นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ เป็นบรรณาธิการบริหารสำนักข่าว เป็นบรรณาธิการข่าว เป็นผู้ประกาศข่าว เป็นนักข่าว เป็นพิธีกร เป็นนักเขียน และเป็นคนดังในโลกออนไลน์

เขาเรียนจบ BBA จากธรรมศาสตร์ เริ่มต้นเป็นนักข่าวที่เนชั่นแชนแนล ทำอยู่ 6 ปี ก็ลาไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน International Journalism ที่ City, University of London กลับมาไม่นาน เขาก็รับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการบริหาร Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ของเวิร์คพอยท์ (ไม่ใช่ข่าวในช่องเวิร์คพอยท์)

ผมขอจบประวัติของเขาแบบสั้นที่สุดแค่นี้

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

“ตัวผมไม่ได้สำคัญขนาดนั้น” นภพัฒน์จักษ์พูดประโยคนี้หลายต่อหลายครั้งในบทสัมภาษณ์นี้ เขามองว่า ถ้าจะให้ความสำคัญกับคนข่าว อย่าดูที่ตัวเขา แต่ให้ดูที่งานเขา

สำหรับคนที่ชอบตัวเลข

เพจของ Workpoint News มีคนตามอยู่ 4 ล้านคน

มีคลิปล้านวิวทุกเดือน แต่ละปีมีคลิปยอดวิวเกิน 5 ล้านวิว ราว 10 – 20 คลิป

มีคนคลิกอ่านข่าวในเว็บไซต์เดือนละ 5 – 10 ล้านวิว

มียอด Engagement เฉลี่ยต่อโพสต์ติด Top 5 ของสำนักข่าวด้วยกัน

คลิป ผู้นำฉลาดชาติพ้นภัย กรณีศึกษาไต้หวัน มีคนแชร์ 2 แสนแชร์ และคลิป อธิบายไวรัสอู่ฮั่นใน 5 นาที ก็มีคนแชร์ในจำนวนใกล้ๆ กัน

สำหรับคนที่ชอบการบรรยาย

Workpoint News คือสำนักข่าวที่มีอะไรใหม่ๆ มาให้สังคมชื่นชมอยู่บ่อยๆ ล่าสุดคือ หน้าเว็บที่รายงานสถานการณ์ COVID-19 แบบครบถ้วน (เขาบอกว่า ตอนแรกจะมีเนื้อหามากกว่านี้ แต่มันน่าจะทำให้คนตื่นตระหนกและส่งผลเสียมากกว่า ก็เลยตัดออก) 

ก่อนหน้านั้นก็มีหน้าเว็บรายงานผลโหวตนายก ซึ่งทำออกมาเป็นสกอร์บอร์ดแบบเรียลไทม์ คืนนั้นมีคนคลิกเข้ามาดูตามผลที่นี่พร้อมกันนับแสนคน

ก่อนหน้านั้นมีเว็บรายงานผลเลือกตั้ง ซึ่งหลายคนยกให้เป็นเว็บที่ใช้งานง่ายและสวยที่สุด 

ข่าวของ Workpoint News ไม่ใส่สีตีไข่ ไม่ใส่อารมณ์ในพาดหัว ไม่เกาะกระแสแบบเลยเถิด

นำเสนอข่าวให้มันเป็นข่าว ว่ากันด้วยข้อเท็จจริง ดึงดูดให้อ่านด้วยความสำคัญของเนื้อหาในข่าว

อ่านแล้วรู้สึกว่า กำลังอ่านข่าว ไม่ได้อ่านบทความที่คนเขียนชังหรือเชียร์ใคร

เป็นหนึ่งในความหวัง ในวันที่คนเริ่มสิ้นหวังกับการทำข่าว

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ คือผู้อยู่เบื้องหลังเว็บข่าวที่น่าสนใจนี้

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

เวิร์คพอยท์นิวส์วางตัวกับข่าวสถานการณ์เร่งด่วนยังไง

ถ้าคนมีความสงสัยอะไรให้มาจบที่เรา ยกตัวอย่างตอนไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ ในเน็ตมีข้อมูลโน่นนี่ มีคนโพสต์คลิป เราเอาคลิปเขามาลงแค่คลิปเดียวเพื่อบอกว่านี่คือบรรยากาศไฟไหม้ คนจะได้ระวังตัว เราจะไม่ดูดมาเจ็ดคลิปแล้วทำเจ็ดโพสต์ ที่สำคัญถึงจุดหนึ่งเราต้องสรุปให้ได้นะว่า มีผู้เสียชีวิตเท่านี้ ตำรวจบอกว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ให้คนมองมาที่เราแล้วรู้ว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้ แต่ละคนจะไปปรับชีวิตตัวเองยังไงก็ว่ากันไป

เรื่องผู้บริหารวง BNK48 ให้อีกวงมาใช้โรงละคร เราก็สรุปให้ทั้งหมด ไม่ได้อยู่ข้างไหน ไม่มีความเห็นของเราอยู่นั้น ความเห็นเราไม่ได้มีค่าขนาดนั้น สังคมคาดหวังให้เราทำหน้าที่สรุป ตรวจสอบ เราทำแค่นี้ เขาอ่านแล้วจะคิดอะไรก็เรื่องของเขา ผมไม่เคยบอกน้องให้ทำข่าวแล้วขยี้เลย สังคมไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นจากเรา

แต่ความดราม่าก็จะนำมาซึ่งตัวเลขมากมายนะ

เราเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำเรื่องดราม่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเขาดราม่าเรื่อง BNK48 เราก็ต้องทำ แต่อย่างน้อยเราต้องไม่ไปสุมไฟเพิ่ม เราทำหน้าที่ฉายภาพให้คนดูเห็นว่าเป็นแบบนี้ ตัวละครแต่ละตัวทำอะไร แต่เราต้องไม่ไปเป็นตัวละครในเรื่อง

เรื่องที่คนแชร์เยอะที่สุดในรอบปีของเราไม่ใช่เรื่องดราม่านะ เดี๋ยวผมเปิดให้ดู อันดับหนึ่ง ‘ชายเดี่ยวสู้ชีวิต พิซซ่าเวียดนาม’ ยอดแปดล้านกว่าวิว เป็นเรื่องแรงบันดาลใจ อันดับสอง ‘สานฝันลุงน้อย เก็บเงินทั้งชีวิตคว้าใบปริญญา’ แรงบันดาลใจ อันดับสาม ‘ผู้นำฉลาดชาติพ้นภัย กรณีศึกษาไต้หวัน’ ความรู้ อันดับสี่ ‘เข้าใจไวรัสอู่ฮั่นในห้านาที’ ความรู้ อันดับห้า ‘เทพเจ้าสายฟ้าบริจาคหนึ่งล้านช่วยดับไฟป่าออสเตรเลีย’ นี่ก็แรงบันดาลใจ เป็นเทรนดิ้ง

อย่าไปคิดว่าคนสนใจแต่ดราม่า คนพร้อมจะงับความรู้ งับเรื่องดีๆ มันมีความหวังอยู่จริงๆ สามสี่ปีหลังบรรยากาศรวมๆ ในวงการสื่อไทยเปลี่ยนไปแล้ว เราให้คุณค่ากับเนื้อหาที่มีประโยชน์เยอะขึ้น พอทำแบบนั้นสปอนเซอร์ก็เข้ามา ภาครัฐก็เข้ามา เพราะเขามองออกว่าอะไรเป็นอะไร

คุณเลือกทำข่าวที่คนสนใจก่อนเป็นอันดับแรกใช่ไหม

ส่วนหนึ่งก็ใช่ ถ้าเลือกได้เราก็อยากทำแบบ BBC มีผู้สื่อข่าวสายสุขภาพ การเงิน รถยนต์ แต่เราต้องทำงานให้สมดุลกับรายจ่ายของเราก่อน การมาทำข่าวออนไลน์ทำให้รู้ว่า แต่ละวันคนไทยสนใจข่าวไม่เกินสามสี่เรื่อง ภาษาอังกฤษมีคำว่า Don’t hate the player, hate the game. ในเมื่อระบบมันเป็นแบบนั้น ถ้าทำเรื่องที่คนไม่สนใจเลย คนก็ไม่ดูเลยจริงๆ ยกเว้นจะทำได้มีพลังจริงๆ ซึ่งเราก็ทำอยู่นะ สูตรของผมคือ ทำข่าวอยู่บนสามแกน

หนึ่ง Public Interest เรื่องที่ยังไงก็ต้องทำ การเมือง ประชุมสภา โควิด-19 สอง Trending เรื่องที่คนสนใจ ช่วงนี้ดีตรงเรื่องสำคัญกับเรื่องที่คนอยากรู้เป็นเรื่องเดียวกันเลยทำงานสนุก บางช่วงคนสนหวยสามสิบล้านซึ่งมันไม่ได้สำคัญกับชีวิตประชาชนทุกคนขนาดนั้น ก็จะน่าเบื่อหน่อย สาม Branding เรื่องที่บอกว่าตัวตนเราเป็นแบบไหน เราก็แบ่งทีมไปทำข่าวในสามแกนนี้

ตัวอย่างข่าวประเภทแบรนดิ้งคือ

อธิบายง่ายที่สุด ข่าวอะไรที่กระทบกับคนชอบดูหม่ำ เท่ง โหน่ง เราทำข่าวนั้น มันคือข่าวที่กระทบชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั่นแหละ

เราถ่ายทอดสดทุกครั้งที่มีประชุมสภา เพราะเรายึดโยงกับเรื่องนโยบาย เป็นสิ่งสำคัญกับปากท้องประชาชน ถ้ามีข่าวดราม่า สักสองทุ่มเราจะสรุปข่าวยาวๆ ให้อ่านทีเดียวจบ ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือ เราเคยทำสกู๊ปข่าวเรื่องยาชุด มีแชร์ไปแสนแปดหมื่นแชร์ เรื่องยาชุดมันไม่ใช่เรื่องของคนออนไลน์ยุคใหม่อยู่แล้ว แต่คุณลุงคุณป้าเขายังกินกัน คนก็แชร์แล้วแท็กคุณลุงคุณป้าให้มาอ่านแล้วบอกว่าเลิกกินได้แล้วนะ เราขอแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของคนแชร์เลิกกินยาชุด พันแปดร้อยคน เราก็โอเคแล้วนะ

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

คุณเคยบอกว่า ถ้าเป็นสำนักข่าวแล้วทำแต่ข่าวป๊อป ก็ไปขายป๊อปคอร์นเถอะ การทำแต่ข่าวป๊อปไม่ดีตรงไหน

ถ้าข่าวป๊อป คือกระแสสังคมไปทางไหนเราก็เกาะๆ เขาไป เราต้องระวังที่จะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าสังคมรักคนนี้เราก็เกาะไปด้วย ดูเทรนด์แล้วตามไปด้วย ไปไล่ดูกระแสสังคมเรื่องการเมืองของไทยได้เลย ห้าปีก่อนนกหวีด กปปส. คือกระแสป๊อป ผ่านมาห้าปีกลายเป็นว่าบางคนมีรูปต้องรีบลบทิ้ง ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพเฉยๆ นะ

ความนิยมชมชอบเปลี่ยนไปตลอด เวลาผ่านไปคุณตอบตัวเองได้ไหมว่าสกู๊ปข่าวที่ทำเมื่อหกเจ็ดปีก่อน คุณทำไปทำไม ทำเพราะกระแสสังคมหรือเปล่า เรื่องนี้สำคัญมาก ตอน กปปส. ผมก็ทำข่าวนะ แต่ผมคิดว่าไม่มีชิ้นไหนที่รายงานแบบไม่มีหลักการ รายงานไปเพื่อเกาะความนิยม การทำตัวติดเทรนด์ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่หน้าที่ของนักข่าว ครั้งหนึ่งโลกส่วนใหญ่หรือกระแสป๊อปเชื่อว่าโลกแบน คุณจะทำข่าวตามนั้นโดยไม่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่ถ้าพิสูจน์ได้แล้วว่าโลกกลม นักข่าวก็ควรทำหน้าที่บอกทุกคนว่าโลกกลม

นักข่าวไม่ใช่คนเก่งที่สุด เราไม่เก่งเรื่องอะไรเลย เรารู้แค่เสาหลักอยู่ตรงนั้น ถ้าพายุความนิยมพัดไปอีกด้าน เราต้องยังอยู่กับเสาหลักนะ ไม่ใช่ไปอยู่กับพายุ ถ้าสื่อถูกพัดไปกับพายุสังคมก็จะพังไปกันหมด

เคยเผลอชกตามเสียงเชียร์ไหม ทำข่าวแล้วชาวเน็ตรุมถล่มกันมัน ก็อยากทำข่าวมาโยนให้เขาด่าอีก

ผมกล้าบอกว่าเราไม่เคยทำอะไรตามเสียงเชียร์ ยกเว้นแต่คนสนใจอะไร เราอาจจะวิ่งไปตรงนั้นด้วย อย่างมงคลกิตติ์ที่คนพูดถึงกัน เราต้องให้น้ำหนักหรือเปล่า แต่เมื่อคนพูดถึงกันทั้งบ้านทั้งเมือง เราก็เอาเรื่องนั้นมานำเสนอแบบเรา คนอาจจะด่าว่าเกาะตามกระแส แต่ในกระแสนั้นเราพยายามชี้ว่า คนควรมองเรื่องนี้สิ อย่าหลงประเด็น อย่าด่าเลอะเทอะ เรื่องผีน้อยเกาหลี คนก็ด่า แต่เรามองว่าเขามีสิทธิ์ตามสมควรที่เขาจะมีหรือเปล่า เราระวังเรื่องนี้มาก

แต่บางเรื่องที่กระแสแรงมาก ถ้าว่ายทวนน้ำตอนนี้กูตาย ก็รอก่อน เช่นเรื่องค่าแท็กซี่ Editorial Judgement (การตัดสินใจของบรรณาธิการ) ที่คุยกันในทีมคือ ค่าแท็กซี่ไทยราคาถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เราอยากทำเรื่องนี้ พอรายงานไปโพล่งๆ โดยลืมคิดว่าคนรู้สึกกับแท็กซี่ยังไง คนก็ด่า บริการแบบนี้ยังจะไปขึ้นราคาให้มันอีกเหรอ มันเป็นบทเรียนว่า จะนำเสนออะไรเราต้องมีวิธีการ ต้องสนใจทั้งข้อเท็จจริงและการสื่อการกับสาธารณะด้วย

มีข่าวที่รู้ว่าพูดแล้วจะโดนสังคมด่า แต่ก็ต้องยอมโดนด่าไหม

โรฮีนจา เราเชื่อใน Global Value เราไม่ได้พูดว่าให้รับโรฮีนจาด้วยซ้ำ แค่บอกให้เห็นว่าชีวิตเขาเป็นยังไง เรารู้ว่าทำไปแล้วลำบากแน่ ลำบากเจ้านายด้วย มีคนคอมเมนต์บอกให้คุณปัญญา (ปัญญา นิรันดร์กุล) เอาไปเลี้ยงสักห้าสิบคนสิ (หัวเราะ) เราทำสามตอนติด นวดจนคนชิน สามปีที่ผ่านมาเราคราฟต์เมสเสจได้เก่งขึ้น เริ่มรู้ว่าเรื่องไหนควรปล่อยวันไหน เวลาไหน ผู้อ่านเราก็เริ่มเดาทางได้มากขึ้น ถ้าปล่อยเรื่องโรฮีนจาตอนนี้คงไม่โดนเท่าสามปีก่อนแล้ว

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

คุณลบข่าวของตัวเองบ้างไหม

ลบ ที่พลาดก็มี ทีมผมมีสิบกว่าคน บางทีเราก็ไม่ได้ดูครบถ้วนทุกข่าว ตามตำราแล้วเราไม่ควรต้องกังวลเรื่องนี้นะ งานจบก็คือจบ ผมพยายามบอกน้องๆ ว่า การโพสต์คือเราตัดสินใจแล้ว กลั่นกรองแล้วว่ามีครบทุกด้าน ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนสิ่งที่เรานำเสนอก็ไม่ผิด ข้อมูลอาจจะไม่ครบถ้วน แต่ไม่ผิด เป็นงานที่ยึดโยงอยู่กับความจริง ถ้าเราทำสิ่งนี้ ต่อให้คนด่า เราก็ตอบได้ว่าทำเพราะอะไร

ในรอบสามปีที่ผ่านมา เราลบน้อยลงมาก รอบคอบขึ้นเยอะ ผมพยายามบอกทีมว่า ใจเย็นๆ อย่าตกหลุมพราง Engagement มันมีผลจริงๆ นะ ลงช้ากว่ากันห้านาทียอดแชร์จากหกพันเหลือหกร้อย ยอดแชร์ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงินทองของนักข่าว แต่บางทีเขาก็คิดว่าเป็นผลงาน ถ้าทำงานไปสักสองวันแล้วไม่มีข่าวที่คนแชร์เลย ฉันจะมีตัวตนไปทำไม

ในยุคที่ชาวเน็ตกลายเป็นนักข่าว แล้วนักข่าวต่างจากชาวเน็ตยังไง

นักข่าวต้อง Verify (ตรวจสอบ) ความรู้ และต้องมี Editorial Judgement ซึ่งมันสำคัญมาก เช่น มีคนโพสต์เฟซบุ๊กว่าฉันกลับมาจากต่างประเทศแล้วทะลุสนามบินเข้ามาได้เลย ผมบอกกับทีมว่า เราไม่ได้แข่งกันทำข่าวจี๊ดจ๊าด ยิ่งช่วงโควิด-19 ด้วย เราต้องชนะกันที่ความมีวุฒิภาวะ สิ่งหนึ่งที่คุณต้องคำนึงไว้เสมอคือ คุณต้องสื่อสารข้อเท็จจริง คุณต้องตรวจสอบก่อนลง 

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

ตรวจสอบยังไง

หลักง่ายๆ ตรวจสอบสองฝั่ง กรณีนี้คือ การท่าฯ เราก็โทรไป การท่าฯ บอกว่าผมจะฟ้องเพราะมันเป็น Fake News เราก็รู้สึกว่ามันแปลกๆ แล้ว สุดท้ายก็ใช้วิธีลงจากข้อมูลฝั่งการท่าฯ แล้วใส่ไปนิดหนึ่งว่า จากกรณีที่มีคนโพสต์ว่าแบบนี้ ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องจริงนะ มันเป็นการบิดวิธีนำเสนอข่าวที่ทุกสำนักทำกันอยู่แล้ว นี่คือการทำงานที่ผ่านกระบวนการซึ่งแสดงว่าคุณพอจะมี Editorial Value ให้สังคมบ้าง ไม่งั้นทุกคนก็จะตั้งคำถามว่า มีนักข่าวไปทำไม

เคสป้าที่ล้มที่สนามบินก็เหมือนกัน เราไม่ควรก๊อปเฟซบุ๊กเขามาลงเลย ถ้ามีคนเห็นป้าคนหนึ่งล้มที่สนามบินแล้วโพสต์ว่าเป็นโควิด-19 หรือเปล่า เขาไม่ผิดนะ ในฐานะประชาชนเขามีสิทธิ์โพสต์ได้ แต่ผมบอกน้องว่า ถ้าแกเอาโพสต์นั้นมาทำเป็นข่าวแล้วถามว่า โควิด-19 หรือเปล่า แล้วทำแค่นั้น ไม่มีกระบวนการตรวจสอบเลย วันหนึ่งแกจะตกงานแน่ๆ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่แกทำเหมือนคนอื่น แกจะเริ่มหมดค่าแล้ว อย่าทำในสิ่งที่คนอื่นทำ เราต้องอยู่ข้างหน้าหนึ่งก้าวเสมอ นักข่าวต่างจากคนทั่วไปตรงเรามีสมุดที่มีเบอร์ติดต่อหน่วยงานภาครัฐทุกที่ พอโทรไปแล้วบอกว่าจากเวิร์คพอยท์นิวส์แล้วเขาตอบไง มันไม่ได้ยากขนาดนั้น เราต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวนี้ให้สังคม

แต่ถ้าก๊อปมาลงเลย ทั้งเร็ว ทั้งดราม่า ยอดน่าจะเยอะนะ คุณไม่เสียดายหรือ

Engagement มันจะแปลงเป็นเงินได้เท่าไหร่เชียว เมื่อเทียบกับมูลค่าของแบรนด์ที่เสียไป

มูลค่าแบรนด์ของเวิร์คพอยท์นิวส์ตั้งอยู่บนอะไร

ความเชื่อมั่น ถ้าคนมาจบที่เวิร์คพอยท์นิวส์เราจะมีความสุข สมมติวันนี้คนสับสนว่าพระจะสวดมนต์ไล่โควิดหรือไม่สวด เวิร์คพอยท์บอกไม่สวดแล้วคนเชื่อ เวลามีดราม่าอะไรสักอย่างแล้วมีคนเอาข่าวเราไปแปะแล้วบอกว่า เวิร์คพอยท์บอกว่างี้ แสดงว่าเราได้ความเชื่อมั่นจากประชาชน เว็บที่เราทำเรื่องโควิด-19 LINE ก็มาขอเป็นพาร์ตเนอร์ แสดงว่าเขาเชื่อมั่นในเรา

ผมพูดว่า Engagement ไม่สำคัญ ไม่ได้แปลว่ามันไม่ใช่หนึ่งใน KPI นะ แค่คุณอย่าไปหลงกับสิ่งนั้น ยอดก็สำคัญ ถ้าทำข่าวคุณภาพด้วยยอดดีด้วยก็ยิ่งฟิน

สำนักข่าวออนไลน์อันดับหนึ่ง ควรจะวัดจากอะไร

(คิดนาน) ผมไม่เคยคิดเลย คนข่าวจริงๆ ไม่มีใครมานั่งคิดเรื่องนี้นะ (หัวเราะ) BBC ก็ไม่เคยบอกว่าฉันชนะ Channel 4 หรือชนะ Washington Post, The New York Times ในโรงเรียนนักข่าว ไม่เคยมีสักคลาสที่สอนว่า คุณจะเป็นเบอร์หนึ่งเมื่อถึงจุดนี้ เขาสอนแต่วิธีตรวจสอบความถูกต้อง การทำข่าวช่วงวิกฤต จรรยาบรรณ ถ้ามีตัวเลขบางอย่างที่พอจะเป็นดัชนีให้เรากดดันก็คือรายได้ เพราะเราต้องเลี้ยงลูกน้อง ต้องซื้อคอมดีๆ ให้ลูกน้องเขียนข่าว

โลโก้ของสำนักข่าวควรจะเป็นแค่ตราประทับว่า คุณอ่านข่าวนี้ได้นะ คุณเชื่อใจได้นะ สิ่งที่สำคัญสุดคือเนื้อหาที่จะบอกคนว่าต้องทำอย่างไรต่อ มันสำคัญกว่าชื่อสำนักข่าว

เราควรทำข่าวเพื่อคนอ่านได้ประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อให้สำนักข่าวได้ประโยชน์

ใช่ สำหรับผมนะ เราต้องทำเพื่ออิมแพ็คสังคม สิ่งนี้มันโยงกับการเลือกเด็กมาทำงานด้วย คุณมีแพสชันอะไรสักอย่างหรือเปล่า น้องทีมผมคนหนึ่งบอกว่า เขาใกล้ชิดกับแรงงานเยอะ เขาเลยอยากทำเนื้อหาที่ทำให้ชีวิตแรงงานดีขึ้น อย่างน้อยเขาก็มีเป้าหมายบางอย่าง ถ้าหนูทำข่าวแรงงานแล้วปีหน้าเขาเปลี่ยนกฎหมายตรงนี้ได้หนูก็มีความสุข อีกคนทำเรื่องเด็กเยอะมาก เขาผลักดันจนเด็กไปหาจิตแพทย์ได้โดยไม่ต้องมีลายเซ็นของผู้ปกครอง

เราหวังจะให้เขียนข่าวเสร็จปุ๊บมีการแก้รัฐธรรมนูญเลยมันยาก เด็กทุกคนก็รู้ แต่อย่างน้อยเรามีสิ่งนั้นเป็นเป้าหมาย มันไม่ใช่เรื่องการเป็นอันดับหนึ่ง แต่เป็นเรื่องคุณค่าที่สร้างให้คนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ทำให้เด็กๆ ในทีมสิบกว่าคนเห็นว่า เขาสร้างอิมแพ็คกับสังคมได้ แค่นี่มันก็ชื่นใจ ได้ความสุขเป็นรางวัลแล้ว นักข่าวเงินเดือนไม่ได้เยอะหรอก นี่คือคุณค่าในงานของพวกเรา

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

คุณเชื่อว่านักข่าวเปลี่ยนโลกได้

เปลี่ยนโลกน่ะยาก เมื่อก่อนผมก็เคยคิด แต่ทำมานานๆ ก็เลิกคิดไปแล้ว ทุกวันนี้ผมคิดถึงตัวเราเองนี่แหละ คุณรู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่ากับชีวิตคุณก็พอ จะได้ไม่ต้องไปเครียดมาก ถ้าเขาตั้งเป้าว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ ทำข่าวไปแล้วมีคนกดไลก์สิบคน คนอ่านน้อยมาก ก็หงุดหงิดอีก อย่าไปคิดแบบนั้น เราทำข่าวเพื่อให้รู้ว่า วันนี้ฉันตื่นมาแล้วยังอยู่ในทางที่ฉันอยากไป ถ้าสุดท้ายเปลี่ยนโลกได้ก็ดี

คุณค่าของนักข่าวในวันนี้คืออะไร

คนจะได้หันหัวถูกทางมั้ง เมืองไทยมีวิกฤตเรื่องการสื่อสารมาก คนงงว่าต้องหันหน้าไปทางไหน เราไม่ได้บอกว่าเราทำถูกหรือเพอร์เฟกต์ แต่สิ่งที่เราทำมีเหตุผล มีที่มาที่ไป เราหวังดีต่อสังคม เราพยายามขยับบทสนทนาในสังคมออกไปไม่มากก็น้อย ถ้าคนสนใจเรื่องลิง เราก็ทำข่าวคนลพบุรีเป็นทุกข์กับภาวะนี้ยังไง ในขณะที่ชั่วโมงนี้ทุกคนในห้องหันหน้าไปที่เรื่องนี้ นักข่าวคือคนชี้ให้เห็นว่า จากภาพใหญ่คุณมองตรงนี้สิ ตรงนี้น่าจะแก้ได้ไหม เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ค่อยๆ ขยับกันไปได้

การเขียนข่าวของคุณมีน้ำเสียง มีฝักมีฝ่ายไหม

จุดนี้เวิร์คพอยท์นิวส์ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองไหน ไม่มีทุนจากพรรคไหนมาหนุน เรามีเส้นแบ่งเรื่องความสัมพันธ์ที่ชัดเจนว่า ฉันเป็นนักข่าว เธอเป็นนักการเมือง ถ้าฉันอยู่ในจุดที่นั่งเขียนข่าว ฉันต้องตรวจสอบเธอ บางพรรคมีเพื่อนผมไปเป็นกรรมการบริหารพรรคเต็มเลย แต่ถ้ามีอะไรต้องตรวจสอบก็ต้องตรวจสอบ ต้องทำให้นักการเมืองอยู่ในสถานะที่ตรวจสอบได้ เราต้องทำหน้าที่เป็นกระจก เราจะดีใจถ้านักการเมืองมาให้สัมภาษณ์รายการเราด้วยความรู้สึกกลัว กูโดนแน่ๆ หรือถ้าใครทำอะไรไม่ดีสักอย่างแล้วรู้สึกว่าเดี๋ยวเวิร์คพอยท์นิวส์มันเล่นกูแน่ๆ ถือว่าเราทำสำเร็จ

ต่อให้ทุกอย่างในสังคมเละไปหมดแล้ว เราก็ยังบอกน้องว่าเราจะไปทำข่าวเลือกข้างเชียร์พรรคนั้นพรรคนี้ไม่ได้

ถ้าน้องบอกว่า ภาพเขามันชัดมากเลยนะพี่

เราก็จะบอกว่า ศีลธรรมหรือหลักคุณค่าของวิชาชีพของคุณก็สำคัญนะ ในเมื่อคุณไม่ชอบหน่วยงานอิสระบางแห่งเพราะเขาทำผิดจรรยาบรรณ แต่คุณกลับยอมทำผิดจรรยาบรรณด้วยการไปด่าเขาน่ะ ไม่ได้นะ วิชาชีพของเราต้องคงอยู่สิ ถ้าวันหนึ่งก่อนตายสังคมไทยดีขึ้น คุณก็ตายตาหลับ เรื่องน้ำเสียงในข่าวมันมีแหละว่า แซะ ขยี้ หรือกวนตีนอยู่ แต่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราไม่ได้ทำเพราะจะช่วยใคร หรือเกลียดใคร

คุณรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศนี้มากมาย พอเขียนข่าววิจารณ์เขา ไม่กลัวมองหน้ากันไม่ติดหรือ

ไม่กลัวนะ การเขียนข่าวถึงนักการเมืองไม่ใช่การเขียนด่าเขา มันเป็นเรื่องของประชาชน เรื่องข้อผิดพลาดของเขา บางทีเขาก็ออกนโยบายมาดีแล้วแต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ หรือเรามองเรื่องนี้ต่างจากเขา เขียนไปแล้วเขาจะนำพาหรือไม่นำพาก็แล้วแต่เขา ผมทำข่าวมาสิบปี ไปเจอนักการเมืองใหญ่ๆ มาแล้วทุกคน ผมกล้ามองตาเขาแล้วพูดว่า ผมไม่ได้หวังร้ายกับเขา เราทำเพื่อประโยชน์กับสังคม เราไม่ได้ตื่นมาทำข่าวด่าคุณเพราะเกลียดคุณนะ

ถ้าคุณอ่านแล้วไม่เห็นด้วย ข้อมูลผิด ก็มาคุยกันได้ ผมไม่กลัวเลยว่าเขาจะเกลียดผม พูดตรงๆ ว่าไม่มีใครสำคัญกับผมขนาดนั้น จนผมยอมเอาวิชาชีพผม เอาแบรนด์สำนักข่าวที่สร้างมาไปแลก ไม่มีจริงๆ ถึงเราจะเกลียดนักการเมืองคนนี้มากขนาดไหน เขาก็ไม่สำคัญขนาดนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องนโยบายที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น เรายอมทุ่มทุกอย่างเพื่อให้มีอิมแพ็คให้มากที่สุด

เรามีหน้าที่ตั้งคำถามกับนักการเมือง ไม่ใช่ถามแต่สิ่งที่เขาอยากพูด ไม่งั้นจะมีเราไปทำไม เขาก็เฟซบุ๊กไลฟ์ก็ได้ พอมีหลักแบบนี้มันก็จะไปได้ทุกที่

ข่าวที่คุณภูมิใจที่สุด

เว็บโควิด-19 ก็ภูมิใจนะ มันจับต้องไม่ได้หรอกว่าใครจะให้รางวัล แต่คนก็ยังแชร์อยู่เรื่อยๆ รู้สึกว่าคนยังเชื่อมั่นเรา เรายังทำหน้าที่ให้ความรู้คน ให้เขามีภูมิต้านทานทั้งไวรัสและข่าวสาร แต่สิ่งที่ภูมิใจมากๆ ในวันนี้คือ น้องๆ นักข่าว มีน้องคนหนึ่งเรียนจบก็มาอยู่กับเรา ปีหนึ่งก็ได้ไปทำงานที่บีบีซีไทย อีกคนกำลังสมัครทุนเดียวกับผมไปอังกฤษ เห็นน้องได้รับเลือกให้ไปทำข่าวสำคัญๆ ต่างๆ กลับมาได้ชิ้นงาน น้องมีความสุข ได้โตขึ้น สิ่งนี้ภูมิใจกว่างานอีก

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น
นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

ภูมิใจทั้งที่กำลังจะเสียทีมงานฝีมือดี

ถ้าเสียด้วยเหตุผลที่ดี ผมโอเคมาก คือเราไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เมื่อเทียบกับโอกาสในชีวิตคนคนหนึ่ง เขาจะมีโอกาสได้เจออะไรมากมาย แล้วกลับมาทำอะไรดีๆ ทุกวันนี้พอเราเปลี่ยนจากนักข่าวมาเป็น บ.ก. มันเหนื่อยขึ้นเยอะมาก แต่ก็ภูมิใจจริงๆ

ในฐานะ บ.ก. อะไรคือสิ่งที่คุณจะไม่มีวันทำแน่ๆ

อะไรที่ผิดศีลธรรมทางวิชาชีพ เมื่อกี้พูดเรื่องนักการเมืองไปแล้ว นักการเมืองยังง่ายกว่านักธุรกิจ ยิ่งประเทศไทยมีธุรกิจใหญ่สนับสนุนสื่ออยู่ไม่กี่เจ้า เรื่องพวกนี้ก็สำคัญ พอถึงจุดหนึ่งเราต้องต้องร่วมโต๊ะกินข้าว ต้องผูกสัมพันธ์กัน เราก็ต้องรักษาเส้นแบ่งนี้ให้ดี

อย่างเช่นมีข่าวขององค์กรหนึ่งที่ทำงานใกล้กับบริษัทเรามากๆ พอเขามีข่าว เราก็ต้องเขียนในฐานะที่เราเป็นนักข่าว นี่คือสิ่งที่คนคาดหวังจากเรา เป็นสิ่งที่เราถูกฝึกมา ถ้ามันทำให้ใครไม่พอใจ ผมก็จะบอกว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด ผมแค่รายงานตามข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่ผมรายงานไปอาจจะมีคนไม่ชอบ หรือไปกระทบใคร มันไม่ใช่ความผิดของผม มันต้องมีการตบตีกัน มันต้องมีการยืนหยัดว่า ผมให้ไม่ได้ ผมให้ไม่ได้ ผมให้ไม่ได้ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อเรื่องที่งี่เง่านะ ผมทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เนื้อหาทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การดูแลของผมจะมีหลักตรงนี้อยู่

มีผู้ใหญ่โทรมาเคลียร์บ่อยแค่ไหน

สัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างน้อย จะฟ้องก็มี ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องทางกฎหมาย เรารวบรวมมาจากตรงนี้นะ ไม่ได้กล่าวหาเขาลอยๆ เมื่อวานเพจสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโพสต์เรื่องสวดมนต์โควิด เราก็เอามาเขียนข่าว ปรากฏว่าคนโพสต์เป็นน้องๆ แต่ผู้ใหญ่ของเขาบอกว่าเขาไม่ได้มีเจตนา อย่าทำให้สำนักสงฆ์เสียหายเลย ขอให้เราลบ เราจะลบได้ยังไง ก็เราไม่ได้ทำอะไรผิด

มันเป็นเรื่องเล็กน้อยๆ ก็จริงนะ แต่มันคือศักดิ์ศรีของเราที่สำคัญมากในการปกป้องทีมเรา ถ้าเราบอกว่าได้เลยครับพี่ เดี๋ยวเราปรับให้ตามใจทุกอย่าง ทีมงานก็จะเสียกำลังใจกันหมด เราเลยไม่ลบ แต่เขียนสรุปให้ว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง ส่งไปให้เขาดู เขาก็โอเคขอบคุณเรา ก็ต้องคุยกันจะเข้าใจมุมเขามุมเรามากขึ้น เราไม่ได้อยู่ในจุดที่เอาใจทุกคนได้จริงๆ บางคนก็โทรมาบอกว่า เล่นแรงไปแล้วนะ เราเปลี่ยนไปเล่นเรื่องอื่นก่อนก็ได้ เดี๋ยวค่อยกลับมาเล่นใหม่ (หัวเราะ)

โดนคนใหญ่คนโตโทรมาด่าทำให้หงอลงไหม

พอทำงานไปสักพักมันไม่ใช่เรื่องกล้าหรือไม่กล้าแล้ว เราเป็นนักข่าวอยู่ในประเทศไทยซึ่งนักข่าวถึงขนาดติดคุกหรือต้องลี้ภัยได้เลย ผมกล้าพูดกับทุกคนว่า ผมไม่ได้มีจรรยาบรรณหรือศักดิ์ศรีสูงส่งขนาดจะต่อสู้จนวันที่ถูกจับเข้าคุก ถ้าเราอยู่นอกคุกเราก็ยังมีคุณค่าบางอย่าง วันหนึ่งเรารู้แล้วว่าข่าวมาแบบนี้ต้องบิดแบบนี้ เพราะมันพูดตรงๆ ไม่ได้ เราอ้อมแต่คนยังเก็ตอยู่ ก็เรียนรู้ไป

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

รายการเวิร์คพอยท์ทูเดย์ตอบโจทย์อะไรในการทำข่าวของคุณ

ช่องเวิร์คพอยท์ไม่มีข่าวตอนค่ำ เจ้านาย (ชลากรณ์ ปัญญาโฉม) เลยอยากให้มีรายการข่าวแบบออนไลน์ ซึ่งเรามีแพลตฟอร์ม มีสายตาของคนที่พร้อมจะมองมาอยู่แล้ว เราก็เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนมาเสนอ ด้วยปรัชญาการทำข่าวเดิมของเรา จากที่มีอาวุธแค่ข่าวเว็บ กราฟิก วิดีโอสั้น ก็เพิ่มรายการ มันทำให้เราได้แอคทีฟทุกวัน ต้องคิดหาคนมาสัมภาษณ์ทุกวัน

เบรกแรกเล่าข่าว ส่วนสัมภาษณ์ก็เลือกได้ว่าจะมีหรือไม่มี ซึ่งเป็นข้อดีของออนไลน์ ความยาวของรายการครึ่งชั่วโมงก็ได้ ชั่วโมงหนึ่งก็ได้ สี่ชั่วโมงก็ได้ แล้วแต่เหตุการณ์ของแต่ละวันเลย ถ้าวันนี้ไม่มีข่าวก็ทำยี่สิบนาทีแล้วให้น้องกลับไปพักผ่อน พรุ่งนี้ถ้ามีข่าวใหญ่จะได้มีแรงมาทำกัน เราจะทำข่าวใหญ่ของวันนั้น ถ้าวันนี้มีเรื่องปิดประเทศก็เดาได้ว่าจะสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจัดก็ได้ไม่จัดก็ได้ เพราะผมไม่ใช่คนดัง เขาไม่ได้เปิดดูเพราะผมอยู่แล้ว (หัวเราะ)

มองรายการ คุยข่าว สัมภาษณ์ข่าวในช่องหลัก เป็นคู่แข่งไหม

ไม่เลย เอาตัวเองให้รอดก็เหนื่อยแล้วนะ ไม่มีเวลาจะแข่งอะไร สิ่งนี้สำคัญมาก บอกน้องว่า อย่าคิดว่าเราต้องแข่งนะ ไม่งั้นอาจพลาดได้ เห็นเขาทำข่าวนั้นแล้วมียอดแชร์เยอะก็เอาบ้าง Editorial Judgement ของคุณสำคัญกว่าการแข่งขันนะ ผมไม่เคยคิดว่าแข่งกับใคร 

เรื่องของเราไม่สำคัญหรอก ในประเทศนี้มีอะไรให้คิดอีกเยอะแยะ ไม่ใช่คิดแค่กูจะเอาชนะมึง คนป่วยโควิด-19 เป็นพันคนพ่อแม่พี่น้องเราทั้งนั้น จะมาปวดหัวเรื่องกูเรตติ้งเท่าไหร่ กูเท่กว่าใคร มันใช่หรือเปล่า สิ่งที่ต้องทำคือ รีบไปศึกษามา เอาข้อมูลมาตัดเป็นสกู๊ปให้คนดูเยอะที่สุด เขาจะได้ป้องกันตัวเองมากที่สุด สิ่งนี้สำคัญกว่าหรือเปล่า

อยากสร้างคาแรกเตอร์ผู้ประกาศให้คนจดจำไหม

สมัยผมอยู่ที่เนชั่น พี่ติ่ง (สมภพ รัตนวลี) โปรดิวเซอร์ผมสอนว่า มีภาพข่าวกลุ่มคนเสื้อแดงเผารถ ผู้ประกาศคนหนึ่งเล่าข่าวว่า “คุณผู้ชมดูสิครับ แม่งชั่ว ดูมันเผา” อีกคนเล่าว่า “นี่คือภาพบรรยากาศที่ราชประสงค์วันนั้นครับ” คุณทำหน้าที่รายงานให้คนรับข่าวแล้วตัดสินเอง เรื่องพวกนี้สำคัญกว่าเรื่องตัวคุณเยอะ คุณไม่ได้สำคัญขนาดที่จะเอาเรื่องความเป็นความตายของคนมาดึงความนิยมของตัวเอง

เรตติ้งรายการข่าวทางโทรทัศน์เกือบทั้งหมดมาจากตัวผู้ประกาศ ถ้าคุณไม่สร้างคาแรกเตอร์ให้ตัวเอง แล้วเรตติ้งรายการเวิร์คพอยท์ทูเดย์จะมาจากไหน

เจ้านายให้มาครับ (หัวเราะ) แพลตฟอร์มเราใหญ่มาก เพจ Workpoint Entertainment มีคนตามอยู่ 15 ล้านคน ย้ำอีกรอบว่าผมโชคดีมากที่แพลตฟอร์มเราใหญ่ เลยไม่จำเป็นต้องดิ้นรนสร้างตัวตน ทำข่าวให้หวือหวา คนก็ยังดูเรา ถ้าจะพูดเรื่อง Persona ของผู้ประกาศข่าว มันใช้ตำราเดียวกับทุกคนไม่ได้ 

ยุคผมเด็กทุกคนอยากเป็นแบบคุณสรยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) ทุกคนฝึกเล่าข่าวแบบนั้น น้ำเสียงมาเลย ทั้งที่อายุเพิ่งยี่สิบห้า เสียงไม่มีทางเหมือนคนอายุสามสิบห้าได้ ผมไม่ได้บอกว่าการอยากเป็นแบบคุณสรยุทธดีหรือไม่ดีนะ คุณเป็นแบบเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้ก็คือ ทำข่าวที่มีประโยชน์ แล้วไปหาทักษะของตัวเองว่าเก่งด้านไหน การเล่าข่าวแบบเพจ Poetry of Bitch หรือในทีมผมก็มีแบบพี่วิศรุต (วิศรุต สินพงศพร) เพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ก็ไม่ใช่ทักษะแบบคุณสรยุทธเลย แต่สร้างอิมแพ็คได้

ถ้าพูดเรื่องการเป็นผู้ประกาศแล้วบุคลิกต้องหวือหวา ก็จะมี คุณสุทธิชัย (สุทธิชัย หยุ่น), คุณสรยุทธ, คุณกนก (กนก รัตน์วงศ์สกุล), คุณจั๊ด (ธีมะ กาญจนไพริน), คุณพุทธ (พุทธ อภิวรรณ) หมดแล้ว ในรอบสามสิบปีนี้มีอยู่ห้าคน พ้นจากห้าคนนี้แปลว่าอะไร อดทำข่าวเหรอ ก็ไม่ควรนะ ผมก็เป็นคนที่ไม่ใช่ห้าคนนั้น ผมทำข่าวออกหน้าจอมาสิบปีแล้วก็ไม่ดัง คนก็ไม่สนใจ เดินไปไหนก็ไม่มีใครทัก ถ้าไม่มีพรสวรรค์ที่จะเป็นคนที่กล้องรัก คุณก็ต้องดิ้นรนหาทางส่งสารในแบบของคุณให้ได้ ต้องขวนขวายเอาความรู้ ทักษะ ไปหาข้อมูลใหม่ๆ มาเล่าให้คนฟังก็โอเค

คุณไม่สร้างตัวตนในข่าว ทำตัวโลว์โปรไฟล์ ไม่อยากเป็น บ.ก. ข่าวดังๆ เหรอ

ไม่รู้จะดังไปทำไม (หัวเราะ)

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์  บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

คนหนุ่มกับชื่อเสียงการยอมรับเป็นของคู่กันไม่ใช่หรือ

The Cloud มาสัมภาษณ์ผม ก็ได้รับการยอมรับแล้ว (หัวเราะ) ผมยอมรับว่าผมไม่ดังนะ เราไม่ควรเอาความดังมานำชีวิต ผมไม่ปฏิเสธว่าดังแล้วจะดี ถ้าดังก็คงทำอะไรได้อิมแพ็คมากขึ้น แต่มันไม่ควรเอามาเป็นแก่นของชีวิต เป็นสิ่งแรกที่ต้องแสวงหา มันยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ

ถ้าสังคมไทยให้คุณค่ากับคนที่ควรได้รับมัน เราคงรู้สึกดีกว่านี้ ผมไม่ได้พูดให้ตัวเองนะ แต่มีบางคนที่เขาคู่ควรกับการได้รับเกียรติ ในขณะที่บางคนไม่คู่ควรแต่คนก็ยังไปให้เกียรติ ไปให้พื้นที่กับคนแบบนี้ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็หวังว่าก่อนตาย เราจะเห็นนักข่าวที่มีคุณภาพได้รับเชิญให้ไปรับรางวัลหรือเป็นที่รู้จักกันทั้งสังคมแบบนักวิทยาศาสตร์ดังๆ

ความดังในยุคนี้ถือว่ามีมูลค่าไม่น้อยนะ คุณมองในมุมนี้บ้างไหม

ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมาก็คือ บริษัทดูแลผมดีพอจนผมไม่กระหายตรงนั้นเพิ่มแล้ว ถ้ามีการจัดอันดับแล้วผมไม่ติดหนึ่งในสิบหนุ่มฮอตผมก็นอนหลับนะ ไม่เป็นไรเลย (หัวเราะ) น้องในทีมผมเงินเดือนก็ไม่ได้เยอะ เราใช้งานเขาตั้งเยอะ แล้วเขาต้องโอนเงินก้อนใหญ่ให้พ่อ ผมนอนไม่หลับกับเรื่องพวกนี้มากกว่า ความดังมันเป็นเรื่องมายาคติมาก เอาแรงไปคิดเรื่องอื่นที่น่าคิดดีกว่า พอถึงวันเสาร์ผมก็ได้อยู่กับเพื่อน ได้หัวเราะเฮฮา มันเป็นความอบอุ่นที่มีความหมายมากกว่าชื่อเสียงอะไรก็ไม่รู้

อะไรทำให้อยากเป็นนักข่าว

ตอนไป AFS ที่อเมริกา มี 9/11 ช่วงนั้นนอกจากพนักงานดับเพลิงแล้ว นักข่าวก็เป็นอีกอาชีพที่คนชื่นชมมาก นักข่าวอย่าง แดน ราเธอร์ (Dan Rather) หรือ ทอม โบรคอว์ (Tom Brokaw) เขารายงานข่าวยาวมาก โฮสต์ผมบอกว่า ดูสิ ฉันไปนอนแล้วตื่นมาเขายังรายงานข่าวอยู่เลย เราออกไปกินข้าว กลับมาเขาก็ยังรายงานข่าว เขาไม่ได้นอนมายี่สิบชั่วโมงแล้ว อาชีพนี้ก็เริ่มเข้ามาอยู่ในหัวผม ตอนนั้นได้ทำหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนที่อเมริกา ก็ได้ฝึกเขียน

พอกลับมาเรียนมหาวิทยาลัย เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ได้มาอยู่ในสังคมเด็กอินเตอร์ ถ้าใช้ภาษาตอนนี้ก็คือมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก พอคุยเรื่องการเมือง เพื่อนบอกว่า มึงเป็นบ้าอะไร กูไม่ได้บ้า แต่เรื่องนี้สำคัญต่อชีวิตคนตั้งเยอะ พวกมึงไม่สนใจเอง เราสนใจการเมือง ทักษะก็พอได้ น้ำเสียงพอได้ เคยเล่นละครเวที การแสดงก็พอได้ อยู่หน้าจอไม่เคอะเขิน ภาษาอังกฤษก็ชอบ อ่านข่าวต่างประเทศอยู่แล้ว ก็อยากเป็นนักข่าวมากๆ

มากแค่ไหน

ผมเรียนจบมาหนึ่งปีโดยไม่มีเงินเดือน เพื่อรอที่จะเป็นนักข่าวเท่านั้น ผมจบ BBA มา เพื่อนบางคนไปทำบริษัทใหญ่ๆ ได้เงินเดือนสามหมื่น บางคนได้เจ็ดหมื่น แต่เรายอมไม่มีเงินเดือนปีหนึ่งเพื่อรอที่จะได้เป็นนักข่าวสักที่ ที่ไหนก็ได้ จนได้มาเป็นที่เนชั่น ผมใช้เวลาหกปีที่เนชั่นโดยไม่คิดเรื่องอื่นเลย คนอื่นอาจจะคิดเรื่องอายุน้อยร้อยล้าน แต่ผมคิดแค่จะพิสูจน์ว่าสิ่งนี้สำคัญกับสังคม

สิ่งไหน

การต้องพูดเรื่องการเมือง เรื่องสังคม ห้าหกปีแรกผมทำงานด้วยความโกรธเกลียดสิ่งที่เราไม่ชอบ สิ่งที่เราเคยเจอมา มันเป็นพลังงานผลักดันหลังของเราเลย พอทำมาสักพักก็พบว่า การเป็นนักข่าวทำให้ได้ไปเรียนทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษด้วย ทั้งที่จบมาด้วยเกรดสองจุดห้า ได้ไปเปิดหูเปิดตา กลับมาก็ยิ่งเห็นประโยชน์ของอาชีพนี้ ก็ทำมายาวเลย

ตอนไปเรียนต่อที่อังกฤษ ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

อย่างแรก ผมถ่อมตัวขึ้นเยอะมาก คนที่เรียนด้วยกันเขาเก่งมาก แต่ทำตัวปกติมาก ทุกเช้าผมตื่นมาฟัง BBC Global News Podcast ทุกวัน คนจัดชื่อ ไมเคิล บริสโตว์ (Michael Bristow) ผมนั่งตรงข้ามเขาตอนฝึกงาน รู้เลยว่าเขาอ่านอะไรบ้างกว่าจะมาเขียนข่าวหนึ่งชิ้น ตกเย็นเขาทำอะไร เสาร์อาทิตย์ก็ยังไป Frontline Club (ชมรมนักข่าว)

ที่ต่างประเทศการเป็นนักข่าวคือเส้นทางทั้งชีวิต แต่ที่ไทยมันจะแปลกๆ ปีแรกเป็นนักข่าว ปีที่สองได้เริ่มเปิดหน้า (ได้ออกกล้อง) ปีที่สี่กลายเป็นผู้ประกาศข่าว มันไม่มีโอกาสไปทำโน่นทำนี่เยอะๆ ตอนอยู่ลอนดอนผมได้เรียนรู้โน่นนี่เยอะมาก เมื่อก่อนเราเห็นว่าขอบสระอยู่ตรงนี้เอง แต่ตอนนี้โอ้โห มันคือมหาสมุทรที่ไม่มีทางว่ายไปถึงเลยนี่หว่า ดังนั้น จงเรียนรู้ไปเถอะ

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บ.ก. Workpoint News สำนักข่าวออนไลน์ที่สร้างแบรนด์บนความเชื่อมั่น

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ