19 มิถุนายน 2017
1 K

ใครที่สนใจสั่งซื้อจิ๊กซอว์ชุด Tropical Rainforest of Thailand ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สามารถสั่งซื้อได้ [ ที่นี่ ] ส่วนใครที่ยังไม่รู้จักจิ๊กซอว์ชุดนี้มาทำความรู้จักไปพร้อมกันเลย

นอกจาก The Cloud จะพยายามถ่ายทอดเรื่องราวของโครงการดีๆ สู่ผู้อ่านแล้ว เรายังอยากขยับไปรับอีกบทบาท นั่นก็คือ การช่วยระดมทุนให้โครงการสร้างสรรค์ที่น่าสนับสนุน ผ่านระบบ Crowdfunding หรือการระดมทุนสาธารณะ ซึ่งเราทำร่วมกับ MEEFUND

เราเน้นการระดมทุนประเภท Reward-based ถ้าอธิบายให้เห็นภาพก็คือ เมื่อมีคนคิดโครงการที่น่าสนใจได้ แต่ไม่มีเงินลงทุน จะเอาโครงการนั้นมาบอกเล่าให้คนทั่วไปฟังว่าต้องการเงินทั้งหมดเท่าไหร่ ถ้ามีคนช่วยกันลงเงินจนครบตามเวลาที่กำหนด เจ้าของโครงการก็มีเงินไปทำจริง ส่วนผู้ที่ร่วมสมทบทุนก็จะได้รับผลตอนแทนเป็นสิ่งต่างๆ ตามที่เจ้าของแจ้งไว้

การจ่ายเงินก็คล้ายการจองโรงแรมผ่านเว็บไซต์ คือจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต ระบบยังไม่หักเงินทันที แต่จะหักเมื่อถึงวันเข้าพัก กรณีนี้ เมื่อลงเงินสนับสนุนโครงการ การตัดบัญชีจะเกิดขึ้นเมื่อถึงวันสุดท้ายของการระดมทุน และได้เงินครบหรือเกินกว่าที่กำหนดเท่านั้น ถ้าระดมทุนได้ไม่ครบตามเป้าก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ไม่มีการหักบัญชีแต่อย่างใด

โครงการแรกที่เราอยากช่วยส่งเสริมให้เกิดก็คือ จิ๊กซอว์ชุด Tropical Rainforest of Thailand ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งสร้างสรรค์โดยเอเจนซี่ชื่อดังอย่าง Ogilvy Group Thailand และผู้ทำภาพอันดับหนึ่งของโลกอย่างบริษัท Illusion ความแสบๆ คันๆ ของจิ๊กซอว์ชุดนี้ก็คือ หน้ากล่องเป็นภาพป่าไม้เมืองไทยที่อุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อต่อจนเสร็จ ภาพตรงหน้ากลับกลายเป็นป่าผืนเดียวกับบนหน้ากล่อง แต่ว่าถูกตัดจนเหี้ยน พร้อมข้อมูลว่า ช่วงเวลา 3 ชั่วโมงที่ใช้ต่อจิ๊กซอว์นั้น พื้นที่ป่าไม้ 350 ไร่ หรือ 138 สนามฟุตบอล ได้ถูกมนุษย์ทำลายจนไม่สามารถกลับคืนมาเหมือนเดิม

เริ่มแรก จิ๊กซอว์ชุดนี้ทางมูลนิธิทำขึ้นจำนวนจำกัดเพื่อส่งให้ influencer ช่วยส่งข่าวนี้ต่อในโลกออนไลน์ ในวันที่ 21 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันป่าไม้โลก แต่หลังจากที่เผยแพร่ไปก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก จนมีผู้คนมากมายเรียกร้องให้ผลิตขายเพื่อระดมทุนให้มูลนิธิสืบฯ นำไปใช้ในการดูแลป่าไม้ที่เหลืออยู่ไม่ให้หายไปเหมือนดังในภาพ และยังชวนกันสร้างความตระหนักถึงปัญหานี้ด้วยการซื้อจิ๊กซอว์ชุดนี้มอบให้กันในวันสืบนาคะเสถียร 1 กันยายน

วิธีการนั้นคล้ายพรีออร์เดอร์ แต่โครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงเมื่อมีคนร่วมสั่งซื้ออย่างน้อย 600 ชุด

ผู้สนับสนุนโครงการต้องสั่งซื้อจิ๊กซอว์อย่างน้อย 1 ชุด ราคาชุดละ 990 บาท (รวมค่าจัดส่งในประเทศ) พร้อมระบุชื่อและที่อยู่ที่จะให้จัดส่งทางไปรษณีย์ เปิดให้สั่งซื้อตั้งแต่วันนี้ถึง 18 สิงหาคม 2560 โดยจะจัดส่งจิ๊กซอว์ถึงมือผู้รับในวันที่ 1 กันยายน 2560 รายได้ได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดมอบให้มูลนิธิสืบนาคะเถียร

ขอย้ำอีกครั้งว่า โครงการนี้จะเกิดขึ้นจริง และจะหักเงินจากบัตรเครดิตผู้สนับสนุนก็ต่อเมื่อมีผู้สั่งซื้อเกิน 600 ชุดในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น

ถ้าใครสนใจก็คลิกเข้าไปร่วมสั่งซื้อได้ [ ที่นี่ ]

แต่ถ้าใครยังไม่แน่ใจว่าจิ๊กซอว์กล่องนี้คืออะไร ก็ขอเชิญมาทำความรู้จักกันสักนิด

Jigsaw for Forest

ข้อมูลเก่าเอามาเล่าใหม่

งานอย่างหนึ่งของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคือการรณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ข้อมูลที่ว่าในแต่ละชั่วโมงมีพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายไปเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่สื่อสารกันมาสิบกว่าปี แต่ข้อมูลน่าตกใจชุดนี้ก็ไม่ได้กลายเป็นประเด็นพูดคุยของสังคม ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับอนาคตของป่าไม้ไทย ทางโอกิลวี่เลยอยากหยิบเอาข้อมูลชุดนี้มาบอกเล่าอีกรอบ ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์และแตกต่างจากเดิม

ฝั่งครีเอทีฟโยนไอเดียแรกมาว่าอยากลองทำเป็นพรินต์แอด เปลี่ยนพื้นที่ป่าบนภูเขาให้กลายเป็นสนามฟุตบอลสุดลูกหูลูกตา เพื่อเล่าว่าในเวลา 1 ชั่วโมงพื้นที่ป่าไม้หายไปเท่ากับกี่สนามฟุตบอล แต่ดูเหมือนจะไม่มีพลัง เลยคิดจะเปลี่ยนตัวหนังสือที่เขียนบอกเวลาให้กลายเป็นอะไรที่สนุกกว่านั้น

Jigsaw for Forest

เปลี่ยนสื่อจาก Print มาเป็น Direct

ชาวครีเอทีฟโยนไอเดียที่สองลงมาใหม่ว่า ทำเป็นจิ๊กซอว์แล้วส่งเป็น Direct Mail ให้กลุ่มเป้าหมายน่าจะดี เพราะแทนที่จะเขียนบอกเวลาตรงๆ ก็พลิกมุมไปบอกว่า ในช่วงเวลาที่คุณต่อจิ๊กซอว์ภาพนี้ พื้นที่ป่าไม้หายไปแค่ไหน แล้วก็ใช้วิธีเล่าแบบ Before After มาครอบ บนฝากล่องจิ๊กซอว์เป็นภาพป่าไม้เขียวชอุ่ม แต่พอต่อเสร็จกลับเห็นเป็นป่าที่โดนตัดหมดแล้ว พร้อมกับข้อความว่า ‘ช่วงเวลา 3 ชั่วโมงที่ใช้ต่อจิ๊กซอว์นั้น พื้นที่ป่าไม้ 350 ไร่ หรือ 138 สนามฟุตบอล ได้ถูกมนุษย์ทำลายจนไม่สามารถกลับคืนมาเหมือนเดิมได้’ เจอแบบนี้เข้าไป คนต่อจิ๊กซอว์น่าจะเซอร์ไพรส์ดี เพราะเป็นครั้งแรกที่จะได้เห็นกับตาว่าป่าไม้ถูกทำลายเร็วกว่าที่คิด

Jigsaw for Forest

ปลูกป่าบนกล่อง

ถ้าจะใช้ลูกเล่นของการต่อจิ๊กซอว์ก็ต้องเอาให้สุด เริ่มแรกต้องออกแบบกล่องด้วยเลย์เอาต์ที่เหมือนจิ๊กซอว์เป๊ะ แบบที่กวาดตาผ่านมาก็รู้ว่าเป็นกล่องจิ๊กซอว์ ส่วนภาพป่าบนหน้ากล่องนั้นก็ต้องเอาให้เหมือนภาพวิวของจิ๊กซอว์ทั่วไป คือเป็นวิวสวยๆ แบบภาพป่าในฝัน ความยากก็คือ ภาพป่าไม้เมืองไทยที่เขียวครึ้มนั้นหายากมาก เพราะไม่ค่อยมีใครถ่ายภาพในมุมนี้และลักษณะเช่นนี้ไว้ เลยต้องรีทัชกันขนานใหญ่ เอาภาพป่าจากเขาใหญ่มาวางเป็นฉากหลัง แล้วเติมต้นไม้เพิ่มเข้าไป รวมถึงต้นไม้ที่มีสีสันตรง foreground ปิดท้ายด้วยนกและเมฆเพื่อให้ดูสวยตามสูตร

สิ่งที่อาจจะแปลกหูแปลกตาไปบ้างก็คือ ต้นไม้ใหญ่กลางภาพ ซึ่งตามธรรมชาติอาจจะไม่ได้ขึ้นโดดเดี่ยวแบบนั้น แต่ต้องยอมใส่ไปเพื่อให้เป็นจุดนำสายตา และใช้เป็นจุดเทียบระหว่างทั้งสองภาพ ในแง่ของภาษาภาพแล้ว จะช่วยให้คนดูเข้าใจได้เร็วขึ้น

Jigsaw for Forest

Jigsaw for Forest

Jigsaw for Forest

Jigsaw for Forest

Jigsaw for Forest

ปลูกป่าว่ายากแล้ว ตัดป่ายากยิ่งกว่า

ในชีวิตจริง การเปลี่ยนป่าผืนนี้ให้กลายเป็นเขาหัวโล้นนั้นง่ายแสนง่าย แต่ในแง่ของการทำภาพมันคือการสร้างภาพใหม่ขึ้นมาอีกภาพ เริ่มต้นจากการดราฟต์ภูมิทัศน์ของป่าออกมา แล้วรีทัชภาพป่าที่โดนตัดใส่เข้าไป ฟังดูเหมือนง่าย แต่สต็อกภาพป่าไม้ที่โดนตัดนั้นหายากยิ่งกว่าภาพป่าสมบูรณ์ แถมยังเป็นภาพขนาดเล็ก แล้วก็เป็นภาพภูเขาหัวโล้น ไม่ใช่ป่าที่เพิ่งถูกตัด ทางทีม Illusion ก็เลยต้องค่อยๆ เอาตอไม้มาหยอด เอาเศษไม้มาวาง เติมควัน ให้รู้สึกเหมือนป่าเพิ่งโดนตัด และถ้าใครสังเกตดีๆ จะพบว่า ภูเขาในรูปที่โดนตัดจะเตี้ยกว่าภูเขาในรูปป่าสมบูรณ์นิดนึง เพราะต้นไม้บนภูเขาหายไป
Jigsaw for Forest

ต้องสวยแบบจิ๊กซอว์

เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต่อจิ๊กซอว์จากขอบก่อน ดังนั้นภาพป่าไม้ที่โดนตัดต้องใกล้เคียงกับภาพหน้ากล่องที่สุดเพื่อไม่ให้คนงง และภาพป่าที่โดนตัดแล้วก็ควรมีสีเขียวๆ ปนอยู่บ้าง เวลาเทจิ๊กซอว์จากถุงออกมาจะได้เห็นอะไรเขียวๆ ที่คล้ายภาพหน้ากล่อง แต่เมื่อเอาภาพแรกที่ทุกคนพอใจไปลองพิมพ์จริงก็พบปัญหาว่า รายละเอียดของภาพโดยรวมแบนไปหมด เนื่องจากโดนร่องและลายของจิ๊กซอว์กวน จึงต้องกลับมาทำภาพใหม่ให้ลึกขึ้น และอีกประเด็นก็คือ ภาพป่าที่ติดเขียว พอไปอยู่บนร่องจิ๊กซอว์แล้วมันออกดำๆ ทึมๆ ไปหมด เลยต้องปรับสีแดงเพิ่มเข้าไป เอาให้เห็นกันชัดๆ เลยว่า มันคือพื้นดินที่ร้อนแล้ง แตกต่างจากบนกล่องชัดเจน

ติดพัน

คนที่ต่อจิ๊กซอว์บ่อยๆ คงรู้ดีว่า จิ๊กซอว์จำนวน 500 ชิ้นนั้นค่อนข้างง่าย แป๊บเดียวก็เสร็จ จิ๊กซอว์ขนาดมาตรฐานที่ขายกันอยู่ในตลาดส่วนใหญ่จะเป็น 1,000 ชิ้น แล้วก็จะได้ภาพขนาดใหญ่เต็มตา งานชิ้นนี้เลยเลือกพิมพ์แบบ 1,000 ชิ้น ด้วยกระดาษรีไซเคิล เป็นเหมือนการเอาต้นไม้ที่ตายจากไปแล้วมาช่วยเล่าเรื่องต้นไม้ที่กำลังจะล้มหาย

Jigsaw for Forest ระดมทุนทำจิ๊กซอว์ต่ออายุป่าไม้

บอกต่อ

โดยปกติแล้วในกล่องจิ๊กซอว์จะมีคู่มือแนบมาด้วย ทางทีมครีเอทีฟเลยจัดการแปลงคู่มือนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สื่อสารเรื่องการหายไปของป่าไม้ ถึงจะไม่ได้ต่อจิ๊กซอว์สักชิ้น ก็ยังได้สารจากทางมูลนิธิอยู่ดี

ต่อเนื่อง

เมื่อจัดทำเสร็จจิ๊กซอว์เหล่านี้ก็ถูกส่งต่อให้เหล่า influencer เอาไปต่อ แล้วพวกเขาก็เอาไปขยายผลต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด ไม่เพียงแต่คนจะชอบไอเดียนี้ แต่ยังมีคนจำนวนมากอยากได้บ้าง จึงเสนอให้ทางมูลนิธิทำออกมาขายระดมทุนเข้ามูลนิธิด้วย แต่เนื่องจากทางมูลนิธิไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง และไม่แน่ใจว่าควรทำออกมาจำนวนเท่าไหร่ จึงเลือกใช้วิธีที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด นั่นก็คือ ระดมทุนผ่านระบบ Crowdfunding เพราะถ้าคนสนใจไม่มากพอก็ไม่ต้องพิมพ์จริง ไม่ต้องหาเงินไปลงทุนก่อน และไม่ต้องมีปัญหากับสต็อก

ส่งต่อ

เรื่องราวของจิ๊กซอว์ที่ทำขึ้นมาเพื่อชวนคนต่ออายุป่าไม้ก็เป็นเช่นนี้ ถ้าใครอยากร่วมส่งมอบเรื่องราวดีๆ ผ่านจิ๊กซอว์ชุดนี้ให้กันในวันสืบนาคะเสถียรก็คลิกเข้าไปร่วมได้ [ ที่นี่ ] นะ

Jigsaw for Forest

ภาพ: Illusion

ทีมงาน

Ogilvy Group Thailand
Vice Chairman: นพดล ศรีเกียรติขจร
Group Executive Creative Director: วิศิษฎ์ ล้ำศิริเจริญโชค
Creative Director: กำพล ลักษณะจินดา
Group Head, Graphic Design: เมธินี จราญไพรี
Creative Group Head: พัชร์ณัฏฐ์ จามรจุรีกุล
Copywriter: กฤตน์ การ์ฟอร์ด สปินเล่อร์, Eugene Cheong
Art Director: สุภเศรษฐ์ อินทมาศน์, อทิตยา พรหมสุวรรณ
Agency Producer: ไพบูลย์ สุวรรณแสงโรจน์, กรรณิกา มงคลรัตนชาติ
Communications Director: วารุณอร สุพรรณานนท์
Senior Communications Executive: วศิน ศิริอมรสุข
Strategic Planning Director: ศศิภาส์ มงคลนาวิน
Digital Planner: วรันย์ ศิริประชัย
Audio/Visual Projectionist: ณัฐวัฒน์ ศรีธัญรัตน์, ณัฐพล แสงร่มโพธิ
Production House: อิลลูชั่น
Video Footage: บางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต The River of Life 1OFOTOS

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป