15 มิถุนายน 2018
5 K

แม้จะไม่ได้มีเครื่องวัดคุณภาพอากาศอยู่บนนั้น แต่ช่วงไหนที่เมืองเชียงใหม่ประสบปัญหาหมอกควัน (ประจำปี) คนที่เชียงใหม่จะชั่งตวงมลภาวะทางอากาศจากการหันหน้าไปยังทิศตะวันตก ทิศที่ดอยสุเทพวางตัวอยู่

หากวันไหนยังพอมองเห็นสีเขียวของผืนป่าบนดอยสุเทพ วันนั้นก็ถือว่าไม่เลวร้ายที่จะออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งนัก แต่ถ้าวันไหนหมอกลงจนกลืนภูเขาทั้งลูก นั่นก็ไม่ต้องพิจารณาจากค่า PM ใดๆ แล้ว และถ้าไม่จำเป็นอะไรคนเชียงใหม่ก็มักเลือกที่จะไม่ออกจากบ้าน

ดอยสุเทพไม่ได้ผูกพันกับคนเชียงใหม่แค่ในฐานะแลนด์มาร์กหรือแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ หากคนที่นี่ตระหนักดีถึงความสำคัญที่ครอบคลุมแทบทุกองคาพยพของชีวิต ตั้งแต่ความเชื่อความศรัทธา ทรัพยากรทางธรรมชาติ แรงบันดาลใจทางศิลปะ ไปจนถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายที่มาของผู้คนบนที่ราบลุ่มเชิงภูเขา–ผู้คนที่เป็น ‘คนเมือง’ ในทุกวันนี้

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจหากมีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่กระทบต่อดอยสุเทพ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนลอยฟ้ามาบดบังทิวทัศน์ หรืออย่างกรณีล่าสุดกับการถางผืนป่ามาสร้างบ้านพักอาศัยให้ข้าราชการ คนที่นี่จึงเดือดดาลนัก

เดือนพฤษภาคม ภายหลังฤดูหมอกควันผ่านพ้น เราสามารถมองเห็นทั้งสีเขียวของผืนป่าและสีทองอร่ามของพระธาตุบนดอยสุเทพอย่างแจ่มชัดอีกครั้ง ผมได้มีโอกาสร่วมสังเกตการณ์ในเวทีรับฟังความเห็นภาคประชาชนของคณะทำงานผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO (พื้นที่ดอยสุเทพเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่คณะกรรมการฯ เลือกเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ร่วมกับย่านสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่)

หากจะกล่าวว่าเป็น ‘เวที’ ก็คงไม่ถูก เพราะการประชุมครั้งนี้คณะทำงานชวนชาวเชียงใหม่ร่วมเดินระยะสั้นขึ้นดอยสุเทพผ่านเส้นทางเดินเท้าของคนล้านนาแต่เดิม จากวัดฝายหิน ด้านหลังคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่วัดผาลาด พร้อมกับรับฟังคุณค่าของพื้นที่จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และความยั่งยืน

โดยหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่เดินไปกับเราในเช้าวันนั้นคือ จุลพร นันทพานิช

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

สุเทพ สีเขียว

อาจารย์จุลพรเริ่มต้นการเดินเท้าโดยบอกว่าเราไม่อาจมองธรรมชาติให้แยกขาดจากวัฒนธรรมและศิลปะได้เลย

 “ถ้าคุณไม่เข้าใจธรรมชาติ คุณก็ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาได้ ถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติ ก็ไม่มีทางสร้างงานออกแบบและศิลปะได้เช่นกัน ”

  จุลพร นันทพานิช คืออาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากหนึ่งบทบาทที่หลายคนรู้จักเขาดี คือสถาปนิกเบอร์ต้นที่ทำงานออกแบบที่สอดรับไปกับความยั่งยืนของวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เขาเป็นสถาปนิกที่สนใจในวัฒนธรรมพื้นถิ่นเท่าๆ กับการเป็นนักเดินป่า หรือนักเรียนผู้นั่งแถวหน้าในคลาสเรียนธรรมชาติ และแน่นอน เมื่อพูดถึงการปลูกต้นไม้พื้นถิ่น หลายคนเลือกที่จะมาปรึกษาเขา

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

สำหรับคนเชียงใหม่ พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เปรียบเสมือน ‘สวนหลังบ้าน’ เป็นสวนที่รวบรวมเอาป่าที่ต่างรูปแบบ 4 ชนิด และพันธุ์ไม้ที่พบได้จากทุกมุมเมืองเชียงใหม่เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งการเดินสำรวจดอยสุเทพในแง่มุมของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่นและคุณค่าอันเป็นสากลโลก น้อยคนจะอธิบายได้ดีเท่าสถาปนิกที่ชอบเดินป่าผู้นี้

“เรามักมองดอยสุเทพเชื่อมโยงไปกับพญามังรายที่ก่อตั้งเมือง (พญามังรายเลือกดอยสุเทพเป็นหนึ่งในชัยมงคล 7 ประการ หรือพื้นที่ชัยภูมิสำคัญในการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1835) แต่ดอยสุเทพมีบทบาทเชื่อมโยงกับผู้คนมาก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว หากมองกันตรงภูมิศาสตร์ เทือกเขาของดอยสุเทพและดอยปุยเป็นตอนหนึ่งของเส้นทางเดินเท้าไปถึงรัฐฉานได้ เมื่อก่อนไม่มีถนน คนโบราณในยุคก่อนอาณาจักรหริภุญชัยเขาก็เดินลัดสันเขามาเรื่อยๆ อย่างคนจากรัฐฉานเขาก็เดินเลาะมาจากพื้นที่ที่ตอนนี้เป็นอำเภอปาย มาถึงดอยสุเทพเพื่อขนเกลือกลับไป” อาจารย์จุลพรกล่าว

“อย่างชื่อดอยปุย หลายคนคิดว่ามาจากชื่อของต้นปุยหรือต้นกระโดน แต่พอมาพิจารณากันแล้ว ดอยปุยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,600 กว่าเมตร มันไม่ใช่ที่อยู่ของต้นกระโดน ทีนี้ลองมาดูในภาษาลัวะ ภาษาของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่นี้ก่อนอาณาจักรล้านนา คำว่า ปุย ในภาษาลัวะมันแปลว่า ผู้คน ภูเขาที่เรากำลังเดินขึ้นอยู่นี่มันไม่ใช่พื้นที่ธรรมชาติที่ตั้งอยู่โดดๆ แต่มันเชื่อมโยงกับผู้คนมาเป็นพันปี”

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ดอยสุเทพแต่เดิมชื่อ ‘ดอยอ้อยช้าง’ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นจุดแวะพักสำหรับพลช้าง เนื่องจากเป็นป่าที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์และมีพืชพันธุ์ที่เป็นอาหารของช้าง (อาทิ อ้อย) ส่วนชื่อ ‘สุเทพ’ มาทีหลัง โดยตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า พระฤาษีวาสุเทพผู้อัญเชิญพระนางจามเทวีมาปกครองอาณาจักรหริภุญชัย เคยมาบำเพ็ญพรตอยู่บนยอดดอยแห่งนี้ ดอยสุเทพอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการภายหลังที่พญามังรายทรงย้ายเมืองหลวงจากเวียงกุมกามที่ประสบภาวะอุทกภัยบ่อยครั้ง มาตั้งเมืองยังที่ราบฝั่งทิศตะวันออกของดอยสุเทพ นั่นคือที่มาของเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา หรือเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ข้างต้นคือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ผมจำขึ้นใจ เสิร์ชกูเกิลไม่กี่อึดใจก็เจอ หากระหว่างที่เราเริ่มออกเดินจากวัดฝายหินเลาะถนนที่ปูพื้นคอนกรีตผ่านทางเข้าด้านหลังของสวนสัตว์เชียงใหม่ ไต่ภูเขาหนีทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ที่แผ่กว้างอยู่เบื้องหลังออกไปเรื่อยๆ อาจารย์จุลพรก็เริ่มเล่าเรื่องดอยสุเทพในข้อมูลที่ลึกลงไป พร้อมไปกับการชี้ชวนให้ดูพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่สร้างร่มเงาให้เส้นทางโดยรอบ

“ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการให้เจมส์ แมคคาร์ธี (James McCarthy) มาสำรวจภูมิประเทศเพื่อเขียนแผนที่แบบตะวันตก แมคคาร์ธีก็ใช้ดอยสุเทพและดอยปุยเป็นแลนด์มาร์กเชื่อมกับดอยหลวงเชียงดาว และดอยผ้าห่มปก กำหนดขอบเขตแดนทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งในตอนนั้นแมคคาร์ธีก็ทำให้คนรุ่นต่อมาเข้าใจถึงเส้นทางน้ำและระบบการจัดการน้ำจากดอยสุเทพไหลลาดสู่พื้นที่กักเก็บในตัวเมืองเชียงใหม่ทางทิศตะวันออก มันเป็นระบบเดียวกันกับตระพังน้ำของอาณาจักรสุโขทัย เป็นระบบที่ยั่งยืนทีเดียว”

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ไม่เพียงแต่การจัดการน้ำธรรมชาติ หากการสำรวจภูมิประเทศของแมคคาร์ธียังจุดประกายให้เกิดการสำรวจพันธุ์พืชบนผืนป่าแห่งนี้อย่างจริงจัง เพื่อจะพบถึงความอุดมสมบูรณ์ในระดับที่อาจารย์จุลพรเคลมว่า ‘ลำพังแค่ผืนป่า ดอยสุเทพและปุยมีความหลากหลายของพันธุ์พืชมากกว่าเกาะอังกฤษทั้งเกาะเสียอีก’

“คนล้านนากินป่าเป็นอาหารมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะพื้นที่บนดอยสุเทพที่อยู่ใกล้เมืองที่สุด เราเสาะหาเห็ดมาประกอบอาหาร พืชผักต่างๆ หรือต้นไม้ที่เราใช้ปลูกเรือน หรือสร้างสิ่งของ ซึ่งแต่เดิมคนล้านนากินป่าเป็น เขาใช้พื้นที่ป่าอย่างรู้คุณค่า มีการหยิบความเชื่อเรื่องผีสางมาใช้ผ่านพิธีกรรมร่วมกับการอนุรักษ์ พอคิดถึงประเด็นนี้ก็น่าเศร้าเหมือนกัน คือนอกจากคนสมัยนี้กินป่าไม่เป็นแล้ว ยังมองดอยสุเทพในมิติที่ตื้นเขิน อย่างที่หน่วยงานราชการบางหน่วยรื้อป่าไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวอีก”

อาจารย์จุลพรชี้ให้เราแหงนขึ้นไปดูต้นเต็ง ไม้ตระกูลยางที่ยืนต้นสูงชะลูดเหนือขึ้นไปนับสิบเมตร ก่อนจะบอกว่านี่คือต้นไม้ที่คนล้านนาเรียกว่า ‘ไม้แงะ’ แต่เดิมจะถูกใช้เป็นเสาหรือขื่อบ้าน เช่นเดียวกับต้นรัง (คนล้านนาเรียกว่า ‘ไม้เปา’) ที่รูปร่างใกล้เคียงกัน นอกจากลำต้นที่ใช้สำหรับการก่อสร้าง ชันยางจากต้นรังยังใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ สำหรับยาแนวเรือและเครื่องจักสานต่างๆ ด้วย

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ต้นเต็งกับต้นรังคือที่มาของชื่อป่าเต็งรัง ป่าที่กระจายตัวอยู่บริเวณเชิงเขาดอยสุเทพ (ระดับความสูง 330 – 850 เมตร) ก่อนที่จะเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา บนชั้นต่อๆ ไปของภูเขา ป่าเต็งรังแห่งนี้คือป่าที่คนโบราณนำทรัพยากรมาสร้างอาณาจักร เพราะนอกจากไม้ 2 ชนิดที่กล่าวไป ไม้ตึง (ยางพลวง) และไม้เหียง (ยางเหียง) ที่อยู่ในพื้นที่ ก็ยังเป็นส่วนประกอบของเรือนที่สำคัญ เช่น การนำไม้เหียงที่มีความบางไปทำเป็นแป้นเกล็ดหลังคา หรือใบจากไม้ตึง (ใบตองตึง) ก็สามารถนำมามุงหลังคาและใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้อีก

  “ประดู่ป่าเป็นพืชวงศ์ถั่ว ออกดอกสีเหลืองสวยเลยล่ะ นอกจากเป็นสมุนไพรแล้ว คนโบราณมักจะถากเปลือกของลำต้นบางๆ เอามาเป็นสีย้อมผ้า แต่คนสมัยนี้นิยมปลูกประดู่บ้านกัน ทั้งๆ ที่ประดู่บ้านมันไม่ใช่พืชท้องถิ่น แถมปลวกยังกินเร็วมากอีก ไม้เหียงนี่ก็เหมาะกว่าการปลูกหูกระจงในเขตบ้าน ต้นมะมื่อ (มะพอก-ผู้เขียน) ปล่อยไอเย็นสูง ปลูกใกล้บ้าน ก็ทำให้บ้านเย็น

“ต้นคำมอกหลวงให้ดอกสวย ส่งกลิ่นหอม คนมักเด็ดดอกไปถวายพระ ส่วนปลียอดของมันเมื่อก่อนก็ถูกนำมาใช้เป็นด้ามมีดได้อีก ในยุคหนึ่งเคยมีความคิดว่าการปลูกพืชท้องถิ่นไว้บริเวณบ้านเป็นพวกคนบ้านนอก ต้องปลูกไม้นอกสิ ซึ่งผมมองว่านี่เป็นทัศนคติที่ผิด คนเมืองต้องปลูกไม้ท้องถิ่นแหละถูกแล้ว เท่กว่าเป็นไหนๆ เพราะมันให้ประโยชน์กับสภาพของพื้นที่จริงๆ สอดคล้องกับวิถีชีวิต ทั้งยังเสริมทัศนียภาพเมืองอีก”

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ลำพังแค่เดินเท้าออกมาไม่ถึง 200 เมตรจากวัดฝายหิน อาจารย์จุลพรก็ชี้ให้มองพันธุ์ไม้ที่ต่างกันนับสิบต้น และร่ายถึงคุณประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนบนที่ราบในแบบที่จดจำกันไม่หวาดไหว ทั้งยังรวมถึงความนิยมยึดพันธุ์ไม้พื้นเมืองเป็นแลนด์มาร์ก สำหรับการตั้งชื่อหมู่บ้านต่างๆ ของภาคเหนือ อาทิ บ้านป่าแงะ (อำเภอแม่ริม) บ้านต้นดู่ (อำเภอสันกำแพง และในเชียงรายยังมีตำบล ‘บ้านดู่’) บ้านต้นเปา (สันกำแพง) วัดป่าแดง (หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เป็นต้น

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

“เราอยู่ในโลกสมัยใหม่ที่ทุกอย่างมันมีพร้อมจนลืมไปแล้วว่าต้นไม้มันมีคุณค่าผูกโยงกับวิถีชีวิตและความเชื่อมนุษย์มากไปกว่าแค่ให้ร่มเงาและอากาศ สังเกตไหมว่าทำไมเมล็ดต้นยางถึงมีปีกข้างบนเหมือนใบพัดเฮลิคอปเตอร์ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะต้นยางแต่ละต้นเนี่ยมันสูงเป็นสิบๆ เมตร ถ้าเมล็ดมันไม่มีใบ มันก็จะไม่ต้านลมและตกลงมาแตกหมด ธรรมชาติจึงออกแบบใบพัดให้เมล็ดมันปลิวตกลงมาไม่บอบช้ำ เพื่อการขยายพันธุ์

“มนุษย์เราหยิบธรรมชาติมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบและศิลปะ ไม่เฉพาะรูปทรงเส้นสาย แต่ยังรวมไปถึงวิถีธรรมชาติที่เป็นอยู่และได้รับการออกแบบมา ผมถึงบอกไงว่าเราไม่อาจมองธรรมชาติแยกออกจากวัฒนธรรมและศิลปะได้เลย และนี่คือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมผืนป่าใกล้บ้านเรามากๆ จนหลายคนมองข้ามอย่างดอยสุเทพถึงสำคัญ”

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

สุเทพ สีเหลือง

ถนนคอนกรีตที่ลาดเอียงและเรียกพลังงานจากเราไม่น้อยมาสิ้นสุดยังศูนย์ข้อมูลเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ‘ผาลาด’ จากตรงนั้นทางเดินแคบเข้าผืนป่าที่เคยโปร่งและเปิดเส้นทางให้รถยังพอวิ่งผ่านได้แปรสภาพเป็นอุโมงค์ป่าอันรกครึ้มบนเส้นทางดินรังปนไปกับหินกรวดและเศษใบไม้ที่อนุญาตให้มนุษย์ได้ก้าวเท้าต่อแถวกันเข้าไปอย่างอ่อนน้อมและทีละคน

นี่คือจุดเริ่มต้นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผาลาด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยสุเทพ โดยเราต้องเดินเท้าไต่ขึ้นไปบนทางดินต่ออีกเกือบ 2 กิโลเมตรเพื่อไปยังวัดผาลาด

เสียงน้ำตกแว่วดังมาแต่ไกลคลอไปกับเสียงแมลงที่ซ่อนอยู่ตามหลืบไม้ ซึ่งสุมทุมหนาเสียจนเรามองเห็นได้ชัดว่าจุดไหนที่แสงแดดจะสามารถลอดตกลงพื้นบ้าง คณะเราเริ่มเดินสวนกับกลุ่มคนที่แต่งชุดทะมัดทะแมงที่ต่างมาวิ่งเทรลออกกำลังกายเป็นระยะ ในป่าเต็งรังรอยต่อสู่ป่าเบญจพรรณบนพื้นที่สูงขึ้นไป ผมเริ่มสังเกตเห็นต้นไม้ใหญ่รายทางหลายต้นซึ่งมีจีวร (ที่มีทั้งสีเหลืองซีดและเหลืองสด) ผูกไว้

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

พระครูธีรสุตพจน์ เจ้าอาวาสวัดผาลาด หนึ่งในมัคคุเทศก์รับเชิญของเราวันนี้ เล่าให้ฟังว่านี่คือสิ่งที่ญาติโยมเรียกว่า ‘การบวชป่า’ กุศโลบายในการอนุรักษ์ต้นไม้โดยยึดโยงความเชื่อทางพุทธศาสนา

“ต้นไม้มีชีวิต เราเอาจีวรไปนุ่งห่มและประกอบพิธีกรรมก็คล้ายกับการบวชพระ ทีนี้ใครก็ไม่กล้ามาตัดท่านไป” พระครูอธิบายแนวคิดของผู้คนที่เอาจีวรมาผูก กระนั้นในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยแห่งนี้ การตัดต้นไม้ก็ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอยู่แล้ว จีวรนี้จึงถูกใช้ประหนึ่งสัญลักษณ์ของเส้นทางศักดิ์สิทธิ์แต่โบราณ และเป็นเครื่องสร้างบรรยากาศให้กับผู้ที่เดินผ่านไปมาเคารพและสำรวมต่อธรรมชาติ

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ก่อนที่ถนนศรีวิชัยซึ่งตัดเชื่อมถนนห้วยแก้ว (หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่) สู่ยอดดอยสุเทพ จะสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2478 ทางเดินเท้าที่พระครูธีสุตพจน์กำลังนำทางเราอยู่นี้คือเส้นทางหลักที่คนเชียงใหม่ใช้สัญจรเพื่อขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ

“ไม่ใช่แค่ทางสัญจรหลักของผู้คนในสมัยก่อนเท่านั้น แต่ถ้าย้อนไปหกร้อยกว่าปีก่อน นี่คือเส้นทางอันเป็นที่มาของวัดพระธาตุดอยสุเทพ” พระครูเล่า

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 1929 ในรัชสมัยพญากือนา กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 6 ผู้มุ่งหมายจะให้พุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาแผ่รกรากเป็นศาสนาประจำอาณาจักร พระองค์ได้อาราธนาพระสุมนเถระมาจากกรุงสุโขทัย โดยพระสงฆ์รูปนี้ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย 2 องค์ พญากือนาทรงบรรจุพระบรมธาตุองค์หนึ่งไว้ในเจดีย์วัดสวนดอก ขณะที่สถานที่ของพระบรมธาตุองค์ที่ 2 พระองค์ได้ทรงบรรจุไว้บนหลังช้างเผือกมงคล และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมันในการเสี่ยงทายเลือกสถานที่ กล่าวคือเมื่อช้างอัญเชิญพระธาตุไปหยุดยังจุดไหน ก็ให้สร้างเจดีย์ประดิษฐานที่นั่น

“ช้างมงคลได้อัญเชิญพระบรมธาตุจากเมืองมุ่งตรงมายังทิศตะวันตกผ่านเส้นทางนี้ จุดแรกที่ช้างแวะพักคือพื้นที่ที่เคยเป็นวัดสามยอบ ซึ่งชื่อสามยอบก็มาจากการที่ช้างย่อตัวลงไปคล้ายกับการคำนับ 3 ครั้ง ทีแรกคนที่ตามช้างมาด้วยก็คิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่จะประดิษฐานพระธาตุ แต่สักพักช้างก็เดินต่อ”

พระครูชี้ชวนให้เราดูฐานศิลาแลงและเศษปูนปั้นสลักลวดลายที่ถูกกลืนไปกับผืนดินและผืนป่า พร้อมระบุว่าซากโบราณสถานนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดดังกล่าว สันนิษฐานกันว่าวัดแห่งนี้เคยเป็นจุดแวะพักสำคัญของผู้คนที่จะเดินเท้าขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุ และเป็น 1 ใน 4 วัดเก่าแก่ซึ่งพญากือนาทรงดำริให้สร้างไว้เนื่องจากช้างเผือกมงคลมาแวะพัก (หลังจากวัดสามยอบ ช้างก็มาหยุดยังพื้นที่ที่เป็นวัดผาลาดในปัจจุบัน ก่อนจะแวะพักที่ม่อนพญาหงส์ หรือวัดอนาคามีวนาราม และมาหยุดลงโดยสมบูรณ์พร้อมสิ้นใจยังบริเวณที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ)

หากสังเกตจากชื่ออีกชื่อของวัดสามยอบคือ ‘วัดโสดาปันนาราม’ และนามอีกชื่อของวัดผาลาดและวัดม่อนพญาหงส์ที่อยู่สูงขึ้นคือ ‘สกทาคามีวนาราม’ และ ‘อนาคามีวนาราม’ ญาติโยมคงพอมองออกว่านี่คือเครือข่ายวัดที่ถูกออกแบบให้เป็นประหนึ่งลำดับขั้นของการสำเร็จมรรคผลทางพุทธศาสนา ก่อนที่จะไปสุดสิ้นยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ อันเปรียบเสมือนการบรรลุอรหันต์

แนวคิดเรื่องการเดินเท้าขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพเสมือนการบรรลุธรรม สืบต่อมาตั้งแต่สมัยพญากือนา จนภายหลังเกิดเป็นประเพณีเดินเท้าขึ้นดอยสุเทพในค่ำคืนก่อนวันวิสาขบูชาของทุกปี ซึ่งในยุคต่อมาครูบาศรีวิชัยได้เห็นความสำคัญของประเพณี และปรารถนาจะให้ชาวเชียงใหม่สามารถขึ้นไปสักการะพระธาตุโดยสะดวก จึงเริ่มมีการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ (ที่ต่อมาได้รับการตั้งชื่อว่าถนนศรีวิชัย) โดยอาศัยกำลังศรัทธาและทุนจากญาติโยมชาวเชียงใหม่อย่างไม่พึ่งพางบประมาณจากภาครัฐสักแดงเดียว นี่คือถนนที่เปิดให้รถวิ่งขึ้นดอยสุเทพสายแรกและสายเดียว และกลายมาเป็นเส้นทางขึ้นดอยสุเทพสายหลักในปัจจุบัน

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

“ครูบาศรีวิชัยยังนำแนวคิดของการบรรลุธรรมมาใช้ โดยท่านได้สร้างวัดศรีโสดาซึ่งเป็นวัดในขั้นโสดาปันนารามแทนวัดสามยอบที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางใหม่ พร้อมกับบูรณะวัดผาลาด และวัดม่อนพญาหงส์ (ปัจจุบันเป็นวัดร้างอีกแห่งไปแล้ว โดยอยู่ตรงข้ามหอดูดาวสิรินธร-ผู้เขียน)” พระครูกล่าว

กระนั้นแม้จะมีการตัดถนนสายใหม่ ชาวเชียงใหม่หลายคน (ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นคนเฒ่าคนแก่ไปหมดแล้ว) ก็ยังคงเลือกเส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักในประเพณีเดินเท้าขึ้นดอยสุเทพ ค่าที่ว่านี่เป็นเส้นทางที่ย่นย่อระยะทางช่วงต้นได้พอสมควร และวัดผาลาดที่เรากำลังจะเดินเท้าไปถึงยังเป็นจุดเชื่อมระหว่างทางเดินเท้าสายเก่าและทางถนนสายใหม่ในปัจจุบัน

ครับ, หลังจากที่เราเดินจากวัดสามยอบไปตามรอยเท้าโบราณของช้างมงคลผ่านธารน้ำตกน้อย ฝายขนาดเล็ก ดงไม้ไผ่หนาทึบ และแนวสันเขาที่เมื่อหันหลังไปจะเห็นทิวทัศน์ของเมืองเชียงใหม่กว้างไกลสุดสายตา เราก็เดินมาถึงแหล่งกำเนิดเสียงน้ำตกที่แว่วให้เราพอได้รู้สึกชุ่มเย็นตลอดการเดินทางช่วงท้าย นั่นคือธารน้ำที่ไหลลงมาจากเบื้องบนของภูเขา ก่อนจะชะลอตัวบนแอ่งขนาดใหญ่บนหน้าผาที่ลาดลงไปตามแนวเขา พ้นไปจากหน้าผานั้น ผมก็พบสิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรมล้านนาตั้งตระหง่านอยู่บนสันเขา และเราก็มาถึงวัดผาลาด

ระหว่างเดินผ่านสะพานข้ามน้ำตก พระครูเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวัดแห่งนี้เรื่องหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ ท่านถามเราว่าวัดที่เห็นอยู่เบื้องหน้า คิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด

โบราณสถาน วิหาร อาราม พระพุทธรูป เจ้าอาวาส ฯลฯ คณะที่เดินมาด้วยกันต่างไล่เรียงคำตอบ

“ไม่ใช่เลย นั่นคือสิ่งปลูกสร้างที่วัดไหนๆ ก็มีทั้งนั้น” เจ้าอาวาสตอบ “ทีนี้โยมลองหลับตา”

แน่นอน, พอผมหลับตา ความมืดก็ปรากฏ

แต่นั่นล่ะ มันทำให้ผมได้ยินเสียงของน้ำที่เคลื่อนไหลลงสู่เบื้องล่างได้ชัดแจ้ง

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

สุเทพ สีใส

“สมัยก่อนเราไม่มีปั๊มน้ำ คนเชียงใหม่ที่ตั้งเมืองห่างจากแม่น้ำปิงหลายกิโลเมตรเขาไม่ได้ใช้น้ำ    จากน้ำปิง คนโบราณใช้น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคม ส่วนน้ำที่ดื่มที่ใช้กันทั้งหมดมาจากดอยสุเทพ” อาจารย์จุลพรกล่าว

เช่นเดียวกับที่พระครูธีรสุตพจน์ย้ำให้เห็นขณะเรามองไปยังธารน้ำใสที่ไหลผ่านหน้าผา ธารที่ไหลมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเบื้องบนหล่อเลี้ยงผู้คนที่อยู่บนที่ราบ นับตั้งแต่ชาวลัวะที่มาอาศัยอยู่แต่เดิม และการมาถึงชาวไทเชื้อสายต่างๆ ในอาณาจักรล้านนา แม้จะเคยร้างไร้ผู้คนมากว่า 200 ปีระหว่างที่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่เชียงใหม่ก็กลับมาฟื้นคืนชีวิตและกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่รุ่งเรืองอีกครั้ง อันมีปัจจัยสำคัญมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติแหล่งเดิม

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ชาญฉลาดของพระญามังราย (หลังจากมีบทเรียนจากการตั้งเมืองที่น้ำท่วมถึงบ่อยๆ อย่างเวียงกุมกาม) การเลือกชัยภูมิที่มีความลาดเทจากดอยสุเทพทางทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของเมือง มีแม่น้ำไหลจากภูเขาลงมาใกล้เมืองถึง 2 สาย ได้แก่ ลำน้ำห้วยแก้วและลำน้ำแม่ข่า มีหนองบึงขนาดใหญ่ไว้กักเก็บน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (นั่นคือ ‘หนองบัว’ ซึ่งน่าเศร้าที่ปัจจุบันถูกถมไปแล้ว) และมีแหล่งระบายน้ำขนาดใหญ่อย่างแม่น้ำปิงอยู่ทางทิศตะวันออก

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

เมื่อ ‘ของ’ มาเต็มตั้งแต่ต้นยันปลายขนาดนี้ ที่เหลือก็แค่สร้างเส้นทางระบายน้ำ และขุดคูคลองรอบกำแพงเมืองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ เท่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เมืองจะมีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนมาขนาดนี้  

ห้วยผาลาดในเขตวัดผาลาดคือหนึ่งในสิบกว่าห้วยต้นน้ำที่ไหลลงมาหล่อเลี้ยงเมือง โดยห้วยที่คนเชียงใหม่รู้จักกันดี เพราะเป็นแหล่งน้ำที่แต่เดิมใช้ต่อตรงเข้าเมืองมามากที่สุดคือ ‘ห้วยแก้ว’ ครับ, คือชื่อเดียวกับถนนที่เชื่อมจากเชิงดอยสุเทพเข้าสู่สี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ทางแจ่งหัวริน ซึ่งก่อนจะมีถนน บ้านเรือน และศูนย์การค้า พลุกพล่านเช่นทุกวันนี้ คนเชียงใหม่ (ที่ต่อรางรินรองน้ำจากน้ำตกเข้ามาผันใช้ในคูเมือง) ยังสามารถได้ยินเสียงดังก้องของน้ำตกแม้จะอยู่ห่างออกมาหลายกิโลเมตร

“ถ้าไปถามคนเฒ่าคนแก่อายุหกสิบเจ็ดสิบขึ้นไป เขาจะบอกได้เลยว่าเมื่อก่อนยังได้ยินเสียงน้ำตกตีนดอยสุเทพดังมาถึงในเมือง เขาเชื่อกันว่ายิ่งได้ยินดังเท่าไหร่แสดงว่าปีนั้นน้ำท่าอุดมสมบูรณ์มากเท่านั้น ในทางกลับกันถ้าไม่ได้ยินเลย นั่นก็แปลว่าปีแล้งหนัก เป็นลางไม่ดี” พระครูกล่าว

การเชื่อมโยงภูมิปัญญาด้านการจัดการน้ำจากพื้นที่ดอยสุเทพเข้ากับมรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งแนวคิดในการสร้างผังเมืองเชียงใหม่ที่ผ่านมาเจ็ดร้อยกว่าปีก็ยังคงไม่ล้าสมัย เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลกยกมาเป็นเหตุผลอ้างอิง ‘คุณค่าอันเป็นสากล’ (Outstanding Universal Value หรือ OUV) เพื่อเสนอคณะกรรมการยูเนสโกขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก

รศ.ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก กล่าวเปิดในวงเสวนากลางลานวัดริมธารน้ำตกผาลาด อันเป็นจุดหมายของเราวันนี้

“เวลาเราพูดถึงเชียงใหม่กับเมืองมรดกโลก หลายคนคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะเมืองสมัยใหม่มันเติบโตจนกลบทับโบราณสถานเดิมไปหมด ซึ่งนั่นเป็นเรื่องจริง แต่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะทำงานต้องเร่งผลักดันให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลกให้ได้ เพราะนี่คือเครื่องมือสำคัญที่กระตุ้นให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเจ้าของพื้นที่ให้ร่วมกันอนุรักษ์คุณค่าที่เมืองของเรายังคงหลงเหลืออยู่”

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

เช่นเรื่องเล่าจำนวนนับไม่ถ้วนที่เราได้ฟังระหว่างทางเดินเท้าระยะสั้นขึ้นดอยสุเทพ ในมุมมองของอาจารย์วรลัญจก์ เมืองเชียงใหม่ยังคงมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาหลายร้อยปีและยังคงมีลมหายใจอยู่ เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่กาลเวลาไม่อาจพรากไปไหน

ปัจจุบันเมืองเชียงใหม่ได้เข้าไปอยู่ใน Tentative List หรือบัญชีรายชื่อที่รอการพิจารณาจากยูเนสโกแล้ว โดยล่าสุดคณะทำงานได้เตรียมเสนอคุณค่า OUV ของเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ดอยสุเทพ ไปพร้อมกับการร่างแผนการบริหารจัดการพื้นที่ หรือ Management Plan (แน่ล่ะ คงจะเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์มาก หากสถานที่ใดได้รับการยกระดับเป็นมรดกของผู้คนทั้งโลก แต่กลับไม่มีการจัดการมารองรับ กระบวนการนี้จึงสำคัญไม่แพ้การประมวลคุณค่า)

ทั้งนี้หนึ่งในวิธีการออกแบบ Management Plan คือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และให้ภาคประชาชนมีส่วนในการออกแบบแผน เพราะการประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นมรดกโลก ไม่ใช่การกันคนออกจากพื้นที่ หากเป็นการอยู่ร่วมกันในพื้นที่อย่างยั่งยืน

“การอนุรักษ์เริ่มต้นได้จากการเข้าใจในคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ซึ่งถ้าเราเข้าใจในคุณค่าจริงๆ เราจะไม่มีทางอนุรักษ์ด้วยการแช่แข็งสิ่งนั้นเอาไว้ แต่ในทางกลับกันเราจะหาแนวทางในการร่วมกันพัฒนาให้คุณค่ายังคงดำรงอยู่ในวิถีร่วมสมัย

เป็นข้อได้เปรียบของเราที่ว่าคนเชียงใหม่ส่วนมากต่างตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่เมืองเรามีอยู่แล้ว ที่เหลือก็แค่การกำหนดขอบเขตพื้นที่มรดกโลกและพื้นที่กันชนให้แน่ชัด และสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ถึงข้อดีของการได้เป็นมรดกโลก” อาจารย์วรลัญจก์กล่าว

ท่ามกลางเสียงน้ำตกที่ไหลรินลงจากป่าบนดอยสู่พื้นที่ราบในเมืองเชียงใหม่ วงเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างคณะทำงาน นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และประชาชนผู้สนใจ ก็ได้ขับเคลื่อนไปจากตอนสายถึงบ่าย บทสนทนาที่ว่าด้วยคุณค่าอายุกว่าพันปีและแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างอนุรักษ์พื้นที่อันเป็นส่วนหนึ่งของต้นกำเนิดคุณค่าที่ว่านี้

วงสนทนาที่หากใครสักคนเริ่มเมื่อยก็แค่ลุกขึ้นมาพักอิริยาบถด้วยการเดินไปที่น้ำตก และมองลงไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ลิบตา

ภูเขาของคนเชียงใหม่ ป่าต้นน้ำของคนเชียงใหม่ ทิวทัศน์ของคนเชียงใหม่ พื้นที่ที่วันข้างหน้ามันอาจจะเป็นมรดกของคนทั้งโลก คงจะมีแต่คนบ้าอำนาจอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือไม่ก็เห็นแก่ตัวอย่างหน้าด้านๆ เท่านั้น, ที่คิดจะเอาสมบัติเหล่านี้ ไปรื้อถาง เพื่อปลูกบ้านให้พวกพ้องพักอาศัย

ตาม อ.จุลพร นันทพานิช ขึ้นดอยสุเทพเรียนรู้หลากวิชาก่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

หมายเหตุ: ในวงเสวนานี้ยังได้รับเกียรติจากอาจารย์ภูเดช แสนสา และ อาจารย์สิทธิ วิจจา นักวิชาการด้านสังคมล้านนา จากสถาบันล้านนาคดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมพูดคุยถึงการเปลี่ยนผ่านจากศาสนาผีสู่ศาสนาพุทธของผู้คนที่อยู่บริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพ รวมทั้งตัวแทนจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยมาพูดถึงขอบเขตและแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ ผู้เขียนขออภัยที่ไม่สามารถนำมาเล่าได้หมด และขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะทำงานผลักดันเชียงใหม่สู่มรดกโลกได้ที่ Chiang Mai World Heritage – Initiative Project

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

ประกอบอาชีพรับจ้างทำหนังสือ แปลหนังสือ และผลิตสื่อ ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีงานอดิเรกคือเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ