จากบทสนทนาของ ทายาทรุ่นสาม The Cloud กลับมายืนอยู่หน้าประตูบานเลื่อนสีเขียวอีกครั้งด้วยบทสนทนาต่างจากเดิม เรานัดหมายกับ เก๋-บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ เจ้าของกิจการกระเป๋าหนังทำมือแบรนด์ ‘๓๑ ธันวา’ ที่ครองใจผู้หญิงทุกอาชีพมากว่า 6 ปี

เก๋ บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์, ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

ครอบครัวของเก๋ทำรองเท้าหนังแฮนด์เมดมาตั้งแต่รุ่นอากงล่องเรือมาจากเมืองจีน บ้านของเธอเป็นแหล่งรวมช่างฝีมือในการทำรองเท้า และเธอชอบกระเป๋า เก๋ลงเอยด้วยการทำแบรนด์กระเป๋าโดยช่างทำรองเท้า อ่านไม่ผิด กระเป๋าทุกใบทำโดยช่างทำรองเท้าประสบการณ์กว่าค่อนชีวิต

“เราบอกคนอื่นเสมอว่า เราเป็นช่างทำรองเท้าที่มาทำกระเป๋า” นี่แหละ! จุดเด่นของแบรนด์

วันดีคืนดีเธอได้รับสายตรงจาก อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี รุ่นพี่จากโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ผู้มองเห็นแววของแบรนด์ที่ต่างกันสุดขั้วกับความพอแล้วดี จึงชักชวนเก๋มาร่วมโครงการด้วยกัน

“เรายังจำคำแรก และยังจำได้จนทุกวันนี้ วันที่นำเสนอและแนะนำแบรนด์ตัวเองหน้าห้อง เราเป็นแบรนด์เดียวที่ พี่หนุ่ย (ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้ก่อตั้งโครงการ) พูดกับเราน้อยที่สุด พี่หนุ่ยพูดกับเราคำเดียวสั้นๆ ว่า ‘พี่ไม่เห็นว่าแบรนด์เก๋จะพอแล้วดียังไงเลย’”

แบรนด์ ๓๑ ธันวา ถูกตั้งคำถามจากทุกคนตั้งแต่วันแรกของการเข้าร่วมโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญของเธอ และเหล่าเทรนเนอร์ว่าจะทำให้ภาพลักษณ์สาวเฟียร์ซริมฝีปากสีแดงสด สวมสูทสีดำพอดีตัวกับหมวกปีกกว้างสีเดียวกัน แถมยังสะพายกระเป๋าหนังลวดลายสะดุดตาราคาเป็นหมื่น แต่กลับมาพอแล้วดีด้วยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างไร ไปติดตามเรื่องราวเก๋เก๋ของเก๋ว่าเธอจะพาแบรนด์ไปสู่ความพอแล้วดีได้เก๋ขนาดไหน

๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

01

แบรนด์ที่สร้างจากความรัก ชีวิต ช่างฝีมือ และครอบครัว

เก๋เคยใช้ชีวิตแบบไม่เก๋มาก่อน

เธอสนุกสุดเหวี่ยงกับชีวิตจนกระทั่งป่วยหนัก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับปัญหาสุขภาพของคุณพ่อ เก๋จึงกลับมาสำรวจตนเอง และหาสาเหตุอาการเจ็บป่วยของคุณพ่อ

เก๋ บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์, ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

“เราบอกป๊าว่า ไม่เห็นต้องทำงานหนักขนาดนี้เลย ลูก 3 คนโตแล้ว ไม่ต้องเลี้ยงแล้ว ป๊าบอกกับเราว่า ‘สิ่งที่ป๊ากำลังทำอยู่ ป๊าเลี้ยงทุกคนในครอบครัว ครอบครัวของเราคือทุกคนและทุกชีวิตในโรงงาน’

“ที่ผ่านมา ป๊าทำเพื่อคนอื่นตลอด ทำให้เราเริ่มเห็นคุณค่าของชีวิต เราตัดสินใจประกาศกร้าวกับป๊าว่า ป๊าไม่ต้องทำงานแล้ว เดี๋ยวเราจะทำต่อเอง” วินาทีต่อจากนั้นคือจุดเปลี่ยนของเก๋และจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ๓๑ ธันวา

เราเรียนจบสถาปัตย์ฯ ชอบออกแบบ ชอบใช้ความคิดสร้างสรรค์ และกระเป๋าก็เหมือนกับการสร้างโครงสร้าง สร้างสเปซ ออกแบบแพตเทิร์น เราพาตัวตนของเราผนวกเข้ากับองค์ความรู้เรื่องการทำรองเท้า ทำให้เกิดสิ่งใหม่ จนคนประหลาดใจ เห็นความสำคัญขององค์ความรู้ที่ทำให้สร้างสรรค์อะไรได้เยอะแยะมากมาย ที่สำคัญ เรามองว่ากระเป๋าหนึ่งใบบรรจุชีวิตประจำวันของคน เพราะเราใช้ติดตัวตลอด ดังนั้น กระเป๋าจึงเต็มไปด้วยเรื่องราว”

๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

บ้านของเก๋ทำรองเท้ามากว่า 70 ปี เป็นมรดกตกทอดที่มาจากอากง และคงน่าเสียดายหากเธอไม่นำเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอด เก๋จึงหยิบจุดแข็งของครอบครัวเครื่องหนังมาเป็นจุดเด่นของแบรนด์กระเป๋าทำมือ โดยใส่เทคนิคของการทำรองเท้าลงไปในการทำกระเป๋า ตั้งแต่การสร้างแพตเทิร์น การร้อยมือด้วยแรงดึงจากคนแทนเครื่องจักรกล ซึ่งนอกจากความแข็งแรงทนทาน ยังเพิ่มลวดลายสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ให้กับกระเป๋าของ ๓๑ ธันวา

“เราเป็นคนโชคดีที่รู้จักตัวเองชัดมาก รู้จักว่าชอบอะไร แบรนด์เราเป็นอะไร เรารู้จุดด้อยพร้อมๆ กับรู้จุดแข็งของเรา” เก๋ผ่านห่วงแรก-รู้จักประมาณตนฉลุย

02

กระเป๋าใบแรก เริ่มต้นจากห้องเรียนทำรองเท้า

เมื่อโจทย์คือการทำกระเป๋า ก่อนจะชักชวนอาจารย์ช่างฝืมือผู้ทำรองเท้าวัยเก๋ามาลองทำกระเป๋าพร้อมกันดูสักตั้ง เก๋เริ่มจากเรียนทำรองเท้ากับอาจารย์ช่างฝีมือชาวสิงคโปร์ก่อน เพื่อจะนำความรู้เรื่องการเย็บรองเท้าไปต่อยอดกับการทำกระเป๋า

“เราตั้งใจทำกระเป๋าใบแรกมาก เมื่อเสร็จก็เอาไปอวดป๊า แต่ป๊าวางทิ้งลงพื้น ป๊าบอกว่า ‘ถ้าจะเย็บแบบนี้อย่าเย็บเลย และทำแบบนี้ก็อย่าไปทำ เสียเวลา ใครจะไปซื้อ’” เก๋อึ้ง แน่นอนว่าเป็นใครก็ต้องอึ้ง

แต่เก๋เป็นคนสู้ เธอไม่ยอมแพ้ แม้กระเป๋าจะโดนอาป๊าโยนทิ้งลงพื้นบ้าง เละไม่เป็นทรงบ้าง ผ่านไปใบแล้วใบเล่า จนกระเป๋าต้นแบบเดินทางมาถึงใบที่ 30 เก๋บอกกับ อาจารย์น้อย (สมร สีคำ) อาจารย์ใหญ่ของโรงงานที่คอยแนะ คอยสอน และคอยแก้ปัญหา กันมาตั้งแต่กระเป๋าใบแรกจนใบสุดท้ายว่า ถ้าใบนี้ไม่สำเร็จ เธอพร้อมจะถอดใจ

๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

“ตอนที่เราทำกระเป๋าใบนั้นเสร็จและออกมาเป็นอย่างที่เราคิดทุกอย่าง เรารีบวิ่งไปให้ป๊าดู จำได้เลยว่าวันนั้นป๊าดูกระเป๋านานมาก พลิก หมุน แกะ เปิด แล้วป๊าก็พูดออกมาว่า เออ สวยดีนะ” ไม่ใช่แค่เก๋ที่ดีใจ แต่อาจารย์ช่างฝีมือก็ดีใจไปตามๆ กัน ก่อนจะจดทะเบียนแจ้งเกิด ๓๑ ธันวา อย่างเป็นทางการ

“ป๊ากำลังสอนเรา กระเป๋าสามสิบกว่าใบกำลังสอนเรา ให้เข้าใจว่างานฝีมือเป็นงานที่ต้องฝึกฝน ต้องอดทน ต้องพยายาม งานฝีมือเป็นมากกว่าการหาเช้ากินค่ำ หรือการทำเป็น Mass Production แต่คือการใส่ใจลงไปในทุกรายละเอียดในทางกลับกันก็เป็นการสอนช่างฝีมือของเรา ว่าทุกอย่าง…มีเริ่มต้นใหม่” ฉันฟังแล้วก็ยิ้มภูมิใจไปกับเธอ กับองค์ความรู้ในการทำกระเป๋าให้มีคุณภาพ

ความรู้ในการทำธุรกิจก็เช่นกัน เก๋อาจจะคาดเดากลุ่มเป้าหมายผิดพลาดไปบ้าง แต่ประสบการณ์จากโลกความเป็นจริงจะค่อยๆ สอนเธอ

๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

“ตอนแรกเราตั้งกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ว่าจะต้องเป็นดารา นางแบบ หรือคนมีชื่อเสียง แต่ชีวิตจริงไม่ใช่เลย ลูกค้าเราเป็นผู้หญิงวัยทำงาน เป็นหมอ เป็นข้าราชการ เป็นสถาปนิก เป็นพนักงานออฟฟิศ พวกเธอเป็นผู้หญิงธรรมดาทั่วไป แม้ใครจะมองยังไง เราก็ยังเชื่อว่าคนเหล่านี้สมควรแจ้งเกิดในวงการแฟชั่น เพราะพวกเธอรู้จักคุณค่าของตัวเอง ของที่ใช้ และการใช้ชีวิต ทั้งยังเข้าใจความอดทนและความพยามยาม” คงไม่เกินจริงหากเราจะบอกว่า ๓๑ ธันวาเป็นแบรนด์ที่ตอบสนองความเป็นผู้หญิง Working Woman แบบปัจจุบันโดยแท้จริง

เมื่อเก๋เข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้หญิง ๓๑ ธันวา เธอจึงเลือกเปิดหน้าร้านในศูนย์การค้าชั้นนำเพราะเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ แถมยังเป็นสถานที่ที่เข้าถึงง่าย ทำให้ลูกค้าเห็นสินค้าของเธอเพิ่มมากขึ้น

“ลูกค้าเราเป็นผู้หญิง Working Woman วันหนึ่งต้องทำหลายอย่าง สมมติไปธนาคาร ไปเจอเพื่อน ไปซื้อของ เขาคงไม่อยากแวะหลายที่ การเปิดในห้างมันเหมือนวันสต็อปเซอร์วิส เราว่ามันเป็นการเลือก Brand Positioning ที่ดี เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ เขาเข้าใจมูลค่าและคุณค่าของสินค้าของเรา มันก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจะต้องขายให้ห้างหรู”

03

ระบบแฟชั่นที่คิดถึงผู้บริโภคและอยู่เหนือกาลเวลา

เก๋ บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์, ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

“แบรนด์เราสวนกระแสมาตั้งแต่ต้น เราอยากทำแฟชั่นที่อยู่เหนือกาลเวลา ไม่อยากให้งานฝีมือฉาบฉวย ที่ผ่านมา เราอยู่วงการแฟชั่นมา 6 ปี สัมผัสถึงความมาไวไปไว เพราะไม่เคยมีใครเห็นคุณค่าของกันและกัน” เก๋เล่าจุดยืนของแบรนด์ ๓๑ ธันวา

ในระบบแฟชั่นสากล แบรนด์จะออกคอลเลกชันตามฤดูกาล ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูหนาว ขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถทำแบบนั้นได้

“ประเทศไทยมีแค่ฤดูร้อนกับร้อนมาก เราจึงเลือกที่จะคิดถึงผู้บริโภค คิดถึงสภาพที่เราเป็นอยู่จริงๆ” แม้เก๋จะเล่าติดตลก แต่ฉันก็เห็นด้วยทุกประการ

๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

เก๋เลือกจะออกคอลเลกชันเพียงปีละหน และเล่นกับกิมมิกน่ารักอย่างตัวเลข ๓๑ และเดือนที่ลงท้ายด้วยคม เช่น ๓๑ กรกฎาคม หรือแคมเปญของแบรนด์ที่เกี่ยวกับวันแม่ของเดือนสิงหาคม เพราะเทศกาลนั้นเชื่อมความรู้สึกและไม่ทำให้คิดว่ากระเป๋าที่ใช้อยู่ล้าสมัยหรือตกรุ่น

“แบรนด์เราตั้งปณิธานว่าเราจะมีระบบแฟชั่นของเราเอง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ทำร้ายระบบแฟชั่นหรือทำร้ายผู้บริโภค เราให้ความจริงใจกับทุกคน ยกตัวอย่างอาจารย์ช่างฝีมือ เมื่อเราไม่เร่งผลิตกระเป๋าให้เป็นคอลเลกชันตามฤดูกาล เขาก็จะมีสมาธิกับงานมากขึ้น ขณะที่ช่วงเวลาเซลไม่มีอิทธิผลต่อเรา เพราะลูกค้าจะมาหาเราเมื่อเขาต้องการกระเป๋าใบนั้นๆ จริงๆ

“แต่ก่อนเรามีแต่ความโลภ ความไม่พอ บางครั้งออร์เดอร์ยาวเป็นหางว่าว เราทำไม่ทัน ลูกค้าด่าถึงญาติโกโหติกา กลายเป็นว่าเราเสียสัญญากับลูกค้า ช่างฝีมือของเรารู้สึกกดดันเพราะต้องทำล่วงเวลา ไม่มีใครมีความสุขเลย ซึ่งเมื่อเราเจอจุดที่พอของเราได้ การทำธุรกิจทุกวันนี้จึงโคตรมีความสุขเลย

“กระเป๋าทุกใบของเราเป็นแบบสั่งผลิต เพราะเราอยากให้เป็นกระเป๋าของเขาจริงๆ ลูกค้าออกแบบ เปลี่ยนอะไหล่หรือสีของหนังได้ เป็นงานศิลปะ ทำให้จับราคาได้สูงขึ้น แม้ทำในจำนวนน้อยลงแต่ลูกค้ารอได้ กลายเป็นว่าเราเปลี่ยนความเข้าใจของลูกค้าได้ด้วย จึงหมดข้อครหาว่าพอแล้วดีจะต้องยากจน” เก๋เล่าเหตุและผลของการทำสิ่งที่เธอเชื่อ ซึ่งทำให้แผนธุรกิจของ ๓๑ ธันวา แบรนด์กระเป๋าทำมือจากยอดฝีมือ แตกต่างจากแบรนด์สินค้าแฟชั่นทั่วไป

๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

ในอนาคตเธออยากมีสาขาใหญ่เพียงสาขาเดียว แต่ให้บริการแบบครบวงจรทั้งการขาย การดูแลรักษา และจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปจากอาจารย์ช่างฝีมือ หรือร่วมกับเพื่อนพ้องศิลปินทำเครื่องหนังให้เป็นเรื่องสนุก เพื่อให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องหนัง ทั้งยังเข้าใจคุณค่าของงานฝีมือ ที่สำคัญ ยังเป็นการนำคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาเจอกัน

“คำนิยามของแบรนด์เรามันคือ One is Enough หน้าร้านก็เหมือนกัน เราว่าอะไรที่มีแค่หนึ่งเดียวมันเพียงพอแล้ว”

04

หัวใจเป็นภูมิคุ้มกันของกันและกัน

ก่อนเก๋จะเป็นหนึ่งในนักเรียน ‘พอแล้วดี The Creator’ เก๋เคยทำงานอยู่ในวงโคจรของแฟชั่นที่เธอไม่มีความสุข

“บ่อยครั้งมีคนมีชื่อเสียงมาขอกระเป๋า เราก็ไม่รู้จะปฏิเสธยังไง เพราะเราไม่มีภูมิคุ้มกัน เราให้สินค้ากับคนที่ไม่เห็นคุณค่า และเราเองก็ไม่ได้นำเสนอส่วนที่เป็นคุณค่าแท้จริงของแฟชั่น”

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับสิ่งที่เธอเป็น สร้างแรงกระตุ้นที่ดีแก่เก๋และแบรนด์ของเธอ ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ของคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกันและนำพาไปสู่ความยั่งยืน

๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

เก๋เลือกใส่ QR Code ของอาจารย์ช่างฝีมือที่ทำกระเป๋าใบนั้นแทนการปั๊มเลขรหัสแบบกระเป๋าแบรนด์เนม เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของอาจารย์ช่างฝีมือผ่านคลิปวิดีโอขนาดสั้นแต่ความหมายยาวเกินกว่าจะพรรณนา เชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างคนต้นน้ำและคนปลายน้ำ

“รู้มั้ยว่าชีวิตของช่างฝีมือผ่านอะไรมาเยอะมาก บางคนเป็นคนจรจัด บางคนเกือบติดคุก และบางคนท้องก่อนแต่ง แต่พอเขามาทำงานกับเรา เราสอนเขาว่าถ้ามีความรู้ก็จะมีงาน มีงานก็จะมีรายได้ งานฝีมือทำให้คนจรจัดในวันนั้น เป็นอาจารย์ช่างฝีมือในวันนี้ ทำให้เขามีเกียรติในสังคมด้วยอาชีพที่เขาทำ นี่เป็นสิ่งที่เราโคตรภูมิใจ คุณค่าของชีวิต คุณค่าของงานฝีมือ ซึ่งเราใส่ลงไปในคลิปวิดีโอนี้ด้วย”

“เราหวังให้สิ่งนี้ทำให้อาจารย์ช่างฝีมือของเรารักและภูมิใจในงานของตัวเองมากยิ่งขึ้น ทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเขา ก่อนจะกลับมาสร้างภูมิคุ้มกันให้เราอีกต่อหนึ่ง ให้เรามั่นใจว่ากระเป๋าที่ออกมาเป็นกระเป๋าใบที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็สร้างภูมิคุ้มกันแก่เจ้าของกระเป๋า ผู้อยู่ปลายน้ำของกระบวนการผลิต เพราะเขาสัมผัสถึงความใส่ใจ ซึ่งมาจากหัวใจของคนทำ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือทิศทางของแบรนด์ และนี่คือภูมิคุ้มกันของ ๓๑ ธันวา

“การที่เราไม่พาตัวเองไปอยู่ในวงจรแบบเดิมนั้นทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น มีคุณค่ากว่าเดิม สิ่งที่เราทำอยู่คือการใช้งานฝีมือสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกแฟชั่น แฟชั่นไม่ได้มาแล้วไป แต่มีพลังมากกว่านั้น ถ้าพวกเราเริ่มจากลงมือทำด้วยการคิดถึงคำว่าคุณค่ามากกว่ามูลค่า” หลังจากเก๋พูดจบ ฉันย้อนไปนึกถึงเก๋คนเมื่อ 30 นาทีก่อน เก๋เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ

๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

05

เก๋กว่าด้วยการพอแล้วดี

เก๋ บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์, ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

“ตอนแรกเราเข้าใจคำว่าพอแล้วดีผิด คิดว่าพอแล้วจะต้องเอาเงินที่ได้จากการขายไปช่วยเหลือคน หรือช่วยคุณป้าคุณย่าทอผ้าไหม แล้วเอาผ้าไหมมาทำกระเป๋า คิดไปคิดมาสุดท้ายแล้วไม่ใช่ตัวเรา พอไม่ใช่ตัวเราความคิดสร้างสรรค์ก็ลดลงทันที แต่พอได้เรียนรู้ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เราก็เกิดแสงสว่างขึ้นมาเอง เรากลับมาคิดถึงจุดเปลี่ยนของเราว่าทำไมเราจึงทำแบรนด์ นั่นเพราะเราเห็นคุณค่าของงานฝีมือและคุณค่าของทุกคนในโรงงาน”

ถ้าตอนนี้พี่หนุ่ยกลับมาถามคำถามเดิมเหมือนที่ถามในวันแรกว่า ‘เก๋ พอแล้วดียังไง’ เก๋จะตอบว่าอะไร ฉันถาม

เธอหัวเราะก่อนจะบอกกับฉันว่า

“เราพอแล้วกับระบบแฟชั่นเดิมๆ พอแล้วกับคนที่ไม่เห็นคุณค่าในของของเรา เพราะเราพบความพอที่ซ่อนอยู่ในคุณค่า ในงานฝีมือ และในทุกๆ ชีวิต ทั้งชีวิตของเราเอง อาจารย์ช่างฝีมือ และลูกค้า เป็นความพอที่ทำให้เรามีความสุข คนทุกชีวิตในโรงงานมีความสุข ไม่จำเป็นต้องกอบโกยให้เกินพอดี เราไม่ได้คิดทำดีเพื่อตนเอง แต่คิดทำดีเพื่อคนอื่น ความสุขเรามีเยอะแล้ว สร้างความสุขให้คนอื่นบ้าง เงินเรามีเยอะแล้ว แบ่งให้คนอื่นบ้าง ของเรามีเยอะแล้ว แบ่งให้คนที่เขาไม่มีบ้าง และโอกาสเรามีเยอะแล้ว ก็แบ่งให้คนอื่นบ้าง” เก๋ทิ้งท้ายว่า ความพอที่เธอพบนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรู้จักและประมาณตนเอง ใช้ความรู้ไตร่ตรองสิ่งที่ทำอย่างมีเหตุมีผล ริเริ่มเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างมีคุณธรรม

เก๋ บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์, ๓๑ ธันวา, กระเป๋าหนัง, งานคราฟท์, แฟชั่น

๓๑ ธันวา / 31 Thanwa
ประเภท: กระเป๋าหนังทำมือ
ที่ตั้ง: ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน และชั้น 1 ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม
ผู้ก่อตั้ง:  เก๋-บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์
Website: www.31thanwa.com
Facebook : 31 Thanwa

พอแล้วดี The Creator
Facebook | พอแล้วดี The Creator
porlaewdeethecreator.com

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ