหุ่นโลก ฝรั่งเศส

ละครหุ่นหรือ Marionette สำหรับคนฝรั่งเศสที่รักและเสพงานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต จึงไม่ใช่เพียงถุงมือขยับได้หรือการบังคับเชือกเชิดหุ่น แต่คือละครรูปแบบหนึ่ง เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีคณะละครทั่วประเทศ มีคลาสสอนกันจริงจัง

เทศกาลระดับโลกในเมืองเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก

น่าสนใจว่าเมื่อกล่าวถึงเมืองชาร์เลอวิลล์-เมซีแยร์ ก็ใช่ว่าคนฝรั่งเศสทั่วไปจะรู้จัก เพราะมันเป็นเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส มีขนาดเพียง 31 ตารางกิโลเมตร มีประชากรอยู่แค่ 50,000 คน ทำไมจึงมีเทศกาลระดับโลกมาจัดอลังการถึง 9 วัน คนมาเป็นแสนได้ยังไง แล้วเขาทำยังไงให้รองรับการแสดงกว่า 400 โชว์ได้นะ 

เริ่มมาจากหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ชื่อ ฌาค เฟลิกซ์ (Jacques Félix) วัย 17 ปี มาเจอกับเจโอ คอนเด (Géo Condé) ซึ่งสอนให้เฟลิกซ์สร้างหุ่นเป็น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เฟลิกซ์สร้างหุ่นและเล่นให้เด็กๆ ในค่ายนาซีดู เมื่อสงครามสงบก็มาตั้งคณะละครหุ่นของตัวเองในเมืองนี้ เพื่อนๆ จากเมืองอื่นได้ข่าวก็ตามมาดูการแสดงและมาร่วมแสดง พอใน ค.ศ. 1961 ก็เริ่มเชิญคณะละครจากประเทศอื่นมาแจมด้วย โดยจัดกันบนท้องถนนง่ายๆ ใครก็แสดงได้ และพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นเทศกาลระดับโลก 

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส

อันน์-ฟร็องซวส กาบานี (Anne-Françoise Cabanis) ผู้อำนวยการของเทศกาลนี้มองว่า Puppet Theatre ไม่ใช่ละครหุ่น แต่คือละครที่มีหุ่นร่วมแสดงด้วยต่างหาก

หลายปีที่ผ่านมา เทศกาลนี้จึงไม่ใช่เพียงตุ๊กตาพูดได้สำหรับให้เด็กดูหรือสงวนไว้เฉพาะศิลปินมืออาชีพ แต่ยกระดับให้เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่นักแสดงสามารถผสมผสานอะไรลงไปกับหุ่นก็ได้ 

เบื้องหลังละครหุ่น

การที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานประจำอยู่ที่บูทข้อมูล ทำให้เรามีโอกาสได้พูดคุย ตอบคำถาม แจกโบรชัวร์อยู่ตลอดเวลา เอาเป็นว่านึกอะไรไม่ออกก็เดินมาบูทเรานี่แหละ ถามตั้งแต่โปรแกรมการแสดงของวันนี้ว่ามีละครหุ่นสำหรับเด็กเล็กไหม จะไปดูโชว์นี้ต้องไปที่ไหน ไปจนถึงถามทางไปห้องน้ำและมาขอโปสเตอร์ฟรี

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครใน เทศกาลละครหุ่นโลก ฝรั่งเศส

ทุกๆ วัน เราเข้ากะ 3 – 4 ชั่วโมง เช้าบ้าง บ่ายค่ำบ้าง จากที่ไม่เข้าใจอะไรเลย เราก็ค่อยๆ เข้าใจระบบการบริหารจัดการเทศกาลนี้ เป็นต้นว่าอาสาสมัครในเทศกาลนี้มีถึง 400 คน ตั้งแต่คุณป้าวัยเกษียณที่เกิดที่นี่ ไปจนถึงนักศึกษาจากสเปน ไม่นับชาวเมืองอีกราว 100 ครอบครัว ที่เปิดบ้านให้ศิลปิน นักแสดง เข้าพักฟรีในช่วง 9 วันนี้ (หากเข้าไปในเว็บไซต์ของเทศกาล จะมีหมวดที่ให้เราเลือกว่าเราประสงค์จะให้ที่พำนักฟรีกับนักแสดงไหม) 

เทศกาลแบ่งประเภทการบริหารจัดการเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ IN โปรแกรมการแสดงระดับมืออาชีพจากคณะละครทั่วโลก มีกำหนดการชัดเจน คนจองตั๋วล่วงหน้าราคา 10 – 20 ยูโร รวมไปถึงการแสดงกลางแจ้งเปิด-ปิดเทศกาล ทั้งหมดนี้ดูแลโดยคณะทำงานหลักของเทศกาล 

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส
9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส

อีกส่วนเรียกกันว่า OFF ดำเนินการโดยเทศบาลเมือง Charleville-Mézières เป็นการแสดงฟรี ไม่เก็บค่าเข้าชม โดยมีทั้ง OFF ในอาคาร และ OFF บนท้องถนน รวมไปถึงกลุ่มคณะละครอีก 6 – 7 คณะ เป็นหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาจัดโซนพื้นที่ของตัวเอง ตั้งกระโจมใหญ่ เปิดบาร์ คาเฟ่ ร้านอาหาร ศาลาเล็กๆ โดยจัดตามสวนสาธารณะ ลาน หรือพื้นที่ว่างริมน้ำ ให้ฟีลแบบคาราวานยิปซี โดยทั้งหมดเป็น à Prix Libre หรือการแสดงเปิดหมวก ทิปก็แล้วแต่จะให้ ถ้าเป็นการแสดงสั้นๆ ตามท้องถนนก็ 1 – 3 ยูโร ถ้าแสดงจริงจังในฮอลล์ก็ 3 – 5 ยูโร 

ชาวเมืองร่วมใจ

เมื่อเราว่างเว้นจากการประจำบูทก็ได้ใช้เวลาในการเดินเที่ยว เดินชมเทศกาลทั้งหมด จึงได้พบว่าการแสดงแบบ Indoor ไม่ได้อยู่เพียงในโรงละคร แต่จัดแสดงในห้องประชุมของศาลากลางจังหวัด โรงยิม โบสถ์ โรงหนัง ห้องสมุด กว่า 30 แห่ง 

ในขณะที่โปรแกรม OFF บนท้องถนนนี่พลุกพล่านมาก เพราะมีส่วนผสมของ OFFdu OFF หรือพวกที่มากันเอง หามุมที่ใช่ จังหวะที่ชอบ แสดงกันตรงนั้นเลย ไม่อยู่ในกำหนดการใดๆ ทั้งสิ้น โดยมากเป็นนักแสดงสมัครเล่นที่กำลังพัฒนางานของตัวเอง เดินไปทุกสิบก้าวก็จะเจอ และด้วยมารยาทหรือวัฒนธรรมของศิลปินอย่างไรไม่ทราบ นักแสดงก็จะจัดสรรคิวกันเอง ให้เสียงไม่ไปตีกันกับฝั่งตรงข้าม เธอเล่นจบ ฉันเริ่มทันที ผู้ชมนี่แทบไม่ต้องขยับตัวเยอะ 

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส
9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส

ยังไม่นับตามร้านหนังสือ บาร์ ร้านอาหาร หรืออพาร์ตเมนต์ ที่จัดโปรแกรมของตัวเองเพิ่มเข้าไปอีก ซื้อไวน์ 1 แก้ว จิบไปชมไปเพลินๆ ได้ 

แล้วชาวเมืองนี้ ร้านค้าแถวนี้ เขาอะไรยังไงกับเทศกาลนี้ล่ะ 

เขาก็เอาตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลไง ตั้งแต่การจัดหน้าร้านให้เป็นธีม Puppet Show อย่างร้านขายรองเท้าก็จัดหน้าร้านเป็นเรื่องภูติจิ๋วที่มาขัดรองเท้า หรือร้านขายแว่นตาก็เอาตุ๊กตาตัวใหญ่ๆ มานั่งเก้าอี้หน้าร้าน บางทีไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขายเลยนะ แค่เอาเชือกมาผูกสินค้าห้อยๆ ให้เหมือนหุ่นชักใย เวลามีการแสดงหน้าร้าน เขาก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร บางคณะอย่าง Quatre Libre! แก๊งลุงป้า 4 – 5 คน เข้าไปเล่นยุ่มย่ามในร้านก็มีบ้าง หรือบางบ้าน (เช่นบ้านที่เราไปนอน) ก็เปิดเป็น Airbnb สำหรับช่วงเทศกาลนี้โดยเฉพาะ คือไปซื้อเตียงเก่าๆ มา 4 – 5 เตียง พอเทศกาลจบก็ขายคืน

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครใน เทศกาลละครหุ่นโลก ฝรั่งเศส

ตามสี่แยกไฟแดง กำแพง มีกระดาษลังแปะโปสเตอร์การแสดงบ้าง บอกทางบ้าง เรียกว่าเมืองทั้งเมืองให้เราใช้พื้นที่ประชาสัมพันธ์ละครหุ่นกันได้เต็มที่ เทศบาลเมืองยังจัดรถเมล์พิเศษสำหรับวิ่งวนตามพิกัดจัดแสดงที่ห่างกันเพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งรถไฟจากเมืองใหญ่ที่มายังเมืองนี้ก็มีให้ราคาพิเศษในช่วง 9 วันนี้อีกด้วย 

เทศกาลละครหุ่นโลกที่ฝรั่งเศสจึงเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ทั้งหน่วยงานรัฐ สมาคม ห้างร้าน และประชาชน ร่วมใจกันสร้างให้เกิดขึ้นและผลักดันความสำเร็จไปด้วยกัน จนดึงดูดทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเข้ามาในเมืองนี้

นอกจากการแสดงก็มีนิทรรศการ เวทีเสวนา เวิร์กช็อปการเชิดหุ่น การสร้างหุ่น สำหรับทุกช่วงวัยอีกด้วย ทางโรงเรียนก็จัดโปรแกรมพาเด็กเล็กมาดูเชิดหุ่น ส่วนเด็กโตหน่อยก็ปล่อยให้เดินกันเอง (มีครั้งหนึ่งที่คุณครูโผล่หน้ามาที่บูท ถามว่ามีการแสดงไหนที่ครูจะพาเด็กประถม 60 คน เข้าชมได้บ้าง)

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส

ศิลปะเป็นของทุกคน ถนนก็เป็นของทุกคน

สำหรับอาสาสมัครอย่างเราได้ตั๋วฟรีให้เลือกเข้าชมการแสดงของคณะละครหุ่นมืออาชีพได้ บางเรื่องนี่คนๆ เดียวทั้งเชิดหุ่น ทั้งแสดงไปด้วย คุยกับตุ๊กตาเสมือนมีชีวิตจริง

แต่เราชอบสุดคือเดินชมการแสดงตามท้องถนน นี่มาแบบเตรียมพร้อมคือเอาเสื่อมาด้วย กางนั่งกับพื้นสบายๆ แม้การแสดงจะฟรี แต่ก็หยอดเงินใส่หมวกหมดไปเยอะอยู่นะ ทั้ง Oisôh เจ้านกยักษ์ สูง 5 เมตร มีนักบินบังคับอยู่บนตัวนก หรือตัวประหลาด 3 ชีวิต ที่แบกกระสอบยักษ์เดินหลงเข้ามาในเมือง เดินไปทางไหนเด็กๆ ก็กรี๊ด 

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครใน เทศกาลละครหุ่นโลก ฝรั่งเศส
9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส
9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส

เนื้อหาของการแสดงแต่ละชุดมักจะสะท้อนประเด็นทางสังคมบางอย่าง เช่น Aide-Moi (Help Me) ละครสั้นเล่าเรื่องคนไร้บ้านที่พบเห็นได้ทั่วไปตามซอกมุมของเมืองใหญ่ สนุก ตลก ตอนจบน้ำตาก็ไหลพราก สะเทือนใจ หรือ Repartateur de cœurs ช่างหนุ่มหิ้วกล่องเครื่องมือตระเวนซ่อมแซมหัวใจคนที่พบเจอให้หายจากอาการทางใจทุกประเภท โดยเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ในการแสดงเป็นของรีไซเคิล ซึ่งเป็นนโยบายของคณะละคร เป็นต้น 

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครในเทศกาลละครหุ่นโลก 2019 ที่ฝรั่งเศส

ปิดเทศกาลและประสบการณ์ของเราใน 9 วัน ด้วย La Tortue de Gauguin การแสดงกลางแจ้งยามค่ำคืน แสงสีเสียงบนเวทีที่สร้างเป็นนั่งร้านขนาดสูง 10 เมตร (ประมาณตึก 3 ชั้น) คน 4 – 5 พันคนสามารถชมการแสดงพร้อมกันได้โดยไม่ต้องเขย่งขาหรือเบียดกัน ศิลปินสิบกว่าคนสลับสับเปลี่ยนกันเพนต์รูป แสดงละคร ฉากเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป็นตุ๊กตากระดาษบ้าง เป็นกระจกใสบ้าง อ่านบทกวีคลอเสียงเปียโนด้วยเสียงนุ่ม ทุ้ม ทั้งช้า ทั้งเบา มีนิ่ง มีดุดัน สะเทือนอารมณ์ และทำให้เราพบมุมมองใหม่ว่าละครหุ่นไม่ใช่แค่การเชิดตุ๊กตา แต่สามารถรวมศาสตร์ศิลปะทุกแขนงไว้ได้จริงๆ 

9 วันกับบทบาทอาสาสมัครใน เทศกาลละครหุ่นโลก ฝรั่งเศส

ใครสนใจเที่ยวงานเทศกาลละครหุ่นโลก ครั้งถัดไปในอีก 2 ปี จะจัดในวันที่ 17 – 26 กันยายน ค.ศ. 2021 ติดตามรายละเอียดได้จาก http://www.festival-marionnette.com

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ศักดิ์สินี เอมะศิริ

พลเมืองโลกธรรมดาที่รู้สึกลงแดงถ้าไม่ได้ออกเดินทาง อาชีพฟรีแลนซ์รับจ้างทั่วไป ยกเว้นรับจ้างขับรถเพราะขับไม่เป็น