24 มิถุนายน 2017
วัดบ้านกุดเป่ง, มหาสารคาม

เหตุผลแรกสุดที่พาฉันออกจากกรุงเทพฯ คือข่าวการแสดงของ พิเชษฐ กลั่นชื่น

นักเต้นผู้จับเอาการร่ายรำของไทยมาสร้างการแสดงร่วมสมัยจนมีชื่อเสียงระดับสากล หลังติดตามดูการแสดงของเขามาหลายปี ในโรงละครมหาวิทยาลัยบ้าง โรงละครช้างแถวประชาอุทิศของพิเชษฐเองบ้าง วันนี้หัวหน้าคณะพิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี ยกการแสดงเดี่ยวของเขามาเล่นกลางแจ้งในวัดเล็กๆ ที่น้อยคนนักจะรู้จักในมหาสารคาม

ผู้ชายที่แสดงและกำกับในโรงละครทั่วโลกมาแล้วเลือกแสดงโซโล่ที่นี่ทำไม แล้วงานนี้มีความหมายอย่างไรกับคนที่นี่-ฉันพกความสงสัยจากบ้านมามากมาย

คำตอบทั้งหมดรออยู่ที่หมู่บ้านกุดเป่งแล้ว

พญาฉัททันต์ พญาฉัททันต์

1. ฟื้นชีพพญาช้าง

แดดในวัดกุดเป่งจัดจ้าจนต้องควักแว่นตาดำออกมาใส่ ฉันนั่งอยู่ในลานวัดกับพิเชษฐ กลั่นชื่น นักเต้นและทีมงานของเขากำลังง่วนอยู่กับการดูแลฉาก อุปกรณ์ และเครื่องเสียง ตรงพื้นที่ริมน้ำข้างลาน พิเชษฐเล่าว่าการแสดงเรื่อง ‘พญาฉัททันต์’ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 13 ปีก่อน และเพิ่งกลับมามีชีวิตอีกครั้งบนเวทีเมื่อต้นปีนี้

“ต้นปีที่ผ่านมา ผมไปทำ festival เล็กๆ ในป่าที่เชียงรายชื่อว่า ‘เฟสติวัลกู’ ก็เป็นงานของกูเอง กูอยากเล่นเรื่องไหนกูก็เล่น อยากไปเล่นที่ไหนกูก็ไปธีมของงานคือ Animal คือความเป็นมนุษย์ที่เป็นสัตว์อยู่ข้างใน หรือความเป็นสัตว์ที่เป็นมนุษย์อยู่ พอเล่นเรื่องพญาฉัททันต์แล้วปรากฏว่ามีคนสนใจอยากดูหลังจากนั้นเยอะ ผมก็อยากทำให้ดูแต่ตอนนั้นงานยุ่งมาก เลยขอทำโปรดักชันนี้เป็นกรณีพิเศษ

พญาฉัททันต์

พญาฉัททันต์

“สิ่งแรกเลยผมขอทีมงานมาช่วย ขอคนทำแสง คนทำเสียง คนทำเวที และคนทำฉาก มาช่วยกัน ผมโพสต์ลงไปในเฟซบุ๊กก็มีคนสมัครครบภายในวันเดียว เห็นแบบนี้ผมเลยคิดวิธีการทำให้งานพญาฉัททันต์เป็นงานที่คนอื่นๆ กับผมเป็นเจ้าของร่วมกัน ผมเลยประกาศว่าต้องการแนวร่วม 240 คนมาร่วมเป็นเจ้าของงานชิ้นนี้ โดยทุกคนที่บริจาคเงินมาให้ผม 1,000 บาท มีข้อผูกมัดร่วมกันว่าภายใน 2 ปีนี้ งานพญาฉัททันต์จะเป็นของเราด้วยกัน ถ้าผมเอางานไปเล่นที่ไหนแล้วมีเงินกลับคืนมา 40 เปอร์เซ็นต์จะถูกแบ่งเป็นเงินปันผลให้กับทุกคน ขอเพียงข้อเดียวคือผมจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาไปเล่นที่ไหน และไม่เอาไปเล่นที่ไหน แต่ส่วนอื่นถือว่าทำร่วมกัน กำหนดเวลาระดมทุน 15 วัน ปรากฏว่าเราได้คนครบภายใน 3 วัน เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มไว้วางใจสิ่งที่เราทำมากขึ้น เริ่มสนับสนุนงานศิลปะมากขึ้น

“ในระหว่างทำงาน พวกแนวร่วมก็เข้ามาช่วย จนมีน้องคนหนึ่งที่เขาเป็นแนวร่วมด้วยถามว่า ทำยังไงคนที่หมู่บ้านหนูถึงจะได้ดูงานศิลปะแบบนี้บ้าง ผมเลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เอาไปให้ดูกันเลย”

พญาฉัททันต์

อี๊ด-ศิริวรรณ ปากเมย,
แนวร่วมและฝ่ายประสานงาน

“พอเราพึมพำว่าทำยังไงให้คนอีสานบ้านเราได้ดูงานแบบนี้ ครูก็บอกเอาเลยสิอี๊ด เอาพญาฉัททันต์ไปเล่นที่บ้านอี๊ดเลย ครูบอกว่าอี๊ดให้ครู ครูก็ให้อี๊ด แค่นั้นเอง เราดีใจมาก ตื่นเต้นมากที่มีส่วนเชื่อมชุมชนให้มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา ชาวบ้านก็ประชุมเตรียมอะไรของเขา บทบาทของเราคือตัวกลาง ช่วยอะไรได้บ้างก็ช่วย เราก็ช่วยทำคลิป พรินต์ป้ายประชาสัมพันธ์ให้ แล้วก็ช่วยทำอาหารเลี้ยง อะไรที่พอจะช่วยได้ก็ทำหมด 

“ชาวบ้านช่วยส่วนกลางของวัด ส่วนเรากับแม่ก็กลายเป็นเจ้าภาพ คล้ายๆ กับเจ้าภาพผ้าป่าในการแสดงพญาฉัททันต์ ซึ่งมันไม่เคยมีมาก่อน ไปๆ มาๆ มันอลังการใหญ่โตมโหฬาร นี่เราก็เพิ่งรู้ว่าทางข้างหลังสร้างพระใหญ่ (พระขวัญมิ่งเมืองมหามุนี) อยู่ เราก็ต้องรับผิดชอบไปในตัวว่าเงินสมทบทุนงานนี้ต้องมาช่วยสร้างพระให้ได้ นี่เรากลัวว่าชาวบ้านจะเดือดร้อนที่ต้องมาเตรียมอะไรให้ เกรงใจมากเลยนะในฐานะที่เราเอางานนี้เข้ามา แต่หลังจากนั้นก็รู้แล้วว่ามันเป็นธรรมเนียมของที่นี่ที่ต้องช่วยกัน”

พญาฉัททันต์

2. ศิลปะเป็นสวัสดิการสังคม

จากแดดเปรี้ยง จู่ๆ ฟ้าก็ครึ้ม เมฆเทาดำจนเม็ดฝนหล่นแปะปรอย พิเชษฐยืนยันว่าการแสดงจะเกิดขึ้นแม้ต้องเล่นกลางสายฝน

“เราไม่ได้สร้างโปรดักชันนี้มาเพื่อหวังผลกำไรให้ได้เงินทองกลับมาเป็นส่วนแบ่ง ผมส่งข่าวให้แนวร่วมทุกคนตลอด ผมคิดว่าเขาจะมีความสุขเมื่อเขาได้ทำบุญร่วมกับเรา ได้เห็นว่าโปรดักชันมันอยู่ที่นี่ แล้วได้ให้โอกาสคนอื่นได้ดู ได้เห็น ได้กระทำ หรือได้อะไรก็ได้ ผมรู้สึกว่าการให้โอกาสถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ งานนี้ถือว่าเราไปทำบุญร่วมกัน แล้วก็เป็นเหมือนสวัสดิการของสังคม

“ศิลปะน่าจะเป็นสวัสดิการของสังคม และเป็นหลักประกันทางจิตวิญญาณให้กับมนุษย์ที่ขาดการเชื่อมต่อระหว่างตัวเองกับจิต เพราะเราอยู่ภายใต้กฎกติกาของระบบ Entertainment โรงละครในบ้านเราทั่วไปเป็นแบบที่ทำให้เราขาดสติและดึงจิตวิญญาณของเราออกไป สิ่งนี้ไม่ได้ผิด แต่ว่าบ้านเรามีเยอะมาก จนทำให้เราไม่เห็นว่าพื้นที่ทางศิลปะที่เราเรียกว่า Theatre คืออะไรกันแน่ โรงละครมีคอนเซปต์เรื่อง Here and Now ใช้เวลาเดียวกันและพื้นที่เดียวกันกับคนดู เป็นพื้นที่ให้คนดูสื่อสารกับสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าได้ สามารถคิด เตือนสติ หรือโต้ตอบตนเองในขณะที่นั่งดู ซึ่งสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยมาก ในงานที่เป็น Film หรือใน TV ซึ่งถูกบันทึกไว้ล่วงหน้า คนที่เล่นอาจตายไปแล้ว สถานที่ในเรื่องก็เกิดขึ้นห่างไกลออกไป”

พญาฉัททันต์

ธวัช ไชยเดช,
ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านกุดเป่ง

“การแสดงแบบนี้เป็นครั้งแรกในตำบล เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีการแสดงเดี่ยวแบบนี้ มันเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่เราไม่รู้จัก ทางผมพอได้คุยกับอาจารย์พิเชษฐก็ประชุมลูกบ้านเพื่ออธิบายงานนี้ แล้วเราก็ร่วมเตรียมปรับสถานที่และประสานงานกับทีมงาน เราคาดหวังว่าคนที่เข้ามาจะได้เห็นความตั้งใจจริงของพี่น้องชาวกุดเป่งที่สนับสนุนงานนี้ให้เกิดขึ้น”

3. เพียงชาดกอีกบท

พญาฉัททันต์เป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าในชาดก เรื่องพญาช้างยินดีสละงาของตนให้อดีตภรรยาที่คับแค้น การอธิบายการแสดงชิ้นนี้ให้ผู้ชมกลุ่มใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนรู้จักหมอลำหรือคอนเสิร์ต แต่ไม่คุ้นเคยกับการแสดงร่วมสมัย พิเชษฐจึงเทียบเคียงงานนี้กับการเทศน์มหาชาติทุกออกพรรษา เพียงแต่ไม่ใช่ทศชาติ อย่างเวสสันดร สุวรรณสาม หรือพระมหาชนก ที่ชาวพุทธรู้จักเป็นอย่างดี

“ประเด็นใหญ่ของฉัททันต์คือเรื่องตัณหา พญาฉัททันต์เป็นพญาช้างที่มีโขลงอยู่เป็นร้อย มีเมีย 2 ตัว แล้วก็แก่งแย่งชิงดีกันไปมาว่ารักใครมากกว่า มันเป็นเรื่องตัณหา การหึงหวง ผู้ชาย ผู้หญิง และความรัก เรามองลึกลงไปมากกว่านั้นในเชิงความหมาย พอจบตัณหาแล้ว เมื่อปล่อยวางแล้ว เมื่อยอมเสียสละแล้ว เราก็จะเห็นว่าชีวิตก็จะถูกปล่อยและหลุดพ้น ไม่วนเวียนเกิดในภพชาติใหม่ มันมองไปถึงความหมายที่ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นจากการที่เราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เราเริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้น แล้วงานมันก็เติบโตไปพร้อมกับเรา”

ความใกล้ชิดของชาวบ้านกับพุทธศาสนาทำให้พิเชษฐเชื่อว่าชาวบ้านจะมองการแสดงนี้ในรูปแบบที่ต่างออกไปจากผู้ชมเดิมโดยสิ้นเชิง

พญาฉัททันต์

“ผมอยากรู้ว่าคืนนี้จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหลวงพ่อท่านเทศน์ ชาวบ้านอยู่กับวัด เข้าใจเรื่องสมาธิมากกว่าคนกรุงเทพฯ ผมอยากเห็นว่าชาวบ้านรู้สึกอะไรกับสิ่งนี้ เราเองต่างหากที่พยายามผลักดันว่าศิลปะคือเรื่องชั้นสูง แล้วชาวบ้านคงไม่เข้าใจ ถึงเขาไม่ได้มีการศึกษาสูงๆ ก็จริง แต่เขามีสิ่งหนึ่งที่เฉียบคมและใช้งานได้ดีกว่าคนเมืองคือ ญาณทัศนะ หรือ ‘Intuition’ มันติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เป็นการรับรู้ความหมายของศิลปะ การรับรู้ความหมายของธรรมชาติ การรับรู้ของญาณทัศนะจะจบลงหรือหายไปเมื่อมนุษย์เข้าสู่กระบวนการการศึกษา และตัดสินทุกๆ อย่างผ่านระบบการศึกษาแบบที่สังคมกำหนดว่าอันนี้ถูก อันนี้ผิด

“เวลาเราอยู่ในกรุงเทพฯ คนก็จะใช้หลักการและทฤษฎีเข้ามาอธิบายงานศิลปะ ว่าอันนี้มันต้อง Expressionism นะ อันนี้มันต้องเป็น Surrealism นะ อันนี้มันต้องเป็น Postmodernism นะ คือชาวบ้านเขาไม่ได้สนใจว่ามันจะเป็น Postmodernism หรือมันจะเป็น Contemporary หรือเป็นอะไร แต่เขาสามารถสื่อสารกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ดี โดยปราศจากองค์ความรู้ที่เราเรียนๆ กันมา”

พญาฉัททันต์

พระอาจารย์เหรียญทอง อินทปัญโญ,
เจ้าอาวาสวัดกุดเป่ง

“พระอาจารย์ไม่ได้รู้จักอาจารย์พิเชษฐมาก่อน ชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นงานอะไร พระอาจารย์ก็ไม่รู้ อยากรู้เหมือนกัน แต่คิดว่าถ้างานชิ้นนี้เกิดขึ้นได้จริงก็ดีนะ มันเป็นแนวความคิดที่ดีมากเลย เพราะเป็นการย้อนรำลึกถึงพญาฉัททันต์ ตอนที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสวยชาติเป็นพญาช้าง

“ในทางพุทธศาสนา เรากำลังต่อสู้กับกิเลสทั้งหลาย พญาฉัททันต์ต่อสู้จนยอมสละชีวิต คือปล่อยวางกิเลสความอยากทั้งหมด การเคลื่อนอิริยาบทต่างๆ เป็นภาษาใบ้ ในอาการที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ถ้าเราดูอย่างมีสมาธิจะเกิดมโนภาพขึ้นมาว่า อ๋อ มันกำลังต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ เป็นการฝึกจิตของเราให้นิ่ง การสนับสนุนงานนี้นับว่าได้ทั้งบุญ ได้ทั้งความรู้”   

พญาฉัททันต์ พญาฉัททันต์

4. งานแสดง x งานทำบุญ

การสนับสนุนของแนวร่วม เจ้าอาวาส และผู้ใหญ่บ้าน ทำให้คนทั้งหมู่บ้านตื่นตัวที่จะช่วยเหลืองานนี้เต็มที่ หลวงพ่อช่วยเทศน์ชาดก ฆราวาสเตรียมสวดสรภัญญะ แม่ๆ ช่วยกันทำอาหารเลี้ยง ช่างท้องถิ่นช่วยเขียนป้ายประชาสัมพันธ์และทำฉาก นักดนตรีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นขนเครื่องดนตรีและเครื่องเสียงมาร่วมขบวน จากการแสดงเรียบง่ายรอบเดียวกลายเป็นงานทำบุญใหญ่ของหมู่บ้าน

“ในบ้านเราไม่นิยมทัวร์ละคร หรือเวลาทัวร์ละครก็จะไปเล่นตามมหาวิทยาลัย แต่พอผมมาอยู่กับวัด กับชาวบ้าน มีอะไรแตกต่างจากที่มหาวิทยาลัยเป็น อยู่กับวัดมีข้าวกิน มีเครื่องเสียง มีไฟ มีเก้าอี้ มีเต็นท์ เพราะทุกๆ วัดมีสิ่งเหล่านี้ ผมว่าความพร้อมของวัดในการทัวร์ละครหรือ support โปรดักชันมีสูงมาก และอยู่กับวัดก็มี audience และมีผู้นำ หลวงพ่อประชุมชาวบ้านได้ แล้วชาวบ้านก็มาจริงๆ ผมได้เรียนรู้แล้วก็มองเห็นว่า เออ วัดยังคงเป็นศูนย์กลางชุมชนเหมือนอย่างที่มันเคยเป็นอยู่ได้อยู่นะ

“งานนี้ผมใช้คำว่าการน้อมตัวลงมาเคารพคนพื้นถิ่น คือคนกรุงเทพฯ จะไม่น้อมตัวลงมาครับ แต่จะใช้วิธีเข้ามาเฉยๆ หรือพาเขาไป แต่นี่คือน้อมตัวลงมาแล้วก็ให้คนอื่นๆ ได้อยู่ร่วมในโปรดักชัน ผมคิดว่าเราควรทำความเคารพหรือเชื่อมต่อกับพื้นที่ ไม่เช่นนั้นเราก็จะกลายเป็นคนที่มาทำอะไรก็ไม่รู้ โดยคิดว่าเราเป็นเจ้าของทุกอย่าง ประเด็นของพญาฉัททันต์พูดถึงการเสียสละ และเพราะทุกคนเสียสละร่วมกัน งานนี้จึงเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้”
พญาฉัททันต์

ธนวัฒน์ อัศวอิทธิพร,
Lighting Designer

“งานนี้เป็นงานที่ใหม่แล้วก็ยาก แต่ก็สนุกมากนะ ทีมนักแสดงของพี่พิเชษฐทุกคนนอกจากเป็นนักแสดงก็มาช่วยกันทำทุกอย่างเองหมดเลย ทั้งทำฉาก ทำเสียง ประสานงานต่างๆ แล้วยังมีชาวบ้านมาช่วย โดยเฉพาะพระก็ช่วยพวกเราเต็มที่มาก หลวงพี่มาช่วยพวกเราขุดดินกันด้วย แปลกดี รู้สึกว่าวัดที่นี่เป็นศูนย์กลางชุมชนจริงๆ”

5. รอบแห่งความทรงจำ

พญาฉัททันต์

17.30 น.

ลมเป่าเมฆฝนออกจนฟ้ากระจ่างอย่างน่าอัศจรรย์ พระภิกษุเข้าประจำตำแหน่ง นักร้องนักดนตรีประจำที่ ฝูงชนจับจองที่นั่งบนเก้าอี้ เสื่อ และยืนออกันแน่นขนัด เจ้าอาวาสวัดกุดเป่ง พระอาจารย์เหรียญทอง อินทปัญโญ เริ่มเทศน์ชาดกชาติหนึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นช้างป่าที่กตัญญูต่อพ่อแม่ที่ตาบอด

เสียงพูดคุยแผ่วลงจนเงียบกริบเมื่อแม่ๆ ชุดขาว 4 คนสวดสรภัญญะบนแคร่ไผ่ บทสวดหวานก้องเหนือท้องน้ำ พิเชษฐสวมหัวโขนช้างเผือกครอบทับใบหน้าแล้วนั่งนิ่ง นักดนตรีพื้นเมือง 3 – 4 คนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นค่อยๆ เดินออกมาเป่าแคนและโหวดหลังการสวดจบลง ลำนำหมอลำเล่าเรื่องพญาฉัททันต์อย่างไพเราะ ทำนองอีสานเชื่อมต่อโลกเบื้องหน้ากับชาดกพญาช้างผู้ยิ่งใหญ่

พญาฉัททันต์ พญาฉัททันต์

งูยักษ์แห่งตัณหาพันรอบตัวฉัททันต์ยามโพล้เพล้ จากกอดกระหวัด เป็นขัดแย้ง ต่อสู้ จนพญาช้างดิ้นหลุดออกมาโซซัดโซเซ หัวโขนหลุดร่วง เขาล้มตัวลงหลายครั้งก่อนขาดใจบนเกาะกลางน้ำ พระอาทิตย์ตกดินเป็นฉากหลังพอดิบพอดี เมื่อโหวดเศร้าโศกป่าวประกาศความตายของพญาฉัททันต์อย่างกึกก้อง

พญาฉัททันต์ พญาฉัททันต์ พญาฉัททันต์ พญาฉัททันต์ พญาฉัททันต์

เราเข้าสู่กลางคืนพร้อมกันขณะเจ้าอาวาสเข้าไปล้อมสายสิญจน์รอบร่างกายแน่นิ่งเพื่อบังสุกุล เหล่าพระภิกษุสวดมนต์ให้ความตายบนเวที แล้วเริ่มพิธีกรรมมอบต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เพื่อมอบเงินสำหรับสร้างพระใหญ่ ผู้ชมทั้งหมดสวดมนต์และกรวดน้ำร่วมกัน ฉันก้มลงกราบพระด้วยความรู้สึกแปลกประหลาด โลกละครและโลกความเป็นจริงทับซ้อนกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อกิจที่สงฆ์และฆราวาสประกอบร่วมกัน

พญาฉัททันต์

เนิ่นนานหลังจากนั้น พิเชษฐ กลั่นชื่น ลุกขึ้นจากฉากและหลบออกไปเงียบๆ ผู้ชมหลายคนเข้าไปพูดคุยและถ่ายรูปกับเขา พร้อมเอ่ยปากชมเชยว่าการแสดงของนักเต้นร่วมสมัย ‘ม่วนคั่กๆ’ แล้วแยกย้ายกลับบ้าน หลังทีมงานทั้งหมดเก็บฉากออกอย่างว่องไว คุ้งน้ำข้างวัดกลับคืนสู่สภาพปกติ แทบไม่เหลือร่องรอยใดๆ ของงานศิลปะที่รบกวนธรรมชาติดั้งเดิม เป็นไปตามความตั้งใจของเจ้าของผลงานพญาฉัททันต์

พญาฉัททันต์

“ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติและได้ดูงานศิลปะไปด้วย พอเสร็จทุกคนก็ออกไปจากหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตปกติ เราไม่ต้องเอาเครื่องเสียงเข้ามา เราไม่ต้องเอา Food Truck เข้ามา เราไม่ต้องเอาเรื่องงี่เง่าเข้ามาในหมู่บ้านของชาวบ้าน เขาอยู่อย่างไร เขาก็อยู่อย่างนั้น แล้วเราเอาศิลปะของเรามาอยู่กับเขา มากกว่าที่ทุกครั้งมาแล้วเป็นเรา”

หลังภารกิจเสร็จสิ้น คืนนั้นผู้สร้างและผู้ชมแยกย้ายไปตามทางของตน เราต่างไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากความทรงจำที่ดีร่วมกัน

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล