สเวตเตอร์ตัวหนึ่งราคา 5 หมื่นกว่าบาท มีอะไรดี?

หนึ่ง ถักมือ มีบริการวัดไซส์ให้เข้ากับขนาดลูกค้าแต่ละคน เป็นสเวตเตอร์หนึ่งเดียว สำหรับคุณ

สอง เบา แต่อุ่น เพราะเป็นไหมพรมที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ

สาม ลายถักของเสื้อออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง ประณีต งดงาม ไม่ซ้ำใคร

ปัจจุบัน มีลูกค้าเข้าคิวสั่งจองเสื้อตัวนี้กว่า 200 คน และต้องรอข้ามปี เนื่องจากมีพนักงานที่สามารถถักสเวตเตอร์นี้ได้เพียงไม่กี่สิบคนในญี่ปุ่นเท่านั้น

สเวตเตอร์ตัวนี้น่าซื้อไหมคะ?

จุดเริ่มต้นของบริษัท Kesennuma Knitting ไม่ได้มาจากการมุ่งสร้างสเวตเตอร์สุดหรูในญี่ปุ่น แต่มาจากความปรารถนาที่จะช่วยผู้ประสบภัยในเขตโทโฮคุให้อยู่รอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเมืองเคเซนนุมะซึ่งอาศัยอยู่ริมทะเล บ้านเรือนพวกเขาเสียหายจากภัยสึนามิ คนส่วนใหญ่ต้องย้ายไปอยู่บ้านพักชั่วคราวในเขตอพยพ

อิโตอิ ชิเกซาโตะ เจ้าของเว็บ Hobonichi เว็บชื่อดังของญี่ปุ่น และมิตาไร ทามาโกะ อดีตนักกลยุทธ์แห่งบริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง จึงร่วมกันหาวิธีสร้างธุรกิจที่จะช่วยผู้ประสบภัยเหล่านี้ได้

พวกเขาเห็นความท้าทาย 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง ผู้ประสบภัยยังต้องดูแลสมาชิกครอบครัวอยู่ ไม่สามารถปลีกตัวมาทำงานบริษัทได้นาน ๆ ประการที่สอง ต้องเป็นธุรกิจที่เริ่มสร้างได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้คนต้องหาเลี้ยงชีพ หากมัวแต่รอสร้างตึกหรือนำเครื่องจักรมาติดตั้ง ผู้ประสบภัยคงต้องอพยพไปอยู่เมืองอื่น

ขณะเดียวกัน อิโตอิและมิตาไรเห็นโอกาส ผู้หญิงส่วนใหญ่ในเมืองเคเซนนุมะต้องช่วยสามีทอแหอวน ทำให้มีทักษะในการถักทออยู่แล้ว นี่จึงเป็นที่มาของ Kesennuma Knitting

ระหว่างการถักสเวตเตอร์ คุณป้านักถักจะเขียนโปสการ์ดส่งไปยังลูกค้าที่กำลังรออย่างจดจ่อว่า ตอนนี้พวกเธอกำลังถักแขนเสื้อหรือถักลายอยู่ ลูกค้าก็จะเขียนตอบกลับมา บ้างบอกว่าตื่นเต้นกับสเวตเตอร์ตัวนี้มาก บ้างก็ให้กำลังใจคุณป้าทั้งหลายที่ประสบภัย สเวตเตอร์จึงกลายเป็นสื่อกลางที่เชื่อมคนต่างเมืองเข้าด้วยกัน

เมื่อสเวตเตอร์ถักเสร็จ คุณป้าจะนำเสื้อใส่กล่องอย่างดี พร้อมมีภาพวาดหน้าคุณป้าคนถักพร้อมเขียนจดหมายขอบคุณฉบับสุดท้าย ลูกค้าที่ได้รับจึงประทับใจมาก หลายคนถึงกับบอกว่า “คิดถึงบรรยากาศการได้เฝ้ารอและเขียนจดหมายพูดคุยกับคุณป้า” ลูกค้าคนหนึ่งถึงกับบอกว่า “เป็นความรู้สึกแปลกๆ ผสมกัน ทั้งรู้สึกอยากให้เสื้อเสร็จ และไม่อยากให้คุณป้าถักเสร็จเลยค่ะ คิดถึงช่วงตอบจดหมายกันจัง

สเวตเตอร์สวยๆ อาจหาซื้อที่ไหนก็ได้ แต่ประสบการณ์ ‘ระหว่างการซื้อ’ ของ Kesennuma นั้น ช่างเป็นสิ่งพิเศษเล็กๆ อันอบอุ่นที่แบรนด์ดังๆ ไม่สามารถเลียนแบบได้เลย

ในยุคที่ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วทันใจ กดปุ๊บ ของมาส่งถึงบ้านวันถัดมา ได้เร็ว ใช้เร็ว และอาจถูกโยนทิ้งเร็ว อาจทำให้หลายคนเริ่มโหยหาความอบอุ่นแบบไร้เทคโนโลยีของ Kesennuma Knitting ก็เป็นได้ …ดิฉันคนหนึ่งล่ะ

ภาพ:  http://special.nikkeibp.co.jp

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย