เมื่อคู่พี่น้อง ช่างภาพ นักเขียน นักเดินทางผู้รักการผจญภัยในดินแดนตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และเอเชียใต้ เป็นพิเศษ ตัดสินใจทำร้านหนังสือตามที่ฝันไว้นานในเรือนไม้โบราณอายุร้อยกว่าปี ตั้งอยู่ที่หัวมุมบ้านเลขที่ 1 ในตรอกเก่าแก่อยู่คู่ชุมชนดั้งเดิมแถบเสาชิงช้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ชุมชนที่ทั้งคู่เกิดและเติบโตมา ภายใต้ชื่อ ‘World at The Corner Bookshop’ พื้นที่ซึ่งทำให้นักอ่านใจเต้นรัวเมื่อเห็นหนังสือสุดพิเศษแตกต่าง พร้อมห้องรวมงานคราฟต์ที่สัมพันธ์กับหนังสือคัดสรรเหล่านั้น

01

เดินทางอย่างประกอบสันติสุข

สีวิกา และ ณัฐ ประกอบสันติสุข หรือพี่ก้อย พี่ณัฐ คู่พี่น้องช่างภาพและนักเขียนมากฝีมือ เป็นที่รู้จักดีในวงการแฟชั่นมายาวนาน ภาพถ่ายและข้อเขียนฝีมือพี่ทั้งสองปรากฏอยู่ในนิตยสารแฟชั่นชั้นนำแทบทุกเล่มในประเทศเรา ทั้งคู่จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกวรรณคดีอังกฤษ เหมือนกัน พี่ณัฐทำงานด้านสไตลิสต์พักหนึ่งก่อนไปศึกษาต่อด้านการถ่ายภาพที่ประเทศอังกฤษ 

ช่วงเรียนอยู่อังกฤษราว ค.ศ. 1992 พี่ณัฐจองตั๋วไปเที่ยวโมร็อกโกคนเดียว สมัยนั้นโมร็อกโกยังไม่ค่อยเปิดรับนักท่องเที่ยว “ไปถึงก็ทะเลาะกับแท็กซี่ มันเอามีดจี้คอ ขวัญเสียเลย ไม่กล้าออกนอกโรงแรมอยู่พักใหญ่” พอสบายใจขึ้นเริ่มออกไปเที่ยวก็ได้เจอเพื่อนใหม่ผู้มาเที่ยวคนเดียวเหมือนกัน คุยถูกคอจึงชวนกันขึ้นรถทัวร์ออกไปเที่ยวนอกคาซาบลังกา (Casablanca) ระหว่างทางบนรถทัวร์เจอพ่อลูกชาวบ้าน น่ารักมาก ตัวพ่อชวนพี่ณัฐและเพื่อนใหม่ไปเที่ยวบ้าน สนุกสนาน ตื่นตา เพลิดเพลิน และได้สัมผัสวิถีชาวเมืองในหมู่บ้านเล็กๆ ที่แท้ทรู 

“แต่พอเราจะกลับ เจ้าของบ้านหยิบมีดมาวางหน้าประตู บอกว่าถ้าไม่ซื้อของก็ออกจากบ้านไม่ได้ พี่ร้องไห้เลยว่าทำไมคนเป็นแบบนี้ เราไม่รู้ธรรมเนียม มารู้ทีหลังด้วยว่าคนเขามีทัศนคติว่า ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว คือคนนอกศาสนา” พี่ณัฐดูอกหักหนักมากกับโมร็อกโกครั้งแรก ประสบการณ์สัมผัสเจอความโหด Aggressive ของผู้คนในประเทศช่วงที่ความไม่ลงรอยอันเกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาของคนในพื้นที่ ชาวมุสลิม คาทอลิก และชนเผ่าเบดูอิน มีสูง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศในเมืองและผู้คนส่งพลังขึงตึงรุนแรงออกมา พี่ณัฐคิดว่าจะไม่มาที่นี่อีกแล้ว ถึงกับยื่นเงินโมร็อกโกปึกใหญ่ที่เหลือจากการเดินทางทั้งหมดให้คนทำความสะอาดที่สนามบินแบบตัดใจ ว่าจะไม่กลับมาใช้เงินประเทศนี้อีกแน่นอน

เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี พี่ณัฐกลับไปโมร็อกโกอีกครั้งพร้อมพี่ก้อย ความรู้สึกต่อโมร็อกโกคราวนี้เปลี่ยนไป เมื่อบรรยากาศต่างจากเดิมตามสภาวะสังคม “ต่อมาเขาเปิดประเทศ หน้ามือเป็นหลังมือเลย เราเองก็คิดว่าตัวเองไม่ควรเซนซิทีฟ ควรเข้าใจเขา” พี่ก้อยเล่าเสริมว่า หลงรักวัฒนธรรมอาหรับมาก กลับไปโมร็อกโกและตะวันออกกลางบ่อยที่สุด รวมทั้งแอฟริกา อเมริกาใต้ พี่ก้อยชอบถ่ายภาพคน จึงชวนพี่ณัฐดั้นด้นออกไปในหมู่บ้านอันห่างไกล ที่ชาวบ้านมีวิถีการใช้ชีวิตพิเศษเฉพาะในแบบชนเผ่าโบราณตามดินแดนต่างๆ ซึ่งก็ไม่วายเจอเรื่องผจญภัยให้ใจสั่นอยู่เนืองๆ

“พี่ชอบถ่ายคน ที่เยเมน ผู้หญิง (ในดินแดนโบราณ Hadramaut ทางใต้ของเยเมน) สวมชุดดำ ถุงมือ และหมวกทรงแหลมสูงเหมือนแม่มด มีผ้าคลุมหน้ามิดชิด เป็นแบบเฉพาะของเขา เราอยู่ในรถ พอคนรถขับผ่าน พี่ยกกล้องขึ้นมาจะถ่ายรูป เขาหยิบหินเลย และเขวี้ยงมาที่รถ หลบกันแทบไม่ทัน”

“อิหร่าน เราออกนอกเส้นทางจากในตัวเมืองไปจนเจอเมืองที่ชาวบ้านใส่หน้ากากแหลมๆ สีแดง (เป็นธรรมเนียมสืบทอดกันมาหลายร้อยปีของสตรีชาว Bandari) ขอถ่ายรูปเขาก็ไม่ให้ แต่พอออกไปเมืองเล็กๆ อีกเมือง ช่วงนั้นมีสงครามอิรัก-อิหร่าน มีการทำพิธีที่เราไม่เข้าใจว่าคืออะไร ปรากฏว่าเขาเพิ่งขุดเจอศพและส่งซากเหล่านั้นกลับมาบ้านเกิด คือเมืองที่เราไปนี้ทางเมืองกำลังพยายามต่อสู้กับรัฐบาลให้ฝังศพเหล่านั้นแบบฮีโร่ใจกลางเมือง พี่ก็อยากเข้าไปถ่ายรูป ซึ่งต้องมีผ้าคลุมหน้า เราไม่มี จู่ๆ ก็มีผู้หญิงผ่านมา ถอดผ้าคลุมหน้าให้ยืมใส่เดินเข้าไปถ่ายรูป”

พี่ณัฐกับพี่ก้อยสรุปว่า แต่ละที่ผู้คนก็มีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันไป “เราต้องไม่ตัดสินคน ทุกแห่งในโลกนี้ ชาวบ้านน่ารักหมด แต่คนที่เกี่ยวข้องจ้องหาผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจะไม่น่ารัก” อุปนิสัย ลักษณะ ของชาวเมืองย่อมมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และสภาวการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของแต่ละประเทศ 

“ซีเรียเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมานับพันปี คนเขาสุภาพมาก อย่างพอเราขอถ่ายรูป เขาไม่ให้ เขาจะพูดจาปฏิเสธเราอย่างดีมาก เคยซื้อผลไม้แค่พอกิน หยิบมาแค่ 4 ลูก คนขายบอกเอาไปเลย ให้! ไม่คิดเงิน ส่วนคนจอร์แดน โมร็อกโก ที่เป็นชาวเบดูอินจะแตกต่าง กระโชกโฮกฮาก ไม่ค่อยเป็นมิตร

“ที่ผิดคาดคือกัวเตมาลา คนศิวิไลซ์มาก มีมารยาท มีน้ำใจ” พี่ๆ เล่าว่า ภาพจำชาวกัวเตมาลาที่เคยเห็นบ่อยๆ คือ ชาวบ้านอยู่ในชุดพื้นเมืองแบบดั้งเดิม ชาวพื้นเมืองที่นี่แม้แต่งกายมีลุคแนวชาวเผ่า แต่มีอุปนิสัยแตกต่างนุ่มนวลตรงข้ามกับเบดูอิน 

“เขาแต่งตัวแบบนั้นเพราะเลือกแบบนั้น มีความภูมิใจในวัฒนธรรมมายันสูง งานศิลปหัตถกรรม งานฝีมือแบบดั้งเดิม คนเขารักษาไว้ครบ ไม่ถูกโคโลไนซ์ คนกัวเตมาลา ถ้าเดินสวนกันเขาจะหลบให้เราไปก่อน ถ้าเราหลบให้เขาไปก่อน เขาจะขอบคุณทุกครั้งทุกคน ส่วนคนอินเดีย ง่ายๆ ขี้เล่นหน่อยๆ เจ้าเล่ห์นิดๆ ขำๆ เป็นแบบหนังอินเดีย คนอิหร่านมีความหยิ่งแบบพ่อค้าเปอร์เซีย เขาคิดว่าเขาขายของที่ดีที่สุดให้คุณ ไม่มีต้องมาลด 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องต่อรองราคา คนอียิปต์ก็เจ้าเล่ห์ แต่น่ารัก ร้าย ไม่ใช่ทั้งประเทศที่เป็นแบบนั้นนะ” 

สองพี่น้องประกอบสันติสุขเล่าว่า ชอบเที่ยวแบบสำรวจพื้นที่แบบให้เวลานานๆ ชอบสัมผัสชีวิตจริงในเมืองแต่ละเมือง ตอนเริ่มเที่ยวกันใหม่ๆ ไปมาเกือบ 40 ประเทศ ก็จะเลือกประเทศทรหด การเดินทางสมบุกสมบัน ไปยาก เพราะยังมีแรงอยู่ เกรงว่าอายุมากขึ้นแล้วจะเที่ยวโหดลุยไม่ไหว 

“อยากให้คนเที่ยวกันเยอะๆ แต่ไม่ใช่ไปแบบเที่ยวจุ่ม เที่ยวฉาบฉวย อยากให้ทำความรู้จักกับแต่ละเมืองที่ไปมากขึ้น ไม่ต้องไปครบ ไปแยะ แต่ได้ Essence ของที่ที่เราไป อยากให้คนไปเห็นความสำคัญของเพื่อนร่วมโลก ออกไปเจอพวกเขา แล้วเราจะเคารพกัน”

พี่ทั้งสองบอกว่า ไปเมืองไหน เราก็ต้องเข้าใจว่าเมืองเขาเป็นอย่างไร แบบไหน ควรยอมรับทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่าง อุปนิสัยผู้คน และสภาพของเมือง “เคยไปจอดปูร์ อินเดีย ก็ฝุ่นแยะเป็นปกติทั้งประเทศนะ เรานั่งอยู่ที่ร้านอาหาร มีผู้หญิงฝรั่งแก่โต๊ะข้างๆ นั่งบ่นด่าเรื่องฝุ่นเสียงดังมาก บ่นไม่หยุด ว่าอินเดียสกปรกมากต่างๆ” พี่ณัฐทนฟังอยู่นานรำคาญมาก เลยลุกไปบอกว่า มาดาม ถ้ายูหงุดหงิดมาก ทำไมไม่อยู่บ้านดูอินเดียจากหน้าจอทีวี ถ้ามาถึงที่แล้วก็เอนจอยไปเถอะ เมืองเขาเป็นของเขาแบบนี้ 

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น แม้การได้ไปเห็นสภาพตามจริงอาจผิดหวัง แต่การก่นบ่นด่าไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามใจเราได้ เท่ากับเสียอารมณ์กับเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เดินทางอย่างประกอบสันติสุขคือการเดินทางเพื่อให้เกิดความ ‘เข้าใจ’ ทั้งสภาพเมืองและเจ้าของเมือง ซึ่งมันนำไปสู่ความรู้สึกใหม่ๆ ทั้งรู้สึกดี ผิดหวัง ไม่ได้ดังใจ แต่ก็มีวิวัฒน์ไปในทางที่ดีได้

“ตอนอยู่อักษร เคยเรียนงานของ เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) เขาเขียนบทกวีที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ นั่งลงมองสวนหลังบ้านตัวเองแล้วเขียนงานออกมา เราก็คิดว่าเวอร์จัง ไม่ซาบซึ้งเลย ธรรมชาติจะเยียวยาอะไรกัน สอดคล้องอย่างไร ไม่เข้าใจ ปรากฏว่าตอนเรียนที่อังกฤษ พ่อไปเยี่ยม ได้ไปเที่ยวบ้านเวิร์ดสเวิร์ธ ไปเห็นบ้านเขาที่ Lake District แล้วมันสวยจริงๆ สวยมาก เข้าใจแล้วว่าความงามที่มันให้แรงบันดาลใจ มันเยียวยา มันเป็นแบบนี้นี่เอง คนเราอ่านหนังสืออย่างเดียวไม่พอ หลังจากนั้นเที่ยวตะบันเลย”

02

ความสุขที่ประกอบด้วยหนังสือ  

ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านกับประสบการณ์จริง แม้จะแตกต่าง แต่สองสิ่งก็เชื่อมโยงกัน สัมพันธ์กันแนบแน่น ความสุขในชีวิตของพี่ก้อย พี่ณัฐ มีหนังสือเป็นส่วนประกอบมาตลอดในทุกช่วงของชีวิต การอ่านกระตุ้นให้คนเราเกิดความรู้สึกอยากออกเดินทาง เมื่อออกเดินทาง หนังสือยังทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางที่ดีด้วย แม้ไม่มีโอกาสและเวลาเดินทางไปไหน การนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่บ้านก็สามารถพาเราเดินทางไปทุกที่ที่ต้องการได้ เหล่านี้คือความเชื่อมโยงพื้นฐานของความสุขที่มาจากการอ่านและการเดินทาง

“เราสองคนชอบอ่านหนังสือ ตอนเด็กๆ พ่อทำงานไทยออยล์ ศรีราชา พี่ก้อย 10 ขวบ พี่ณัฐ 7 ขวบ พ่อเป็นประธานสโมสรที่นั่น ในสโมสรมีห้องสมุด เราแวะเข้าห้องสมุดยืมหนังสือมาอ่าน หนังสือผี หนังสือจีน บ้านเล็กในป่าใหญ่ เพชรพระอุมา ฯลฯ อ่านหมด อ่านทุกอย่าง ตอนเรียนอยู่อักษรต้องอ่านหนังสือนอกเวลาเทอมละ 4 เล่ม สมัยนั้นหนังสือภาษาอังกฤษแพงมาก ต้องซีรอกซ์ อ่านแต่หนังสือซีรอกซ์จนเรียนจบ โตขึ้นพอเห็นหนังสือจริงๆ สวยๆ ที่ตอนเด็กเราโหยหา ใจมันก็อยากได้”

พี่ณัฐเสริมว่า “บอกตรงๆ ว่าเป็นคนชอบซื้อหนังสือที่ปก ที่ภาพลักษณ์ มีเล่มหนึ่งซื้อเพราะปกสวยมาก And the Mountain Echoed (นวนิยายของนักเขียนชาวอัฟกานิสถาน Khaled Hosseini) ซื้อมาวางสวยๆ อยู่บนโต๊ะ 3 ปี ไม่ได้อ่านเลย พอจะไปบาหลีก็หยิบไปอ่าน กลายเป็นนักเขียนในดวงใจไปเลย โฮสสินีเขียนหนังสือดีมาก เก๋ โรแมนติก

“เวลาเดินทางได้อ่านหนังสือแยะ อยู่กรุงเทพฯ มีเรื่องงาน เรื่องในหัว เยอะมาก อ่านไม่เข้าหัว พวกพี่เที่ยวกัน 2 แบบ แบบแรกคือ ไปพักผ่อนจริงๆ อย่างไปบาหลี เชียงใหม่ อิตาลี เช่าวิลล่าอยู่ ไม่ทำอะไรเลย นอนอ่านหนังสือ อีกแบบคือ เที่ยวดูนู่นดูนี่” เที่ยวดูนู่นดูนี่ที่ว่า พี่ๆ ดูจะเปี่ยมอารมณ์นักสำรวจเมืองและถ่ายรูป

“พี่ก้อยชอบเก็บบรรยากาศและรายละเอียดต่างๆ ของเมืองให้ครบ เพราะนำมาใช้เขียนบทความท่องเที่ยวด้วย ส่วนพี่ณัฐชอบถ่ายรูปแบบตั้งโจทย์ ตั้งธีม เป็นคอมโพสิชันว่าไปเมืองนี้จะถ่ายคอมโพฯ นี้ และระหว่างทางพี่น้องนักสำรวจเมืองก็ซื้อหนังสือเยอะมาก

“มีร้านหนึ่งในอินเดีย ขายหนังสือภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในอินเดีย และมีหนังสือทำมือจาก South India ดีๆ แยะมาก ที่อียิปต์ก็มีร้านขายหนังสือของสำนักพิมพ์อียิปต์ดีๆ แบบนี้ ไปเปรูก็ซื้อหนังสือแยะ หอบไม่ไหวก็ส่งกลับมา ศรีลังกาก็มีร้านหนังสือดีมาก”

พี่ก้อย พี่ณัฐ ชอบหานิยาย ผลงานของนักเขียน ซึ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับเมืองที่พวกเขาเป็นเจ้าถิ่น เพราะอ่านแล้ว “ทำให้รู้จักแต่ละประเทศมากขึ้น ชอบงานของ มาห์ฟูซ (Naguib Mahfouz) เขียนเรื่องเมืองไคโรได้ดี มีรายละเอียดยุบยิบ ตุรกีมี ปามุก (Orhan Pamuk) ศรีลังกามี โอดาเจ (Michael Odaje)” 

นวนิยายของนักเขียนเจ้าถิ่นพวกนี้สอดแทรกเรื่องราวเชิงลึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆ เรื่องราวทางการเมือง ร้อยไว้ในนวนิยายอย่างสนุก รวมถึงวิถีชีวิตของชาวเมือง คนธรรมดา ชาวบ้าน อย่าง The Museum of Innocence ของปามุก แสดงเรื่องราวความรักต่างชนชั้น บทบาทของผู้หญิงในสังคมเตอร์กิชในช่วงยุค 70 ที่มีอิสตันบูลเป็นฉาก พี่ณัฐอ่าน The Museum of Innocence แล้วติดใจบางช่วงในนิยาย ก็นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายรูปเซ็ตแฟชั่น มีนางแบบคือ ใหม่ ดาวิกา ลงในเว็บส่วนตัว 

“พระเอกเป็นคนแก่ไปชอบเด็กสาวต่างชนชั้นกัน สังคมตุรกีช่วงเวลาในนิยายยังคอนเซอร์เวทีฟอยู่ ความสัมพันธ์ทั้งคู่จึงต้องหลบซ่อน จนนางเอกทนไม่ไหวหนีไปแต่งงานกับคนอื่น ต่อมาพระเอกก็ตามหาจนเจอ และไปอุปถัมภ์สามีนางเอกให้ทำหนัง พอสามีออกไปทำหนังก็ไปหานางเอกที่อพาร์ตเมนต์ และทุกครั้งที่พบกันก็ขโมยของส่วนตัวผู้หญิงมาเก็บไว้ ไม่เว้นแม้แต่ก้นบุหรี่ ที่พระเอกรู้กระทั่งว่าก้นบุหรี่ที่นางเอกบี้นี้ บี้ด้วยอารมณ์ไหน เก็บก้นบุหรี่มาสามร้อยกว่าอัน ในนิยายคือต่อมาเอามาทำมิวเซียมที่เต็มไปด้วยข้าวของของนางเอก” พี่ณัฐหยิบก้นบุหรี่มา 5 แบบเพื่อถ่ายใหม่ ดาวิกา 5 อารมณ์ ส่วนเราฟังแล้วขอช้อปนิยายของปามุกมาอ่านโดยพลัน ต้องมนตร์การเลือกหนังสือของสองเจ้าของร้าน World at The Corner ไปเรียบร้อย

03

เริ่มต้นประกอบสุข : To begin, begin. – William Wordsworth

พี่ณัฐบอกว่า การทำร้านหนังสือทำให้ชีวิตสมบูรณ์ ร้านหนังสือเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงความฝันที่ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง งานหลักที่รักคือการถ่ายรูปก็ยังทำต่อไปควบคู่กัน การเริ่มต้นทำความฝันนี้ให้เป็นจริงนับว่าเป็นเรื่องราวแปลกใหม่ในอีกวงการ แต่ความรู้สึกในการเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ๆ กลับทำให้นึกถึงความรู้สึกเดิมๆ เหมือนตอนตัดสินใจไปเรียนรู้การถ่ายภาพ

“เริ่มจากศูนย์ เราอยากทำร้านหนังสือมาเป็นสิบปีแล้ว คิดว่าขายไม่ได้ก็นั่งดู นั่งอ่านมันไป มันเป็นความสุขของเรา เป็นสิ่งที่เราชอบ รู้สึกเหมือนตอนค้นพบตัวเองว่าอยากถ่ายรูป” ซึ่งพี่ณัฐไม่มีความรู้มาก่อนเลย 

“พี่ทำตัวเหมือนตอนไปเรียนถ่ายรูป จำได้ตอนไปเรียนที่อังกฤษครูให้ไปเบิกอุปกรณ์จากห้องมืด คุณนึกสภาพเรามีความรู้เป็นศูนย์ มองไปเห็นอุปกรณ์ก็งงว่าจะเบิกอะไร ดูเพื่อนร่วมชั้นแต่ละคนเขาก็เบิกของอะไรไปใช้ไม่เหมือนกัน พอมาถึงคิวพี่ ถ้าเราทำหน้าเก๋หน้าบางก็ไม่ได้การ” พี่ณัฐจึงบอกอาจารย์ผู้คุมอุปกรณ์ไปตรงๆ ว่าไม่รู้อะไรเลย ไม่เคยเรียนถ่ายรูปมาก่อน สอนหน่อยว่าเขาต้องใช้อะไรกันบ้าง 

“อาจารย์ก็อึ้งไป คลาสที่พี่ไปเรียนคนอื่นเขาเป็นช่างภาพกันมาแล้วทุกคน แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด เราไม่ควรทำท่าฉลาด ทำท่ารู้สิ่งที่เราไม่รู้”

พี่ณัฐและพี่ก้อยเริ่มหาข้อมูลทางกูเกิลเมื่อเริ่มทำร้านหนังสือ พบว่าควรไปงานบุ๊กแฟร์ งานแรกที่ไปคือบุ๊กแฟร์ที่ปักกิ่ง “มั่วๆ ไป ก็ไปยืนงงๆ ทำไมเขามีป้ายคล้องคอเข้างานกัน ไปเอามาจากไหน พี่ก็ทำตัวเหมือนตอนเรียนถ่ายรูป ใช้ประโยคเดิม I’m gonna ask stupid question. เจอสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ดีๆ ทุกคนเป็นมิตรมาก สนับสนุนร้านหนังสือเล็กๆ เขาก็สอนระบบต่างๆ บางคนเป็นเอเจนต์ มีแวร์เฮาส์ที่ส่งหนังสือมาเมืองไทยได้ง่าย โชคดีเจอแต่คนอธิบาย เล่าให้เราฟัง แนะนำทุกอย่าง” จากนั้นก็ต้องมาศึกษาเรื่องระบบการทำราคา บาร์โค้ด การทำสต๊อกหนังสือ 

หลังจากนั้น พี่ณัฐ พี่ก้อย ไปเที่ยวญี่ปุ่น บังเอิญเดินไปเจอป้ายว่ามีงาน Tokyo Art Book Fair พอดี ก็เดินดุ่มเข้าไปดู ได้หนังสือแปลกน่าสนใจมาอีก ยังมีหนังสือที่ติดต่อสั่งจากร้านหรือสำนักพิมพ์โปรดที่อังกฤษ อียิปต์ และอินเดีย หนังสือที่พี่ๆ เลือกมาเราดูแล้วตื่นเต้นหนักมาก เพราะแทบไม่เคยเห็นทั้งเนื้อหา การจัดวางออกแบบรูปเล่ม ภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นตำราอาหาร นวนิยาย หนังสือเด็ก สมุดภาพของนักวาดภาพประกอบพื้นถิ่นทั่วโลก หนังสือทำมือ หนังสือภาพถ่าย (แบบ Signed Copy ที่มีลายเซ็นช่างภาพก็มี) หนังสือเกี่ยวกับศิลปะ ฯลฯ ที่ล้วนแล้วทำให้เรารู้จักความเป็นเมืองแต่ละเมืองได้ดีในเชิงลึกกว่าไกด์บุ๊ก

ฝั่งตรงข้ามกับห้องที่เต็มไปด้วยหนังสือแปลกละลานตา คือห้องรวมงานหัตถกรรมทำใจละลาย งานคราฟต์ที่ทำให้เราได้กลิ่นอายจิตวิญญาณทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นเดียวกับหนังสือ ผ้ากันเปื้อนจากโมร็อกโก ตู้บรรจุผ้าปักพื้นถิ่นต่างๆ หน้ากากกัวเตมาลา รูปภาพจากอิหร่าน ผ้าปูโต๊ะเปรู งานจักสานของไทย หมอนเอธิโอเปีย และมุมจำหน่ายโปสต์การ์ดผลงานภาพถ่ายฝีมือพี่ณัฐ พี่ก้อย ที่จะทยอยคัดสรรมาพิมพ์ 

“ร้านนี้ตั้งใจว่าอยากให้คนเข้ามาแล้วได้ Essence ของสถานที่แปลกๆ มีแต่หนังสือภาษาอังกฤษเท่านั้น อยากให้คนได้ความรู้สึกผจญภัย คิดแพลนไว้หลายอย่าง ใจอยากจัดสัปดาห์นี้โมร็อกโก อีกสัปดาห์ก็อีกประเทศ แนะนำหนังสนุกๆ นักเขียน ข้าวของ และอาจจะมีบุ๊กคลับด้วย อยากให้คนที่มาร้านเอนจอยสิ่งที่เรานำเสนอ”

‘World at The Corner’ เป็นร้านหนังสือในเรือนเก่าอายุราว 120 ปี รุ่นเดียวกับบ้านพี่ณัฐ พี่ก้อย ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน “ร้านคือบ้านเลขที่ 1 เห็นมาตั้งแต่เด็ก คุณป้าเจ้าของบ้านเป็นเพื่อนคุณแม่ เดินผ่านแวะทักกันตลอด สมัยก่อนบ้านไม่ได้มีสีสันแบบนี้ เคยมีพรรคการเมืองมาเช่าและซ่อมแซมเพื่อทำเป็นศูนย์บัญชาการเขตของพรรค เขาซ่อมดี ยกข้างล่างเรือนใส่เหล็กไว้ที่พื้น ทาสีขาวสวย แต่หลังจากนั้นกลายเป็นมีสีสันสารพัดสี มีบาร์มาเช่า 2 – 3 บาร์ และร้านอาหารเวียดนาม ผู้เช่าบางรายทาสีน้ำมัน ทาทับโฟมดำอัดเข้าไป เทปสองหน้าอีก ตอนปรับปรุงบ้านเราจ้างคนมาใช้น้ำมันค่อยๆ ลอกออก แต่ก็ไม่ได้” 

ด้านในบ้านจึงเต็มไปด้วยห้องหลากสีสันที่เรากลับคิดว่าไปกันได้ ทำให้นึกถึงวัฒนธรรมพื้นเมืองจากหลายดินแดนที่พี่ทั้งสองรักพอดี โดยเฉพาะเม็กซิโกที่เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้าน ตามมุมห้องมีแม่พระกัวดาลูเป (Goddess Guadalupe) ที่พี่ก้อยได้มาจากเม็กซิโกในวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลอง The Day of the Virgin of Guadalupe ซึ่งพี่ก้อย พี่ณัฐ อยู่ที่นั่นพอดี ในตู้บริเวณพื้นที่ต้อนรับส่วนกลางมีงานหัตถกรรมวันหยุดสำคัญ Day of the Dead ในเม็กซิโก ที่คนในครอบครัวมารวมตัวกันรำลึกถึงญาติพี่น้องเพื่อนฝูงผู้จากไปแบบไม่เศร้าโศก แต่เฉลิมฉลองสนุกสนานมีสีสัน

ภาพหัวกะโหลกที่ใช้ในงานก็ดูมีอารมณ์ขันสนุกซ่า ของตกแต่งรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Day of the Dead ก็เช่นกัน วัตถุบรรจุเรื่องราวทางวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ จากดินแดนต่างๆ มีให้สังเกตชมอย่างเพลิดเพลินในร้านหนังสือบรรยากาศอบอุ่นมากเสน่ห์ ที่ดึงโลกมาไว้ที่หัวมุมถนนในตรอกเล็กๆ แถบมหรรณพ พื้นที่ประกอบด้วยความสุขของคนรักหนังสือและการเดินทาง เปิดรับให้เหล่านักอ่านนักท่องโลกได้เข้ามาสัมผัสเลือกซื้อหนังสือและวัตถุเปี่ยมความหมายทางวัฒนธรรม งานฝีมือ จากดินแดนห่างไกลในวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2562 

World at The Corner Bookshop บ้านเลขที่ 1 ซอยมหรรณพ 1 ร้านเปิดทำการเฉพาะศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 10.00 – 19.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ World at the corner

Writer

Avatar

พลอย จริยะเวช

เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์และ Concept Designer มากความสามารถชื่อดัง ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน Artist Writer นักแปล คอลัมนิสต์ และนักวาดมืออาชีพ ผู้มีผลงานออกแบบวางจำหน่ายในงานแฟร์ของตกแต่งที่ดีที่สุดในโลก

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan