The Cloud x Startup Thailand

ทุกวันนี้เราเดินทางในความหมายที่มากกว่าแค่การท่องเที่ยว บางคนออกไปค้นหาความหมายของตัวเองระหว่างทาง บางคนออกไปสร้างความหมายใหม่ๆ ให้ผู้อื่น การท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้จึงมีจุดมุ่งหมายอื่นๆ แฝงมาด้วยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนรักษาสุขภาพ การท่องเที่ยวเพื่อสำรวจพรมแดนใหม่ๆ ของรสชาติอาหารท้องถิ่น และอีกสารพัดสาขาที่การเดินทางตอบโจทย์ความชอบ ความสนใจของผู้คนทั่วโลกได้ ยิ่งประเทศไทยยิ่งมีความหลากหลายสูง ก็ยิ่งคิดสร้างสรรค์ทำอะไรหลายๆ อย่างที่ต่อยอดจากการท่องเที่ยวได้อีกไม่จำกัด นั่นรวมไปถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเล็กๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

Local Alike เป็นบริษัทท่องเที่ยวชุมชนที่มีเป้าหมายมากกว่าความสนุก แต่ยังให้ความสำคัญแก่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนด้วย พวกเขากำลังแสดงให้เราเห็นว่าเราอาจไม่ได้ต้องการสถานที่ท่องเที่ยวใหม่มากเท่ามุมมองใหม่ในการท่องเที่ยว ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมาพวกเขาได้โปรยหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืนและความร่วมมือในระยะยาวกับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ช่วยเพิ่มรายได้ ให้ความรู้แก่ชุมชนในการเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยว และพัฒนาชีวิตของชาวชุมชนให้ดีขึ้นตามไปด้วย

Local Alike

เติบโตมาด้วยกัน เติบโตไปด้วยกัน

“เราเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชนแบบนี้ เราสนุกที่ได้เรียนรู้ไปกับมัน ประสบการณ์เท่านั้นที่ทำให้เข้าใจว่ายังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก รูปแบบการทำงานในตอนเริ่มต้น ตอนขยายธุรกิจ ตอนที่เราทำให้มันยั่งยืนขึ้น ไม่ว่าขั้นตอนไหนก็ตาม มันจะไม่มีทางเหมือนกัน” สุรัชนา ภควลีธร เล่าให้เราฟังว่า Local Alike เกิดขึ้นมาจากการเข้าไปฝึกงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ศึกษาเรื่องการทำโฮมสเตย์ในพื้นที่หมู่บ้านสวนป่า และหมู่บ้านปางพระราชทาน จังหวัดเชียงราย

“เรารู้จักท่องเที่ยวชุมชนก็ตอนมหาวิทยาลัยแล้วด้วยซ้ำ ทั้งที่เราเที่ยวเยอะมากแต่ก็ไม่เคยรู้จักการท่องเที่ยวแบบนี้มาก่อน เราเริ่มมาสนใจก็ตอนที่อาจารย์พาไปดูวัดเก่าตามต่างจังหวัด ทำให้ได้มีโอกาสเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่เคยคิดว่าจะไป พอไปเห็นด้วยตาตัวเอง ก็ได้รู้ว่าพื้นที่เหล่านั้นมันมีศักยภาพ มีสิ่งน่าสนใจที่เราไม่เคยรู้จักซ่อนอยู่เยอะมาก” นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้รับรู้ถึงศักยภาพของชุมชนเล็กๆ ในชนบทไทย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอและเพื่อนเข้ามาศึกษาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างจริงจัง และค้นพบแนวทางว่าปัญหาต่างๆ นั้นอาจถูกพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการท่องเที่ยวที่ถูกออกแบบมาอย่างเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจข้อจำกัดของชุมชน และจัดทำโดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อให้ผลประโยชน์ไปถึงชุมชนอย่างแท้จริง

ทีมงานโลคอล อะไลค์ จึงไม่เคยหยุดคิด หยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะพวกเขารู้ดีว่าความต้องการของผู้คนนั้นเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน และความเป็นน้องใหม่ในวงการท่องเที่ยวนั้นไม่ใช่ข้ออ้างในการทำงานสำหรับพวกเขา

“มองดูเหมือนเราเสียเปรียบที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลย ทั้งฐานะทางบ้าน การศึกษา อายุ ประสบการณ์ แต่การที่เราไม่มีต้นทุนตรงนี้กลับเป็นต้นทุนที่สำคัญมากสำหรับเรา พอไม่มีอะไรมาก่อน ก็เลยไม่มีความคาดหวัง ไม่มีความกดดันจากภายนอก แต่เราทำ เพราะอยากจะทำเรื่องนี้จริงๆ เพราะฉะนั้น มันก็ทำให้เราต้องพยายามมากกว่าคนอื่น” สุรัชนาเล่าว่า ทุกคนในโลคอล อะไลค์ จับเข่าคุยกันตั้งแต่แรก ว่าเราทุกคนเริ่มจากศูนย์ ในทีมจึงช่วยกันเยอะมากตั้งแต่ต้น ทุกคนมาร่วมกันทำ ลงมือเองกันทั้งหมด “ปีแรกของการทำบริษัทจึงไม่มีใครมีเงินเดือน ทุกคนต้องหารายได้เสริม ทำงานทุกวัน เพื่อให้อยู่ได้ทั้งหมดคือเรื่องของใจล้วนๆ” สุรัชนาจบประโยคด้วยรอยยิ้ม

เมื่อต้องพยายามมากกว่าคนอื่น โลคอล อะไลค์ จึงพยายามพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาพยายามทำอยู่คือการพัฒนาชุมชนผ่านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้ตัวเองชัดเจนที่สุดเพื่อยืนหยัดในวงการนี้ต่อไป

อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับปัญหา

ด้วยแนวคิดที่มองปัญหาเป็นเพื่อนที่จะต้องเรียนรู้และหาทางปรับเข้ากัน ทำให้พวกเขาเปลี่ยนหมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขาอันห่างไกล ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงได้ แม้ภาพแรกจะดูน่าหนักใจแค่ไหนก็ตาม

“ตอนแรกไม่มีใครคิดว่าหมู่บ้านนี้จะทำการท่องเที่ยวได้ เพราะหมู่บ้านมีขยะเยอะ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานมาเก็บขยะ ผู้ใหญ่บ้านก็แบ่งรับแบ่งสู้ ชั่งใจว่าอะไรใหม่ๆ ที่เราเอาไปเสนอจะเวิร์กไหม เราก็เรียนรู้ไปพร้อมกับเขา ชาวบ้านค่อยๆ ทดลองทำเส้นทางเดินป่าขึ้นเอง การพัฒนาชุมชนมันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเร็วมากอย่างที่เราอยากให้มันเป็น แต่มันจะค่อยเป็นค่อยไปในแบบของมันเอง เราไม่ได้ต้องไปบอกว่า พี่เก็บขยะกัน แต่พอนักท่องเที่ยวเข้าไปเขาก็รู้สึกกันเองว่าต้องทำอะไรบางอย่างให้บ้านตัวเองดีขึ้น เดิมที่เคยมีข่าวลือเรื่องยาเสพติด เมื่อทำการท่องเที่ยวแล้วชื่อเสียงของหมู่บ้านก็ดีขึ้น เมื่อเห็นผลว่าสิ่งที่ทำไปมีประโยชน์ ทุกคนก็อยากทำตามด้วย มันมีเกณฑ์มากมายในการทำท่องเที่ยวชุมชน ว่าจะต้องมีการจัดการอย่างไร ความสะอาด คุณภาพระดับไหน แต่สุดท้ายแล้วคนต่างหากที่เป็นหัวใจหลัก ถ้าคนมีความริเริ่ม มีใจอยากทำอยากเผยแพร่ ทุกที่ก็มีทางไปของมันจนได้”

โมเดลในการทำงานของโลคอล อะไลค์ แบ่งออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆ หนึ่งคือ การพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนจนกว่าพวกเขาจะทำได้เองทั้งหมด สอง แพลตฟอร์มซึ่งช่วยให้ชุมชนเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวได้โดยตรง สาม การติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงไปทำงานกับชุมชนอย่างจริงจัง ทำรายงานออกมาเป็นตัวเลขที่จับจ้องได้ สี่ ดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนส่วนกลางของชุมชนที่ทำร่วมกัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาส่วนกลาง ทำให้การท่องเที่ยวพัฒนาชุมชนได้จริง และสุดท้ายซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังวางแผนกันอยู่ นั่นคือการเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน ให้ภูมิปัญญาที่ถูกซ่อนอยู่ได้เป็นที่รับรู้มากขึ้น

ขึ้นชื่อว่าเป็นการทำงานเพื่อการแก้ปัญหา งานของโลคอล อะไลค์ จึงมีแต่จะยากขึ้นไปเรื่อยๆ

“อนาคตมันต้องท้าทายขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว ปัญหาคือทำยังไงให้คงไว้ซึ่งสปิริตที่เราทำกันตอนเริ่มต้น”

ความยากในตอนแรกมันคือเรื่องของความเหมาะสมกันของสินค้ากับตลาด แต่เมื่อขยับขึ้นสู่ขั้นต่อไปเป็นเรื่องของการทำงาน ระบบที่ต้องพัฒนานโยบาย หรือวัฒนธรรมองค์กรที่มันแข็งแรง ในเมื่อเริ่มต้นนั้นยากอยู่แล้ว การประคองให้สิ่งที่ทำไปได้ดียิ่งขึ้นยิ่งยากกว่า ท้าทายกว่ามาก”

เปรียบเทียบกันแล้วโลคอล อะไลค์ จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเพื่อนที่คอยช่วยเหลือชุมชนในด้านที่พวกเขายังขาด ร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกันอย่างเข้าใจ “เราเลือกปัญหาที่จับต้องได้ ปัญหาจริงๆ จากประสบการณ์ของคนที่อยู่ท่ามกลางปัญหานั้น มันทำให้เราทำในสิ่งที่มีคนต้องการจริงๆ ไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปใส่มากเกินไป ไม่คิดแทนว่าเขาต้องการอะไร แต่เข้าใจปัญหาในพื้นที่นั้นจริงๆ”

Local Alike

ยืนหยัดกับความยั่งยืน

“เรามองว่าสิ่งต่างๆ ที่เราทำอยู่นั้นมันคือการประกอบ 3 สิ่งเข้าด้วยกัน หนึ่งคือ ฟ้าดิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิตนะ มันคือจังหวะ โอกาส ในการทำสิ่งที่คนต้องการ ถูกที่ถูกเวลา วันนี้โลคอล อะไลค์ อาจถูกที่ถูกเวลาประมาณหนึ่ง แต่วันข้างหน้าก็ไม่แน่ เราจึงต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา สองคือ อย่าหลงในสิ่งที่เราทำว่ามันดีที่สุด วันหนึ่งชุมชนอาจจะเปลี่ยนไป เราเองก็ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ก่อนที่จะไปพัฒนาคนอื่น ให้ความสำคัญแก่คนรอบๆ ตัวเราที่ทำงานด้วยกันด้วย และสาม เป้าหมายต้องใหญ่กว่าตัวเราเอง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกคนมารวมกันตรงนี้ มาร่วมด้วยช่วยกันโดยเริ่มจากส่วนที่ตัวเองถนัดและมีความเชี่ยวชาญ”

และเพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาชุมชน ในรูปแบบที่แต่ละคนถนัดและมีความเชี่ยวชาญ เช่น ในบริษัทใหญ่ๆ ที่มีแนวคิดเรื่องการทำกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านการส่งเสริมศักยภาพชุมชน โลคอล อะไลค์ จึงคิดหาทางเพิ่มวิธีการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนที่ทั้งง่ายดายและหลากหลายยิ่งขึ้น อย่างการไปเที่ยวเพื่อให้ชาวบ้านได้ฝึกการจัดการ อุดหนุนบริการของพวกเขา ไปจนถึงการทำโครงการระยะยาวให้พนักงานบริษัทใหญ่ๆ นำความรู้ความสามารถของพวกเขามาพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง

แม้ความตั้งใจแรกจะเป็นการโฟกัสพื้นที่ทำงานในประเทศไทยเท่านั้น แต่เมื่อโอกาสเข้ามา โลคอล อะไลค์ ก็เลือกที่จะคว้าไว้ ในแบบที่ไม่ฝืนกระโดดลงไปว่ายในมหาสมุทรทั้งที่ยังไม่พร้อม แต่เลือกใช้วิธีการแชร์ความรู้ การทำงานด้านการท่องเที่ยวชุมชนที่สั่งสมมากว่า 5 ปีให้บริษัทแห่งหนึ่งในเวียดนามซึ่งสนใจจะให้บริการในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในบ้านของตัวเองบ้าง โดยนำเอาบทเรียนของโลคอล อะไลค์ ไปใช้ และแชร์แพลตฟอร์มโดยมีเป้าหมายเป็นพื้นที่ของสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

“ความสนุกในทุกวันนี้สำหรับเรา คือการที่ได้เจอคน เสน่ห์ที่โดดเด่นมากสำหรับการท่องเที่ยว คือมันเป็นธุรกิจที่ต้องข้องเกี่ยวกับคนเยอะมาก แต่ละชุมชนก็ไม่เหมือนกันเลย แต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก การทำงานกับคนที่แตกต่างกับเรามากๆ ทำให้เราได้ความคิดใหม่ๆ เสมอ สำหรับการท่องเที่ยว ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำไปแค่ไหน คนก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดอยู่ดี”

Local Alike

Startup Thailand Entrepreneurs Under 35
สาขาการท่องเที่ยว (TravelTech)

สุรัชนา ภควลีธร, Co-founder of Local Alike

Website: LocalAlike.com

Writer

Avatar

สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล

นักเขียนอิสระ ที่รักการค้นคว้าข้อมูลแปลกๆ เป็นงานอดิเรก มองหาเรื่องสนุกไม่จำกัดหมวดหมู่ สนใจใคร่รู้ทุกความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้

Photographer

Avatar

กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์

เป็นช่างภาพ เป็นผู้ชาย เป็นลูกคนเดียว เป็นคนหลับง่าย เป็นคนใจเย็น เป็นคนพูดไม่สุภาพ เป็นคนขี้เซา เป็นคนเดินเร็ว เป็นคนไม่ฉลาด เป็นคนธรรมดา เป็นคนไทย